fbpx
ชีวิตไร้ค่า? : ชีวิตคุณราคาเท่าไหร่กันแน่

ชีวิตไร้ค่า? : ชีวิตคุณราคาเท่าไหร่กันแน่

สำหรับหลายคนชีวิตเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์การตีราคาชีวิตไม่ใช่แค่ทำได้ แต่ยังจำเป็นต้องทำด้วย

 

หากรัฐบาลต้องการสร้างอะไรบางอย่างที่มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก ยกตัวอย่างที่เพิ่งเกิดไปเมื่อเดือนก่อนก็คือเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน – ถ้ารัฐฉลาดพอ รัฐคงต้องคิดสักหน่อยว่า อะไรคือผลได้-ผลเสียของการดำเนินนโยบาย ชั่งน้ำหนักระหว่างสองสิ่งนี้และตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพราะเรื่องแบบนี้คือวิธีการพื้นฐานที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกเขาใช้กัน

คำถามก็คือ แล้วจะประเมินผลได้-ผลเสียยังไงล่ะนี่ จะรู้ได้ยังไงว่าแค่ไหนมันเรียกว่า ‘ได้’ แค่ไหนมันเรียกว่า ‘เสีย’

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ การตีราคาทุกอย่างออกมาเป็นตัวเลข เรียกว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะมันจะเห็นชัดๆ เป็นตัวเลข ทำให้เปรียบเทียบได้ แต่จะประเมินอะไรออกมาเป็นตัวเลข เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ยิ่งถ้าต้องประเมินอะไรเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็ยิ่งตีออกมาเป็นราคายาก เพราะมีประเด็นทางด้านศีลธรรม (ethical issue) ให้ต้องขบคิดด้วย

อาจจะดูเลือดเย็นและไร้หัวใจหน่อย แต่คำถามเชิงศีลธรรมของนักเศรษฐศาสตร์คือการ “หาราคาที่เหมาะสม” – ราคาที่ไม่ถูกเกินไปจนไร้ค่า แต่ก็ไม่แพงเกินไปจนทำอะไรต่อไม่ได้เลย

(ต้องย้ำไว้ตรงนี้ก่อนว่า คำว่า ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ในที่นี้ หมายถึง ‘วิธีการคิด’ และ ‘วิธีการมองโลก’ ไม่ใช่ตัวบุคคลแต่อย่างใดนะคุณผู้อ่าน)

ว่าแต่นักเศรษฐศาสตร์ตีราคาชีวิตยังไง?

หนึ่งในวิธีการที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการใช้ตีราคาชีวิต คือการคำนวณส่วนต่างรายได้ที่คนคนหนึ่งจะสามารถหาได้เมื่อต้องทำงานที่เสี่ยงภัย

ตัวอย่างเช่น ถ้าการทำงานเป็นพนักงานดับเพลิงมีรายได้มากกว่านั่งทำงานในออฟฟิศ (ที่ปลอดภัยกว่าเห็นๆ) ปีละ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ และพนักงานดับเพลิงมีโอกาสตายจากการทำงานมากกว่าคนทำงานออฟฟิศ 1% มูลค่าของชีวิตนักดับเพลิงจะเท่ากับ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คือเอาความต่างของค่าจ้างไปคูณ 100) โดยมีฐานคิดว่า การทำงานที่เสี่ยงตายสะท้อนอยู่ในค่าจ้างแล้ว

แต่วิธีการนี้ถูกวิจารณ์ว่า ‘โลกสวย’ เกินไป เพราะในโลกของความเป็นจริง อาชีพที่เสี่ยงกว่าและสกปรกกว่า ไม่ได้มีค่าตอบแทนมากกว่าอาชีพที่ปลอดภัยเสมอไป (เผลอๆ อาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ) ที่สำคัญการมองแบบนี้เป็นการทำให้คุณค่าของคนแต่ละอาชีพไม่เท่ากัน

อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้การคำนวณราคาชีวิต คือคำนวณจาก ‘พฤติกรรม’ ของคน ฐานคิดก็คือ เราจะมีพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเราได้อะไรและเสียอะไรจากการทำพฤติกรรมนั้น (โหย ฟังดูเศรษฐศาสตร์โคตรๆ !) เช่น ถ้าเราขับรถเร็ว เราจะประหยัดเวลามากขึ้น แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ แต่ไอ้การขับเร็วนั่นจะทำให้เราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น เป็นต้น

ในปี 1987 สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายให้การจำกัดความเร็วรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 55 ไมล์ต่อกิโลเมตรเป็น 65 ไมล์ต่อกิโลเมตร ผลที่ตามมาคือ ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถทำความเร็วได้เร็วขึ้น 2 ไมล์ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีคนตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 ด้วยเช่นกัน

ถัวไปถัวมา นักเศรษฐศาสตร์เลยได้ข้อสรุปออกมาว่า การออกกฎหมายใหม่ทำให้สหรัฐอเมริกาประหยัดเวลาเพิ่มขึ้น 125,000 ชั่วโมงต่อผู้เสียชีวิต 1 คน ดังนั้น ถ้าคิดจากฐานค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ 12 เหรียญสหรัฐอเมริกา มูลค่าชีวิตของคนอเมริกันเลยอยู่ที่ราวๆ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

วิธีการนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร แต่ก็หนีข้อติติงไปไม่พ้น บางเสียงวิจารณ์ว่าวิธีการนี้หยาบและเหมารวมเกินไป บ้างไปไกลถึงขนาดตั้งคำถามชวนเถียงต่อว่า ชีวิตคนเรามันควรที่จะเท่ากันจริงหรือ คนไม้ใกล้ฝั่งที่ป่วยออดแอดกับคนหนุ่มอนาคตไกลพลังเยอะควรที่จะมีราคาชีวิตเท่ากันหรือไม่

สเตฟาโนส ซีเนียส (Stefanos Zenios) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stanford ใช้วิธีการที่ต่างออกไป เขาเก็บข้อมูลจากผู้เป็นโรคไตกว่า 500,000 คน โดยถามว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะยอมจ่ายค่าล้างไตเพื่อให้มีสุขภาพดีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ งานวิจัยนี้พบว่า ในสหรัฐอเมริกา ราคาของชีวิตอยู่ที่ราวๆ 129,000 เหรียญสหรัฐต่อปี การศึกษานี้ยังเก็บข้อมูลจากประเทศอื่น ได้แก่ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยราคาของชีวิตต่อปีของประเทศอื่นๆ โดยเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ประมาณ 50,000 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น (ซึ่งหากคิดเป็นปีทำงาน 40 ปีก็จะอยู่ที่ราว 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯในสหรัฐอเมริกา และ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศอื่น)

วิธีการนี้มีปัญหาอีกเช่นกัน เพราะการประเมินเงินที่ยอมจ่ายเพื่อล้างไตของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับเหตุผลหลายประการ เช่น มุมมองต่อชีวิตและความเจ็บป่วย ซึ่งแตกต่างหลากหลายไปในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม

สำรวจราคาชีวิตเบื้องต้น

สำนักงบประมาณประจำทำเนียบขาว (U.S. Office of Management and Budget) หน่วยงานด้านงบประมาณที่ทำหน้าที่ประเมินโครงการและนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะบุว่า มูลค่าของชีวิตพลเมืองอเมริกันคนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 7 – 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency) ก็ประเมินมูลค่าของชีวิตมนุษย์ไว้ที่ราว 9.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอาหารและยาของสหรัฐประเมินไว้ที่ 7.9 ล้านเหรียญ ส่วนกระทรวงคมนาคม (Department of Transportation) ประเมินไว้ที่ราว 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

พูดให้ถึงที่สุด นักเศรษฐศาสตร์เองต่างรู้ดีว่า ไม่มีวิธีการใดที่สามารถตีราคาชีวิตได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเองเห็นพ้องต้องกันว่า ตัวเลข  1 – 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐดูจะเป็นราคาชีวิตที่ต่ำเกินไป แม้ตัวเลขดังกล่าวนี้จะมีฐานมาจากงานวิจัยก็ตาม

 

อ่านเรื่องนี้จบ เราอยากชวนคุณคิดอะไรสนุกต่ออีกสัก 2 ข้อ
1. คุณคิดว่ารัฐไทยฉลาดพอที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้-ผลเสีย และตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างรอบคอบไหม
2. ลองคิด “ราคาชีวิต” คนไทยดูสิ จะประยุกต์ใช้วิธีไหนก็ได้ เชื่อว่า มันคงบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมเราได้ไม่น้อยเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save