fbpx

ความหวังรสเฝื่อนของแรงงานพลัดถิ่น วงจรแห่งความจนที่ทำให้คนต้องจากบ้าน: สร้อยมาศ รุ่งมณี

ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจไทย หนึ่งในข่าวที่ชวนคึกคักที่สุดตั้งแต่เปิดปี 2022 มาจึงหนีไม่พ้นข่าวที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเปิดรับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะภาคงานบริการและอุตสาหกรรมก่อสร้างของโครงการขนาดใหญ่ จากสถิติของกระทรวงแรงงานเองพบว่าในอดีต สมัยที่ซาอุดิอาระเบียยังเป็นประเทศที่ยึดครองตลาดแรงงานไทยที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ชาวไทยที่ออกไปทำงานยังต่างถิ่นต่างแดนนั้นนำรายได้กลับเข้าประเทศตกปีละ 9,000 ล้านบาท

จะเรียกว่าเป็นข่าวที่มอบ ‘ความหวัง’ ให้ก็ไม่ผิดนัก แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นข่าวที่อวลไปด้วยรสชาติของความเศร้า แฝงฝังด้วยนัยของการพลัดถิ่น ของการต้องไกลบ้าน และของการที่พื้นที่บางแห่งในไทยยังต้อง ‘ส่งคน’ ออกไปข้างนอกเพราะในประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำช่างราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ การลืมตาอ้าปากสำหรับคนจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ช่างยากเย็นเช่นเดียวกับที่เป็นมาตลอดสามทศวรรษ

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของการออกไปขุดทอง ไปแสวงโชคยังต่างแดนแล้วกลับมาร่ำรวยในบ้านเกิด แต่มันหมายถึงวงจรแห่งการพลัดพรากที่ส่งต่อจากคนในครอบครัวรุ่นสู่รุ่น

ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราอาจนิยามเธอว่าเป็นนักภูมิศาสตร์มนุษย์ (human geography) ศาสตร์ที่ใช้ความรู้ทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงโดยรอบ จากงานวิจัย เช่น ‘แรงงานคืนถิ่น: ยุทธศาสตร์การดำรงชีพและความท้าทายหลังการย้ายถิ่นของแรงงานอีสาน’ และ ‘การเลื่อนย้ายเชิงพื้นที่ทางสังคมของคนไทยในออสเตรเลีย’  เพื่อแสดงให้เห็นเหตุผลระหว่างบรรทัดของการย้ายถิ่นและการกลับบ้านของคนไทยในแต่ละพื้นที่

ใช่หรือไม่ว่าการย้ายถิ่นโดยสะท้อนถึงโครงสร้างรัฐที่ไม่เคยโอบรับคนตัวเล็กตัวน้อย ใช่หรือไม่ว่าการออกเดินทางไปยังต่างประเทศ หลายต่อหลายทีมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องหมายถึงการจากลูกจากคนในครอบครัวไปค้าแรงยังแผ่นดินอื่น เพราะรัฐไทยไม่อาจสนองตอบคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าให้แก่พวกเขาได้

ภายหลังจากทำงานวิจัยสำรวจการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่อีสานกับเหนือ เห็นความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในสองพื้นที่นี้บ้าง

อันที่จริงเราสนใจงานชนบทศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของภาคชนบท แต่เมื่อลงพื้นที่ก็จะพบว่าเราเลี่ยงประเด็นการย้ายถิ่นไม่ได้ และมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนบทเปลี่ยนไป ตอนลงพื้นที่วิจัยตอนปริญญาเอกซึ่งอยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาวก็พบว่าคนหนุ่มสาวไปทำงานในภาคเมืองกันเป็นส่วนใหญ่ เขาใช้แรงงานเพื่อนบ้านในการทำเกษตรเพราะขาดแคลนแรงงานในหมู่บ้าน เงินที่เขาเอามาลงทุนในภาคเกษตรก็มาจากการส่งกลับบ้านของลูกหลานที่ออกไปเป็นแรงงานนอกหมู่บ้าน

จริงๆ จัดงานเราอยู่ในกลุ่ม agrarian studies หรือก็คือการเปลี่ยนผ่านสังคมเกษตรกรรมหรือการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างสังคมชนบท เพราะถ้ามองประเด็นนี้ในเชิงโครงสร้าง มันหมายถึงว่า สังคมเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่บนฐานของภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่ปี 2540 รายได้จำนวนมากของชาวบ้านชนบทมาจากภาคเมือง โดยเฉพาะภาคอีสานกับภาคเหนือ โดยเว้นภาคใต้ไว้เพราะเศรษฐกิจทางการเกษตรยังดีอยู่ แต่ภาคอีสานกับเหนือ รายได้ของครัวเรือนมาจากเงินส่งกลับบ้าน ฉะนั้น เมื่อเราไปทำงานวิจัยที่อีสานก็เลี่ยงการย้ายถิ่นไม่ได้เลย

ภาคเหนือกับอีสานมีลักษณะคล้ายๆ กันทางภูมิศาสตร์ คือปลูกพืชอะไรไม่ค่อยได้ในรอบปี ฉะนั้น คนจึงเคลื่อนย้ายเยอะ และยังเป็นพื้นที่ห่างไกล อีสานเองก็เป็นภูมิภาคชั้นนำในการย้ายถิ่นตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามแล้ว เพราะอีสานเป็นฐานทัพให้กองทัพอเมริกัน ยุคนั้นก็เป็นยุคที่ผู้หญิงออกมาทำงานบริการที่พัทยา แล้วมีการแต่งงานกับทหารอเมริกัน บางส่วนก็ไปตั้งรกรากที่ต่างประเทศด้วยทำให้เกิดคอนเน็กชันกับหมู่บ้านต้นทางซึ่งเราว่าสำคัญมาก การย้ายถิ่นของทั้งผู้หญิงที่แต่งงานไปอยู่ต่างประเทศ หรือการไปเป็นแรงงานในต่างประเทศของแรงงานชายจากภาคอีสานตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาทำให้มีงานวิชาการบางชิ้น เช่น งานของอาจารย์ชาร์ลส์ คีย์ส (Charles Keyes – นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos) เรียกพวกเขาว่า cosmopolitan villagers (ชาวบ้าน/ชาวนาผู้รู้โลกกว้าง)

จากสถิติกระทรวงต่างประเทศ ประชากรอีสานถือพาสปอร์ตเยอะที่สุด แต่เขาไม่ได้ไปเที่ยว เขาไปทำงาน และตามสถิติของกระทรวงแรงงาน แรงงานอันดับหนึ่งของผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศ คิดเป็นจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ ก็มาจากอีสาน

มองว่าโครงสร้างสังคมแบบไหนที่ทำให้ภาคเหนือกับอีสานต้องส่งคนไปเป็นแรงงานต่างถิ่นบ่อยๆ

คนอีสานย้ายถิ่นมาตั้งแต่อดีต เป็นภูมิภาคที่อยู่ในวาทกรรมว่าแห้งแล้ง ยากจน คือคนอีสานเขามีวิธีหากินตามฤดูกาลนะ แต่สิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตเขาไปเลยคือการพัฒนายุค 2500 เป็นต้นมา เราเริ่มใส่เศรษฐกิจการเกษตร การปลูกพืชทันสมัยต่างๆ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องปัจจัยการผลิตของเขา หรือไม่มีการขยายชลประทานที่ทำให้เขาทำมาหากินได้ทั้งปี เพราะถ้าลงพื้นที่อีสานจะพบว่า พื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวได้เกินหนึ่งครั้งต่อปีมีนิดเดียว คือแถวคลองชลประทานหรือที่ที่มีน้ำ แต่โดยส่วนใหญ่เขาทำนากันปีละครั้ง แล้วนอกฤดูนาเขาก็ต้องหาอย่างอื่นทำ เช่น  ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ดังนั้น ถึงรัฐจะไปขยายว่าให้เขาปลูกข้าว ไม่ก็ปลูกปอ ปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลัง แต่ก็ยังเจอปัญหาเยอะ เช่น ฝนแล้ง อากาศไม่ดี มันไม่มีความแน่นอน บางพื้นที่ที่พึ่งพาการประมงก็ถูกนำไปสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ภาคเมืองและภาคอุตสาหกรรม เมื่อมีถนนมิตรภาพก็มีช่องทางทำมาหากินใหม่คือการอพยพย้ายถิ่น คนก็เริ่มเข้ามาทำงานในเมือง และเมื่อมีโอกาสหารายได้ที่สูงขึ้นก็ออกไปต่างประเทศ

จากสถิติกระทรวงแรงงาน เห็นอัตราการเคลื่อนย้ายที่น่าสนใจบ้างไหม มีอะไรต่างไปจากเดิมบ้าง

การย้ายถิ่นในไทยไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ ถ้าดูสถิติของกรมแรงงาน เอาเฉพาะแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแรงงานไทยไปนอกตั้งแต่ 2515-2520 และถึงตอนนี้ก็ลดลง จากเริ่มแรกย้ายถิ่นก็ตกราวๆ สองแสนคน แล้วเหลือเฉลี่ยปีละประมาณหนึ่งแสนกว่าคน แต่นี่คือสถิติคนที่ไปแบบถูกกฎหมาย ยังไม่ได้รวมคนที่ไปแบบผิดกฎหมายซึ่งมีหลายแสน แล้วเรากะปริมาณไม่ได้ และไม่ได้รวมคนที่อยู่แบบผิดกฎหมาย 

นอกจากกลุ่มผิดกฎหมายที่ตกสำรวจ ในบางครั้งก็มีกลุ่มที่ไปด้วยวีซ่าประเภทอื่นที่ไม่ใช่วีซ่าทำงาน เช่น คนที่แต่งงานไปอยู่ต่างประเทศ เขาก็ทำงานส่งเงินกลับบ้านนะ คือเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการ contribute ทางเศรษฐกิจให้หมู่บ้านต้นทาง แต่มันไม่ได้รวมอยู่ในสถิติของกรมแรงงาน เราจึงฟันธงไม่ได้ว่าคนที่ออกไปเป็นแรงงานในต่างประเทศนั้นลดหรือเพิ่ม แต่ถ้าประมาณจากแรงงานที่อยู่ในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าลด

การที่สถิติจากกรมแรงงานลดลงจากปี 2540 มันบอกอะไรเรา

ถ้าให้เรากะประมาณเอง เราว่าคนที่ไปเป็นแรงงานข้างนอกมันเพิ่ม แค่ไม่ได้ถูกรวมในนี้ เพราะ globalization ทำให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น และสถิติกระทรวงแรงงานไม่บอกพื้นที่กับเวลา เช่น ไม่ได้บอกในเรื่องบางคนก็ไปๆ กลับๆ ในแต่ละปี กลับมาแล้วสามปีก็ไปใหม่ เราไม่มีตัวเลขแบบนี้ และก็ที่สำคัญไม่ได้บอกจำนวนแรงงานผิดกฎหมายโดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่น่าจะตกสำรวจไปหลายแสนคน

ถ้านับจากแค่คนที่ลงทะเบียนไปทำงานต่างประเทศกับกรมกระทรวงแรงงาน ส่วนใหญ่ไปทำกันที่ไหน ทำอะไร ที่ผ่านมาในอดีตกับปัจจุบัน รูปแบบและพื้นที่การค้าแรงเปลี่ยนไปไหม

ช่วงแรกๆ สักปี 2518 คือไปแถบตะวันออกกลางก่อน เป็นช่วงหลังสงครามเวียดนาม ประเทศที่เปิดรับแรงงานเยอะๆ คือโซนตะวันออกกลาง แล้วยาวมาจนถึงประมาณ 2530 เป็นเวลาที่ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แล้วช่วงนั้นก็เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียขึ้นอีก ทำให้แรงงานเริ่มทยอยกลับบ้าน แล้วถ้าเราดูเพศของแรงงานเหล่านี้จะพบว่าเป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่ ก็มีผู้หญิงแต่ไม่เยอะมากที่ไปทำงานเป็นแม่บ้าน 

ราวๆ ปี 2534 แรงงานก็เปลี่ยนที่หมายไปเป็นไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่ตะวันออกกลางก็มีประเทศอิสราเอลที่ยังติดอันดับได้รับความนิยมในกลุ่มแรงงานไทยอยู่ แต่อิสราเอลจะรับแรงงานที่ส่งไปกับรัฐเท่านั้น ไปเองไม่ได้ แต่ก็เคยทราบมาว่าก็มีแรงงานผิดกฎหมายในอิสราเอล เช่น คนที่อยู่เกินสัญญาการจ้างงาน อิสราเอลจะมีระยะเวลาการจ้างครั้งละสองปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือนเท่านั้น แรงงานที่อยากอยู่ทำงานต่อก็มีที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย

ดังนั้น ถ้าเราไปดูว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขกำหนดเรื่องแรงงานต่างชาติอย่างไร เขาก็มีกฎหมายระบุไว้หมดเลย เช่น เกาหลีใต้ก็จะรับแรงงานอายุไม่เกิน 39 ปี จะให้สัญญาจ้าง 2 ปี ต่อสัญญาได้อีกคราวละหนึ่งปี รวมแล้วไม่เกิน 4 ปี 10 เดือน ต่อได้แค่สองครั้งเท่านั้น คือระยะเวลารวมจะต้องไม่ถึ 9 ปี

ดังนั้นจึงเหลือบางพื้นที่เท่านั้นที่อาจจะรับแรงงานอายุมากได้ เช่น ไต้หวัน ที่รับแรงงานอายุได้ถึง 45 ปี  แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าแรงงานอยู่จนแก่ ก็จะทำงานไม่ไหวอยู่ดีเพราะมันเป็นงานใช้แรงงานเสียเป็นส่วนมาก

อย่างไรก็ตาม ที่ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง มีคนไทยเยอะที่สุดในตอนนี้คือไต้หวัน เพราะไม่ค่อยมีข้อจำกัด จะไปผ่านตัวแทน (agent) หรือไปเองก็ได้ ถ้าเคยไปทำงานแล้วและนายจ้างก็ขอใบอนุญาตให้แรงงานกลับไปอีก ก็ไปได้ ไต้หวันจึงไปง่ายและก็สามารถไปได้ทั้งแรงงานหญิงและแรงงานชาย 

มันพอจะมองได้ไหมว่าที่มีคนไปไต้หวันเยอะขึ้นเพราะรูปแบบแรงงานมันเปิดให้ผู้หญิงทำได้มากกว่าด้วย เช่น หมอนวด ล้างจาน ทำอาหาร

ใช่ ที่ไต้หวันผู้หญิงสามารถไปทำงานเป็นแม่บ้านหรือคนดูแลเด็กได้  แต่อันที่จริง อิสราเอลก็มีผู้หญิงไปนะ เช่น ไปเป็นคนครัวแต่ว่าน้อยมาก

ที่อิสราเอล แรงงานไปทำงานเกษตรกัน ซึ่งเกษตรของอิสราเอลเป็นเกษตรทันสมัย มีสองประเภทคือ คิบบุตส์ (Kibbutz) เป็นฟาร์มเกษตรที่มีลักษณะเหมือนบริษัทที่มีทั้งรัฐและเอกชนเป็นเจ้าของ มีลักษณะเป็นนิติบุคคลโดยทำการผลิตและแบ่งปันผลกำไรให้สมาชิก ส่วนโมชาฟ (Moshav) คือหมู่บ้านของเกษตรกรที่มีที่ดินของตนเอง หากแรงงานได้ทางานในคิบบุตส์ก็มักจะมีความเป็นอยู่และรายได้ดีกว่าโมชาฟ เพราะว่าที่โมชาฟแรงงานจะอยู่ในลักษณะแรงงานรับจ้างขึ้นตรงกับนายจ้าง หากนายจ้างไม่ดีอาจเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

มีนักศึกษาชาวอิสราเอลซึ่งเรียนอยู่ที่เยอรมนี ครอบครัวเขาเป็นคิบบุตซ์ที่รับแรงงานไทยเขาจึงมาทำวิจัยที่อุดรธานีเพื่อดูว่าแรงงานที่กลับจากอิสราเอลเมื่อกลับบ้านแล้วใช้ชีวิตอย่างไร เขาบอกว่าเคยรู้สึกว่าจริงๆ อิสราเอลมีนโยบายบางอย่างที่ไม่ให้ผู้หญิงไป ไปแล้วห้ามท้อง ถ้าท้องก็จะถูกส่งกลับทันที คล้ายว่าถ้าคนเป็นสามีภรรยากันแล้วอยากไปด้วยกัน เขาก็จะต่างคนต่างไป ไม่เปิดเผยสถานะว่าเป็นอะไรกัน ไปเจอกันที่โน่นเลยทีเดียวซึ่งเขามองว่านโยบายแบบนี้ก็เป็นการแบ่งแยกทางเพศแบบหนึ่ง

ปัจจุบันยังมีแรงงานในลักษณะข้ามชาติ พลัดถิ่น มันบอกปัญหาอะไรในไทยบ้าง

เราขออนุญาตพูดถึงแค่แรงงานระดับล่าง low skills ไม่ใช่แบบ work and travel ที่อยากไปเองนะคะ

ถามใจชาวบ้านเขาเถอะว่าเขาอยากไปหรือเปล่าและที่ต้องจากบ้านไปนี่เป็นเพราะอะไร จะให้เขาทำอะไรอยู่บ้านล่ะในเมื่อมันไม่มีอะไรทำนอกจากการทำนาหรือทำงานเกษตร ไม่อย่างนั้นก็ต้องเข้าเมืองมาทำงานอุตสาหกรรม โรงงานในชลบุรี ระยอง พัทยา มันมีจังหวัดอยู่แค่นี้เอง แล้วถ้าไปดูว่าจังหวัดไหนส่งออกแรงงานเยอะที่สุด ก็จะเป็นจังหวัดที่อาจจะกันดารนิดๆ เช่น อำเภอที่ไกลๆ ในจังหวัดอุดรธานี หรือชัยภูมิ เป็นพื้นที่ซึ่งเราจะนึกภาพไม่ออกเลยว่ามีอะไรบ้าง

คำถามคือจะหางานอะไรในไทยให้คนที่เป็นแรงงาน ที่ทำแล้วได้รายได้สัก 2 แสนบาทในหนึ่งปี ต้องทำงานโรงงานไหนที่ทำงานแล้วมีเงินส่งกลับบ้านเท่าการไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ มันมีงานอะไรในไทยสำหรับคนที่การศึกษาไม่ได้สูงมาก ไม่ค่อยมีทักษะแล้วได้เงินเก็บขนาดนั้น แล้วอีกอย่างคือ ถ้าลองไปคุยพื้นฐานของคนที่ย้ายถิ่น หลายคนที่ต้องไปก็ไม่ได้ไปแค่เพราะต้องหาเงิน แต่ยังมีเรื่องหนี้สิน ทำการเกษตรแล้วล้ม ต้องหาเงินมาคืน ซึ่งจะไปหาจากไหน ต้องทำอะไรที่จะได้เงินก้อน มันก็ไม่มีนอกจากการไปอยู่ต่างประเทศสักปี กลับมาดาวน์รถหรือว่าปลูกบ้านได้แล้ว

แปลว่าในไทย โครงสร้างทางเศรษฐกิจมันยังโอบรับคนเหล่านี้ไม่ได้มากพอด้วยใช่ไหม

เราไม่ได้มองแค่ไปแล้วกลับ เรามองว่าทำไมการย้ายถิ่นในไทยมันข้ามเจนเนอเรชั่นขนาดนี้ ถ้าเราพูดเรื่องคนไทยไปทำงานเมืองนอกตั้งแต่ปี 2520 ตอนนี้สี่สิบปีแล้ว การย้ายถิ่นมีการส่งต่อจากรุ่นปู่ย่า มารุ่นพ่อแม่ แล้วรุ่นลูกก็ยังต้องไปอีก ไม่จบสิ้น ไปกันทุกวัยในครัวเรือน เราเลยตั้งคำถามว่าถ้าการย้ายถิ่นมันนำมาซึ่งการพัฒนา ไปแล้วก็ควรได้เงินกลับมาเพราะเราก็เห็นว่าหมู่บ้านในภาคอีสานหรือภาคเหนือที่มีคนไปทำงานเมืองนอก เขาก็กลับมาสร้างบ้านได้ใหญ่โต แต่ทำไมรุ่นลูกกลับยังต้องไปทำงานเมืองนอกอีก

แล้วพอไปลงพื้นที่ ก็พบว่าการย้ายถิ่นมีการส่งต่อข้ามเจเนอเรชัน เหมือนว่าคนรุ่นปู่ย่าซึ่งจบประถมสี่ไปเป็นแรงงาน พอเป็นรุ่นพ่อแม่ก็จบอย่างต่ำ ป.6 หรือ ม.3 การศึกษาดีกว่ารุ่นแรกนิดหนึ่งแต่ก็ยังต้องทำงานเหมือนเดิม มาถึงรุ่นลูกก็อาจจะจบ ปวช. หรือ ปวศ. หรือไม่ก็จากมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังทำงานแรงงานเหมือนเดิม แปลว่าประเทศไทยเราไม่พัฒนาทักษะคนงานเราหรือเปล่า นี่มันจึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจชัดเจนมากว่ามันไม่มีโอกาส

มันเหมือนสถิติที่ธนาคารโลกเคยบอกไว้สักปีว่า ถ้าคนไทยเกิดมาโดยมีพ่อแม่ยากจน จะจนไปอีก 7 เจเนอเรชันจึงจะหลุดพ้นจากความยากจน เพราะครัวเรือนที่เราเคยไปเจอมา บางครัวเรือนไป 2 เจเนอเรชัน บางครัวเรือนไปตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ก็ 3 เจเนอเรชันแล้ว เราพบว่าคนรุ่นปู่ย่าอาจไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย สมัยนั้นปู่อาจจะไปคนเดียว เก็บเงินมาซื้อรถไถ ปลูกบ้าน ลองนึกภาพคนชนบทที่ทำนา ต้องขายข้าวอย่างไรจึงจะปลูกบ้านให้ได้สักหลัง ต้องทำขนาดไหน ทีนี้เมื่อคุณปู่เก็บเงินปลูกบ้านได้แล้วกลับมา ทำนา แล้วพอมาถึงอีกรุ่น ก็ไม่ได้เรียนสูง จากนั้นรุ่นพ่อแม่อาจเปลี่ยนไปเป็นแรงงานแถบเอเชียตะวันออก เช่น ไต้หวัน เป็นต้น คนรุ่นนี้จะปรารถนาว่ารุ่นลูกต้องได้เรียนสูง แต่ปรากฏว่าหมู่บ้านที่เราไปศึกษา เมื่อคนรุ่นพ่อแม่กลับมานั้น เราเจอครัวเรือนที่ส่งรุ่นลูกจนสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้แค่สองครัวเรือนเอง ไม่เยอะเลย 

เหตุผลที่คนรุ่นพ่อแม่บอกเราคือ เขาไม่ได้ดูแลลูก และบางทีก็ทิ้งลูกไว้ให้อยู่กับแม่หรือพ่อคนเดียว ไม่อย่างนั้นก็ทิ้งไว้ให้ญาติพี่น้องเลี้ยง ดังนั้น แม้จะมีการติดต่อสื่อสารกันแต่ก็ควบคุมกันไม่ได้ ลูกจึงออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.3 ก็มี หรือบางที ถ้าไปสัมภาษณ์รุ่นลูกที่บางครัวเรือนก็อาจจะเรียนสูงหน่อย หรือบางครัวเรือนรุ่นลูกก็จบแค่ ม.3 ก็จะมีคำพูด เช่น ทำไมต้องเรียนสูงๆ ด้วย ในเมื่อเรียนจบแล้วไปทำงานที่เกาหลีใต้ก็เจอกัน ไม่ว่าจะจบมหาวิทยาลัยหรือ ม.6 ก็ต้องไปเจอกันที่เกาหลีใต้อยู่ดี เพราะถ้าเขาไปทำงานที่นั่น -ไม่ว่าจะไปแบบถูกหรือผิดกฎหมาย- เขาส่งเงินกลับบ้านได้ตั้ง 4 หมื่นบาท ชาวบ้านบอกกับเราว่า “การไปนอกเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้คนมีการศึกษาต่ำสามารถหารายได้ได้เท่าๆ กับคนมีการศึกษาสูง” ทีนี้การที่คนจำนวนมากเลือกจะไปเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายหรือที่เราเรียกว่าผีน้อย ก็เพราะว่าถ้าไปแบบถูกกฎหมายก็ต้องไปเรียนคอร์สภาษาเกาหลี ต้องไปสอบ ต้องรอขึ้นทะเบียนแรงงาน บางคนเขาก็รอถึง 2 ปีแล้วไม่ได้ไปสักที เลยไปเป็นผีน้อยไปเลย ไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้กระทรวงแรงงานนับไม่ได้

เท่าที่ฟัง ถ้าจะขยับสถานะทางชนชั้นมันน่าจะเกี่ยวข้องกับเรี่ยวแรงในการส่งลูกหลานไปโรงเรียนดีๆ ด้วยหรือเปล่า

ใช่ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นแค่เรื่องในเมืองกับชนบทนะ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในชนบทด้วยกันเองด้วย เช่น ถ้าเราไปดูครัวเรือนที่ประสบความสำเร็จจาการย้ายถิ่น มีเงิน วางแผนชีวิตได้ดี เราจะไม่เจอลูกหลานเขาอยู่ในหมู่บ้านนั้นแล้ว เขาส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด ในขณะที่ครัวเรือนยากจนก็ส่งลูกเรียนโรงเรียนรอบๆ หมู่บ้าน ยิ่งถ้าหมู่บ้านไหนเศรษฐกิจดีมาก เขาส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในเมืองเพื่อขยายโอกาส จนโรงเรียนในหมู่บ้านจะต้องปิดเพราะแทบจะไม่มีนักเรียน

เขาก็คิดเหมือนคนเมือง ว่าการศึกษามันคือหนทางสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จะประสบความสำเร็จไหมนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

ภายหลังชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆ ไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ เมื่อเขากลับมาไทย มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านนั้นบ้างไหม

มีงานที่อาจารย์โจนาธาน ริกก์ (Jonathan Rigg ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ที่มหาวิทยาลัยบริสตอล) ซึ่งเราอ้างอิงอยู่ อาจารย์เคยศึกษาไว้ว่า เมื่อแรงงานย้ายถิ่นกลับมาไทยแล้ว มีใครได้เพิ่มวุฒิการศึกษาบ้างไหม คำตอบคือ เมื่อกลับมาอยู่หมู่บ้านแล้ว น้อยคนมากที่จะไปเรียนอะไรเพิ่มเติม วุฒิการศึกษาอยู่ที่เดิม ไม่มีใครหาความรู้เพิ่มเติมอีกแล้ว เหมือนพอหยุดย้ายถิ่นก็ปักหลักชีวิตอยู่ชนบทไปเลย 

และมีคำถามว่า มีการลงทุนทางอาชีพอะไรหรือไม่ อาชีพยอดฮิตของผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศคือเปิดร้านชำ แต่มันเป็นอาชีพที่ไม่ได้สร้างงานให้คนในพื้นที่ ทำในครัวเรือน ไม่ใช่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือกลาง คนที่ทำได้ก็มีจำนวนน้อย  

เราต่อยอดงานศึกษามาจากงานของอาจารย์ริกก์อีกทีหนึ่ง โดยการตั้งคำถามว่า แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถกลับมาเป็นชาวนาผู้ประกอบการได้บ้างเหรอ มีอุปสรรคอะไร เรารู้ว่าเขาได้เงินมาเยอะ เราอยากรู้ว่าทำไมเขาตั้งธุรกิจแล้วมันล้ม เราเลยลงพื้นที่ศึกษาซึ่งก็เป็นกรณีศึกษาเพียงหมู่บ้านเดียว คือที่จังหวัดอุดรธานี และพบว่า เวลาเราพูดคำว่า ทำนั่นสิทำนี่สิ มันไม่ได้ง่ายนะ ยิ่งการจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้นยิ่งไม่ง่ายเลย มีชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า รุ่นประมาณปีไ 2530 มีแรงงานไปตะวันออกกลางแล้วกลับมา เอาเงินมาตั้งร้านชำ ปีที่คนกลับมาเยอะๆ มีร้านชำเต็มทั้งถนนเลย แข่งกันเอง ทีนี้เนื่องจากเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อมาซื้อของกันก็ไม่กล้าทวงหนี้ เลยติดหนี้กัน แล้วชาวบ้านก็อาจจะขาดทักษะบริหารด้วย ร้านก็เจ๊งไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เหลือร้านชำอยู่สามร้านในหมู่บ้านแห่งนี้ 

อีกบ้านหนึ่ง มีทั้งปู่ย่า พ่อแม่และลูกที่ไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ คนรุ่นพ่อบอกว่าตอนที่กลับมาก็อยากลงทุน เปิดร้านชำก็เจ๊ง เลยไปซื้อวัวหนึ่งร้อยตัว กะว่าจะเก็งกำไรจากวัว แต่ปีนั้นเกิดเหตุโรคระบาดในวัว จนเขาขาดทุน เหมือนเงินที่เขาสะสมมาหายไปเลย รุ่นลูกเลยต้องไปเป็นแรงงานต่อ

อันที่จริง ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานวิจัยเรื่องปลากระชังที่นครพนม เราสนใจเรื่องการเมืองสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงแม่น้ำ พบว่าประวัติของคนที่ลงทุนเลี้ยงปลากระชังได้ ก็เป็นคนที่ไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศทั้งนั้นเลย เพราะมันต้องใช้เงินลงทุน การเลี้ยงปลามันใช้เงินเยอะ พอรุ่นพ่อแม่กลับมาแล้วเขาก็บอกว่าจะต้องส่งลูกสักคนหนึ่งไปทำงานที่เกาหลีใต้หรือที่ไหนก็ได้ เพราะราคาของปลากระชังมันขึ้นลงสูง ถ้าน้ำขึ้นน้ำลงไม่ดี ปลาก็เสีย ขาดทุนเยอะ ฉะนั้นการที่มีลูกสักคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็ทำให้มีเงินส่งกลับบ้านสม่ำเสมอ เป็นหลักประกันให้ครอบครัว ส่วนรุ่นพ่อแม่ที่กลับมาแล้วก็เป็นผู้ประกอบการแต่ก็จะเห็นว่าต้องเผชิญความเสี่ยง ถ้าปีไหนปลาราคาดีก็รวย ถ้าปีไหนสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อก็ขาดทุนได้ พวกเขาเป็นชาวนาผู้ประกอบการที่ผูกพันกับตลาดและระบบทุนนิยมแต่กำลังในการแบกรับความเสี่ยงล่ะ ในกรณีนี้ถูกประกันไว้ด้วยเงินส่งกลับบ้านของสมาชิกในครอบครัวที่คนหนึ่งอาจจะคาดหวังให้เป็นข้าราชการเพื่อรับสวัสดิการ อีกคนอาจจะให้ไปทำงานเมืองนอกเพื่อส่งเงินกลับบ้าน

คือแรงงานเขากลับมาก็อยากลงทุน อยากประกอบการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงเต็มไปหมดเลย

มันมีคำตอบที่แน่นอนไหมว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงเพิ่มทักษะไม่ได้

(คิด) มันมีคนที่ทำได้และไม่ได้  เราแค่รู้สึกว่ามันไม่ใช่การสร้างทักษะไม่ได้ แต่มันไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น บางหมู่บ้าน มีแรงงานที่เคยไปทำงานที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องมีการฝึกทักษะก่อนแล้วจึงไปได้ สมมติไปทำงานก่อสร้างก็ต้องไปเรียนคอร์สผ่านให้ได้ใบประกาศ จึงจะไปได้ ถ้าไปอ่านงานของอาจารย์พัฒนา กิติอาษา (นักมานุษยวิทยา) จะมียุคหนึ่งที่คนงานไทยไปสิงคโปร์กันเยอะมาก แต่ตอนนี้ลดลงไปมากแล้ว และไปไต้หวันหรือเกาหลีใต้แทนเพราะค่าแรงในสิงคโปร์ เทียบออกมาแล้วมันน้อย ทั้งงานก่อสร้างก็หนัก เหนื่อยด้วยเมื่อเทียบกับการทำงานร่มๆ ในโรงงาน คนเขาเลยไปที่อื่นกัน

เราเคยไปสัมภาษณ์เจ้าของโรงเรียนสอนทักษะให้คนที่จะไปเป็นแรงงานที่สิงคโปร์ เขาบอกว่าเมื่อก่อนคนไปปีละเป็นหมื่น ปัจจุบันกลายเป็นเหลือปีละไม่ถึงร้อย กิจการโรงเรียนนี้เลยดำเนินไปได้ลำบากมากจนเขาจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแล้ว เราเลยถามเขาอีกว่า มีคนไทยคนไหนไหมที่ไปแล้วก้าวหน้า เขาบอกว่ามีแต่น้อย เพราะเมื่อได้ใบรับรองจากโรงเรียนแล้วได้ไปทำงานที่สิงคโปร์แล้ว เมื่อไปทำงานที่สิงคโปร์ ถ้าทำงานดี พัฒนาตัวเอง ก็ไปสอบเลื่อนขั้นได้อีกนะ เขาไม่สนใจวุฒิการศึกษาคุณเลยว่าจบอะไรมา คุณสามารถไปสอบเป็นผู้คุมงานก่อสร้างได้นะ ซึ่งถ้าสอบได้ใบประกาศนี้ก็จะได้เงินเดือนเป็นแสนเลย แล้วโรงเรียนแห่งนี้ก็บอกว่า เคยมีลูกศิษย์ที่จบจากโรงเรียนที่จบ ป.4 ทำงานแบบนี้อยู่ในสิงคโปร์เหมือนกัน แต่แค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้น

แล้วนึกออกไหมว่าถ้าเรามีแรงงานที่มีทักษะระดับสร้างสนามบินชางงี สร้างตึกสูงๆ ที่มารีนาเบย์ แต่ถ้าเขากลับมาไทยเขาจะทำอะไรล่ะ มากสุดเขาก็จะเป็นแรงงานก่อสร้างในหมู่บ้าน คิดค่าแรงแบบเหมา ทักษะที่เขาได้มาจากสิงคโปร์มันเอามาปรับใช้ที่ไทยไม่ได้ เพราะมันไม่ได้รับการรับรอง อันนี้คือปัญหาโครงสร้างพื้นฐานหรือเปล่า

ถ้าแรงงานไปสิงคโปร์แล้วมีทักษะ ก็ไปถามแรงงานว่า ทำไมเรียกค่าตัวเพิ่มในการทำงานที่ไทยไม่ได้เพราะเรามีทักษะ เขาบอกว่าไม่ได้หรอก การก่อสร้างแบบไทยไม่ได้อยากได้งานเนี้ยบแบบสิงคโปร์ และเราไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพ เคยดูเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha (2021 – ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้) หรือเปล่า พระเอกมีใบประกอบวิชาชีพเต็มไปหมด จะดูดส้วม ทาสี ซ่อมบ้าน หรืออะไรก็ต้องสอบทั้งนั้น ซึ่งสิงคโปร์เป็นระบบนั้น คนไทยไปทำงานก่อสร้างที่นั่นก็ต้องมีแบบนั้น แต่พอกลับมาที่ไทย สิ่งเหล่านั้นกลับใช้ไม่ได้เลย ถ้าเขาเป็นแรงงานก่อสร้าง ก็จะเป็นแรงงานก่อสร้างที่ได้เงินไม่ต่างจากแรงงานเพื่อนบ้าน เขาเลยรู้สึกว่าอยู่บ้านทำนาดีกว่า

ฟังดูเหมือนว่าถ้าเราได้ทักษะต่างๆ มา ไม่ว่าจะทักษะก่อสร้างหรือภาษา แต่พอเอากลับมาในไทยมันไม่มีอะไรรองรับเลย

ใช่ แล้วเวลาเราไปดูว่ากระทรวงแรงงานมีแพ็กเกจอะไรให้แรงงานที่คืนถิ่นมาบ้านบ้าง ก็จะเจอโครงการเช่น เกษตรกรดีเด่น ที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น มันสะท้อนว่ารัฐคิดว่าแรงงานต้องกลับมาทำเกษตร ส่วนเติมพอเพียงเข้าไป เราก็ขัดใจนิดๆ ว่า ถ้าพอเพียงคือพอประมาณ จะใช้ได้กับคนที่แทบจะไม่มีได้หรือเปล่า เขาถึงต้องย้ายถิ่นไปหาเงินที่อื่น แม้จะเป็นเกษตรแบบสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยี แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ หรือตัวแรงงานอาจไม่ได้อยากทำ แต่ไม่มีทางเลือก เหมือนว่ามีที่ดินนะแต่ก็ไม่ได้อยากทำการเกษตร แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าจะเหมารวมนะคะ การเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จหลังการย้ายถิ่นก็มี คนที่นำทฤษฎีใหม่มาใช้แล้วประสบความสำเร็จก็มี และจะว่าภาคราชการอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางโครงการก็สร้างรายได้นะคะ เช่น พวกหมู่บ้านท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ลักษณะพื้นที่ที่จะทำได้ก็ไม่ใช่ทุกที่อีก

แต่ในภาพรวม เรารู้สึกว่าโครงสร้างพื้นฐานมันไม่รองรับ ในขณะที่ถ้าไปดูประเทศที่ส่งออกแรงงานเยอะๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เขาก็โปรเจกต์สำหรับคนที่เป็นแรงงานคืนถิ่น มีทุนให้กู้ยืมไปลงทุน ฝึกอาชีพ เป็นต้น คือมีทางเลือกอื่นที่ไกลกว่าการกลับมาเป็นเกษตรกร

บทบาทของภาครัฐควรอยู่ตรงไหน

น่าจะต้องดูว่าควรทำอะไร ทักษะที่แรงงานเหล่านี้ได้คืออะไร จะส่งเสริมให้มันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แต่รัฐก็ไม่มีใบประกอบวิชาชีพก่อสร้าง เราเองก็เป็นผู้บริโภคที่เจอปัญหา เคยเห็นบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมที่มีปัญหาเยอะมากเพราะเราไม่มีแรงงานที่มีทักษะมาทำ ทั้งที่จริงๆ เรามีแรงงานเหล่านี้นะ แต่ให้เขามาทำงานก่อสร้างในไทย ค่าแรงก็ต่ำอีก เราไม่ได้รับรองคุณวุฒิเขา

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการพัฒนาคน เมื่อกี๊พูดถึงงานโจนาธาน ริกก์ ว่าคนที่กลับมาก็ไม่ได้มีใครต่อยอดในเรื่องการศึกษา คือเวลาเราพูดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราหมายถึงอะไร จะทำยังไงให้คนหาความรู้ หรือการให้การสนับสนุนครอบครัวที่ย้ายถิ่นที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่ บทบาทของโรงเรียนหรือชุมชนจะต้องช่วยคนเหล่านี้อย่างไร คือน่าจะเป็นสิ่งที่รัฐ โดยเฉพาะรัฐในระดับท้องถิ่นต้องคิดว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้จะสนับสนุนกันยังไง เราไม่ได้มองว่าการย้ายถิ่นมีปัญหา เพราะคนเราเมื่อเห็นโอกาสที่ไหนเราก็ไป แต่เราต้องทำให้มันไม่สร้างปัญหาอื่นๆ หรือให้มันเกิดการต่อยอด

ตอนนี้มันมีกระแสอยากย้ายประเทศในกลุ่มคนรุ่นใหม่เยอะมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าไปทำงานแรงงานที่ต่างประเทศ อย่างไรก็จะมีชีวิตที่ดีกว่าการทำงานบริษัทในไทย ได้เงินเยอะกว่า มองประเด็นนี้อย่างไร

จริงๆ การไปทำงานต่างประเทศนี่รายได้ดีอยู่แล้ว แน่นอนนะคะ ต่อให้เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ก็ค่าตอบแทนสูง แต่ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าเช่าบ้านก็สูงไปด้วย ทีนี้ถ้าเรามองในกลุ่มคนรุ่นใหม่มีการศึกษาคนละกลุ่มกับที่พูดมาทั้งหมด คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ถ้าคิดระยะสั้น ย้ายเพื่อไปเก็บเงินหรือทำงานหาประสบการณ์ก็น่าสนใจ แต่ก็อาจต้องมองยาวๆ ด้วยนะ สมมติไปทำงานแรงงาน 10 ปี แล้วอยากกลับมาไทย เพื่อนรุ่นเดียวกันเขาไปถึงไหนแล้ว รายได้เท่าไหร่แล้ว เราจะเริ่มตรงไหน จะสมัครงานอื่นๆ ได้ไหม เพราะเราจบมหาวิทยาลัยมาตั้งนาน ประวัติเราก็ทำแต่งานแรงงาน บริษัทไทยจะรับไหมหากเราต้องกลับบ้าน

แต่หากถ้าไปไม่กลับเลย อันนี้ต้องพัฒนาตัวเองตั้งแต่ที่ไทยแล้วสมัครไปแบบผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะ (skilled migrants) มีอาชีพในกลุ่มอาชีพที่ประเทศปลายทางกำหนดอันนี้ก็อาจเป็นการตั้งต้นที่ดี แต่หากไปโดยไปทำงานแรงงานก็อยากให้กำลังใจด้วยว่าต้องไปแล้วพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ไปแล้วหยุดแค่งานแรงงาน อันนี้พูดถึงคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาเรียนจบระดับอุดมศึกษาขึ้นไปแต่พอไปแล้วก็ยังต้องทำงานแรงงาน

เราว่าสิ่งที่สังคมตะวันตกมีให้คือโอกาสทางการทำงานที่ให้รายได้สูง และโอกาสในการใช้ชีวิตที่เราจะมีขนส่งสาธารณะที่ดี มีพื้นที่สาธารณะ สิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ขณะเดียวกันอย่าทิ้งโอกาสทางการศึกษา เช่น พัฒนาทักษะทางภาษา ไปเรียนเพิ่มเติม คนรู้จักในต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่เคยเริ่มทำงานจากงานบริการซึ่งก็เป็นงานแรงงานเพราะวุฒิการศึกษาที่ไทยนำไปสมัครงานตามวุฒิในต่างประเทศไม่ได้ แต่พวกเขาก็สามารถไปเรียนเพิ่มเติมจนบางคนทำงานเป็นคนดูแลเด็ก คนดูแลคนแก่ ทำธุรกิจต่างๆ หรือเป็นเชฟก็มี เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถพัฒนาตัวเองได้และเป็นรุ่นที่เติบโตมาเป็นประชากรที่ข้ามพรมแดนไปเป็นประชากรโลกแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save