fbpx

ปากท้องสำคัญ แต่อุดมการณ์ต้องคงมั่นด้วย: การเลือกตั้งในสายตาคนอีสาน

หากสมรภูมิใหญ่ในการเลือกตั้งอยู่ที่ ส.ส.เขต จำนวน 400 ที่นั่ง สนามที่ใหญ่ที่สุดก็ย่อมหมายถึงภาคอีสานด้วย เพราะในการเลือกตั้ง 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขตเลือกตั้งกว่า 132 เขต นั่นหมายความว่าคนอีสานจะมี ‘ผู้แทนฯ’ ไปอยู่ในสภาถึง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. เขตทั้งหมด การแข่งขันในพื้นที่นี้จึงเข้มข้นอย่างไม่มีข้อแม้

ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่กวาดเอาที่นั่งในอีสานไปมากที่สุด (นับรวมถึงพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน) ถ้าย้อนไปในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้ง ‘แลนด์สไลด์’ ไปกว่า 377 ที่นั่งทั่วประเทศ โดยได้ ส.ส.เขตจากภาคอีสานมา 126 เขตจาก 136 เขต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าหากพูดถึงการเลือกตั้งในอีสานแล้วคนมักมองว่า พรรคเพื่อไทย ‘นอนมา’ แน่นอน

แต่เมื่อมองลงไปในรายละเอียด ในการเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา เกมการเลือกตั้งเขยื้อนจนหน้าตาออกมาไม่เหมือนเดิม พรรคพลังประชารัฐที่ใช้ ‘พลังดูด’ ส.ส.จากเพื่อไทยมา จนทำให้คะแนนบ้านใหญ่ชนะไปในหลายพื้นที่ ไปจนถึงว่าในเขตสำคัญที่เพื่อไทยครองมาตลอด 20 ปีอย่างขอนแก่น เขต 1 ก็ถูกพรรคน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งได้ 1 ปีอย่างอนาคตใหม่ชิงที่นั่งเข้าสภาไป แน่นอนว่าปัจจัยเรื่องกติกาเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวและการแบ่งเขตใหม่เป็นส่วนหนึ่งที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมืองเช่นนี้ด้วย

ส่วนอีกหนึ่งพรรคที่ครองพื้นที่อีสานใต้อย่าง ‘ภูมิใจไทย’ ก็ยึดหัวหาดไว้อย่างเหนียวแน่น ถ้าไปดูผลการเลือกตั้งเทียบกันระหว่างปี 2554 เทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2562 จะเห็นว่าพื้นที่สีแดงของพรรคเพื่อไทยในอีสาน ถูกสีน้ำเงินอย่างพรรคภูมิใจไทยกินพื้นที่อีสานใต้เป็นวงกว้าง

101 ลงพื้นที่พูดคุยกับคนในพื้นที่ภาคอีสานว่าด้วยการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ แม้จะไม่ได้คุยกับคนเรือนหมื่นเรือนแสน แต่จากการใช้เวลาคุยกับบุคคลหลากหลายอาชีพ ช่วงวัย และฐานะ ก็พอทำให้เราเห็นภาพอะไรได้บ้างจากการเลือกตั้งครั้งนี้

สิ่งที่ประชาชนพูดถึง ไม่ใช่เรื่องเกมการเมือง แต่คือความหวังถึงชีวิตที่ดีขึ้น และแน่นอน – ในสังคมประชาธิปไตย

รักพี่เสียดายน้อง: เพื่อไทย vs ก้าวไกล เลือกใครดี

จากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัด หลายคนยืนยันว่ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายกว่านั้นคือ ‘ไม่เอาลุง’ – ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประวิตร วงษ์สุวรรณ หลายเสียงพูดตรงกันว่าที่ผ่านมา 8 ปีนั้น “พอแล้ว” แต่จุดที่เป็นประเด็นของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกระหว่างสองพรรค ‘เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล’ โดยมี ‘ภูมิใจไทย’ เข้ามาแทรกบ้างในบางพื้นที่ หลายคนบอกว่าตอนนี้กำลังเข้าทำนอง ‘คนเก่าก็รัก คนใหม่ก็น่าสนใจ’

‘โทน’ (นามสมมติ) คุณครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีบอกว่า “สำหรับเพื่อไทย เราคิดว่านโยบายของพรรคนี้ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ คนมีโอกาสมากขึ้น เราจึงรู้สึกว่าเขาทำได้จริง ขณะเดียวกันถ้ามองที่ก้าวไกล เราก็โอเคกับเขาถ้ามองการเมืองเชิงอุดมการณ์ ตอนนี้เลยคิดว่าอาจจะกาสองใบให้คนละพรรค”

ด้านครูโน้ต (นามสมมติ) ครูโรงเรียนเดียวกันกับครูโทนก็เสริมว่า จากการพูดคุยกับนักเรียน วัยรุ่นก็ยังเทคะแนนให้พรรคก้าวไกลกันอย่างคับคั่ง เหมือนอย่างที่เห็นกระแสในโซเชียลฯ รวมถึงเด็กที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังเทใจให้พรรคก้าวไกลด้วย

“เด็กวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 25 ลงมา เขาเอนไปทางพรรคหนุ่ม มีบางส่วนเอนไปทางพรรคแดง แต่ไม่ค่อยเห็นใครเลือกฝั่งรัฐบาลปัจจุบันนะ” ครูโน้ตขยายความ

แม้ว่าคนจำนวนมากจะเลือก ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แต่ดูเหมือนว่าเกมการเลือกตั้งจะไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น เมื่อในช่วงโค้งแรกของการหาเสียงเลือกตั้ง มีข่าวคราวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยอาจจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ จากการตอบคำถามไม่ชัดเจนของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ประโยคที่ว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้” บนเวที กลายเป็นคำพูดที่ทำให้คนที่คิดจะเลือกเพื่อไทยในตอนแรกเริ่มไม่มั่นใจในการลงคะแนนให้

ครูโน้ตคือหนึ่งในคนที่ชื่นชมนโยบายของพรรคเพื่อไทยตลอดมา และตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ แต่เมื่อถูกถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ คุณจะทำอย่างไร ครูโน้ตตอบเร็วว่า “โอ๊ย ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ผมก็ไม่เอาสิ” ครูโน้ตให้เหตุผลว่า หากพรรคบอกว่าจับมือกัน เพราะคิดว่าอยากทำประโยชน์ให้ประชาชน ก็พอฟังได้ แต่เขาคิดว่าสิ่งที่จะเป็นปัญหามากกว่าคือความขัดแย้งกันทางนโยบาย เพราะต้องตัดสินใจหลายหัว

“สมมติคุณมีหลักการของคุณ คิดว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชน แล้วตัดสินใจไปร่วมมือกับเขา ผมก็โอเค แต่อย่าลืมนะว่าเมื่อร่วมมือกันแล้ว จากหัวเดียวก็จะกลายเป็นหลายหัว แล้วถ้าหัวขัดแย้งกันล่ะ เพราะนโยบายไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เธอก็อยากทำงานของเธอ ฉันก็อยากทำงานของฉัน เพื่อมาสมดุลกัน แต่สุดท้ายก็จะกลายเป็นว่าทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ถ้าเป็นแบบนั้นก็ทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นถ้าถามผม ผมก็อยากได้พรรคเดียวนั่นแหละ”

คำว่า ‘พรรคเดียว’ ของครูโน้ต หมายถึงเขาเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์แล้วตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไปเลย แม้ว่าดูแล้วจะหวังยากก็ตาม

ขณะที่ครูโทนบอกว่า “ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากได้ฝั่งประชาธิปไตยนั่นแหละ อยากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว เราเลยอยากให้ทั้งส้มทั้งแดงมาเป็นรัฐบาลร่วมกัน คือเราก็มองเรื่องปากท้องสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ก็ต้องมีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยด้วย”

ครูโทนเล่าต่อว่า แม้ว่าอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลจะถือเป็นตัวชูโรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หนึ่งในประเด็นเฉพาะพื้นที่ที่น่าสนใจคือการสื่อสารระหว่างผู้สมัคร ส.ส. กับชาวบ้าน เพราะพรรคเพื่อไทยได้เปรียบจากการเป็นคนคุ้นเคยกับชาวบ้าน รวมถึง ‘ภาษา’ ที่ใช้ ที่เข้าถึงชาวบ้านมากกว่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคก้าวไกล

“ผมเคยวิเคราะห์ว่าทำไมนโยบายของก้าวไกลถึงไม่กินใจชาวบ้าน เขาบอกว่าภาษาของก้าวไกล เป็นลักษณะการสื่อสารของชนชั้นกลางที่มีการศึกษา เวลาพูดว่าต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ถามว่าชาวบ้านรู้จักโครงสร้างไหม คือชาวบ้านต้องการฟังว่าจะได้ค่าแรงวันละเท่าไหร่ ขายข้าวได้ตันละเท่าไหร่ จะส่งเสริมอาชีพเขาอย่างไร คือเขาต้องการสิ่งที่เป็นตัวเลขชัดเจน แต่พอมาบอกว่าปรับเชิงโครงสร้าง บางคนก็ไม่รู้เรื่อง ผมเลยคิดว่าพรรคจึงจำเป็นต้องย่อยคำว่าโครงสร้างออกมาให้ชาวบ้านรู้ว่าหมายถึงเรื่องอะไร แต่ถ้าดูพรรคเพื่อไทย มาถึงเขาถามชาวบ้านเลย ‘เอาอันนี้บ่’ พูดลาวไปเลย สื่อสารกันถึงใจมากกว่า”

ครูโทนชี้ให้เห็นประเด็นในเชิงรูปธรรมว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ถ้าดูคะแนนในอุดรธานีจะเห็นว่าพื้นที่ที่พรรคอนาคตใหม่ได้เยอะคือเขตในเมืองเท่านั้น แต่ถ้าไกลเมืองออกมาหน่อย คะแนนของอนาคตใหม่ยังน้อยอยู่ ซึ่งนั่นชี้ว่าพรรคอนาคตใหม่ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้านทั่วทุกพื้นที่ และยังต้องพัฒนาอีกในยุคของพรรคก้าวไกล

ความเห็นนี้ใกล้เคียงกับอ้อย (นามสมมติ) คนในหมู่บ้านริมโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี อดีตพนักงานโรงงานที่เพิ่งกลับมาบ้านเกิดในช่วงโควิด ที่บอกว่าใจอยากจะเลือกพรรคก้าวไกล เพราะเห็นเป็นพรรคคนหนุ่มสาว คิดว่าน่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ แต่กลายเป็นว่าในช่วงแรกๆ หลังการประกาศวันเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ไม่ค่อยลงมาที่ชุมชนมากนัก ตรงกันข้ามกับผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยที่ขยันลงพื้นที่และคุ้นเคยกับชาวบ้านมากกว่า ทำให้ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกคนจากพรรคไหน แต่ที่แน่นอนคือไม่เลือกพรรคในฟากรัฐบาลเดิม เพราะที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

เลือกคนใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเก่า

นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว หนึ่งในประเด็นที่เป็นลักษณะเฉพาะของภาคอีสาน คือปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในดินแดนที่ราบสูง

ภาคอีสานมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นราบส่วนมาก มีพืชเศรษฐกิจไม่กี่ชนิด ไปจนถึงว่ามีพื้นที่ป่าไม้อยู่เพียง 18% ของพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ภาคอีสานยังได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาขนาดใหญ่จากภาครัฐมาตลอดหลายสิบปี เช่น การสร้างเขื่อน ฝาย ในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลที่กลายเป็นการทำลายลุ่มน้ำและพื้นที่น้ำท่วมถึงในหลายพื้นที่ ดังที่เห็นจากกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนปากมูล เป็นต้น หรือแม้แต่เขื่อนที่สร้างมาก่อนหน้าโครงการคือเขื่อนสิรินธรหรือชื่อเดิมคือเขื่อนลำโดมน้อย ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในที่ดินของชาวบ้านเป็นพื้นที่กว่า 180,000 ไร่

ชาวบ้านในบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยหลายคนยังไม่ได้ค่าชดเชย รวมถึงมีกำแพงเขื่อนคั่นกลางแม่น้ำ ส่งผลให้น้ำไหลไม่ตรงฤดูกาล จนทำให้ชาวประมงหาปลาไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น และนำมาสู่ปัญหาเรื่องปากท้องในท้ายที่สุด ต่อประเด็นนี้ ชาวบ้านต่อสู้มาแล้วกว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี 2511 ที่เริ่มมีการสร้างเขื่อนภายใต้รัฐบาลของพลเอก ถนอม กิตติขจร แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็ไม่อาจแก้ไขเรื่องนี้ให้พวกเขาได้เลย

แม่ปาน (นามสมมติ) หนึ่งในชาวบ้านที่ต่อสู้กับการสร้างเขื่อนมาอย่างยาวนาน บอกว่าครั้งนี้จะเลือก ‘พรรคใหม่’ เพื่อมาแก้ ‘ปัญหาเก่า’ เพราะ ส.ส. ที่เคยเลือกมาแทบไม่ได้ต่อสู้อะไรเพื่อพวกเขาเลย และถ้าเจาะจงลงไปมากกว่านั้น แม่ปานบอกว่าพรรคที่เข้ามารับฟังปัญหาของชาวบ้านในประเด็นนี้จริงๆ คือคนจากพรรคก้าวไกล ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่ชาวบ้านเรียกร้องคือค่าชดเชยและปรับเวลาเปิด-ปิดกำแพงกั้นน้ำตามฤดูกาลที่ควรเป็นเพื่อให้แม่น้ำเข้าสู่ภาวะปกติ

“เราก็ไม่รู้หรอกว่าถ้าเขาได้เป็นรัฐบาลแล้วเขาจะทำให้เราได้จริงไหม แต่ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ เราเลือกคนใหม่เพื่อมาแก้ปัญหาเก่า ถ้าเขาไม่ดี เราเลือกผิด ครั้งหน้าเราก็เลือกคนใหม่” แม่ปานกล่าว

เมื่อขยายมาที่ภาพใหญ่มากขึ้น ประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรในอีสานนับเป็นเรื่องใหญ่ และมีหลายเรื่องโยงใยกันจนยุ่งเหยิง สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ทำวิจัย ‘การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนชนบทอีสาน’ พูดถึงการแก้ปัญหาเชิงนโยบายในอีสานว่ามีแก่นของปัญหาอยู่สองประเด็น คือ หนึ่ง-ภาคอีสานไม่มีนโยบายของตัวเอง และสอง-อีสานยังไม่มีบุคลากรทางการเมืองที่ ‘สมาร์ต’ พอที่จะคิดอ่านและแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างจริงจัง 

“นอกจากเราไม่มีนโยบายของระบบนิเวศหรือฐานทรัพยากรอีสานทั้งหมดแล้ว เรายังไม่มีบุคลากรทางการเมืองของคนอีสานที่สมาร์ตพอที่จะคิดอ่านเรื่องพวกนี้ กลายเป็นแค่จำนวนหัวให้นับเวลายกมือเฉยๆ ที่อุดรธานีมี ส.ส. พรรคเดียวอยู่ 8-9 คน ก็ไม่เห็นมีความเจริญก้าวหน้าด้วยนโยบายทางการเมืองสักเท่าไหร่เลย หรือแม้แต่พรรคไหนต่อพรรคไหนมา โครงการโขง-ชี-มูลมีมาตั้ง 30 ปีก็แก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้ง” อาจารย์สันติภาพขยายความ

คำตอบของเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่มีนักการเมืองที่ ‘สมาร์ต’ พอเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจที่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง จนสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ เช่น เรื่องน้ำ วิสาหกิจชุมชน การจัดการขยะ ไปจนถึงปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้คุณภาพ นั่นหมายถึงงบประมาณที่ต้องจัดสรรจากส่วนกลางมาอย่างเหมาะสมด้วย

อาจารย์สันติภาพยังกล่าวเสริมอีกว่า นักการเมืองในพื้นที่ควรจะศึกษาวิจัยปัญหาในอีสานมาจนกลายเป็นนโยบายและทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้ภาคอีสานเปลี่ยนได้จริง

ความฝันของคนหนุ่มสาว

“เลือกใครเป็นรัฐบาล เราก็ต้องทำมาหากินเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนหรอก” คือหนึ่งในประโยคที่เราได้ยินกันจนชินหู และความหวังยิ่งถูกตอกย้ำให้จมดิน เมื่อคนไทยต้องอยู่กับการแช่แข็งของ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์มานานกว่า 8 ปี แต่เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึง แม้จะในกติกาเดิมที่มี ส.ว. 250 เสียงมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย แต่หลายคนก็มีความหวังว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยิ่งโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชามาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่มสาว

วาว (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.6 ที่จังหวัดอุดรธานี เพิ่งมีโอกาสเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2566 เธออาศัยอยู่กับยาย พ่อไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาเกือบ 10 ปีแล้วด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ วาวเพิ่งสอบติดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และมีความฝันว่าอยากเป็นล่ามหรือนักแปล แต่ความฝันนี้ก็โดนข้อแม้ของชีวิตมาทำให้ลังเลว่า เมื่อเรียนจบแล้ว เธออาจตัดสินใจไปทำงานที่ต่างประเทศ เพราะได้เงินเดือนมากกว่าทำงานที่ไทย นี่จึงเป็นเหตุผลที่วาว ‘แอบหวัง’ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้เธอไม่ต้องไปต่างประเทศ หรือไม่ต้องอยู่แยกจากพ่อแบบนี้

“ถ้าเลือกตั้งแล้วทำให้มีรัฐบาลใหม่ มาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ชีวิตดีขึ้น เราก็คงไม่ต้องไปไกลบ้าน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะอยู่ที่บ้าน” วาวกล่าว

เมื่อถามว่าสนใจพรรคการเมืองไหนเป็นพิเศษไหม วาวตอบว่า “เพื่อนๆ ชอบก้าวไกล หนูก็ชอบก้าวไกล แต่หนูชอบพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ด้วย กำลังตัดสินใจอยู่”

เช่นเดียวกับนาย (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.6 ที่จังหวัดอุดรธานี ที่มองว่าถ้าที่บ้านมีงานให้ทำและมีเงินพอเลี้ยงดูยาย เขาก็คงไม่คิดอยากไปทำงานต่างประเทศ การเมืองที่ดี จึงหมายถึงชีวิตที่ดีด้วย

จากความเห็นเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าปัจจัยในการตัดสินใจ ‘กาคะแนน’ ให้ใครสักคนมีหลายด้าน เรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญแน่ๆ ประชาชนจำนวนมากดูนโยบายเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกัน การสื่อสารตัวต่อตัวระหว่างผู้สมัคร ส.ส. กับคนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย บางครั้งการเห็นค่าตากันจนคุ้นเคยก็อาจส่งผลทาง ‘ความรู้สึก’ มากกว่า ‘เหตุผล’ และนี่อาจเป็นจุดชี้ขาดที่คาดไม่ถึง

เช่นเดียวกับที่ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนจะเลือกหรือไม่เลือก เพราะประชาชนก็เห็นกันอยู่ว่าใครทำงานได้หรือไม่ได้ และสิ่งสำคัญที่สุด แม้ปากท้องจะสำคัญ แต่หลายคนก็ยืนยันว่าไม่สนับสนุนเผด็จการ เพราะการให้คนมีสิทธิเลือกในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะทำให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้

ทั้งนี้นี่เป็นเพียงบทสนทนา ณ ช่วงเวลาหนึ่งกับคนบางกลุ่มเท่านั้น สุดท้ายเสียงของประชาชนที่แท้จริงจะสะท้อนออกมาผ่านผลการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งต้องอยู่ใต้กติกาที่เป็นธรรม และไม่ควรมีใครพรากประชาธิปไตยไปจากประชาชนอีก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save