fbpx

It does MATTER – 7 เรื่องสำคัญสำหรับสื่อไทยในสายตา ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’


‘The MATTER’ เมื่อหลายปีก่อนคือสื่อที่ตั้งตัวจากการเล่าเรื่องราวทั่วไปในสังคมด้วยลีลากวนๆ ชวนจิกกัดให้พอแสบคัน จนกระทั่งคนข่าวสายเข้มอย่าง ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ เข้ามารับบทบรรณาธิการ The MATTER จึงเริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นสำนักข่าวออนไลน์

หัวใจหลักในการนำเสนอของ The MATTER คือต้องเล่าข่าวและเรื่องราวที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้อ่านด้วยน้ำเสียงมีชีวิตชีวา ทำให้หลายปีต่อมา The MATTER เติบโตเป็นสื่ออันดับต้นๆ ของโลกออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เลือกอ่าน และมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน

ระหว่างนั้น พงศ์พิพัฒน์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผ่านการสังเกตจริตคนอ่าน ความเปลี่ยนแปลงในสังคม และการทำงานของรัฐ จนตกผลึกเป็นวิธีคิดการทำงานสื่อและประเด็นที่คนควรให้ความสนใจ

อะไรคือเรื่องสำคัญที่นักข่าวและประชาชนควรรู้ไว้ 101 ชวนอ่านมุมมองของบรรณาธิการอาวุโสของ The MATTER จากรายการ PRESSCAST เข้าถึงสื่อ เข้าใจสื่อในยุคดิสรัปชัน



1.เข้าใจจริตคนอ่าน ตามกระแสข่าวให้ทัน


The MATTER เกิดมาในเจเนอเรชันที่คนชินกับสื่อออนไลน์ ธรรมชาติของโลกออนไลน์คือประเด็นเปลี่ยนเร็วมาก บางทีเราคิดว่าเรื่องหนึ่งยังพอนำเสนอได้ภายในวันเดียวกัน แต่พอทำช้าไปเป็นรายชั่วโมง คนก็ไม่สนใจแล้ว เปลี่ยนไปสนใจอย่างอื่น

นอกจากนี้ ท่าทีของการนำเสนอคอนเทนต์ยังสำคัญ แต่ละคอนเทนต์ คนอ่านจะคาดหวังจุดยืนอะไรบางอย่างจากเรา ถ้าเราแทงจุดยืนผิด คนไม่อ่านเราเลยก็มี หรือถ้ามีจุดยืนที่ค้านสายตาคนที่ติดตามอยู่ บางครั้งคนก็เข้ามาถล่มเลย

เราต้องประเมินความสนใจของคนอ่าน ไม่ต้องถึงขั้นทำข่าวเพื่อเอาใจคนอ่านตลอดเวลา เพราะจะเหนื่อยเราด้วย แต่อย่างน้อยต้องประเมินว่าคนยังสนใจประเด็นที่เราทำไหม กระแสเป็นอย่างไร สโลแกน The MATTER คือ “Make News Relevant” เราจะไม่ทำข่าวที่แข็งมากจนคนอ่านรู้สึกว่าเกี่ยวอะไรกับฉัน ไอเดียเบื้องหลังงานทุกชิ้นคือมันเกี่ยวกับเราอย่างไร ทำไมต้องนำข่าวนี้มาคุยกับคนอ่าน แล้วค่อยเติมความสนุก ท่าที จุดยืนบางอย่างเข้าไป

มันอาจจะฟังดูขัดแย้งกับทฤษฎีสื่อในอดีตที่ว่าสื่อไม่ควรมีจุดยืน ควรนำเสนอแค่ข้อเท็จจริง ใส่น้ำเสียงมากเกินไปไม่ดี แต่เราคิดว่าในโลกออนไลน์ ในยุคสมัยใหม่ คนต้องการจุดยืน น้ำเสียงอะไรบางอย่างจากสื่อ เพียงแค่ทุกอย่างต้องอิงบนข้อเท็จจริง ไม่ใช่มีน้ำเสียงอย่างเดียว

พอมีคนรุ่นใหม่ติดตามเราจำนวนมาก เราก็มีวิธีโกงในการทำคอนเทนต์อยู่บ้าง คือให้คนรุ่นใหม่นี่ล่ะมาทำงาน ทุกครั้งที่ประชุมกองก็จะถามน้องๆ วัย 20 กว่าว่าคนรุ่นน้องสนใจอะไรกัน ตอนนี้คุยเรื่องอะไรอยู่ เพราะโลกออนไลน์ปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก เราไม่อาจจำแนกความสนใจของคนตามแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ TikTok ได้แล้ว แทบจะเป็นการแบ่งว่าคนเกิดช่วงปีนี้ สนใจเรื่องนี้ คนเมือง คนต่างจังหวัดสนใจอีกเรื่อง เราถึงต้องใช้วิธีโกงบ้างด้วยการถามว่าคนที่น้องๆ ในทีมได้ไปสัมผัสในกลุ่มสังคมของตัวเองสนใจเรื่องอะไรกันบ้าง



2.สื่อยุคใหม่ ต้องยืดหยุ่นพร้อมเปลี่ยนแปลง


ช่วงแรก The MATTER โดดเด่นเพราะทีมค่อนข้างเล็ก มี 5-6 คนและแต่ละคนมีสไตล์ค่อนข้างชัด ตอนนี้ในทีมมี 20 กว่าคน การเพิ่มคนเข้ามาทำให้ช่วงหนึ่งเราหลงทางไปอยู่เหมือนกัน คือเราไปกำหนดว่า The MATTER ต้องเป็นอะไร เป็นอย่างไร ทุกคนต้องปรับให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ The MATTER ในจินตนาการนั้น แต่ถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าไม่ใช่แล้ว สไตล์ของ The MATTER คือจุดยืนของแต่ละคนในทีม ดังนั้น The MATTER ต้องเปลี่ยนไปได้ตามช่วงเวลา ตามสไตล์ของสมาชิกที่เข้ามาอยู่ในทีม คนที่ตาม The MATTER ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าเราเปลี่ยนตลอด

สิ่งที่ผมสังเกตได้จากคนข่าวรุ่นใหม่ในทีมอายุประมาณ 25 ปีลงมา คือมีความสนใจที่หลากหลาย เวลาพูดถึงข่าว จะไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือนคนข่าวสมัยก่อน และพยายามเชื่อมโยงหลายๆ ศาสตร์เข้ามาอยู่ด้วยกัน เอาซีรีส์มาพูดถึงปัญหาการศึกษา เอาสารคดีมาช่วยเล่าประเด็นสังคมให้สนุกขึ้น เขาทำให้เห็นว่าเรื่องเรื่องหนึ่งเช่นการเมือง ไม่ได้แยกตัวอยู่แบบเพียวๆ มันสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ในสังคมด้วย

ที่สำคัญคือมีความคล่องตัว สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เมื่อก่อนถ้าคนขึ้นชื่อว่าเป็นนักข่าวการเมือง ให้ทำข่าวเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อมจะไม่เอาเลย แต่เดี๋ยวนี้นักข่าวทำหลายอย่าง บางครั้งก็ suffer บางครั้งก็สนุก

สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ผมคิดว่าวงการสื่อไทยเวลามองจากมุมมองคนนอกอาจจะเหมือนก้อนอะไรสักอย่างที่แข็งตัว แต่คนที่อยู่ในวงการจะเห็นว่าสื่อผลัดรุ่นเร็วมาก สื่อรุ่นอาวุโส รุ่นกลางมีจำนวนไม่เยอะ ขณะเดียวกัน วงการสื่อไทยก็ถูกทำให้เงียบมานาน โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 หากมองภาพกว้างเร็วๆ แทบไม่มีข่าวอะไรน่าสนใจ จนกระทั่งเริ่มมีการชุมนุมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราทำข่าวกันได้สนุกมาก ประเด็นแตกออกมามากมาย มีหลายอย่างน่าทำไปหมด

ผมคุยกับคนในวงการสื่อด้วยกัน ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่ายุคนี้เป็นยุคที่เด็กรุ่นใหม่ได้กำไรจากการทำงาน เพราะมีอะไรให้ทำเต็มไปหมด เป็นช่วงที่ควรสั่งสมประสบการณ์ ฝีมือ สร้างความแตกต่างให้ตัวเอง



3.มุกกวนๆ ชวนคนสนใจประเด็นเข้มได้


เมื่อก่อนเราไม่กล้าเรียกตัวเองว่าสำนักข่าว เพราะเน้นทำคอนเทนต์แบบกวนตีน เวลามีข่าวอะไรเกิดขึ้น ข่าวที่เรารู้สึกว่าควรพูด แต่ไม่มีใครพูด ก็จะนำมาพูดแบบกวนๆ บางข่าวแข็งมาก เครียดมาก เราก็อยากนำมาทำให้มันสนุกขึ้น นี่คือไอเดียการเกิด The MATTER ยุคแรกๆ

พอเริ่มมีคนติดตาม The MATTER มากขึ้น เริ่มมีประเด็นบางอย่างที่เราสนใจแต่ไม่มีคนทำ เราก็กระโดดเข้ามาทำ ขยี้ให้ใหญ่ หรือถ้าแง่มุมไหนใครพูดไม่ตรงใจ เราก็ทำเอง หลังจากที่ผมเข้ามา ทีมข่าวคนอื่นเข้ามา ก็ช่วยกันเติมว่านอกจากติดตามกระแสแล้ว ยังมีการเปิดประเด็นข่าว ทำซีรีส์ของเราเอง สวนกระแสบ้างเพื่อแสดงจุดยืนของเรา

ความกวนๆ ของเรายังมีอยู่ ส่วนมากจะเป็นแนวเอามุกมาใช้ประกอบคอนเทนต์ ซึ่งผมยอมรับว่าในสมัยหนึ่งมันใหม่ แต่ในโลกออนไลน์ยุคนี้ก็ไม่ค่อยต่างกันนักหรอก เราพยายามหาเรื่องใหม่ๆ เช่น คอนเทนต์รัฐประหาร 7 ปี คสช. สื่อสำนักอื่นอาจจะนำเสนอสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างซีเรียส The MATTER ก็หันมานำเสนอว่า 7 ปีเกิดอะไรขึ้นบ้าง วงนักร้องเกาหลีชื่อดังออกอัลบั้มมาแล้วกี่ชุด ไอโฟนออกมากี่รุ่น เป็นการแซวสนุกๆ อีกแบบ

อีกเรื่องที่เราทำเยอะ คือเรื่องนาฬิกาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน เพราะตัวคดีนี้มีความพยายามทำให้ไม่คืบหน้า เงียบ เราจึงทำให้มันไม่เงียบด้วยการหามุกมาเติมให้มัน หาจังหวะ 2-3 เดือนทำสักที บางช่วงเป็นมุกโคนัน บางช่วงเป็นมุก FBI บางมุกเป็นเกม photo hunt ว่านาฬิกาเรือนนี้ยี่ห้ออะไร หยอดไปเรื่อยๆ ดึงกระแสข่าวให้กลับมา ถึงแม้จะไม่ได้กลายเป็นกระแสมาก แต่อย่างน้อย คนที่ตาม The MATTER จะได้รู้ว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราตามเรื่องนี้อยู่ตลอดนะ  



4.สื่อควรเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างมาเริ่มคุยกัน


เมื่อพูดถึงการเมือง คนไทยมักทำให้การเมืองดูเป็นเรื่องความขัดแย้ง ทั้งที่จริงๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา เปรียบเทียบเหมือนกับอากาศที่เราหายใจทุกวัน ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรขัดแย้ง

ในสถานการณ์ที่สังคมไทยมีความแตกแยกทางการเมือง มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ช่วงของการชุมนุมที่ผ่านมาเราจึงมีโจทย์ว่าจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้คนที่เห็นต่างมาคุยในประเด็นเดียวกัน เช่น เรื่องที่อ่อนไหวมากอย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในตอนนี้สังคมอาจจะยังไม่ถึงจุดที่คนเห็นต่างมาคุยกันแบบจริงจัง แต่ถ้าย้อนมองกลับไปสัก 2-3 ปีก่อน ประเด็นอย่างยกเลิกเกณฑ์ทหาร เมื่อก่อนจะมีคนบางกลุ่มไม่คุยด้วยเลย จนตอนนี้คนเริ่มคุยกันมากขึ้นแล้ว

เรื่องทำแท้งถูกกฎหมาย สมัยผมเริ่มทำ The MATTER ใหม่ๆ คนบางกลุ่มก็ไม่คุยเรื่องนี้ ด่าอย่างเดียวว่าจะทำให้เด็กใจแตก ท้องไม่พร้อมบ้าง แต่พอเริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น เข้ามาคุยกันไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็มีการแก้กฎหมายกันแล้ว แสดงให้เห็นว่าสังคมมันเปลี่ยน วันหนึ่งจะถึงจุดที่เราคุยกันเรื่องที่สมัยก่อนเคยอ่อนไหวจนคุยไม่ได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าสื่อจะชวนคนเข้ามาคุยประเด็นอ่อนไหวด้วยเหตุด้วยผลอย่างไรได้บ้าง แรกๆ จะด่ากันก็ไม่เป็นไร แต่พออารมณ์นิ่งแล้ว อยากให้แต่ละฝ่ายเอาข้อมูลเหตุผลมากางคุยกัน ผมเชื่อว่าสักวันมันจะเกิดผลดี



5.Data Journalism ช่วยสร้างประเด็นใหม่และสนุกยิ่งขึ้น


สมัยนี้ Data Journalism ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่ผมเริ่มต้นทำข่าว ตอนนั้นข่าวส่วนใหญ่โดนรันด้วยข่าวปิงปองหรือข่าวความเห็นที่คนด่ากันไปมา คนข่าวจำนวนไม่น้อยก็คิดว่าคนอ่าน ประชาชนจะได้อะไรจากสิ่งนี้ เราเริ่มมองว่าท่ามกลางข่าวที่ด่าสาดกันไปมามีข้อมูลอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ หน่วยงานราชการมีข้อมูลที่น่าสนใจ เราดึงข้อมูลเหล่านั้นมาทำเป็นข่าวได้ไหม คนในวงการสื่อไทยจำนวนไม่น้อยที่เริ่มสนใจทำข่าวอิงจากข้อมูล นำข้อมูลที่มีอยู่มาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

ผมคิดว่า Data Journalism เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำข่าว ถ้าใครถนัดนำข้อมูลมา visualization เป็นข่าวก็ดี แต่ตอนนี้เวลาพูดถึง Data Journalism คนมักนึกถึงแค่ Data Visualization ซึ่งมันไม่ใช่ มันเป็นแค่หนึ่งในวิธีการนำเสนอข้อมูล สิ่งที่เราควรพูดถึงกันมากขึ้นคือวิธีคิดแบบการทำข่าวเชิงข้อมูล โดยปกติ เวลาเราคิดประเด็นทำข่าว อาจจะเริ่มต้นคิดว่าจะไปสัมภาษณ์ใครดี คุยกับคนนี้ดีไหม แต่การทำข่าวเชิงข้อมูล เริ่มต้นที่ว่าถ้าเราสนใจประเด็นนี้ จะไปหาข้อมูลอะไรมานำเสนอ ดึงข้อมูลมาจากที่ไหนเพื่อพิสูจน์สมมติฐานของเรา

ถ้าคิดถึง Data Journalism แค่ในเชิง Data Visualization โดยนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมานำเสนอ จะติดปัญหาว่าบางประเด็นที่ไม่มีข้อมูลมาก่อนล่ะ จะทำอย่างไร เราต้องคิดถึงการทำงานทั้งขาเข้าและขาออก ส่วนใหญ่เวลาคิดประเด็นผมอยากให้ลองคิดจากเรื่องใกล้ตัว เช่น ออฟฟิศ The MATTER อยู่ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ละคนมักเจอปัญหาว่าควรกลับบ้านกี่โมงคนถึงจะไม่เยอะ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีข้อมูลสำเร็จรูปให้เราใช้อยู่แล้ว ผมเลยลองให้น้องฝึกงานไปนั่งดูว่าชั่วโมงไหนคนเยอะคนน้อย นำมาพล็อตกราฟทำเป็นข้อมูลง่ายๆ ช่วยวางแผนการเดินทาง

อีกเรื่องที่ The MATTER เคยทำคือให้น้องฝึกงานกระจายไปถามร้านอาหารตามสั่ง 30 ร้านว่าเมนูยอดฮิตที่คนชอบสั่งคืออะไร เพื่อดูรสนิยมคนไทยว่าเวลาไปร้านอาหารตามสั่งชอบสั่งอะไรบ้าง กับนั่งนับคดีฆาตกรรมในโคนันว่าตายอย่างไร และดูสถิติว่าคนกลุ่มไหนมักเป็นคนร้าย เพราะคนในทีม The MATTER มีเนิร์ดการ์ตูนเยอะ เนิร์ดระดับเข้าแข่งแฟนพันธุ์แท้ได้เลย ผมเลยถามว่าเอามาทำเป็นงานไหม (หัวเราะ) นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ถือเป็น Data Journalism

บางทีการทำ Data Journalism อาจเป็นสิ่งที่ต้องลงแรงบ้าง แต่มันได้ข้อมูลใหม่และสนุก ที่สำคัญคือฟีดแบ็กดี  



6.รัฐต้องโปร่งใส จริงใจ พร้อมเปิดเผยข้อมูล (มากกว่านี้!)


หลังรัฐประหารปี 2557 มีคำหนึ่งที่ผู้มีอำนาจชอบพูด คือรัฐบาลนี้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผมลองท้าทายแล้วท้าทายอีก ด้วยการเดินเข้าไปขอข้อมูลที่หน่วยงานราชการดื้อๆ เลย อย่างผลสอบเรื่องอุทยานราชภักดิ์ มีการตั้งโต๊ะแถลง 3-4 ครั้ง ในกลาโหม สตง. ปปช. ทุกครั้งที่ผมไปถาม ทุกคนจะบอกว่าให้ข้อมูลได้ แต่พอขอจริงกลับไม่มีใครให้ แม้จะทำเรื่องมาขอ สุดท้ายก็จะโดนระบบราชการกั้น รอนานหลายเดือนบ้าง บ้างก็บอกว่าเอกสารตกหล่น จนไม่ได้ข้อมูล

ผมพยายามท้าทายคำพูดของผู้มีอำนาจมาตลอด จนสุดท้ายพบว่าเป็นเพียงวาทกรรม พอเอาสิ่งนี้ไปพูดกับคนนอกวงการสื่อ คนอื่นๆ ก็เจอปัญหาจากระบบราชการเหมือนกัน แต่ละคนต้องใช้กำลังภายใน หาแหล่งข่าวจากที่อื่นกันเอง อันที่จริงแล้ว ผมเห็นว่าข้าราชการระดับกลางและล่างยินดีให้ข้อมูลนะ แต่บางอย่างที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวก็ต้องขอจากข้าราชการระดับสูง ซึ่งระดับสูงมักจะไม่ให้ไว้ก่อน

อีกปัญหาที่หลายคนเจอคือได้ข้อมูลที่เครื่องจักรอ่านไมได้ ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ราชการไทยยังส่งข้อมูลมาเป็นไฟล์ภาพ PDF เราก็ต้องเอา PDF ไปพิมพ์ลงโปรแกรม word excel เองอยู่ดี บางครั้งไปขอข้อมูลก็ได้ข้อมูลมาเยอะมาก ให้มา 20-30 แฟ้มเพื่อให้เราหาเองว่าข้อมูลที่อยากได้อยู่ตรงไหน

ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่วิธีคิดของราชการ อะไรที่ไม่ได้เป็นผลประโยชน์กับเขา เขาก็เลือกเพลย์เซฟไว้ดีกว่า



7.ร่วมกันคัดค้าน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
ที่ไม่ชอบมาพากล


พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นกฎหมายเชิงเทคนิค คือเขียนแบบต้องไปหากฎหมายที่เกี่ยวข้องอ่านอีกหลายฉบับถึงเข้าใจ กฎหมายนี้มีประโยชน์โดยเฉพาะกับวงการสื่อ แต่คนไม่ค่อยใช้กัน ซึ่งเข้าใจได้ เพราะขั้นตอนการได้ข้อมูลตามกฎหมายนี้ใช้เวลานานและมีขั้นตอนค่อนข้างจุกจิก นักข่าวจำนวนมากไม่ชอบอะไรที่จุกจิก

เดิมตอนที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ฉบับปี 2540 ออกมาใหม่ๆ ประเทศไทยถูกชื่นชมมากว่ามีกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยหลักการ กฎหมายนี้จะทำให้ภาครัฐเปลี่ยนมายด์เซ็ตในการเปิดเผยข้อมูล มี motto หลักคือ “เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ยุคนั้นตอนประกาศใช้ก็เห่อกันมาก เป็นยุคเฟื่องฟู ทุกอย่างถูกวินิจฉัยให้เปิดเผย แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็ดันไปเปิดข้อมูลสำคัญบางอย่างที่กระทบกับผู้นำรัฐบาลช่วงเวลานั้น ทำให้ถึงจุดวกกลับ เฟื่องฟูได้ไม่กี่ปีก็เฉา

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับใหม่มีสาระสำคัญอยู่สามสี่มาตรา คือ มาตรา 7 ว่าด้วยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยลงราชกิจจานุเบกษา มาตรา 9 ว่าด้วยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยไว้ที่สำนักงานของหน่วยงานรัฐนั้นๆ มาตรานี้บอกให้เปิดอัตโนมัติ แล้วเสริมด้วยมาตรา 11 คือถ้าคุณอยากรู้อะไรเพิ่มเติมมาขอได้ นี่เป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มาหลายปี แล้วมีปัญหาเพราะเดิมเขียนไว้ไม่รัดกุม เช่น ถ้าเราอยากทราบข้อมูลและไปขอจากหน่วยงานตามมาตรา 11 กฎหมายระบุแค่ให้เปิดเผยโดยเร็ว แต่ไม่ล็อกว่ากี่วันกี่เดือน ทำให้โดนดึงออกไปเรื่อยๆ

กฎหมายนี้ยังถูกร่างตอนที่เว็บไซต์ยังไม่เฟื่องฟู โซเชียลมีเดียยังไม่เกิด ดังนั้น มาตรา 9 บอกแค่ให้เปิดเผยข้อมูลไว้ที่สำนักงาน หมายความว่าถ้าคุณอยากรู้ข้อมูล คุณต้องไปสำนักงานเท่านั้น ถ้าอยากรู้ข้อมูลต่างจังหวัดต้องไปสำนักงานต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่ตอนนี้มีเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียแล้ว ผมคิดว่ากฎหมายเดิมต้องแก้จริงๆ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และความพยายามแก้กฎหมายล่าสุดซึ่ง ครม.เห็นชอบมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ก็มีการแก้สิ่งที่เป็นปัญหาจริง เช่น คำว่า ‘โดยเร็ว’ ในมาตรา 11 แก้เป็นภายใน 30 วัน หรือมาตรา 9 ก็ระบุให้เปิดเผยขึ้นระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือเว็บไซต์ด้วย

นั่นเป็นข้อดีของร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ นอกนั้นส่วนที่เหลือแย่หมดเลย (หัวเราะ)

Motto ที่เคยบอกว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” กลับหัวกลับหางกันไปหมด กลายเป็น “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” ถ้าเราดูร่างกฎหมายนี้ จะพบว่ามีการเพิ่มหมวดขึ้นมา คือหมวดข้อมูลข่าวสารที่ต้องไม่เปิดเผย ในขณะที่ร่างกฎหมายเดิม ปี 2540 เขียนว่าเป็นหมวดข้อมูลข่าวสารเปิดหรือไม่เปิดก็ได้ เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้ คนขอชาเลนจ์ได้ตามระบบ กฎหมายใหม่กลับบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ห้ามเปิดเผย มี 8-9 รายการ และมีรายละเอียดอีกค่อนข้างเยอะ

ความเห็นส่วนตัวของผมคือข้อมูลบางอย่างควรชาเลนจ์ได้ว่าควรเปิดหรือไม่เปิด เปิดแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น ข้อมูลความมั่นคง ในร่างกฎหมายใหม่บอกว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง อาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างงบซื้ออาวุธ รถถัง เรือดำน้ำ หรือแม้แต่ยุทธภัณฑ์ ซึ่งทางก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่ายุทธภัณฑ์หมายถึงกางเกงในทหารหรือเปล่า เพราะทุกอย่างที่ใช้ในกิจการทหารถือเป็นยุทธภัณฑ์ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตอนนี้ข้อมูลดังกล่าวโดนกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2554 และกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540 บังคับให้เปิดอยู่ ถ้ากฎหมายใหม่ถูกใช้ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะหายไป โดยที่เขาอ้างได้ว่าห้ามเปิด มองแบบแย่ๆ คือในอนาคต เว็บไซต์ของกองทัพบกอาจจะเปิดแค่ข้อมูลการก่อสร้าง งบซื้อกระดาษ ครุภัณฑ์ ก็ได้

เราควรค้านกฎหมายข้อมูลข่าวสารใหม่ให้ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลชอบใช้วิธีแบบนี้ คือออกกฎหมายบางอย่างที่สุดโต่งมากๆ ให้เราค้านแล้วเขาถึงลดดีกรี ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ซึ่งก็ยังแย่อยู่ แต่ตัวร่างจริงๆ แย่กว่านี้เยอะ ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันจับตา ตรวจสอบรัฐบาลเยอะๆ เปิดโปงข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากล รวมถึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้โปร่งใสขึ้น มันจะช่วยยับยั้งการนำไปสู่สังคมปิดข้อมูลได้


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.20 : It does MATTER ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save