fbpx
ชุมชนจินตกรรมแรกเริ่ม

ชุมชนจินตกรรมแรกเริ่ม

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนมกลุ่มหนึ่งเชื้อเชิญให้ผมร่วมเดินทางไปสำรวจถิ่นคนไต (ไท ไม่มี ย นอกประเทศไทย) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองและครอบครองฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของเวียดนาม

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้แปลกหน้าสำหรับผม ผมศึกษาคนกลุ่มนี้มายาวนานพอๆ กับศึกษาเรื่องประเทศเวียดนามในฐานะส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ เพียงแต่ว่ากลุ่มที่ผมเพิ่งไปเยี่ยมเยือนนี้เป็นคนกลุ่มที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคยนัก และทำให้รู้สึกเป็นหนี้ความรู้ต่อชาวมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ชวนให้ผมได้ความรับรู้และความคิดใหม่ๆ อีกหลายอย่าง

ในที่นี้ผมเลือกเล่าเรื่องความสำนึกความเป็นกลุ่มชนที่ละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน ยอกย้อนหลายชั้น และชวนให้ต้องทบทวนความเข้าใจเรื่อง “ชุมชนจินตกรรม” ที่ผมเคยเรียนรู้มาอีกครั้ง

งานเขียนตามแนวทางสำนักรื้อสร้างที่ฟุ้งเฟ้อกันเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเสนอว่า สำนึก “ชาติพันธ์ุ” (“ethnie” / ethnic group) หรือความเป็นกลุ่มก้อนของกลุ่มชน กระทั่งสำนึกความเป็นกลุ่มก้อนของ “ชนชาติ” (nationality) หรือความเป็นกลุ่มชนภายใต้เขตแดนรัฐประชาชาติ เป็นสำนึกใหม่ เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีรัฐประชาชาติขึ้นมาในยุโรปแล้ว อย่างเร็วก็หลังศตวรรษที่ 18 หากแต่เมื่อพิจารณาหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวได้ว่าเกิดสำนึกกึ่งชาติพันธ์ุกึ่งชนชาติ หรือเรียกได้ว่าเป็น “ชุมชนจินตกรรมแรกเริ่ม” มาอย่างน้อยก่อนกำเนิดรัฐประชาชาติในอุษาคเนย์มานับร้อยปี

ตามความคิดของสำนักรื้อสร้าง ในรัฐจารีตหรือชุมชนทางการเมืองที่มีมาก่อนรัฐประชาชาติ ความเป็นชุมชนทางการเมืองไม่ได้เรียกร้องสำนึกของความเป็นกลุ่มชนเดียวกันอย่างเข้มข้นเท่าในรัฐประชาชาติ จะเห็นว่ามีสำนึกกลุ่มชนที่หลากหลายกันไป หรืออาจจะเรียกได้ว่าแทบไม่มีสำนึกความเป็นชนกลุ่มเดียวกันอย่างชัดเจนพ้นไปจากสายสัมพันธ์แบบเครือญาติ หรืออย่างมากก็สำนึกความแตกต่างระหว่างชนชั้น

สำนึกที่เรียกว่า “ชุมชนจินตกรรม” ที่จะชวนให้เข้าใจ คือ คนที่อยู่ห่างไกลกัน แม้ไม่ได้เป็นญาติพี่น้อง ไม่รู้จักกัน ไม่เคยพบเห็นกัน ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าถูกกระทำหรือกระทำต่อกันอย่างไร แต่กลับมีสำนึกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน สืบสายเชื้อพันธ์ุ ภาษา วัฒนธรรมเดียวกันมานั้น เป็นสำนึกที่เกิดขึ้นมาใหม่ ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการพิมพ์ แผนที่ และความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบรัฐประชาชาติ ที่ทำให้คนเข้าใจไปว่าคนปัจจุบันเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับคนในอดีตอันไกลโพ้นอย่างสืบเนื่องกันแบบไม่มีการแบ่งคั่นเว้นช่วง ราวกับสืบเชื้อสายกันมาตลอด

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมสงสัยว่าในรัฐจารีตเอง อย่างเช่นในพื้นที่ที่ผมเพิ่งเดินทางไปเยือนมา มีสำนึกของความเป็นชุมชนจินตกรรมขนาดย่อมที่ซ้อนทับกันหลายลักษณะ หรือกล่าวได้ว่าผู้คนมีสำนึกถึงสังคมที่กว้างไกลไปกว่าชุมชนที่ตนติดต่อสัมพันธ์ด้วยอย่างทุกเมื่อเชื่อวันมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่สำนึกนั้นไม่ได้ถูกรองรับหรือสนับสนุนการมีอยู่ของการก่อตัวทางการเมืองที่เป็นรัฐประชาชาติเท่านั้นเอง

ย้อนกลับมาที่การเดินทางของผมในเที่ยวนี้ แทนที่จะบินไป ผมเดินทางออกจากประเทศไทยทางบก ข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานในจังหวัดนครพนม ผ่านแขวงคำม่วน บนถนนสาย 12 แล้วแยกไปถนนสาย 1 ขึ้นไปพบถนนสาย 8 เฉี่ยวแขวงบอลิคำไซ ข้ามไปยังจังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ของเวียดนาม

ผมเคยเดินทางไปเวียดนามทางบกมาแล้วก่อนหน้านี้หลายปี แต่ครั้งนี้เป็นเที่ยวแรกที่ใช้เส้นทางนี้ นับว่าตื่นเต้นพอสมควร ยิ่งเมื่อเทียบกับเส้นทางบนถนนหมายเลข 9 ผ่านแขวงสะวันนะเขดไปเวียดนามแล้ว ผมว่าเส้นทางนี้น่าอภิรมย์ยิ่งกว่านัก

นอกจากรถราจะน้อยแล้ว ถนนยังผ่านป่าเขา ซึ่งส่วนหนึ่งกลายเป็นที่ตั้งเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ยอดเขาสลับซับซ้อนที่เป็นฉากของแม่น้ำโขงเมื่อมองจากฝั่งนครพนม เมื่อรถวิ่งผ่านก็กลายเป็นหน้าผาชูชันเคียงข้างถนนคดเคี้ยวไปช่วงหนึ่งของเส้นทาง ผืนน้ำเหนือเขื่อนที่มีตอไม้ตายกลางน้ำที่แทรกอยู่ตามไหล่เขา ชวนให้คิดเพลินเตลิดไปเป็นภูมิทัศน์ในจินตนาการต่างๆ นานา จนกระทั่งเมื่อผ่านที่ราบสูงตอนหนึ่ง อากาศเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนละถิ่นกันกับที่ราบด้านล่าง เมื่อผ่านด่านกั้นเขตแดนไปยังเวียดนาม ถนนก็กลับมีสภาพแย่กว่าฝั่งลาว แล้วจึงค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าใกล้เมืองวิงญ์ (Vinh) ตัวเมืองที่มีความใหญ่โตอลังการเป็นมหานครอย่างเต็มรูปของจังหวัดเหงะอาน

เวียดนามเหนือบนที่สูงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแดงตั้งแต่จังหวัดหล่าวกาย เรื่อยลงมายังจังหวัดเอียนบ๋าย ไล่ไปทางทิศตะวันตกจนถึงเดียนเบียนฟู ล้วนเป็นถิ่นที่อยู่ของคนพูดภาษาตระกูลไตกลุ่มใหญ่ ดินแดนนี้คนไทยรู้จักกันทั่วไปในนาม “สิบสองจุไท” แต่คนไตในเวียดนามไม่ได้อยู่อาศัยเฉพาะในสิบสองจุไทเท่านั้น ยังมีคนไตอีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนที่สูงฝั่งตะวันตกของจังหวัดหว่าบิ่งญ์ แทงญ์หวา และเหงะอาน

ในดินแดนที่สูงเหล่านี้ คนไตไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังมีชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย หากแต่คนเหล่านั้นไม่ได้มีประชากรมากเท่า ไม่ได้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองมากเท่าคนไต เนื่องจากตั้งแต่อดีต คนไตยึดที่ราบในหุบเขาเป็นถิ่นฐานทำมาหากิน ทำให้เป็นผู้ควบคุมเส้นทางสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำ พร้อมๆ กับการปลูกข้าวนาดำ ทำให้พอจะมีส่วนเกินทางเศรษฐกิจมากพอที่จะสร้างสังคมที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ค่อนข้างเป็นเอกเทศจากศูนย์กลางอำนาจใหญ่ๆ ข้างเคียงอย่างสยาม ลาว และเวียดนาม และค่อนข้างมีเสถียรภาพมายาวนานจนยังคงรักษาลักษณะเฉพาะตนทางภาษาและวัฒนธรรมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง และตกทอดมาในปัจจุบัน

ไร่นาของชาวไตในเหงะอาน
ไร่นาของชาวไตในเหงะอาน

ไร่นาของชาวไตในเหงะอาน
ไร่นาของชาวไตในเหงะอาน

จากที่สังเกตเห็นและที่ประมวลได้จากการสัมภาษณ์ พร้อมเอกสารที่ศึกษาเพิ่มเติม ถิ่นที่ผมเดินทางไปเยือนครั้งนี้คือถิ่นคนไตในจังหวัดเหงะอาน มีการก่อตัวเป็นชุมชนทางการเมืองในอดีตที่สัมพันธ์กับภูมิประเทศเป็นอย่างยิ่ง หากแต่ความเข้มแข็งทางการเมือง เทียบกันไม่ได้กับคนไตในถิ่นสิบสองจุไท

บนเส้นทางสัญจรและบนสายน้ำสองสาย กล่าวได้ว่าแบ่งคนออกเป็นสองชุมชนทางการเมืองอย่างชัดเจน กลุ่มตอนเหนือเป็นคนที่สัมพันธ์อยู่กับลำน้ำเหียว หรือที่ชาวไตเรียกว่าลำน้ำหวง ส่วนกลุ่มตอนใต้สัมพันธ์อยู่กับลำน้ำก่าหรือน้ำลาม หรือที่คนไตเรียกว่าน้ำปาว ระหว่างสองกลุ่มนี้ คนไตบนลำน้ำหวงมีความเข้มแข็งเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่ากลุ่มลำน้ำปาว ข้อนี้สังเกตสรุปได้จากเรื่องเล่าและพิธีกรรมการเซ่นควายประจำปีของนครรัฐขนาดย่อมของชาวไตถิ่นนี้ 9 เมือง พิธีกรรมนี้ในปัจจุบันได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาในนามพิธีเซ่นไหว้ “ศาล 9 ห้อง” ซึ่งแต่ละห้องก็แทนเมืองแต่ละเมืองนั่นเอง

แท่นบูชาใน “ศาล 9 ห้อง”
แท่นบูชาใน “ศาล 9 ห้อง”

ยิ่งกว่านั้น เมืองไตในถิ่นนี้ยังนับว่ามีอำนาจในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเมือง นั่นหมายความว่าการรวมตัวทางการเมืองค่อนข้างมีระบบ เมื่อเทียบกับถิ่นคนไตบนลำน้ำปาว ถิ่นนี้มีเพียงการรวมตัวกันเป็นเมืองขนาดเล็กที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศจากกัน ไม่ได้มีการรวมกลุ่มการเมืองอย่างมั่นคงต่อเนื่องอย่างในถิ่นลำน้ำหวง

นอกจากตำนานเมืองและพิธีกรรมแล้ว เรายังสามารถเห็นการก่อตัวของชุมชนทั้งสองนี้ได้จากการใช้อักษร คนไตในเวียดนามมีอักษรของตนเองที่คล้ายคลึงกับอักษรไทยและอักษรลาว แต่ที่พิเศษคือ ภายในชุมชนไตขนาดเล็กในเวียดนาม แต่ละถิ่นยังมีอักษรที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ไม่สามารถอ่านเข้าใจกันได้ข้ามถิ่นอย่างง่ายๆ เรียกได้ว่าชุมชนไตในเวียดนามมีความรุ่มรวยอักษรอย่างยิ่ง ในจำนวนประชากรประมาณ 1 ล้านคนเศษนี้ มีอักษรใช้แตกต่างกันถึงอย่างน้อย 5 ชุดอักษร

เฉพาะในพื้นที่จังหวัดเหงะอานนี้มีถึง 3 ชุดอักษรแล้ว ส่วนในถิ่นลำน้ำหวง ผมพบว่ามีอักษร 2 ชุดใช้ร่วมกัน โดยอักษรชนิดหนึ่งที่ใช้แพร่หลายกันคืออักษรที่เขียนจากบนลงล่าง จากขวาไปซ้าย ส่วนถิ่นทางใต้ลงมาคือบนลำน้ำปาว มีอักษรอีกชุดหนึ่งที่คล้ายกับอักษรไตในถิ่นสิบสองจุไท หากแต่มีระบบการเขียนที่เฉพาะของตนเอง

อย่างไรก็ดี จากความรู้อักษรไตในเวียดนามของผม ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า คนที่เชี่ยวชาญอักษรในแต่ละถิ่นไม่สามารถอ่านอักษรของอีกถิ่นหนึ่งได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน ลำพังผมเอง ซึ่งคุ้นเคยกับอักษรไตดำในถิ่นสิบสองจุไทค่อนข้างดี หากจะทำความเข้าใจอักษรของคนไตในถิ่นลำน้ำหวงที่เขียนจากบนลงล่างเพียงบรรทัดเดียว ก็ยังต้องใช้เวลาหลายวันในการถอดรหัส

อักษรไตลำน้ำหวง ป้ายบอกเล่าการตั้ง "ศาล 9 ห้อง" ณ อำเภอเกว๋ฟองม์ จังหวัดเหงะอาน
อักษรไตลำน้ำหวง ป้ายบอกเล่าการตั้ง “ศาล 9 ห้อง” ณ อำเภอเกว๋ฟองม์ จังหวัดเหงะอาน

การรวมกลุ่มทางการเมืองของชุมชนในหุบเขาใน 2 ลักษณะ พร้อมๆ กับการใช้อักษรที่แตกต่างกันนั้น แสดงให้เห็นว่าคนไตใน 2 ถิ่นนี้มีสำนึกชุมชนที่กว้างไกลไปกว่าครอบครัว เครือญาติ หรือระดับหมู่บ้าน แต่ยังมีชุมชนระดับข้ามหมู่บ้าน หรือกระทั่งข้ามเมือง ผ่านการรวมตัวทางการเมืองและการใช้อักษรร่วมกัน

ในแง่ของการใช้อักษร แม้ว่ากลุ่มคนในท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่น่าจะอ่านออกเขียนได้อย่างกว้างขวางเท่าคนในสังคมปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเรียนภาษาเวียดนามเป็นภาษากลาง หากแต่ในระบบของการศึกษาพื้นเมืองดั้งเดิมที่มักผสมผสานวัฒนธรรมอักขระเข้ากับวัฒนธรรมมุขปาฐะ หรือใช้ทั้งการอ่านเขียนและการท่องจำขับร้องในการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม สังคมที่ใช้อักขระชนิดหนึ่ง ย่อมเผยแพร่ความรู้และวรรณกรรมด้วยการท่องจำและขับร้องอย่างเชื่อมโยงกับอักษรชุดหนึ่ง แตกต่างจากความรู้และวรรณกรรมของสังคมที่ใช้อักษรอีกชุดหนึ่ง แม้ว่าภาษาพูดของชุมชนทั้งสองจะมีสำเนียงใกล้เคียงกันก็ตาม

แต่เรื่องที่ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นคือสำนึกความเป็นกลุ่มชนที่ซ้อนทับกันอยู่อีกสองระดับ ด้านหนึ่งคือการที่คนไตที่นี่แต่ละคนมักจัดแบ่งตนเองตามชื่อเรียกกลุ่มย่อยว่า “ไตเมือง” และ “ไตแถง” กลุ่มไตเมืองอธิบายตัวเองว่าเป็นคนที่มาอาศัยตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้ก่อนคนไตอีกกลุ่ม ส่วนพวกไตแถง นอกจากจะอธิบายว่าตนเองมาทีหลังหรือเป็นผู้ย้ายมาจากถิ่นอื่นมากกว่าแล้ว บางกลุ่มของพวกเขายังอธิบายว่า เหตุที่เรียกตนเองว่าไตแถงเพราะย้ายมาจาก “เมืองแถง” ซึ่งก็คือชื่อที่ชาวไตใช้เรียกจังหวัดเดียนเบียนฟูนั่นเอง

สำนึกข้ามพื้นที่และถิ่นฐานของคน 2 กลุ่มนี้ จัดได้ว่าเป็นสำนึกที่กว้างไกลไปกว่าสำนึกของกลุ่มคนคุ้นเคยที่นับญาติ เชื่อมโยงกันได้ชัดเจน หากแต่เป็นสำนึกในจินตนาการที่คนทั้ง 2 กลุ่มมีผ่านความรับรู้เกี่ยวกับปูมหลังกำพืดของตนเองที่ผูกพันอยู่กับพื้นที่และการย้ายถิ่นฐาน นอกจากนั้น สำนึกนี้ยังตัดข้ามสำนึกแรกซึ่งผูกติดกับถิ่นฐานตามลำน้ำ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า สำนึกอย่างหลังนี้เป็นสำนึกของคนธรรมดาสามัญทั่วไปมากกว่าสำนึกอย่างแรก ที่อาจจะเป็นของชนชั้นนำและคนรู้หนังสือและอักษรจำนวนหนึ่งเท่านั้น

สำนึกอีกด้านหนึ่งที่ผมพบคือสำนึกของกลุ่มคนที่เปลี่ยนสกุลจากสกุลของชาวเวียดนามพื้นราบ มาเป็นสกุลของคนไต ชาวไตเรียกนามสกุลว่า “สิง” ชาวไตในเวียดนามมีชื่อสกุลใช้เช่นเดียวกับคนเวียดมาตั้งแต่มีความทรงจำเกี่ยวกับกำเนิดชุมชนของพวกเขาเองแล้ว สกุลของชาวไตและชาวเวียดไม่ได้บ่งบอกความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างคนที่ใช้สกุลร่วมกัน หากแต่สกุลเป็นวิธีหนึ่งที่คนไตและคนเวียดใช้แบ่งแยกสายตระกูลในทำนองเดียวกับที่คนจีนใช้แซ่

ในเรือนหลังหนึ่งที่ได้ไปเยือนเที่ยวนี้ ผมสังเกตเห็นภาพพิมพ์จากรูปวาดแสดงถึงความเป็นแม่ทัพของชายคนหนึ่ง แต่งตัวเหมือนนักรบในหนังจีนย้อนยุค ท่าทางองอาจ น่าเกรงขาม ถือดาบขนาดใหญ่ มองหน้าตรงออกมายังผู้ชมภาพ ในภาพมีอักษรภาษาเวียดนามเขียนเชิดชูวีรกรรมของชายคนในภาพ เมื่อเห็นทีแรกผมก็คิดว่าเป็นภาพเทพเจ้าอะไรที่ไหน ซึ่งก็ดูแปลกตา เพราะผมไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ในเรือนคนไตที่ไหนในเวียดนามมาก่อน

เมื่อสอบถามเจ้าเรือนผู้หญิง เจ้าเรือนเล่าว่า ภาพนี้เป็นภาพแทนบรรพบุรุษของสามีเธอ สามีเธอเล่าว่า บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวเวียดนามพื้นราบสกุล “เหงวียน” ได้รับราชการจนเป็นแม่ทัพ แต่สมัยหนึ่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในราชสำนักเวียดนาม เขาจึงพาผู้คนอพยพหนีความวุ่นวายมาอาศัยอยู่ในถิ่นคนไต แล้วเปลี่ยนสกุลเป็นสกุลไตว่า “วี” เพื่อให้กลมกลืนและหลบเลี่ยงภัยการเมือง จนในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็นชาวไตทั้งโดยสำนึกของกลุ่มชนและวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรม หากแต่ก็ยังรักษาประวัติของตระกูลไว้ ผ่านเรื่องเล่าและภาพดังกล่าว

เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวเวียดและกลุ่มชนอื่นล้วนมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนสำนึกของความเป็นกลุ่มชนจากกลุ่มหนึ่งไปเป็นอีกกลุ่มหนึ่งได้เสมอ สำนึกความเป็นกลุ่มชนจึงไม่ได้จำเป็นต้องแน่นิ่ง หากเงื่อนไขทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจมากระทบต่ออัตลักษณ์เดิมของคน พวกเขาก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนสำนึก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนไปให้ได้ พร้อมๆ กันนั้นเรายังได้เห็นการที่คนกลุ่มต่างๆ สัมพันธ์พัวพันกันอย่างใกล้ชิด ความสัมพันธ์ข้ามกลุ่มคนมักถูกมองข้าม เนื่องจากเรามักเข้าใจว่าสำนึกของการเป็นกลุ่มคนที่แยกจากกันนั้นจะคงที่ตายตัวอยู่เสมอไป

สำนึกที่ซ้อนทับกันทั้งความเป็นไตตามถิ่นในต่างลุ่มน้ำ การเป็นคนไตตามความเป็นมาของกลุ่มชน เช่น ไตเมืองและไตแถง และสำนึกความเป็นไตตามสกุลที่สัมพันธ์กับชนกลุ่มอื่น แสดงให้เห็นถึงการจินตนาการถึงความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คน ข้ามพื้นที่ ข้ามเวลา ข้ามขอบเขตของสายเลือด เครือญาติ หรือสังคมที่ติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิด ไปเชื่อมโยงกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่จำเป็นต้องเคยพบปะกันมาก่อน

สำนึกนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของสำนึกที่ภายหลังถูกนำมาใช้เป็นสำนึกของคนในรัฐประชาชาติเดียวกัน สำนึกชนิดนี้อาจเรียกว่าเป็น “ชุมชนจิตนกรรมแรกเริ่ม” ก่อนที่สำนึกเหล่านี้จะถูกกลืนกลายหรือแม้กระทั่งสลายลงไปด้วยสำนึกที่กว้างขวางกว่า มีพลังมากกว่า อย่างสำนึกความเป็นชาติในรัฐประชาชาติหนึ่งๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save