ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์
ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภาพ
วิกฤต COVID-19 คือวิกฤตใหญ่ด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน นักเรียนกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก หรือกว่า 90% ของนักเรียนทั้งหมดในโลก ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการปิดโรงเรียน ซึ่งปั่นป่วนกระบวนการเรียนรู้ให้สะดุดลง
แม้จะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเรื่องการเรียนการสอนทางไกล แต่ก็มีเครื่องหมายคำถามมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยี เรื่องข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนครัวเรือนยากจน และความเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยต่างๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก รวมถึงความกังวลว่าจะทำให้มีนักเรียนหลุดจากระบบมากขึ้น
ยังไม่นับผลพวงที่จะตามมาจากมหาวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ตัวละครทั้งหมดในระบบการศึกษา ไม่ว่าเด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา เผชิญปัญหาที่หนักหนาสาหัสขึ้นเป็นเท่าทวี
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญคู่โลกมาช้านาน จะยิ่งสำคัญขึ้น ยิ่งหนักหน่วงขึ้น และยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้นไปอีกในยุค COVID-19
อะไรคือโจทย์ใหม่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยและเราจะตอบโจทย์เหล่านั้นอย่างไร
101 สนทนากับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาคำตอบเรื่องแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ สำรวจโลกการศึกษาที่เปลี่ยนไปและโฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ
วิกฤตเศรษฐกิจ
ในฐานะอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีประสบการณ์ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง ครั้งนี้มีแง่มุมใหม่อะไรที่น่าสนใจ
วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมกว้างขวางมาก ส่งผลถึงโจทย์ด้านเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ในระดับมหภาค กล่าวได้ว่าวิกฤตครั้งนี้สร้างแรงกระแทกต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตัวอย่างด้านอุปสงค์ คือ เมื่อเราบอกให้คนอยู่บ้าน การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคก็ลดลง และเมื่อโควิด-19 เกิดขึ้นพร้อมกันแทบทั้งโลก ก็ทำให้กระทบเรื่องการค้าระหว่างประเทศทั้งการส่งออกและการนำเข้า ยิ่งประเทศเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมาก หลังจากคนไม่เดินทาง ก็ยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจน ส่วนอุปทาน ถึงแม้การผลิตสินค้าจะทำได้ แต่ก็อาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก เพราะห่วงโซ่การผลิตถูกกระทบหลายส่วน การให้บริการรูปแบบต่างๆ ก็ถูกกระทบเช่นกัน
จากมุมของคนที่เคยทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย ผมมองว่าแรงกระแทกเหล่านี้น่าเป็นห่วงมาก และต้องระมัดระวัง เพราะการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอาจจะช้าลง เช่น รายได้สะดุด สภาพคล่องติดขัด ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจด้านต่างๆ ติดขัดต่อเนื่องไป
ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจลากยาว เราต้อง ‘คิดใหม่’ เรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างไร
เรื่องบางเรื่อง เช่น ปัญหาสภาพคล่อง เราอาจจะพอช่วยกันพยุงไปได้ แต่ถ้าวิกฤตยิ่งยาว จะยิ่งกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้คนและธุรกิจต่างๆ จนวนกลับมากระทบเรื่องการผลิตและการบริการอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังกระทบต่อพื้นฐานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เช่น เรื่องความสามารถด้านการแข่งขันที่ลดลง ผลประโยชน์จากการพัฒนากระจายไม่ทั่วถึง การศึกษาต้องพัฒนาคุณภาพมากกว่านี้ เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาผสม จะทำให้เรื่องเหล่านี้ซับซ้อนท้าทายมากขึ้นไปอีก อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยทั่วไป ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะกระทบคนรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำในสัดส่วนที่สูงกว่าคนรายได้สูง ถ้านับเป็นจำนวนบาทอาจดูเหมือนคนรวยเสียหายมาก แต่หากเทียบเป็นสัดส่วนของรายได้ คนรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า โควิด-19 จะทำให้โจทย์ความเหลื่อมล้ำต่อจากนี้ท้าทายมากขึ้น
มาตรการสู้วิกฤตเศรษฐกิจของภาครัฐในตอนนี้เพียงพอและครอบคลุมไหม ควรปรับแก้อย่างไร และนโยบายต่อจากนี้ควรเป็นอย่างไร
ตอนนี้รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ ออกมาพอสมควร ล่าสุด มีการออก พ.ร.ก. เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท แต่ในส่วนที่ ธปท. ดูแลในวงเงิน 9 แสนล้านบาทถือเป็นสินเชื่อ กล่าวคือให้ไปวันหนึ่งก็ต้องคืน ดังนั้น สุทธิแล้วจึงไม่ใช่เงินที่เข้าในระบบ ส่วนเงินที่เข้าไปในระบบจำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบได้กับ 7-8% ของ GDP ก็ถือว่ามีนัยสำคัญ แต่หากถามว่าต้องใช้เงินมากกว่านี้ได้ไหม ก็อาจจะต้องมากกว่านี้เพื่อเยียวยาคนให้ทั่วถึงและกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อดูมาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทกับจำนวนคนที่มีโอกาสได้รับ ยังมีเงินส่วนที่เหลือไปทำอย่างอื่นอีก สิ่งที่น่าสนใจและคนกำลังรอดูอยู่คือจะนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้อย่างไรให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนของเงินเพื่อกระตุ้นหรือประคองเศรษฐกิจไปได้ เรื่องนี้ต้องใช้ความคิดอ่านพอสมควรว่าจะนำไปใช้ตรงส่วนใด และถ้าเงินไม่พอ จะสามารถเพิ่มเติมได้อีกมากน้อยแค่ไหน
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรให้ความสนใจคือการช่วยเหลือแรงงาน โครงสร้างตลาดแรงงานของเรามีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ชนิดครึ่งต่อครึ่งกับแรงงานในระบบ โดยแรงงานในระบบมีจำนวนประมาณ 17 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบมี 21 ล้านคน แรงงานนอกระบบนี้ไม่ได้รับผลประโยชน์จากระบบประกันสังคม บางคนได้อาจจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทบ้าง ไม่ได้บ้าง คำถามคือหลังจากนี้ไป จะมีมาตรการช่วยเหลืออะไรรองรับไหม
ในเวลานี้ไทยใช้เงินเพื่อคุ้มครองแรงงานรวมกันแล้วตกประมาณ 3.7% ของ GDP ถ้าเปรียบเทียบกับเวียดนามและจีนที่ใช้ 6.3% ของ GDP และเกาหลีใต้ที่ใช้ 10% ของ GDP การช่วยเหลือแรงงานของไทยอาจจะยังถือว่าน้อย มีอีกหลายประเทศที่คุ้มครองแรงงานมากกว่าเรา
ในแง่ของคนที่เคยมีประสบการณ์บริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจในเวลานี้ควรระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง
เรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือเวลา เราต้องเข้าใจว่าตอนนี้อยู่ในจังหวะเวลาไหน แล้วปล่อยอาวุธหรือใช้มาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเฟสแรก ผมคิดว่าต้องระวังเรื่องสภาพคล่อง เฟสที่สองคือต้องช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เฟสต่อมา ถ้าคนคลายความกังวลต่อโรคระบาด ในทางจิตวิทยาเริ่มมีความมั่นใจ ก็ต้องกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย และเฟสสุดท้ายจะเป็นจังหวะของการฟื้นฟู
แต่ละจังหวะต้องเลือกใช้เงินและมาตรการที่แตกต่างกันไป ตอนนี้ที่ต้องระวังคือเรื่องสภาพคล่อง ผมคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติก็ดูจะตื่นตัว หรือ ahead of the curve พอสมควร เพราะเขาเห็นสัญญาณแล้วว่า เมื่อทุกอย่างหยุด จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องพอสมควร ดังนั้นเขาจึงพยายามแก้ไข
ด้านสภาพคล่องระดับมหภาค เขาก็อัดมาตรการต่างๆ เข้ามา อย่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ลดอัตราดอกเบี้ย ปล่อยสภาพคล่องออกมา และเมื่อพบว่าสภาพคล่องในระดับมหภาคอาจไปไม่ถึงระดับจุลภาค เขาก็สำรวจดูว่าใครติดขัดตรงไหน และพยายามออกมาตรการแก้ไข เช่น เลื่อนการชำระหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ทั้งหนี้บุคคล หนี้อุปโภคบริโภค หนี้บ้าน สารพัดหนี้ถูกเลื่อนออกไป
ตอนนี้ฝ่ายสมาคมนักบัญชีก็เอาด้วย โดยออกมาตรฐานบัญชีมาใช้ 1 ปี บอกว่าช่วงปี 2563 นี้ จะไม่นำมาตรฐานบัญชีปกติมาคิดเรื่องด้อยค่า นอกจากนี้ ทางแบงก์ชาติเองก็ยื่นมือออกมาทำเรื่อง soft loan 5 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ธุรกิจ SMEs ผสมกับเงินของธนาคารพาณิชย์ เพราะเข้าใจว่าช่วงนี้ SMEs ต่างๆ จะติดขัดเรื่องสภาพคล่อง ค้าขายไม่ดี และมีการค้างรับ-ค้างจ่ายมาบีบรัดธุรกิจ แบงก์ชาติยังเอื้อมมือเข้าไปดูแลเรื่องสภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้ด้วย
ส่วนเรื่องการบรรเทาความเดือดร้อน ผมมองว่าถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ มาตรการตอนนี้คงรับมือไม่ไหวเหมือนกัน เพราะเงิน 5,000 บาทก็ซื้ออะไรไม่ได้เยอะ และอาจจะคิดเรื่องการออกแบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมาตรการด้วย อย่างเช่น ถ้าวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในระบบ บางประเทศจะให้เป็นคูปอง (voucher) เพื่อการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค แทนเงินสด
ความยากของวิกฤตคราวนี้คือความไม่แน่นอนและยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด แม้เราจะวางกรอบการจัดการออกเป็นเฟส แต่คงระบุช่วงเวลาแต่ละเฟสยากว่าจะยาวนานขนาดไหน ในส่วนเฟสจัดการสภาพคล่อง หากวิกฤตลากยาวเป็นปี ปัญหาก็คงไปไกลกว่าเรื่องสภาพคล่อง ธุรกิจอาจจะล้มละลาย และทรัพยากรที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจก็คงไม่เพียงพอ
ใช่ครับ เพราะเรากำลังเผชิญกับอะไรที่ไม่เคยพบ ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน อย่างมาตรการ BSF วงเงิน 4 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติก็ทำงานภายใต้สมมติฐานว่า ภายใน 1 ปีข้างหน้ามีหุ้นกู้เกรดที่ลงทุนได้ (investment grade) ที่ต้อง rollover ประมาณ 9 แสนล้านบาท ผสมกับเกณฑ์ของมาตรการว่าเอกชนต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก่อนมาขอความช่วยเหลือ ก็เลยออกมาเป็นตัวเลข 4 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าวิกฤตลากยาวมากเป็นปี ระหว่างทางเราก็ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะโชคดีประมาณหนึ่ง เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่มากหรือแพร่ระบาดไม่รุนแรงเท่าฝั่งยุโรปและอเมริกา ดังนั้น ถ้าเราช่วยกันดีๆ วิกฤตครั้งนี้ก็อาจจะไม่ลากยาวจนเกินไป ผมเองก็หวังว่าจะมีวัคซีนหรือยารักษาออกมาในเร็ววัน ไม่งั้นคงต้องเริ่มคิดมาตรการอื่นๆ นำมาใช้ประกอบกันไป
หลายคนบอกว่าเรายังพอมีพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) อยู่บ้าง เพดานหนี้สาธารณะยังไม่สูงมาก อาจจะสามารถกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทีนี้ทั้งโลกก็เจอปัญหาเศรษฐกิจ ต้องการเงินมากระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจกันหมด เราจะเอาเงินจากไหน และควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง
นี่เป็นปัญหาที่ในแวดวงธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ เราคงไม่อยากเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำอะไร ‘เกินตัว’ มากจนเกินไปนัก ทีนี้เมื่อพูดถึงเรื่องพื้นที่ทางการคลัง เวลานี้ดูเหมือนเรายังพอมีอยู่ก็จริง แต่การดูฐานะทางการคลัง หัวใจสำคัญคือต้องดูแบบ dynamic ไม่ใช่แบบ static
ถ้าเราดูแบบ static จากตัวชี้วัดที่บอกว่าต้องมียอดหนี้สาธารณะคงค้างไม่เกิน 60% ของ GDP ตอนนี้เรามีอยู่แค่ 40% กว่าๆ ต่อให้เพิ่มไปอีก 1 ล้านล้านบาทก็ยังอยู่ที่ระดับ 50% กว่าๆ ของ GDP ทำให้อาจมองว่ายังมีพื้นที่เหลืออยู่ แต่อย่าลืมว่า GDP นั้นไม่นิ่ง ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำก็อาจจะลดลงได้ และสัดส่วนหนี้ก็จะพุ่งสูงขึ้นทันที เราต้องไม่ลืมว่าเส้น 60% คือกรณีที่ GDP มันเติบโตและมีความสามารถชำระหนี้คืนได้
ปัจจัยแบบ dynamic ยังมีมากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือแรงงานนอกระบบหรือแรงงานโดยรวม มาตรการช่วยเหลือของเราน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างชาติ แสดงว่าไทยยังมีความต้องการเรื่องช่วยเหลือแรงงานอยู่ ยังไม่รวมถึงเรื่องระบบสาธารณสุข ที่แม้เราจะทำได้ดี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็เกิดปรากฏการณ์ที่โรงพยาบาลรัฐต้องรับแรงกดดันสูงมาก การพัฒนาระบบเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องสังคมสูงวัยที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่เปลี่ยนไป เพราะประสบปัญหาการค้าระหว่างประเทศจนภาษีหลากรูปแบบลดลง ประสบปัญหาเรื่องการเก็บ e-commerce ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อประเมินจาก dynamic เหล่านี้ ที่เราพูดกันว่ามีพื้นที่ทางการคลังเหลือเยอะ ก็อาจจะไม่เป็นแบบนั้น
อันที่จริง เรื่องเหล่านี้เป็นโจทย์ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด-19 หลังมีโควิด-19 เข้ามา ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น กระสุนการคลังของเราก็ร่อยหรอลงไป ดังนั้น แม้โควิด-19 จะสงบลง ยังคงมีการบ้านที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำอีกเยอะ
วิกฤตการศึกษา
จากวิกฤตเศรษฐกิจก็ย่อมกระทบถึงเรื่องการศึกษา เพราะโลกการศึกษาไม่ได้แยกออกจากโลกเศรษฐกิจการเมือง หลังโควิด-19 มีโจทย์อะไรในระบบการศึกษาที่เราต้องเตรียมรับมือ
ในมุมของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำงานเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสนั้น อย่างน้อยมี 3 โจทย์ใหญ่ด้วยกัน
โจทย์แรกสุดคือ ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนยาวนาน การที่ต้องอยู่บ้านนานๆ อาจทำให้การเรียนถดถอย เพราะเดิมทีเด็กที่ยากจน ด้อยโอกาส มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนน้อยกว่า โอกาสที่จะเรียนจากพ่อแม่ หรือเข้าถึงความรู้จากสื่อก็น้อยกว่าเด็กทั่วไป ดังนั้น ข้อแรกจึงต้องระวังเรื่องการถดถอยของทุนมนุษย์เพราะการห่างจากห้องเรียนที่มีมากขึ้น
โจทย์ข้อที่สอง เป็นเรื่องที่คนมักมองข้ามไป คือ เด็กยากจนและด้อยโอกาสไม่ได้ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เขายังได้รับอาหารในแต่ละวันฟรีด้วย จากการสำรวจตอนนี้มีข้อน่ากังวลใหญ่ คือ ช่วงโควิด-19 ทำให้เด็กเหล่านี้ประสบปัญหาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เราก็กำลังพยายามดูว่าต้องแก้ไขอย่างไรต่อไป
โจทย์ข้อที่สาม เป็นโจทย์ที่มีความยากและซับซ้อนมาแต่เดิม คือ เรื่องเด็กนอกระบบการศึกษา จากการสำรวจของ กสศ. พบว่ามีจำนวนอย่างน้อย 6 แสนกว่าคน ตอนนี้สิ่งที่เราต้องให้ความสนใจมาก คือ พอเกิดปรากฏการณ์โรคระบาด อาจทำให้คนที่เคยอยู่ในระบบหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเมื่อเขาอยู่ห่างจากโรงเรียน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ ตอนจะกลับเข้าไป อาจจะกลับเข้าไปได้ไม่สนิท อาจจะความรู้ถดถอย จนออกนอกระบบ และทำให้เด็กนอกระบบมีเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เราต้องคิดเพิ่มเติม คือเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษา เช่น แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เพราะมีตัวเลขสถิติจากการสำรวจของ OECD บ่งบอกว่า ในประเทศไทย เมื่อรวมครอบครัวฐานะดีและยากจน จำนวนเด็กอายุราว 15 ปีที่มีคอมพิวเตอร์ใช้เฉลี่ยทั้งประเทศคือ 59% จากทั้งหมด เทียบกับในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 85% ถือว่าน้อยมาก และถ้าเราเจาะกลุ่มเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุดของประเทศ (กลุ่ม 20% ล่าง) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน จะมีเด็กแค่ 17% เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้
เมื่อดูกลุ่มเด็กที่ได้รับทุนจาก กสศ. ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มยากจนพิเศษ (กลุ่ม 5-10% ล่าง) จำนวนกว่า 8-9 แสนคน จากการสำรวจพบว่า เด็กกลุ่มดังกล่าวกว่า 94% ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ นี่ก็เป็นอุปสรรคด้านการเรียนรู้เรื่องหนึ่ง
นอกจากเรื่องเครื่องมือ จากการลงพื้นที่สำรวจ เรายังพบว่ามีปัญหาอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุมทั่วถึง ซ้ำร้ายบางพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า ดังนั้น การที่เด็กยากจนจะเข้าถึงความรู้จึงมีปัจจัยหลายเรื่องทำให้เสียเปรียบมาก
เราจะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างไร
ต้องทำหลายทางครับ ทางหนึ่งที่รัฐมีบทบาทได้แน่ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรเครื่องมือเพิ่มเติม
เรื่องอินเทอร์เน็ตนี้ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ เคยได้ยินข่าวว่าจะใช้เงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตชุมชน ไม่แน่ใจว่าจนถึงตอนนี้คืบหน้าไปอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบมายังมีปัญหาความไม่ทั่วถึงอยู่
ส่วนเรื่องไฟฟ้า บางที่มีการนำระบบโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้แก้ปัญหาสายไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่ระบบนี้ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเสถียร ยังต้องแก้ไขกันต่อไป
เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญและต้องรีบทำให้ทัน ไม่อย่างนั้น ความหวังที่เราตั้งไว้ว่าการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ก็จะไม่กลายเป็นจริง จากสถานการณ์โควิด-19 ด้านหนึ่งอาจมองเป็นวิกฤต แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นโอกาสที่ช่วยสร้างแรงกดดัน ทำให้เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาทางไกล ถ้าประเทศไหนลงทุนพื้นฐานเรื่องนี้ได้ดีกว่า การศึกษาจะไปต่อได้ แต่ถ้าลงทุนน้อย ศักยภาพการศึกษาอาจถูกทิ้งห่างออกไป
ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเป็นคำตอบของการศึกษาได้ทั่วถึง และทำให้การศึกษาทางไกลประสบความสำเร็จ
เมื่อพูดคำว่าการศึกษาทางไกล คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่อันที่จริงไม่ใช่ทั้งหมด ผมอยากใช้คำที่กว้างกว่าอย่างคำว่า ‘Home-based Education’ หรือการให้การศึกษานอกโรงเรียน การเรียนออนไลน์เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น เรียนรู้จากการทำโครงการ เรียนรู้จากเครื่องมือที่ส่งเป็น set box ถึงบ้าน ตลอดจนเรียนรู้จากพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดนี้อาจต้องอาศัยทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทักษะการค้นหาข้อมูลของผู้เรียนประกอบด้วย จึงจะทำให้ Home-based Education ประสบความสำเร็จได้จริง
ในยุคโควิด-19 ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอาจรุนแรงขึ้น มีงานวิจัยพบว่ายิ่งเด็กห่างจากโรงเรียนนาน ยิ่งมีโอกาสหลุดออกจากระบบมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กยากจนและด้อยโอกาส โควิด-19 ทำให้รูปแบบการหลุดออกนอกระบบมีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างไร แก้ปัญหายากขึ้นอย่างไร
เดิมโจทย์เด็กหลุดออกจากระบบเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนอยู่แล้ว ตอนแรกมีสมมติฐานว่าเพราะมีฐานะยากจน เด็กจึงไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา แต่จากการลงพื้นที่ของ กสศ. ก็มีตัวอย่างพบว่าหลายกรณี เด็กไม่ได้มีความสนใจจะเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาเลย แม้ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน มันยากเพราะเป็นเรื่องทัศนคติของเด็กด้วยที่มองว่าโรงเรียนให้อะไรแก่เขา โรงเรียนมีประโยชน์ต่อทักษะการประกอบอาชีพหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเขาจริงหรือไม่ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดให้เขาเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ให้ทุนต่อไปก็คงไม่แก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็มีโจทย์เพิ่มว่าใครจะสามารถเป็นกัลยาณมิตร ชี้แนะได้ว่าการศึกษาจะช่วยเขา มีประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปประกอบอาชีพได้
สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้ครอบครัวของเด็กมีสถานะทางเศรษฐกิจแย่ลง จนเด็กต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อช่วยพ่อแม่ทำงานหารายได้ เราควรวางแผนรับมือเรื่องนี้อย่างไร
นี่เป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของภาครัฐ และอาจมีคนที่เอื้อเฟื้อช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อน ตอนนี้ผมมองว่ารัฐได้ออกมาตรการเยียวยามาจำนวนหนึ่งแล้ว ต่อไปถ้าเรามีมาตรการที่เปิดให้ระบบเศรษฐกิจเริ่มทำงาน คนสามารถมีรายได้ ก็อาจจะบรรเทาเรื่องพวกนี้ไปตามลำดับ
ถ้าวิกฤตลากยาว โรงเรียนอาจถูกปิดไปเรื่อยๆ นโยบายรับมือวิกฤตการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรคือโจทย์ที่ต้องคิด
การรับมือปัญหาด้านการศึกษาคงคล้ายกับเรื่องการวางแผนเรื่องมาตรการเศรษฐกิจของรัฐที่แบ่งออกเป็นเฟสการจัดการสภาพคล่อง การบรรเทาความเดือดร้อน การกระตุ้นการใช้จ่าย และการฟื้นฟู สำหรับโลกการศึกษาตอนนี้เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาดสภาพคล่อง พ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวของเด็กหลายคนมีปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนที่สุด 5-10% ล่างที่ กสศ.ดูแล รวมถึงมีปัญหาเรื่องเด็กขาดสารอาหาร ในจุดนี้ กสศ.ได้จัดงบฉุกเฉินเข้าไปช่วยเหลือเรื่องอาหาร ให้โรงเรียนจัดหาอาหารส่งให้นักเรียน หรือให้นักเรียนเข้ามารับได้ แล้วแต่บริบท
ส่วนเรื่องบรรเทาความเดือดร้อน กสศ. มี ‘ทุนเสมอภาค’ ทางการศึกษาช่วยเด็กยากจนร่วม 700,000 คนอยู่แล้ว โดยให้เงินคนละ 3,000 บาทต่อปีการศึกษา แต่สำหรับปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึง อาจมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของเงิน จากเดิมให้เทอมแรกและเทอมสองเท่ากัน 50:50 ก็อาจจัดสรรให้เทอมแรกมากขึ้น เป็นสัดส่วน 75:25 รวมกับเงินบริจาคที่มีคนมอบมา คงช่วยให้ทุเลาลงได้บ้าง
ส่วนโจทย์ใหม่เรื่องการเรียนรู้ หลังโควิด-19 เราอาจมี new normal ใหม่เรื่องการศึกษาทางไกล ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อมให้มีการเรียนรู้หลายรูปแบบ เครื่องไม้เครื่องมืออย่างอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้าต้องจัดสรรให้ครอบคลุมทั่วถึง ตอนนี้กสศ.กำลังทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีงานศึกษาร่วมกับ World Bank เรื่องทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับโรงเรียน เพื่อดูว่าอย่างน้อยถ้าเราต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้ควรมีทรัพยากรอะไรบ้าง
นอกจากนี้ เรายังมีโครงการพัฒนาครู โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ที่ตั้งใจกลับไปสอนในภูมิลำเนาตัวเอง เราจะช่วยเสริมทักษะใหม่ให้อย่างทักษะทางเทคโนโลยี และทักษะที่เราหวังว่าเขาจะนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียน คือ ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การค้นคว้าข้อมูล ความมีวินัยต่างๆ ประกอบกัน
ในยุคโควิด-19 แนวคิดเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ในฐานะผลลัพธ์ทางการศึกษา (learning outcomes) ที่พึงปรารถนา ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าการสร้างทักษะพื้นฐานคงไม่เปลี่ยน แต่โควิด-19 อาจทำให้เน้นทักษะบางข้อชัดเจนขึ้น เช่น ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเห็นชัดมากว่าเมื่อไม่มีครูคอยจ้ำจี้จ้ำไชในห้องเรียน ก็จำเป็นต้องใช้ทักษะนี้ ต่อมาคือทักษะด้านการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ได้รอครูเขียนบนกระดานหรืออ่านแค่ตำราเรียนที่แจกให้เพียงอย่างเดียว และอีกเรื่องคือทักษะการจัดเวลา ซึ่งตอนนี้ไม่เพียงแค่เด็กที่ต้องบริหารเวลา กระทั่งผู้ใหญ่ที่ work from home ถ้าไม่มีวินัยมากพอ ก็จะเกิดปัญหา ดังนั้นต้องจัดเวลาให้เป็น
ส่วนพวก soft skills อื่นๆ เองก็สำคัญไม่น้อย และในแง่หนึ่ง โควิด-19 ก็สอนเราเรื่องนี้พอสมควร คือสอนเราเรื่องวินัย ผ่านการป้องกันตัวเอง รักษาระยะห่าง เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร
ที่ผ่านมาในสังคมเราอาจเคยพูดถึงทักษะเหล่านี้บ้าง แต่ไม่ได้เน้นและปล่อยให้พัฒนากันไปเอง จนกระทั่งมีสถานการณ์แบบนี้ มันเน้นย้ำให้เห็นว่าถ้าจะรอดพ้นวิกฤต เราควรมีคุณสมบัติและทักษะดังกล่าว ต้องพัฒนาให้เร็วขึ้น รวมถึงสร้างแรงกดดันต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
วิกฤตโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักหนาสาหัสขึ้น คล้ายเป็นการตัดบันไดที่ใช้ลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นของกลุ่มเด็กยากจน เราจะทำอย่างไรให้บันไดนี้ยังเข้มแข็ง การศึกษายังทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำได้อยู่
ในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อาจพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นนั้นอ่อนลง เด็กที่ได้รับการศึกษาดีไปถึงระดับมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้มีฐานะดีกว่าพ่อแม่ก็ได้ แต่สำหรับในประเทศไทย ความสัมพันธ์ตรงนี้ยังเข้มแข็งอยู่ เหตุเพราะว่าเด็กและเยาวชนที่ยากจนมากที่สุด (กลุ่ม 5-10% ล่าง) ของเรามีโอกาสเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยแค่ 5% เท่านั้นเอง และเราพบว่าถ้าเขาศึกษาถึงระดับสายอาชีพ ได้เรียน ปวช. และ ปวส. จนประกอบอาชีพได้ เขาจะมีรายได้ดีกว่าพ่อแม่ ยิ่งบางคนที่อยู่ในโครงการช้างเผือกของเรา สามารถเรียนต่อปริญญาตรี-โท-เอกได้ ฐานะก็ยิ่งดีขึ้น
ดังนั้น เราต้องรีบแก้ไขอุปสรรคทั้งเก่าและใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งการศึกษาทางไกล การเรียนออนไลน์และออฟไลน์ เรื่องโภชนาการ การสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องรีบเข้าไปเสริมก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาฉุดรั้งการพัฒนา
คุณหมอสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. เคยให้สัมภาษณ์ใน 101 ว่า เวลาออกแบบการทำงานของ กสศ. ต้องคิดว่าทุกครั้งว่าโครงการแต่ละโครงการจะนำไปสู่การปฏิรูปเชิงระบบอย่างไร เมื่อต้องเจอโควิด-19 รูปแบบการทำงานของ กสศ.จะเปลี่ยนไปอย่างไร จุดคานงัดใหม่คืออะไร
ในแง่ยุทธศาสตร์ใหญ่ และลักษณะงานคงไม่เปลี่ยน ซึ่งเราทำงาน 2 ลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะแรกคือการให้ความช่วยเหลือโดยตรง เช่น การมอบทุนเสมอภาคทางการศึกษา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีช่วยชี้เป้าเด็กยากจนและมอบเงินช่วยเหลือโดยตรง ส่วนลักษณะที่สองคือการทำโครงการต้นแบบ เป็นตัวอย่างให้หน่วยงานที่มีทรัพยากรและคนมากกว่าใช้เป็นต้นแบบในการทำงานต่อ สองลักษณะนี้ยังคงใช้ได้
ส่วนเรื่องจุดคานงัด กสศ. เองก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เราพยายามทำงานแบบ crowdsourcing โดยรวบรวมข้อมูลจากการฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด ตอนนี้เราใช้เทคโนโลยีรับฟังความคิดเห็นจากครู ผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง ว่ากำลังกังวลเรื่องอะไร และเราจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง
ผมมองว่าเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างการศึกษาทางไกลมีคานงัดเรื่องการกำหนดทรัพยากรขั้นต่ำที่สุดที่โรงเรียนพึงมี เพราะสามารถใช้กำหนดนโยบายได้ว่าอย่างน้อยๆ แหล่งเรียนรู้ควรมีอะไร ทักษะขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้นักเรียนพัฒนาตัวเองได้คืออะไร ทักษะของครูควรเป็นอย่างไร เป็นต้น
หลังโควิด-19 อาจมีคนด้อยโอกาสและยากจนเพิ่มขึ้นมาก ระบบการคัดกรองให้ความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการให้ทุนแบบมีเงื่อนไขจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เรื่องนี้คงต้องสำรวจอีกทีและดูว่าสถานการณ์จะยืดยาวไปแค่ไหน จะต้องขยายกลุ่มที่ต้องให้ความช่วยเหลือด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เวลาเราให้ความช่วยเหลือในรูปแบบทุนเสมอภาคแก่เด็กยากจนที่สุด 10% ล่าง นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่อยู่ในสัดส่วนสูงกว่า 10% นั้นจะไม่ยากจน แต่เป็นเพราะเรามีเงินจำกัด จึงเลือกกลุ่มที่คิดว่าควรได้รับความช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก
ด้านเงื่อนไขของการให้ทุนต่างๆ อาจต้องปรับตามสภาพความเป็นจริง เช่น จากที่ผ่านมา เราให้ทุนโดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ขาดเรียนตามเกณฑ์ เมื่อมีรูปแบบการศึกษาทางไกลเข้ามา สามารถเรียนเองได้ที่บ้าน ก็อาจต้องเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องนี้ แต่สำหรับเงื่อนไขเรื่องน้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก ผมคิดว่าก็ยังคงใช้ได้
รูปแบบในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนก่อนและหลังโควิด-19 จะยังคงเหมือนเดิมไหม มีอะไรที่ควรปรับเปลี่ยน
การให้ความช่วยเหลือแบบมอบเงินสนับสนุน 3,000 บาทตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าเด็กได้รับการอุดหนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐ รวมถึงได้รับอาหารกลางวันแล้ว แต่ที่ต้องให้เพิ่ม เพราะเด็กยังประสบปัญหาอื่นอีกมากในความเป็นจริง เช่น ค่าเดินทางไปกลับโรงเรียน บางคนไม่ได้กินอาหารเช้า เป็นต้น
ถ้าหลังจากนี้ ระบบการศึกษาพัฒนาจนสามารถเรียนแบบ Home-based ได้ โจทย์เรื่องการมอบเงินเพื่อช่วยเหลือค่าเดินทางก็อาจเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา เช่น แท็บเล็ตหรือเครื่องมือช่วยเรื่องการเรียนรู้แทน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อีกภารกิจหนึ่งของกสศ.นอกจากช่วยเหลือกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาส คือการทำงานวิจัยเชิงระบบ โจทย์วิจัยใหม่ในด้านการศึกษายุคหลังโควิด-19 มีอะไรบ้าง
มากเลยครับ บางเรื่องเราได้พูดถึงกันไปแล้ว เช่น รูปแบบโรงเรียนใหม่ๆ การศึกษาทางไกล ทรัพยากรขั้นต่ำในโรงเรียน ทักษะของครู เด็กและเยาวชนในระบบ หลังจากนี้ กสศ.จะพยายามมองภาพที่กว้างขึ้น เช่น เรื่องการพัฒนาทักษะครูรุ่นใหม่ เรื่องเด็กนอกระบบ และการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงเรื่องแรงงาน เช่น กรณีแรงงานไม่มีงานในเมือง ต้องกลับบ้านใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด เขาจะมีทักษะในการประกอบอาชีพอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมชุมชนได้
ภายในปีหน้า จะมีเด็กที่ได้รับทุนจาก กสศ. เรียนจบจำนวนมากพอสมควร ออกจากโรงเรียนก็ต้องเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เราทำอะไรได้บ้างไหม
นี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าการทำงาน กสศ. และอาจเป็นโจทย์ใหญ่ทั่วโลก ไม่นานนี้ ผมเพิ่งได้รับจดหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณบดีถึงกับเขียนถึงศิษย์เก่าว่ามีงานให้นักศึกษาฮาร์วาร์ดที่กำลังจะจบใหม่ไหม ถ้ามีช่วยมาลงทะเบียนในระบบหน่อย
ในส่วนของงานที่ กสศ.ทำ เราทำด้าน supply ของแรงงาน แต่เรื่อง demand นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าพูดอย่างจริงใจคงกล่าวได้ว่าเกินกำลังของเรา สิ่งที่เราทำได้คือยังคงมุ่งมั่นทำให้ทักษะของเด็กและแรงงานสอดคล้องกับความต้องการในภาวะปกติมากที่สุด
วิกฤตสังคมไทย
คุณออกจากโลกเศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนจากการบริหารนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาค มาอยู่ในโลกการศึกษา ต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในช่วงหลายปีหลัง พอเข้ามาทำงานจริงแล้ว คิดว่าอะไรคืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
ผมสนใจและเข้ามาทำงานด้านการศึกษา เพราะคิดว่าโลกการศึกษาไม่ได้ห่างไกลจากโลกเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์เรื่องความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการพัฒนาระบบข้าราชการ สุดท้ายจะมาจบที่เรื่องคน คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นี่จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโลกเศรษฐกิจไปสู่โลกการศึกษา
ถ้าถามว่าทำงานยากไหม ก็คงขอตอบว่ายากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ และคงยากกว่าสิ่งที่เปรียบเหมือนพี่ๆ น้องๆ ของระบบการศึกษาอย่างระบบสาธารณสุข เพราะลักษณะการชี้วัดความสำเร็จและประสิทธิผลนั้นดูยากกว่า อีกทั้งการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมองการณ์ไกล ต้องลงทุน ต้องทำต่อเนื่อง แต่เมื่อการวัดผลไม่ชัดเจนเท่าเรื่องสาธารณสุขหรือเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้คนขาดความสนใจ และไม่ดึงดูดคนมีความสามารถเข้ามาในวงการนี้ จนทำให้กระทรวงศึกษาหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นแกนขับดันให้การศึกษาก้าวไปข้างหน้ามันอ่อนเปลี้ย ไม่ได้ทำงานเต็มที่
เราควรปรับตัวชี้วัดให้ชัดเจนและเหมาะสมขึ้นอย่างไร
เราต้องมองความสำเร็จในเชิงสัมพัทธภาพ (relative success) ถ้าตั้งเป้าหมายแบบสัมบูรณ์ (absolute success) มันจะท้อเสียก่อนเพราะกินเวลานาน แต่ถ้าเป็นตัวชี้วัดแบบสัมพัทธ์ที่วัดความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ จะทำให้เรามีกำลังใจขึ้นบ้าง โจทย์หลักที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ศึกษาไว้มี 4 เรื่องคือ คุณภาพการศึกษา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการใช้ทรัพยากรในระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละปีเราใช้งบประมาณด้านการศึกษาเฉลี่ย 5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบต่อ GDP ก็ถือว่าสูงมาก แต่ผลลัพธ์ออกมายังไม่ดี ตลอดจนกลไกในการบริหารนโยบายที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้มแข็งเต็มที่
นี่จึงเป็นโจทย์ 4 ข้อที่เรายังต้องแก้ไข นอกจากนี้ ผมมองว่าจุดอ่อนหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา คือการปรับข้อเสนอต่างๆ ให้เป็นนโยบาย ในยุคที่เราพูดว่าทุกอย่างต้องปฏิรูป เราจะเห็นข้อเสนอการปฏิรูปเรื่องต่างๆ เยอะมาก แต่ถ้าคนปฏิรูปไม่สามารถ strategize ข้อเสนอ จัดให้เป็นขั้นตอน เป็น phasing ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ทำเพื่อนำไปสู่อะไร ทั้งผู้เสนอและผู้รับข้อเสนอก็คงอาจไม่เห็นภาพ รวมถึงไม่สามารถถ่ายทอดไปสู่หน่วยปฏิบัติได้ ดังนั้น อุปสรรคที่ต้องแก้อีกเรื่องคือการ strategize ให้ดี
โลกการเมืองเกี่ยวพันและสร้างผลกระทบต่อโลกการศึกษา ทั้งในแง่การเมืองเชิงนโยบาย ไปจนถึงระบบบริหารราชการแผ่นดิน ระบบรัฐราชการ คุณเห็นความสัมพันธ์อะไรที่น่าสนใจระหว่างสองโลกนี้
ผมเคยตั้งคำถามว่าทำไมประเทศเราไม่ค่อยมีนักคิดหรือนักนวัตกรรมที่สามารถคิดอะไรได้แปลกใหม่ ซึ่งพอจะหาคำตอบได้ว่าการที่คนจะสร้างนวัตกรรมได้ ต้องมีที่มาจากความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) และคนที่จะมี curiosity ก็ต้องมีลักษณะ nonconformist หน่อยๆ คือต้องคอยตั้งคำถามว่าทำไม ไม่ทำตามเพียงอย่างเดียว
แต่การศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการสร้างคนแบบนั้น ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เราสร้างคนของเราแบบไม่ให้เกิด curiosity ซึ่งตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในผลผลิตการศึกษาไทยยุคเก่า ตอนแรกที่ไปเรียนอเมริกาใหม่ๆ รู้สึกเหนื่อยมาก กลับมาเล่าให้คนไทยฟังว่าเวลาเราฟังครูพูดจบ เพื่อนเรามักตั้งคำถามกับครูว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น แต่เรากลับคิดแค่ว่าจะนำสิ่งที่ครูพูดไปทำต่ออย่างไร มันต่างกันมาก
เมื่อระบบการศึกษาของเราสร้างคนแบบไม่มี curiosity ฉะนั้น วันๆ คงไม่คิดอะไรแหวกแนว จะหวังความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมก็คงยาก สิ่งนี้เองที่โยงมาถึงระบบการเมืองของเราว่าดูเหมือนจะไม่ค่อยสนับสนุนให้เกิดการสร้างคนที่มี curiosity ไม่เอื้อให้คนคิดแตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้สักเท่าไหร่
ถ้าเราจะเปลี่ยนการเมืองแบบเดิมมาเป็นการเมืองใหม่ที่ให้คนได้มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ เราควรออกแบบรัฐธรรมนูญในฐานะสัญญาประชาคมอย่างไร
คุณหมอประเวศ วะสี เคยให้สูตรไว้ว่าการปฏิรูปอะไรก็ตามควรทำตามหลัก P-P-P-O
P แรกคือ Purpose ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ร่วมกันก่อน เมื่อเข้าใจแล้วต้องพยายามตกผลึกเป็น Principle หรือหลักการ ที่มี Participation ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ แล้วจึงค่อยออกแบบรายละเอียดของ Organization แต่ส่วนใหญ่ที่มีปัญหากัน เพราะยังไม่ทันเข้าใจ Purpose ก็ไปเริ่มทำตัว O-Organization แล้ว
เรื่องรัฐธรรมนูญเองก็คล้ายกัน คือรัฐธรรมนูญตอนนี้เป็น O ที่ถูกเขียนออกมาเบ็ดเสร็จในช่วงที่ระบบการเมืองของเรายังมีความไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงมีความหวาดระแวงต่อกัน รัฐธรรมนูญที่ออกมาจึงมีลักษณะเขียนข้อจำกัดต่างๆ ไว้ค่อนข้างมาก แต่ถ้าเรามัวแต่เถียงกันเรื่อง O อย่างเดียว โดยไม่ได้กลับไปคิดและทำ P สามตัวแรกด้วย การแก้ปัญหาก็จะไม่ราบรื่น
ดังนั้น เราควรตกลงกันว่า Governance ของประเทศควรมี Purpose ที่สำคัญอย่างไร เป็นไปได้ไหมที่ทุกฝ่ายจะหันมาทำความเข้าใจความกลัวของอีกฝ่าย ลดหรือลบความกลัวที่มีต่อกัน แล้วขยับเข้ามาเขียน Purpose ร่วมกันโดยไม่ต้องลงรายละเอียดมาก ตกผลึกเป็น Principle ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน โดยมี Participation จากทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม จากนั้นจึงดีไซน์ Organization ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ
ตัว Purpose และ Principle ที่คุณคิดว่าจำเป็นต่อการเมืองแบบใหม่มีอะไรบ้าง
ในบริบทการเมือง ผมคิดว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและภราดรภาพ เรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกับการสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) แต่ตอนนี้เรายังติดอยู่กับความกลัว กลัวว่าคนจะไม่ conform กลัวความแตกต่างนำไปสู่ความแตกแยก ถ้าเราลดความกลัวตรงนี้ได้ ก็จะเป็นผลดี
ถึงวันนี้มองภาพระบบการศึกษาไทย เศรษฐกิจไทย การเมืองไทย ยังมีความหวังอยู่ไหม
เราจะเป็นผู้บริหารหรือผู้นำได้ ด้านหนึ่งต้องเข้าใจสภาพความเป็นจริงว่ามีข้อจำกัด มีปัญหาอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ไม่ว่าสมาชิกในองค์กรหรือคนในสังคม จะสร้างแรงบันดาลใจได้ต้องมี hope อยู่เสมอ เป็น hope ที่ไม่ใช่แค่ dream แต่อยู่บนพื้นฐาน reality ด้วย
เราต้องให้กำลังใจ ให้ความหวังกันและกัน สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาก็มีเพื่อนออกไปอยู่ต่างประเทศ เพราะหมดหวังกับประเทศไทย แต่แล้วสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ขึ้นมาโดยที่เขาคาดไม่ถึง ของพวกนี้มันไม่แน่นะ (หัวเราะ)