fbpx
โลกซับซ้อนของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต : เมื่อการก้มหน้าคือการเข้าสังคม

โลกซับซ้อนของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต : เมื่อการก้มหน้าคือการเข้าสังคม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กิตติ พันธภาค ภาพ

การเล่นเน็ตหรือติดโทรศัพท์ของวัยรุ่น กลายเป็นเรื่องกังวลใจของผู้ปกครองในสมัยนี้ โดยเฉพาะในโลกที่การสื่อสารอยู่แค่ปลายนิ้ว รวดเร็วเหมือนกะพริบตา และมีสมาร์ทโฟนเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33

ความกังวลว่าลูกจะไม่มีสังคม ไม่ตั้งใจเรียน เพราะมัวแต่พิมพ์แชทและอัพ story ลงโซเชียล กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ โลกที่อยู่ในมือของวัยรุ่นเป็นโลกที่ผู้ใหญ่ยากจะเข้าถึง จนเกิดเป็น ‘Technophobia’ ทั้งจากความไม่เข้าใจเรื่องการใช้งานและวิตกถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ จึงเกิดการปกป้อง ปราบปราม ไม่ให้เด็กเข้าใกล้อินเทอร์เน็ตจนเกินไป

คำถามก็คือ โลกอินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นเป็นปัญหาจริงหรือ และโลกที่อยู่ในมือพวกเขาที่แท้เป็นอย่างไร

Bookscape x dtac Book Talk จัดงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ  It’s Complicated: the social lives of networked teens (เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต) ผลงานของ ดานาห์ บอยด์ (Danah Boyd) นักวิจัยของไมโครซอฟต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมวัยรุ่น ใช้เวลากว่า 7 ปี (2005-2012) สำรวจวัยรุ่นอเมริกาที่แตกต่างกันในหลายรัฐ ทำความเข้าใจ ‘สังคมก้มหน้า’ และความเข้าใจผิดอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กวัยรุ่น

Bookscape x dtac Book Talk,  It’s Complicated: the social lives of networked teens

ผู้ร่วมเสวนาไล่เรียงตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบาย คุยกันในหลากหลายประเด็นตั้งแต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง การเรียนการสอนยุคใหม่ ธรรมชาติของวัยรุ่น และตัวแทนเด็กวัยรุ่นที่เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยี  ประกอบด้วย

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย

เกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น

พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษา MIT Media Lab

ชวนสนทนาโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ Bookscape หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

มองปัญหาด้วยสายตาจริง

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ พัทน์ ภัทรนุธาพร

 

“เวลาเราเห็นเด็กเล่นอินเทอร์เน็ต เราก็คิดแต่ว่าต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาโดนอะไรบ้าง เพราะเราเห็นแต่ภาพของเรา” นพ.ประวิทย์ เริ่มต้นเสวนาด้วยมุมมองที่เป็นทั้งพ่อ และผู้ทำงานด้านนโยบาย พร้อมเสนอต่อไปว่า อินเทอร์เน็ตเป็น ‘กระจกนูน’ ที่สะท้อนปัญหาใหญ่เกินจริง

“ปัญหาในโลกจริง เวลาส่องผ่านกระจกจะขยายใหญ่ขึ้น กระจายไปมากขึ้น เปิดเผยมากขึ้น  แน่นอน กระจกเร่งให้เห็นปัญหา แต่ไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา  ผมพยายามจะมองกลับไปว่า ตัวจริงของปัญหาถ้าไม่ถูกนูนขึ้นมาจะมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร”

ประเด็นแรกที่ นพ.ประวิทย์พูดถึงคือเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็ก ที่ถูกคุกคามจากผู้ใหญ่จำนวนมากเพราะความเป็นห่วง

“สิ่งที่เด็กพยายามจะบอกก็คือว่า ตอนที่เขาอยู่ในที่สาธารณะไม่ได้แปลว่าเขาอยากให้ข้อมูลเขาเป็นสาธารณะ”

นพ.ประวิทย์ อธิบายต่อว่า ปัญหาก็คือคุณสมบัติทางเทคนิคของอินเทอร์เน็ตทำให้คนอื่นเข้าไปยุ่งได้ มีคนนอกสังคมที่คุ้นเคยมาวุ่นด้วย จึงเกิดปัญหา  เช่น ญาติผู้ใหญ่เข้าไปคอมเม้นต์รูปในเฟซบุ๊กจนเพื่อนๆ วงแตก

“เด็กไม่ได้กลัวว่าผู้ใหญ่จะเห็นนะครับ แต่อยากสร้างบรรยากาศในสังคมอินเทอร์เน็ตของเขา ผู้ใหญ่อยากรู้ได้ แต่อย่าไปยุ่งกับเขา”

“นิยามคำว่าความเป็นส่วนตัว เป็นคนละเรื่องกับความลับ  เราใช้ชีวิตประจำวัน แล้วมีคนเดินตาม 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องความลับนะ แต่โคตรน่ารำคาญเลย ความเป็นส่วนตัวหายไป หรืออย่างเราคุยโทรศัพท์ มีคนนั่งฟังด้วย ไม่ใช่เรื่องความลับนะ แต่ทำให้ flow ของ information เปลี่ยน ดังนั้นเรื่องความเป็นส่วนตัวคือเรื่องของเสรีภาพการแสดงออกโดยปราศจากการจับตามอง”

นอกจากเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว เรื่องช่วงอายุที่เหมาะสมในการเล่นอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเรื่องที่ นพ.ประวิทย์ กล่าวถึง

“ในทางการแพทย์ พูดกันมากใน 2-3 ปีนี้ คือเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่ยังเล็กส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมัยก่อนคนไทยจะเล่นวิ่งไล่จับ หมากเก็บ ปั้นดินน้ำมัน ปั้นวัวควาย พัฒนาทักษะการใช้มือ พัฒนาจินตนาการในการปั้น แต่อินเทอร์เน็ตไม่ได้พัฒนาตรงนี้”

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าห้ามเด็กๆ ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเด็ดขาด แต่ควรใช้ให้น้อย ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ไม่ควรใช้เลย  ส่วนเด็กอายุ 6 ขวบ อาจกำหนดเวลาให้เล่นวันละ 1 ชั่วโมง และควรหาเวลาทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เช่น ดูหนัง ขี่จักรยาน เดินเล่นออกกำลังกาย เพื่อลดระยะห่างในครอบครัว  จนเมื่อถึงอายุ 7-8 ขวบ จะเริ่มมีมิติทางสังคมเข้ามาร่วมกับการใช้อินเทอร์เน็ต เด็กจะเริ่มโตและเข้าใจอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะปัจจุบันเด็กที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีอายุน้อยลง

นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ยังมองว่าเรื่อง ‘เนื้อหา’ กับ ‘บริบท’ ที่แยกจากกันในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่คนต้องทำความเข้าใจ เพราะเมื่อเราสื่อสารผ่านตัวหนังสือ บริบทหลายอย่างหายไป อาจสร้างความเข้าใจผิดให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พิมพ์มานั้นจริงหรือเล่น

“เอาเฉพาะเรื่องปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาของอินเทอร์เน็ตก็คือ เราไม่เห็นสีหน้าท่าทาง ไม่รู้อารมณ์ที่แสดงออกมา ดังนั้นเด็กที่ยังไม่รู้โลกจริงเหล่านี้ ก็จะสับสนขึ้นมาว่า สิ่งนี้สำหรับคนอื่นแปลว่าเฉยๆ แล้วทำไมเพื่อนคนนี้เดือดร้อนมากมาย ฉะนั้นต้องให้เด็กเรียนรู้พัฒนาการของปฏิสัมพันธ์จริงก่อน ให้เห็นว่าเมื่อพ่อตี พ่อโกรธเป็นอย่างไร แต่เวลาพ่อพิมพ์มาในแชท เราไม่รู้เลยว่า พ่อโกรธ พ่ออำหรือไม่อำ”

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปพูดถึงนโยบายแก้ปัญหาอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมา มักเป็นการจัดการโดยผู้ใหญ่ โดยไม่ได้มองจากมุมของเด็กจริงๆ เช่น กลัวเด็กติดการพนัน ก็ไปตามปิดเว็บการพนัน เป็นต้น

“คำถามที่น่าสนใจคือว่า วิธีจัดการอย่างนั้นทันกับการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า เมื่อก่อนข้อมูลนิดเดียว เดี๋ยวนี้ข้อมูลเป็นล้านๆ สมัยก่อนเซอร์วิสมีนิดเดียว เดี๋ยวนี้เซอร์วิสมีมาก จนผู้ใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าเด็กเล่นอะไร แล้วจะไปจัดการเขายังไง เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีจัดการปัญหากันใหม่หรือเปล่า”  นพ.ประวิทย์ ตั้งคำถามทิ้งท้าย

เด็กและผู้ใหญ่เรียนรู้ไปพร้อมกัน

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

“เด็กในวัยเดียวกันมีความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยีไม่เหมือนกัน เรื่องความเหลื่อมล้ำที่หนังสือเล่มนี้เสนอ เป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่ง ในสังคมที่คุยกันเรื่องการอยู่ร่วมกันในโลกดิจิทัล” ผศ.อรรถพล กล่าวเปิดประเด็น

ต่อจากประเด็นเรื่องความเหมาะสมในทางการแพทย์เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ผศ.อรรถพลผู้มีหลานอยู่ในช่วงวัยรุ่น และเป็นอาจารย์ผู้สอนลูกศิษย์ให้กลายเป็นครู ขยายความเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรใช้เลย แต่หลัง 2 ขวบเริ่มให้เด็กใช้ไอแพด เล่นเกม เรียนรู้ภาษาเบื้องต้นได้ แต่ต้องมีกำหนดเวลาและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่

ช่วงประถมฯ เด็กใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้ แต่ต้องดูเรื่องการจัดการเวลา มีกติกาที่ต้องตกลงร่วมกันกับผู้ใหญ่ ให้มีเวลาใช้ชีวิตร่วมกันกับครอบครัวอยู่

ช่วงประถมปลายและมัธยมต้น เด็กเริ่มเข้าสู่การมีอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์ เอาตัวเองเข้ามาในสังคม และเข้าใจว่า cyber identity คืออะไร สิ่งสำคัญคือการอยู่ในโลกที่เคารพกันผ่านตัวหนังสือ และระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูล

“ผมเลิกโพสต์รูปหลานตั้งแต่เขาอยู่ ป.4 เพราะหลานบอกว่าไม่ให้โพสต์ เป็นสิทธิ์ของเขา หลังจากนั้นก็จะเคารพเขา เวลาถ่ายรูปรวมก็จะถามเขา ถ่ายได้รึเปล่า เพราะว่าเด็กในเมืองมีความเป็นวัยรุ่นเร็วขึ้น มีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น”

เมื่อมีพัฒนาการในการเล่นอินเทอร์เน็ตได้เร็ว เรื่องการเชื่อมโยงระหว่างโลกจริงกับโลกออนไลน์ในเด็กวัยประถมปลายจึงเป็นเรื่องเปราะบางที่ต้องวางฐานให้ดี เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเต็มตัว ที่ถือว่าเข้าขั้น ‘แอดวานซ์’ ในการใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยี

การใช้อินเทอร์เน็ตในวัยรุ่นจำเป็นต้องใส่ใจกับ ‘ความเป็นส่วนตัว’ และ ‘การกลั่นแกล้ง’ ที่มักมีการล้ำเส้นกันอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่สร้างสื่อขึ้นมาได้เอง จากความเข้าใจเทคโนโลยีจนสื่อสารความคิดออกมาได้ เปลี่ยนจากผู้รับสื่อกลายเป็นผู้สร้างสื่อ เลือกข้อมูลจากสื่อเพื่อมาใช้ประโยชน์ได้

“ตอนนี้ที่น่าห่วงไม่ใช่เด็ก แต่คือผู้สูงอายุ นักวิจัยของเราพบเรื่องสำคัญว่า พฤติกรรมการใช้เว็บสื่อลามกเป็นผู้สูงอายุ เด็กต่างจังหวัดอยู่กับปู่ย่าตายาย อาจจะเข้าถึงโดยเห็นภาพในมือถือที่เล่นค้างอยู่ ฉะนั้นตอนนี้เรากำลังพูดถึงนิเวศรอบตัวเด็ก ไม่ใช่มุ่งไปที่ตัวเด็กย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก หรือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันกับเขา เพื่อไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำความเสี่ยงเหล่านี้”

ผศ.อรรถพล ขยายความต่อว่า จากพัฒนาการทั้งหมดที่ว่ามา เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนต้องขยับเข้ามาเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ (digital citizen) ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นมากกว่าแค่เรื่องการใช้เทคโนโลยี

“สิ่งนี้เป็นเรื่องของการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การคิดอย่างมีมุมมองเชิงวิพากษ์ การจัดการชีวิตตัวเอง เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เราจะจัดวางความสัมพันธ์ตัวเองกับคนอื่นอย่างไร ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งมองว่าเทคโนโลยีเป็นแค่เรื่องของการใช้งาน แต่จริงๆ คือเรื่องของการอยู่ใน platform เดียวกัน เรียนรู้กติกาแบบใหม่และอยู่ด้วยกันด้วยความเคารพ

“ถ้าเราไม่อยากให้ใครส่งข้อความด่าเรา เราก็ไม่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการไป hate speech ใส่คนอื่นก่อน เพราะฉะนั้น การเป็นสมาชิก (membership) เป็นพื้นฐานสำคัญ เราควรจะเห็นแอคเค้าท์อื่นๆ มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน”

เรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเทคโนโลยีอาจก้าวล้ำจนเราจินตนาการไม่ออก

“ความเป็นส่วนตัวเป็นเส้นพร่าเลือนมากๆ  เด็กจัดการได้ดีกว่าผู้ใหญ่  ยิ่งเด็กที่โตมากับเทคโนโลยี  ใช้บ่อยเท่าไหร่ มีกลุ่มเพื่อนในนั้นเท่าไหร่ เขาจะหาทางซอกแซกไปได้ ดังนั้นหมดยุคของการตามจับผิดเด็ก หมดยุคของการปกป้องไม่ให้เด็กเข้าถึง แต่คือการเรียนรู้ไปด้วยกัน”

“ผู้ใหญ่อย่าทำลาย trust ระหว่างเรากับวัยรุ่น เพราะเมื่อไหร่ที่เราไปจับจ้องเขา ทำให้เขารู้สึกว่าถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวแล้ว คุณจะไม่ได้สิ่งนั้นกลับมาเลย แล้วหลังจากนั้นคุณก็จะยิ่งสื่อสารคนละเรื่องกับคนในบ้าน คุณครูก็เหมือนกัน”

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในการเรียนการสอนยุคปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าครูอาจไม่ทันเด็กในเรื่องเทคโนโลยี เราจะสามารถสร้างสมดุลหรือปรับการเรียนการสอนอย่างไร ผศ.อรรถพล บอกว่า ต้องให้ครูเรียนรู้ไปพร้อมเด็ก

ในห้องเรียนยุคใหม่ ก็จะเริ่มเห็นคุณครูรุ่นใหม่ๆ ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระบบมากขึ้น แต่ก็มีคุณครูจำนวนหนึ่งที่มองมาด้วยสายตาจับผิด ระแวง อึดอัดกับการที่เด็กใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน  ตอนนี้เรื่องสำคัญก็คือการเปลี่ยน mindset เรื่องการใช้ดิจิทัลของผู้ปกครองและคุณครู”

ไม่ใช่แค่ mindset เท่านั้น  แต่ต้องสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เรียนรู้ผ่านโลกดิจิทัลได้ ไม่ใช่แค่สอนเด็กใช้แอปพลิเคชันเบื้องต้น และไม่ใช่เรื่องของครูสอนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ครูในวิชาอื่นๆ เช่น สังคม วิทยาศาสตร์ ก็ควรพัฒนาการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าด้วย

ผศ.อรรถพล บอกว่าสิ่งที่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือเรื่องอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ใช่เฉพาะคอมพิวเตอร์ รวมถึงวิธีการสอนของครูที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันยุคสมัย

“เราไม่ได้มองการพัฒนาเด็กเป็นเส้นตรง แต่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ไปด้วยกัน เมื่อค้นคว้าอะไรด้วยกัน อาจจะมีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน ถ้าคุณครูสูงอายุหน่อย ทักษะด้านเทคโนโลยีอาจน้อยกว่า แต่เขาอาจมีคำค้นเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กได้”

“ถ้าปรับความสัมพันธ์ให้เป็นแนวราบมากขึ้น เคารพจุดอ่อนจุดแข็งกันมากขึ้น เด็กก็จะค้นเก่งมาก ได้ข้อมูลมาเป็นตั้งเลย ถึงเวลาก็ต้องมานั่งถกเถียงกันว่าข้อมูลไหนที่จะเอามาใช้ ใช้เพราะอะไร ด้วยเครื่องมือ ด้วยทักษะการค้นที่มีอยู่ ตัวเด็กๆ เองจะต้องจมกับทะเลข้อมูลเยอะมาก เด็กก็ต้องรู้วิธีการในเชิงวิพากษ์และกรองข้อมูล ซึ่งไม่ว่าคนวัยไหนก็ต้องไปด้วยกันทั้งหมด”

ผศ.อรรถพล ทิ้งท้ายไว้ว่า “หมดยุคของการเป็นกูรูให้ทุกอย่างกับเด็ก หรือบอกให้ทุกคนสอนตามนี้แล้ว แต่ควรจะเป็นลักษณะของการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ขึ้นมา เด็กกับเด็ก ครูกับเด็ก เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายมากขึ้น ครูไม่ได้เป็นแค่ผู้ถ่ายทอด แต่เป็นผู้เรียนรู้ไปด้วยกัน”

 

“ถ้าเขาเงยหน้าขึ้นมา คุณคุยกับเขาไหมล่ะ”

เกรียงไกร วชิรธรรมพร

เกรียงไกร วชิรธรรมพร
เกรียงไกร วชิรธรรมพร

จากนโยบายภาพใหญ่ ความรู้ทางการแพทย์และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ขยับมาสู่โลกของวัยรุ่นจากสายตาของผู้กำกับซีรีส์ที่คลุกคลีกับวัยรุ่นหลายแบบ มาแลกเปลี่ยนวิถีของวัยรุ่นที่เป็นจริงในปัจจุบัน

เกรียงไกร หรือ ‘ปิง’ ออกตัวว่า ทุกวันนี้เขายังรู้สึกว่าตัวเองเป็นวัยรุ่น และยังกลัว ‘รูปดอกไม้สวัสดีวันจันทร์’ ในกรุ๊ปไลน์จากญาติอยู่ เขาเริ่มต้นด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า “คำว่าวัยรุ่นกับผู้ใหญ่สามารถแยกขาดกันได้ขนาดนั้นไหม”

“เราเห็นรูปแบบของปัญหา ของชีวิต ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งแทบจะเหมือนกันหมดเลย ต่างกันแค่เครื่องมือที่อยู่รอบตัว”

เกรียงไกรพูดถึงปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ ที่มีมานานตั้งแต่ยุคไม่มีอินเทอร์เน็ต เปรียบเทียบกับการหวงห้องนอนไม่อยากให้พ่อแม่เข้า เหมือนมีเฟซบุ๊กแล้วไม่อยากให้พ่อแม่เห็น

“หนังสือเล่มนี้กำลังคอนเฟิร์มกับเราว่า วัยรุ่นยังเหมือนเดิมนะ แต่มัน complicated ขึ้น แล้วทำยังไงเราถึงจะเข้าใจเขา ปัญหามันคืออะไร ในโลกที่มีช่องทางเยอะขึ้น เราจะเป็นอะไรก็ได้ เจออะไรก็ได้ เรา interaction ได้มากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้อาวุธเด็กไปสู้กับโลกที่มีความสับสนซับซ้อนขนาดนั้น”

“คำว่า complicated คือคีย์ของวัยรุ่นยุคนี้จริงๆ”

เมื่อพูดถึงธรรมชาติของวัยรุ่น เกรียงไกรมองว่า วัยรุ่นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อายุน้อยกว่า ต่างกันแค่ประสบการณ์ชีวิต นอกนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกับเขา ดังนั้นสิ่งที่จะแชร์ได้คือประสบการณ์ชีวิตเท่านั้น

“ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ ก็บอกเขาว่าการไม่ได้ยอดไลค์ ไม่ได้เท่ากับว่าเพื่อนทั้งชั้นแบนคุณนะ นี่คือการสอนให้เขาแยกแยะออกได้ว่าอะไรจริงไม่จริง แล้วการที่เราจะสอนอะไรพวกเขาได้ ก็ต้องแยกแยะให้ออกก่อน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน ที่จะต้องลงไปเรียนรู้กับเครื่องมือเหล่านั้น”

ถัดจากเรื่องนี้ เกรียงไกรชูประเด็นเรื่องสังคมก้มหน้าที่เกี่ยวข้องกับมิตรภาพของผู้คน เขามองว่าความเป็นเพื่อนอาจเริ่มต้นจากความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องมี ‘พื้นที่’ แล้ว และยกตัวอย่างชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชอบแต่งคอสเพลย์ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในโรงเรียน เขาถูกล้อเลียน เพื่อนๆ มองว่าความชอบของเขาเป็นเรื่องตลก

“สิ่งนี้ทำให้การเป็นเพื่อนในพื้นที่ของเขาเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความสนใจไม่ตรงกัน แล้วเขาไม่ได้รับการยอมรับ”

เกรียงไกรบอกว่า การที่เด็กติดอินเทอร์เน็ตอาจเป็นเพราะว่าเพื่อนของเขาอยู่ในนั้น ทั้งในกรุ๊ปไลน์คอสเพลย์ ที่มีไว้นัดกินข้าว คุยเรื่องการ์ตูนกัน หรือกำลังเสิร์ชหาร้านคอสเพลย์ใหม่ๆ พฤติกรรมที่คนนอกเห็นก็คือ อยู่เงียบๆ ในโรงเรียนไม่ค่อยคุยกับใคร นั่งเล่นโทรศัพท์ แต่สิ่งสำคัญที่คนควรมองเห็นคือ เขาไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร

“เราชอบคิดว่าเขาทุกข์ เพราะเราเอาตัวเองไปคิดแทนว่าการมีเพื่อนคือการออกไปเฮฮากินข้าวด้วยกัน แต่สำหรับเขาคือการมีคนคุยด้วย แล้วแชร์ความสนใจกัน ไม่โดน make fun นั่นคือแฮปปี้แล้ว เขามีความสุขดีครับ”

“สังคมมีปัญหากับเขา ทำไมไม่เงยหน้ามาคุยกับเรา ก็ความสุขเขาอยู่ตรงนั้น คุณคุยสิ่งเดียวกับเขาได้ไหมล่ะ คุณฟังเขาไหมล่ะ คุณพร้อมที่จะฟังเรื่องคอสเพลย์ของเขาไหม ถ้าคุณพร้อมที่จะอินกับเขา เขาจะเงยหน้าขึ้นมาคุยกับคุณ”

“เพราะฉะนั้น อาจจะต้องหาคีย์ให้เจอว่าลูกเราติดเกม ติดโทรศัพท์เพราะอะไร ถ้าเราหาคีย์ถูกก็จะคุยกันเข้าใจ สุดท้ายแล้วเด็กก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากหาที่ที่สบายใจที่สุด”

เกรียงไกรทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากเข้าใจเด็ก อย่าคิดแค่ว่า “ถ้าเป็นฉันจะทำอย่างไร” แต่ให้คิดว่า “ถ้าเป็นฉันตอนอายุ 16 จะทำอย่างไร”

“ก่อนจะเป็น digital native เขาเป็นมนุษย์ก่อน

พัทน์ ภัทรนุธาพร

พัทน์ ภัทรนุธาพร
พัทน์ ภัทรนุธาพร

เด็กหนุ่มผู้โตมากับเมาส์พอๆ กับจับปากกา ใช้ชีวิตการเรียนอยู่ทั้งไทยและอเมริกา ปัจจุบันศึกษาที่ MIT Media Lab สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาเปรียบเทียบว่า โลกดิจิทัลเป็นโลกที่คู่ขนานไปกับโลกจริง (physical)

“ผมมองว่าโลก digital กับ physical เหมือนกลางวันกลางคืนที่ซ้อนกันอยู่ พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เห็นมุมมองที่น่าสนใจว่า ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว ต่อให้เป็นกระจกสะท้อนกันก็ตาม”

พัทน์ หรือ ‘พีพี’ ยกตัวอย่างความแตกต่างของวัฒนธรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของไทยกับอเมริกา เช่น เด็กกับครูที่อเมริกาจะไม่แอดเฟซบุ๊กกัน เพื่อสร้างระยะห่างไม่ให้เกิดความลำเอียง หรือความสนิทสนมที่มากเกินพอดี ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัลเหมือนกัน

เมื่อกล่าวถึงคำพูดที่ว่า “วัยรุ่นอยู่ในสังคมก้มหน้า” พีพีหัวเราะแล้วบอกว่า “ รู้สึกตกเป็นเหยื่อมากครับ” แต่เขาบอกต่อไปว่า เขาไม่ได้เป็นแค่วัยรุ่น แต่ยังเป็น technologist ด้วย สิ่งสำคัญจึงเป็นเรืองการทำความเข้าใจคุณสมบัติและลักษณะของโซเชียลมีเดีย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราโพสต์รูปไปแล้วเพื่อนกดไลค์น้อย ก็จะคิดไปว่า เกิดอะไรขึ้น เพื่อนไม่ชอบเราตรงไหน กำลังถูกนินทาอยู่รึเปล่า แต่ในความจริงอาจเป็นเพียงการทำงานของอัลกอริธึมที่โชว์เรื่องที่อยู่ในเทรนด์ เพื่อให้คนอยู่ใน platform นานขึ้นเท่านั้น เมื่อรูปเราไม่อยู่ในเทรนด์ ก็ไม่แปลกที่จะไม่ปรากฏให้เพื่อนเห็น

“เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ใช้ แล้วยิ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสังคมตัวเอง มันคือ social media ไม่ใช่แค่ media ดังนั้นผลกระทบต่อสังคมจึงมีสูงมาก”

พีพียกประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจิตว่า สังคมยังมีความเข้าใจต่อการโพสต์ ‘สัญญาณ’ ฆ่าตัวตายในอินเทอร์เน็ตน้อย ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้กันแน่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก

ประเด็นต่อมา พีพีมองว่าเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้โดยไม่ต้องอ่านหนังสือแล้วก็จริง แต่การที่จะ empower เด็กได้จริง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างเครื่องมือสื่อสารในแบบของตัวเอง “ถ้าเราจะทำให้เด็กแสดงตัวตนบนโลกโซเชียลได้ออกมาชัดเจน เด็กต้องสามารถสร้างเครื่องมือของตัวเองได้”

“เทคโนโลยีเราจะไม่หยุดแค่ตรงนี้ ตอนอยู่ที่ MIT ผมเห็นเทคโนโลยีที่ไปไกลกว่าข้างหน้า 30 ปี ทัชสกรีนที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ มีใน MIT ตั้งแต่ปี 1970 แล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเห็นโฮโลแกรม เราเห็นโซเชียลมีเดียที่ฝังเข้าไปในเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลย เป็นอนาคตอันใกล้ที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม”

เมื่อพูดถึงเรื่องช่องว่างของอายุกับความสามารถในการใช้เทคโนโลยี พีพีมองไปไกลกว่านั้นว่า ประเด็นนี้จะค่อยๆ หายไป เพราะเครื่องมือจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

“อีกหน่อย เด็กจะถามเพื่อนกันเองว่ารู้จักแอปฯ นี้มั้ย เขาอาจจะไม่รู้จักก็ได้ เพราะความหลากหลายของเครื่องมือค่อยๆ มากขึ้น แล้วการที่ทุกคนจะมี mainstream ว่าถ้าคุณไม่รู้จักอันนี้ คือคุณไม่รู้จักดิจิทัล จะค่อยๆ หายไป เพราะดิจิทัลจะนำไปสู่ personalization ทุกคนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มือถือของแต่ละคนมีแอปฯ ไม่เหมือนกัน แต่ก่อนทุกคนเล่นเกมงูเหมือนกันในมือถือ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว”

“สิ่งนี้อาจทำให้เราเคารพในความแตกต่างมากขึ้น เพราะ digital identity ของเราต่างกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ก็คือว่า อาจจะทำให้คนไม่เคารพกันเลย คุณเข้าเฟซบุ๊กไม่เป็น คุณจะมาสอนอะไรฉัน ผมว่าตรงนี้ควรจะให้ความสำคัญมากๆ”

เมื่อพูดถึงเรื่องเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาพร้อมเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าเป็น digital native เด็กเหล่านี้จะมีลักษณะที่แตกต่างไหม และต้องมีการเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้อยู่กับเทคโนโลยีได้โดยที่โลกความจริงไม่พร่าเลือน พีพีบอกว่า

“ดิจิทัลไม่ได้อยู่ในอวกาศ แต่ซ้อนอยู่ในโลกจริง ดังนั้นก่อนที่เขาจะเป็น digital native เขาเป็นมนุษย์ก่อน ผมเลยคิดว่าทักษะการเป็นมนุษย์ยังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่มากแน่ๆ”

อย่างไรก็ตาม เส้นพร่าเลือนระหว่างโลกจริงและโลกดิจิทัลก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจัดสมดุลให้ดี

“คอนเซ็ปต์ความเป็นส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย บางครั้งเราเผลอเอามาแสดงในโลกจริง เรารู้สึกอยากกด undo ในโลกจริงมากเลย แต่ เอ๊ะ ไม่มีปุ่ม undo นี่นา บางทีคิดว่าสิ่งที่เราแสดงออกคงมีฟิลเตอร์มั้ง แต่ในโลกจริงไม่มีฟิลเตอร์มาอัลกอริธึมคุณ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า การที่เราอยู่ในสองมิติ ทั้ง physical กับ digital เปลี่ยนวิธีที่เรามองตัวเองและมองโลกยังไง”

พีพีแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมาถึงว่า MIT Media Lab พยายามเชื่อมคอมพิวเตอร์เข้ากับคลื่นสมองคน โดยให้คนนั่งนิ่งๆ แล้วให้กูเกิ้ลอ่านว่าเราคิดอะไรอยู่ เขาเลยตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งที่อยู่ในความคิด กับสิ่งที่พิมพ์ออกมาเชื่อมต่อกันขนาดนั้น พื้นที่ส่วนตัวของเราจะหายไปเรื่อยๆ หรือไม่

ยิ่งโดยเฉพาะถ้าในประเทศที่รัฐบาลอยากเข้ามาขอดูโซเชียลมีเดียของประชาชนเพื่อความมั่นคงของรัฐ  เส้นความเป็นส่วนตัวของเราจะอยู่ตรงไหน แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่การถูกสอดส่องก็ยังเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจอยู่ดี

“แต่ก่อน การแสดงออกคือสิ่งที่เราเลือกแชร์ แต่ตอนนี้คือสิ่งที่เราเลือกคิด ดังนั้นเราไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดเลยรึเปล่า ก็เลยเป็นคำถามว่าเทคโนโลยีนั้นรุกรานพื้นที่เราไปเรื่อยๆ ไหม แล้วเราจะอยู่กับมันยังไง ผมว่าไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่คือเรื่องของทุกคน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save