fbpx
การสอบสวนประธานาธิบดี: อำนาจกับระบบยุติธรรมในการเมืองอเมริกัน

การสอบสวนประธานาธิบดี: อำนาจกับระบบยุติธรรมในการเมืองอเมริกัน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ในที่สุดการเดินทางของคณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ (Special Counsel) อันเป็นคณะสอบสวนพิเศษที่ตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงการยุติธรรม ก็มาถึงวาระสุดท้าย เมื่อมุลเลอร์ส่งรายงานการสอบสวนทั้งหมดให้แก่รัฐมนตรียุติธรรม วิลเลียม บาร์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาในการสืบสวน 22 เดือน

คณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายภาระหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่สืบสวนการแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2016 โดยรัสเซีย ซึ่งทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ม้าตีนรองได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างพลิกความคาดหมาย เรียกว่ามุมต่อรองถล่ม เพื่อสืบหาว่ามีการวางแผน ดำเนินการ และมีการร่วมมือ (collusion) กับใครบ้างในกิจกรรมใต้ดินและเชื่อว่าผิดกฎหมายทั้งหลาย ที่สำคัญคือมีคนจากฝ่ายหาเสียงของทรัมป์เข้าร่วมด้วยไหม และคำถามสุดท้ายที่หลายคนเฝ้ารอคำตอบด้วยใจจดใจจ่อก็คือ แล้วโดนัลด์ ทรัมป์ เองมีส่วนในการร่วมมือและทำการขัดขวางระบบยุติธรรม (obstruction of justice) ด้วยไหม ไม่ต้องอธิบายถึงประเด็นกฎหมายอันซับซ้อน คำตอบที่คนพอรู้ประวัติศาสตร์ทำนองนี้ในสหรัฐฯ ต่างคิดว่าถ้าคำตอบออกมา ผลคือการถอดถอนประธานาธิบดีจากตำแหน่ง (impeachment)

อาทิตย์ที่มีข่าวออกมาว่าการสืบสวนของคณะกรรมการอิสระมุลเลอร์ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว บรรดาสื่อมวลชนต่างเจาะกันเป็นการใหญ่ว่าในที่สุดการสืบสวนนี้จะไปถึงจุดหมายสูงสุดคือโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ กระทั่งถึงวันที่รายงานนี้ถูกส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว คำตอบที่ได้คือไม่มีการกล่าวหาหรือมีหลักฐานที่อาจโยงไปถึงการร่วมมือกันระหว่างรัสเซียกับการณรณงค์หาเสียงให้ทรัมป์

เมื่อโจทย์แรกไม่อาจหาหลักฐานการทำความผิดทางอาญาได้ ข้อกล่าวหาต่อมาที่ว่าทรัมป์ได้กระทำการอันเป็นการ ‘ขัดขวางระบบยุติธรรม’ ไหม ก็เป็นอันตกไปด้วยโดยปริยาย เพราะเมื่อไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีเรื่องให้ต้องไปขัดขวางระบบยุติธรรม อันเป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามทรัมป์พากันผิดหวังและหมดหวังต่อการหาความจริงภายใต้บรรยากาศของการครอบงำของประธานาธิบดีทรัมป์ได้

 

 

แม้ก่อนการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์ สื่อมวลชนที่ทำข่าวแบบสืบสวน ทั้งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์คไทมส์และวอชิงตันโพสต์ ก็ได้ข้อมูลว่าที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ของทรัมป์ รับเงินจากสายสืบรัสเซียเพื่อช่วยเลิกกฎหมายการบอยคอตทางด้านเศรษฐกิจของรัสเซีย ที่ออกโดยประธานาธิบดีโอบามา รวมไปถึงข่าวเชิงลึกว่าทรัมป์มีสัมพันธ์สวาทกับดาราสาวหนังโป๊ จนต้องหาทางปิดปากด้วยการให้เงินสดแลกกับการทำสัญญาว่าจะไม่ให้ข่าวเกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวนี้อีกต่อไป ทนายความส่วนตัวของทรัมป์คือนายไมเคิล โคเฮน ทำเรื่องนี้ให้ทรัมป์มาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

แต่เมื่อการเปิดโปงข้อมูลเรื่องนี้ปรากฏออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อดิจิทัลทั้งหลาย โคเฮนก็ตกเป็นจำเลยที่คณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์เรียกมาให้ปากคำ กระทั่งเขาจำนนต่อหลักฐานที่ขยายไปถึงการทำผิดกฎหมายการเงินของเขาเองหลายเรื่อง จนต้องยอมรับสารภาพหมดทุกกระทง

โคเฮนเป็นคนที่สองในคนใกล้ชิดทรัมป์ที่ถูกดำเนินคดีทางศาลและถูกพิพากษาจำคุก ก่อนหน้าเขาคือพลเอกไมเคิล ฟลินน์ ซึ่งตอนนั้นทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาความมั่นคง อันเป็นตำแหน่งสำคัญและใกล้ชิดประธานาธิบดีมากที่สุด แต่ฟลินน์ก็ตกม้าตายด้วยการให้การระหว่างการยืนยันการรับตำแหน่งต่อวุฒิสภา ว่าไม่เคยติดต่อหรือรู้จักคนรัสเซียใดๆ เลย กระทั่งหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์หลักฐานการเดินทางและการพบกับใครที่ไหนในรัสเซียและในวอชิงตัน จนเขาถูกสอบสวนและต้องให้การรับสารภาพว่าที่ให้ปากคำต่อวุฒิสภานั้นเป็นการเท็จทั้งสิ้น เมื่อนั้นเขาก็ถูกทรัมป์ไล่ออกจากตำแหน่งสำคัญและใหญ่ยิ่งเพียงไม่ถึงเดือนที่ได้รับตำแหน่ง ทั้งหมดนี้ทำให้สังคมและผู้สังเกตการณ์การเมืองอเมริกันเชื่อเต็มอกว่าทรัมป์และคนของเขา ถ้าไม่โกงแบบซึ่งหน้า ก็ต้องร่วมมือกับรัสเซียแน่ๆ ในการบิดเบือนการเลือกตั้ง

การที่มุลเลอร์ยุติการสืบสวนการแทรกแซงของรัสเซีย โดยไม่สามารถระบุความผิดหรือความใกล้ชิดของทรัมป์ที่มีกับรัสเซียได้เลย เป็นการจบหนังแบบค้านความรู้สึกของผู้ชมอย่างฉกรรจ์ยิ่ง นับแต่ข่าวและการสอบสวนบรรดาคนทำงานให้คณะกรรมการเลือกตั้งทรัมป์ คณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่คนเหล่านั้นได้ถึง 34 คน ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย ในบรรดาคณะสอบสวนอิสระที่สอบสวนความผิดประธานาธิบดี มีแต่คดีวอเตอร์เกตสมัยนิกสันที่ตั้งข้อกล่าวหาได้มากถึง 61 คน และนำไปสู่การพิพากษาลงโทษได้มากที่สุด ขณะที่คณะของมุลเลอร์มีการพิพากษาลงโทษน้อยกว่า แต่ทีมมุลเลอร์สามารถกล่าวหาคนที่ไม่ใช่อเมริกันและอยู่นอกสหรัฐฯ ได้มากที่สุดคือ 26 คน ซึ่งเป็นคนรัสเซียทั้งหมด

ประวัติของการตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษหรือสอบสวนอิสระ เพื่อสืบสวนการทำผิดของประธานาธิบดี เริ่มต้นด้วยคดีวอเตอร์เกตภายใต้ประธานาธิบดีนิกสันแห่งพรรครีพับลิกันในปี 1973 หลังจากตำรวจจับคนที่แอบเข้าไปในสำนักงานหาเสียงของพรรคเดโมแครตในกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อขโมยข้อมูลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

เรื่องค่อยๆ แดงขึ้นและกลายเป็นเรื่องการเมือง เมื่อพบว่าคนที่ว่าจ้างให้เข้าไปขโมยข้อมูลนั้นเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในทำเนียบขาว ทำไมนิกสันยอมลงนามแต่งตั้งอาร์ชิบอล ค๊อกซ์ เป็นอัยการพิเศษ (Special Prosecutor) เพราะสภาคองเกรสตั้งเงื่อนไขก่อนรับรองการเสนอตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของนิกสัน ว่าต้องแต่งตั้งอัยการพิเศษเพื่อทำการสอบสวนกรณีวอเตอร์เกตด้วย

เมื่ออาร์ชิบอล ค๊อกซ์ เรียกขอเทปสนทนาในทำเนียบขาวของนิกสันมาสอบ โดยใช้อำนาจของคณะสอบสวนพิเศษ (subpoena) นิกสันไม่ยอมให้ วันต่อมานิกสันสั่งให้รัฐมนตรียุติธรรมเอเลียต ริชาร์ดสัน ไล่อัยการพิเศษค๊อกซ์ออกจากตำแหน่ง ริชาร์ดสันลาออกแทนที่จะไล่คนที่เขาแต่งตั้งมาทำหน้าที่ นิกสันรุกต่อด้วยการสั่งการให้รองรัฐมนตรียุติธรรมไล่ค๊อกซ์ออกอีก รองรัฐมนตรีก็ลาออกอีก คราวนี้นิกสันแต่งตั้งโรเบิร์ต บ็อค อัยการอาวุโส เข้ามาเป็นรักษาการรัฐมนตรียุติธรรม พร้อมกับให้สัญญาว่าถ้าเขาไล่อัยการพิเศษค๊อกซ์ออกได้ จะสมนาคุณด้วยการเสนอชื่อขึ้นไปเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด บ็อคยอมทำตามนิกสัน ไล่ค๊อกซ์ออกในวันเสาร์จนกลายเป็นวลีทองว่า “Saturday Night Massacre” แต่หลังจากนั้นบ็อคก็ลาออกจากตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรียุติธรรมหลังจากเสร็จภารกิจรับใช้ประธานาธิบดีนิกสันแล้ว

แล้วสุดท้ายบ็อคได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงไหม คำตอบคือเกือบได้ เมื่อประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เสนอชื่อเขาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงในอีกปีต่อมา แต่เขาไม่ผ่านการรับรองที่ดุเดือดยิ่งของวุฒิสภา จึงตกไปในที่สุด

การใช้อำนาจของประธานาธิบดีนิกสัน ทำให้นักประวัติศาสตร์อเมริกันตั้งสมญาให้กับตำแหน่งนี้ว่า ‘The Imperial Presidency’ นิกสันใช้อำนาจราวกับเป็นพระจักรพรรดิ ซึ่งคนอเมริกันรับรู้กันว่าเป็นประวัติศาสตร์ของอาณาจักรที่ล่มสลายไปในที่สุด ไม่ว่าจีนหรือรัสเซีย แต่คราวนี้คนได้เห็นกับตาจริงๆ ว่า อเมริกาก็มีประธานาธิบดีที่เป็นจักรพรรดิได้เหมือนกัน ดังนั้นในปี 1978 รัฐสภาคองเกรสจึงผ่านกฎหมายให้มีที่ปรึกษากฎหมายอิสระ ทำหน้าที่สอบสวนประธานาธิบดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและประธานาธิบดีอีกต่อไป

ที่ปรึกษากฎหมายอิสระ (independent counsel) ตามกฎหมายชุดแรกที่ทำหน้าที่อย่างอิสระเต็มที่ คือเค็นเน็ธ สตาร์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในข้อกล่าวหาคอรัปชันที่ดิน แต่ลงเอยด้วยการไปจับผิดคลินตันข้อหาชู้สาวกับ โมนิกา ลูวินสกี้ นักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขา คณะสอบสวนสตาร์ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด เพราะไม่มีใครคุม เสนอให้ถอดถอนประธานาธิบดี แต่สมาชิกสภาพรรคเดโมแครตทั้งหมด และอีกหลายสิบคนในรีพับลิกัน ไม่ยกมือให้กับการถอดถอน คลินตันจึงรอดพ้นจากการถูกถอดถอน

แต่การสอบสวนอย่างดุเดือด จนถึงการเปิดเผยคำให้การของลูวินสกี้ถึงฉากพิศวาทกับคลินตัน ทำให้คนตกตะลึงกับการทำงานของที่ปรึกษาอิสระว่าล้ำเส้นไปกว่าที่สังคมต้องการหรือไม่ ในปี 1999 กฎหมายที่ให้อำนาจอิสระแก่ที่ปรึกษากฎหมายในการสอบสวนประธานาธิบดี ก็ไม่ได้รับการต่ออายุ เป็นอันยุติบทบาทที่เป็นอิสระจริงๆ ของผู้สอบสวนอิสระดังกล่าวลงไป

เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ไล่นายเจมส์ โคมี่ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ออกจากตำแหน่งอย่างไม่ไว้หน้า เพราะไม่ยอมทำตามที่เขาร้องขอให้ยุติการสืบสวนเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องที่นายพลไมเคิล ฟลินน์ โกหกต่อวุฒิสภา เมื่อไม่ได้ดังที่ขอ เขาก็ใช้อำนาจของประธานาธิบดีปลดเสียเลย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกระทำที่ลุแก่อำนาจของทรัมป์ทำให้รองรัฐมนตรียุติธรรมต้องตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษภายใต้โรเบิร์ต มุลเลอร์ ขึ้นมาทำการสอบสวนเรื่องการแทรกแซงของรัสเซีย ซึ่งเป็นที่สนใจของคนทั้งหลายอยู่ ทำนองเดียวกับสมัยนิกสันที่รัฐมนตรียุติธรรมจำต้องตั้งขึ้น เพราะถูกสื่อมวลชนและสภาคองเกรสกดดันอยู่

ฐานะและบทบาทของคณะที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์ เมื่อเทียบกับคณะที่ปรึกษากฎหมายก่อนนี้ที่แสดงบทบาทอันหนักหน่วงและเอาผิดประธานาธิบดีอย่างเต็มที่ ซึ่งคณะของมุลเลอร์ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจดังแต่ก่อน ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดของกระทรวงยุติธรรมเอง ที่บอกว่าจะทำการแจ้งข้อกล่าวหาต่อประธานาธิบดีขณะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้

ตลอดเวลาที่ทำการสอบสวน มีข่าวลือหลายครั้งว่ามุลเลอร์อาจใช้อำนาจทางศาล (subpoena) เรียกประธานาธิบดีมาให้ปากคำหรือให้สัมภาษณ์ แต่จนแล้วจนรอด มุลเลอร์ก็ไม่ออกคำสั่งดังกล่าวเสียที กระทั่งถึงวันสุดท้าย ทางฝ่ายทรัมป์เองก็เตรียมตัวให้สัมภาษณ์ มีการซักซ้อมกับทนายความทำเนียบขาว ว่าควรจะตอบอย่างไร แต่แหล่งข่าวก็ถ่ายทอดกันมาว่า ทีมทนายของทรัมป์พากันแนะให้เขาปฏิเสธการไปให้สัมภาษณ์ เพราะกลัวว่าทรัมป์จะตอบตามอารมณ์และหลุดในบางคำถามที่เขาไม่อาจควบคุมตัวเองได้ อันจะนำมาซึ่งปัญหา ถ้าหากคำตอบนั้นมีผลด้านลบต่อการปฏิเสธของเขา

เกือบสองปีที่คณะที่ปรึกษาพิเศษมุลเลอร์ทำการสอบสวนการแทรกแซงของรัสเซีย โดยมีทีมหาเสียงของทรัมป์เป็นเป้าของการสืบสวนด้วยนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ปล่อยให้มุลเลอร์ทำงานได้อย่างปกติสุข เขาโจมตีค่อนแคะและวิจารณ์มุลเลอร์กับคณะตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการ ‘สร้างเรื่องหลอกลวง’ (hoax) บ้าง ทวีตบ่อยครั้งว่าเขา ‘ไม่เคยร่วมมือ’ (no collusion) กับรัสเซียบ้าง เทียบกับอดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ ที่ตกอยู่ใต้การสอบสวนของคณะสอบสวนพิเศษจากนิกสันจนถึงคลินตัน เรียกได้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ มีสีสันและลูกล่อลูกชนมากกว่า เขากระโดดเข้าไปเล่นกับคณะสอบสวนพิเศษอย่างไม่ย่อท้อ โดยใช้ทั้งมาตรการเปิดเผยและใต้โต๊ะ

เขาสั่งสอนและด่ารัฐมนตรียุติธรรม นายเจฟ เซสชั่น ที่เขาแต่งตั้งให้รับตำแหน่งอย่างสาดเสียเทเสีย เพราะไม่สามารถเล่นงานและไล่บีบให้คณะมุลเลอร์ทำงานไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเซสชั่นดันไปรับปากกับคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา ว่าเขาขอยุติบทบาทในเรื่องการแทรกแซงของรัสเซีย ปล่อยให้รองรัฐมนตรียุติธรรมทำงานแทน เนื่องจากสภาจับได้ว่าเขาพูดเท็จในการให้ปากคำ จนในที่สุดหลังการเสร็จสิ้นเลือกตั้งกลางเทอม ทรัมป์ก็ไล่นายเซสชั่นออกไป แล้วตั้งนักธุรกิจที่รู้จักกันมาทำหน้าที่รักษาการแทน หมอนี่ทำท่าจะไล่ทีมมุลเลอร์ออก หรือไม่ก็หาทางบีบ แต่ถูกสมาชิกเดโมแครตในสภาคองเกรสทั้งสอง ออกมาปกป้องคณะมุลเลอร์ ทำให้การเล่นงานมุลเลอร์ไม่อาจเป็นผลขึ้นมาได้

ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรียุติธรรมบิล บาร์ ที่ทรัมป์ตั้งขึ้นคนล่าสุด แถลงว่าผลของการสอบสวนของคณะกฎหมายพิเศษไม่ปรากฏว่ามีการระบุความผิดของทรัมป์ ทั้งเรื่องการร่วมมือกับรัสเซีย และการแทรกแซงขัดขวางการทำงานของระบบยุติธรรม เป็นอันว่าประธานาธิบดีทรัมป์เป็นฝ่ายถูกในกรณีกล่าวหาเรื่องรัสเซีย และทั้งหมดที่ผ่านมานั้นเป็นการสร้างเรื่องเท็จของสื่อมวลชนและพรรคเดโมแครต

ระหว่างนี้คณะกรรมการยุติธรรมในสภาคองเกรสที่นำโดยพรรคเดโมแครต กำลังขอรายงานการสอบสวนของคณะมุลเลอร์ทั้งหมด ไม่ใช่ฉบับที่ตัดย่อโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อมาศึกษาและตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดของมุลเลอร์ว่ามีอะไรที่สภาคองเกรสจะนำไปดำเนินการต่อไปได้

 

 

ข้อสังเกตต่อรายงานของมุลเลอร์ที่สื่อมวลชนนำมาเสนอ คือคณะสอบสวนไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาการกระทำที่ผิดกฎหมายของทรัมป์ได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ แม้ว่าคณะมุลเลอร์สามารถแจ้งข้อกล่าวหาที่ปรึกษาและทนายส่วนตัวกับคณะทำงานของทรัมป์หลายคนได้ ส่งขึ้นศาลแล้วและลงโทษไปแล้วก็ตาม แต่คนพวกนั้นไม่มีใครให้การว่าได้ร่วมมือกับรัสเซีย แม้จะเคยพบปะกันก็ตาม อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทำธุรกิจระหว่างประเทศ

ส่วนการโกหกต่อสภาคองเกรสหรือเอฟบีไอ ก็อ้างว่าเป็นการให้การเท็จ แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย สรุปคือคณะสอบสวนไม่อาจตั้งข้อกล่าวหาอะไรที่เกี่ยวพันถึงการกระทำของทรัมป์เองได้ แต่ในขณะเดียวกัน รายงานนี้ก็ไม่ได้บอกว่าทรัมป์รอดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด (exonerate) เพราะมีหลายเรื่องที่เฉี่ยวถึงทรัมป์และลูกชายกับลูกเขย เพียงแต่มันไม่ใช่หลักฐานที่แน่ชัด ดังนั้นสิ่งที่รายงานของคณะมุลเลอร์ต้องการ แต่ไม่ได้บอก คือที่เหลือต้องเป็นหน้าที่ของสภาคองเกรส ที่จะดำเนินการต่อไป

ข้อสังเกตต่อการตั้งที่ปรึกษากฎหมายพิเศษหรืออัยการอิสระของสหรัฐฯ กับการตั้งองค์กรอิสระในประเทศไทย แม้จุดหมายจะคล้ายกัน คือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งในทางที่มิชอบ แต่ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่อย่างสำคัญ คือการแต่งตั้งคณะทำงานอิสระในอเมริกา จะแต่งตั้งเป็นการเฉพาะกิจ ไม่ได้มีอยู่ถาวรเหมือนหน่วยงานราชการหรือองค์กรมหาชนในเมืองไทย โดยในสมัยแรกที่มีการแต่งตั้ง ไม่มีกฎหมายรองรับ ประธานาธิบดีนิกสันจึงเป็นผู้แต่งตั้งอัยการพิเศษขึ้นมาเพื่อสอบสวนกรณีวอเตอร์เกต แต่ประธานาธิบดีนิกสันสามารถปลดค๊อกซ์ออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งนำไปสู่การตอบโต้จากสภาคองเกรส ซึ่งในที่สุดลงมติให้ถอดถอนนิกสันออกจากตำแหน่ง เมื่อไม่มีคองเกรสหนุน นิกสันจำต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนการลงมติ

ประเด็นสำคัญที่ทำให้คณะสอบสวนพิเศษ สามารถทำงานตรวจสอบประธานาธิบดีได้อย่างเต็มที่ เพราะรัฐสภาคองเกรสเป็นตัวกำกับและผลักดันให้กระทรวงยุติธรรมและประธานาธิบดี ต้องทำตามกฎหมายหรือข้อเรียกร้องของคองเกรส นั่นคือฝ่ายสอบสวนพิเศษไม่ได้ลอยมาจากฟ้า หากแต่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ยึดโยงและทำงานใกล้ชิดกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน ไม่ว่าใครจะเป็นคนแต่งตั้งก็ตาม

คติความเชื่อว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือบริหาร นิติบัญญัติ และยุติธรรม อันเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน ปรากฏให้เห็นจากการตรวจสอบการทำความผิดของประธานาธิบดี ไม่ใช่การเฝ้ารอหรือหวังให้อำนาจนอกระบบหรือสถาบันอภิสิทธิ์ที่อยู่เหนือประชาชนธรรมดามาเป็นผู้ตัดสินลงโทษให้

ระบบแบบอเมริกันจึงดูเป็นเรื่องง่ายราวสามัญสำนึก แต่ทำจริงๆ ยาก เพราะต้องอาศัยศรัทธาของคนเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจมาช่วยกันทำ ใช้เวลาและความอดทน ระบบและกฎหมายไม่ได้ดีมาก่อน คนเก่งก็ไม่ได้มีมาจากที่ไหน ต่อเมื่อทำสำเร็จ ระบบตรวจสอบจึงเข้มแข็งขึ้นมาได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save