fbpx

เอกราช, สุวันนภูมิ, อิศรา อมันตกุล และ เอกราช สุวรรณภูมิ

อิศรา อมันตกุล

ราวกลางเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2565 ผมหายหน้าหายตาจากทุ่งเชียงรากภาคกลางไปประพฤติตนเป็น ยอด ยาหม่อง ให้หยาดฝนหัวเมืองปักษ์ใต้ชโลมชุบร่างกายเสียนานเกินสัปดาห์ ทั้ง ณ ระนอง และ ณ ลุ่มแม่น้ำตาปี

(ท่านใดยังขมวดคิ้วสงสัย กระทาชายนาย ยอด ยาหม่อง คือใครกัน? ผมคงจะไม่รั้งรอจนสุดเฉลย ขอแถลงว่าเขาคือพระเอกในละครเรื่อง ฝนใต้ ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร)

ครั้นหวนกลับคืนกรุงเทพฯ พอแวะเยือนหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สองมือก็แทบทาบอก ด้วยพบเจอหลายบุคคลมาตามเสาะหาหนังสือพิมพ์ เอกราช เป็นจำนวนมากโข

เหตุที่ใครต่อใครพากันสนอกสนใจหนังสือพิมพ์เอกราช ก็คงสืบเนื่องจากกรณีการอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ชื่อนี้ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 ในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง แต่กลับยินเสียงโต้แย้งว่า แท้จริงไม่มีหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในปี 2490 เพราะหนังสือพิมพ์เอกราชเพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2500

แว่วข่าวข้างต้นหนแรกๆ ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะเชื่อมั่นว่ามีหนังสือพิมพ์เอกราช ในปี 2490 อย่างแน่นอน ผมเคยอ่านหลักฐานกับตาช่วงปลายทศวรรษ 2550 และใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของตนเอง เพียงแต่ไม่มั่นใจว่าฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งณัฐพลอ้างอิงนั้นแหล่งสืบค้นอยู่แห่งใด ขอสารภาพว่าผมยังไม่เคยอ่าน ส่วนฉบับปฐมฤกษ์ที่ผมเคยอ่าน ปัจจุบันจัดเก็บในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สักราวสองเดือนก่อนเกิดกระแสเกรียวกราว ประโคมว่าหนังสือพิมพ์เอกราช อันถือกำเนิดขึ้นในพุทธศักราช 2500 คือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง เป็นคนละฉบับกับหนังสือพิมพ์เอกราชที่ณัฐพลอ้างอิง อีกทั้งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565 ได้มีผู้ใช้นามแฝง ‘ผีดำ-ผีแดง’ นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช ในปี 2490 ผ่านเว็บประชาไท Prachatai.com เพื่อยืนยันการมีอยู่จริง พร้อมลงภาพประกอบของหนังสือพิมพ์ เอกราช (THE INDEPENDENCE DAILY) ฉบับข่าวพิเศษเที่ยง ประจำวันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 หมายความว่าหลักฐานของณัฐพล ใจจริงย่อมมีน้ำหนักแน่นหนา

สิ่งหนึ่งจากข้อเขียนของ ‘ผีดำ-ผีแดง’ ที่ผมค่อนข้างประทับจิตไม่น้อย คือการระบุนาม อิศรา อมันตกุล ในฐานะผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เอกราช และระบุนาม สุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา ‘รพีพร’ ในฐานะนักข่าวและนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์

นั่นเป็นแรงผลักดันให้ผมมุ่งปรารถนาร่ายเรียงข้อเขียนชิ้นที่คุณผู้อ่านกำลังจับสายตา ถึงแม้กว่าจะลงมือก่อรูปร่างสำเร็จก็ล่าช้าจนล่วงกลางเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2565

ทุกวันนี้ อิศรา อมันตกุล แทบจะมิแคล้วนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนผู้ถูกหลงลืม ขนาดครบรอบวาระ 100 ปีชาตกาลเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2564 ยังไม่ยินเสียงเอ่ยขานความสำคัญของเขาต่อบรรณพิภพสักเท่าใดเลย ผมเองโปรดปรานคมปากกาของอิศรายิ่งนักมาแต่ไหนแต่ไร จึงฉุกคิดจะถือเอาช่วงเวลาที่คนจำนวนมากกำลังเหลียวหันมาสนใจหนังสือพิมพ์เอกราช (THE INDEPENDENCE DAILY) นี่แหละ เป็นโอกาสพิเศษสุดในการบอกเล่าเรื่องราวของเขา


อิศรา อมันตกุล


อิศราเริ่มต้นทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ครั้งแรกตอนอายุไม่เต็มยี่สิบช่วงต้นทศวรรษ 2480 หลังหวนกลับจากการไปใช้ชีวิตหนุ่มทางภาคใต้  เขาเดินเตะฝุ่นไม่มีงานอยู่นาน จึงตัดสินใจเขียนเรื่องอ่านเล่นลองส่งไปให้ ครูอบ ไชยวสุ เจ้าของนามปากกา ‘ฮิวเมอริสต์’ พิจารณา ครูอบอ่านดูก็นำลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวัน ประชามิตร ทั้งยังชวนให้ไปทำงานด้วยกัน และผู้ที่รับเข้ามาทำงานคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ โดยมอบหมายให้อิศราทำหน้าที่แปลข่าวต่างประเทศ

ระหว่างชิมลางโลกหนังสือพิมพ์ อิศราสนิทสนมแน่นแฟ้นกับ สนิท เจริญรัฐ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีสุรินทร์’ ซึ่งได้ร่วมทำหนังสือกับกุหลาบมาตั้งแต่หนุ่มๆ ทั้งสำนักรวมการแปล (ปลายทศวรรษ 2460), คณะสุภาพบุรุษ (ต้นทศวรรษ 2470), และ หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ (ปลายทศวรรษ 2470) ต่อมาสนิทตัดสินใจแยกตัวเองออกจาก ประชามิตร-สุภาพบุรุษ เพื่อมาทำหนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้มข้นชื่อ สุวันนภูมิ ออกเผยแพร่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2484 อิศราขอตามมาร่วมคณะกับสนิท สำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตั้งอยู่ที่ถนนจักรเพชรใกล้ๆ สะพานพระพุทธยอดฟ้า


สนิท เจริญรัฐ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีสุรินทร์’


กองบรรณาธิการของสุวันนภูมิ เต็มไปด้วยคนหนุ่มไฟแรง ได้แก่ อิศรา, ทองเติม เสมรสุต เจ้าของนามปากกา‘สวิง พรหมจรรยา’, บุญส่ง (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ศักดิชัย) บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘สุจริต พรหมจรรยา’ และ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’, วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร เจ้าของนามปากกา ‘สอ สัจจวาที’ และ วิตต์ สุทธเสถียร


ทองเติม เสมรสุต เจ้าของนามปากกา ‘สวิง พรหมจรรยา’
บุญส่ง (ศักดิชัย) บำรุงพงศ์ หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์


อิศรานั้นเรียกว่ากลายเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว ทำงานสารพัดทั้งพาดหัว จัดหน้า เขียนปก เขียนหัวหนังสือกับลายมือ เขียนหัวคอลัมน์ ทำภาพประกอบ และแปลข่าว สนิทมอบหมายให้อิศราดูแลหน้ากลางซึ่งเป็นหน้าบันเทิงและสารคดี เขาเขียนคอลัมน์ต่างๆ ฝากสำนวนโวหารเปี่ยมเสน่ห์ ทั้งยังเริ่มเขียนนวนิยายลงพิมพ์เผยแพร่ นั่นคือเรื่อง นักบุญคนบาป  ส่วนเสนีย์ เสาวพงศ์เขียนเรื่อง ชัยชนะของคนแพ้

สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยปลายพุทธศักราช 2484 ล่วงเข้าปีถัดมา หนังสือพิมพ์สุวันนภูมิต้องย้ายสำนักงานหลบหนีเครื่องบินทิ้งระเบิดไปอยู่ที่บ้านของ ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) ละแวกซอยนานาใต้

ท่ามกลางสมรภูมิ หนังสือพิมพ์สุวันนภูมิคงดำเนินกิจการเรื่อยมา เมื่อพ้นผ่านหลังสงครามสงบ จวบปีพุทธศักราช 2489 ก็ถูกสั่งปิดด้วยอำนาจทางการเมือง อิศราย้ายไปประจำหนังสือพิมพ์ บางกอกรายวัน เขาได้ร่วมงานกับ ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของนามปากกา ‘อิงอร’ รวมถึง สุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา ‘รพีพร’ อิศรายังพบรักกับบุตรีของ พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (สวาสดิ์ บุนนาค) ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลองมาทำงานหนังสือพิมพ์ เธอชื่อ สเริงรมย์

บางกอกรายวัน ออกเผยแพร่ไม่เกิน 5 เดือนก็มีอันล้มเลิก อิศราพลันเกิดแนวความคิดที่จะออกหนังสือพิมพ์รายวันเป็นของตนเองขึ้นมาบ้าง ให้ชื่อหัวว่า เอกราช (THE INDEPENDENCE DAILY) จึงชักชวนและรวบรวมเพื่อนพ้องน้องพี่มาลงเรือลำเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น สุวัฒน์ วรดิลก ที่ลาออกจากตำแหน่งเสมียนกองการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ทองเติม เสมรสุต, อาคม คเชนทร์, แหลม ปาณัษเฐียร, ราเชนทร์ วัฒนปรีชากุล, ทนง ศรัทธาทิพย์, สนิท เอกชัย และ สนิท วงศาโรจน์  มิเว้นกระทั่ง ตุ้มทอง โชคชนะ เจ้าของนามแฝง ‘เบญจมินทร์’ ซึ่งต่อมากลายเป็นราชาเพลงรำวงและครูเพลงลูกทุ่งเลื่องชื่อ เพราะตุ้มทองเคยร่วมทำหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ กับอิศราพร้อมๆ พวก ถนอม อัครเศรณี, ชั้น แสงเพ็ญ และ บุญส่ง บำรุงพงศ์ มาก่อน (ตุ้มทองอยากเป็นนักเขียนถึงขั้นไปขอความรู้และพำนักอยู่ที่บ้านของ โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ‘ยาขอบ’ ทั้งที่ซอยรางน้ำและสะพานญวน) ทั้งหมดล้วนยินดีมาร่วมงานเพราะรักน้ำใจพี่เอื้อยแห่งพวกเขา



หนังสือพิมพ์เอกราช ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2490 อาศัยทุนไม่มากนัก ผู้เป็นนายทุนออกเงินสนับสนุนคนแรกสุดคือ นายบุญยง นิ่มสมบูรณ์ ทั้งมีชื่อเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาตามกฎหมาย (ต่อมาช่วงเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2500 จนถึงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2501 นายบุญยงได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครธนบุรี นอกจากนี้ บุญยงยังเป็นเซียนพระเครื่องผู้สะสมพระสมเด็จวัดระฆัง) ส่วนอิศราเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ

สำนักงานและแหล่งจัดพิมพ์ต้องอาศัยชายคาแห่งเดียวกับโรงพิมพ์ปิยมิตรแถวสี่กั๊กเสาชิงช้าที่ดำเนินงานโดย ประยูร หอมวิไล กระทั่งต่อมาสถานที่เดิมค่อนข้างคับแคบเหลือเกิน จึงย้ายไปตั้งสำนักงานใหม่ในโรงพิมพ์ของ เจริญ วิชัยรัตน์ แถวสี่แยกประชาธิปไตยหรือหลังอาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง ใกล้ๆ โรงพิมพ์สุริยานนท์เดิม ตอนนั้น เจริญเพิ่งสมรสกับ หม่อมเจ้าสวรรณา ภาณุพันธุ์ พระธิดาพระองค์ใหญ่ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช เพียงไม่กี่ปี

เอกราชวางจำหน่ายมิทันนานก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์บ่ายที่โฉบเฉี่ยวที่สุด หาใช่โดดเด่นแค่เนื้อหาข่าวการเมือง แต่ยังตีแผ่ข่าวอาชญากรรมน่าตื่นเต้นชวนติดตาม ปกติหนังสือพิมพ์เน้นนำเสนอข่าวอาชญากรรมมักจะเป็นหนังสือพิมพ์เช้า แต่เอกราชพยายามนำเสนอข่าวอาชญากรรมอีกรูปแบบในตอนบ่าย อิศราสามารถชวนนักข่าวอาชญากรรมฝีมือฉมังมาร่วมกองบรรณาธิการได้หลายคน โดยเฉพาะพวก ‘ทหารเสือ’ ผู้เคยสร้างชื่อเสียงการเขียนข่าวอาชญากรรมอย่างลือลั่นไว้ผ่านหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ซึ่ง อารีย์ ลีวีระ เป็นเจ้าของ และ สงัด บรรจงศิลป์ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ได้แก่ สมบูรณ์ วิริยศิริ, จรัส จรรยาโพธิ์, ยงยุทธ ยอดบุตร และ อร่าม ขาวสะอาด พวกเขาตัดสินใจออกจากหนังสือพิมพ์ใหญ่ทุนหนาเยี่ยงพิมพ์ไทย มาร่วมงานหนังสือพิมพ์เล็กทุนน้อยเยี่ยงเอกราช เมื่อทราบว่าอิศราจะทำหนังสือพิมพ์เอง

กองบรรณาธิการเอกราชรักใคร่กลมเกลียวกัน ตกเย็นอิศราจะชวนทุกคนไปร่วมรับประทานอาหารและดื่มที่ร้านหน้าโรงพิมพ์ สำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งนี้มิเคยขาดแคลนผองเพื่อน พวกนักประพันธ์หนุ่มๆ ผู้ศรัทธา ‘พี่อิศร์’ มักแวะเวียนมารวมตัวกันเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของนามปากกา ‘อิงอร’ หรือ ส.อาสนจินดา (สมชาย อาสนจินดา) ซึ่งมานั่งสนทนาหรือทำงานข้างโต๊ะทางขวาสุดของโรงพิมพ์ อันเป็นโต๊ะประจำตำแหน่งท่านบรรณาธิการอิศรา

ส.อาสนจินดา ส่งเสียงเล่าว่า ตนเคยร่วมงานกับอิศราที่หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน พอที่นั่นเลิกกิจการ ก็ไปอาศัยซุกหัวนอนที่กุฏิคณะ 3 วัดมหรรณพาราม ครั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 คณะรัฐประหารชุดนี้อยากจะทำหนังสือพิมพ์ของตนเอง วันหนึ่ง ประทีป โกมลภิส และ สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช จึงมาตามตัวที่วัดให้ไปรับตำแหน่งบรรณาธิการ โดยให้ไปเข้าพบ หลวงกาจสงคราม และ ขุนจำนงภูมิเวท สองนายทหารสำคัญของคณะรัฐประหาร

ส.อาสนจินดากำลังไร้งานและไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยก็ตกปากรับคำ หนังสือพิมพ์นั้นชื่อ ๘ พฤศจิ. สำนักงานตั้งอยู่ที่โรงพิมพ์หลักไท เป็นห้องแถวไม้ย่านนางเลิ้ง เทพย์ สาริกบุตร โหรประจำคณะรัฐประหารรั้งตำแหน่งผู้จัดการ นำเสนอข่าวโฆษณาการฝ่ายคณะทหารผู้ยึดอำนาจและข่าวการตามล่าตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ลี้ภัยทางการเมือง

แม้จะมีรายได้งามจากการเป็นบรรณาธิการ ๘ พฤศจิ. แต่ ส.อาสนจินดา กลับถูกด่าประณามจากเพื่อนพ้องในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ว่าเป็นทาสรับใช้คณะรัฐประหาร มิตรสหายหลายคนไม่อยากคบหาและแทบจะไม่มองหน้า โดยเฉพาะเกลอคนสนิทเยี่ยง ประมูล อุณหธูป  มีเพียง อิศรา อมันตกุล คนเดียวที่วางตัวนิ่งเฉย ไม่ต่อว่าอะไร

ไม่กี่วัน บรรดานักหนังสือพิมพ์กว่า 20 รายที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและคณะรัฐประหารก็ถูกจับกุมเอาไปขังไว้ที่สันติบาล อิศราเป็นคนหนึ่ง ครานี้ ส.อาสนจินดา สุดทน วันรุ่งขึ้นจึงเขียนถ้อยความตำหนิรัฐบาลและคณะรัฐประหาร ตั้งชื่อหัวเรื่องว่า ‘จอมพล ป. กำลังถอยหลังกลับไปลำลูกกา…?’ นั่นเป็นเหตุให้อิศราและนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ ส.อาสนจินดา ต้องลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการซึ่งเพิ่งเป็นได้แค่ไม่ถึงสองสัปดาห์

ประมาณวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ราเชนทร์ วัฒนปรีชากุล แวะมาหา ส.อาสนจินดาที่วัดมหรรณพารามเพื่อแจ้งว่า “พี่อิศร์สั่งให้ลื้อเขียนนวนิยายเรื่องสั้นหน้ากลางว่ะ…เอาเร็วๆ จะลงในเอกราชวันอาทิตย์นี่แหละ”  ผลงานชิ้นนั้นชื่อ ‘หมึกพิมพ์บนฝ่ามือ’

ส.อาสนจินดา เข้าใจว่าตนคงหมดอนาคตในฐานะนักหนังสือพิมพ์ จึงเลือกจะไปบวชที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ต้องการกระดาษไว้เขียนบันทึกระหว่างเป็นพระ พอก่อนเที่ยงวันที่ 27 พฤศจิกายน กะว่าเดินไปขอกระดาษจากสำนักงานหนังสือพิมพ์เอกราช  ก้าวเข้าไปในโรงพิมพ์ได้ยินเสียงของอิศรา “แน่ะ…ศักดิ์เกษม…พระเอกของคุณ – หม่อมเจ้านิรันดร์ฤทธิ์ธำรง มาแล้ว…”

เนื่องจากศักดิ์เกษมเขียนนวนิยายเรื่อง ‘ดรรชนีนาง’ และกำลังหาพระเอกมาเล่นละครเวทีที่ดัดแปลงในชื่อ ‘ดรรชนีไฉไล’ จัดแสดงที่ศาลาเฉลิมนครเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2490 จึงมาทาบทามอิศราให้ช่วยสวมบทบาท แต่อิศราแนะนำว่า ส.อาสนจินดา เหมาะสมที่สุด

จุดเปลี่ยนชีวิตของ ส.อาสนจินดา ที่กลายเป็นพระเอกละครและก้าวสู่จอภาพยนตร์ จึงเริ่มต้น ณ สำนักงานหนังสือพิมพ์เอกราช  ส่วนตุ้มทอง หรือ ‘เบญจมินทร์’ ผู้ชอบร้องเพลง ศักดิ์เกษมก็มาชวนไปเป็นนักร้องหลังฉากละครเวทีเรื่องเดียวกัน กำหนดให้ออกเสียงร้องแทนตอนที่ ส.อาสนจินดา ขยับริมฝีปากแสดงท่าทางว่าพระเอกกำลังร้องเพลง

ในส่วนภาระงานของการจัดทำหนังสือพิมพ์ อิศรากำหนดหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนตามความถนัดอย่างลงตัว เป็นต้นว่า

อาคม คเชนทร์ ดูแลข่าวต่างประเทศ

สมบูรณ์ วิริยศิริ ดูแลข่าวอาชญากรรม แต่อิศราแนะนำให้ทดลองเขียนสารคดีเบื้องหลังข่าวอาชญากรรมแสดงรายละเอียดหลากหลายมิติแง่มุม ใช้สำนวนภาษาและโวหารพรรณนาเชิงวรรณกรรม กลายเป็นเรื่องยาวนำลงพิมพ์ต่อเนื่องได้หลายวันเป็นครั้งแรก เดิมทีตอนอยู่พิมพ์ไทย สมบูรณ์เคยเขียนข่าวเรื่อง คดีปล้นร้านทองเบ๊ลี่แซ’ ลงพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2490 จนสร้างชื่อเสียงกึกก้องไม่เบา พอย้ายมาอยู่เอกราช  อิศราคอยชี้แนะให้นำเนื้อหาข่าวที่เคยเขียนไว้มาสร้างสรรค์ในรูปแบบสารคดีเบื้องหลังข่าวอาชญากรรม เพราะเล็งเห็นว่าสมบูรณ์มีแววทางการประพันธ์ มาลัย ชูพินิจ จึงชักชวนมาสู่บรรณพิภพ เริ่มทยอยลงพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2490 ดังเปิดฉากแรก

“ฟ้ากลางเดือนแรกของศักราชอาบด้วยแสงแดดกล้า มกราคมพึ่งเริ่มได้ ๑๗ วัน โดยเฉพาะเช้าวันนั้น กลางความปลอดโปร่งระเริงของบรรยากาศหน้าสถานีตำรวจกลาง คับคั่งไปด้วยชุมชนที่ขึ้นไปติดต่อจอแจทั้งหญิงชายหลายภาษา”

เบื้องหลังข่าวอาชญากรรมเรื่อง ‘ปล้นเบ๊ลี่แซ’ ในหนังสือพิมพ์เอกราช เป็นที่ยอดนิยมของผู้อ่านอย่างสูง ถึงขั้นนำไปแสดงละครเวทีและกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ศาสนารักของนางโจร’ จนผู้เขียนได้รับฉายา ‘ดาราข่าวอาชญากรรม’ คนแรก

สมบูรณ์ยังเขียนเบื้องหลังข่าวอาชญากรรมเรื่อง ‘นักเลงตรอกมะขาม’ อีก ซึ่งผู้อ่านของเอกราชติดตามกันงอมแงม


สมบูรณ์ วิริยศิริ


สุวัฒน์ วรดิลก ดูแลข่าวประจำโรงพักกับโรงพยาบาลกลาง (ปัจจุบันคือข่าวอาชญากรรม) แต่ต่อมาอิศรามองว่าไม่ค่อยเหมาะสม สุวัฒน์ไม่ถนัดงานด้านนี้ ไปหาข่าวคราใดไม่ค่อยได้เรื่องมาเขียน จึงเปลี่ยนให้สุวัฒน์มาเขียนงานวรรณกรรมแทน เริ่มจากเขียนนวนิยายเรื่อง ‘สัญญารักของจอมพล’ และสร้างชื่อเสียงด้วยเรื่องสั้น ‘ท่องไปในแดนรัฐประหาร’ ที่เขียนขึ้นก่อนเหตุการณ์รัฐประหารต้นเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2490


สุวัฒน์ วรดิลก


แม้อิศราจะบริหารกิจการหนังสือพิมพ์เอกราชมาได้ราบรื่นถึงสองปีเศษ ทว่าวันต้องล้มเลิกย่อมมาถึงในที่สุด หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวการเมืองอย่างห้าวหาญก็เลี่ยงมิพ้นการถูกสั่งปิดเนืองๆ ขณะปัญหาหลักอีกประการคือทุนน้อย ช่วงที่เอกราชปิดตัวลงและสมาชิกกองบรรณาธิการยังหาแหล่งเข้าทำงานใหม่มิได้ อิศรารับผิดชอบชีวิตของทุกคนด้วยการให้มาอาศัยข้าวกินที่บ้านของเขา

นักหนังสือพิมพ์แห่งเอกราชแต่ละรายกระจัดกระจายกันไป สุวัฒน์ วรดิลก มุ่งเขียนงานวรรณกรรมอย่างเดียว, สมบูรณ์ วิริยศิริ กลายเป็นนักข่าวอาชญากรรมเนื้อหอม และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์รายวัน ขณะที่ อร่าม ขาวสะอาด ไปเรียนและสอนวิชาดนตรี, ยงยุทธ ยอดบุตร ไปค้าขาย, น่าเศร้าที่ จรัส จรรยาโพธิ์ เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน, อาคม คเชนทร์ มาทำกิจการโรงพิมพ์บรรณาคม ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือ SLANG ไม่ใช่ของแสลง ที่อิศราเขียนผ่านนามปากกา ‘Frank Freeman’

อิศรา อมันตกุล ยังโลดแล่นในฐานะนักหนังสือพิมพ์ฝีปากกล้า

เกริ่นไว้เป็นอันดีว่า ผมเองเคยอ่านหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับปฐมฤกษ์และเคยอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเมื่อ 5-6 ปีก่อน โดยสะท้อนเนื้อหาว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงในหลุมหลบภัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังพาดหัวข่าว ‘ลากแม่หนู ๗ ขวบเข้าไปโลมในหลุมหลบภัย ตำรวจจับไปร้องว่าผมเปล่าจริงๆ’ ลงภาพนายเชย ผู้ก่อเหตุ พร้อมคำโปรยเปิดเรื่อง

สถิติกรรมลามกเพิ่มขึ้นทุกวันโดยมนุษย์กิเลสหนาเปนผู้ก่อ และส่วนมากของเหยื่อร้ายมักได้แก่เด็กอายุไม่เกิน ๑๐ ขวบ วานซืนนี้ นสพ. บางฉบับเสนอข่าว เด็กหญิงอายุ ๙ ขวบแห่งบางยี่ขันถูกข่มขืนชำเราไปแล้ว แต่อีกรายหนึ่งซึ่งเกิดที่มักกะสัน ในเวลาใกล้ๆ กัน ผู้ถูกตกเปนเหยือกามาอายุเพียง ๗ ปี เท่านั้น !

เห็นไหมล่ะครับ เอกราชให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวอาชญากรรมนับตั้งแต่ฉบับแรกสุด นั่นเพราะอิศรา อมันตกุลมองว่าส่วนใหญ่การนำเสนอข่าวอาชญากรรมที่ผ่านมามักเน้นเสนอเรื่องของคนที่ถูกฆ่าตาย หากที่จริงยังมีอาชญากรรมอื่นๆ ดาษดื่นในมุมมืดและอำนาจมืดของสังคมไทย

ช่างน่าทึ่ง ด้วยกระแสการพาดพิงถึงหนังสือพิมพ์ เอกราช (THE INDEPENDENCE DAILY) ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ จึงทำให้ใครต่อใครพากันขะมักเขม้นมาสืบค้นเสาะหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติเสียคึกคัก

อ้อ! มนุษย์นอกกรุงเทพฯ สาย ‘ทุกกาลโภชนา’ เยี่ยงผม ใคร่ขออนุญาตชวนชิม แดดอ่อนๆ ตอนเย็นๆ ถ้าท่านลองก้าวย่างออกมาประตูด้านข้างๆ หอสมุดแห่งชาติใกล้ๆ ตึกกรมศิลปากร เลี้ยวขวาทอดน่องต่อไปจนสุดทาง จะเจอะร้านอาหารอีสาน ซึ่งนอกเหนือไปจาก ลาบแซ่บๆ เนื้อแดดเดียวกรุบๆ และข้าวเหนียวนุ่มๆ บางทีท่านอาจได้รับฟังลูกคอของนักร้องลูกทุ่งนาม เอกราช สุวรรณภูมิ ส่งผ่านมาบำเรอสองหูแบบที่ผมเคยเคลิบเคลิ้มมาแล้ว


เอกสารอ้างอิง

1.  ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต.“100 ปีชาตกาล เบญจมินทร์ ราชาเพลงรำวง.” ปากไก่ ฉบับ 50 ปี สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, 2564.

2. “ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63, ตอน 23 ง (16 เมษายน 2489), หน้า 547

3. ผีดำ-ผีแดง. “ณัฐพลกับไชยันต์ ใครบิดเบือนหลักฐานเพื่อสาดโคลนผู้อื่นกันแน่?.” ประชาไท (20 กรกฎาคม 2022) ดูที่ https://prachatai.com/journal/2022/07/99596

4. สมชาย อาสนจินดา. ชีวิตพิสดาร (อันแสนจะบัดซบ) ของข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ณ. บ้านวรรณกรรม, 2536

5. ส.อาสนจินดา. “…กว่าจะได้เป็นนักประพันธ์.” หนอนหนังสือ. ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (สิงหาคม 2531). หน้า 128-136

6. หยาดเหงื่อและความทรนง ทรรศนะชีวิต… อิศรา อมันตกุล. กรุงเทพฯ: ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา, 2522

7. อนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ คุณสมบูรณ์ วิรยศิริ ณ เมรุวัดโสมนัสวรวิหาร วันจันทร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๕. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : สนิทพันธ์การพิมพ์, 2515

8. เอกราช (THE INDEPENDENCE DAILY). ปีที่ 1 ฉะบับที่ 1 (8 พฤษภาคม 2490)

9. Frank Freeman. SLANG ไม่ใช่ของแสลง. พระนคร: โรงพิมพ์บรรณาคม, 2509

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save