fbpx
“เพราะผมทนไม่ได้ที่กองทัพทำร้ายประชาชน” เปิดใจหนึ่งในทหารพม่าผู้แปรพักตร์มาอยู่ข้างประชาชน

“เพราะผมทนไม่ได้ที่กองทัพทำร้ายประชาชน” เปิดใจหนึ่งในทหารพม่าผู้แปรพักตร์มาอยู่ข้างประชาชน

ล่วงเลยมาแล้วนานร่วม 8 เดือนนับตั้งแต่กองทัพพม่าหรือ ‘ตัดมาดอว์’ (Tatmadaw) ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน แต่เสียงปืนวันนี้ก็ยังคงคละคลุ้งอยู่บนแผ่นดินพม่า จำนวนมากคือเสียงปืนของ ‘ทหาร’ ที่ยิงลั่นหมายสังหาร ‘ประชาชน’

ขณะที่ปฏิบัติการกวาดล้างประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารโดยกองทัพพม่ายังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แต่มีทหารพม่าจำนวนหนึ่งยังคงไม่ละทิ้งสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ ตัดสินใจหลบหนีออกจากกองทัพ แปรพักตร์มาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเคียงข้างประชาชน เพราะไม่อาจทำใจได้หากพวกเขาจะต้องทำร้ายเพื่อนร่วมชาติตัวเอง

ทหารพม่าทยอยหลั่งไหลออกจากกองทัพพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม มีการประมาณการว่ามีตัวเลขทหารแปรพักตร์อยู่ที่ราวๆ 1,500 คน ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็วหากเทียบกับเดือนมิถุนายนที่นับจำนวนทหารหลบหนีออกมาได้ประมาณ 800 คน นับว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในเวลาแค่ 2 เดือน และยังคงมีทหารหลบหนีออกมาเพิ่มขึ้นอีกทุกวัน

101 มีโอกาสได้พูดคุยกับนายทหารคนหนึ่งที่ตัดสินใจแปรพักตร์มายืนเคียงข้างประชาชน ชื่อของเขาคือ Tun Myat Aung ที่ยินดีเปิดใจถึงเหตุผลที่ทำให้เขาหาญกล้าตัดสินใจละทิ้งกองทัพออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชน แม้มีความเสี่ยงที่เขาต้องเผชิญมากมาย

คุณเป็นทหารคนหนึ่งที่หนีออกมาจากกองทัพพม่าแล้วมาเคลื่อนไหวอยู่ข้างประชาชน อะไรทำให้คุณตัดสินใจแบบนี้

อย่างที่เรารู้กันว่า ที่พม่าเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตอนนั้นผมก็ยังเป็นทหารอยู่ หน้าที่ของผมคือต้องคอยตระเวนตรวจเวรยามรอบเมืองในช่วงกลางคืน ส่วนตอนกลางวัน กองทัพก็มอบหมายให้คอยควบคุมดูแลการประท้วง เราได้รับคำสั่งว่าถ้ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ก็ให้เข้าไปควบคุม

จนกระทั่งเวลาผ่านมาได้ 1 เดือน ผมเริ่มรู้สึกไม่ดี เพราะกองทัพเริ่มใช้กระสุนจริงกับประชาชน มีการฆ่าทำร้ายผู้คนเกิดขึ้นมากมาย จนผมคิดว่าแบบนี้มันเกินไปแล้ว ผมทนไม่ได้ที่กองทัพทำร้ายประชาชนแบบนี้ ประมาณวันที่ 3 มีนาคม ผมก็เลยตัดสินใจว่าผมจะเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) ไม่อยู่ในกองทัพอีกต่อไปแล้ว จนวันที่ 9 มีนาคม ผมถึงได้หลบหนีออกมา

การหลบหนีออกมาจากกองทัพมีความยากลำบากอะไรบ้างไหม เพราะทราบมาว่าในกองทัพ ก็ยังมีทหารอีกหลายคนที่ไม่อยากอยู่ต่อ แต่ไม่สามารถออกมาได้ มันมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าออกมา

ส่วนตัวผมเอง ผมว่ามันยากในเรื่องการเตรียมความพร้อม ต้องใช้เวลาพอสมควรเลยก่อนจะหลบหนีออกมาได้ เราต้องเตรียมหลายอย่าง เช่นเรื่องเงิน ผมก็ต้องรอให้เงินเดือนออกก่อนถึงจะออกมาได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องเตรียมเซฟเฮาส์ (safe house) ซึ่งผมก็ต้องติดต่อให้คนช่วยจัดหาไว้ แล้วในช่วงที่ผมหนีออกมาก็เป็นช่วงที่กองทัพกำลังค่อนข้างคุมเข้ม ในย่างกุ้งมีการปิดถนนหนทางมากมาย มันก็ยากลำบากเรื่องเส้นทางหลบหนีด้วย

จริงๆ ผมก็พยายามหาทางออกมาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม แต่ก็ยังออกมาไม่ได้ จนออกมาได้จริงๆ ในเช้าวันที่ 9 มีนาคม ตอนนั้นก็ใช้วิธีอ้างว่าขอออกไปหาหมอ เขาก็อนุญาต แล้วใช้จังหวะนั้นหลบหนี กรณีของผมมันง่ายตรงที่ผมไม่ใช่คนมียศสูงอะไรขนาดนั้น กองทัพเลยไม่ได้มาใส่ใจอะไรผมมากมาย การหลบหนีของผมเลยอาจจะไม่ซับซ้อนเหมือนคนอื่นที่ตำแหน่งโดดเด่นกว่านี้

แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมในการหลบหนี ไม่ใช่เรื่องเงิน, เซฟเฮาส์หรือสถานที่ แต่คือสิ่งที่เราผูกพัน นั่นก็คือครอบครัวและคนรักที่ทำให้เราเป็นห่วง นี่คือเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผมในการตัดสินใจหนีออกมา และทหารอีกหลายคนก็ติดที่เรื่องนี้เหมือนกัน

สมมติว่า ถ้าตอนนั้นคุณโดนจับได้ กองทัพจะลงโทษคุณอย่างไร

ถ้าเกิดโชคไม่ดีแล้วถูกจับขึ้นมาจริงๆ บทลงโทษก็คือโดนจำคุก แต่คงไม่ถึงขั้นฆ่าเอาชีวิตกัน เพราะกองทัพเองก็ยังต้องการกำลังพลอยู่

จากที่ฟังมา การหลบหนีออกมามีความเสี่ยงสูงมาก อาจจะต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง แต่ทำไมคุณถึงได้กล้าเสี่ยงออกมา 

พอย้อนคิดดู ผมก็คิดเหมือนกันว่าผมใช้ความกล้าสูงมากในตอนที่ผมหนีออกมา แต่ก็อย่างที่บอกว่า ผมไม่ใช่ทหารที่มีตำแหน่งสูงมาก ไม่ได้เป็นที่สนใจขนาดนั้น เลยเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าออกมาด้วย

ผมก็เหมือนนกตัวหนึ่งที่ยืนอยู่บนกิ่ง คือถ้ามีกิ่งก็ยืนได้ แต่ถึงจะไม่มีกิ่ง ผมก็อยู่ได้เหมือนกัน ผมก็แค่บินออกมา เพราะถึงอย่างไรผมก็มีปีก ไม่จำเป็นต้องเกาะกิ่งเสมอไป หมายความว่าต่อให้ผมไม่ได้ทำงานในกองทัพ ผมก็ไปหาอย่างอื่นทำได้ ตำแหน่งของผมในกองทัพไม่ได้ใหญ่โตอะไรอยู่แล้ว และกองทัพก็ไม่ได้ให้เงินผมเยอะแยะมากมายที่จะเลี้ยงดูชีวิตตัวเองได้ขนาดนั้น มันเลยทำให้ผมตัดสินใจง่ายมากที่จะออกมา

และผมก็เป็นคนที่เลือกยืนอยู่ข้างความถูกต้องเสมอมาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีจุดยืนแบบนี้ในตอนนี้ อย่างตอนเกิดสถานการณ์กลุ่มโรฮิงญา ผมก็แสดงออกเหมือนกัน ถ้าลองไปดูผมบนโลกโซเชียล จะเห็นว่าผมแสดงออกแบบนี้เสมอ ผมไม่เคยแสดงตนต่อใครๆ ว่าผมเป็นทหาร แต่แสดงให้เห็นว่าผมเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ยืนข้างความถูกต้องเป็นธรรม เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงได้กล้าแปรพักตร์ออกจากกองทัพ

เอาเข้าจริง ในกองทัพเองก็มีคนคิดแบบผมเยอะมาก เรามีศัพท์เรียกทหารกลุ่มนี้ว่า ‘ทหารแตงโม’ คือเปลือกนอกคลุมด้วยชุดลายทหาร แต่ข้างในเป็นสีแดง หลายคนมักจะมีอีกชีวิตหนึ่งอยู่บนโลกออนไลน์ที่ไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นทหาร แล้วแสดงความคิดของตัวเองออกมาเต็มที่ และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศตัวว่าทำงานในกองทัพ แต่ก็พยายามแสดงออกว่ายืนข้างความถูกต้อง กลุ่มหลังนี้มีเยอะมาก ทำให้เห็นว่าในกองทัพมีทหารที่กล้ายืนข้างความถูกต้องไม่น้อย และหลายคนก็กล้าตัดสินใจออกมาจากกองทัพ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว

จากข้อมูลล่าสุด ทราบว่าทหารที่แปรพักตร์มาร่วม CDM จนถึงตอนนี้มีอยู่ประมาณ 1,500 คน แต่ว่าตัดมาดอว์มีกำลังพลเป็นแสน แปลว่าทหารที่กล้าออกมาก็ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะอะไรทหารอีกเป็นจำนวนมากถึงยังคงอยู่กับกองทัพต่อ

ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องตัวเลข นี่อาจจะเป็นเลขประมาณ มันบอกตัวเลขชัดเจนได้ยากว่าจำนวนทหารที่หนีออกมามีเท่าไหร่กันแน่ ผมเองก็ทราบมาใกล้ๆ กันว่าประมาณพันกว่าคน ส่วนทหารที่มาขอเข้าร่วม CDM ก็มีอยู่ประมาณ 100-200 คน ถ้าถามว่าทำไมจำนวนทหารที่ออกมาถึงยังน้อยขนาดนั้น มันเป็นเพราะว่าทหารในกองทัพที่มีความรู้ไม่ได้มีเยอะ พอไม่มีความรู้ก็เลยไม่ได้ตัดสินใจเลือกยืนข้างความถูกต้อง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทหารถูกตัดมาดอว์ปลูกฝังแนวคิดหรือล้างสมองด้วยหรือเปล่า

ผมว่าตัดมาดอว์ไม่ได้มีหลักสูตรที่ล้างสมองทหารชัดเจนขนาดนั้น แต่สิ่งที่ปลูกฝังทหารมาตลอดคือ ‘ความกลัว’ มากกว่า ทหารมักจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะได้รับคำสั่งอะไรจากผู้บังคับบัญชา ก็ต้องทำตาม จริงๆ ข้างบนก็ไม่สั่งอะไรด้วยความขู่เข็ญขนาดนั้น แต่การที่มันเป็นคำสั่ง ทำให้ทหารรู้สึกว่าต้องปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ นี่คือความหวาดกลัว การที่พวกเขาต้องมาอยู่ภายใต้ผู้คุมอำนาจเผด็จการ ทำให้ความกลัวเกิดขึ้นกับพวกเขาโดยอัตโนมัติ เลยกลายเป็นว่าพวกเขายอมทำตาม

ย้อนไปตอนที่คุณยังอยู่ในตัดมาดอว์ ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง และทราบมาว่าคุณเป็นทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษในกองพลราบทหารเบาที่ 77 (77th Light Infantry Division) ที่ขึ้นชื่อมากเรื่องความโหดร้าย และยังเป็นหน่วยที่มีบทบาทมากในการปราบผู้ชุมนุมหลังรัฐประหารด้วย แต่คุณก็บอกว่าคุณอยู่ข้างความถูกต้องมาตลอด แล้วการต้องมาทำงานแบบนี้ขัดสามัญสำนึกคุณหรือเปล่า

จริงที่ว่ากองพลที่ 77 มีชื่อเสียงมากในเรื่องความโหดร้ายต่อประชาชน แต่ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว กองพลที่ 77 ไม่ใช่กองพลที่โหดกว่ากองพลอื่น ทุกกองพลก็โหดร้ายเหมือนกันหมด แต่ที่กองพลที่ 77 มีชื่อเสียงมากเป็นเพราะว่านี่เป็นกองพลเดียวที่ปฏิบัติการในใจกลางเมือง ทำให้ประชาชนเห็นด้วยตาตัวเอง ก่อนผมจะมาอยู่กองพลที่ 77 ผมก็อยู่กองพลอื่นมาก่อน ผมว่ามันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากขนาดนั้น กองพลที่ 77 ไม่ได้ปลูกฝังอะไรเราเป็นพิเศษให้เราต้องโหดร้ายกว่ากองพลอื่น

ตอนที่ผมอยู่ในกองทัพ ถ้าได้รับคำสั่งอะไรมาก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แน่นอนว่าเราจะไปต่อต้านตรงนั้นไม่ได้ แต่ตัวผมเองยังไม่เคยได้รับคำสั่งให้ทำอะไรที่โหดร้ายขนาดนั้น อย่างหลังรัฐประหาร ผมก็ประจำการส่วนใหญ่ในย่างกุ้ง ก็จะได้รับคำสั่งแค่ให้ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม แต่ตัวผมยังไม่เคยได้รับคำสั่งถึงขั้นต้องทำร้ายประชาชน

ก่อนหน้ารัฐประหาร ผมก็เคยประจำการในป่ามาก่อน ตอนนั้นก็จะได้รับคำสั่งให้ไปตรวจตราดูแลหลายๆ จุด ซึ่งผู้บังคับบัญชาก็สั่งให้เราใช้ชาวบ้านเป็นคนนำทางเราไป แต่ผมก็รู้สึกไม่ดี ไม่อยากบังคับชาวบ้านให้มาช่วยเราแบบนั้น ผมก็พูดกับหัวหน้าผมไปว่าผมขอไม่เอาชาวบ้านไปได้ไหม เดี๋ยวผมจะดูแผนที่ไปเอง แต่ผมก็โดนดุกลับมาว่าสั่งอะไรก็ต้องทำตามนั้น ไม่ต้องเอาเหตุผลอะไรมาอ้าง ผมก็เจอเรื่องประมาณนี้ แต่ดีที่ว่าผมเองยังไม่เคยโดนสั่งให้ต้องทำอะไรรุนแรงกับประชาชน

แล้วตอนนี้ หลังจากที่คุณหนีออกมาจากกองทัพแล้ว ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง แล้วคุณได้ข่าวทหารคนอื่นๆ ที่หลบหนีออกมาเหมือนคุณหรือเปล่า พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

ตั้งแต่ออกมา ช่วงเดือนแรกผมต้องหลบอยู่ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งก่อน จากนั้นก็ย้ายไปอยู่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงแรมที่รองรับพักพิงบรรดาคนที่ออกมาเคลื่อนไหว CDM ต่อต้านรัฐประหาร ผมก็อยู่มาได้อีกประมาณเดือนหนึ่ง หลังจากนั้นก็เดินทางไปแนวชายแดน เพราะผมถูกชักชวนให้เข้าไปช่วยฝึกฝนกำลังทหารของกองกำลังประชาชน (People’s Defense Force – PDF) ที่กำลังต่อสู้กับตัดมาดอว์อยู่ ผมก็ได้เข้าไปช่วยบริการจัดการอะไรหลายอย่างในนั้นด้วย

ส่วนทหารคนอื่นๆ ที่ผมรู้ก็จะคล้ายๆ กับผม คือส่วนมากตอนเพิ่งออกมาก็ต้องหลบในเซฟเฮาส์กันก่อน บางคนก็ไปอยู่ตามโรงแรม บางคนก็เข้าร่วมกับกองกำลังประชาชนต่อสู้กับกองทัพ หรือบางคนก็มีการเตรียมพร้อมที่จะหลบหนีออกไปยังประเทศที่สามบ้าง

ตอนนี้มีทหารทยอยหลบหนีออกมาจากตัดมาดอว์มากขึ้นทุกวัน คุณคิดว่าอนาคตของตัดมาดอว์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ตัดมาดอว์คงจะพังทลายลงไม่ช้าก็เร็ว เพราะทหารออกมาจากกองทัพมากขึ้นเรื่อยๆ มีแต่ออก ไม่มีเข้าเพิ่ม มันแทบจะไม่มีใครอยากเข้ากองทัพแล้ว ยกเว้นแต่พวกคนที่แสวงหาอำนาจ หายศตำแหน่ง หาพวกพ้องเท่านั้น ผมเชื่อว่าคนจะออกกันมาอีกเรื่อยๆ และถ้ามีกลไกหรือองค์กรอะไรก็ตามที่จะให้การสนับสนุนทหารที่หนีออกมามากกว่านี้ ผมเชื่อเลยว่าคนจะออกมาได้อีกเยอะมาก สรุปได้เลยว่าตัดมาดอว์กำลังพังลงทุกวันๆ

มีทหารอีกหลายคนยังไม่ออกมาจากกองทัพหรืออาจจะยังลังเลอยู่ คุณมีอะไรอยากจะบอกถึงพวกเขาไหม

ตอนนี้มีทางให้เราเลือกอยู่สองอย่าง คือจะเลือกตัดมาดอว์หรือจะเลือกประเทศชาติ มันเป็นสิ่งที่ต้องเลือกเพราะตั้งแต่รัฐประหาร เราเห็นแล้วว่าตัดมาดอว์กับประเทศชาติของเราไปด้วยกันไม่ได้แล้ว ประชาชนพม่า 99 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เห็นด้วยกับตัดมาดอว์

ผมอยากเตือนให้คิดว่า ตอนนี้ตัดมาดอว์ก็เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่เก่ามาก มีโครงสร้างผุพังทรุดโทรม แล้ววันดีคืนดีก็อาจจะถล่มลงมาทับตัวเรา ทางที่ดีควรจะรีบออกมาจากบ้านหลังนั้น ก่อนที่มันจะพังครืนลงมาทำร้ายตัวคุณเอง ผมอยากฝากถึงเพื่อนๆ ทหารไว้เท่านี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save