fbpx
เปิดมุมมองวงการไอที สื่อใหม่ และธุรกิจไทย กับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

เปิดมุมมองวงการไอที สื่อใหม่ และธุรกิจไทย กับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ

 

“ผมเป็นคนยุคเปลี่ยนผ่าน”

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone เว็บข่าวและชุมชนคนไอทีรุ่นบุกเบิก ฐานที่มั่นสำคัญด้านข้อมูลความรู้ไอทีของคนไทย นิยามตัวเองในวันที่ Blognone มีอายุ 13 ปี

เขาคือคนไอที ผู้เป็นนักสังเกตการณ์ ที่หลงใหลในการถ่ายทอดความรู้ และเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไอทีและสื่ออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดนานนับสิบปี ตั้งแต่ยุคทองของบล็อก สู่ยุคสื่อใหม่ และมองไปไกลถึงยุคที่เทคโนโลยีสุดล้ำกำลังพาเราไปสู่โลกที่อาจจินตนาการไม่ถึง

ในวันนี้ นอกจาก Blognone แล้ว อิสริยะใช้มุมมองแบบ “คนยุคเปลี่ยนผ่าน” และ ความปรารถนาที่จะเติมเต็ม “ช่องว่าง” ทางความรู้ในเรื่องต่างๆ สร้างฐานที่มั่นทางความรู้อีกสองแห่ง คือ Brand Inside และ Siam Intelligence Unit (SIU) แหล่งข้อมูลความรู้ด้านธุรกิจในโลกยุคใหม่ รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผู้คนในวงกว้างขึ้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วจากแรงผลักดันของเทคโนโลยี 101 จึงชวน อิสริยะ มามองโลกที่เปลี่ยนแปลง ผ่านตัวตนและมุมมองของคนไอทียุคเปลี่ยนผ่าน เพื่อจับกระแส เปิดมุมมอง และถอดบทเรียน วงการไอที วงการสื่อ รวมทั้งวงการธุรกิจไทย ให้คุณได้เห็น “ช่องว่าง” แห่งโอกาสที่อาจซ่อนอยู่

 

ตัวตน “คนไอที”

 

“ไอทีคือโลกใหม่ เป็นโลกที่เราเป็นเจ้าของและสร้างเองได้”

จุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องไอทีของคุณเกิดขึ้นจากอะไร

ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง Outliers ของ Malcolm Gladwell  เขาบอกว่า จุดกำเนิดของคนแบบ Bill Gates หรือ Steve Jobs มีที่มาจากรูปแบบคล้ายๆ กันอยู่ ในยุคนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ลงทุนทำวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ มีการทำศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องไปจองเวลาใช้ คนรุ่น Bill Gates และ Steve Jobs มีโอกาสเข้าไปใช้ แล้วเกิดความชอบ

พอมารุ่นผม ผมสังเกตว่าคนที่สนใจไอทีจะมีรูปแบบคล้ายๆ กัน คือเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เห็นความสำคัญของเรื่องพวกนี้ เพราะรู้ว่ามันคืออนาคต ทั้งที่พ่อแม่เองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร มีคอมพิวเตอร์ก็ซื้อมาให้ลอง อยากจะเล่นอะไรก็เล่นไป ตอนที่มีอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร พ่อผมบอกให้ไปติด ทั้งๆ ที่กว่าพ่อจะเล่นอินเทอร์เน็ตเป็น ก็อีก 20 ปีให้หลัง

สำหรับผม ไอทีคือโลกใหม่ เป็นโลกที่เราเป็นเจ้าของและสร้างเองได้ พออยู่กับมันไปเรื่อยๆ ก็มีความสามารถด้านไอทีขึ้นมาในที่สุด มีน้องคนหนึ่งที่ตอนนี้ทำงานอยู่เฟซบุ๊ก เขาเล่าว่าตอนเด็กติดเกมอย่างหนัก แล้วสุดท้ายก็พยายามจะพิชิตมันด้วยการสร้างเกมเอง เลยทำให้มีทักษะด้านไอทีขึ้นมา

พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมเรียนปริญญาตรีด้านไอที คือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมัยเรียนก็ทำ blognone เรียนจบก็ทำงานสายนี้อีกหลายที่ ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ สาขา Information Science แล้วกลับเปิดบริษัทชื่อ SIU (Siam Intelligence Unit) ตั้งใจให้เป็นคลังสมองภาคเอกชน (private thinktank) และมาตอนนี้ก็ทำเว็บไซต์ด้านธุรกิจชื่อว่า Brand Inside

อะไรทำให้สนใจทำงานด้านเนื้อหามากกว่าด้านเทคนิคเหมือนคนไอทีส่วนใหญ่

ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มทำงาน รู้สึกว่าเอาเข้าจริงเราไม่ได้เก่งด้านเทคนิคแบบที่สุด แต่สิ่งที่ทำได้ที่ดีกว่าคือการสื่อสาร ซึ่งในโลกไอทีนอกจากจะมีทีมเทคนิค ก็ต้องมีทีมด้านธุรกิจด้วย ทำหน้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า เป็นคนแปลตรงกลางระหว่างลูกค้ากับฝ่ายเทคนิค ผมรู้สึกว่าบทบาทของผมอยู่ตรงนั้น

ผมทำงานแรกที่ SIPA (Software Industry Promotion Agency หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) เป็นช่วงที่เขากำลังก่อร่างสร้างตัวเลย ตัว P ของ SIPA มาจากคำว่า Promotion คือทำงานเรื่องการโปรโมทซอฟท์แวร์ต่างๆ ผมรู้สึกว่าซอฟท์แวร์ของเราดีมากเลย แต่ทำไมเวลาไปคุยกับคนข้างนอก เขาถึงไม่สนใจ ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ มันมีช่องว่างอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็นอยู่ และคิดว่าเราทำตรงนี้ได้

 

13 ปีจากการทำ Blognone เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในวงการไอทีไทย  

Blognone เป็นโปรเจกต์ที่ผมทำตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ช่วงปี 2004 แรกๆ ทำเป็นงานอดิเรก เพราะมีเวลาว่างมากขึ้นและที่คณะมีห้องออฟฟิศให้ใช้ จุดเริ่มต้นเกิดจากข้อสังเกตสองอย่างในตอนนั้น

หนึ่ง เว็บข่าวไอทีไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าของฝรั่ง ผมเป็นเด็กสายคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนอ่านแมกกาซีนคอมพิวเตอร์เยอะมาก พอมายุคอินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนมาอ่านจากเว็บ จึงพบกว่าเว็บไทยที่ทำเรื่องไอทีส่วนใหญ่เป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ที่ยกมาไว้ออนไลน์ ทำงานด้วยรอบของสิ่งพิมพ์ ทำให้ช้ากว่าต่างประเทศมาก

สอง ข่าวไอทีมีข้อผิดพลาดมาก เหมือนสื่อเองก็ยังไม่มีความเข้าใจแต่ก็เขียนไปเลยอย่างนั้น ผมคิดว่าไอทีเป็นเรื่องเชิงลึก ต้องใช้ความรู้มากพอสมควรในการเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร

จากสองข้อสังเกตนี้เลยเกิดเป็นไอเดียกันในหมู่เพื่อนๆ ว่าเรามาเปิดเว็บกันเองดีกว่า สมัยนั้นเป็นยุคที่ blog กำลังรุ่งเรือง มี exteen ของแชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ที่ให้บริการพื้นที่แก่คนอื่น ส่วน blognone เป็นแบบมีบรรณาธิการ (Editorial) ใช้แนวคิดที่เรียกว่า “group blogging” คือการรวบรวม blog จากหลายๆ คนที่เขียนเรื่องเดียวกันมาไว้ด้วยกัน เราก็เขียนกันเองด้วย เล่าเรื่องน่าสนใจของโลกไอทีในแต่ละวัน แล้วก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ

Blognone เป็นเว็บเชิงเทคนิค แตกต่างจากเว็บอื่น กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนไอทีเลย พวก computer scientist ที่มีความสนใจเฉพาะตัว เป็นชุมชนเล็กๆ ถึงกันหมด เปิดมาแรกๆ แทบไม่มีคนเข้าเว็บ (หัวเราะ) ถ้าคนเข้าวันหนึ่งถึง 10 คน ก็ดีใจกันแล้ว ผ่านไปอีกสัก 2-3 ปี กลุ่มคนอ่านของเราถึงขยายตัว พอทำมาเรื่อยๆ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่ากลุ่มคนอ่านเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้กลายเป็นว่าไอทีมีอิทธิพลในเกือบทุกวงการ กลุ่มคนสนใจเรื่องไอทีขยายตัวกว้างขึ้นมาก

ทุกวันนี้ข่าวไอทีกลายเป็นเรื่องแมส สื่อกระแสหลักก็สามารถทำข่าวไอทีได้ อย่างงานเปิดตัว iphone เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำกัน เมื่อก่อนเราเป็นรายแรกๆ ในไทยที่ทำข่าวงานแถลงข่าวของ Apple ตั้งแต่ยังไม่มี iphone ด้วยซ้ำ การถ่ายทอดสดก็ไม่มี เราต้องอาศัยฝรั่งที่เข้าไปในงานเขียนขึ้นเว็บแล้วไปตามเก็บมาเขียนอีกที มาวันนี้ที่ทุกสื่อทำข่าวแบบนี้ได้หมด เรายังมีจุดแข็งในการนำเสนอเรื่องที่เป็นเชิงเทคนิคมากๆ หรือเรื่องตลาดใหม่มากๆ ที่ยังไม่มีใครเข้าใจ เช่น single gateway หรือ รถยนต์ไร้คนขับ เราเป็นคำตอบได้ อธิบายได้อย่างเป็นระบบว่ามันคืออะไร เกิดอะไรขึ้น และเขาทำกันอย่างไร

 

“ไอทีเกี่ยวข้องกับบริบทที่ซับซ้อนขึ้น และใกล้ชีวิตผู้คนมากขึ้น”

 

ส่วนตลาดไอทีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ง่ายๆ เลย เมื่อก่อนโลกของคอมพิวเตอร์กับโลกของมือถือเป็นคนละโลกกัน คนซื้อเป็นคนละกลุ่มกัน กลุ่มคนเล่นมือถือเดินมาบุญครอง ซื้อมือถือเครื่องละ 2-3 หมื่น มาตอนนี้ตลาดรวมเข้าหากัน เกิดตลาดสมาร์ทโฟนขึ้น ไอทีจึงเกี่ยวข้องกับบริบทที่ซับซ้อนขึ้น และใกล้ชีวิตผู้คนมากขึ้น  เมื่อก่อนเราอาจทำข่าวแค่ว่ามีโปรแกรมหรือเทคนิคออกมาใหม่ แต่ตอนนี้มีประเด็นใหม่ๆ มากมาย เช่น Uber ละเมิดกฎหมายแรงงานหรือเปล่า

 

จาก “โลกไอที” สู่ “โลกธุรกิจ”

 

ตอนนี้คุณเปิดเว็บไซต์ใหม่ที่ให้ข้อมูลการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ชื่อว่า Brand Inside ที่มาที่ไปของเว็บนี้เป็นอย่างไร

Brand Inside เป็นเว็บที่สอง ก่อนหน้านี้เราทำเว็บอื่นๆ อีกเยอะแยะเลย แต่สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เว็บนี้เกิดจากการมองเห็นการเติบโตของตลาดคอนเทนต์ ซึ่งเราอยู่ในตลาดนี้มาโดยตลอด เราพบว่าข่าวเชิงธุรกิจที่ไม่ใช่เรื่องไอทีจ๋าๆ แบบที่ทำมา มีคนสนใจอยู่ เลยเกิดเป็นไอเดียว่าควรมีเว็บข่าวเชิงธุรกิจขึ้นมา พอมาเจอกับทีมสื่อที่ทำ Brand Inside ด้วยกันตอนนี้ ซึ่งเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจและการตลาดมาก่อน มีความสนใจตรงกันพอดี ก็เลยนับว่าโชคดีที่ได้เจอทีมลงตัว

ไอเดียในการทำก็คล้ายๆ กับ Blognone แต่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจ เนื่องจากทีมเราเล็ก มีทรัพยากรจำกัดมาก จึงต้องเลือกโฟกัสว่าจะทำอะไร เราตัดสินใจให้เว็บพูดแค่สองเรื่องหลักคือ “การปรับตัวของธุรกิจเดิม” และ “การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่” ซึ่งเราเห็นว่าทุกวันนี้โลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนอย่างมากจากสองแรงผลักคือ “ไอที” และ “โลกาภิวัตน์”

ด้านไอที มันทำให้ข้อจำกัดของธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่มีอีกต่อไป ธุรกิจสามารถทำสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อนได้ อย่าง Uber ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะมีลีมูซีนคือบริษัทเป็นเจ้าของรถไปเลย กับแท็กซี่ซึ่งโดยทั่วไปใช้โมเดลเช่ารถจากอู่ไปขับ พอมีไอทีมีสมาร์ทโฟนเข้ามา เกิดระบบแบบ Uber ขึ้น ทำให้ใครๆ ก็สามารถเอารถที่ว่างอยู่ไปใช้สอยให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้ ทุกวันนี้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในแทบทุกอุตสาหกรรม อย่างโรงแรมก็เจอ Airbnb ค้าปลีกก็เจอ e-commerce ในต่างประเทศมันเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว เมืองไทยก็ต้องเปลี่ยนด้วยแน่นอน

ด้านโลกาภิวัตน์ ปัญหาที่อเมริกาเจอตอนนี้ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดี คือธุรกิจที่เป็นภาคการผลิตย้ายฐานมาเอเชียหมด วิธีคิดในการสร้างมูลค่าเชิงธุรกิจก็เปลี่ยนไป ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ชัดๆ เลยคือ กลุ่มไอที เช่น Google Apple และ Facebook และกลุ่มบริษัทที่นำไอทีมาใช้ทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น Uber หรือ Agoda

 

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านไอทีสำคัญๆ อะไรบ้าง ที่ธุรกิจไทยต้องตามให้ทัน

ตอนนี้โลกเพิ่งผ่านพ้นการ disrupt ไปช่วงหนึ่งจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ซึ่งมีคุณูปการหลายอย่างและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น

Connectivity

เรามีเครือข่ายสื่อสารข้อมูลแบบไร้สาย (Mobile Data Network) พูดง่ายๆ ก็คือ 3G/4G นี่แหละ จากเดิมที่เราสื่อสารด้วยเสียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนมาสื่อสารด้วยข้อมูล (Data) ในความเร็วที่สูงกว่าแต่ก่อนมาก ดูหนังดูวิดีโอก็ได้ ที่สำคัญมันเกิดขึ้นในสเกลระดับโลก ทุกวันนี้เราแทบจะหาพื้นที่เมืองที่ไม่มีเครือข่าย 3G/4G ได้ยาก ผลที่ตามมาคือทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด มี “connectivity” เราจึงได้เห็นบริการใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้เกิดขึ้นมากมาย เช่นพวก Grab หรือ Line Man

Go Smart

คุณูปการสำคัญของสมาร์ทโฟนคือทำให้เรามีพลังประมวลผล (processing power) ที่ถูกมาก เมื่อก่อนถ้าผมอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่แรงเท่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน อาจต้องใช้เงิน 2-5 แสนบาท แต่ตอนนี้มันถูกมาก ราคาลงมาอยู่ที่ 2-5 พัน แล้วก็อยู่ติดตัวคนได้ตลอดเวลา

คนทั่วไปอาจใช้สมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิงส่วนตัว แต่ในแง่อุตสาหกรรม ผลกระทบมันใหญ่มาก เพราะทำให้ชิ้นส่วนแบบเดียวกับในสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลงเป็นร้อยเท่า สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ทำสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นของที่สมาร์ทได้หมด แล้วแต่จะจินตนาการ เช่น แปะกระถางต้นไม้เพื่อวัดค่าความชื้นว่าเราควรรดน้ำตอนไหน แปะเครื่องให้อาหารแมวตรวจจับเวลาแมวร้องก็ได้ ทำ Smart building ในนิคมอุตสาหกรรม ควบคุมอุณหภูมิ คุมน้ำ คุมไฟ

Big Data

เมื่อทุกอย่างสมาร์ท มีเซ็นเซอร์ที่วัดได้ทุกอย่าง ทำให้เราได้ข้อมูลมากมายที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เคยถูกวัดมาก่อน มนุษย์จึงสามารถตรวจวัดบริบทของโลกจริงได้มากขึ้น เช่น เอาเซ็นเซอร์ไปติดแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะได้ข้อมูลน้ำขึ้นน้ำลง น้ำดีน้ำเสีย ซึ่งเมื่อก่อนกรมเจ้าท่าต้องส่งคนลงไปวัดเอง แต่ถ้ามีเซ็นเซอร์กลายเป็นว่าผมสามารถรับรู้ข้อมูลได้ทันทีเลยว่า ณ จุดนี้ๆ เป็นอย่างไร กลายเป็นธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

Big data เองก็มีหลายระดับ ถ้าไปดูดข้อมูลจากทวิตเตอร์มาประมวลผลทางการตลาดว่าแบรนด์ของเราถูกพูดถึงมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นข้อมูลในระดับที่ธุรกิจทั่วไปทำอยู่แล้ว แต่ยังมี Big data ระดับอื่นอีกที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น เอาเซ็นเซอร์ไปติดไว้ทุกหมู่บ้านทั่วไทย หมู่บ้านละ 10 ตัว แล้ววัดอุณหภูมิตลอดปี ก็จะได้ข้อมูลที่ละเอียดมาก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาไม่เคยมีมาก่อน สามารถนำไปวางแผนทางการเกษตรได้ว่าตรงนี้ควรจะปลูกอะไรเมื่อไหร่

ไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ข้อมูลบางระดับสามารถใช้ในการตอบโจทย์ใหญ่ๆ ที่เหมาะกับการลงทุนภาครัฐได้ เช่น โจทย์การพัฒนาเมือง การทำเสาไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือวัดค่าแก๊สพิษในอากาศ จะมีผู้ให้บริการด้านไอทีที่เป็นภาคเอกชนรายใหญ่ๆ เช่น IBM HP Dell มาทำระบบให้ เรียกว่าขาย Solution บริษัทใหญ่ๆ พวกนี้ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน จากเมื่อก่อนขายเครื่องขายอุปกรณ์ ก็ปรับตัวมาขายความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาโจทย์เฉพาะของลูกค้าได้ ใช้ประโยชน์จากคนเก่งๆ ที่มีอยู่ อย่าง IBM มีคนได้รางวัลโนเบลอยู่ถึง 5 คนในบริษัท

นอกจาก 3 เรื่องใหญ่นี้ที่เกิดจากการ disrupt ของสมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น

AI

AI เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเยอะ แต่เพิ่งทำงานได้จริงๆ จังๆ เมื่อไม่เกิน 3-4 ปีมานี้เอง เวลาพูดถึง AI คนมักจะนึกถึงหนังเรื่อง Terminator ที่ AI มาล้างโลก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การที่ AI จะไปถึงระดับที่มีความนึกคิดเองได้ยังอีกไกลมาก สิ่งที่ AI ทำได้ตอนนี้คืองานที่มีลักษณะซ้ำๆ ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่ามนุษย์ และมีความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ทำงานได้ดีขึ้นมากๆ

เราสามารถฝึก AI ให้ทำงานเฉพาะทางบางอย่างได้ โดยที่มนุษย์ต้องเป็นคนสอนเบื้องต้นให้ ส่วน AI แบบ General AI ที่แค่ปล่อยให้มันเกิดมาแล้วเรียนรู้ไป ทำงานได้ทุกอย่าง ผมว่ายังต้องใช้เวลาอีกสัก 20 ปี

ระยะหลังเราได้ยินการพูดถึง “Deep Learning” ใน AI กันมากขึ้น มันคืออะไร และมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจอย่างไร

Deep Learning เป็นสาขาหนึ่งของ AI ที่เรียกว่า Machine Learning คือการสอนให้ AI สามารถเรียนรู้เองได้ แต่แทนที่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นชั้นเดียว ก็เกิดหลายชั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าผมอยากสอน AI ให้รู้จักว่านี่คือรูปหมา ผมมีรูปหมาอยู่ 200 รูป AI จะตัดรูปให้เหลือชิ้นเล็กๆ เช่น 10×10 พิกเซล แล้วก็อ่านรูปเล็กๆ เหล่านั้นทุกรูป เพื่อจำแพทเทิร์น จนแยกได้ว่า นี่คือหู นี่คือตา นี่คืออุ้งเท้า นี่คือหาง พอแยกได้ระดับนี้ปุ๊บ ขั้นต่อไปมันจะประกอบรูปเข้าด้วยกันได้ เช่น สมมติ AI เรียนรู้ว่าถ้ามีหู 2 หูที่ระยะห่างกันประมาณนี้แล้วมีตาอยู่ข้างล่างอันนี้คือหัว ทำแบบนี้ไปสักหลายๆ ชั้น ถึงเรียกว่า deep learning ถึงขั้นนี้ AI จะแยกแยะได้แล้วว่าหูแบบนี้วางชิดกันขนาดนี้ ไม่ใช่หมาแต่เป็นแมว สามารถนำ AI ลักษณะนี้ มาทำงานที่ซับซ้อนขึ้นได้ เช่น เล่นโกะ

ในทางอุตสาหกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ตามมาจาก Big Data คือพอข้อมูลมันเยอะ จนถึงระดับที่มนุษย์ไม่สามารถประมวลผลได้เอง ก็ต้องมี AI มาช่วย อย่างเช่น บริษัท GE (General Electrics) ทำเครื่องยนต์เครื่องบิน เขาเอาเซ็นเซอร์ไปติดไว้ที่ปีกเครื่องบินเป็นพันตัว พอเครื่องยนต์หมุนหนึ่งรอบ ข้อมูลออกมาเต็มไปหมด ถ้า GE ต้องการเอาข้อมูลนี้มาตรวจจับความผิดปกติของเครื่องยนต์แบบทันทีตลอดเวลาที่บิน มนุษย์ก็จะเริ่มทำไม่ได้แล้ว กระบวนการแบบนี้เรียกว่า predictive maintenance ก็คือซ่อมบำรุงก่อนที่จะพัง แทนที่จะซ่อมเป็นรอบทุก 6 เดือน ก็ตรวจสอบได้เลย ทำให้ต้นทุนการดูแลรักษาลดลง

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเงียบๆ คนไม่ค่อยเห็น ในแง่ความเท่มันไม่ชัด แต่อีกแบบหนึ่งที่เป็นอะไรใหม่ๆ หน่อย เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งใช้เซ็นเซอร์รอบตัวรถ มีกล้อง มีเรดาห์ ต้องการ AI ประมวลผลเช่นกัน คนจะเห็นภาพมากกว่า

ถ้าในเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคหน่อย อย่าง Amazon เวลาเราซื้อจะมีการแนะนำสินค้าให้ อันนี้ก็มี AI ทำงานอยู่เบื้องหลัง ประมวลผลว่าคนที่ซื้อสินค้านี้มักจะซื้ออะไรต่อ คุณเคยดูสินค้าอะไรไว้แต่ไม่ซื้อเสียที มันก็จะขุดขึ้นมาแนะนำให้คุณอีก หรืออย่าง Google Photo ที่ซิงค์รูปจากมือถือเรา มีฟังก์ชันเสิร์ชรูป ขอรูปหมา รูปทะเล รูปวิว ก็ขึ้นมาให้โดยไม่ต้องใส่ค่าอะไรให้มัน

 

“โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่คือ การสร้างความเชื่อใจ”

 

Bitcoin

โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่คือ “การสร้างความเชื่อใจ” ที่เห็นชัดมากคือ Bitcoin ในโลกแบบเก่าต้องมีคนทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์หรือตัวกลางที่สร้างความเชื่อใจได้ เช่น ธนาคาร แต่ระบบที่ใช้ Bitcoin สามารถตัดตัวกลางออกไปได้เลย โดยการเข้ารหัสที่ในทางคณิตศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าปลอมไม่ได้เป็นตัวค้ำแทน ทำให้การทำธุรกิจเปลี่ยนจากระบบที่ต้องใช้ Ledger หรือนายบัญชีคนเดียว เป็นการกระจายออกไป และไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์มานั่งทำงานตรงนี้ แต่ให้ algorithm ทำงานแทน

E-commerce

ในภาพรวม E-commerce โตขึ้น คนใช้จ่ายกันมากขึ้น และสัดส่วนของการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากออนไลน์ไปกินส่วนแบ่งของออฟไลน์ ดังนั้นเทรนด์ที่เกิดขึ้นก็คือ แพล็ตฟอร์มต่างๆ พยายามให้คนมาใช้จ่ายกับตัวเองเยอะๆ เช่น Lazada 11street เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจแล้วเขารู้ว่าสุดท้ายจะเหลือผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย เจ้าของแพล็ตฟอร์มทั้งหลายจึงพยายามใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเรียกคนให้มาซื้อผ่านระบบของเขาให้ได้มากที่สุด บางรายยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อเอาจำนวนการขาย กินส่วนแบ่งตลาด วงการ E-commerce ในไทยจึงต่อสู้กันดุเดือดมาก

แต่ตลาด E-commerce เอเชียกับฝรั่งมีความแตกต่างกัน ผมได้ไปฟังฝรั่งซึ่งเป็นคนของ Alibaba เป็นมือขวาแจ็ค หม่า มาพูดที่งานของ TCDC เขาบอกว่าถ้าเป็นโมเดลฝรั่งเลยอย่าง Amazon หรือ Ebay มันคือการยกห้างสรรพสินค้าไปอยู่บนออนไลน์ เพราะว่าคนคุ้นเคยกับการซื้อของในห้างที่มีราคาแน่นอน มีความน่าเชื่อถือสูง แต่พอเป็นฝั่งเอเชีย เราคุ้นเคยกับโมเดล “ตลาด” ต้องไปต่อของต้องคุยกับแม่ค้า เรียกว่าเป็น Social-commerce ซึ่ง Alibaba เข้าใจตรงนี้จึงประสบความสำเร็จ

สิ่งแรกที่ Alibaba ทำแล้วเวิร์ค คือการแก้ปัญหาการหลอกลวงของแม่ค้ารายย่อย ที่ทำให้ลูกค้าไม่ไว้ใจ โดยทำอยู่สองเรื่องที่สำคัญคือ

หนึ่ง เป็นตัวกลางในการชำระเงิน สมมติว่าผมจ่ายเงินซื้อสินค้าแล้ว เงินจะถูกเก็บไว้ที่ Alibaba ก่อน จนกว่าของจะถึงผม เรียกได้ว่าทำหน้าที่เป็นตัวค้ำความน่าเชื่อถือไว้ให้

สอง ระบบแชท ความเชื่อมั่นในการซื้อของของคนเอเชียเกิดการพูดคุย ต้องมีการต่อราคา ซักถามรายละเอียด ต่างจากฝรั่งที่สบายใจกับระบบที่ไม่ต้องเจอมนุษย์เลยก็ได้ Alibaba เลยทำระบบแชทขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสได้คุยกับแม่ค้าก่อนซื้อ ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ต้องใช้เว็บแคม ใช้ MSN ในการคุยกับแม่ค้า

ทีนี้เมืองไทยจะเป็นกึ่งๆ ระหว่างฝรั่งกับเอเชีย คือมีทั้ง 2 แบบ  Social-commerce ที่พบเห็นกันมากในไทยก็จะทำผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ LINE ซึ่งมันมีข้อจำกัดอยู่ เช่น หนึ่งวันสามารถตอบ LINE ได้แค่ 10 ออร์เดอร์สบายๆ แต่พอมี 100-200 ออร์เดอร์ เริ่มไม่ไหว ตอบไม่ทัน ดังนั้นพอแม่ค้าขยายตัวไปในสเกลที่สูงขึ้นจึงต้องมีระบบอัตโนมัติมารองรับ ปัจจุบันมีคนไทยทำเครื่องมือพวกนี้ออกมาขายช่วยแม่ค้าหลายตัว จัดการเรื่องสต็อก การรับออร์เดอร์ การสั่งของและส่งของได้หมด

ด้วยแรงผลักดันและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตามอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงหลักคือ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะกลายมาเป็น core business ขององค์กร จากเดิมที่เป็นฝ่ายสนับสนุน สมมติผมเป็นโรงแรม เมื่อก่อนธุรกิจหลักคือการให้บริการ ฝ่ายไอทีก็จะมีหน้าที่เหมือนฝ่ายบัญชีคือสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ตอนนี้ทิศทางมันเปลี่ยนแล้ว ไอทีจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ดังนั้นองค์กรก็ต้องปรับตัว ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการมอง เปลี่ยนวิธีการหาคน เปลี่ยนวิธีการทำงาน

 

“สุดท้ายทุกคนจะไปติดปัญหาเดียวกันคือเรื่อง คน”

อะไรคือปัญหาใหญ่ในการปรับตัวของธุรกิจไทย

เท่าที่เห็นการปรับตัวก็มีทั้งช้าทั้งเร็ว แต่ที่สำคัญ สุดท้ายทุกรายจะไปติดปัญหาเดียวกันก็คือเรื่อง “คน” การหาคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยอมรับว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่เก่งไอทีหรือวิทยาศาสตร์ คนที่ทำงานได้ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมีไม่พอ นี่เป็นความท้าทายใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบ

การขาดคนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกที่ในโลกไม่เฉพาะเมืองไทย แต่จะแก้ปัญหาต่างกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างอเมริกาแก้ปัญหาโดยการ outsource คนจากต่างประเทศเข้ามาทำ ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การซื้อบริการระบบ แต่วิธีการนี้อาจจะไม่เวิร์คก็ได้สำหรับไทย ต้องไม่ลืมว่าต่อไปนี้เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับ core business โดยตรง สมมติว่าผมเป็นโรงแรมรายย่อยซื้อระบบโรงแรมมา ซึ่งทุกคนซื้อระบบนี้มาเหมือนกันหมด เราก็จะไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับโรงแรมที่สามารถหาคนเก่งๆ มาทำระบบเองได้

หรืออย่างธนาคาร ช่วงหลังธนาคารไทยปรับตัวค่อนข้างเยอะ เราจะเห็นว่าธนาคารใหญ่ๆ ที่ขยับเร็ว จะดึงดูดคนเก่งๆ ได้ก่อน คำถามคือธนาคารที่ขยับหลังๆ คนหมดไปแล้วจะทำอย่างไร เรื่องแบบนี้เป็นการชี้เป็นชี้ตายทางธุรกิจ ตอนนี้อาจจะยังเห็นผลไม่ชัด แต่อีก 3-5 ปี เราจะเริ่มเห็นผล ธนาคารที่ขยับเร็วจะโตขึ้นอีก ในขณะที่ธนาคารที่ขยับช้าจะเริ่มเฉาลง

 

คนแบบไหนที่ภาคธุรกิจไทยกำลังขาด

หนึ่ง เราขาดคนที่เป็นนักเทคนิคทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะโปรแกรมเมอร์

สอง เราขาดคนที่มีทักษะด้านดิจิทัล จะเป็น Digital Marketing หรือ Digital Content ก็ได้ เดี๋ยวนี้หลายองค์กรที่ทำเพจเฟซบุ๊กก็ต้องมีคนเขียนคอนเทนต์โดยเฉพาะ จากเดิมที่ใช้บริการเอเจนซีหมด

ตอนนี้ไอทีเข้าไปมีบทบาทในทุกศาสตร์  บางประเทศจึงเริ่มสอนไอทีตั้งแต่เด็ก มองทักษะด้านดิจิทัลเป็นทักษะใหม่ เหมือนเรียนภาษาอังกฤษ เด็กมัธยมไม่ว่าจะอยู่สายอะไรก็ตามถูกจับเรียนเขียนโปรแกรมเบื้องต้น หรือเรียน logical thinking เป็นการสร้างคน

 

จาก “สื่อเก่า” สู่ “สื่อใหม่” ในโลกยุคดิจิทัล

 

“ในโลกธุรกิจทั่วไป เจ้าของเทคโนโลยีจะกลายเป็น gatekeeper ในโลกสื่อยุคใหม่ เจ้าของแพล็ตฟอร์มจึงเป็น gatekeeper นั่นเอง”

คุณทำงานด้านสื่อที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัลมาโดยตลอด มองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้าง

คอนเทนต์เดิม ในแพล็ตฟอร์มใหม่

ในภาพรวม ผมคิดว่าสื่อจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลหมด 100% ซึ่งมุมมองนี้คนทำสื่อยุคเก่าจะไม่ค่อยชอบ ต่อไปสิ่งพิมพ์จะเป็นเหมือนของสะสม เหมือนพวกแผ่นเสียง อย่างเพื่อนผมจัดรายการวิทยุออกอากาศทางสถานีวิทยุปกติ แต่ปรากฏว่าแฟนรายการฟังผ่านแอปพลิเคชัน คือแพล็ตฟอร์มเปลี่ยนไปแล้ว อย่างทีวีจะเห็นชัด รายการ The Mask Singer ออกอากาศทางทีวีปกติ แต่เราไม่ดู เราจะดูผ่าน Youtube ผ่าน Facebook ผมคิดว่ามันจะเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดในทุกแขนงของสื่อ

พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คือยังเสพคอนเทนต์เหมือนเดิม แต่รูปแบบเปลี่ยน คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้เสพสื่อรูปแบบเก่าแล้วอย่างสิ้นเชิง อย่างเวลาผมขึ้นรถไฟฟ้าตอนเช้าๆ ก็พยายามจะส่องจอชาวบ้านว่าเขาอ่านอะไรกัน ที่เห็นชัดๆ คือ ถ้าเป็นผู้หญิงจะดู Instagram แปลว่าถ้าผมเป็นดาราหรือคนดัง ผมสามารถสื่อสารกับคนกลุ่มนี้โดยตรงผ่านโซเชียลมีเดียได้เลย จากที่เมื่อก่อนต้องให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบัน พอเปิดมา เราก็เห็นรูปเลยว่าเขากินอะไร ใส่หมวกอะไร ใส่รองเท้าอะไร สื่อสารโดยตรงไปถึงผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคเองที่เป็นคนสร้างพฤติกรรมนี้

ทุกคนคือผู้ผลิตคอนเทนต์ ที่มีความเฉพาะตัวและแตกย่อย (fragmented)

โลกสื่อยุคใหม่จะแตกย่อย (fragmented) มาก เมื่อก่อน สมมติว่าผมอยากรู้เรื่องกีฬา เป็นแฟนกีฬาม้าแข่ง วอลเลย์บอล หรือเจ็ทสกี อะไรก็ตามที่อาจจะไม่ใช่กระแสหลัก ผมต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์กีฬาที่มีเรื่องฟุตบอลไป 10 หน้าจาก 20 หน้า มีเรื่องรักบี้ครึ่งหน้า เรื่องม้าแข่งเหลือแค่หนึ่งในสี่ ได้อ่านแค่อาทิตย์ละครั้ง

แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า สังคมย่อยพวกนี้เกิดการฟอร์มตัวกันเอง แล้วทำสื่อที่เจาะเฉพาะไปเลย เราจึงมีเว็บคนชอบเจ็ตสกี เว็บคนชอบจักรยาน เว็บคนชอบวิ่ง ฯลฯ ผมชอบม้าแข่งก็ไม่จำเป็นต้องไปอ่านข่าวฟุตบอล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกวงการ ที่เห็นชัดเจนมากคือพวกเล่นรถ ซึ่งมีเรื่องของรุ่นมาเกี่ยว เราจะเจอคลับคนรักรถยี่ห้อนี้รุ่นนี้โดยเฉพาะ ซึ่งนิตยสารรถยุคก่อนไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้

นอกจากนี้ พอทุกคนผลิตคอนเทนต์เองได้ ก็เกิดคลาสใหม่ขึ้นมาในสื่อ คือกลุ่มที่เรียกว่า “เน็ตไอดอล” ซึ่งไม่เคยมีตัวตนอยู่ในโลกสื่อเก่า พวกเขาสร้างตัวตนอยู่ในโลกสื่อใหม่ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น บางคนหน้าตาสวย บางคนขายโป๊ บางคนร้องเพลงเก่ง เพราะรู้ว่าถ้าเกิดดังขึ้นมาก็จะขายได้ มีผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามามากมาย

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ กระแสที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ผลิตสื่อกันเอง มีคนเล่าว่าลูกเขาอายุ 6-7 ขวบก็อยากจะมี channel ใน Youtube แล้ว เพราะเห็นเด็กคนอื่นมีก็เลยอยากมีบ้าง เนื้อหาที่ผลิตเป็นอะไรที่คนรุ่นผมจินตนาการไม่ถึง เช่น วิดีโอพากย์เกม เล่นเกมไปด้วยพากย์ไปด้วย ให้บรรยากาศเหมือนเล่นเกมกับเพื่อนที่บ้านแล้วก็เล่นไปด่ากันไปอย่างสนุกสนาน หรือเด็กผู้หญิงทำละครจากเกม ใช้ตัวละครในเกมมาเล่นละครแล้วพากย์เสียงเป็นเรื่องราวใส่ลงไป อัดเป็นวิดีโอขึ้น Youtube เช่น เล่นเกม Mincraft “สวัสดีครับ ผมเป็นอัศวิน วันนี้จะมาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้” ปรากฏว่ามีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน มันเป็นโลกของคนเจนใหม่ที่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ รู้สึกแก่แล้ว (หัวเราะ)

เจ้าของแพล็ตฟอร์มคือ Gatekeeper ในวงการสื่อใหม่

สื่อแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ หนึ่ง คนทำคอนเทนต์ สอง คนทำแพล็ตฟอร์ม เมื่อก่อนคนทั้งสองส่วนอาจจะเป็นทีมชุดเดียวกัน เช่น สมมติผมเป็นหนังสือพิมพ์ ก็จะมีทั้งบรรณาธิการข่าว มีโรงพิมพ์ มีสายส่ง มัดรวมกันเป็นแพ็คเกจก้อนเดียวกัน แล้วไปขายโฆษณาได้ด้วยราคาแพงๆ แต่พอเป็นสื่อยุคปัจจุบัน คนทำคอนเทนต์กับแพล็ตฟอร์มแยกจากกัน มีคนอย่างผมที่ผลิตคอนเทนต์ แล้วก็จะมี Google Facebook Youtube เป็นแพล็ตฟอร์ม

ในโลกธุรกิจทั่วไป เจ้าของเทคโนโลยีจะกลายเป็น gatekeeper ในโลกสื่อยุคใหม่ เจ้าของแพล็ตฟอร์มจึงเป็น gatekeeper นั่นเอง แต่การจะเป็นเจ้าของแพล็ตฟอร์มได้ มันใช้ทรัพยากรเยอะมาก ต้องใหญ่ระดับโลก ต่อให้ผมเป็นคนไทยที่เก่งที่สุด ก็อาจจะสู้ Facebook ไม่ได้แม้สักเสี้ยว พอเราเป็นประเทศเล็ก จะพัฒนาแพล็ตฟอร์มของตัวเองขึ้นมามันยาก ในที่สุดก็ต้องไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของเขา

ปัญหาตอนนี้คือเงินลงไปที่แพล็ตฟอร์มหมด คนผลิตคอนเทนต์ต้อง boost โพสต์ หรือลงโฆษณา ผ่านแพล็ตฟอร์ม เพื่อกระจายคอนเทนต์ออกไปถึงผู้บริโภค ทำให้เงินก้อนเดิมที่สื่อเคยได้ตกกับแพล็ตฟอร์ม เช่น Facebook มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเด็นว่าเงินไหลออกนอกประเทศผ่านแพล็ตฟอร์มไปเรื่อยๆ เราก็ต้องยอมรับ เพราะคงไม่สามารถพัฒนาแพล็ตฟอร์มที่ดีเท่าเขาได้

ตัวอย่างของคนที่พยายามเข้ามาชิงแพล็ตฟอร์มตอนนี้ก็คือ Line ซึ่งพยายามจะทำ Line News  Line TV ต่างๆ แต่ปัญหาของ Line ก็คือไม่ได้เป็นสเกลระดับโลก มีคนใช้อยู่แค่บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน พอข้ามไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็จะไม่ใช่ Line แล้ว ถึงในเมืองไทย Line อาจจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่พอไปอยู่ในโลกก็สู้ Facebook ไม่ได้

 

ในอนาคต สื่อแบบเก่าจะยังอยู่หรือจะไป

ไปแน่ๆ ครับ (หัวเราะ) ตอนนี้ผ่านมา 2-3 ปีผมยังไม่ค่อยเห็นการปรับตัวเท่าไหร่

เมื่อก่อนเครือสยามกีฬาแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวที่ทำข่าวกีฬาในไทย แต่ปัจจุบันคนเข้าเว็บฟุตบอลหรือเข้าเพจอื่นๆ กันหมด ถามว่าคนยังอยากดูคลิปฟุตบอลนัดเมื่อคืนนี้เหมือนเดิมไหม ยังอยากดู แต่จะดูจากใคร? สื่อที่เราเลือกเสพเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เกิดการแพ้ชนะกันแล้ว และผมว่ามันค่อนข้างชัดในบางวงการว่าใครคือผู้ชนะหรือผู้แพ้ ยกตัวอย่างวงการของผมเอง นิตยสารที่เป็นคอมพิวเตอร์อยู่ไม่ได้เลย แทบจะหายไปหมดจากแผง

แต่สื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารทั่วไปจะยังคงมีหน้าที่อยู่ เพราะเรื่องที่สื่อเฉพาะต่างๆ ทำไม่ได้ ไม่มีผู้สื่อข่าวไปตามทุกจังหวัด ไม่มีคนไปประจำทุกกระทรวง (แต่จริงๆ มันอาจพอทำได้นะ) โจทย์ของสื่อกระแสหลักเหล่านี้คือ ทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าข่าวของคุณมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ซึ่งมันก็จะถูกสั่นคลอนเรื่อยๆ

ถ้าดูจากเทรนด์โลก ยุคนี้คือยุคที่เกิดสื่อเจนเนอร์เรชันใหม่ขึ้นมา ผมเคยอ่านโพสต์ของเจ้าของ BuzzFeed ที่พูดถึงหนังสือเล่มนึงที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากยุควิทยุสู่ยุคทีวี หนังสือบอกว่า เราอยู่ในโลกวิทยุมานาน พอมีทีวีเข้ามาปุ๊บ คนที่กระโจนเข้าไปก่อนแล้วทำได้เร็วจะกลายเป็นราชาคนใหม่ ถึงแม้ว่าวิทยุจะไม่ได้ตาย แต่กลายเป็นว่าทีวีมีบทบาทความสำคัญเยอะกว่ามาก ผมคิดว่าตอนนี้มันน่าจะเป็นโมเดลคล้ายๆ กัน คือเกิดสื่อใหม่มา อีกสัก 2-3 ปีจะเริ่มเห็นความชัดเจนว่า ใครจะเป็นคนที่ก้าวขึ้นมาได้

“ข้อดีของการเป็นคนยุคเปลี่ยนผ่าน คือการเห็นช่องว่างทางโอกาส”

อะไรคือหัวใจความอยู่รอดของสื่อในยุคใหม่

ตอนนี้การแข่งขันสูงขึ้น เกิดสื่อใหม่ๆ เพจใหม่ๆ เต็มไปหมด สุดท้ายมันจะกลับไปวัดกันที่ “trust” จะใช้คำว่า “ความน่าเชื่อถือ” แบบสื่อเก่าก็ไม่เชิง แต่หมายถึงการที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในเสียงของสื่อนั้นมากกว่า เชื่อว่าสื่อคิดแบบเขา จริงใจและพูดความจริงกับเขา ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีสื่อที่ตัวเอง trust แตกต่างกัน เช่น ถ้าผมเป็นเด็กอายุ 20 กำลังเรียนมหาลัย ผมอาจจะรู้สึกว่าเสียงของ The MATTER น่าเชื่อถือกว่าเสียงของมติชน ทั้งๆ ที่มติชนเป็นสถาบันสื่อที่อยู่มานานกว่า เพราะรู้สึกว่า The MATTER มันพูดในสิ่งที่มันเหมาะกับเรา พูดภาษาเดียวกัน

สื่อบางเพจที่มีความไม่เป็นทางการ อาจจะไม่มี trust เท่ากับสื่อที่เป็นทางการ แต่สื่อที่ไม่เป็นทางการอาจมี trust มากกว่าในบางประเด็นก็ได้ เช่น เพจข่าวอาชญากรรม หรือ เจี๊ยบเลียบด่วน ถ้าไปพูดเรื่องอื่นที่คนไม่ได้มี trust เช่นเรื่องเศรษฐกิจ คนก็อาจจะไม่เชื่อถือเท่ากับสื่ออื่นทางการที่เขาเป็นกูรูด้านนี้

สุดท้ายมันจะเป็นการชิง trust กัน และผมเชื่อว่า อีกพักหนึ่งจะเห็นความต่างระหว่างสื่อที่มี trust กับสื่อที่ไม่มี เวลามีประเด็นทางสังคมอะไรขึ้นมา สื่อที่มี trust จะมีพลังมากกว่า ถึงแม้เสียงหรือความเห็นจะออกมาในทางตรงข้ามก็ตาม

 

ในแง่ธุรกิจ สื่อจะเอาตัวรอดได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนี้

ตอนนี้เรตราคาของสื่อเก่ากับสื่อใหม่มีความต่างกัน โครงสร้างรายได้เปลี่ยน ถ้าต้นทุนคุณไม่เปลี่ยนก็ไม่มีทางอยู่ได้ ผมมีทฤษฎีว่า เมื่อสื่อเก่าไปหมด สื่อใหม่ก็จะแพงขึ้น แต่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ คนทำสื่อต้องบริหารต้นทุนแบบสื่อใหม่ให้ได้ ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการทำคอนเทนต์ เมื่อก่อนทำทีวีต้องไปกัน 3-4 คน ตอนนี้ต้องไปคนเดียวให้ได้ เป็นทั้งนักข่าว ตากล้อง ตัดต่อเอง ได้หมดในตัวคนคนเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาของคนทำสื่อรุ่นเก่า เขาทำแบบเดิมมา 20-30 ปีแล้ว ไม่สามารถลดสเกลไปทำแบบนั้นได้ ถ้าคนทำสื่อรุ่นเก่ายังมีวิธีคิดแบบเดิมอยู่ แล้วไม่อยากเปลี่ยน หรือไม่สามารถอยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่ได้ ก็ต้องออกไปจากตลาดในไม่ช้า

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลให้สื่อต้องปรับต้นทุนด้วย อย่างการทำทีวี 24 ชั่วโมงต่อไปอาจเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลืองมาก ความสำคัญของ Time Slot อาจจะเปลี่ยนไป คนอาจจะดูทีวีแค่ช่วงเช้ากับเย็น แม่บ้านที่เคยดูละครช่วงสายช่วงบ่ายก็เปลี่ยนไปดูทางออนไลน์กันหมดแล้ว ดังนั้นสื่อต้องคิดใหม่ วิธีคิดแบบเดิมที่เอารายการมาเติมให้เต็มอาจใช้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วอาจไม่ต้องมีรายการเยอะๆ แต่ขอให้มีรายการที่เด่นๆ ไม่กี่รายการก็พอ แล้วยิงผ่านหลายๆ ช่องทาง ที่ไม่ใช่ทีวีอย่างเดียว

 

สื่อยุคใหม่มีบทบาทต่อสังคมและการเมืองอย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้มีสื่อเฉพาะที่ตอบสนองความเชื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดอย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา เราได้เห็นสื่อใหม่ที่เป็นสำนักข่าวซึ่งเราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน สามารถดันคะแนนเสียงทรัมป์ในการเลือกตั้งได้ แต่ก็จะเห็นมันเกิดปัญหา Fake News ตามมา เป็นโจทย์ใหม่ของวงการสื่อออนไลน์ที่ท้าทายแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

 

“ข้อมูลคือสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกดิจิทัล … สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันแต่ต้องไปด้วยกัน คือ Privacy และ Open Data”

ในโลกสื่อใหม่นี้ อะไรคือโจทย์ของภาครัฐ

“ข้อมูล” คือสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกดิจิทัล ในด้านข้อมูลมีสองเรื่องที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันแต่ต้องไปด้วยกันคือ “Privacy” และ “Open Data” หลักการก็คือ ถ้าเป็นข้อมูลเอกชนต้องมี Privacy ถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะต้อง Open Data ซึ่งกฎหมายไทยไม่มีเรื่อง Privacy เลย ทำกันมาชาติเศษก็ยังไม่ออก ในขณะที่กฎหมาย Open Data ต่อให้มีก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เปิดให้ขอข้อมูลจากรัฐได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถขอได้

เรื่อง Privacy ในอนาคตข้อมูลจะยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาคเอกชนยิ่งต้องการความมั่นใจมากขึ้น ถ้าหากข้อมูลผมไปอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แล้วเขาไม่มีอะไรปกป้องข้อมูลให้ ความมั่นใจในการทำธุรกิจจะลดลงทันที ที่ผ่านมามีกรณีที่พนักงานบริษัทผู้ให้บริการคลื่นโทรศัทพ์มือถือเอาเบอร์ลูกค้าไปขาย แต่ไม่มีกฎหมายอะไรเอาผิดพนักงานได้ในทางอาญา พอความเป็นส่วนตัวไม่ถูกปกป้องคุ้มครอง ก็ส่งผลให้ธุรกิจไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ธุรกิจขาดความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลตัวเอง

ส่วนเรื่อง Open Data เป็นเรื่องของภาครัฐโดยตรง พอรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส ก็ทำให้ภาคสาธารณะเดินต่อไปยาก สมมติผมอยากได้ข้อมูลการจราจรจากการกล้องที่กทม.ติดไว้ ถ้าเกิดกทม.สามารถเปิดข้อมูลพวกนี้ออกมาได้ ผมก็อาจจะเขียนโปรแกรมให้เช็คกล้องจากหัวถนน ท้ายถนน แล้วดูว่าตอนนี้รถอยู่ตรงไหนแล้ว เราต้องออกจากบ้านกี่โมง

ทุกวันนี้รัฐมีข้อมูลแต่ไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไร หลายๆ ประเทศเริ่มดึงภาคเอกชนมาช่วยทำอะไรใหม่ๆ มากมาย แต่พอเป็นเมืองไทย ข้อมูลกลับไม่เปิดด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ขี้เกียจ ข้อมูลถูกปั้นขึ้นมาไม่กล้าเปิดเผย หรือข้อมูลมีเรื่องทุจริตอยู่

 

แล้วบทบาทรัฐต่อสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในเชิงรัฐศาสตร์พูดเรื่องนี้มากว่า รัฐจะยังมีบทบาทอยู่ แต่สุดท้ายก็จะเป็นหน่วยย่อยๆ ที่กระจายศูนย์ เพราะว่าสถาปัตยกรรมของโลกใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตมีลักษณะแบบนั้น ดังนั้นอะไรที่เป็นการรวมศูนย์ ก็จะขัดกับธรรมชาติของสถาปัตยกรรมโลกใหม่นี้

ในเรื่องการกำกับดูแล ผมมองว่ามันต้องเป็น “กฎแห่งป่า” ไปเลย คือไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมใดๆ ผู้บริโภคจะเริ่มเรียนรู้เอง อย่างเช่น ระยะหลังจะสังเกตเห็นว่าเราไม่ค่อยได้ยินข่าวเด็กผู้หญิงอายุ 14-15 เล่นแชทแล้วโดนหลอกไปข่มขืนแบบแต่ก่อนแล้ว เพราะเด็กมีการปรับตัว เขารู้ว่าการแชทกับคนแปลกหน้าเชื่อถือไม่ได้ ในขณะที่เด็กผู้หญิงรุ่นก่อนไม่มีภูมิตรงนี้ แต่อาจจะเกิดปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนแทน เช่น การถ่ายคลิปแบล็คเมล ผมเชื่อว่าภาพรวมก็คล้ายๆ กัน คือผู้บริโภคก็จะเรียนรู้ว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ปัญหาเก่าจะลดดีกรีความรุนแรงลง แต่จะไปเกิดปัญหาใหม่แทนให้ได้เรียนรู้กันต่อไป

อย่างเรื่องการเซ็นเซอร์ ในโลกของสื่อยุคใหม่ทำได้ยากมาก เพราะสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ตมีความกระจายศูนย์ อาจมีการกำกับดูแลได้บางส่วน โดยรัฐหรือเอกชนเอง เช่นเจ้าของแพล็ตฟอร์ม บางที่ก็เซ็นเซอร์คลิปฆาตกรรมเอง แต่ในเรื่องการกำกับดูแลมักจะมีอะไรที่เป็นสีเทาๆ อยู่เสมอ อย่างเช่น กรณี Instagram กับการเซ็นเซอร์หัวนม ที่ไม่อนุญาตให้มีภาพหัวนมเลย แต่พอมันมีภาพที่โดนเซ็นเซอร์แต่ไม่ใช่รูปนู้ดหรือรูปลามกอนาจารก็กลายเป็นข้อถกเถียง ความพยายามในการเซ็นเซอร์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดในยุคนี้

 

ตอนนี้คุณมาร์คนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร

ถ้าเอาตามวิชาการมาพูด ผมเป็นคนยุค Digital Migration ส่วนพวกคนรุ่นใหม่ก็เป็น Digital Native เราจะเริ่มไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่เหมือนกันว่าเขาทำอะไร ทำเพื่ออะไร ถึงแม้เราจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่บางทีวิธีคิดเรายังเก่าอยู่ เราโตมากับยุคที่มีเทป มีซีดี มองเห็นการเปลี่ยนผ่าน แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่เห็นอะไรเลย โผล่มาก็เจอ Youtube แล้ว วิธีคิดก็จะถูกเฟรมมาอีกแบบ ผมเคยคุยกับคุณยอด Wongnai พบว่า เวลาเลือกร้านอาหาร คนรุ่นผมก็จะมานั่งอ่านรีวิว ร้านนี้ดีไม่ดี แต่เด็กรุ่นใหม่จะเลือกร้านที่ถ่ายรูปลง Instagram แล้วสวย อร่อยไม่อร่อยอีกเรื่องหนึ่ง

ผมคิดว่าข้อดีของคนที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน คือการเห็นช่องว่างทางโอกาส รู้ความเป็นไปของโลก และในขณะเดียวกันก็มีวุฒิภาวะและความพร้อมมากพอที่จะทำให้เป็นธุรกิจได้ ผมได้ลองได้ทำอะไรเรื่อยมาจากการเห็นช่องว่างนี้ จาก blognone ที่เห็นช่องว่างของวงการสื่อไอที SIU ที่เห็นช่องว่างความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มาถึง Brand Inside ที่เห็นช่องว่างความรู้ด้านธุรกิจ

ถ้าให้นิยามตัวเอง ผมอยากเป็นคนทำสื่อใหม่ ตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลก เราเห็นช่องว่างเยอะไปหมด และรู้ว่ามีความรู้บางอย่างที่เป็นเครื่องชี้ทางไปยังโลกใหม่ได้ เราสามารถพาสังคมไปข้างหน้าแบบไม่สะเปะสะปะมั่วซั่วได้ แต่ผมก็อยากทำให้มันประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วย ยังมีเรื่องที่ผมมองเห็นและอยากทำอีกมากมาย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save