fbpx

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (1) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

มักมีผู้หวังดีหลายคนบอกว่าหากเรามีอาการเหงาหงอย ไร้ความหมาย ไม่อยากคบค้าสมาคมกับใคร หรือแม้กระทั่งคิดสับสนภายในใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ใช่สำหรับตัวเราเอาเสียเลย นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งต้องรีบหาวิธีรับมือด้วยการไปหาหมอโดยด่วน

แน่นอนว่าเพื่อนๆ หลายคนอาจมีอาการประมาณนี้อยู่ และนั่นแปลว่าพวกเรากำลังเป็นโรคซึมเศร้ากันอยู่ละสิ!

 

เดี๋ยวก่อน บางทีพวกเราอาจไม่ได้ถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ แต่แค่เราตกอยู่ใน ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ เท่านั้น

แต่ก็ใช่ว่าการเป็นซึมเศร้ามันจะไม่เกี่ยวกับการตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเอาเสียเลยนะครับ – คือมันก็เกี่ยวกันนั่นแหละ แต่ต้องไปดูกันในรายละเอียดว่าจะเกี่ยวมากเกี่ยวน้อยเพียงไร

วันนี้จึงถือโอกาสพาไปรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ หรือ ‘Social Isolation’ เราจะลองไปดูว่าจริงๆ แล้วคืออะไร และมันสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราขนาดนั้นเลยหรือ – เอาจริงๆ สิ่งนี้ก็แอบน่ากลัวอยู่ไม่น้อยนะ

 

สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมาจากไหน และมันไปเกี่ยวอะไรกับโลกสมัยใหม่

อริสโตเติลเคยบอกว่า “โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” นัยยะของข้อความนี้คือ การจะเป็นมนุษย์และการใช้ชีวิตนั้น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคม หากใครฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ข้อนี้ ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ผู้นั้นประสบอุปสรรค ไม่อาจเติมเต็มความหมายของความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้

คำพูดของอริสโตเติลแสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นรู้ตัวมานานเป็นพันปีแล้วว่าสภาวะที่พึงประสงค์ของการดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษยชาตินั้นคือ การอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ตรงข้าม สภาวะที่มนุษย์ไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ การแตกกระจายของสังคม เพราะอาจจะนำมาสู่ความล่มสลายของหมู่มวลมนุษยชาติเอาได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่โบราณ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ต่างๆ นานา มนุษย์มักจะอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นก้อนกันอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีหรอก มนุษย์ที่แยกตัวออกไปอยู่คนเดียวจากชุมชนหรือสังคมที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยก่อนสภาพความเป็นอยู่นั้นโหดร้ายมาก การหลีกลี้เอาตัวเองออกมาจากชุมชน ก็อาจเท่ากับเป็นการพาชีวิตตัวเองไปทิ้งเอาเสียดื้อๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในยุคนั้นจึงยังไม่ค่อยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ เสียเท่าไหร่ ต้องรอจนกระทั่งสังคมวิวัฒน์มาถึงยุคหลังๆ พูดให้จำเพาะเจาะจงหน่อยก็คือ ยุคที่โลกเข้าสู่ความทันสมัยหรือ ‘Modernity’ นั่นแหละ

ในยุคทันสมัยหรือโลกสมัยใหม่ (ซึ่งถ้าจะพูดในแง่เวลา โลกได้เข้าสู่ยุคนี้มาราวๆ 150 ปีแล้ว) มนุษย์ได้พัฒนาสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์สะดวกสบายและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ดี มีบางสิ่งที่มาพร้อมกับยุคสมัยใหม่ และทำให้เกิด ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ ขึ้น

สิ่งนั้นคือเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย สังคมการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง

ในโลกยุคนี้ ต้องยอมรับว่าอุมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองหนึ่งที่ขึ้นมานำและเบียดขับอุดมการณ์แบบอื่นๆ คือ เสรีประชาธิปไตย (พ่วงท้ายด้วยทุนนิยม) อุดมการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นที่ยอมรับของรัฐและประชาชนทั่วโลก กลายเป็นแบบแผนสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

ฐานสำคัญของอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือการทำให้ประชาชนแต่ละคนมีแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม (individualism) มากขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงการมีสิทธิมีเสียงของตนเองมากขึ้น และเริ่มเชื่อมั่นความสามารถในการกำหนดตัวเองในสังคมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้ส่งเสริมให้ปัจเจกแต่ละคนกล้าทำตามสิ่งที่ตนนึกคิดมากขึ้น ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะขัดกับค่านิยมของคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ตาม

ประวัติศาสตร์สอนมนุษย์ว่า ถ้าอยากให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ต้องปรับปรุงการจัดระเบียบทางสังคมการเมืองให้ดีขึ้น หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ตลอดจนศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นได้ว่าแต่ละรัฐเริ่มพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อมเชิงสถาบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รัฐหันไปให้ความสนใจกับการสร้างสันติสุขระหว่างประเทศ และเข้ามาดูแลประชากรของตนเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

หลายรัฐดำเนินนโยบายเชิงสังคม โดยการให้สวัสดิการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย และงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นมาก แต่ในทางกลับกัน การที่มนุษย์เราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการบริการจากรัฐแบบครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็อาจทำให้มนุษย์หนึ่งคนสามารถเลือกที่จะอยู่คนเดียวได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งสังคมหรือชุมชน

ในแง่ของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเห็นได้ว่าในยุคนี้ เราได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไปมาก ไม่ว่าจะเป็นโทรเลข โทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยที่ไม่ต้องพบหน้ากัน อย่างไรก็ดี มองในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้มนุษย์ไม่ต้องเจอกันจริงๆ ได้เช่นกัน และจะส่งผลให้มนุษย์เราตัดขาดออกจากกันได้ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ในช่วงแรกๆ รัฐอาจยังไม่เห็นการก่อตัวของสภาวะนี้ได้ชัดเจนเท่าไหร่นัก เพราะว่ารัฐยังไม่เห็นความเป็นไปหรือขนาดของผู้คนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความก้าวหน้าของเทคโลยี รัฐสามารถเก็บข้อมูลเชิงประชากรได้ง่ายและละเอียดขึ้น และพบว่าจริงๆ แล้วมีประชากรจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคม จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่สภาวะดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งที้เรียกว่า ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ จึงได้ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง

 

นั่นเป็นแค่เรื่องของ ‘ความหว่อง’ แบบกว้างๆ เท่านั้น ตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมแตกต่างจาก ‘ความเหงา’ และ ‘โรคซึมเศร้า’ อย่างไร

พลาดไม่ได้!

 

ติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (2) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (3) : จะรับมือกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่อย่างไรดี

 

อ้างอิง

บทความวิจัยเรื่อง Social Isolation: A conceptual and Measurement Proposal ของ Diego Zavaleta, Kim Samuel, and China Mills จาก University of Oxford

รายงานวิจัยเรื่อง All the lonely people: social isolation and loneliness in County Durham ของ County Durham จาก County Durham Partnership

รายงานวิจัยเรื่อง Loneliness and Social Isolation Among Older People in North Yorkshire ของ Sylvia Bernard จาก University of York

บทหนังสือที่ 5 Social Isolation ของ Diana Biordi and Nicholas Nicholson ใน หนังสือ Chronic Illness: Impact and Intervention, Eighth Edition (2013) ของ Ilene Lubkin; Pamala Larsen จาก Jones and Bartlett Publishers

บทความเรื่อง The Impact Of Social Isolation จาก Social Wellness

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save