fbpx
คำพิพากษาคงเส้นคงวาแค่ไหน?

คำพิพากษาคงเส้นคงวาแค่ไหน?

ผมเคยเข้าใจว่าผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมในฐานะสถาบันทางสังคมที่ขับเคลื่อนไปด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงย่อมคงเส้นคงวาเสมอ

‘คงเส้นคงวา’ ที่ว่านั้นหมายถึง ไม่ว่าผู้พิพากษาคนไหนอ่านสำนวนก็จะตัดสินไปในแนวทางเดียวกัน ต่อให้ตัดสินกันคนละวันคนละเวลา ก็ย่อมไม่ทำให้คำพิพากษาเลี่ยนแปลง แต่ยิ่งนานวัน ผมก็ยิ่งได้ยินเสียงสะท้อนบนโซเชียลมีเดียที่ตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานในการมอบสิทธิประกันตัวหรือการตัดสินคดี ชวนให้คิดต่อไปว่าคำพิพากษาคงเส้นคงวาแค่ไหนกัน

โชคดีที่ผมอ่านเจอคำตอบของคำถามดังกล่าวในหนังสือ Noise: A Flaw in Human Judgment (คลื่นรบกวน: ข้อบกพร่องของดุลพินิจมนุษย์) โดยแดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โอลิเวียร์ ซิโบนี (Olivier Sibony) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย HEC Paris และแคส อาร์. ซันสไตน์ (Cass R. Sunstein) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

แค่เห็นชื่อหนังสือก็คงจะพอเดาได้นะครับว่าบทสรุปของงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นสรุปในทิศทางเดียวกันว่าคำตัดสินโดยเหล่าท่านผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศไร้ความคงเส้นคงวาราวกับซื้อลอตเตอรี่ ปัญหาดังกล่าวมีชื่อเรียกในแวดวงวิชาการว่า ‘ความเหลื่อมล้ำในการกำหนดโทษ’ (Sentencing Disparity)

รู้จักความเหลื่อมล้ำในการกำหนดโทษ

หากคุณกับเพื่อนอีกสองคนรวมหัวกันปล้นธนาคารในไทย การกระทำดังกล่าวจะผิดฐานปล้นทรัพย์ที่มีบทกำหนดโทษตั้งแต่ 10-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-30,000 บาท แต่คุณเคยสงสัยไหมครับว่าผู้พิพากษาจะใช้ข้อมูลอะไรบ้างเพื่อประกอบการพิจารณาว่าควรจำคุก 10 ปี 12 ปี หรือ 15 ปี รวมถึงคิดค่าปรับเป็นมูลค่าเท่าไหร่

หากพิจารณาหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดจริง การกำหนดโทษคือส่วนที่ผู้พิพากษาจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณารูปคดี รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่นผู้กระทำผิดใช้อาวุธอะไร ผู้กระทำผิดเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ร่วมขบวนการ คนเหล่านี้เคยกระทำผิดมาแล้วในอดีตหรือไม่ และอีกสารพัดปัจจัยซึ่งทำให้คำตัดสินของแต่ละคดียากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง

แต่เชื่อไหมครับว่าต่อให้รูปคดีมีความคล้ายคลึงกัน ผู้พิพากษาก็อาจตัดสินลงโทษต่างกันแบบสุดขั้ว

มาร์วิน แฟรงเคิล (Marvin Frankel) ผู้พิพากษาประจำศาลแขวงสหรัฐฯ คือชายคนแรกที่หยิบยกประเด็นมาตีแผ่ต่อสาธารณะ แม้ว่าเขาจะไม่มีตัวเลขทางสถิติ แต่กรณีตัวอย่างที่เขานำเสนอก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำในการกำหนดโทษซึ่งไม่สมเหตุสมผล เช่น ชายสองคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมนำเช็กปลอมไปขึ้นเงิน เช็กของคนแรกมีมูลค่า 58.40 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเช็คของคนที่สองมีมูลค่า 35.20 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงโดยชายคนแรกถูกลงโทษจำคุก 15 ปี ขณะที่ชายคนที่สองถูกสั่งจำคุกเพียง 30 วัน

ประเด็นดังกล่าวได้รับการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อหาบทสรุปว่าความเหลื่อมล้ำในการกำหนดโทษมีจริงหรือไม่ ผ่านการออกแบบวิธีทดสอบอย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างคดีสมมติขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วให้ผู้พิพากษาตัวจริงที่สมัครใจเข้าร่วมการวิจัยพิจารณากำหนดโทษ หากกระบวนการยุติธรรมมีความคงเส้นคงวาอย่างที่เราคาดหวัง ไม่ว่าผู้พิพากษาคนไหนเป็นผู้ตัดสินก็ย่อมต้องได้คำพิพากษาที่ใกล้เคียงกัน

แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าประหลาดใจ บทสรุปเบื้องต้นพบว่าคำตัดสินของคดีส่วนใหญ่มีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง อีกทั้งการกำหนดบทลงโทษยังหลากหลายจนน่าตื่นตะลึง พ่อค้าเฮโรอีนอาจถูกจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี โจรปล้นธนาคารถูกส่งเข้าตารางตั้งแต่ 5-18 ปี ส่วนคดีกรรโชกทรัพย์ผู้พิพากษาคนหนึ่งตัดสินลงโทษหนักถึง 20 ปีพร้อมปรับเป็นเงิน 65,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งสั่งจำคุกราว 3 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

ข้อค้นพบดังกล่าวนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา เพราะการลงโทษที่เบี่ยงเบนออกจากตัวเลขในอุดมคติย่อมมีปัญหา ในกรณีที่มากเกินควรก็กลายเป็นความไม่เป็นธรรมต่อผู้กระทำผิด แต่หากน้อยเกินไปก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของคนสังคมและลดประสิทธิภาพของกฎหมายในการป้องปรามเหตุอาชญากรรม

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ

การศึกษาชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 1981 โดยการสร้างแบบสอบถามซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของคดีความ 16 คดีแล้วให้ผู้พิพากษาทั่วสหรัฐอเมริกาจำนวน 208 คนพิจารณาพร้อมกำหนดบทลงโทษ ผลลัพธ์เบื้องต้นคือคำตัดสินลงโทษจำคุกเฉลี่ย 7 ปี โดยมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงถึง 3.4 ปีซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล จนกล่าวได้ว่าคำพิพากษาแทบไม่ต่างจากการซื้อลอตเตอรี่ แดเนียล คาฮ์นะมันและคณะแบ่งความเหลื่อมล้ำในการกำหนดบทลงโทษออกเป็น 2 องค์ประกอบ ดังนี้

องค์ประกอบแรกคือความผันผวนของการกำหนดโทษตามความใจหินของผู้พิพากษาแต่ละคน บางคนเป็นที่เลื่องลือว่ามือหนักชอบกำหนดโทษระดับเพดานจนจำเลยคนไหนต้องมาเจอต้องพากันไปทำบุญล้างซวย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้พิพากษาสบายๆ ที่พร้อมจะลดหย่อนผ่อนโทษไม่ว่าคดีจะร้ายแรงแค่ไหน ความผันผวนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของผู้พิพากษาแต่ละคนในฐานะปัจเจกทั้งในแง่พื้นเพครอบครัว ประสบการณ์ หรืออุดมการณ์ทางการเมือง

อีกหนึ่งงานวิจัยที่สะท้อนการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของผู้พิพากษาคือการพิจารณาคำขอลี้ภัย ผู้อพยพจะถูกจัดสรรแบบสุ่มไปให้ผู้พิพากษาแต่ละคนตัดสิน หากกระบวนการดังกล่าวมีความคงเส้นคงวาจริง ผู้พิพากษาทุกคนก็ควรมีอัตราการอนุมัติใกล้เคียงกัน แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอัตราการอนุมัติเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีกคนหนึ่งกลับอนุมัติในสัดส่วนสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ สองตัวอย่างนี้สะท้อน ‘อคติ’ ส่วนบุคคลที่สวนกันไปคนละทางจนชวนให้สงสัยถึงมาตรฐานในการพิจารณาคำขอดังกล่าว

องค์ประกอบที่สองคือความผันผวนของการกำหนดโทษตามลักษณะคดี ตัวอย่างเช่น ผู้พิพากษาสุดโหดคนหนึ่งจะกำหนดโทษจำคุกเฉลี่ยสูงกว่าผู้พิพากษาคนอื่นๆ แต่จะค่อนข้างใจดีเป็นพิเศษกับคดีความเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน หรือผู้พิพากษาที่ปกติแล้วใจดีอาจจะกลายเป็นมารร้ายเมื่อต้องพิจารณาคดีของคนที่ทำผิดซ้ำซาก

นอกจากสององค์ประกอบข้างต้นแล้ว จำเลยยังต้องลุ้นโชคชั้นที่สามซึ่งเป็นความผันผวนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่ปกติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา เช่น ทะเลาะกับภรรยาเมื่อตอนเช้า นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือแม้กระทั่งทีมฟุตบอลที่ตามเชียร์เพิ่งแข่งแพ้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อ่านแล้วอาจคิดว่าผมยกตัวอย่างขำๆ แต่ความจริงแล้วมีการศึกษาพบว่าผู้พิพากษาในรัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกาจะกำหนดโทษคุมประพฤติต่อจำเลยที่เป็นเยาวชนมากขึ้นเฉลี่ย 1,296 วัน หากวันหยุดที่ผ่านมาทีมอเมริกันฟุตบอลของวิทยาลัยลุยเซียนาแข่งแพ้แบบไม่คาดฝัน หรืองานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พิจารณาคำพิพากษานับล้านครั้งในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้พิพากษามักจะใจดีเป็นพิเศษโดยกำหนดโทษต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หากวันพิจารณาคดีเป็นวันเกิดของฝ่ายจำเลย

แก้ไขปัญหาอย่างไรดี?

จากการศึกษาข้างต้นพบว่าการปล่อยให้ผู้พิพากษาตัดสินโดยใช้ดุลพินิจเป็นหลักอาจทำให้ผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมไม่คงเส้นคงวาอย่างที่สังคมคาดหวัง เพราะผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ที่มีเนื้อมีหนังมีอารมณ์ความรู้สึกจะให้ตัดสินโดยปราศจากอคติเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องจักรคงเป็นไปไม่ได้ แต่วิธีหนึ่งสำหรับลดความผันผวนในการกำหนดโทษซึ่งเป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศคือ ‘การกำหนดแนวทางการลงโทษในคดีอาญา’ (Sentencing Guideline)

ในปี 1984 สหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายปฎิรูปการณ์กำหนดโทษ (Sentencing Reform Act) ซึ่งมอบอำนาจให้คณะกรรมการกำหนดโทษแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นองค์กรหลักในการกำหนดแนวทางการลงโทษในคดีอาญาภาคบังคับซึ่งจะระบุกรอบขั้นต่ำและขั้นสูงของความผิดในลักษณะต่างๆ โดยพิจารณาจากสองปัจจัยหลักคือประวัติอาชญากรรมของจำเลย และฐานความผิดที่แบ่งออกเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น 43 ระดับ

การศึกษาหลายชิ้นพบว่าแนวทางการลงโทษสามารถลดความผันผวนของระดับโทษจากคำตัดสินของผู้พิพากษาแต่ละคนได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงว่าทำลายดุลพินิจของผู้พิพากษาในการตัดสินคดี ขณะที่ผู้พิพากษาหลายคนมองว่ากรอบการกำหนดโทษตามคู่มือนั้นรุนแรงเกินไป และอาจปนเปื้อนอคติเพราะแนวทางดังกล่าวเขียนขึ้นโดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของการกำหนดโทษของคำตัดสินในอดีต สุดท้ายแนวทางดังกล่าวก็ถูกลดระดับจากภาคบังคับเป็นคู่มือภาคสมัครใจที่ผู้พิพากษาจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา

หนึ่งในประเทศที่ยังคงมีคณะกรรมการกำหนดโทษจวบจนปัจจุบันคือประเทศอังกฤษ คณะกรรมการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการทำให้การกำหนดโทษโดยผู้พิพากษามีมาตรฐานเดียวกัน ในขณะที่ยังคงให้อิสระในการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคน ที่สำคัญคือแนวทางการกำหนดโทษจะเปิดเผยต่อสาธารณะและกระบวนการจัดทำยังเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

คณะกรรมการกำหนดโทษจะมีทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาและบุคคลทั่วไป เมื่อมีการยกร่างแนวทางกำหนดโทษของฐานความผิดหนึ่งเสร็จสิ้น ร่างดังกล่าวจะเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในแวดวงยุติธรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับมุมมองของประชาสังคมก่อนนำไปประกาศใช้จริง

หันกลับมามองประเทศไทย ในหมู่นักกฎหมายอาจทราบกันดีว่าศาลไทยมี ‘ยี่ต๊อก’ ซึ่งเป็นแนวทางการลงโทษสำหรับคดีที่มีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ เนื่องจากเป็นเอกสารลึกลับที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะและจัดทำขึ้นโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม

ในวันที่ประชาชนเริ่มตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม อาจถึงเวลาที่ศาลไทยต้องแกะ ‘กล่องดำ’ แนวทางการกำหนดโทษเพื่อสร้างความโปร่งใสและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของศาลไทยให้กลับมาอีกครั้ง


เอกสารประกอบการเขียน

Noise: A Flaw in Human Judgment

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save