fbpx
การเมืองเป็นเรื่องกินได้จริงหรือเปล่า

การเมืองเป็นเรื่องกินได้จริงหรือเปล่า

ฉัตร คำแสง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางเทศกาลการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถัดมาในวันที่ 28 มีนาคมนี้ เราก็กำลังจะมีการเลือกตั้งระดับเทศบาลมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่จบสิ้นแค่นั้น เราจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราว 5,000 แห่งตามมา และปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งเขตปกครองพิเศษกรุงเทพมหานครและพัทยา

หลายคนมักมองข้ามความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอปท. ไม่สามารถทำนโยบายใหญ่โตได้เหมือนรัฐบาลระดับประเทศ ทั้งที่จริงแล้ว อปท.เป็นที่จับต้องได้และใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากยิ่งกว่าเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบน้ำประปาหมู่บ้านที่ (ไม่?) ได้มาตรฐาน การเก็บขยะให้ตรงเวลา ถนนหนทางที่ใช้สัญจร ไฟส่องสว่างตามทาง กล้องวงจรปิด สวนสาธารณะ ตลาดสด และโรงเรียน ยิ่งถ้าเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ ก็ต้องรับผิดชอบบริหารจัดการโรงพยาบาล ศูนย์เรียนรู้เยาวชน หรือพิพิธภัณฑ์ด้วย

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่น คนมักพูดกันว่า “ใครได้รับเลือกเข้ามาก็เหมือนกัน สุดท้ายชีวิตก็เหมือนเดิม ต้องทำมาหากินอยู่ดี” แต่ผมไม่คิดว่าผู้คนคิดกันอย่างนั้นจริงๆ เพราะเมื่อใดที่เกิดปัญหาในพื้นที่ ผู้คนก็ยังคงตำหนิเจาะจงไปที่ตัวของผู้มีอำนาจ พร้อมเรียกร้องให้ออกมาดูแลรับผิดชอบ หรือกระทั่งไล่ให้ไปลาออก

คำถามมีอยู่ว่า จริงๆ แล้ว ผู้นำส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแค่ไหน

 

ถ้าผู้นำดี เศรษฐกิจจะดี?

 

การเทียบผลการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคของ New York Times
ภาพ 1 : การเทียบผลการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในสมัยของผู้นำคนต่างๆ โดย New York Times ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องนัก

 

จากภาพที่ 1 ดูเผินๆ แล้วการประเมินว่าผู้นำคนไหนมีผลงานอย่างไรเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จริงแล้ว การประเมินว่าตัวผู้นำส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร กลับไม่สามารถทำได้โดยง่าย เราไม่รู้แน่ชัดว่า ผู้นำส่งผลต่อเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจส่งผลต่อการเลือกตัวผู้นำกันแน่ และมีผลมากขนาดไหน อีกทั้งการดำเนินนโยบายบางอย่างก็อาจเห็นผลช้า กว่าจะเห็นผลจริง ผู้นำคนนั้นก็อาจหมดวาระไปเสียก่อน หนังสือ Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty ของ Daron Acemoglu และ James Robinson ยังชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ส่งผลกับเศรษฐกิจปากท้องได้ยาวเป็นร้อยๆ ปี ดังนั้น การนำสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้นำแต่ละยุคมาเทียบกันโดยตรงเช่นในภาพ 1 ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องเท่าไหร่

การศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมักจะมุ่งมองไปที่ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ เช่น แรงงาน การสะสมทุน การศึกษา การเงิน หรือเทคโนโลยี และในการศึกษาประเด็นเหล่านี้ คนก็อาจวิเคราะห์ถึงปัจจัยเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและคุณภาพของภาครัฐ แต่มักละเลยปัจจัยของตัวผู้นำไป

ผมจึงพาไปสำรวจงานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนหนึ่งที่ศึกษาว่าตัวผู้นำ รวมถึงการเลือกตั้ง มีผลต่อปากท้องประชาชนมากน้อยเพียงใด เพื่อตอบให้ได้ชัดๆ ว่า ประชาธิปไตยแท้จริงแล้วกินได้หรือไม่ งานวิจัยเหล่านี้ยังมีความน่าสนใจในระเบียบวิธีวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experiment) ที่สามารถนำไปใช้ประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์กับนโยบายอีกหลายเรื่องที่มีเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวพันกันไปมาเช่นนี้ได้

Benjamin Jones และ Benjamin Olken ได้ออกแบบงานวิจัยเพื่อประเมินบทบาทของผู้นำกับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยวิเคราะห์เฉพาะการเปลี่ยนผู้นำจากเหตุของการเสียชีวิตตามธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำแบบสุ่ม (Random) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งการควบคุมตัวแปรด้านสถานการณ์เศรษฐกิจนี้เองจะช่วยตอบคำถามได้จริงว่าการเปลี่ยนผู้นำส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขนาดไหน

งานวิจัยนี้ใช้เหตุการณ์การเปลี่ยนผู้นำแบบสุ่ม 57 กรณีทั่วโลก รวมถึงในกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี 2506 ด้วย ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพของตัวผู้นำมีผลต่อพัฒนาการเศรษฐกิจมาก โดยเฉลี่ย การได้ผู้นำที่มีคุณภาพสูงขึ้น 1 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากถึง 1.47% ต่อปี (ตรงกันข้าม การได้ผู้นำที่คุณภาพแย่ลง 1 Standard Deviation ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะลดลง 1.47% ต่อปี)

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศอำนาจนิยม ผลของคุณภาพผู้นำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนับว่ารุนแรงกว่ากลุ่มประเทศอื่น โดยส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอีกประมาณ 0.4% เนื่องจากการบริหารประเทศขึ้นอยู่กับตัวผู้นำเป็นหลัก โดยไม่มีกลไกเชิงสถาบันมาคานอำนาจ ต่าจากระบอบประชาธิปไตยที่มีกลไกลดความเสี่ยงของปัจจัยตัวบุคคล

ในการวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยจัดระบอบการปกครองของไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศอำนาจนิยมอ่อนๆ ดังนั้นการเมืองของเราส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าประเทศประชาธิปไตย หรืออาจบอกได้ว่า การเมืองของเรากินได้มากกว่าประเทศประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ดังนั้น แม้ว่าการไปเลือกตั้งจะเป็นหนึ่งในอำนาจทางการเมืองเพียงไม่กี่อย่างที่ประชาชนในประเทศมีอยู่ แต่กลับมีผลต่อชีวิตอย่างประชาชนอย่างมาก

 

การเลือกตั้งกับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

วิธีการจัดการเลือกตั้งก็มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีของไทย ที่มักมีบัตรเสียเกิดขึ้นมากมาย (ไม่นับเรื่องเล่าการโกงเลือกตั้งในหน่วยอีกสารพัดวิธี) บัตรเสียมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อย ซึ่งมักจะเป็นคนยากจน จึงดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้ถูกลดทอนสิทธิในการเรียกร้องทางการเมืองไปโดยปริยาย

งานวิจัยของ Thomas Fujiwara เล่าถึงการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงในบราซิล ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดในกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้มีบัตรเสียน้อยกว่าการเลือกตั้งแบบกระดาษ ตามที่เห็นในภาพ 2

ผลการศึกษายังพบว่า การใช้เครื่องลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งก็มีส่วนทำให้สาธารณสุขได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มคนจนมากเป็นพิเศษ เพราะคนรวยไม่ค่อยได้ใช้บริการสาธารณสุขของรัฐ การเพิ่มขึ้นของงบประมาณสาธารณสุขนี้ได้ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขมีคุณภาพมากขึ้น คนหลายกลุ่มอย่างคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็เข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้นจริง ซึ่งส่งผลต่อให้สุขภาพของเด็กแรกเกิดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เราจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า การใช้เครื่องลงคะแนนในการเลือกตั้งช่วยเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มคนจน และช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้จริง

 

ภาพ 2 : อัตราส่วนบัตรดีในการเลือกตั้งที่บราซิลในปี 1994, 1998 และ 2002 ซึ่งใช้การเลือกตั้งแบบกระดาษ ผสมระหว่างกระดาษและเครื่องลงคะแนน และใช้เครื่องลงคะแนนล้วนตามลำดับ

 

การเมืองท้องถิ่นไทยกินไม่ได้?

 

หากบทเรียนจากงานวิจัยบอกเราว่า ผู้นำส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเราและประชาธิปไตยนั้นกินได้ แล้วการเมืองท้องถิ่นไทยเล่า เป็นอย่างไร

สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นของไทย เรามีข้อมูลที่ต้องพิจารณาดังนี้

1) การจัดสรรงบประมาณจะสัมพันธ์กับจำนวนประชากรเป็นหลัก โดยพบว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น 10% จะมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้น 10% (ดูขนาดวงกลมเทียบกับงบประมาณเฉลี่ยต่อหัวในภาพ 3) นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยังเป็นตัวแปรที่สัมพันธ์กับงบประมาณด้วย จังหวัดที่ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยสูง จะมีงบประมาณของ อปท.ทั้งหมดรวมกันต่อหัวประชากรที่สูงกว่า หากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่ม 10% งบประมาณจะเพิ่มขึ้น 3.4% (เส้นประในภาพ 3) การจัดสรรงบประมาณรูปแบบนี้จึงเสริมความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ค่อนข้างชัดเจน

 

ภาพ 3 : แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณท้องถิ่น (รวมทุก อปท.) เฉลี่ยต่อหัวประชากร กับรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน ของแต่ละจังหวัด ขนาดวงกลมสะท้อนถึงจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด โดยวงกลมสีส้มคือจังหวัดในภาคอีสาน

 

2) จังหวัดในภาคอีสานซึ่งเป็นภาคที่ประชากรมากที่สุด มีรายได้น้อยเป็นอันดับสองรองจากภาคเหนือ และยังมีจำนวนแพทย์ต่อประชากรน้อยที่สุด มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยน้อยที่สุดพอกับภาคตะวันตก และมีงบประมาณต่อหัวน้อยที่สุด ถ้าหากคนภาคตะวันออกได้งบประมาณท้องถิ่นต่อหัวเท่ากับคนอีสาน งบประมาณโดยรวมจะน้อยลงประมาณ 23% เลยทีเดียว (ดูตาราง 1)

 

ปัจจัย งบประมาณท้องถิ่นในจังหวัด
ประชากรเพิ่มขึ้น 1%  +1.01%
รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1% +0.34%
ตะวันออกมีรายได้มากกว่าเหนือ +7.36%
ตะวันออกมีรายได้มากกว่ากลาง +11.04%
ตะวันออกมีรายได้มากกว่าตะวันตก +20.24%
ตะวันออกมีรายได้มากกว่าอีสาน +22.87%

ตาราง 1 : ตารางแสดงความสัมพันธ์ของงบประมาณ อปท. กับปัจจัยต่างๆ
ที่มา : ผู้เขียนวิเคราะห์ตามข้อมูลงบประมาณรายรับจริงและประชากรจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นในปี 2562 ร่วมกับข้อมูลรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยปี 2562 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

3) อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดมีประชากรตามทะเบียนบ้านรวมกัน 61 ล้านคน มีงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบประมาณของกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว

4) การเลือกตั้ง อปท.ไม่ให้สิทธิในการเลือกตั้งนอกเขตหรือเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งกระทบต่อวัยแรงงานที่ต้องไปทำมาหากินในต่างจังหวัดหรือไม่สามารถหยุดงานในวันเลือกตั้งได้

5) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พูดถึงเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2546 จนทุกวันนี้ เราก็ยังไม่ได้ใช้งาน

โดยสรุปข้อมูลข้างต้นนี้บอกกับเราว่า จังหวัดหรือภูมิภาคที่รายได้ต่อหัวต่ำย่อมได้งบประมาณท้องถิ่นน้อยกว่าจังหวัดหรือภูมิภาคที่มีรายได้ต่อหัวสูง แต่ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดหรือภูมิภาคใดย่อมเทียบไม่ได้กับกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง ดูเผินๆ ท้องถิ่นไม่ใช่คำตอบสักเท่าไหร่

แต่มากไปกว่าข้อสรุปทางตัวเลข ผมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เราพยายามเต็มที่หรือยังเพื่อให้คนมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน? งบประมาณที่เราจัดสรรทุกวันนี้ตอบสนองอำนาจของใครเป็นพิเศษ? การประโคมว่าการเมืองไม่ส่งผลกับชีวิตเรา ช่วยรักษาให้กลุ่มอำนาจเดิมให้คงอำนาจของพวกเขาไว้ใช่หรือไม่? ยิ่งงบประมาณมีอยู่จำกัด ภายใต้ระบบที่ไม่ค่อยเป็นระบบ ผู้บริหารงบประมาณของบ้านเรามีคุณภาพขนาดไหน? ความพยายามพูดและทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกนั้น ทำไปเพื่อลดการแข่งขัน ช่วยให้ผู้บริหารอยู่ต่อไปสบายๆ

การเมืองท้องถิ่นกินไม่ได้? ผมไม่กล้าสรุปแบบนั้น

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021