fbpx

‘Investigative Interview’ แนวทางค้นหาความจริงใหม่ สู่กระบวนการยุติธรรมไทยที่ดีขึ้น

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพของอดีตนายตำรวจที่บีบบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพจนถึงแก่ความตายถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ทำให้สังคมเริ่มส่งเสียงสะท้อนและตั้งคำถามกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะถึงแม้หลักสิทธิมนุษยชนและการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะเป็นคุณค่าหลักที่กระบวนการยุติธรรมยึดถือมาโดยตลอด อีกทั้งตามทฤษฎีแล้ว ผู้ต้องสงสัยจะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล แต่อย่างที่เราทราบกันดี หลายครั้งที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับการใช้วิธีที่ค่อนข้างรุนแรงเพื่อบีบให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม

แต่แน่นอน ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกและไม่ใช่กระสุนวิเศษที่จะทำให้ได้ความจริงจากผู้ต้องสงสัยเสมอไป หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด หลายครั้งที่ความรุนแรงกลับกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพิสูจน์ความจริงเสียมากกว่า จึงเริ่มมีการพูดถึงเครื่องมือหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาช่วยค้นหาความจริงและทำให้ผู้ต้องสงสัยยอมพูดความจริงออกมา หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริง’ (Investigative Interview) จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการ ‘พูดคุย’ เพื่อค้นหาความจริง มากกว่าจะเน้นบีบบังคับเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ

ทว่า แม้แนวคิดการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงจะฟังดูน่าสนใจและอาจนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพได้ในท้ายที่สุด โดยไม่ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัย แต่เมื่อมองในบริบทของประเทศไทย คำถามสำคัญคือเราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน และควรใช้อย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

101 ชวนอ่านทัศนะของผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความเป็นไปได้และทิศทางที่จะนำหลักการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทย ไล่เรียงตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติจริง

แนวนโยบายของ DSI และการค้นหาความจริงด้วย P.E.A.C.E Model – ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ และร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี

ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฉายภาพกว้างว่า DSI ให้ความสำคัญกับเรื่องการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงมาก โดยมีการจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ และมองหาหนทางต่อยอดให้บุคลากรส่วนอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง

“ด้วยความที่ DSI เป็นองค์กรหลักในการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล เราจึงมีกลยุทธ์ใหญ่ๆ 2 ประการ คือพัฒนามาตรฐานการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และที่สำคัญมากคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างมืออาชีพ ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือมีทั้งประสิทธิภาพ ทักษะ และ ทัศนคติ ที่เป็นนักสืบสวนสอบสวนแบบมืออาชีพตามมาตรฐานสากล”

ไตรยฤทธิ์อธิบายต่อว่า ‘มาตรฐานสากล’ ในที่นี้หมายถึงการยึดตามหลักธรรมาภิบาล หลักการคือต้องทดสอบคำอธิบายที่มีทุกทางเพื่อแทนความคิดที่จะยืนยันความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยยกระดับการสืบสวนสอบสวน อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษและช่วยยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

“แม้ภารกิจหลักของ DSI จะเป็นการสืบสวนสอบสวนและป้องกันอาชญากรรมที่เป็นคดีพิเศษ แต่ในการทำงานจริง DSI มุ่งเน้นและตระหนักถึงเรื่องการเคารพสิทธิของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาก็ตาม และการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการสอบสวนด้วย” ไตรยฤทธิ์ทิ้งท้าย

ขณะที่ ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์ทำคดีพิเศษหรือคดีที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘เนเน่โมเดลลิ่ง’ รวมถึงเป็นผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม ‘การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง’ (investigative interview) ที่ประเทศนอร์เวย์พัฒนาขึ้น ฉายภาพการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงให้เห็นผ่านแนวคิด P.E.A.C.E Model

“คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่า ถ้าถามแล้วเจ้าหน้าที่จะได้ความจริงออกมาทันที ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น เพราะการซักถามเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น ทว่ายังมีขั้นตอนอีกมากมายทั้งก่อนและหลัง โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่จะซักถามผู้ต้องสงสัยจะต้องมีการตระเตรียมหรืออธิบาย (planning and preparation) สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นเสียก่อน (engage and explain) จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการถาม (account) การสรุป (closure) และการประเมินผล (evaluation)”

ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี

เมื่อเป็นเช่นนี้ เขมชาติจึงชี้ให้เห็นต่อว่า การสืบสวนสอบสวนยังประกอบด้วยเทคนิควิธีการอื่นอีก เช่น ในขั้นตอนการเตรียมการก่อนการซักถาม เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะต้องมีข้อมูลต่างๆ ในมือ ทั้งเรื่องการข่าว การตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีทีมตรวจเก็บพยานหลักฐานต่างๆ อย่างลายพิมพ์นิ้วมือหรือ DNA หรือแม้กระทั่งการสะกดรอยติดตาม ประกอบกับการที่ DSI เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายส่วนกลางที่มีอำนาจพิเศษในการใช้วิธีต่างๆ ทั้งการแฝงตัวในองค์กรอาชญากรรมหรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขมชาติบอกว่า ต้องเป็นข้อมูลที่เตรียมไว้ก่อนการซักถามผู้ต้องสงสัย

อีกประการสำคัญคือ ในการซักถามเช่นนี้จะต้องมีการทำงานเป็นทีมและมีการบูรณาการร่วมกันจึงจะทำให้กระบวนการซักถามมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยต้องเจอกับอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการซักถาม จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่จะต้องจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากเรื่องพยานหลักฐานและทักษะของเจ้าหน้าที่แล้ว เรื่องแวดล้อมอย่างสถานที่ก็เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน เขมชาติชี้ว่า หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องเจอกับปัญหาความไม่เหมาะสมของสถานที่ที่จะทำการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดีที่มีความอ่อนไหวและรุนแรง

“บางครั้งในทางจิตวิทยา ถ้าผู้เสียหายเห็นสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบสถานที่ราชการ เขาอาจจะไม่อยากให้ความร่วมมือเลยก็ได้ หรืออย่างห้องที่มีกระจกแบบวันเวย์ (กระจกที่บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องได้ทางเดียว) อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่านอกห้องจะมีคนมองอยู่ จึงอาจจะต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นการใช้กล้อง เข้ามาช่วย”

และประเด็นสุดท้ายคือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิมอยู่ ทำให้อาจจะไม่ได้รับข้อมูลจริงๆ จากใจของผู้เสียหายก็เป็นได้

“เคสหนึ่งที่เราพยายามปรับใช้วิธีการดังกล่าวคือการทำงานกับพยานที่เป็นเด็ก โดยเราใช้กล้องวงจรปิดติดตั้งไว้ในห้องซักถามและแจ้งพยานว่ามีกล้องบันทึกภาพไว้อยู่ รวมถึงพยายามจัดสภาพแวดล้อมให้สอดรับในเชิงจิตวิทยา คือผู้ถูกถามกับผู้ถามจะนั่งเป็นมุมฉากกัน มีนักสังคมสงเคราะห์มาเป็นผู้ถามคำถามแทนทีมพัฒนาสอบสวนที่รออยู่ในห้องถ่ายทอด ซึ่งคำถามก็จะประกอบด้วยคำถามในเชิงจิตวิทยาเพื่อให้ผู้ถูกถามสบายใจ มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลกับเรา” มาถึงตรงนี้ เขมชาติเน้นย้ำชัดเจนว่า DSI ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และจะเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้เป็นความลับสำหรับการทำสำนวนการสอบสวนเท่านั้น จะไม่มีการเผยแพร่หรือถ่ายทอดไปที่อื่นเด็ดขาด

“ส่วนตัวผมมองว่า การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงเป็นการถามในลักษณะถามหา ‘ความจริง’ ไม่ใช่การรับสารภาพ ดังนั้นเราจะได้ความจริงอย่างถ่องแท้แน่นอน และถ้าอิงตาม P.E.A.C.E Model ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ตอนจบต้องมีบทสรุป มีรายงานออกมาว่า การถามครั้งนั้นได้ความจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร”

ถ้ามองต่อไปในอนาคต เขมชาติมองว่า รูปแบบการทำงานเป็นทีมของการถามเชิงสืบสวนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานสอบสวนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก กล่าวคือทำการพูดคุยและพิมพ์สำนวนในคราวเดียวกัน ไม่ต้องถามแยกหรือถามซ้ำ

“ในอาชญากรรมบางประเภท ยิ่งถามซ้ำจะยิ่งเป็นการตอกย้ำผู้ที่ประสบเหตุร้าย ส่งผลกระทบทางจิตใจมากกว่าจะได้ความจริง จนบางทีเราต้องบำบัดเยียวยาเขาก่อนจะได้เริ่มกระบวนการใดๆ” เขมชาติปิดท้าย

หัวใจสำคัญของการซักถามคือเรื่องสิทธิมนุษยชน – พลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร

ขณะที่ พลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า ในเชิงระบบทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดให้มีห้องซักถามอยู่แล้วในทุกสถานีตำรวจ และยิ่งในกรณีของเด็กจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมซักถามด้วย และแม้ธัชชัยจะเห็นด้วยว่า เทคนิคการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงสามารถถูกนำมาผสมผสาน ปรับใช้ หรือศึกษาเพิ่มเติมในเชิงวิจัยได้ แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ธัชชัยกล่าวว่าผู้ต้องสงสัยแทบจะไม่เคยรับสารภาพเลยไม่ว่าจะใช้เทคนิคด้านไหน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่พยานหลักฐานที่มีการเตรียมไว้ก่อนจะเริ่มการซักถาม

“เราต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอก่อนแล้วจึงเริ่มซักถามเขาว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร จากนั้นจึงนำพยานหลักฐานที่มีมาหักล้าง และคนส่วนใหญ่เมื่อจำนนด้วยหลักฐานแล้วก็มักยอมรับสารภาพ เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากเน้นด้วยว่า ไม่ใช่แค่มีเทคนิคที่ดีแล้วเราจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เราต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นด้วย”

พลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร

ทั้งนี้ ธัชชัยชี้ให้เห็นว่า ถ้าสิ่งสำคัญคือพยานหลักฐาน หัวใจสำคัญอีกอย่างของการซักถามก็คือการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุด และไม่ใช้วิธีการใดที่ล่วงละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้ การซักถามไม่ได้มุ่งเน้นให้ผู้ถูกซักถามรับสารภาพ แต่ต้องการข้อมูลเพื่อนำมาหักล้างข้อมูลของผู้ถูกซักถาม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ต้องสงสัยจะรับสารภาพหรือไม่ก็สามารถถูกดำเนินคดีได้หากมีพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพียงพอ

อย่างไรก็ดี ธัชชัยกล่าวว่าตนเองสนใจหลักการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงของทางประเทศนอร์เวย์มาก พร้อมทั้งเสนอให้มีการนำร่องใช้ในสถานีตำรวจสักแห่ง ดูอัตราความสำเร็จ ความล้มเหลว และหาว่าจะต้องปรับตรงส่วนไหนเพิ่มบ้าง

“ผมว่าการนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเป็นเรื่องที่ดีนะ และผมอยากเห็นเรื่องการซักถามเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของนักเรียนนายร้อยตำรวจด้วย รวมถึงอาจจะมีการทำวิจัย นำวิธีการซักถามต่างๆ มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาจนได้รูปแบบ (pattern) บางอย่าง รวมถึงนำไปสู่การประยุกต์ใช้ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร”

ธัชชัยชี้ให้เห็นประเด็นน่าสนใจว่า การนำโครงการหนึ่งๆ ไปใช้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะหลายครั้งที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์โครงการอย่างถี่ถ้วนทำให้โครงการไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงจังหรือถูกปล่อยปละละเลยไป ดังนั้น ธัชชัยจึงมองว่าการนำโครงการหนึ่งๆ มาใช้ต้องมาพร้อมกับการทำวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและไม่สูญเสียงบจำนวนมาก

“สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกตคือลักษณะงานของตำรวจ ถ้าไปดูงานที่โรงพักจะเห็นว่ามีคดีเยอะมาก ตำรวจมีงานโหลดมาก การที่จะเชิญใครสักคนมาซักถามจริงๆ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีขั้นตอนที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ยกเว้นคดีนั้นจะเป็นคดีใหญ่และสำคัญจริงๆ จึงจะลงรายละเอียดได้มาก รวมถึงข้อจำกัดเรื่องเวลาในการซักถามของตำรวจด้วย จะเห็นว่าจะใช้เทคนิคอะไรต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์จึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราสรุปเหตุการณ์ได้เร็วขึ้น”

ในตอนท้าย ธัชชัยทิ้งท้ายว่า จุดหนึ่งที่โรงเรียนนายร้อยฯ จะให้ความสนใจต่อไปคงเป็นเรื่องนวัตกรรม เช่นในเรื่องการซักถาม รวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบและพยายามสร้างเทคนิคที่มีลักษณะสอดคล้องกับสังคมไทย รวมถึงพิจารณาด้วยว่าเทคนิคแบบไหนเหมาะกับสถานการณ์ใด ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางที่สถาบันการศึกษาสำหรับตำรวจจะเดินต่อไปในอนาคต

ร่วมมุ่งสู่การค้นหาความจริง ด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ – พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล

ดังที่วิทยากรหลายท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไปแล้ว พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ฉายภาพให้เห็นบทบาทหน้าที่ของสถาบันในการตรวจพิสูจน์ค้นหาความจริงโดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อยกระดับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ให้มีความน่าเชื่อถือ ช่วยสนับสนุนกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะส่งผลไปถึงการบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพในการดำเนินคดีอาญาต่อไปด้วย

พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล

ทรงศักดิ์ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด เพราะหลายครั้งที่การสืบสวนอาจจะใช้วิธีที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวหรือวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หลักการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงจึงสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานต่อได้ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย แต่ทั้งนี้ ถ้าถามว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้ชัดเจนและครอบคลุม ทรงศักดิ์มองว่าเป็นความท้าทายที่ต้องหาวิธีการต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ทรงศักดิ์ยังช่วยฉายภาพความสำคัญของหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในการสนับสนุนการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือหลักฐานเหล่านี้จะช่วยรองรับเรื่องข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ เช่น การใช้เครื่องมือตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับเรื่องระยะเวลา บุคคล หรือตรวจสอบเสียง เป็นต้น

ทรงศักดิ์ยังหยิบยกประเด็นเรื่องมาตรฐานของแต่ละหน่วยงานมาพูดถึง กล่าวคือมีหลายสถาบันในประเทศไทยที่มีห้องทดลองซึ่งสามารถตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ จึงมีแนวคิดเรื่องการสร้างค่ามาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด หรือมีผู้คอยควบคุมมาตรฐานที่ออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย

ในตอนท้าย ทรงศักดิ์กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่อาจไปไกลมากขึ้นอย่างการมีฐานข้อมูลกลางที่รวมข้อมูลจากหลายๆ หน่วยเพื่อคอยควบคุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เช่น การมีสถาบัน DNA ในอนาคตเพื่อไว้พิสูจน์ซากบุคคลอย่างรวดเร็ว ทันสมัย ทว่าเรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นประเด็นท้าทายที่ถกเถียงกันได้เกี่ยวกับลักษณะการเก็บข้อมูลว่าจะเก็บเมื่อไหร่ อย่างไร หรือวิธีที่ใช้มีแนวโน้มจะละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องอภิปรายต่อไปในอนาคต

“ผมเชื่อว่านิติวิทยาศาสตร์ต้องปรับตัวให้มากกว่านี้เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย และไม่ว่าใครจะเป็นผู้เก็บหลักฐานก็ต้องสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งหมด ซึ่งหากหลักการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย ผมเชื่อว่าผู้ร้ายจะหนีไปไหนไม่ได้ และเราจะสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” ทรงศักดิ์ปิดท้าย

ความมีประสิทธิภาพและความเชื่อมั่น : ก้าวต่อไปเพื่อกระบวนการยุติธรรมไทยที่ดีขึ้น – ดร.พิเศษ สอาดเย็น

“ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ยาก และสำคัญยิ่ง คือการทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้”

ข้างต้นคือคำกล่าวในช่วงปิดการเสวนาของ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พร้อมทั้งกล่าวถึงโจทย์ใหญ่ของยกระดับกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า การทำงานเพื่อค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ทั้งยังมีขั้นตอนและกระบวนการทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ทว่าต้องอาศัยความทุ่มเทและความตั้งใจที่สูงยิ่ง

“การทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามครรลองเป็นสิ่งสำคัญและมีความท้าทาย และเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานต้องอุทิศตนอย่างมาก เราทราบดีว่าเมื่อมีประเด็นใดเกิดขึ้นในสังคมก็จะมีข้อคำถามใหญ่ๆ เกิดขึ้นตามมา หลายฝ่ายจึงต้องตระหนักเสมอว่า การทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอยู่ในสายตาและความสนใจของผู้คนเสมอ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พิเศษจึงทิ้งท้ายว่า เราอาจจะเริ่มต้นจากการนำหลักสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความจริงมาทดลองนำร่องในสถานีตำรวจสักแห่ง หรือเลือกประยุกต์ใช้กับบางประเภทคดีหรือกับผู้ปฏิบัติงานบางกลุ่มที่น่าจะเปิดรับเทคนิคดังกล่าวได้โดยง่าย เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและมองหาข้อจำกัดที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การดำเนินการในอนาคตต่อไป

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก‘TIJ Forum EP.4 หัวข้อ “WAY OUT: หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง(ภาคต่อ)จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2564


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save