fbpx
เมื่อนวัตกรรม ความตั้งใจ และความยั่งยืน คือส่วนผสมใหม่ของกิจการเพื่อสังคมในไทย - สุนิตย์ เชรษฐา

เมื่อนวัตกรรม ความตั้งใจ และความยั่งยืน คือส่วนผสมใหม่ของกิจการเพื่อสังคมในไทย – สุนิตย์ เชรษฐา

วิโรจน์ สุขพิศาล เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

ปัจจุบันคำว่า กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กลายเป็นคำ buzz word ที่หลากองค์กร หลายหน่วยงานนำไปใช้เพื่อบอกว่ามีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อแก้ปัญหาสังคม แม้ว่าที่ผ่านมามีหลายบริษัทล้มหายตายจาก แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่เติบโตขึ้นมาใหม่

รูปแบบของกิจการเพื่อสังคมทั่วโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นคือ กิจการเพื่อสังคมสายเทคโนโลยี ธุรกิจที่เป็น Tech-startup หลายบริษัททั่วโลกเริ่มสนใจปัญหาสังคมมากขึ้น บางประเทศถึงขั้นตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีที่สนใจโจทย์ปัญหาสังคม

ในขณะเดียวกัน โจทย์ของกิจการเพื่อสังคมก็มีการปรับให้เข้ากับปัญหาของสังคมในขณะนั้นด้วย และยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากที่เราจะเห็นภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับวิกฤตใหญ่แล้ว ยังคงมีกิจการเพื่อสังคมหลายโครงการที่ทำหน้าที่เหมือนมดงานที่อุดรูรั่ว คอยเป็นตัวกลางช่วยเหลือกลุ่มคนที่อาจตกหล่นจากความช่วยเหลือของรัฐ

สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion ถือเป็นหนึ่งคนที่อยู่ในแวดวงกิจการเพื่อสังคมมาเป็นเวลานาน มีโครงการเพื่อสังคมหลากหลายโครงการ โดยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา (RoLD Program) ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการกิจการเพื่อสังคมทั้งไทยและต่างประเทศในระยะที่ผ่านมา

101 ชวน สุนิตย์ เชรษฐา พูดคุยถึงเทรนด์ใหม่ๆ และความท้าทายของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย โจทย์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 การใช้ข้อมูล (Data) เพื่อแก้ปัญหาสังคม รวมไปถึงโจทย์สำคัญของกิจการเพื่อสังคมในไทย

 

จากที่คุณทำงานด้านกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มายาวนาน คุณเห็นเทรนด์ทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

เทรนด์ใหญ่คือจะเอาแนวคิดเชิงธุรกิจไปเสริมการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร จริงๆ เทรนด์มาจากหลายทาง ถ้าเป็นบริษัทธรรมดาก็อาจอยากทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้นหรือยั่งยืนมากขึ้น หรือถ้าเป็นบริษัทใหญ่ก็มองในมุม ESG คือเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมมาภิบาล (Governance)

ในเชิงความหมาย การทำกิจการเพื่อสังคมก็มีความหมายเยอะขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ B-Corporation เป็นแนวคิดคล้ายๆ กิจการเพื่อสังคม แต่กว้างกว่า คือเป็นธุรกิจปกติ แต่ทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนหรือมีจุดประสงค์ที่จะไปแก้ปัญหาสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น รูปแบบ B-Corporation ที่เราอาจคุ้นเคย เช่น kickstarter โดยธุรกิจประเภทนี้พยายามที่จะตั้งเป้าหมายว่าไม่ได้ทำเพื่อหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังพยายามตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย

 

หากมองที่เมืองไทย คนรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจการเพื่อให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ผมทำงานเกี่ยวข้องกับกับบริษัทใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีหลากหลายวงการ แต่จุดประสงค์ใหญ่ๆ ที่เหมือนกันคือการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หรือความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากใช้ชีวิตเพื่อทำกำไร หรือทำกำไรให้คนอื่นเพียงอย่างเดียว แต่อยากแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการทำให้ตัวเองอยู่ได้

กิจการเพื่อสังคมที่ทำกันเยอะในช่วงสิบปีหลังคือสายเทคโนโลยี มีตั้งแต่นักเทคโนโลยีเก่งๆ ที่เคยทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแล้วหันมาทำธุรกิจเพื่อสังคม หรืออาจมาจากบริษัทที่ทำแอปพลิเคชั่นอย่างเดียว เช่น บริษัท SE ที่มาช่วยทำยักษ์ดาต้า (YAK Data) เป็นต้น

หรือกิจการเพื่อสังคมอีกแนวที่เรียกว่า sustainable craft และ sustainable fashion เช่น งานหัตถกรรมในท้องถิ่น กลุ่มคนที่ทำส่วนใหญ่หากไม่ใช่คนในพื้นที่ที่ออกไปทำงานข้างนอก พอมีประสบการณ์แล้วก็กลับมา ก็มักเป็นคนเมืองที่อยากทำงานกับชุมชน เราเริ่มเห็นตัวอย่างที่ SE ในท้องที่ที่พยายามรวบรวมชาวบ้านที่ทำงานด้วยกันมาคุยเรื่องการจัดการในพื้นที่มากขึ้น

 

ความท้าทายอย่างหนึ่งของกิจการเพื่อสังคมคือการดึงคนเก่งและหลากหลายเข้ามา คุณมองความท้าทายนี้อย่างไร

ผมคิดว่าโจทย์ในการแก้ปัญหาสังคมซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ซับซ้อนขึ้น อย่างวิกฤตโควิด-19 เป็นปัญหาที่ผสมผสานทุกเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม นโยบายภาครัฐ มันจำเป็นต้องได้คนที่มีคุณภาพมาทำ แทนที่คนเก่งๆ จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัท หรือไปเป็นอาจารย์ ก็เอาคนเหล่านี้มาทำเรื่องสังคม และต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ด้วย

สมัยก่อนองค์กรสาธารณประโยชน์มีหลายประเภท แต่องค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นกิจจะลักษณะ มีทีมงานแข็งแรง ทำงานเรื่องนโยบาย และการแก้ปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แล้วเงินเดือนถือว่าไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้น โจทย์ของผมคือทำอย่างไรให้เราได้คนเก่งมาทำงานเรื่องพวกนี้ อย่างเรื่องฝุ่นควันเชียงใหม่ ก็ต้องเอาคนที่มีศักยภาพพอสมควรมาทำงานกับเครือข่าย และต้องทำแบบต่อเนื่องยั่งยืนด้วย ถึงจะพอหาทางแก้ได้

 

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 คุณเห็นตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมของไทยที่เข้ามามีบทบาทแก้โจทย์ของสังคมบ้างไหม

เท่าที่ผมเห็นคือ ผู้ประกอบการที่ทำกิจการเพื่อสังคมมักจะสนใจประเด็นทางสังคมเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพอมีวิกฤต ใครมีกำลัง มีศักยภาพระดับหนึ่ง ผมว่าเขาก็ค่อนข้างตั้งใจที่จะไปแก้ปัญหาเป็นพิเศษ อย่างโควิด-19 ก็เป็นวิกฤตที่คนกลุ่มนี้พยายามเข้าไปทำ ซึ่งเอกชนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีกำลังเยอะ แต่ว่าอาจจะมีนวัตกรรม มีความตั้งใจที่อยากจะเข้าไปทำอะไรได้ค่อนข้างเร็ว

ผมเห็นตัวอย่างกลุ่มกิจการเพื่อสังคมหลากหลายแห่งที่ออกมาทำช่วงโควิด-19 ตัวอย่างหนึ่งก็คือกลุ่ม Locall (โลคอล) ที่เป็นคนทำโฮสเทลขนาดกลางในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เขาอาสาออกมาเป็นตัวกลางทำ online delivery ให้กับร้านอาหารเล็กๆ ในย่านประตูผี-เสาชิงช้า ผมคิดว่าโมเดลที่เขาทำถือเป็นโมเดลที่ดี ซึ่งอาจเกิดจากแรงผลักสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเรื่องท่องเที่ยวที่มีปัญหา ตัวโฮสเทลทั้งของเขาและของเพื่อนมีปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 แต่อีกส่วนหนึ่งคือเขาสามารถดึงทีมงาน ดึงพนักงาน มาทำงาน online delivery ได้ โดยพยายามไปแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ การรับออเดอร์ ก็ถือว่ากลุ่ม Locall ทำได้ดีพอสมควร ตอนแรกก็ทำเฉพาะ 5 กิโลเมตรรอบๆ โฮสเทล และตอนหลังก็ขยายพื้นที่ไปกว้างขึ้น

หากจะวิเคราะห์กรณีของ Locall ผมคิดว่าส่วนหนึ่งนอกจากความสนใจ ความชอบที่ทีมงานสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วสามารถดึงมาทำได้แม้แต่ในสภาวะวิกฤต ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็พลิกไปเป็นทางรอดของทีมทำงานด้วย แต่ส่วนหนึ่งคือทีมงานมีความสัมพันธ์อันดี มีความเชื่อถือไว้วางใจกับเครือข่ายที่เป็นร้านอาหารเล็กๆ ในย่าน และตัวบริษัทเองก็มีความใกล้ชิดกับพวกที่เป็นสายสตาร์ทอัพ หรือสายเทคโนโลยีอยู่บ้าง ทำให้พอวิกฤต เขาก็สามารถเอาองค์ประกอบต่างๆ ทั้งเรื่องโลจิสติกส์ ความสัมพันธ์กับร้านต่างๆ บวกกับความสามารถไปใช้แพลตฟอร์มของเพื่อนที่เป็นเชิงธุรกิจ ทำให้ Locall สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

ผมว่า ถ้าเราสามารถทำโมเดลแบบนี้แล้วมองไปไกลกว่าโควิด-19 ได้ มันอาจจะกลายเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกได้เหมือนกัน ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างการมีส่วนร่วม การกระจายทรัพยากร และการกระจายโอกาสให้กับชุมชนรอบข้างได้มากกว่าการเป็นแพลตฟอร์มแบบธุรกิจในปัจจุบัน

 

กิจกรรมเพื่อสังคมที่คุณทำในช่วงโควิด-19 มีอะไรบ้าง แต่ละกิจกรรมมีโจทย์การแก้ปัญหาสังคมอย่างไร

ในภาพรวม บทบาทของผมก็จะเป็นตัวกลางที่พยายามไปบ่มเพาะหรือไปขยายผล หรือไปช่วยสนับสนุนพวกนวัตกรรมทางสังคมที่ควรจะมีเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยที่เราจะไปดูว่าใครอยากจะทำอะไร หรือทำมาอยู่ก่อนแล้ว หรือสิ่งที่อยากให้เกิดแล้วมีใครที่รู้สึกอินแล้วอยากเข้าร่วม เราก็พร้อมจะสนับสนุน

งานแรกที่ผมทำในช่วงโควิด-19 คือแอปพลิเคชันชื่อ Sabaidee Bot  ร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีคือ Opendream ช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ เรารู้สึกว่าช่วงนั้นยังไม่มีคนทำเรื่องข้อมูลที่จะให้ความรู้กับประชาชนโดยตรงว่าต้องทำอะไรอย่างไร นอกเหนือจากการฟังภาครัฐพูด ทาง Opendream ก็เลยทำเป็น chatbot ขึ้นมาเพื่อที่จะให้คนเข้าถึงข้อมูลล่าสุดของโควิด-19 ตอนนั้นว่าในมุมของการดูแลสุขภาพตัวเองคุณต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง โควิด-19 ติดต่อกันอย่างไร หน้ากากต้องสวมใส่อย่างไร

แอปพลิเคชัน Sabaidee Bot จะมีฟีเจอร์หลักที่มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ การทำให้คนใช้งานรู้เท่าทันสุขภาพตัวเองได้ ด้วยสภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบนี้ โรงพยาบาลก็อาจมีผู้ใช้บริการเต็มขีดความสามารถได้ เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้คนไม่ต้องไปโรงพยาบาล ทำยังไงให้คนดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีที่สุด รู้ว่าอะไรเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงกับโควิด-19 ก็เลยมีการทำฟีเจอร์หลักขึ้นมาคือตัวบันทึกสุขภาพ แนวคิดคือทำอย่างไรให้คนสามารถมาบันทึกสุขภาพทุกวันหรือทุกสองวันว่าฉันสบายดี ฉันไม่ค่อยสบาย อาการที่บันทึกจะเป็นอาการหลักๆ ที่บ่งชี้ได้ว่ามีความเสี่ยงหรือมีความคล้ายกับป่วยเป็นโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน

ในขณะเดียวกัน เรามีการนำแอป Sabaidee Bot ไปช่วยทางกรมการแพทย์กับกลุ่มที่เป็น PUI (Patient Under Investigation) คือกลุ่มคนที่อยู่ในกระบวนการคัดกรองตั้งแต่รอผลตรวจว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ โดยตัวแอปจะแนะนำว่าจะต้องดูแลตัวเองระหว่างรอผลตรวจอย่างไร และหากผลตรวจเป็นบวกจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่เป้าหมายตอนแรกของ Sabaidee Bot แต่ว่าขณะนั้นเรามีเครื่องมือไม่กี่เครื่องมือที่ใช้ง่ายในระดับหนึ่ง เราก็เลยทำร่วมกับทางกรมการแพทย์ หน้าที่ที่ผมเข้าไปทำงานนี้ก็คือนอกจากช่วยคิดช่วยวางแผนแล้ว ก็จะช่วยเรื่องหาแหล่งทุน

อีกโครงการที่เราทำในช่วงโควิด-19 คือ งานที่เราทำงานร่วมกับเทใจ โครงการนี้จะเป็นแนวว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนหรือพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็น ซึ่งจริงๆ แล้วรูปแบบโครงการของเทใจคือเป็นที่บริจาคเงิน แต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดโควิด-19 ทางโรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนสิ่งของที่ต้องการจำนวนมาก เพื่อจะดูว่าโรงพยาบาลไหนต้องการอะไร เทใจเลยทำตัวเป็นตัวกลาง หาของที่เป็นความต้องการทางการแพทย์ ขณะเดียวกันเราก็จะเห็นความต้องการสิ่งของต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดอีกระบบหนึ่งขึ้นมา

หลังจากนั้นเราก็มาทำเว็บไซต์ชื่อ infoaid.org เพื่อเป็นพื้นที่กลางที่รวบรวมข้อมูลความต้องการการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงโควิด-19 โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันของ 4-5 พาร์ทเนอร์ คือว่ามีคนที่อยากบริจาคของ และมีคนที่อยากได้ของ แต่ข้อมูลทั้งสองไม่ได้เชื่อมโยงกัน เพราะข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะตรวจสอบได้ลำบาก เทใจต้องโทรประสานทุกทาง ทำให้เกิดแนวคิดว่าควรจะมีแพลตฟอร์มกลางที่มาจับคู่ demand กับ supply ช่วงที่ทำเว็บไซต์นี้ก็มีความท้าทายพอสมควร เพราะนโยบายจากส่วนกลางมองว่า ไม่ต้องการจะให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลใดขาดแคลนอะไรบ้าง  สุดท้ายจึงทำออกมาโดยเราโทรเช็กกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แต่นำข้อมูลขึ้นเป็นระดับจังหวัด ไม่ได้เป็นระดับโรงพยาบาล

ในช่วงหลังๆ เรารู้สึกว่าการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์เริ่มมีเยอะแล้ว ขณะที่มีคนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเองและเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น ซึ่งจะทำให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคมได้จริง เราจึงเริ่มจากไปหาพาร์ทเนอร์ที่เคยทำงานอยู่แล้ว อย่างทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เขาก็จะมีองค์กรที่ทำเรื่องเด็ก เด็กชายขอบบ้าง หรือกลุ่มเปราะบางบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมูลนิธิ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ จากนั้นเราก็เริ่มทำการสำรวจเบื้องต้น

อีกส่วนคือพอรู้ว่ามีความต้องการอะไรซ้ำๆ กันเยอะๆ เช่น เรื่องอาหาร ถุงยังชีพ นมกล่อง อะไรประเภทนี้ เราก็เริ่มมีทีมตรงกลางที่พยายามหาว่าบริษัทหรือองค์กรไหนตรงพื้นที่ใกล้ๆ ที่จะสามารถช่วยได้บ้าง ก็จะเริ่มทำ demand-supply matching ในขณะเดียวกันก็จะมีพวกบริษัทใหญ่ที่มีสาขาย่อยๆ เริ่มอยากเอาอาหารไปบริจาค จะไปตรงไหนบ้าง มีการช่วยชี้เป้า เราก็เริ่มมี workflow ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งงานค่อนข้างซับซ้อนกว่าฝั่งโรงพยาบาลมาก แต่ว่าก็ค่อยๆ ไปได้ ฝั่งที่เป็นเว็บไซต์เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่ว่างานที่ทำหลังบ้านที่เขาเริ่มทำ เริ่มแมตช์กันไป ก็ทำมาสักสองอาทิตย์แล้ว

หลายครั้งที่กิจการเพื่อสังคมมักเชื่อมกับเรื่องเทคโนโลยี และหลักนิติธรรม (rule of law) คุณมองความสัมพันธ์ของทั้งสามเรื่องนี้อย่างไร 

ทั้ง 3 เรื่องนี้มีจุดเชื่อมโยงกัน แนวคิดเรื่องหลักนิติธรรมคือการดำรงหรืออำนวยความยุติธรรม กิจกรรมเพื่อสังคมจำนวนไม่น้อยสร้างขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาหรือบรรเทาสิ่งที่ค่อนข้างไม่ยุติธรรมอยู่ ในระยะหลังเราก็เห็นกิจการเพื่อสังคมในไทยใช้เทคโนโลยีมาช่วยอย่างเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว เช่น โครงการที่ริเริ่มช่วยกันกับตำรวจ เป็น chatbot ชื่อ MySis ช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้หญิงที่โดนทำร้าย ว่ามีทางออกทางกฎหมายอย่างไร หรือขอความช่วยเหลืออย่างไร

ก่อนที่จะมีกิจการเพื่อสังคมที่ใช้เทคโนโลยี ก็มีความคิดริเริ่มจากผู้เชี่ยวชาญหน้างาน เช่น ตำรวจ อัยการ ที่ต้องการจะผลักดันเรื่องนี้ แต่ไม่รู้ว่าควรปรึกษาใครด้านเทคโนโลยี ระยะหลังมานี้พอมีกิจการเพื่อสังคมที่เป็นสายเทคโนโลยี การทำงานในประเด็นเหล่านี้ก็อาจเป็นไปได้มากขึ้น

 

 

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่มาจากสายเทคโนโลยีคืออาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติของการทำงานแบบกิจการเพื่อสังคม คุณคิดเห็นอย่างไร

งานกิจการเพื่อสังคมบางอย่างอาจไม่ใช่เรื่องที่บริษัทเทคโนโลยีถนัด เพราะต้องสร้างเครื่องมือใหม่มาตอบสนองความต้องการแทบจะตลอดเวลา และต้องทำงานกับความไม่แน่นอนที่สูงมาก ถ้าคุณไปคุยกับนักเทคโนโลยีที่ไหนก็ตาม สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือขอบเขตการทำงาน (scope of work) ที่ไม่แน่นอน เช่น พอลงมือทำจริงๆ มีงานงอกมาอีกยี่สิบอย่าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของงานที่ต้องทำกับประชาชน และต้องจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง

คนจากสายเทคโนโลยีที่อยากเข้ามาทำงานกิจการเพื่อสังคมต้องเข้าใจว่า งานประเภทนี้ไม่สามารถกำหนดให้ชัดเจนได้ว่าต้องมีฟังก์ชัน มีคุณสมบัติ (feature) แบบไหน แล้วทำออกมาให้เสร็จ งานกิจการเพื่อสังคมต้องออกแบบเรื่องเวลา เพราะงานจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แนวคิดการสร้างความมีส่วนร่วม และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของงานกิจการเพื่อสังคม ผมคิดว่าถ้าไม่ใช่รูปแบบที่เป็น SE ก็ไม่ง่ายเท่าไร สุดท้ายต้องไปคุยว่าจุดประสงค์หลักของบริษัทคืออะไร ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ แล้วตัวคุณและทีมงานจะแฮปปี้ไหม เรื่องเงินก็ต้องไปจัดสรร ปรับให้เหมาะสม

 

โครงการกิจการเพื่อสังคมโครงการหนึ่งที่คุณมีส่วนร่วมในการเชื่อมโลกของเทคโนโลยี และโลกของหลักนิติธรรม ก็คือ ยักษ์ดาต้า (Yak Data) อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คืออะไร

โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม RoLD และ TIJ เริ่มต้นมาจากสมาชิกในโครงการ RoLD คิดว่าน่าจะมีการทำระบบเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ และเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมในมุมที่ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการไม่เคารพกฎหมาย และเรื่องความโปร่งใสในการมีส่วนร่วมด้วย

เราเริ่มทดลองว่าในพื้นที่ที่มีปัญหาบางอย่างอยู่ ถ้าเกิดความโปร่งใสมากขึ้นในเชิงข้อมูล ทำให้คนสามารถดูข้อมูลและสามารถแก้ปัญหาพื้นที่โดยเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง คือสร้างความมีส่วนร่วม ก็น่าจะแก้ปัญหาที่คาราคาซังได้บ้าง นี่คือแนวคิดของเรา

แต่เดิมการตายบนท้องถนนของเราอาจไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเท่าไร ข้อมูลที่มีก็อยู่กับผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นข้อมูลภาพรวมมากๆ ซึ่งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่หรือเครือข่ายที่เป็นเจ้าของพื้นที่อาจรู้บ้างไม่รู้บ้าง สนใจบ้างไม่สนใจบ้าง อาจเกิดจากการขาดข้อมูลที่สร้างความโปร่งใส ซึ่งนำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วม

ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรอบๆ ชุมชน มหาวิทยาลัย หรือปั๊มน้ำมัน แล้วคนทำข้อมูลเชื่อมโยงกับพื้นที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นทางชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองข้อมูล วิเคราะห์ และช่วยกันแก้ปัญหา และข้อมูลที่ใช้ไม่ได้เป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศ แต่เป็นข้อมูลระดับชุมชนเดียว พื้นที่เดียว โอกาสที่จะสร้างความร่วมมือ ช่วยกันแก้ปัญหา และลดความขัดแย้งระหว่างกันก็จะเป็นไปได้มากขึ้น

 

จากที่ได้เข้าดูข้อมูลเพื่อใช้ในโครงการ ข้อมูลเปิด (open data) ของไทยเกี่ยวกับอุบัติเหตุเป็นอย่างไร

ข้อมูล open data เรื่องอุบัติเหตุในไทย ถ้านำไปใช้ในระดับ macro ก็พอได้ แต่ในเชิง micro หากจะใช้แก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่มันต้องทำงานกับข้อมูลเยอะขึ้น ข้อมูลบางชุดที่เราไปขอมาไม่ได้เป็นข้อมูลเปิด และข้อมูลจากหน่วยงานรัฐหลายแห่งก็มีลักษณะคล้ายกันคือ ถ้ามองเชิง macro สามารถเอาข้อมูลไปทำนโยบายภาพใหญ่ได้ แต่ถ้าจะดูข้อมูลในพื้นที่ เช่น การเสียชีวิตในพื้นที่สามกิโลเมตร จะขึ้นว่า ไม่มีข้อมูล (N/A) เยอะมาก ดังนั้น ความถูกต้องความสมบูรณ์ของข้อมูลยังต้องพัฒนาอีกพอสมควร ซึ่ง Big data อาจจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้

ความพิเศษของ Big data หากเทียบกับระบบข้อมูลแบบเก่า คือสามารถเอา AI หรือ machine learning มาใช้ โดยเฉพาะการทำ location based prediction ได้ หรือการปรับแต่ง (customize) ให้ใช้งานเฉพาะพื้นที่ (localize) ได้ หัวใจของเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือเรื่องความสามารถในการเลือกพื้นที่เฉพาะหรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แต่ของเรายังทำไม่ค่อยได้ เพราะพอจะแนะนำในพื้นที่เฉพาะเมื่อไร ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลก็เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ค่อยรู้ข้อมูล ต้องไปเก็บเพิ่ม หรือต้องไปเช็กว่าถูกเก็บมาอย่างไร แต่หากมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมเชื่อว่าคนเก็บข้อมูลก็คงมีกำลังใจ และยอมใช้ทรัพยากรเพิ่มอีกนิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ถ้าเป็นข้อมูลที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำไปใช้ได้จริงๆ สำหรับการวางแผนงาน หรือวางแผนงบประมาณในการแก้ปัญหาของตัวเอง เขาก็น่าจะอยากเก็บข้อมูลให้สมบูรณ์ขึ้น

 

อะไรคือความท้าทายของโครงการ Yak Data ในอนาคต

ความท้าทายตอนนี้คือจัดประชุมกับใครไม่ได้  ต้องบอกก่อนว่า โดยทั่วไปกระบวนการมีสามขั้น ขั้นแรกคือ ทำดาต้าวิเคราะห์ มีทั้งข้อมูลและบทวิเคราะห์ของข้อมูลออกมาเพื่อหาจุดเสี่ยง หารูปแบบ ขั้นที่สองคือการนำข้อมูลชุดนี้คืนกลับไปที่ชุมชนหรือเจ้าของพื้นที่ อาจจะเป็นชุมชน ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อคุยว่ามีจุดไหนที่อยากมาทำงานร่วมกัน ขั้นที่สามคือการวางแผนร่วมกันว่าทำอย่างไรถึงจะผลักดันแผนการร่วมกันได้

ตอนนี้ขั้นที่สองยังพอทำได้ เพราะยังประชุมกับคนไม่กี่คน ใช้ Skype หรือ Zoom ได้ แต่พอถึงขั้นที่สาม เมื่อทำแผนแล้วมันก็ต้องสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนกับพื้นที่ เช่น จะทำเรื่องในพื้นที่มหาวิทยาลัยก็ต้องเอานักศึกษามาด้วย ต้องเอาใครต่อใครมาช่วยกันคิด พอมาถึงขั้นที่สาม ทำแทบไม่ได้เลย เป็นความท้าทายที่ใหญ่ แต่หากดูความท้าทายก่อนหน้านี้ ก็เป็นเรื่องกระบวนการที่คนไม่ค่อยคุ้นเคย การเข้าถึงข้อมูลที่มีปัญหา ข้อมูลไม่ใช่ข้อมูลเปิด หรือข้อมูลที่เปิดก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ

 

แผนของคุณตอนนี้คืออยากแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ หรืออยากแก้ปัญหาที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศด้วย

คนคิดภาพใหญ่มีเยอะแล้ว ภาครัฐก็มีการทำข้อมูลขนาดใหญ่ ผมว่าถ้าเราไปแข่งกับเขาไม่น่าเวิร์ก ผมคิดว่าหากภาครัฐมีดาต้าและข้อมูลที่เป็น open data เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์แบบ macro อยู่แล้ว อาจมีประโยชน์ที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาพื้นที่ได้ ผมสนใจเรื่องที่เป็น local และหากเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจมันก็ต้องกระจายความรู้ และความสามารถในการจัดการข้อมูลด้วย ต้องไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดในกรมที่มี dashboard เห็นทุกอย่าง ไม่ควรเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างเดียวที่เห็นข้อมูล ควรจะเป็นครูคนไหนก็ได้ที่สนใจคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่อยู่รอบๆ โรงเรียน หรือ อบต. อบจ. ที่เข้าถึงข้อมูลได้ด้วย

 

การที่คุณได้เข้าร่วมในหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (RoLD) ทำให้คุณค้นพบประเด็นใหม่หรือโจทย์ใหม่อะไรบ้าง 

ผมคิดว่าก่อนเข้าโครงการ RoLD แต่ละคนก็จะอยู่ในไซโลของตัวเอง ต่อให้ตั้งใจที่จะไปเชื่อมโยงกันก็ไม่ง่ายเพราะไม่รู้จัก ผมว่าข้อดีของ RoLD คือการคัดคนที่สนใจการแก้ปัญหาสังคมหรือความยุติธรรมเข้ามาจากทุกภาคส่วน มีภาคธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรอิสระ เอกชน กิจการเพื่อสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ โดยมีจุดร่วมเรื่องความยุติธรรม จากที่แต่ละคนมีข้อมูลจำกัด ก็พอเชื่อมโยงกับคนอื่นได้  เช่น ผมมาจากฝั่งเทคโนโลยี เราสนใจอยากใช้เทคโนโลยีไปลดความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่มีทาง ไม่มีปัญญาที่จะไปคุยกับตำรวจให้รู้เรื่อง แล้วถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยีสุดท้ายมันจะไปตายที่เรื่องจัดซื้อจัดจ้างทุกครั้ง คือสุดท้ายต่อให้มีนโยบายเป็นข้อเสนออะไรเข้าไป ข้าราชการก็อาจมีผู้ค้า (vendor) ของตัวเองในระดับหนึ่ง การที่จะชวนคนอื่นที่มีศักยภาพไปทำก็ค่อนข้างยาก แต่การที่มี RoLD ทำให้เกิดการทดลองโครงการ (experimentation) ได้เร็วมาก ถ้ามีไอเดียอะไรที่ต้องใช้หน่วยงานต่างๆ แล้วอยู่ในภารกิจกว้างๆ ของแต่ละหน่วยอยู่แล้ว เราก็ทดลองโครงการอย่างรวดเร็วได้เลย บางทีอาจจะใช้งบเอกชน ใช้งบตัวเอง มันเกิดช่องทางการทำงานในทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่สามารถทดสอบและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้ และถ้าอันไหนเวิร์คก็อาจจะเริ่มขยายผลในเชิงนโยบายได้ ผมว่าเมื่อก่อนมันไม่มีกลไกแบบนี้

ยิ่งในช่วงโควิด-19 กลไกความร่วมมือกับสมาชิกโครงการ RoLD ค่อนข้างจะเห็นชัดโดยเฉพาะในเรื่องทุนทางสังคม (social capital) ก็คือคนที่อยู่ในโครงการจะมีความเชื่อถือไว้ใจกันในระดับหนึ่ง พอเรามีโครงการที่จะขยายผลก็จะมีความร่วมมือกับเครือข่ายของ RoLD เพื่อต่อยอดงานของเรา เช่นตัวแอป Sabaidee Bot เมื่อเอามาใช้ระดับชุมชนหรือระดับพื้นที่ ก็จะมีสมาชิก RoLD จำนวนหนึ่งที่ทำงานเรื่องชุมชน หรืออีกทางหนึ่งคือการเอาไปใช้ในระดับบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็นำแอปไปใช้เพื่อให้พนักงานช่วยดูแลสุขภาพตัวเองได้

หรือโครงการที่เราทำกับเทใจ มีหลายครั้งที่มีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานไม่ว่าจะเป็น protective หรือ SWAB shield สำหรับการตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลายหรือละอองมาโดนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสมาชิกใน RoLD ก็มีหลายท่านที่เป็นหมอที่สามารถให้คำแนะนำได้ นอกจากนั้นยังได้คำแนะนำจากสมาชิกที่ทำ maker ที่ทำเกี่ยวกับ 3D Printing ที่ให้คำแนะนำในการออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย

 

อะไรคือโจทย์สำคัญของกิจการเพื่อสังคมในสังคมไทย

ผมคิดว่าโจทย์ของกิจการเพื่อสังคมในไทยคือความสามารถในการใช้เครื่องมือ วิธีคิดใหม่ๆ รวมไปถึงการแก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืน ความต่างก็คือเมื่อก่อนถ้าผมเจอปัญหาสังคม หรือใครเจอปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เขียนโครงการไปขอหน่วยงานรัฐ ขอมูลนิธิ หรือขอใครก็ตามแล้วก็มาทำ ทำเสร็จแล้วก็มีโอกาสสูงมากว่าจะจบ เพราะใช้โมเดลการทำงานตามปกติ  แต่ในยุคหลังที่มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้ามา ก็ต้องเริ่มตั้งคำถามเพิ่มขึ้นว่า เรื่องนี้จะแก้แบบยั่งยืนได้ไหม ใครจะจ่าย จ่ายอย่างไร ถ้าสำเร็จ ก็จะกลายเป็นกลไกที่หมุนไปได้เรื่อยๆ

อีกโจทย์หนึ่งคือ เมื่อก่อนโมเดลของการทำงานเพื่อสังคมจะเป็นแบบองค์กรสาธารณประโยชน์ คือต้องมีคนบริจาคไปเรื่อยๆ ไม่มีคนบริจาคก็จบ หรือเป็นการทำข้อเสนอไปที่รัฐแล้วให้รัฐจัดการ ผมว่านี่โมเดลสมัยโบราณนะ แต่สมัยก่อน คนทำงานภาครัฐเราแข็งแรงระดับหนึ่ง มีคนที่มีศักยภาพสูงอยู่เยอะ จึงมีความสามารถในการจัดการอะไรให้เปิดกว้างได้เยอะ หาโมเดลที่เวิร์กแล้วเด้งกลับไปที่ภาครัฐ ก็กลายเป็นกรมกองอะไรขึ้นมา

แต่โมเดลแบบนี้ ผมว่าทำไม่ได้แล้ว คำถามคือมีนวัตกรรมแล้ว จะไปโผล่ไหน จะไปตั้งมูลนิธิ กฎหมายมูลนิธิไทยก็ยาก ผมเลยมองว่าถ้าคุณมีนวัตกรรม มีแรงบันดาลใจ แล้วกลายเป็น SE ได้ ก็มีโอกาสที่จะขยายผล หรือหากไม่ขยายผลก็หมุนไปได้เรื่อยๆ เป็นกลไกถาวรได้

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save