จาก ‘ฮีโร่’ สู่ ‘ตัวร้าย’ เกิดอะไรขึ้นกับแจ็ค หม่า ที่รัฐบาลจีนติดป้ายว่าเป็น ‘นายทุนผีดูดเลือดผู้ชั่วร้าย’

จาก ‘ฮีโร่’ สู่ ‘ตัวร้าย’ เกิดอะไรขึ้นกับแจ็ค หม่า ที่รัฐบาลจีนติดป้ายว่าเป็น ‘นายทุนผีดูดเลือดผู้ชั่วร้าย’

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในเวลานี้ หลายคนยังคงสงสัยข่าวการหายตัวไปจากสื่อของแจ็ค หม่า อยู่ ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีความกระจ่างมากขึ้นแล้วจากการรายงานของ Business Insider โดยมีการคาดการณ์ว่าเขาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่กำลังเก็บตัวเงียบๆ หลังจากที่รัฐบาลจีนเข้ามาสอดส่องและตรวจสอบความโปร่งใสของอาณาจักรอาลีบาบาของเขาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

จากคุณครูภาษาอังกฤษกลายมาเป็นนักธุรกิจที่เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เขาสร้าง Alibaba ที่เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งใกล้เคียงกับยักษ์ใหญ่ Amazon มากที่สุดแล้ว แจ็ค หม่าเป็นคนแรกๆ ที่เราคิดถึงเมื่อพูดถึงนักธุรกิจระดับโลกในเวลานี้ ขนาดที่ว่าตอนที่โดนัล ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 นั้น แจ็ค หม่าคือชาวจีนคนแรกๆ ที่เขานัดเจอเลยทีเดียว

ความสำเร็จมากมายทำให้ฉายา ‘Daddy Ma’ ติดปากคนบนโลกออนไลน์ นอกเหนือจากงานที่บริษัทแล้ว เขายังถูกรับเชิญไปเป็นนักพูดในเวทีระดับโลกอยู่เป็นประจำ

แต่ช่วงหลัง ภาพลักษณ์ของเขากลับเปลี่ยนไป จาก ‘Daddy Ma’ ที่ใครๆ ต่างก็เชิดชูในความสามารถและเฉลียวฉลาด กลายเป็นคนที่รัฐบาลและชาวจีนหลายต่อหลายคนเรียกว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ (Villain) และ ‘นายทุนผู้ชั่วร้าย’ (Evil Capitalist) หรือเลวร้ายถึงขั้นเรียกเป็น ‘ผีดูดเลือด’ เลยทีเดียว

สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน หรือ State Administration for Market Regulation (SAMR) ระบุจากการสอบสวน Alibaba ทำให้พบพฤติกรรมผูกขาดบางอย่าง โดยกำหนดให้ร้านค้าหรือผู้ขาย ต้องลงนามความร่วมมือพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ขายนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์มของคู่แข่ง ในขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบ Ant Group บริษัท FinTech เจ้าของ Alipay ที่แยกออกมาจาก Alibaba เพิ่งถูกรัฐบาลจีนระงับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยสาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการที่แจ็ค หม่า ตำหนิการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลและระบบธนาคารว่าทำงานเหมือนกับ “pawnshops” หรือโรงรับจำนำที่ให้ยืมเฉพาะคนที่สามารถหาหลักค้ำประกันมาให้ได้เท่านั้น

ถ้ามองเพียงพื้นผิวแล้ว นี่อาจจะดูเหมือนเป็นปัญหาแลกหมัดระหว่างรัฐบาลกับแจ็ค หม่า และอาณาจักร Alibaba ที่เขาสร้างขึ้นมา แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกหน่อย มีเทรนด์บางอย่างดูไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่สำหรับทั้งรัฐบาลจีนและผู้ประกอบการหลายคนๆ (แจ็ค หม่ารวมอยู่ในนั้น) เพราะชาวจีนหลายคนเริ่มรู้สึกว่าโอกาสเหมือนอย่างที่แจ็ค หม่า เคยมีกำลังหายไปแล้ว (แม้จะมีการคาดการณ์ถึงอนาคตว่าผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนจะเติบโตขึ้นกว่า 50% จากปี 2019 ก็ตามที) นักศึกษาจบใหม่แม้จะมาจากต่างประเทศก็ได้รับเงินเดือนไม่สูงมากและอาชีพการงานไม่ค่อยดีนัก ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่ๆ ก็เริ่มแพงเกินไป ราคาบ้านก็สูงเกินกว่าจะเอื้อมถึงสำหรับพนักงานที่เริ่มทำงาน ปัญหาเรื่องภาระหนี้สินก็ตามมาด้วยจากการใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น (Ant Group เองก็เป็นช่องทางหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ใช้เพื่อกู้เงินมาใช้ด้วย)

ภายใต้ความสำเร็จทางธุรกิจของประเทศจีน ความเหลื่อมล้ำและความรู้สึกอิจฉาโกรธเกลียดคนรวยที่เรียกกันว่า ‘Wealthy-Hating Complex’ หรือ ‘Chou Fu’ นั้นก่อตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ในกรณีของแจ็ค หม่า นั้นดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าทุกที มีโพสต์อันหนึ่งที่เขียนถึงแจ็ค หม่า อย่างค่อนข้างรุนแรงว่าคนอย่างเขาจะต้องถูกแขวนคอที่เสาไฟตามท้องถนน (อ้างอิงถึง À La Lanterne ใน French Revolution ซึ่งเป็นวิธีการประหารชนชั้นสูงของกลุ่มผู้ประท้วง หรือ ชาวบ้านนั่นเอง เป็นวิธีบ้านๆ โดยการเเขวนคอคนกับเสาไฟตามถนน) ซึ่งบทความนี้ถูกกดไลก์ไปกว่า 122,000 ครั้งบน Weibo (ทำงานคล้ายกับ Twitter แต่เป็นสัญชาติจีน) และถูกอ่านไปกว่า 1 แสนครั้งบนแอปพลิเคชัน WeChat

นี่เป็นสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่สำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ผู้ที่ให้ความสำคัญกับความจงรักภักดีและการกุมอำนาจของพรรคให้มั่นคงขึ้น ซึ่งหมายถึงการกำจัดอิทธิพลอื่นนอกระบอบพรรค นั่นคืออิทธิพลภาคธุรกิจ หลักการ ‘รัฐเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่อาจสั่นคลอนได้’ ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นในการประชุมงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา มีส่วนหนึ่งที่พูดเกี่ยวกับกฎข้อบังคับทางธุรกิจในอนาคตว่าจะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นและ ‘เสริมสร้างการปราบปรามการผูกขาดและการป้องกันการขยายตัวอย่างไร้ระเบียบของเงินทุน’  ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคำแถลงแบบนี้ออกมายิ่งทำให้นักธุรกิจหลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่าทิศทางที่รัฐบาลจีนกำลังจะเดินหน้าต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไร สื่อหนังสือพิมพ์อย่าง Nikkei หรือ New York Times ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกันว่าการงัดข้อกันระหว่าง Ant Group และ รัฐบาลจีนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องอนาคตที่จะมาถึง

Fred Hu ผู้ก่อตั้งบริษัทลงทุน Primavera Capital Group ในฮ่องกง (ซึ่งก็ถือหุ้นใน Ant Group ด้วย) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “คุณต้องเลือกระหว่างมีอำนาจควบคุมทุกอย่างหรือคุณจะมีระบบเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยนวัตกรรม แต่มันดูเป็นไปไม่ได้เลยว่าคุณจะมีได้ทั้งสองอย่าง”

สี จิ้นผิง แสดงเจตนารมณ์ที่ค่อนข้างชัดว่าบุคคลแบบอย่างที่เขาชื่นชอบต้องเป็นแบบไหน หลังจากที่รัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงการเข้าตลาดหุ้นของ Ant Group ได้ไม่กี่วัน สี จิ้นผิง ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงผลของนักอุตสาหกรรมชื่อ Zhang Jian ผู้โด่งดังเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สร้างโรงเรียนหลายร้อยโรงเรียน โดยสี จิ้นผิง เคยพูดถึง Zhang ไว้หลายครั้งว่าเป็นแบบอย่างของบุคคลที่น่านับถือและบอกทุกคนว่า “ความจงรักภักดีต่อชาติ” เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด (แม้ว่าสี จิ้นผิงจะไม่เคยบอกว่าตอนที่ Zhang เสียชีวิตนั้นเขาเป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม)

แม้ว่าแจ็ค หม่า จะมีโครงการการกุศลหลายโครงการ ทั้งโครงการด้านการศึกษาในชนบท และให้โอกาสผู้ประกอบการที่มีความสามารถในแอฟริกา แต่เขาเองก็แตกต่างจาก Zhang อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะด้วยนิสัยของเขาเองที่กล้าได้กล้าเสีย พูดจาอย่างแข็งกร้าว และในหลายๆ ครั้งก็ท้าทายอำนาจของรัฐบาล ดูอย่างตอนที่เขาสร้าง Alipay ในปี 2003 ที่ทำให้ธุรกิจของเขากลายเป็นเป้าความสนใจของรัฐบาลเพราะเกี่ยวโยงกับเรื่องเงินของคนในประเทศโดยตรง เขาบอกว่า “ถ้าจะมีคนต้องติดคุกเพราะ Alipay ขอให้เป็นผมเอง” หรืออย่างเช่น “ถ้ารัฐบาลต้องการ เดี๋ยวผมเอาให้เลย” ซึ่งหลายๆ คนก็คิดว่าเขาน่าจะแค่หยอกเล่น แต่ในมุมของรัฐบาลอาจจะไม่ได้คิดในทำนองเดียวกัน

แต่ใครจะรู้, ถึงเวลานี้คำกล่าวเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาก็ได้

วันนี้ที่ Alibaba และคู่แข่งอย่าง Tencent ถือข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าจำนวนมหาศาลไว้ในมือ เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนจีนอย่างที่ Google หรือ Facebook เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทั้งโลก แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือบริษัทเหล่านี้อยู่ในประเทศจีนที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเมื่อไหร่ก็ได้ที่รู้สึกว่าบริษัทเหล่านี้เริ่มมีอำนาจในมือมากเกินไปหรือเริ่มแข็งกร้าว หลายคนอาจจะลืมไปว่าบริษัทที่ผูกขาดและสร้างรายได้มหาศาลในประเทศจีนเป็นของรัฐทั้งนั้น เช่น China Mobile, Bank of China, ระบบไฟฟ้า, การสื่อสาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้นวันหนึ่งถ้ารัฐบอกให้แจ็ค หม่า ยื่น Alibaba หรือ Ant Group ให้รัฐไปดูแลจริงๆ ก็อาจจะไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก

 

 

อ้างอิง

Alibaba founder Jack Ma is reportedly not missing and has been laying low amid China’s crackdown on his businesses

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save