fbpx

“เมื่อข้าพเจ้าเจอทัวร์ลง” ประวิทย์ แต่งอักษร และความตายของการวิจารณ์ภาพยนตร์ (?)

อาชีพนักวิจารณ์ภาพยนตร์ยังจำเป็นอยู่ไหม ยังมีอยู่จริงหรือไม่ ในโมงยามที่ใครต่อใครก็เขียนถึงภาพยนตร์ได้

เบื้องต้นอาจเป็นคำถามที่หลายคนเคยครุ่นคิดกับตัวเอง โดยเฉพาะภายหลังการผลัดเปลี่ยนของยุคสมัยที่ทำให้นิตยสารภาพยนตร์ที่เคยเป็นพื้นที่หลักของนักวิจารณ์ต่างๆ ลดลงจนแทบไม่มี พร้อมกันกับการเติบใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ตและเพจหนังต่างๆ ในหน้าเฟซบุ๊กที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เขียนและแสดงความเห็นของตนต่อภาพยนตร์ได้ แล้วนักวิจารณ์ภาพยนตร์เหล่านี้จะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ทำไมคนเราต้องยังอยากรออ่านความเห็นจากกลุ่มคนเหล่านี้อยู่

ยิ่งหากคิดในมุมกลับ ภายหลังจากความร่วงโรยของนิตยสารและความรุ่งโรจน์ของอินเทอร์เน็ต การเขียนถึงภาพยนตร์ต่างๆ บนโลกออนไลน์นั้นไม่มากก็น้อยย่อมเรียกร้องยอดไลก์ ยอดแชร์จากคนอ่าน และไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลักษณะเช่นนี้บีบให้หลายคนวิจารณ์ภาพยนตร์เพื่อ ‘เอาใจ’ กลุ่มคนอ่านกลุ่มใหญ่ ไปให้ไกลกว่านั้น ใครที่เขียน ‘สวนทาง’ กับกระแสนิยมก็อาจโดนต้อนรับด้วยวัฒนธรรม ‘ทัวร์ลง’ เอาได้โดยง่าย

ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีบทความตีพิมพ์ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เพิ่งผ่านประสบการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ดังกล่าวหลังจากเขียนวิจารณ์หนังเรื่อง Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) และชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า ในโลกที่ใครต่อใครพร้อมจะเปิดทัวร์ให้ความเห็นที่ไม่ถูกใจนั้น เราจะยังแสดงความเห็นของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เรื่อยไปจนถึงว่า แล้วบทบาทของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ถัดจากนี้ไปคืออะไร หากว่าใครก็เขียนถึงภาพยนตร์ได้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ครั้งที่ 4 โดยประวิทย์กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “เมื่อข้าพเจ้าเจอทัวร์ลง”: การวิจารณ์หนังในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่ง 101 สรุปใจความสำคัญของปาฐกถาไว้ในบทความชิ้นนี้

Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022)

ประวิทย์เริ่มจากการสำรวจพื้นที่และบทบาทของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในอดีต การวิจารณ์หนังนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของ journalism ในแง่ของการให้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งมักปรากฏในนิตยสารภาพยนตร์หลายฉบับ บทความต่างๆ ที่เขียนจึงมีบรรณาธิการคอยกลั่นกรอง ตรวจสอบเนื้อหาและความเหมาะสมต่างๆ ขณะที่ตัวนักวิจารณ์เองก็ต้องเชี่ยวชาญในแง่การเขียนและต้องเขียนเพื่อให้บรรณาธิการจ้างต่อไป ต่างจากปัจจุบันที่เป็นการเขียนเพื่อให้ได้ยอดไลก์หรือยอดแชร์จากคนอ่าน ดังนั้นบทความวิจารณ์หนังออนไลน์จึงมีลักษณะการใช้คำศัพท์หวือหวา ดึงดูดให้คนแชร์

“เมื่อก่อนนักเขียนจะไม่ได้คิดถึงคนอ่านเท่าไหร่ว่าจะชอบงานเราไหม แต่นักเขียนจะเขียนให้บรรณาธิการนิตยสารชอบเพื่อจะได้ถูกจ้างต่อ ดังนั้นจึงต้องรักษามาตรฐานด้านงานเขียนตัวเองต่อไปเรื่อยๆ” ประวิทย์กล่าว

แน่นอนว่างานวิจารณ์บนสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีจุดด้อย โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้า กว่าที่บทความจะได้รับการตีพิมพ์ หนังก็ออกจากโรงไปแล้ว จนเมื่อมาถึงยุคสมัยที่เรียกได้ว่าเป็นความตายของสื่อสิ่งพิมพ์หรือราวปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ตัวนิตยสารมีค่าใช้จ่ายในการผลิตซึ่งแปลว่าผู้บริโภคก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย บวกกันกับความไม่แน่นอนในระยะการวางแผงจำหน่าย และการมาเยือนของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ระบบนิเวศของสื่อเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงนำมาสู่จุดจบของการวิจารณ์บนสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย แม้ว่านักเขียนจะพยายามเขียนบทความในเชิงลงลึกต่อตัวภาพยนตร์ หรือทำในสิ่งที่บทความทางอินเทอร์เน็ตจะให้ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะสูญพันธุ์ได้เลย

“ขณะที่ด้านการวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ และการวิจารณ์ออนไลน์ที่จะพูดถึงต่อไปนี้นั้น เน้นไปที่แฟนเพจภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่ามีทั้งแฟนเพจที่เขียนดี ให้ความรู้ และแฟนเพจที่เขียนแค่ความคิดเห็นธรรมดาเท่านั้น” ประวิทย์กล่าว และนำข้อมูลบางส่วนจากวิทยานิพนธ์ ‘การจัดสารของแฟนเพจวิจารณ์ภาพยนตร์’ โดย โจง์รัชตะ กิจรุ่งเรืองไพศาล และ ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (การบริหารสื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการอ้างอิง

“แน่นอนว่าการวิจารณ์บนสังคมออนไลน์นั้นรวดเร็วและมีลักษณะของการเรียกยอดไลก์ยอดแชร์ ซึ่งเรียกร้องให้มีการเขียนที่หวือหวา โดยเราจะพบว่า หากบทความออนไลน์นั้นใช้คำที่ไม่ดึงดูดคนอ่าน คนอ่านก็จะไม่สนใจ แต่ถ้าใช้คำที่รุนแรงหรือหวือหวามากๆ เช่น ‘คนทำหนังเรื่องนี้ไปตายเสียเถอะ’ แน่นอนว่าก็จะได้เรื่องได้ราวตามมาไม่ว่าจะในแง่ดีหรือไม่ดี

“สิ่งที่พบคือ บทความวิจารณ์หนังออนไลน์นั้นไม่มีตรงกลาง หากไม่ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็จะเกลียดหนังเรื่องนี้มากๆ ไปเลย เป็นการให้คะแนน 0/10 หรือไม่ก็ 10/10 ทั้งที่หนังทุกเรื่องก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่รุนแรงขนาดนั้น แต่บทความเหล่านี้พยายามสร้างความรู้สึกรุนแรง สุดโต่งทั้งความชอบและความไม่ชอบ นอกจากนี้ ลักษณะเนื้อหาในบทความก็มีความเข้มข้นน้อยมากจนเป็นเหมือนการแนะนำภาพยนตร์เท่านั้น และเน้นไปที่การแสดงความเห็นของผู้วิจารณ์เป็นพื้นฐานในการตัดสินมากกว่าเน้นคุณค่า”

ด้านหนึ่ง การดำรงอยู่ของอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ทุกคนแสดงความเห็นได้ เขียนถึงภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องรับฟังหรืออ่านแค่ความเห็นที่มาจากนักวิจารณ์ หากแต่เมื่อมองย้อนกลับไปยังผลลัพธ์ที่หวังยอดไลก์และยอดแชร์ รวมทั้งสภาวะไม่มีตรงกลาง เรื่อยไปจนการใช้คำศัพท์รุนแรงเพื่อกระตุ้นอารมณ์คนอ่าน เราก็อาจต้องหวนกลับมาตั้งคำถามต่อภาวะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน “ทุกคนเป็นนักวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องดีไหม แล้วได้ผลลัพธ์แบบที่เราเห็นดังนี้ ถือว่าเป็นความตายของการวิจารณ์หรือเปล่า ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ‘การจัดสารของแฟนเพจวิจารณ์ภาพยนตร์’ ชี้ว่า คนอ่านเพจหนังทั้งหลายไม่ได้ต้องการความหมายจากหนัง แต่ต้องการรู้ว่าควรไปดูหนังเรื่องนี้ไหม คำถามคือเมื่อสังคมการวิจารณ์เป็นเช่นนี้ เท่ากับว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์นั้นมาถึงจุดของความตายแล้วหรือ เพราะการวิจารณ์หนังไม่ใช่แค่การบอกว่าหนังดีหรือไม่ดีเท่านั้น การวิจารณ์หนังไม่ได้เป็นเพียงคู่มือผู้บริโภคหรือ consumer guide หากแต่งานวิจารณ์ควรจุดประกายความคิด ยั่วให้เราเกิดสติปัญญาและการแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตาม” ประวิทย์กล่าว

ประเด็นพื้นที่บนออนไลน์เหล่านี้เองที่มีส่วนในการทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ประวิทย์ชี้ว่า สังคมออนไลน์นั้นทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนที่ชอบสิ่งที่เหมือนๆ กัน ซึ่งในแง่ดีนั้นทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของคนคอเดียวกัน ขณะที่ด้านตรงข้ามก็ทำให้เกิดภาวะที่พร้อมจะปัดความคิดเห็นที่ไม่เหมือนตัวเองออกไปจากตัว

“มันเหมือนเวลาคุณดูเน็ตฟลิกซ์แล้วอัลกอริธึมของมันแนะนำหนังที่คุณน่าจะชอบ พอเน็ตฟลิกซ์เห็นว่าคุณดูเรื่องนี้ ก็บอกว่าคุณก็น่าจะชอบเรื่องนี้เหมือนกัน แล้วแนะนำมา ดังนั้นจึงเหมือนเป็นการปรนเปรอสิ่งที่เหมือนๆ กันให้คนดูอยู่ตลอดเวลา

“สังคมที่รวมคนที่ชอบสิ่งเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น มีความเป็น solidarity แต่มันก็ไม่ต้อนรับความเห็นที่แตกต่าง มีลักษณะการแสดงออกในทิศทางเดียวกัน สร้างความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความถูกต้อง เป็นความชอบธรรมจนหลายครั้งก็นำไปสู่การไม่ต้อนรับความคิดเห็นที่ผิดแผกแตกต่าง และทัวร์ลงนั้นเป็นผลมาจากการที่ใครบางคนแสดงความเห็นสวนทางกับกระแสสังคม และส่วนใหญ่แล้วการที่ทัวร์จะลงได้นั้นมักเป็นเรื่องความรู้สึกที่รุนแรงด้วย แต่แน่นอนว่าเราก็ควรพิเคราะห์ว่าบางทีภาวะเช่นนี้ก็จำเป็น เช่น มีคนโพสต์เหยียดเพศ ดูถูกความเป็นมนุษย์หรือเรียกร้องความรุนแรง ผมคิดว่าสังคมก็ควรเข้าไปบอกกล่าวคนคนนั้น เพียงแต่ว่าบางทีความคิดเห็นของคนบนอินเทอร์เน็ตก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปจากหลักสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ที่อาจไม่เข้าหูเรา เราอาจต้องรับฟังว่าเขาทักท้วงสิ่งที่สังคมกำลังไหลไปในทางตรงกันข้าม จะทำความเข้าใจสิ่งนี้อย่างไร จะต่อต้านตลอดไปไหม จะไม่ยอมเงี่ยหูฟังเขาเลยหรือ”

Zelig (1983)

ประวิทย์ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Zelig (1983) หนังสารคดีปลอมๆ ของ วูดี อัลเลน ว่าด้วยชายคนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนกับคนที่เขาอยู่ใกล้ๆ ได้ โดยหนังพูดถึงผลลัพธ์ของสังคมที่คิดเห็นอะไรเหมือนๆ กัน ทำอะไรเหมือนๆ กันไปหมดโดยปราศจากการทักท้วงและการวิพากษ์วิจารณ์ อันนำไปสู่ภาวะที่เลวร้ายสุดขีดคือถูกความคิดของคนใดคนหนึ่งในสังคมครอบงำและกลายร่างเป็นระบอบการปกครองแบบนาซี

“ผมคิดว่าบทบาทของการวิจารณ์ภาพยนตร์ คือช่วยให้คนดูเห็นว่ามีอะไรอยู่ในหนังเรื่องนั้น มีอะไรที่ขาดหายไป อะไรที่เป็นส่วนเกิน ช่วยให้คนดูเข้าใจภาพยนตร์ได้มากขึ้น กระตุ้นให้คนดูได้คิดต่อ และแม้ว่านักวิจารณ์จะวิจารณ์ผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะนักวิจารณ์ก็เป็นมนุษย์และไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่เขาจะเป็นนักวิจารณ์ที่แย่หากวิจารณ์หนังแล้วไม่อาจกระตุ้นคนดูได้” ประวิทย์กล่าว แล้วจึงยกวลีของ เพาลีน เคล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันที่ว่า “The art of the critic is to transmit his knowledge of and enthusiasm for art to others.” หรือ ศิลปะของการวิจารณ์ คือการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และความศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศิลปะให้คนทั่วไปได้รู้ด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save