fbpx
การเมืองเรื่องศีลธรรม: สองทศวรรษของการใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์

การเมืองเรื่องศีลธรรม: สองทศวรรษของการใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงปลายปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) มีข่าวจากจังหวัดชายแดนใต้ที่ดึงความสนใจของผู้เขียนอย่างมาก คือข่าวที่ว่าสถานีตำรวจภูธรยะหา จังหวัดยะลา ได้ออกประกาศว่า หากพบเห็นหญิงชายที่ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันมีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาว ไม่ว่าจะในที่สาธารณะหรือลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหาและคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคมยุติธรรมทางเลือก หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย ซึ่งอธิบายอย่างง่ายๆ ว่า จะให้ชายหญิงดังกล่าวแต่งงานกันตามหลักศาสนาให้ถูกต้อง

เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างก็มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านแนวคิดนี้ ข่าวนี้ทำให้ผู้เขียนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ ‘อาเจะห์’ จังหวัดปกครองพิเศษในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่มีการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) โดยอาเจะห์ตั้งอยู่บริเวณทางเหนือสุดของเกาะสุมาตรา มีจำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นที่รู้จักในความรับรู้ของนานาประเทศจากสองเรื่องคือ เป็นพื้นที่ที่มีความเคร่งครัดศาสนาอิสลาม และเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกับรัฐอินโดนีเซียหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาอย่างยาวนาน

 

ประวัติศาสตร์การใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์

 

แม้ว่าการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการที่อาเจะห์จะเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2001 แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ดินแดนในบริเวณนี้มีการใช้กฎหมายอิสลามมาก่อน มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า กฎหมายอิสลามถูกใช้ที่อาเจะห์มาตั้งแต่ยุครัฐสุลต่านก่อนการมาถึงของยุคอาณานิคม เนื่องด้วยอาเจะห์เป็นพื้นที่แรกๆ ของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่มาถึงและตั้งมั่น ทำให้อาเจะห์กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึงทั้งการศึกษาศาสนาอิสลามและเผยแผ่ศาสนาไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค เท่ากับว่าที่อาเจะห์มีกฎหมายอิสลามใช้อย่างน้อย 300 ปีก่อนหน้าที่จะเกิดประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ระเบียงแห่งเมกกะ’ ชาวอาเจะห์จึงมีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้ของทั้งชาวอินโดนีเซียในที่อื่นๆ และสังคมภายนอกประเทศอินโดนีเซียว่าเป็นชาวมุสลิมที่มีความเคร่งครัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอิสลามไม่ใช่แหล่งที่มาเดียวของกฎหมายที่ใช้ในยุครัฐสุลต่าน หากกฎหมายที่ใช้นั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างกฎหมายอิสลามกับกฎหมายจารีต (adat law) ซึ่งมีที่มาจากจารีตประเพณีดั้งเดิมของอาเจะห์ ลักษณะการผสมผสานกันของกฎหมายเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปในภูมิภาคนี้

เมื่อดัตช์ยึดครองอาเจะห์ได้หลังจากทำสงครามยาวนานถึง 4 ทศวรรษก็ได้พยายามลดบทบาทของศาสนาอิสลามลง เนื่องจากในช่วงการทำสงครามดัตช์-อาจะห์ (1873-1914) กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านการรุกรานของดัตช์อย่างเข้มข้นที่สุด ซึ่งดัตช์มองว่าต้องปราบปรามกำราบให้สิ้นซากเพื่อไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านได้อีก ส่งผลให้การใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์ถูกลดความสำคัญลง โดยให้กฎหมายจารีตมีบทบาทมากขึ้น พร้อมๆ กับลดบทบาทของบรรดาผู้นำศาสนาไปด้วยในขณะเดียวกัน กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ผู้นำศาสนามีบทบาทเป็นผู้ตัดสินคดีในศาลศาสนา แต่เมื่อดัตช์เข้าปกครองอาเจะห์ก็ได้ยุบศาลศาสนาและสถาปนาระบบกฎหมายแบบใหม่ที่ให้อำนาจแก่ข้าหลวงชาวดัตช์และขุนนางอาเจะห์ที่สวามิภักดิ์ต่อดัตช์มากกว่าผู้นำศาสนาอิสลาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอาเจะห์เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาทองของการกลับมาของศาสนาอิสลาม ญี่ปุ่นซื้อใจผู้นำศาสนาอิสลามด้วยการแต่งตั้งให้พวกเขาดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ รวมถึงรื้อฟื้นศาลศาสนาขึ้นมาใหม่ และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม อาเจะห์ก็ได้เข้าร่วมกับนักชาตินิยมอินโดนีเซียในเกาะอื่นๆ ต่อต้านการกลับมายึดครองอีกครั้งของดัตช์ ด้วยความมุ่งหมายและคาดหวังว่า หากอินโดนีเซียได้เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ อาเจะห์จะสามารถใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่ของตนได้

เมื่ออินโดนีเซียได้รับการรับรองเอกราชอย่างสมบูรณ์จากดัตช์ในปี 1949 สิ่งที่ผู้นำและชาวอาเจะห์คาดหวังกลับไม่เป็นไปตามที่คาด เพราะอาเจะห์ถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุมาตราเหนือ และกฎหมายอิสลามไม่ได้ถูกใช้ที่อาเจะห์ หากเป็นกฎหมายแห่งชาติที่ได้รับมรดกและอิทธิพลจากการวางรากฐานโดยเจ้าอาณานิคมซึ่งบังคับใช้ทั้งประเทศ ความผิดหวังของชาวอาเจะห์ผลักดันให้อาเจะห์เข้าร่วมกับขบวนการดารุล อิสลาม (Darul Islam) ที่ต้องการสร้างรัฐอิสลามอินโดนีเซียขึ้นมาด้วยการปฏิวัติโดยกองกำลังใต้ดิน แต่ในที่สุด ขบวนการดารุล อิสลามก็พ่ายแพ้ ผู้นำขบวนการที่เกาะชวาถูกตัดสินประหารชีวิต ในขณะที่ผู้นำอาเจะห์ได้ทำสัญญายุติการสู้รบ และอาเจะห์ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิในการใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่อาเจะห์ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายอิสลามไม่ได้ถูกใช้หลังจากนั้น เนื่องจากความซับซ้อนของระบบราชการและการปกครองของอินโดนีเซียไม่เอื้อต่อการที่การใช้กฎหมายอิสลามจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐอินโดนีเซียไม่รักษาสัญญา

ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างอาเจะห์กับรัฐอินโดนีเซียในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องการปกครอง การจัดสรรทรัพยากร การเก็บภาษี การกดทับทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม นำไปสู่การเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่า GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ในปี 1976 สงครามความขัดแย้งระหว่างขบวนการ GAM และรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำให้อาเจะห์กลายเป็นพื้นที่ปิด เป็นพื้นที่ต้องห้ามในการนำเสนอข่าวสาร และอาเจะห์ถูกประกาศให้เป็น ‘พื้นที่เขตปฏิบัติการทางทหาร’ ในช่วงระหว่างปี 1989-1998 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูงจากการกระทำของทั้งฝ่ายทหารอินโดนีเซียและ GAM

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1997 ในอินโดนีเซียอันนำไปสู่การจลาจลทางการเมือง จนกระทั่งประธานาธิบดีซูฮาร์โตต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 1998 ถือเป็นการสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ ยุคปฏิรูปที่ตามมานำไปสู่โอกาสทางการเมืองและสังคมในหลายๆ พื้นที่ การเห็นชาวติมอร์ตะวันออกสามารถลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองได้ว่าจะเลือกอยู่หรือแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย ทำให้ชาวอาเจะห์เรียกร้องในสิ่งเดียวกัน แต่ทว่าสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียตอบสนองคือการอนุญาตให้ชาวอาเจะห์ได้ใช้กฎหมายอิสลาม

เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียทิ้งไพ่ใบนี้ ทำให้ชาวอาเจะห์มีปฏิกิริยาแตกต่างกัน มีกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่อาเจะห์เรียกร้องคือการลงประชามติ และต้องการให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มนี้ได้แก่ บรรดานักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่ม GAM ซึ่งในตอนแรกก็ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนได้แก่ บรรดาผู้นำศาสนาและนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา รวมถึงข้าราชการและคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรัฐ

ในที่สุด กฎหมายอิสลามก็ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการที่อาเจะห์ในปี 2001 เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตั้งแต่เริ่มต้น กฎหมายอิสลามถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายระดับ ในระดับรัฐ กฎหมายอิสลามถูกรัฐบาลอินโดนีเซียใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อลดบทบาทและความชอบธรรมของขบวนการ GAM การที่รัฐบาลมอบกฎหมายอิสลามให้อาเจะห์เป็นเหมือนการยื่นยาขมให้ผู้นำขบวนการ GAM เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลาของการทำสงครามต่อสู้กับรัฐอินโดนีเซีย ผู้นำ GAM ไม่ได้มีท่าทีเรียกร้องกฎหมายอิสลามมากเท่ากับเรียกร้องความยุติธรรมและอ้างถึงความเป็นรัฐอิสระของอาเจะห์ในอดีต อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นมุสลิม การปฏิเสธไม่เอากฎหมายอิสลามซึ่งคือกฎหมายของพระเจ้าก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกันที่จะพูดออกมาได้ถนัดปาก เพราะจะถูกมองว่าเป็นมุสลิมที่ไม่ดีและจะเสียคะแนนนิยมจากมวลชนที่สนับสนุน

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังอ้างว่ากฎหมายอิสลามจะนำมาซึ่งสันติภาพสู่อาเจะห์ ในระดับท้องถิ่น กฎหมายอิสลามถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามที่ถูกลดบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงยุคระเบียบใหม่ การกลับมาของกฎหมายอิสลามในยุคปฏิรูปเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้นำศาสนาได้กลับมากุมอำนาจในสังคมและการเมืองอาเจะห์อีกครั้ง และแม้จะมีการใช้กฎหมายอิสลามแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่ม GAM ไม่ได้บรรเทาเบาบางลง หากกลับทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนกระทั่งหลังเกิดเหตุสึนามิที่อาเจะห์ในปี 2004 รัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่ม GAM จึงได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างกันในปี 2005 และกฎหมายอิสลามก็ถูกยกให้มีความสำคัญขึ้นเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของความเป็นอาเจะห์จนถึงปัจจุบัน

       

อาเจะห์หลังการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ

 

ตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายอิสลามที่บังคับใช้ที่อาเจะห์ก็ยังไม่ได้ถูกใช้แบบ ‘องค์รวมทุกด้าน’ เช่นที่ผู้วางนโยบายและผู้เกี่ยวข้องคาดหวัง หากจำกัดอยู่ในด้านการแต่งกาย การบริโภคเรื่องดื่มมึนเมา การเล่นการพนัน และการประพฤติผิดทางเพศ โดยบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอิสลามคือการถูกเฆี่ยนต่อหน้าสาธารณชน และนวัตกรรมใหม่ในสังคมอาเจะห์คือ การมีตำรวจศาสนาคอยสอดส่องดูแลผู้ละเมิดกฎหมายอิสลาม

หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการในอาเจะห์ ได้เกิดข้อโต้แย้งถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีการโต้แย้งถกเถียงจากหลายกลุ่มในสังคมอาเจะห์เอง มีผู้ที่มีความเห็นว่ากฎหมายอิสลามไม่ควรจะถูกบัญญัติและกำหนดใช้อย่างเป็นทางการ ชาวอาเจะห์ส่วนใหญ่ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ว่ากฎหมายอิสลามจะถูกประกาศบังคับใช้และมีบทลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ ชาวอาเจะห์ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตนตามแนวทางของกฎหมายอิสลามในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว บางคนจึงมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องประกาศใช้กฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ในทางตรงข้าม ผู้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอิสลามมองว่า การบังคับใช้เป็นสิ่งจำเป็นในอาเจะห์ และไม่ควรเป็นเรื่องการปฏิบัติของปัจเจกบุคคลในชีวิตประจำวันเท่านั้น พวกเขามีความเห็นว่าหากไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย ผู้คนจะไม่เชื่อฟังกฎหมายอิสลาม และยิ่งไปกว่านั้น นี่เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้า

ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันมากเช่นกันคือประเด็นที่ว่าการใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์เป็นการใช้แบบเลือกปฏิบัติ ซึ่งโดยมากผู้ที่กระทำผิดกฎหมายและถูกลงโทษมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้หญิงกล่าวว่าการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวดจะมุ่งประเด็นที่เรื่องการแต่งกายของผู้หญิง ในขณะที่ผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอ้างว่า กฎหมายอิสลามบังคับใช้กับทุกคนโดยเสมอภาคกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นเรื่องกฎหมายอิสลามกับผู้หญิงอาเจะห์จึงเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี เนื่องจากผู้หญิงกลายเป็นคนกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบ เพราะการบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์ให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งกายที่ถูกต้องดีงามตามการตีความตามหลักศาสนา และเครื่องแต่งกายผู้หญิงเป็นสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดกว่าเครื่องแต่งกายผู้ชาย ทั้งๆ ที่ก็มีข้อปฏิบัติสำหรับเครื่องแต่งกายผู้ชายเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาบ้านเรา คือการจัดการกับการละเมิดกฎหมายอิสลามในเรื่องห้ามหญิงชายที่มิใช่สามีภรรยากันอยู่ด้วยกันสองต่อสองในสถานที่อันมิควร โดยหลักการแล้วผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนต่อหน้าสาธารณชน แต่ที่อาเจะห์มีการใช้ช่องทางอื่นๆ ในการจัดการปัญหานี้ หลายกรณีใช้สภาจารีต (หรือสภาอาดัต) ในการแก้ปัญหา โดยสภาจารีตจะมีอยู่ในทุกหมู่บ้าน คล้ายๆ กับตำแหน่งผู้นำชุมชน ตัวอย่างเช่น หากมีพบว่ามีชายหญิงละเมิดข้อห้ามนี้ก็จะมีการเรียกผู้ปกครองพ่อแม่ของทั้งฝ่ายมาเจรจากัน บางกรณีก็ทำการขอขมา บางกรณีหากชายหญิงรักใคร่ชอบพอกันก็จัดงานแต่งงานตามศาสนาและประเพณี อย่างไรก็ตาม มีเช่นกันที่ชายหญิงถูกบังคับให้แต่งงานกันทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรักใคร่ชอบพอกัน ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังอีกมากมาย

การบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่อาเจะห์ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ แต่นอกจากกฎหมายอิสลามจะไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพระหว่างรัฐอินโดนีเซียกับอาเจะห์แล้ว (สึนามิน่าจะมีบทบาทมากกว่าในกรณีนี้) การตีความตัวบทกฎหมายเกินขอบเขตกลับนำไปสู่โศกนาฎกรรมและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมอาเจะห์ และยังเป็นพื้นที่ที่หลายฝ่ายเข้าไปฉกฉวยแย่งชิงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย นี่ทำให้เราเห็นว่า มีเส้นบางๆ กั้นระหว่างความเคร่งครัดศีลธรรม ยึดหลักปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนา กับความต้องการบงการควบคุมเหนือร่างกายและจิตใจผู้อื่นโดยอ้างนามของศาสนา

 


เอกสารประกอบการเขียน

อรอนงค์ ทิพย์พิมล. “กฎหมายชารีอะห์กับผู้หญิงอาเจะห์: ชายขอบของชายขอบ.” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2560, หน้า 115-158.

อรอนงค์ ทิพย์พิมล. “กฎหมายอิสลามกับการเมืองและสังคมในอุษาคเนย์.” ใน สร้อยมาศ รุ่งมณี (บก.). อุษาคเนย์วันนี้ (Southeast Asia Today). ปทุมธานี: ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563, หน้า  205-226.

Onanong Thippimol. “A History of Shariah Law in Aceh: Debates and Political Struggles among the Acehnese Ulama.” PhD thesis, the University of Queensland, 2016.

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save