fbpx
คืบก็ทะเล ศอกก็สินในน้ำ: หยั่งวัดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และ ความมั่นคงทางทะเลนิยามใหม่ กับ โสภารัตน์ จารุสมบัติ

คืบก็ทะเล ศอกก็สินในน้ำ: หยั่งวัดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และ ความมั่นคงทางทะเลนิยามใหม่ กับ โสภารัตน์ จารุสมบัติ

สมคิด พุทธศรี และ ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ปภัสรา เทียนพัด ภาพ

เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันรั่ว ข้อพิพาทเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัญหาแรงงานทาสสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมประมง การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายและทำประมงทำลายล้าง การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจนทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งเสื่อมโทรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นบนภาคพื้นสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า  ‘ทะเล’

เป็นที่รู้กันดีว่า ทะเลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนาแน่น แต่ตัวเลขมูลค่าเหล่านี้ยังคลาดเคลื่อนเพราะขาดการสำรวจอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันก็ขาดการดูแลให้กิจกรรมเหล่านั้นดำเนินไปอย่างคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นองค์รวมมากพอ

ในอนาคตทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป เมื่อไทยได้เริ่มเหลียวมองโจทย์เหล่านี้ เกิดการทบทวนการจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล การตระหนักถึงข้อผูกพันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ที่ไทยให้สัตยาบันไว้ เกิดข้อเสนอให้รัฐนิยาม  ‘ความมั่นคง’ ทางทะเลขึ้นใหม่โดยไม่ได้หมายรวมแค่ความมั่นคงด้านอธิปไตยทางน่านน้ำเท่านั้น และปี 2560 วงวิชาการไทยได้ต้อนรับเครื่องมือเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อท้องทะเลอย่าง ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ (Blue Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในระดับโลก

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือหนึ่งในผู้คิดริเริ่มหลายๆ ด้านเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โสภารัตน์รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าโครงการการจัดทำแผนที่นำทาง ‘การวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issues) ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล’ หรือที่เรียกว่า ‘SRI 7’  ซึ่งทำงานร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนภาครัฐผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย ทหารเรือผู้มีข้อมูลทางทะเลที่ดีที่สุด และภาคเอกชนซึ่งเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ฯลฯ การผลิตองค์ความรู้ในครั้งนี้อาจเป็นเสมือนกล้องส่องทางไกลในมือต้นหน ช่วยเบิกทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในขั้นต่อไป

สมคิด พุทธศรี และ ชลธร วงศ์รัศมี ชวนโสภารัตน์สนทนาถึง ‘ประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล’ และ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ สิ่งใหม่ๆ ที่ก่อตัวขึ้นในท้องทะเลไทย ซึ่งกำลังเปลี่ยนโฉมหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจบนท้องทะเลไปอย่างสิ้นเชิง

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ 

การวิจัยประเด็นยุทธศาสตร์เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเลเกิดขึ้นในบริบทไหน ทำไมทีมวิจัยจึงเห็นว่า ‘ทะเล’ เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ที่ต้องให้ความสนใจ

แนวคิดนี้เริ่มมีเสียงตอบรับมาตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว จ.ระยอง เหตุการณ์ตอนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเราไม่มีระบบการทำงานเพื่อรับมือปัญหาเกี่ยวกับทะเลอย่างเพียงพอ ตามมาด้วยเหตุการณ์ IUU Fishing  (Illegal Unreported and Unregulated Fishing ซึ่งหมายถึง การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม)

อีกด้านหนึ่งเมื่อเราพูดถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากร ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์และนักบริหาร มองว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะ คนเพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรบนบกไม่เพียงพอแล้ว แต่เคลื่อนไปสู่การใช้ทรัพยากรทางทะเลค่อนข้างมาก และมีโอกาสเคลื่อนไปสู่ภาคท้องทะเลก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

ทะเลมีมูลค่ามากแค่ไหน

ปี 2558 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรายงานว่าทรัพยากรในท้องทะเลมีมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาท มูลค่านี้สูงมาก เราพยายามเผยแพร่ข้อมูลให้ฝ่ายนโยบายรับรู้ว่ามีมูลค่าเหล่านี้อยู่ ถ้าคุณเห็นมูลค่าเหล่านี้ คุณจะเห็นความสำคัญ แต่การขับเคลื่อนระดับนโยบายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตราบใดที่ยังไม่เกิดวิกฤต รัฐจะมองว่ายังไม่ใช่ปัญหาและมองเรื่องนี้ผ่านกรอบความมั่นคงแบบเดิม

งานวิชาการของอาจารย์เผดิมศักดิ์ (ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ หลักสูตรการบริหารกิจการทางทะเล (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งเป็นงานริเริ่มของ สกว. ก็พยายามหาตัวเลขบ่งชี้ว่าทะเลไทยมีมูลค่า แต่อาจารย์ก็ยอมรับว่าตัวเลขนั้นเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

สังคมไทยไม่ค่อยเห็นว่าทะเลมีมูลค่าเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหนไม่ค่อยได้ถูกพูดถึง แต่ระยะหลังมีงานศึกษาที่ยืนยันตัวเลขบ่งชี้ชัดว่าทรัพยากรธรรมชาติทั้งในทะเลและชายฝั่งมีมูลค่ามหาศาล เช่น เป็นแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอน แหล่งสร้างอาหาร ฯลฯ ช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ ทะเลมีศักยภาพมากและถ้ารักษาไม่ดีจะเกิดผลเสียตามมา ถ้ารักษาได้ดี มีกลยุทธ์ มียุทธศาสตร์ในการใช้ที่ดี จะทำให้เราใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืน และเมื่อเร็วๆ นี้ทั่วโลกประชุมกันว่าเรื่องทะเลจะเป็นเรื่องหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วย

กรอบความมั่นคงแบบเดิมเป็นอย่างไร และต่างจากกรอบความมั่นคงแบบใหม่อย่างไร

“ในอดีตรัฐใช้คำว่า ‘ความมั่นคง’  ใน ‘แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล’ เพื่อจัดการกับผลประโยชน์ทางทะเล ภายใต้นิยามนี้มองว่ามิติความมั่นคงปลอดภัยคือหัวใจใหญ่ แต่ทะเลมีความมั่นคงที่ไม่ใช่ในเชิงใช้กองกำลังปกป้องรักษาเท่านั้น แต่ยังมีความมั่นคงอย่างภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กระทั่งการเป็นแหล่งทรัพยากรทางอาหารก็เป็นมิติของความมั่นคงเหมือนกัน

เราพยายามผลักดันคำว่า ‘ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล’ เข้าไปแทน ซึ่งคำว่า ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ หมายรวมถึงทุกอย่างทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง กฎหมาย ประเด็นเจาะลึกทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น สมุทรศาสตร์ ประเด็นเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันทางทะเล พลังงาน ล้วนเป็นผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งหมด ซึ่ง ‘ความมั่นคง’ เป็นหนึ่งในผลประโยชน์ด้วย

ที่ผ่านมาการที่เรามองไม่เห็นผลประโยชน์ทางทะเลเท่าที่ควรเป็นเพราะเราไม่เคยสนใจหรือเราสนใจแต่ความรู้เราไม่พอ

มีทั้งสองด้าน จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันของเรา มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตทางทะเลโดยตรงค่อนข้างน้อย มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่เห็นทะเลในอีกมิติหนึ่ง คนทั่วไปจึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนี้

ในต่างประเทศมีองค์ความรู้เกี่ยวกับทะเลค่อนข้างเยอะ แต่ในประเทศไทย เราไม่ค่อยได้ศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรามีอยู่มีมูลค่าเท่าไหร่ ควรรักษาไว้อย่างไร หรือเราจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้เราสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

โจทย์ที่ประเทศไทยคำนึงถึงเป็นหลักในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลอะไรบ้าง

น่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรที่เสื่อมโทรมลงมากๆ และเร็ว เรามีกิจกรรมใช้ประโยชน์จากทะเลเยอะ แต่ไม่มองว่าจะดูแลทะเลอย่างไร และไม่ได้มองเป็นองค์รวม เราใช้ทรัพยากรไปโดยไม่ได้คำนึงว่าเราสูญเสียไปมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่จริงๆ เรามีศักยภาพทั้งการใช้และการรักษาให้อยู่ได้อย่างยาวนาน ทรัพยากรเรามีมูลค่ามหาศาล แต่เราไม่ได้คิดถึง

ทรัพยากรทางทะเลของเราร่อยหรอลงไปทุกวันๆ งานศึกษาของอาจารย์อรพรรณ (ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ค้นพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนของเราลดลงมาก ซึ่งป่าชายเลนสามารถรักษาสภาพแวดล้อม ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ แต่เราไม่เคยมีงานศึกษาว่าจริงๆ แล้ว พอแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำของเราหายไป ต้นทุนฟื้นฟูป่าชายเลนของเรา มีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน มีการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่า ถ้าฟื้นฟูป่าชายเลนซึ่งมีต้นทุนเท่าไหร่ จะสามารถปกป้องปัญหาสึนามิได้ โยงไปยังปัญหาอื่นๆ ได้ แต่ของเราไม่มี

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ 

เมื่อปี 2560 ทีมวิจัยได้หันมาสนใจเรื่อง ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจในระดับโลก เลยเกิดความสงสัยว่า ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ คืออะไรกันแน่ เกี่ยวข้องอะไรกับ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล’ อะไรอยู่ใต่ร่มของอะไร และอะไรใหญ่กว่า

‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ (การพัฒนากรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย) เป็นมิติหนึ่งของ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล’

เศรษฐกิจสีน้ำเงินมองว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่กับทะเลได้อย่างยั่งยืน กิจกรรมอะไรเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับทะเล มีอะไรที่เราต้องคำนึงถึงและรักษา เราจะทำอย่างไรให้ผู้คนเห็นคุณค่าและมูลค่าที่แท้จริงของผลประโยชน์นี้ นี่คือประเด็นสำคัญ

ในเชิงวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีสองนัยยะ คือ หนึ่ง Blue Ocean Wealth หรือการมองในเรื่องความยั่งยืน การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เช่นการมองในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดของเสียน้อยสุดหรือไม่มีของเสียเลยเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สอง Blue Ocean Economy  คือการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล เน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งคือมิติที่เราโฟกัส

เมื่อตอนเราทำแผนที่นำทางสำหรับการทำวิจัยในประเด็นเรื่อผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล เราหารือร่วมกันว่า ถ้าจะทำอะไรเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ในการขับเคลื่อนน่าจะมี 2 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ ทำ State of the World’s Ocean คือให้เรารู้ไปเลยว่า สถานภาพของประเทศไทย สภานการณ์ด้านทรัพยากรชายฝั่งเป็นอย่างไร

สองคือการทำมิติด้านเศรษฐกิจทางทะเล ซึ่งสะท้อนการรักษาผลประโยชน์ของเราได้ดี เราเลยไปศึกษาดูว่ามีใครพูดเรื่องอะไรบ้าง ก็มีเรื่อง Blue economy ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา สกว. ก็เลยดึง 2 โจทย์นี้ขึ้นมาเป็นโจทย์ใหญ่ ทำไปด้วยกัน และ 2 เรื่องนี้จะเดินไปอย่างไรในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คืออะไร 

มีคนพูดว่าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เน้นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเหมือนกันกับเศรษฐกิจสีเขียวนั่นแหละ ถ้าพูดในเชิงพื้นที่มันก็คือเศรษฐกิจสีเขียวในทะเล นี่เป็นประเด็นที่ 1 ส่วนประเด็นที่ 2 เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เน้นนวัตกรรมค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น การเผชิญภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นปัญหาที่เราขับเคลื่อนวิธีแก้ไขบนบกมาเยอะ แต่ยังไม่ค่อยเคลื่อนลงทะเลทั้งๆ นี่อาจเป็นโอกาสที่ทะเลและชายฝั่งโดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนของเราซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ดี น่าจะได้พัฒนาเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงสำหรับประเทศไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมาพิจารณาว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก Blue carbon ดีไหม ทะเลมีแหล่งที่จะทำให้เราพัฒนาการใช้ประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่น การเอาทรัพยากรมาทำยา มาทำพลังงาน อันนี้เราก็ไม่ค่อยได้ทำกัน แทนที่เราจะอาศัยแต่กลไกภาคอุตสาหกรรมและมติภาครัฐขับเคลื่อน เราสามารถมองเรื่องนี้แบบครอบคลุม เน้นเศรษฐกิจทั้งนวัตกรรม และดึงเอาเศรษฐกิจจากภาคชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ความต่างอีกอย่างหนึ่งคือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จะดึงภาคีเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะกว่า ทั้งภาคีในประเทศเรื่องชุมชน เรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้เศรษฐกิจสีเขียวจะไม่ได้พูด ทะเลมีเรื่องสิทธิประโยชน์ค่อนข้างเยอะ เช่น เรื่องสิทธิชายฝั่ง ข้อขัดแย้ง การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งตรงนี้เศรษฐกิจสีเขียวไม่มี เพราะสามารถวัดพื้นที่ทางกายภาพได้ชัดเจน หรือเมื่อปัญหาในทางมลพิษ  ในกรอบของเศรษฐกิจสีเขียวจะหาความชัดเจนได้ว่าคุณผลิตมลพิษตรงนี้  แต่ของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน แพลงตอนไม่อยู่กับที่ ปลาไม่ได้อยู่กับที่ การวัดจะยากกว่า

เวลาพูดถึง ‘เศรษฐกิจ’ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ภาคเอกชนต้องมีบทบาทหลัก ภาคเอกชนมีบทบาทในการช่วยเหลือเรื่องนวัตกรรมและตื่นตัวต่อเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินแค่ไหน

เอกชนในต่างประเทศค่อนข้างตื่นตัวมาก โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เพราะเขามองว่าทะเลมีศักยภาพสูง ในส่วนของการลงทุนในทะเลไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัยมาพัฒนาทรัพยากร ในแง่ของการหาแหล่งพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม และร่วมมือกับภาครัฐในแง่ของการศึกษา การให้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ เศรษฐกิจสีน้ำเงินในซีกโลกตะวันตกจะศึกษาในแง่โอกาสทางการลงทุนเยอะมาก

ส่วนเอกชนในเมืองไทย จริงๆ แล้วก็ทำเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตลอด แต่เป็นเฉพาะส่วนของเขา ไม่มองภาพคำว่า ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ พอพูดเรื่อง ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ กับภาคเอกชน ทุกคนไม่รู้ว่าคือเรื่องอะไร  ไม่เห็นภาพว่าเราต้องมองในแง่ของภาพใหญ่ว่าจะทำยังไงให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่นแท่นขุดเจาะน้ำมัน เขาจะคำนึงแค่ว่าของเขาเป็นไปตามกฎหมายแล้วนะ เขาดูแลทรัพยากรอย่างไร เขามีส่วนร่วมกับชุมชน เขาทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว แต่ไม่ได้มองว่ากิจกรรมของเขา เช่น การขุดเจาะน้ำมันทางทะเล ควรจะไปแบบไหน จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้ไหม เขาจะไม่ได้มองแบบนี้

อุตสาหกรรมประมงยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เขาสนใจเลย อาจารย์เคยไปคุยกับนักธุรกิจที่ทำประมง เขาบอกเลยว่าสำหรับเขาเป็นนี่เรื่องใหม่ เพิ่งรู้เหมือนกัน แต่เขาก็สนใจและถามกลับว่าถ้าเขาทำแล้วเขาจะได้อะไร

ภาครัฐไทยรู้จักเศรษฐกิจสีน้ำเงินหรือไม่ อย่างไร

ภาคเอกชนรู้จักมากกว่าภาครัฐด้วยซ้ำไป ภาครัฐทำงานตามระเบียบของเขา เพราะฉะนั้นการมองทะเลแบบองค์รวมนั้นพบได้ยาก และวิธีการทำงานของรัฐคือต่างคนต่างถือกฎหมาย ซึ่งกระจัดกระจาย พอพูดถึงทะเล เราต้องทำงานด้วยกันหลายฝ่าย ต้องไม่ขีดเส้น ต้องทลายกำแพงออก

กองทัพเรือถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยหรือไม่ และอยู่ในกลุ่มที่เราชวนมาคุยด้วยหรือไม่

เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก และเราชวนมาคุยตลอด  ที่ผ่านมากองทัพเรือตื่นตัวมาก ทหารเรือรับโครงการการทำแผนที่ทางทะเลมาทำทั้งทีมเพราะเขามีข้อมูลเยอะ ข้อมูลทะเลต้องยกให้ทหารเรือเป็นหลัก ความเข้มแข็งในแง่การดูแลทางทะเลในมิติความมั่นคง เขาไม่แพ้ใครเลย เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงในทางทะเล แต่เผอิญมีบริบททางการเมือง คือผู้บริหารของเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยได้ประโยชน์ในทางการเมือง ดังนั้นอะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น เขาก็จะเก็บไว้ก่อน เพราะฉะนั้นพลังการขับเคลื่อนจึงเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวมากๆ แล้วพยายามจะทำ และเราพยายามใช้กลไกทางวิจัย นักวิชาการเข้าไปเคลื่อน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้วย ทีมนักวิจัยทางทะเลจำนวนหนึ่งไปอยู่ในระดับนโยบาย เป็นคณะกรรมการ คณะปฏิรูป เช่นตัวอาจารย์เองเป็นผู้เชี่ยวชาญทางทะเลระหว่างประเทศมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นเข้าจะไปขับเคลื่อนได้

อุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจทะเลไทยคืออะไร

เราไม่มีข้อมูล เช่น ตอนนี้ยังไม่มีงานศึกษาที่รวบรวมมูลค่าได้ชัดเจนเลย หนึ่งในงานวิจัยย่อยในชุดโครงการซึ่งทำโดยอาจารย์นิรมล (รศ.ดร. นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พยายามที่จะสำรวจมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเล แต่ก็ตอบโจทย์ได้บางส่วน เพราะมีปัญหาเรื่องข้อมูล แต่ทำให้เราเห็นมุมมองบางอย่างเช่น พื้นที่ติดทะเลของไทยเราซึ่งมีทั้งหมด 13 จังหวัดในทะเลฝั่งตะวันออกอย่างระยอง และชายฝั่งตะวันออกที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เทียบเคียงกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมี GDP ค่อนข้างสูง แต่เปรียบกันแล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจของทะเลยังสู้ทางฝั่งตะวันออกไม่ได้ หรือ จ.สมุทรสาคร เราควรให้ความสำคัญกับภาคส่วนเรื่องประมงเพราะคุณค่าสูงกว่าภาคส่วนอื่นๆ ฯลฯ

ถ้าเรามีตัวเลขแบบนี้แล้วเราดึงออกมาว่ามูลค่าทางทะเลเอาเข้าจริงมีเท่าไหร่ จะทำให้เราเห็นทิศทางว่าถ้าเราจะพัฒนาเรื่องเกี่ยวกับทางทะเล เราควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงไหน และแต่ละจังหวัดมีศักยภาพอะไรอย่างไร แต่ละจังหวัดมีกิจกรรมทางทะเลเด่นๆ คืออะไรบ้าง เพราะเศรษฐกิจสีน้ำเงินต้องรู้ว่าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมาก่อน เน้นว่าตรงนี้น่าจะเน้นเรื่องประมง ท่องเที่ยว หรือขนส่ง เพราะฉะนั้นถ้าเรามีข้อมูลเป็นหลักพิงพอสมควร ที่จะบอกทิศทางให้ผู้กำหนดนโยบายได้ เราก็จะเห็นทิศทางได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ การทำงานเรื่องทะเลต้องอาศัยความรู้อย่างบูรณาการ เรื่องทะเลเป็นเรื่องเชิงกายภาพหรือเกี่ยวกับนิเวศวิทยาก็จริง แต่คาบเกี่ยวอยู่กับศาสตร์อื่นด้วย ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย จึงจะตอบคำถามเรื่องทะเลได้ เช่น เรากำลังจะทำเขตแผนที่ทางทะเล ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่จะบอกว่าแต่ละเขตในท้องทะเลน่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเกิดขึ้นมันจะไปขีดทับเส้นในการปกครอง ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ในการจะช่วยกันมองว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะช่วยกันแก้ปัญหาในพื้นที่ทางทะเลอย่างไร

ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลเป็นเรื่องใหญ่ การที่จะรู้ว่ามีผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เราต้องรู้ว่ามูลค่าของเศรษฐกิจทางทะเลมีอะไรบ้าง การสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้ยากมาก สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ไทยเรื่องทะเลเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา สำหรับนักวิทยาศาสตร์ เรื่องนโยบายหรือยุทธศาสตร์ทางทะเลไม่กระทบใจเขาเท่าเรื่องวิทยาศาสตร์แบบลึกๆ ทุกฝ่ายต่างอยากลงลึกในศาสตร์ของตัวเอง แต่การทำงานเรื่องทะเลทั้งคนทำงานด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายต้องมีการเหลื่อมซึ่งกันและกันให้ได้ นั่นคือความท้าทาย

ที่ผ่านมาข้อมูลเรื่องทรัพยากรทางทะเล เป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ (open data) หรือไม่

ถ้ามีคงเป็นข้อมูลของกรมประมงซึ่งคนทั่วไปเข้าถึงได้ ที่นี่เก็บข้อมูลทุกปีจึงดีที่สุดในแง่ของการอัปเดต ส่วนของที่อื่นๆ แทบจะไม่มี แต่ข้อมูลบางส่วนไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจทางทะเล ที่เราได้จากตัวเลข GDP ระดับจังหวัด เราต้องค้นหาข้อมูลเศรษฐกิจทางทะเลจากข้อมูลในภาคส่วน ‘การเกษตร’ ทั้งหมด โดยไม่ได้แยกระหว่างการเกษตรบนบกกับในทะเล

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดเก็บข้อมูลทางทะเล ไม่ว่าจัดเก็บโดยหน่วยงานไหน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่เก็บควรเหมือนกัน เช่น เก็บทุกๆ 3 เดือน หรือ 1 ปี เก็บ 1 ครั้ง ฯลฯ แต่ตอนนี้ใครอยากเก็บก็เก็บ อยากเก็บแบบไหนก็เก็บ จึงใช้ในเชิงวิเคราะห์ไม่ได้  เป็นปัญหาเรื่องการทำฐานข้อมูลของประเทศไทย หน่วยงานที่ทำทางด้านสถิติก็ไม่ได้เก็บข้อมูลทางทะเลโดยเฉพาะ

ส่วนข้อมูลจากนักวิชาการที่เรามีอยู่มีความลึกลับซับซ้อน เหมือนจะมีแต่ไม่มี ที่มีอยู่ก็ต้องมาทำเอง เช่น แค่เราต้องการรู้ว่าตรงไหนนับเป็น ‘จังหวัดทะเล’ ใช้เกณฑ์อะไร เราพบว่าแต่ละงานวิจัยตัวเลขก็ไม่ค่อยเท่ากัน

อย่างข้อมูลของทหารเรือ ถ้าเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นแก่สาธารณะจะกระทบความมั่นคงไหม 

ถ้าเป็นข้อมูลบางอย่างที่ออกมาในรูปของงานวิจัย อาจารย์เชื่อว่าเผยแพร่ได้ ถ้าเขาร่วมมือแล้วเอามาใช้ประโยชน์ในการวิจัย เมื่อนั้นมันก็เปิดแล้วล่ะ ทหารเรือมีความชำนาญเรื่องทะเละมาก แผนที่ทะเลของเขาที่รู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน กระแสน้ำเป็นยังไง กรมอุทกศาสตร์คือกรมที่มีข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นความลับ แต่ทหารเรือที่ทำงานในระดับนโยบาย พอเข้ามาทำเขาก็สามารถเอาข้อมูลพวกนี้มาให้เราได้รับรู้ มันก็เป็นข้อดี

อาจารย์ทำเรื่องทะเลมา 3-4 ปี เห็นศักยภาพในการยกระดับของประเทศไทยไหม

อาจารย์เห็นขบวนการเคลื่อนไหวบางอย่างที่เคลื่อนไปในทิศทางบวก เวลาพูดถึงเรื่องทะเลเห็นคนมีพลัง ซึ่งเป็นฐานที่ดีคนที่เขาทำประเด็นทะเลมาตลอด ไม่ทิ้งทะเล ซึ่งอาจารย์ชอบมากที่ได้ร่วมทำงานกับคนที่ทำงานด้านทะเล ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ แม้แต่คนในภาครัฐที่ทำเรื่องทะเล มีใจอยู่ในนั้นเลย ชวนใครมา ก็มาทำ ไม่ทิ้งกัน แต่ยากตรงที่ว่าคนทำกับคนที่เคลื่อนระดับใหญ่ หรือระดับนโยบาย ยังไม่ค่อยเชื่อมกัน คนที่ทำเรื่องทะเลเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงและค่อนข้างชัดเจนในระเบียบวิธีของตนเอง ในขณะที่งานนโยบายมีความเป็นการเมืองสูง ต้องมีกลยุทธ์บางอย่างทำให้คนอื่นเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ

อาจารย์เคยเชิญคนของ IUCN (International Union for Conservation of Nature – หน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ) มาพูด อาจารย์ถามเขาว่า เคล็ดลับของเขาเวลาขับเคลื่อนเรื่องทะเลเขาทำอย่างไร เขาบอกว่าคุยกับผู้กำหนดนโยบายโดยตรงไม่ได้หรอก  เพราะเราทำรายงาน เขาก็ไม่อ่าน เราย่อยข้อมูลให้เหลือ 1 แผ่น เขาก็ไม่ดู เราพูด เขาก็ถามว่าคุณเป็นใคร

เคล็ดลับของเขาคือต้องไปหานักการเมืองที่ฟัง เช่น เขารู้ว่านักการเมืองคนนั้นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องทางทะเล เขาก็ไปสืบว่าคนนี้ทำฟันกับหมอฟันคนไหน เขาเลยไปคุยกะหมอฟัน จนหมอฟันอิน พอนักการเมืองคนนั้นไปหาหมอฟัน ก็ให้หมอฟันพูดไปด้วยว่าทะเลสำคัญ (หัวเราะ)

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ 

อยากชวนอาจารย์คุยเจาะลึกในโครงการย่อยที่คณะวิจัยในโครงการกำลังทำอยู่ ตอนนี้มีงานวิจัยอะไรที่น่าสนใจบ้าง

จริงๆ มี 3 เรื่องด้วยกันที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ หนึ่ง การศึกษาเกี่ยวกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพราะการใช้ประโยชน์จากทะเลจริงๆ ต้องเชื่อมโยงกับภายนอกด้วย และต้องมีกรอบกติกาหลักสากลซึ่งเราเป็นภาคีอนุสัญญาอยู่ นั่นคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (United Nations Convention on the Law of the SeaUNCLOS) ภายใต้กรอบนี้ ทำให้บริบทการใช้ประโยชน์ทางทะเลของเราต้องคำนึงถึงว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน สิทธิของเราคืออะไร ขณะเดียวกันการมี UNCLOS ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์บางพื้นที่ได้ และมีบางพื้นที่ที่ควรจะใช้ประโยชน์ได้ แต่เรายังไม่ได้ศึกษาเลยว่าเงื่อนไขคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ เราไปให้สัตยาบันแล้วก็จบ แล้วเราก็นิ่งอยู่กับที่

อยากให้ช่วยขยายความ UNILOS อีกสักหน่อยว่าสำคัญอย่างไร และการที่เราเข้าแล้วไม่ทำอะไรต่อจะส่งผลอย่างไร

UNCLOS เป็นอนุสัญญาที่รวมหัวข้อของกฎหมายทะเลไว้ทั้งหมด และให้สิทธิ์หลายอย่าง เราไปให้สัตยาบันเพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิ์

ถ้าถามว่าทำไมเราถึงเข้า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายใหญ่ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ถ้าไม่เข้าเราจะสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะสิทธิการใช้ประโยชน์ทางทะเล แต่การเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ UNCLOS แต่ทุกฉบับ เราต้องศึกษาว่าในกฎหมายฉบับนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง อะไรเป็นทางเลือก อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิทธิ์ของเรา อะไรเป็นสิ่งที่เราควรปกป้อง และดูกฎหมายภายในของเราว่าข้อไหนสอดคล้อง เอื้อ ขัด เกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้อง ถ้าเราทำแล้วเราจะได้อะไร ถ้าเราไม่ทำจะสูญเสียอะไรหรือเปล่า

ปัญหาของเราคือเราไปให้สัตยาบันมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอะไรต่อ แต่ละหน่วยงานใน 16 กระทรวงที่เกี่ยวข้องถือกฎหมายเดียวกันกระจายที่ละ 2-3 ฉบับ  เช่น เรื่องการขนส่งทางทะเล มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า ฯลฯ  ซึ่งต้องมาคุยกันว่ากฎหมายที่แต่ละกระทวงถืออยู่เป็นอย่างไร ใครรับผิดชอบอะไรแค่ไหน สอดรับกับอนุสัญญานี้ไหม ถ้าไม่สอดรับเราควรต้องปรับแก้อย่างไร แต่ก็ยังไม่ได้ทำ ทุกคนยังทำไปตามบทบาทของตัวเอง นี่คือปัญหาของระบบราชการไทยที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ทำได้ค่อนข้างยาก โดยบริบทของราชการที่ไม่ค่อยทำงานบูรณาการ

ตัวอย่างหนึ่งคือ UNCLOS พูดถึงเขตเศรษฐกิจทางทะเล เช่น เดิมแต่ละประเทศมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ออกไป 12 ไมล์ทะเล แต่ภายใต้ UNCLOS ทุกประเทศสามารถขยายสิทธิการประโยชน์ทางทะเลออกไปได้กว้างขึ้นถึง 200 ไมล์ทะเล  เพราะฉะนั้นทุกประเทศขยายหมดเลย แต่ทะเลหลวงหายไป เรียกว่าเราเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (land locked state) โดยปริยาย เพราะชนกับเขตแดนของมาเลเซีย กัมพูชา

สมมติถ้าวันดีคืนดีมีหลายๆ ประเทศ ขยายเขตแดนทางทะเลตามสิทธิในอนุสัญญาของเขา ชาวประมงเราก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่มีกฎหมายภายใน กฎหมายภายในเราไม่รองรับสิทธิ์ของเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ แทนที่เราจะใช้ประโยชน์ การแก้ปัญหาเชิงรุกของบ้านเราแทบจะไม่มีเรื่องเกี่ยวกับทะเลเลย เราไม่มองไปข้างหน้า เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

หมายความว่า เรามีกรอบหรือแนวทางที่จะเดินไปอยู่ แต่เราไม่ทำตาม

ใช่ เราลงนามในอนุสัญญาหลายฉบับ แต่เราไม่ได้ดำเนินการอะไร ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือกรณีของอุตสาหกรรมประมงกับ IUU สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ได้มีนโยบายชัดเจนเพื่อทำตามอนุสัญญาที่เราลงนามไว้ตั้งแต่แรกเลย ถ้าเราตอบโจทย์นี้มาตั้งแต่ตอนต้นก็จะไม่มีปัญหา เช่น ถ้าเราค้าขายกับเขา มันต้องมีการทำตามขั้นตอน 1 2 3 4 5  ก่อน ภาครัฐไทยไม่ได้กระตือรือร้นอะไรเลย เก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ จนกระทั่งเขาดึงขึ้นมา อนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่เราเป็นภาคี ไม่ได้เป็นกฎหมายอย่างแข็ง (Hard Law) ที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตามก็จริง แต่เป็นกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Law) ที่ให้กรอบในการดำเนินการกับเราในแง่ที่ว่า เราจะเสียผลประโยชน์หลายๆ อย่างถ้าไม่ทำตาม เช่น เขาบอกว่าให้เราทำสิ่งโน้นสิ่งนี้เพื่อปกป้องสิทธิ์ เราก็ไม่ทำ พอถึงเวลาเราจะใช้สิทธิ์ เราก็ไม่มีสิทธิ์รองรับ

เพราะฉะนั้นโจทย์ในอนาคตอันใกล้ที่เราต้องทำก็คือ เราต้องศึกษาว่ากระบวนการที่เราจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตการทำกิจการประมงของประเทศไทยเรานั้นควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการทำประมงในประเทศ รวมทั้งให้ชาวประมงของเราได้สิทธิ์ไปทำประมงต่างประเทศได้ด้วย  สิทธิ์ที่เราจะใช้ทะเลซึ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเอื้อกับเรามากน้อยแค่ไหน เราทำได้ไหม กฎหมายภายในเราควรทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่คิดจะเตรียมและมองไปข้างหน้า

อะไรคือโจทย์ใหญ่ข้อที่สองที่คณะวิจัยในโครงการฯ กำลังศึกษาอยู่

โจทย์ข้อที่สองต่อยอดมากจากงานของอาจารย์เผดิมศักดิ์ทำไว้ นั่นคือ จะทำอย่างไรให้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งให้ยั่งยืนได้ ซึ่งโครงการวิจัยที่เราทำไม่ได้ทำแต่เพียงการสร้างองค์ความรู้อย่างเดียว แต่ยังทำงานขับเคลื่อนด้วย เราทำทั้งการผลักดันนโยบาย  การสร้างเครือข่าย และสร้างองค์ความรู้ ฯลฯ

ภายใต้โจทย์นี้ เราทำแพล็ตฟอร์มความรู้ขึ้นมา และระหว่างทางการทำวิจัยแต่ละชิ้นเราจะเผยแพร่ต่อสาธารณะมาตลอด เช่นการจัดเวทีแลกเปลี่ยน พยายามทำให้คนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแบ่งปันองค์ความรู้ร่วมกัน มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตอนทำแผนที่วิจัยเพื่อตกผลึกว่าภายในในอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะจะมีโจทย์เรื่องทะเลอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ เราทำแพล็ตฟอร์มสำหรับการผลักดันด้านนโยบาย โดยพยายามดึงคนจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายมาคุยกัน เรื่องทะเลมีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด 16 กระทรวงกับอีกหลายร้อยกรม เวลาทำงานต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ทุกคนทำงานด้วยกันได้  เราพยายามใช้แพล็ตฟอร์มนี้เชิญคน มาคิดด้วยกัน แชร์ข้อมูลกัน แล้วทำนโยบายฉบับย่อออกมาเพื่อให้เขาเห็น

แล้วโจทย์ใหญ่ข้อที่สามคืออะไร

การขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้  เช่น การทำโจทย์วิจัยต่างๆ การหาทุนวิจัย เราหาความรู้โดยพยายามสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเราเอง เราจัดสัมมนากับ Partnerships in Environmental Management for the Seas of East Asia (PEMSEA)  และดึงองค์ความรู้ใกล้ๆ ตัว เช่นของประเทศเพื่อนบ้านมาดูว่าเขาทำอะไรไปถึงไหนแล้ว

การทำงานกับเครือข่าวยในระดับนานาชาติสำคัญมาก เพราะในการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลายๆ กลุ่มประเทศเขาจับมือร่วมกัน ถ้าเราไม่ไปร่วมกับเขาเราจะเสียโอกาสและสิทธิของเราเองด้วย ในแง่ของการใช้ประโยชน์เหล่านี้ที่เราควรได้ เราก็จะเสียไป

จริงๆ เราจับมืออยู่แล้วกับหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอ่าวเบงกอล กลุ่มของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่ม PEMSEA แต่ก่อนเราเป็นสมาชิกของ COBSEA เราไปร่วมเป็นสมาชิกของเขา แต่เราไม่ค่อยมีบทบาทในการทำงานสักเท่าไหร่ เช่นในการประชุม เขาให้นักวิชาไปนำเสนองาน ของเราจะไม่ค่อยเสนอ เพราะการนำเสนอแบบนี้ต้องอาศัยงานวิจัยเป็นหลักพิง ถ้าไม่มีเราก็ไม่กล้าไป พูดอะไรไม่มีข้อมูล พอจะของานวิจัยก็ไม่มีใครให้

อีกงานหนึ่งคือการประชุม ‘Blue Academy forum’ เริ่มครั้งแรกที่ไทย ประชุมหลายครั้งแล้วในภูมิภาคเอเชียใต้ ตัวแทนของเราเข้าประชุมหลายครั้ง แต่ละครั้งเราไม่มีข้อมูลอะไรไปเลย เราว่างเปล่ามากว่าภาคท้องทะเลของเรามีมูลค่าเท่าไหร่ โชว์อะไรก็ไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเรามีกิจกรรมอะไรบ้าง หลังๆ ก็เริ่มดีขึ้นๆ

ในอนาคตมีโจทย์วิจัยใหม่อะไรที่น่าสนุกบ้าง

สำหรับอาจารย์สนุกทุกโจทย์นะ เราตั้งไว้ 2-3 โจทย์ใหญ่ๆ  เรื่องทะเลเรามองแค่บริบทของเราไม่ได้ เพราะทะเลเชื่อมถึงกันหมด เราต้องรู้ว่าบริบทข้ามพรมแดน ชาติ ประเทศที่มาเกี่ยวข้องกับเรานั้นเป็นอย่างไร

เช่น ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครศึกษากิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลว่ากิจกรรมแบบไหนกัดกินการท่องเที่ยวในระยะยาว และกิจกรรมแบบไหนควรอนุรักษ์ไว้ สมมติเรามองว่าการท่องเที่ยวจากการดำน้ำมีมูลค่าเยอะ แต่ถ้าไม่มีการศึกษา เอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้ว่ามูลค่านี้ถึงคนไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องดึงศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้รองรับการท่องเที่ยวแค่ไหน สิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปมีอะไรบ้าง ชุมชนในพื้นที่ได้อะไร เราได้หรือต่างประเทศได้ ฯลฯ เรารู้ข้อมูลพวกนี้ไหม? กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องไม่ตอบแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจโตเท่านั้น แต่ตอบเรื่องความยั่งยืนต่อชุมชนและประเทศต้องได้อะไรด้วย แค่มิติท่องเที่ยวอย่างเดียวก็แบ่งเป็น 8-9 ภาคส่วนแล้ว

นอกจากนี้ การศึกษาเป็นประเด็นในเชิงลึกเรื่องทะเลก็เป็นเรื่องน่าทำ ซึ่งมีหลายโจทย์ ไม่ว่าจะเป็น ขยะทะเล สมุทรศาสตร์ วิธีการในเชิงเทคนิค เช่น มีกี่วิธีในการฟื้นฟูปะการัง ทำอย่างไรให้มีการสูญเสียน้อยที่สุดจากการทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง จะประเมินมูลค่าของย่างไร เช่น เกิดน้ำมันรั่วแล้วมีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ เหล่านี้เป็นประเด็นในเชิงลึก กับประเด็นเชิงพื้นที่กับชุมชน ซึ่งไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก

การวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับทะเลยังมีช่องว่างความรู้อีกมา ถมอย่างไรก็ไม่หมด มีโจทย์ต้องทำเยอะมาก เคยคุยเล่นๆ เรื่องน้ำกับอาจารย์สุจริต (รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ท่านบอกว่าผมจับเรื่องน้ำยังต้องทำตั้ง 10 ปี ผมว่าอาจารย์จับเรื่องทะเล อีก 20 ปีก็ไม่จบ เพราะทะเลมันใหญ่ (หัวเราะ)

สิ่งใดสำคัญที่สุดในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับทะเล

ถ้าเราไม่มีทัศนคติในการมองว่าเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญ แล้วไม่ใส่ใจกับมัน จะทำให้เราเสียโอกาสหลายๆ อย่าง เราต้องมีนโยบายชัดเจนว่าเราจะทำอย่างไรกับทะเล ซึ่งเราไม่เคยมีเลย ในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าเราอยากเห็นอะไรในเรื่องของทะเลบ้าง ไม่ใช่ตั้งรับเพียงฝ่ายเดียว

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเว็บไซต์ Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ในชื่อ สัมภาษณ์: คืบก็ทะเล ศอกก็สินในน้ำ: หยั่งวัดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และ ความมั่นคงทางทะเลนิยามใหม่ กับ โสภารัตน์ จารุสมบัติ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save