fbpx
ทัศนะแบบไหนจะเปลี่ยนไทยสำเร็จ : 101 ชวนอ่านคนบนสนามการเมืองไทย

ทัศนะแบบไหนจะเปลี่ยนไทยสำเร็จ : 101 ชวนอ่านคนบนสนามการเมืองไทย

กองบรรณธิการ เรียบเรียง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

เหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน สังคมไทยกำลังนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ที่อาจจะปรากฏโฉมหน้าการเมืองไทยใหม่

ไม่ว่าต่างฝ่ายต่างเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับเลือกนักการเมืองในดวงใจไว้แล้วอย่างไร

101 ชวนอ่านทัศนะทางการเมืองของ 16 นักการเมืองหน้าใหม่และเก่า พร้อมกับ 1 อดีตนักการเมืองที่วางมือทางการเมืองแล้ว และ 1 นายพล ผู้เป็นปากเป็นเสียงให้ คสช.

คำต่อคำ : “การเมืองแห่งอนาคต” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

101 ชวน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาสนทนาสดในรายการ 101 One-on-One เพื่อตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “การเมืองแห่งอนาคต” โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และตอบคำถามหลากหลายจากผู้ชมทางบ้านอย่างเต็มอิ่มสองชั่วโมงเต็ม

ยอดผู้ชมรายการสดร่วม 150,000 วิว ยอดการแสดงความคิดเห็นและถามคำถามจากผู้ชมมากกว่า 3,000 คอมเมนต์ ทันทีที่จบรายการ คงเป็นเครื่องสะท้อนว่า ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของธนาธร “โดนใจ” ผู้คนจำนวนไม่น้อย จนเกิดโมเมนตัม “การเมืองแห่งอนาคต” ขนาดกำลังดี สร้างชีวิตชีวาให้แวดวงการเมืองกลับมาคึกคักรับเลือกตั้ง

นี่คือบทสนทนา “คำต่อคำ” จากรายการในวันนั้น ใครที่ยังไม่ได้ชมรายการ เราอยากชวนคุณอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่อลองชั่งใจว่า การฝากความหวังไว้กับชายหนุ่มวัย 40 ปี ผู้ยอมรับว่าตนเองไม่ได้สมบูรณ์แบบและไม่ได้รอบรู้ทุกเรื่อง แต่ยืนยันว่าจุดแข็งของตนคือการยืนอย่างมีกระดูกสันหลัง ควรค่าแก่การเสี่ยงหรือไม่?

สำรวจพรรคการเมืองสตาร์ทอัพ นับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

101 ลองสำรวจพรรคการเมืองหน้าใหม่ 5 พรรค จาก 42 พรรค ที่จดชื่อกับ กกต. ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2018 พรรคการเมืองใหม่เหล่านี้อาจสะท้อนใบหน้าของสังคมไทยได้บ้างว่าทั้งตัวตน อุดมการณ์ แนวทางทางการเมืองในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือที่จริงแล้วอนาคตจะยังอยู่ในหมอกควัน

ตัวแทนจากทั้ง 5 พรรค ได้แก่ พนิดา บุญเทพ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน, ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป, พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน, กรณ์ มีดีผู้ก่อตั้งพรรคแผ่นดินธรรม, เดชรัต สุขกำเนิด ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเกียน

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว” – คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

ในช่วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังถูกปลุกเร้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าต่างทยอยเปิดตัวและเตรียมประกาศนโยบาย ทั้งหมดทั้งปวง ‘หมอเลี้ยบ’ เห็นอะไร

จากคนเดือนตุลา หมอนักวิชาการ สู่นักการเมืองดาวรุ่งที่มีส่วนสร้างพรรคไทยรักไทย และร่วมผลักดันนโยบายที่กลายเป็นขวัญใจมหาชนอย่าง ’30 บาทรักษาทุกโรค’

จากรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคที่ร่วมสร้างมากับมือ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และถูกตัดสินให้เป็นนักโทษ จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพกลับมาเป็นพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะพร่องสิทธิทางการเมือง

101 ชวน ‘หมอเลี้ยบ’ สนทนาเรื่อง ‘อดีต’ ของพรรคไทยรักไทย ‘ปัจจุบัน’ ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ‘อนาคต’ ของการเมืองไทย

อนาคตสังคมไทยยามไร้ คสช. : พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช.

เมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อีกไม่นาน บทบาทของ คสช. อย่างเป็นทางการก็จะยุติลง 101 ชวนโฆษก คสช. ประเมินการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการสร้างความปรองดองและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

คสช. คิดอย่างไรกับแนวคิดลบล้างผลพวงรัฐประหาร การดำเนินคดีกับกองทัพ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

บุคลิก หน้าตา และจิตใจของสังคมไทยที่ คสช. อยากเห็นกับประชาชนอยากเห็นนั้นต่างหรือเหมือนกันหรือไม่

และหากถึงวันที่สังคมไทยไร้ คสช. ล่ะ ? ร่วมจินตนาการถึงวันนั้นไปพร้อมๆ กันกับคำอธิบายของโฆษก คสช.

จากทหารถึงทหาร คำเตือนจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร “ยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น”

พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นอีกคนที่มีบทบาทในวาระสำคัญอย่างน้อยสองเรื่องในช่วงปี 2556-57 คือ หนึ่ง การเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ นำทีมข้าราชการระดับสูงบินไปมาเลเซียเพื่อหาทางสงบศึกกับขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีอิทธิพลสร้างความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ และ สอง การต้องเผชิญหน้าและรับมือกับมวลมหาประชาชนที่ออกมาโค่นรัฐบาลพลเรือนที่ตัวเขารับหน้าที่ช่วยดูแลนโยบายด้านความมั่นคงอยู่

แน่นอนว่าโดยข้อเท็จจริง เรื่องแรกเขายังทำไม่สำเร็จ เรื่องที่สองก็อาจต้องยอมรับว่าพ่ายแพ้ ไม่อาจต้านทาน

หลังพ้นจากตำแหน่งด้วยเงื่อนไขพิเศษและอิทธิฤทธิ์ทางการเมือง เหมือนเขาไม่เคยละสายตาหรือนิ่งเฉยใส่สังคมไทย ยังเฝ้าดูการเปลี่ยนผ่านจากสังคมประชาธิปไตยมาสู่รัฐประหาร และกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารไปสู่อนาคตที่ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

พูดแบบรวบรัด ถ้าสังคมไทยไม่เคยปราศจากทหาร เมื่อทหารนั่งลงทำความเข้าใจทหารทั้งองคาพยพด้วยตัวเอง ก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

และตั้งแต่บรรทัดนี้ไป คือ มุมมองของคนที่เคยเรียนจบโรงเรียนนายร้อยฯ ในยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู 14 ตุลาฯ และเกษียณอายุราชการในยุครัฐประหาร 2557

“ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัวงานผู้ภักดีของประชาธิปัตย์

ในวันเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ พรรคการเมืองถูกลดบทบาทจากกติการัฐธรรมนูญใหม่ อะไรคือโจทย์อันท้าทายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ผู้คนไม่น้อยรวมถึงคนในประชาธิปัตย์เองก็ยังรู้สึกร่วมกันว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลงมานานแล้ว

101 พยายามชวนองอาจมองไปข้างหน้า สลับกับทบทวนอดีตที่ประชาธิปัตย์ผ่านพบ ตั้งแต่การเลือกตั้ง มวลชน กปปส. รัฐประหาร สารพัดคำวิจารณ์ และคนรุ่นใหม่ รวมถึงลูกสาวที่กำลังเติบโตซึ่งเปลี่ยนมุมมองตัวเขาไปไม่น้อย

นี่เป็นบทสัมภาษณ์นักการเมืองเลือดสีฟ้าในวัย 64 ปี ที่ลั่นวาจาระหว่างสนทนาว่า “ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ”

เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ถูกบีบจากอำนาจเก่า – ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่

คำถามที่ว่า “พรรคเพื่อไทยคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่” และ “พรรคเพื่อไทยพร้อมหรือยัง”  เป็นคำถามที่รอการพิสูจน์ ไม่ใช่แค่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เท่านั้นที่เฝ้ารอคำตอบ ไม่ว่าจะรักหรือชังก็ตาม อาจเป็นทั้งสังคมที่รอพิสูจน์เช่นกัน

ระหว่างที่ 101 สัมภาษณ์ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เขาเปรียบเปรยตอนหนึ่งว่า “เราอาจจะเป็นหัวหอกที่ยึดติดด้ามไม่เพียงพอ พอเขวี้ยงไป ด้ามมันไม่ได้ไปด้วย หอกก็พุ่งไปไม่ได้ไกล” และ “ถ้าวันนี้เอาคนดังอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาวางยุทธศาสตร์ให้ 10 ปี เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะยอมรับได้ไหม เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอด”

คำเปรียบเปรยดังกล่าวเสมือนว่าพรรคเพื่อไทยกำลังครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง และมองเห็นโจทย์ที่ยากยิ่ง

เพื่อไม่ให้เสียเวลา บทสัมภาษณ์นี้พยายามพุ่งเป้าขยายผลจากการครุ่นคิดของพรรคเพื่อไทย จากยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ที่สุดสู่ยุคสมัยที่ต้องเผชิญสารพัดวิบากรรมทางการเมือง โดยมีพ่อบ้าน “อ้วน” แอ่นอกตอบรับทุกคำถามโดยไม่เบือนหน้าหนี

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

การเมืองไฮบริดแบบ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

จากนักเรียนอัสสัมชัญบางรัก สู่นิสิตแพทย์ และนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ เคยเข้าป่าจับปืนสู้กับทหารไทยในฐานะนักปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และขยับมาเป็นอดีตหัวหน้าพรรคมหาชนตามลำดับ รวม 40 กว่าปีที่เขาเห็นการเมืองไทยมาอย่างทะลุแทบทุกรูขุมขน

เขาไม่ใช่นักการเมืองตามภาพที่ติดตาของประชาชนไทย ยิ่งวิธีคิดวิเคราะห์การเมืองไทยของเขาในงานวิชาการเรื่อง ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ปี 2536 ที่ว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” ยิ่งเป็นลายเซ็นชัดเจนว่าบทบาททางวิชาการของเขานั้นโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจสังคมไทยในห้วงเวลา 20 กว่าปีก่อน

แต่การเมืองไทยปัจจุบันเป็นยุคทหารทั้งตัวและหัวใจ ท่ามกลางหลุมดำที่นักการเมืองถูกดูดเข้าไป บางคนสูญหาย บางคนกลับกลาย แต่สำหรับเขา คลับคล้ายว่าจะแน่วแน่ในแนวทางที่เชื่อมั่นแล้ว

เขาบอกว่าประชาธิปไตยไทยไม่มีบลูปริ้นท์ แล้วอะไรคือสิ่งที่อดีตนักปฏิวัติเชื่อมั่นกับการพาเมืองไทยออกจากวิกฤตการเมือง อะไรคือสิ่งนักรัฐศาสตร์อย่างเขาทบทวนทำความเข้าใจสังคมไทยที่ยังไม่เปลี่ยนผ่าน เมื่อการเมืองของความหวังกำลังเดินทางไปด้วยกันกับการเมืองของความจริง

รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ โรม “เราคือคนไม่กลัวอนาคต”

“วันที่ผมต้องไปอยู่เรือนจำ ครอบครัวผมเสียใจมาก แม่ผมนอนร้องไห้ พอออกมาได้คุยกัน เขาถามว่าหยุดได้ไหม ผมบอกว่า ถึงที่สุดผมต้องอยู่กับประเทศนี้อีกนาน เราจะมีอนาคตแบบไหน ถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้”

นี่คือคำพูดของ รังสิมันต์ โรม นักเคลื่อนไหวหนึ่งใน ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ผู้ยืนยันว่าโรดแมปการเลือกตั้งไม่ควรถูกเลื่อนออกไป และคนไทยไม่ควรกลัวอนาคต

อนาคตของพวกเราจะเป็นอย่างไรหากไม่ได้ตัดสินใจอนาคตของประเทศไปด้วยกัน ? เมื่อเดือนมีนาคม 2561 รายการ 101 One-On-One ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชวน รังสิมันต์ โรม มาร่วมวิเคราะห์การเมืองและอนาคตประเทศไทย ในฐานะนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา

Exclusive : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา

จากตำรวจนักสืบสายเลือดอ่างทอง ผ่านคดีโบว์แดงมาตั้งแต่คดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ จับมาเฟียอย่างเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง และกลม บางกรวย ก่อนจะข้ามมาดูคดีการเงินอันลืนลั่นอย่างคดี ปรส. ในฐานะอธิบดี DSI 

แต่ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดคืองานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลต่อความตื่นตัวของสังคมไทยคือความพยายามในการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น พ.ต.อ.ทวี เป็นหนึ่งในแกนหลักของทีมเจรจาจากฝ่ายไทยเพื่อหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงอันเรื้อรัง

คำถามเบื้องต้นคือ ด้วยทุนชีวิตทั้งหมดที่เขาสะสมมา เมื่อถึงเวลาก้าวขาเข้าสู่สนามการเมือง สายตาของเขาที่มองสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรคือธงทางอุดมการณ์ที่เขาจะชักขึ้นสู่ยอดเสา หน้าตาของสังคมไทยที่เขาต้องการขึ้นรูปให้ดูเป็นผู้เป็นคนมากที่สุดเป็นอย่างไร

101 ถามยาวๆ พ.ต.อ.ทวี ก็ตอบยาวๆ เริ่มตั้งแต่บรรทัดถัดไป

คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

ตัวละครสำคัญทางการเมืองผุดขึ้นมากมาย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาคือ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่เรียกได้ว่าโตมาในบ้านของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ประเด็นคือเขามองเห็นอะไรในการเมืองไทย และมองไปไกลกว่าความเป็น ‘ประชาธิปัตย์’ ในความรู้สึกของคนทั่วไปอย่างไร

ปัจจุบัน ฟูอาดี้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Oxford University หลังจบปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก Harvard University

นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของ Teach for Thailand เป็นคอลัมนิสต์สำนักข่าวไทยพับลิก้า และยังแทนตัวเองว่าเป็น “นักพัฒนากาแฟ” ผู้เอ่ยว่า “เข้าใจประเทศไทยมากขึ้นผ่านกาแฟ”

101 ชวน ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มาสนทนาในรายการ 101 One-on-One มาคุยเรื่องการเมืองไทย ลัดเลาะไปยังการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และแวะทำความเข้าใจสังคมไทยกับการปลูกกาแฟ ดำเนินรายการรายการโดย ธร ปีติดล

กระดูกสันหลังของ ‘เกียน’ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

กระดูกสันหลังของ ‘เกียน’ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

จากผู้ต่อต้านรัฐประหารสู่การก่อตั้ง ‘พรรคเกียน’ ที่เขาให้นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย”

อะไรคือกระดูกสันหลังของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบเขา อะไรคือภาพการเมืองที่เขาวาดฝัน

ก้าวต่อไปของการทำพรรคการเมืองที่ชื่อแสลงหูผู้มีอำนาจจะเป็นอย่างไร

101 One on One ชิ้นนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ถาม – หนูหริ่งตอบ 

“สังคมไทยไม่ได้มีแค่ซ้ายกับขวา” วราวุธ ศิลปอาชา : มือ blend แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา

“สังคมไทยไม่ได้มีแค่ซ้ายกับขวา” วราวุธ ศิลปอาชา : มือ blend แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคชาติไทยอยู่บนเวทีการเมืองมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นท็อปยังเป็นเด็กชายวัยเพียง 1 ขวบ ก่อนที่เขาจะเติบโตเป็นหนุ่ม เดินตามนายบรรหารและเก็บประสบการณ์ทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปี 2551 จึงถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป ก่อนที่พรรคชาติไทยพัฒนา จะกำเนิดใหม่ขึ้นมาในปีเดียวกัน

ปี 2559 เมื่อนายบรรหาร เสาหลักของพรรคถึงแก่กรรม วราวุธถูกมองเป็นความหวังในการสืบทอดงานการเมืองต่อจากพ่อ ขณะเดียวกันก็พ่วงด้วยคำถามหนักอึ้งว่า “จะทำได้อย่างที่นายบรรหารทำไว้หรือไม่”

วราวุธในวัย 45 ปี จะนำพาทั้งพรรคและความหวังของคนจำนวนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ชาวสุพรรณบุรี ให้เดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร 

101 ชวนอ่านทัศนะของคนหนุ่มเลือดสุพรรณบุรี ที่มองเห็นตัวเองและเผยออกมาว่า “ในทางการเมือง ผมยังเป็นเด็กน้อยดูดนมอยู่ แต่ในทางธุรกิจสตาร์ทอัพ ผมจะเป็นไดโนเสาร์อยู่แล้ว”

‘อนาคตใหม่’ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

‘อนาคตใหม่’ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต."ไม่มีใครสั่งผมได้" : สมชัย ศรีสุทธิยากร

ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต.”ไม่มีใครสั่งผมได้” : สมชัย ศรีสุทธิยากร

“ผมคิดว่าถ้าคุณไม่ปรารถนาจะอยู่ในอำนาจต่อ ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมากังวลอะไร แต่ถ้าปรารถนาอยู่ในอำนาจต่อ แปลว่ามันต้องใช้กลไกของ กกต.ในการจัดการบางเรื่อง”

สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.ด้านบริหารการจัดการเลือกตั้งกำลังคิดอะไรอยู่ ถึงเผยประโยคดังกล่าวออกมา

ในนามของตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงลุล่วงสมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะสวมแว่นตานักรัฐศาสตร์ สวมแว่นตาองค์กรอิสระ หรือมองในฐานะประชาชน เขาทบทวนอดีตและมองไปยังอนาคตทางการเมืองอย่างไร

“ธิติ มีแต้ม” ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save