fbpx

Iwan Fals: นักดนตรีเพลงเพื่อชีวิตอินโดนีเซียผู้ไม่เชลียร์เผด็จการ

“ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมมักจะถามคนรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซียผู้มาเยือนหรือมาศึกษาที่คอร์แนลด้วยคำถามง่ายๆ นี้: ใครในอินโดนีเซียที่คุณชื่นชมและชื่นชอบ? พวกเขามีท่าทีเหมือนๆ กันคืองุนงงกับคำถาม และหลังจากเกาหัวแกรกๆ ได้สักพัก พวกเขาก็ตอบแบบลังเลว่า เอ่อ….Iwan Fals มั้ง”

Benedict R. O’ G. Anderson [1]

ชื่อและบทเพลงของนักดนตรีเพลงเพื่อชีวิตอินโดนีเซียนามว่า Iwan Fals อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังเพลงบ้านเราเหมือนอย่าง Freddie Aguilar นักดนตรีเพลงเพื่อชีวิตชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของผลงานเพลง Anak (ปี 1978) อันโด่งดังซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ทำนองเพลง ‘ลุงขี้เมา’ (ปี 1980) ของวงคาราบาว แต่เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกจากบทบาทการวิจารณ์การเมืองและผู้นำเผด็จการผ่านบทเพลง

Iwan Fals หรือชื่อจริงว่า Virgiawan Listianto เกิดที่จาการ์ตาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 1961 เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักกีตาร์ และนักวิจารณ์สังคมการเมืองผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวอินโดนีเซีย แนวดนตรีของเขาได้แก่ ป๊อป, ร็อค, คันทรี่ และป๊อปโฟล์ค เนื้อเพลงที่เขาประพันธ์มักจะสะท้อนเรื่องราวของสังคมและการเมืองในอินโดนีเซียยุคทศวรรษ 1970-1980 ในปี 2002 ใบหน้าของเขาได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2002 และเขายังได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็นหนึ่งใน ‘Asian Hero’ รวมถึงได้รับสมญานามว่าเป็น Bob Dylan แห่งอินโดนีเซีย

ภาพปกนิตยสาร Time จาก Facebook page: Iwan Fals 

Iwan Fals ชื่นชอบการเล่นกีตาร์ตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาเมื่อเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมในเมืองบันดุง เขาได้ร้องเพลงให้กับวงของโรงเรียน ร้องเพลงตามงานต่างๆ และได้เริ่มต้นร้องเพลงเปิดหมวกข้างถนน ในขณะที่เพื่อนๆ วัยเดียวกันนิยมเล่นเพลงของวง Rolling Stones ซึ่งเป็นวงฮิตในยุคนั้น Iwan Fals เลือกเล่นเพลงที่เขาแต่งเอง ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาจะออกแนวตลกขบขัน สนุกสนาน ล้อเล่น เน้นทำให้คนฟังมีความสุข ในช่วงทศวรรษ 1970 นักศึกษาที่เมืองบันดุงมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากจากบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น นักศึกษาเริ่มมีปฏิกิริยาต่อการเลือกตั้งสมัยแรกของยุคระเบียบใหม่ที่มีขึ้นในปี 1971 เพราะเริ่มเห็นว่าประธานาธิบดีซูฮาร์โตต้องการสืบทอดอำนาจ นักศึกษาจึงได้จัดกิจกรรมปราศรัยและชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง และมีการเชิญชวน Iwan Fals ให้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้ชื่อและเพลงของ Iwan Fals เริ่มเข้าหูคนในแวดวงดนตรี จนกระทั่งถูกชักชวนให้ไปออกเทปที่จาการ์ตา ซึ่งแม้เทปชุดแรกของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ไม่ได้หันหลังให้กับวงการเพลง หากยังคงเล่นดนตรีต่อไปและเข้าร่วมเทศกาลดนตรีต่างๆ 

Iwan Fals เติบโตอยู่ในช่วงที่กระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop culture) กำลังเฟื่องฟูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ถึงทศวรรษ 1990 แนวเพลงสไตล์คันทรี่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดแนวดนตรีเพลงเพื่อชีวิตที่สะท้อนสภาพสังคมการเมืองในประเทศต่างๆ ในขณะนั้นที่กำลังอยู่ในช่วงยุคสงครามเย็น มีการใช้นโยบายพัฒนาประเทศที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การคอร์รัปชัน ปัญหาสังคมเมือง ปัญหาคนยากจน คนชายขอบ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความอยุติธรรมทางสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าบริบทของสังคมเช่นนี้มีอิทธิพลต่อการผลิตผลงานเพลงของ Iwan Fals เช่นกัน 

Iwan Fals เริ่มออกอัลบั้มชุดแรกในปี 1975 ชื่อว่า Amburadul แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เขาเริ่มมีชื่อเสียงและเพลงเป็นที่นิยมและรู้จักของคนจำนวนมากจากอัลบั้ม Sarjana Muda ในปี 1981 โดยเขามีผลงานอย่างสม่ำเสมอในช่วงยุคทศวรรษ 1980 และ 1990 หากนับรวมผลงานตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปี 2020 เขามีผลงานเพลงรวมทั้งสิ้น 46 อัลบั้ม 

Iwan Fals มีบทบาทต่อต้านยุคระเบียบใหม่ผ่านบทเพลงจำนวนมากของเขา ซึ่งเพลงต่างๆ ล้วนสะท้อนสภาพความเป็นจริงในสังคมของอินโดนีเซีย ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการปกครองบริหารประเทศภายใต้ยุคระเบียบใหม่ ผู้ที่เป็นแฟนผลงานเพลงของ Iwan Fals มีหลายกลุ่มหลายระดับ ตั้งแต่ชนชั้นสูง กลาง ไปยันชนชั้นรากหญ้า ซึ่ง Iwan Fals ได้ก่อตั้งกลุ่มแฟนคลับของเขาขึ้นมาในชื่อว่า Orang Indonesia (คนอินโดนีเซีย) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนสมาชิกทางด้านเศรษฐกิจและสร้างความรู้สึกเป็นชุมชนขึ้นมา ในปี 1999 Iwan Fals ได้เชิญบรรดาแฟนคลับจำนวนนับพันคนไปที่บ้านของเขาเพื่อปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับกลุ่มองค์กรนี้ ผลการประชุมสรุปว่าพวกเขาจะก่อตั้งองค์กรนี้ทุกเมืองในอินโดนีเซีย ประเมินว่ามีสมาชิกราวๆ 500,000 คน บ้างก็ว่ามีจำนวนถึงล้านคน ในปี 2002 มีงานศึกษาชี้ว่า Iwan Fals มีแฟนคลับทั้งประเทศอยู่ราวๆ 46 ล้านคน [2]

เพลงของ Iwan Fals ที่มีเนื้อหาต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองที่โด่งดังได้แก่ ‘Bongkar’ (รื้อทำลาย) และ ‘Bento’ ออกมาในปี 1989 เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีระบอบการปกครองของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และเนื่องจากยุคระเบียบใหม่เป็นยุคที่มีการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเข้มข้น ใช้การปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐแบบรุนแรง ตลอดจนมีการควบคุมสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน บทเพลงของ Iwan Fals จึงไม่ได้ใช้คำตรงๆ แต่มีความหมายโดยนัยและใช้ลูกเล่นคำในการสื่อความหมาย

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้ใช้คำตรงๆ แต่ผู้รับสารต่างเข้าใจว่า Iwan Fals ต้องการสื่อถึงอะไร ทำให้ Iwan Fals ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง การจัดแสดงดนตรีของเขาถูกยกเลิกหลายครั้งโดยเจ้าหน้าที่ในช่วงยุคระเบียบใหม่ ในปี 1984 หลังการแสดงคอนเสิร์ตที่ Pekanbaru เขาถูกตำรวจจับและทำการสอบสวนเป็นเวลา 14 วัน ด้วยข้อหาดูหมิ่นประธานาธิบดีและภริยาจากการร้องเพลงที่มีชื่อว่า ‘Mbak Tini’ (Miss Tini) และ ‘Demokrasi Nasi’ (ประชาธิปไตยข้าว) ในการแสดงดังกล่าว เนื้อพลง ‘Mbak Tini’ มีเนื้อหาเกี่ยวกับโสเภณีคนหนึ่งที่มีสามีชื่อว่า Soeharyo เธอเปิดร้านกาแฟอยู่ริมถนน ซึ่ง Iwan Fals ได้กล่าวในการถ่ายทำรายการ Kick Andy ของ Metro TV เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2011 ว่า “ตอนที่อยู่บนเวทีผมเปลี่ยนชื่อ Soeharyo เป็น Soeharto” [3] แต่ในที่สุดตำรวจก็ปล่อยตัว Iwan Fals และไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ 

เนื้อเพลง ‘Bongkar’ พูดถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในชวากลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล ทำให้หมู่บ้านดังกล่าวต้องจมอยู่ใต้น้ำจากการสร้างเขื่อน 

            เนื้อเพลง ‘Bongkar’ บางท่อน

            Kalau cinta sudah dibuang (หากความรักถูกทิ้งไปแล้ว)

            Jangan harap keadilan datang (ไม่ต้องหวังว่าความยุติธรรมจะมา)

            Kesedihan hanya tontonan (ความเศร้าโศกเป็นเพียงการแสดง)

            Bagi mereka yang diperkuda jabatan (สำหรับพวกเขาที่ถูกเหยียบใช้เพื่อไปสู่ตำแหน่ง)

            Oh oh ya oh ya oh ya bongkar  (โอ้ โอ้ ยา โอ้ ยา ยา ทำลาย) 

ส่วนเนื้อเพลง ‘Bento’ พูดถึงนักธุรกิจที่สร้างอสังหาริมทรัพย์และซื้อที่ดินของชาวบ้านแบบไม่เป็นธรรม ว่ากันว่า Bento เป็นคำย่อมาจากคำว่า Benci Suharto (เกลียดซูฮาร์โต) หรือไม่ก็ Benci Tommy Suharto (เกลียดทอมมี่ ซูฮาร์โต – บุตรชายของซูฮาร์โต)

            เนื้อเพลง ‘Bento’ บางท่อน

            Namaku Bento, rumah real estate (ผมชื่อเบนโตะ บ้านของผมพิเศษ)

            Mobilku banyak, harta melimpah (รถยนต์ผมมีมากมาย ทรัพย์สินก่ายกอง) 

            Orang memanggilku bos eksekutif (คนเรียกผมว่าเจ้านายผู้บริหาร)

            Tokoh papan atas, atas sgalanya, asik! (ผู้นำแถวหน้า เหนือทุกคน เจ๋งเลย!) 

Iwan Fals ได้สร้างและเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดานักศึกษาและนักเคลื่อนไหวในยุคระเบียบใหม่ในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ในช่วงการชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีซูฮาร์โตปี 1997-1998 ก่อนหน้าที่ซูฮาร์โตจะลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 เพลง ‘Bongkar’ และ ‘Bento’ จะถูกนำไปร้องเวลาที่นักศึกษาชุมนุมหรือเดินขบวนประท้วงอยู่เสมอ 

หลังยุคระเบียบใหม่ Iwan Fals ยังคงผลิตผลงานเพลงที่มีกลิ่นอายของบรรยากาศทางการเมือง ในปี 2004 เขาได้ออกอัลบั้มชื่อ Manusia Setengah Dewa (มนุษย์ครึ่งเทพ) และในบทเพลงชื่อเดียวกันนี้ได้มีเนื้อหาสื่อไปถึงประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งในปีนั้นซึ่งได้แก่ ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ให้รับฟังเสียงและปัญหาที่กระทบประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าวของขึ้นราคา ปัญหาการว่างงาน และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ดังปรากฎในเนื้อหาของเพลงท่อนหนึ่งว่า

            Wahai presiden kami yang baru (โอ้..ประธานาธิบดีคนใหม่ของพวกเรา)

            Kamu harus dengan suara ini (ท่านต้องฟังเสียงนี้)

            Suara yang keluar dari dalam goa (เสียงที่ออกมาจากถ้ำ)

            Goa yang penuh lumut kebosanan (ถ้ำที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำของความเบื่อหน่าย)

            Walau hidup adalah permainan (แม้ว่าชีวิตคือเกม)

            Walau hidup adalah liburan (แม้ว่าชีวิตคือการพักร้อน)

            Tetapi kami tidak mau dipermainkan (แต่พวกเราไม่ต้องการถูกล้อเลียน)

            Dan kami juga bukan hiburan (และพวกเราก็ไม่ใช่สิ่งบันเทิงเริงใจ)

ในปี 2017 ได้มีการอัปโหลดวีดีโอเพลงขับร้องโดย Iwan Fals ชื่อ ‘Nawacita‘ ในยูทูป (Youtube) โดยชื่อบัญชี Pace Bro วีดีโอมีความยาว 6 นาที 54 วินาที เนื้อหาของเพลงได้กล่าวถึงคำสัญญาของประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ซึ่งรู้จักกันในนาม Nawacita โดย Iwan Fals ได้ตั้งคำถามว่าคำสัญญานั้นเป็นคำสัญญาของสวรรค์หรือคำสัญญาของบริษัทกันแน่ การปรากฏของคลิปวีดีโอนี้สร้างความฮือฮาให้กับชาวอินโดนีเซียไม่น้อย เพราะ Iwan Fals ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเวลานานแล้ว 

            เนื้อเพลงบางท่อนของเพลง ‘Nawacita’ มีดังนี้

            Janji-janji sudah kita telan, jadi obat kuat masa depan 

            (เราได้กลืนสัญญาลงไปแล้ว เป็นยาแรงสำหรับอนาคต)

            Ada sembilan janji yang sangat terkenal

            (มีสัญญา 9 ข้อที่โด่งดัง)

            Apakah ini janji surga atau janji kompeni

            (นี่เป็นสัญญาของสวรรค์หรือว่าสัญญาของบริษัท?)

            Temanku bilang nawacita namanya, agar Indonesia sejahtera, disegani dunia juga menggetarkan yang di surga

            (เพื่อนบอกว่าชื่อของมันคือ namacita เพื่ออินโดนีเซียเจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพของชาวโลกและสั่นสะเทือนไปถึงสวรรค์) 

            Dari kenaikan gaji sampai ke soal pendidikan, dari sektor informal sampai ke yang formal

            (ตั้งแต่การขึ้นเงินเดือนไปจนถึงเรื่องการศึกษา จากภาคนอกระบบไปยังภาคทางการ) 

Nawacita เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า nawa ซึ่งมีความหมายว่า ‘เก้า’ และ cita ที่แปลว่า ‘ความหวัง’ คำนี้ถูกนำมาใช้โดยโจโกวีในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2014 โดยได้เสนอคำสัญญา 9 ประการเพื่อสานต่อจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้และอุดมการณ์ของซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ทั้ง 9 ข้อเน้นถึงการสร้างชาติ สร้างสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีสวัสดิภาพและสวัสดิการสำหรับชาวอินโดนีเซียในระยะเวลา 5 ปีหากเขาได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี  

Iwan Fals ก็เป็นเฉกเช่นนักดนตรีทั่วไปที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ แต่สิ่งที่ Iwan Fals กระทำและสำคัญอย่างยิ่งคือความคงเส้นคงวาและไม่หลอกผู้คนที่ชื่นชอบเขา Iwan Fals ไม่เคยใช้ผลงานของตนเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองด้วยการแต่งเพลงเพื่อยกยอปอปั้นผู้มีอำนาจที่หมุนเวียนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ตรงกันข้าม เขาออกมาเปล่งเสียงเพื่อสะท้อนความคิดของเขาในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีต่อผู้นำ เมื่อเขารู้สึกข้องใจและเห็นว่ามีเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม และต้องถามได้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Iwan Fals กลายเป็นนักร้องที่เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจและเป็นที่นิยมชมชอบของชาวอินโดนีเซียจวบจนปัจจุบัน


หมายเหตุ: ภาพประกอบบทความจาก Mas Agung Wilis Yudha Baskoro

References
1 Benedict R. O’ G. Anderson, “Indonesian Nationalism Today and in the Future,” Indonesia 67 (April 1999), p. 10. 
2 Muhammada Yursan Darmawan, “Iwan Fals, Music, and the Voice of Resistance.” I-Pop: International Journal of Indonesian Popular Culture and Communication, Vol. 1 (1), 2020, p. 48.
3  Soeharto เป็นการเขียนชื่อ Suharto ในแบบเก่า ดูเพิ่มเติมที่ Wendi Putranto, “Iwan Fals Berterimakasih Kepada Orde Baru dan Mengaumi Soeharto: Tampil eksklusif di Kick Andy setelah 2 tahun menolak tawaran warancara,” Rolling Stone Indonesia

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save