fbpx
เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ 'ประชาธิปไตยแบบไทยๆ' ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ชื่อ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการและผู้สนใจการเมืองไทย เมื่อเขาได้นำเสนอบางส่วนของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่าด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับสังคมไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็นหนังสือชื่อ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok

หลังเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โซปรานเซ็ตติไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Fellow) ที่ภาควิชามานุษยวิทยาและชาติพันธ์ุนิพนธ์สำหรับพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสังคม แห่ง Central European University (CEU) ซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบัน แม้สังกัดและที่ทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งตลอดทศวรรษ แต่สังคมการเมืองไทยยังเป็น ‘สนามความรู้’ ของเขาอยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยของเขาจะปรากฏทั้งในรูปแบบงานวิชาการที่เข้มข้น และความเห็นในหน้าสื่อต่างประเทศชั้นนำอย่าง Al Jazeera

สายตาแบบนักมานุษยวิทยาทำให้ผลงานของโซปรานเซ็ตติมีเสน่ห์และแหลมคม จุดเด่นของเขาไม่ได้มีเพียงแต่มุมมองและบทวิเคราะห์อันทรงพลังเท่านั้น แต่เขายังใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาสร้างทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น  การใช้เสียงของเมือง (urban sound) เล่าเรื่องการเมืองของชนชั้น งานสารคดี ภาพถ่ายและงานศิลปะ และล่าสุดคือกราฟิกโนเวลเรื่อง ‘Awakened’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของคนสามัญธรรมดาในสังคมไทย

ทั้งหมดนี้ทำให้โซปรานเซ็ตติเป็นหนึ่งในคนที่ 101 อยากชวนมาถกอนาคตการเมืองไทยในปี 2020 มากที่สุด – ในฐานะที่สังคมไทยเป็นสนามความรู้ของเขา เขามองเมืองไทยอย่างไร ตั้งคำถามอะไรกับมัน และคำตอบที่ได้คืออะไร

 

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti)

 

ในแวดวงวิชาการไทยศึกษา คุณเป็นที่รู้จักจากการทำวิจัยเรื่อง ‘มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับสังคมไทย’ ที่ช่วยสร้างคำอธิบายและความเข้าใจต่อคนกลุ่มนี้อย่างลุ่มลึกและแหลมคม หลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นลง คุณได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยบ้างไหม และตั้งคำถามอะไรกับมัน

หลังจากที่ผมทำวิจัยเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสร็จ ตอนนั้นยิ่งลักษณ์กำลังเป็นรัฐบาล สถานการณ์ในตอนนั้นดูราวกับว่ากลุ่มคนเสื้อแดงได้รับชัยชนะ รัฐบาลที่พวกเขาเลือกกลับมาอยู่ในอำนาจ แต่ว่าภายในระยะเวลาอันสั้น กลุ่มคนเสื้อแดงกลับต้องพ่ายแพ้ เมื่อรัฐบาลทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้งท่ามกลางการสนับสนุนของคนจำนวนไม่น้อย

ประเด็นที่ผมสนใจจึงเป็นประเด็นร่วมสมัยที่นักวิชาการหลายคนพยายามทำความเข้าใจ นั่นก็คือทำไมคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางไทย ซึ่งเคยสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในปี 2535 และต่อต้านทหารจึงกลับมาสนับสนุนทหาร อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ลงถนนต้านคุณสุจินดา (คราประยูร) แต่ปัจจุบันเลือกกลับลงคะแนนเสียงให้กับคุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) เราจะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

พูดอีกแบบคือ ผมสนใจการสร้างพันธมิตรใหม่ระหว่างชนชั้นกลางไทยกับกลุ่มชนชั้นนำอำนาจนิยมที่นำโดยทหารว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

 

คุณเจอคำอธิบายที่น่าพอใจหรือยัง

มีคำอธิบายที่แตกต่างกันอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ แนวทางแบบวัตถุนิยม นั่นก็คือระบบเลือกตั้งทำให้เกิดการกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่นอกเขตเมือง ส่งผลให้ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากรู้สึกว่าตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาถูกคุกคาม เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรได้น้อยลง

อีกแนวทางหนึ่งที่ผมสนใจมากกว่า คือ คำอธิบายเชิงอุดมการณ์ หรือพูดให้ชัดขึ้นคือความเข้าใจเรื่องศีลธรรมและธรรมาภิบาลในสังคมไทย กล่าวคือคนชั้นกลางได้เปลี่ยนวิธีการรับรู้คำที่มีความหมายสากลอย่างคำว่า ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล หรือคอร์รัปชัน ให้มีความหมายเฉพาะสำหรับพวกเขาเอง

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ‘ธรรมาภิบาล’ ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘good governance’ จริงๆ แล้วเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะในเชิงเทคนิคมาก เราต้องเข้าใจบริบทที่เขาใช้จึงจะสามารถแปลออกมาได้ คำนี้หมายถึงรัฐบาลที่โปร่งใสและรับผิดต่อประชาชน แต่เมื่อต้องแปลคำนี้เป็นภาษาไทยแล้ว จะใช้คำว่า ‘ธรรม’ ซึ่งมีความหมายถึงความดีในทางศีลธรรม ดังนั้นเวลาพูดถึง ‘ธรรมมาภิบาล’ ในสังคมไทยมักกลายเป็นเรื่อง ‘ศีลธรรม’

ถ้าลองย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงคอนเซ็ปต์เรื่อง good governance เริ่มถูกพูดถึงในสังคม เมื่อพูดถึง ‘ธรรมาภิบาล’ ที่ว่า ก็ยังมีเซนส์แบบตะวันตกอยู่มาก แต่ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ‘ธรรมาภิบาล’ ถูกตีความในเชิงศีลธรรมมากขึ้นๆ เมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่อง ‘ศีลธรรม’ จุดศูนย์กลางของมันจึงเป็นเรื่องของการเป็น ‘ผู้ดี’ และ ‘คนดี’ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล

 

แต่ถ้าดูพฤติกรรมของนายพลที่อยู่ในอำนาจ เช่น คุณประยุทธ์และคุณประวิตร ซึ่งเป็นภาพจำของรัฐบาลนี้ หลายคนบอกว่า ทั้งสองไม่เข้าใกล้คำว่า ‘ผู้ดี’ หรือ ‘คนดี’ เลย จะเอา ‘good governance’ แบบตะวันตกก็ไม่ใช่เสียทีเดียว หรือจะเอา ‘ธรรมาภิบาล’ แบบไทยเลยก็ไม่ผ่าน คุณจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

คุณพูดถูก (หัวเราะ) แต่นั่นเป็นเพราะคุณมองจากปัจจุบัน หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ผมคิดว่า ภาพลักษณ์ของคนจำนวนมากที่มีต่อประยุทธ์ไม่ใช่แบบนี้ ตอนนั้นหลายคนอยากก้าวข้าม ‘ระบอบทักษิณ’ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นด้านตรงข้ามของธรรมาภิบาลแบบที่พวกเขาอยากได้ และมองว่าคนแบบคุณประยุทธ์สามารถเป็นภาพแทนของธรรมาภิบาลได้

ในปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธเปราะบางขึ้นมาก เพราะคนที่ไม่ได้มองว่าประยุทธเป็นตัวอย่างที่ดีของธรรมาภิบาลกำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงที่สุด พวกเขาจะมองหาสิ่งใหม่ เมื่อความชอบธรรมของประยุทธ์นั้นหมดลง

 

นักมานุษยวิทยามักจะมองเห็นบริบทเฉพาะของสังคมที่ตนเองเข้าไปศึกษาและเชื่อว่าแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะอยู่ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ มีจริงไหม

ผมอยากจะยกตัวอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งกลุ่มคนเสื้อเหลืองเคยนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ (absolute democracy) ซึ่งบอกว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโหวตเลย แต่เป็นเรื่องของความดี เรื่องนี้สำหรับผมน่าสนใจมาก เพราะมันคือการนำเอาแนวคิดของวัฒนธรรมท้องถิ่นมาตีความและทำความเข้าใจคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

ข้อสังเกตของผมคือ ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่การเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นไปตีความคำที่มีความหมายแบบสากลยังเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางอื่นๆ ด้วย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือจีน ซึ่งน่าสนใจมากที่ภาษาของพื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่สนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยม

ประเด็นของผมคือ ในการทำความเข้าใจการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า วัฒนธรรมเฉพาะหนึ่งๆ ตีความและเข้าใจประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งวัฒนธรรมที่จะถูกนำไปใช้ทำความเข้าใจและตีความประชาธิปไตยนั้นถูกควบคุมโดยชนชั้นกลาง ถ้าคุณไปพื้นที่อีสาน ความเฉพาะเจาะจงเชิงวัฒนธรรมและการตีความก็จะต่างออกไป

ในแง่นี้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยนักที่จะพูดว่า ชนชั้นกลางไทยที่กลายเป็นพลังเบื้องหลังอำนาจนิยมนั้น ‘แย่’ หรือ ‘งี่เง่า’ (ignorance) แต่เราต้องทำความเข้าใจเขามากกว่า ซึ่งก็ยอมรับว่าไม่ง่ายนัก

ดังนั้น ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ จึงมีอยู่ในความหมายนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันคนละเรื่องกับประชาธิปไตยในความหมายสากล

 

ตอนที่คุณทำการศึกษากลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เวลาคุยกันเรื่องว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ธรรมาภิบาลคืออะไร เขาให้ความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ภายในกลุ่มคนเสื้อแดงมีความเข้าใจประชาธิปไตยอยู่สองทิศทางด้วยกัน อย่างแรกคือแนวคิด ‘ประชาธิปไตยกินได้’ คือประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับการกระจายทรัพยากร ประชาธิปไตยคือความเป็นไปได้ที่ทุกๆ คนในสังคมจะเข้าถึงทรัพยากร และมีชีวิตรอด ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้สอดรับกับข้อเสนอคุณทักษิณและพรรคของเขา แต่ในอีกความเข้าใจหนึ่ง ประชาธิปไตยเกี่ยวพันกับเรื่องของความยุติธรรมและสองมาตรฐาน คนเสื้อแดงจำนวนมากรู้สึกว่า ถ้าพวกเขาทำอะไรสักอย่าง รัฐจะแสดงปฏิกิริยาอย่างหนึ่ง แต่พอเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลืองทำบ้าง รัฐกลับแสดงปฏิกิริยาอีกแบบ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ กับการบุกยึดสนามบิน มักจะถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของความไม่ยุติธรรมอยู่เสมอ

โดยรวมๆ ความเข้าใจของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงโคจรอยู่รอบๆ แนวคิดของการโหวต และความเท่าเทียม แต่แนวคิดเหล่านี้ไม่เคยมีการถกเถียงกันเรื่องความโปร่งใส ผมเคยลองถามคนเสื้อแดงหลายๆ คนว่า แล้วกับการคอร์รัปชันของทักษิณล่ะ แต่คำตอบที่ได้คือ นักการเมืองประเทศไทยทุกคนก็คอร์รัปชันกันหมดแหละ สำหรับพวกเขา การคอร์รัปชันของทักษิณไม่ใช่อะไรใหม่ พวกเขาเลยไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่พวกเขาบอกว่า คอร์รัปชันเป็นประเด็นที่พวกเขาไม่ได้สนใจ พวกเขาสนใจว่า เขาจะได้รับการกระจายทรัพยากรและความยุติธรรมหรือไม่

ในแง่นี้ ความเข้าใจที่มีต่อคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ของทั้งสองฝั่งแตกต่างกันมาก ทั้งสองกลุ่มใช้คำเดียวกัน แต่ความหมายกลับเป็นคนละเรื่องเลย

 

หนังสือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok ภาพจากเว็บไซต์ ucpress.edu
หนังสือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok ภาพจากเว็บไซต์ ucpress.edu

 

ด้วยกรอบคิดที่ว่านี้ คุณรู้สึกเซอร์ไพรส์ไหมที่รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจมาถึง 5 ปี และเมื่อมีการเลือกตั้งพวกเขาก็ยังสามารถกลับมามีอำนาจได้อีก

ผมไม่แปลกใจที่คุณประยุทธ์ยังอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ค่อนข้างแปลกใจกับคะแนนเสียงที่พรรคพลังประชารัฐได้รับ ในช่วงก่อนเลือกตั้งผมให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์หัวหนึ่งไว้ว่า ประยุทธ์จะยังคงอยู่เพราะวิธีที่คุณประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจนั้นแตกต่างจากรัฐประหารในปี 2549 เพราะหลังรัฐประหาร เขาได้รวบตำแหน่งต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้กลไกทางอำนาจทุกอย่างอยู่รอบๆ ตัวเขา ในแง่นี้โอกาสที่เขาจะอยู่ยาวจึงมีสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่คิดว่าเขาจะได้รับคะแนนสนับสนุนมากขนาดนี้ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลทหารเขียนกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่คะแนนโหวตกว่า 30% ที่ได้มาก็น่าสนใจมากๆ สำหรับผม การที่มีผู้นำทหารในปี 2562 ในประเทศไทย แถมยังเป็นคนแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเขาฉลาด แม้กระทั่งคนที่โหวตให้เขาก็ไม่คิดว่าเขาฉลาด แต่กลับสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้อย่างมหาศาล มันสะท้อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลึกมากๆ

 

คุณคิดว่าลำพังกติกาที่เอื้อประโยชน์ประโยชน์กับตัวเองไม่เพียงพอในการอธิบายผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา 

กติกาการเลือกตั้งมีผลแน่ๆ แต่เราจำเป็นต้องเข้าใจมันทั้งระบบ ผมเคยเขียนบทวิเคราะห์เรื่องนัยสำคัญของการรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่คือ การสร้างการบริหารรัฐกิจใหม่ (remaking state administration) การสร้างอุดมการณ์ใหม่ (remaking ideology) และการสร้างพันธมิตรทางชนชั้นใหม่ (remaking class alliances) ซึ่งสองข้อหลังผมได้พูดไปบ้างแล้ว ทั้งเรื่องชนชั้นกลางที่มาสนับสนุนทหาร และการเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมการณ์ ผมขอขยายความเรื่องสร้างการบริหารรัฐกิจแบบใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 คือเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนการบริหารรัฐกิจใหม่ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เป็นอย่างมากใน 2 องค์ประกอบสำคัญ หนึ่งคือกระบวนการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งหมายรวมตั้งแต่กระบวนการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐสภาที่รับประกันว่าอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีทหารเป็นตัวแสดงหลักจะมีเสียงในสภาเสมอ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญนี้ยังเปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแทรกแซงรัฐธรรมนูญได้ตลอด โดยใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันมากนักคือ การปกครองส่วนท้องถิ่น (local administration) ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในหลายๆ ส่วนถูกกำหนดควบคุมโดยรัฐบาลจากส่วนกลาง ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะคุณกำลังอาศัยอยู่ในประเทศที่ 80% ของนักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยต่างมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ 70% ของการบริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ นั่นคือคุณอยู่ในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจและความร่ำรวยของประเทศแทบจะอยู่กับเมืองเมืองเดียวอย่างแท้จริง คำถามทางการเมืองที่ตามมาคือ คุณจะจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนี้กับส่วนอื่นๆ ของประเทศอย่างไร ซึ่งมันเป็นคำถามที่ใหญ่มาก

ถ้ายึดรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหมุดหมาย คุณจะเห็นเลยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเปลี่ยนไปโดยตลอด ระบบเลือกตั้งทำให้คุณทักษิณจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจออกไปสู่ชนบท ในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งก็สมเหตุสมผลในทางการเมือง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถจูงใจฐานเสียงส่วนใหญ่กลับมาโหวตให้เขา หลังรัฐประหาร 2549 มากบ้างน้อยบ้างเราก็ยังเห็นปรากฏการณ์นี้อยู่ แต่รัฐประหาร 2557 และรัฐธรรรมนูญ 2560 เปลี่ยนเรื่องนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

พูดอย่างรวบยอด องค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารรัฐใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 คือ การกระชับอำนาจให้กลับมาอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ อีกครั้ง (recentralization)

 

ภาพจาก claudiosopranzetti.com
ภาพจาก claudiosopranzetti.com

 

เรามักมองกันว่า ‘คนเสื้อแดง’ คือฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า พรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลงเหมือนกัน คุณติดตามการเมืองของคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับคุณแล้วคะแนนเสียงของเพื่อไทยสะท้อนอะไร และ ‘คนเสื้อแดง’ เปลี่ยนไปบ้างไหม

เมื่อสักครู่คุณถามผมเรื่องเซอร์ไพรส์ คำถามนี้ทำให้ผมนึกคำตอบออก คนเสื้อแดงนี่แหละที่เซอร์ไพรส์ผม

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน คนจำนวนมากรวมทั้งผมด้วย เชื่อมั่นว่ารัฐประหารไม่มีทางเป็นไปได้แล้วในประเทศไทย เพราะถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่กลุ่มคนเสื้อแดงจะลุกขึ้นมาประท้วงแน่ๆ แต่เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้น กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีความพยายามที่จะประท้วงหรือต่อต้าน แต่สิ่งที่เห็นคือ กลุ่มคนนับล้านๆ คนที่เคยออกมาบนท้องถนนทั่วประเทศกลับไม่สามารถแสดงพลังทางการเมืองได้เลย เป็นไปได้อย่างไร

มีคำอธิบายหลายข้อด้วยกัน แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือปฏิบัติการของทหารหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นวิธีการที่ฉลาดมากๆ สิ่งที่ทหารทำคือ พวกเขาไม่ได้จับกุมหรือไล่ล่าพวกแกนนำตัวเป้งๆ แต่กลับเลือกจัดการกลุ่มผู้จัดตั้งขนาดเล็กๆ ถ้าคุณลองดูโครงสร้างภายในของกลุ่มคนเสื้อแดง คนที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่แกนนำอย่างคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) หรือคุณจตุพร (พรหมพันธุ์) หรอก คนที่สำคัญจริงๆ คือคนจัดรายการวิทยุในโคราช ในเชียงใหม่ และคนจัดที่ตั้งกลุ่มในศรีสะเกษ คนเหล่านี้เชื่อมโยงระหว่างแกนนำและฐานมวลชนคนเสื้อแดง คนกลุ่มนี้แหละที่ถูกจับกุม คนกลุ่มนี้แหละที่ถูกจับตามอง คนกลุ่มนี้แหละที่ตอนนี้อยู่ในคุก คนกลุ่มนี้แหละที่ต้องหลบหนีออกจากประเทศ

การขาดแกนนำในระดับกลางทำให้ขบวนการเสื้อแดงเสียขบวนอย่างมาก หลังรัฐประหารผมลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้คนหลายจังหวัด คนเสื้อแดงแต่ละที่เขาอยากจะติดต่อกันนะ แต่ว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าคนเสื้อแดงอีกที่หนึ่งทำอะไร ผมเลยถามไปว่า พวกคุณไม่ได้ติดต่อกันเลยเหรอ พวกเขาบอกว่าไม่เลย ที่ผ่านมาการติดต่อระหว่างพวกเขาทำผ่านแกนนำหมด แล้วแกนนำแต่ละที่จะค่อยๆ บอกต่อกันในวงของตัวเอง พูดอีกแบบคือ คนเสื้อแดงไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กันแนวราบ (horizontal connection) เลย  ทุกอย่างเป็นไปในแนวดิ่ง (vertical connection) ดังนั้น คุณไม่ต้องตัดหัว แต่แค่เชือดคอหอย ขบวนการทั้งองคาพยพก็พังทลาย ในแง่นี้ผมจึงประเมินว่า แนวทางการจัดการของทหารฉลาดมากๆ

ในอีกด้านหนึ่ง คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยเองก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ คนเสื้อแดงจำนวนมากผิดหวังกับคุณทักษิณ โดยเฉพาะคำพูดของเขาในวาระครบรอบสองปีเหตุการณ์ราชประสงค์ในปี 2555 ซึ่งคุณทักษิณพูดขอบคุณคนเสื้อแดงที่อยู่กับเขามาตลอด แต่ถึงเวลาที่เขาต้องไปต่อแล้ว ในตอนนั้นพรรคเพื่อไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งและคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2554 คนเสื้อแดงจึงรู้สึกว่าพวกเขาถูกทิ้ง หลังรัฐประหาร 2557 ความรู้สึกถูกทิ้งยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะไม่มีใครผ่านเข้ามาช่วยจัดตั้งขบวนการ ไม่มีความช่วยเหลือใดไปถึงพวกเขา

ผมคิดว่า เราไม่สามารถพูดถึงเสื้อแดงได้อีกแล้ว เสื้อแดงไม่มีอยู่อีกแล้ว ตอนนี้พวกเขาแตกกระจายกันไปหมด แต่ละคนมีความรู้สึกที่ชัดเจนมากว่า พวกเขาทำอะไรไม่ได้และไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำอะไรเลย แนวโน้มนี้กระจ่างชัดขึ้นมากกับแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งก็นำมาสู่การสนับสนุนที่ลดลงในหลายๆ พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย

 

หากฟังจากบทวิเคราะห์ของคุณ เราบอกได้ไหมว่าประเทศไทยผ่านยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ไปแล้ว  และเราต้องการคำอธิบายทางการเมืองแบบใหม่

ผมเห็นด้วย แว่นตา (lens) ของการเมืองแบบสีเสื้อใช้อธิบายการเมืองไทยได้น้อยลงเรื่อยๆ

ข้อเสนอของผมคือ แก่นความขัดแย้งทางการเมืองไทยโคจรอยู่รอบๆ คำถามที่ว่า ใครมีสิทธิที่จะปกครอง อะไรให้สิทธิคุณในการจะปกครอง ในด้านหนึ่งมีคนเสนอว่าสิทธิที่จะปกครองมาจากคะแนนนิยม แม้ว่าคุณจะเป็นคนไม่ดี (นัก) ก็ตาม กับอีกด้านมองว่า สิทธิที่จะปกครองขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร หรือคุณเป็น ‘ตัวแทน’ ของใคร

แม้ตอนนี้เราจะเห็นภาพคร่าวๆ ว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มไปทางข้อเสนอหลังมากกว่า ส่วนคนต่างจังหวัดก็ดูจะโน้มเอียงไปที่ข้อเสนอแรก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถพูดแบบง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างแบบที่ผ่านมา ชนชั้นกลางที่โหวตให้เพื่อไทยหรืออนาคตใหม่ก็มีจำนวนไม่น้อย ถ้าคุณเป็นชนชั้นกลางบน คุณจะพบเลยว่าเพื่อนคุณมีทั้งที่โหวตให้อนาคตใหม่ เพื่อไทย และพลังประชารัฐ

พูดให้ถึงที่สุด มันคือความแตกต่างทางอุดมการณ์ที่ลงลึกไปในทุกระดับของสังคม

 

แล้วเรื่องของช่วงวัย คุณมีความเห็นว่าอย่างไร

นี่เป็นคำอธิบายที่เราได้ยินกันบ่อยมาก โดยเฉพาะที่บอกว่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยและการโหวต แต่ถ้าคุณเคยไปร่วมการชุมนุมของคนที่สนับสนุนคุณประยุทธ์ คุณก็จะพบว่ามี ‘คนรุ่นใหม่’ จำนวนไม่น้อยเลย

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและยังต้องการการศึกษาอยู่มาก ผมไม่ปฏิเสธว่า ในโซเชียลมีเดียคนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความรู้เรื่องสื่อมากขึ้น มีความเป็นสากล และความเป็นพลเมืองโลก คนกลุ่มนี้ไม่ได้เห็นว่ากองทัพเป็นสถาบันที่ทรงเกียรติอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า มีวาทกรรมแบบอนุรักษนิยมจำนวนมากในโลกโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน คนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่เขียนข้อความเชียร์คุณประยุทธ์และออกมาเถียงแทน ในขณะที่จำนวนไม่น้อยที่แม้ไม่ได้ชอบคุณประยุทธ์ แต่ก็ไม่คิดว่าพรรคแบบอนาคตใหม่เป็นทางเลือกของตัวเอง พูดอีกแบบคือ คนรุ่นใหม่เองก็มีความหลากหลายอย่างมาก

 

คุณประเมินพรรคอนาคตใหม่อย่างไร

ถ้าคุณหมายถึงว่าพรรคจะโดนยุบหรือเปล่า คุณน่าจะมีคำตอบที่ดีกว่าผมนะ (หัวเราะ)

โดยรวมผมเห็นไม่ต่างจากที่ทุกคนเห็น ก็คือพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่มีศักยภาพมาก แต่คำถามคือแล้วจะไปยังไงต่อ? ถ้าพรรคอนาคตใหม่โดนยุบอะไรจะเกิดขึ้น ใครจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองบ้าง จะเกิดอะไรขึ้นกับที่นั่งของพวกเขาในสภา เรื่องนี้คงส่งผลสะเทือนต่อพรรคในระยะสั้นอยู่ แต่ภายใต้ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ การยุบพรรคอาจเป็นการขยายศักยภาพของพวกเขามากขึ้นก็เป็นได้

การเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึก ในด้านหนึ่งพรรคอนาคตใหม่ ‘เป็นเหยื่อ’ ของเกมชิงอำนาจทางการเมือง แต่ภายใต้เกมแบบนี้ เขาก็รู้ว่าพรรคต้องสู้แบบไหน อย่าลืมว่าความน่าสงสารและการเอาใจช่วยคนที่ถูกรังแก เป็นพลังทางเมืองที่ทรงพลังมากๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลก

ความท้าทายของอนาคตใหม่คือ พวกเขาจะสามารถรวบรวมผู้คนที่มีความคิดแตกต่างเข้าไว้ด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน ประสบการณ์จากหลายที่ทั่วโลกชี้ว่า พรรคเกิดใหม่ที่มีอุดมการณ์แน่ชัดมักจะทำได้ดีมากๆ ในช่วงการเลือกตั้ง และจะค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อพวกเขาเป็นฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล เพราะการประนีประนอมในฝ่ายค้านจะน้อยกว่า ถ้าเราดูพรรคร่วมฝ่ายค้านดีๆ จะเห็นว่า พวกเขามีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งแนวคิดด้านเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม (social procedure) การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสถาบันทางการเมือง ฯลฯ แต่เมื่อไหร่ที่พวกเขาต้องมาเป็นรัฐบาลมันจะยากมากๆ เอาเข้าจริง แค่ภายในพรรคอนาคตใหม่เองก็มีความแตกต่างหลากหลายค่อนข้างมากแล้ว (หัวเราะ)

โจทย์ใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและพื้นที่ (platform) ให้คนเข้ามาร่วมได้มากที่สุด โดยที่ยังรักษาแก่นคุณค่าของตัวเองไว้ได้ หากพวกเขาไม่มีฐานที่แข็งแรง ต่อให้พวกเขาเอาชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ พวกเขาจะไม่สามารถเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศได้ และพรรคก็จะพังทลายอย่างรวดเร็ว

 

หลายคนมองว่าปี 2563 สมรภูมิการเมืองไทยจะอยู่ที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมติดตามเรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากมากในปัจจุบัน ผมเห็นด้วยว่าในปี 2563 สังคมไทยน่าจะถกเถียงเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่าผลสุดท้ายจะเป็นยังไง

ในทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ที่ผ่านมาพวกเขาเล่นบทของตัวเองได้แย่มากๆ อันที่จริง พวกเขาสามารถมีอำนาจกว่านี้ได้ถ้าพวกเขาเล่นบทอย่างระมัดระวัง เพราะประชาธิปัตย์สามารถเปลี่ยนข้างไปมาได้ (shifting vote) ซึ่งเปิดช่องให้พวกเขาทำอะไรได้เยอะมาก

 

อะไรคือปมใหญ่ของการเมืองไทยที่รออยู่

การตีความประชาธิปไตยในเชิงศีลธรรมของชนชั้นกลางไทยไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่ พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ คุณประยุทธ์เองก็ไม่ใช่ผู้นำในฝันแบบที่คนอยากได้กัน เขาไม่ใช่ ผู้ดี หรือ คนดี แบบที่เคยเป็นความหวังไว้ในตอนแรก

พูดให้ถึงที่สุด ‘ผู้นำที่ดี’ ของคนไทยถอดแบบมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เป็นผู้นำทางศีลธรรมสูงสุดในความคิดของชนชั้นกลางไทย ทรงเป็นทั้งผู้มีบารมีในฐานะพระมหากษัตริย์ เป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรมสูงสุด เป็นพลังในการสร้างความชอบธรรม และเป็นบ่อเกิดของศีลธรรม คำถามที่ใหญ่มากในห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ หลังรัชสมัยของพระองค์ สิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และประชาธิปไตยจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวมันเองได้อย่างไรในยุคสมัยนี้

นี่เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น อนุรักษนิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า ในด้านหนึ่งอนาคตใหม่เกิดขึ้นภายใต้บริบทแบบนี้ สิ่งที่ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) และพรรคอนาคตใหม่กำลังทำอยู่ คือการเสนอกรอบศีลธรรมชุดใหม่ ซึ่งเป็นศีลธรรมคนละชุดกันกับการเมืองของคนดี และในฐานะนักการเมือง ธนาธรก็เสนอตัวว่าเขาคือคนที่มีศีลธรรม  (moral person) ชุดนั้น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การต่อต้านธนาธรจะเกิดขึ้นภายใต้ชุดความคิด ‘คนดี’ ซึ่งเป็นชุดความคิดเดียวกันกับที่ใช้ทำลายทักษิณ เช่น การโจมตีว่าเขาไม่ใช่คนซื่อสัตย์และมีปัญหาเรื่องการจัดการทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ เกมๆ หนึ่งว่า ใครจะสามารถอ้างความเป็นคนดีได้มากกว่าใคร ภายใต้ชุดศีลธรรมแบบไหน ซึ่งน่าจับตามากทีเดียว

 

ถ้าใช้คำของอาจารย์เกษียร เตชะพีระคือ เรากำลังอยู่ในยุคหลัง The Bhumibol Consensus ในแง่นี้ สังคมไทยจำเป็นต้องหาฉันทามติใหม่ร่วมกันไหม

ผมไม่แน่ใจนักว่า การหาฉันทามติเหมือนสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 จะยังทำได้ไหม และจำเป็นต้องทำไหม ข้อถกเถียงของผมคือ ฉันทามติจะเกิดขึ้นได้ภายใต้ความสัมพันธ์แบบหนึ่งๆ เท่านั้น ในสังคมไทยภาษาของความรัก (language of love) มาจากตำราพุทธศาสนาโบราณ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับประชาชน คือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ลักษณะที่ความรักถูกทำความเข้าใจในบริบทนั้นก็คือ พ่อจะดูแลลูกอย่างดีที่สุด โดยที่ลูกต้องเคารพและจงรักภักดีโดยสมบูรณ์ คุณเป็นลูก ความรักในลักษณะนี้จึงต้องการฉันทามติโดยสมบูรณ์ และทุกๆ คนจะต้องรักกันหมด การวางกรอบความรักในรูปแบบนี้จะมีความเป็นส่วนรวมเสมอ

แต่นี่ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเดียวที่เป็นไปได้ หากพูดถึงแง่มุมของการใช้อำนาจยังมีความสัมพันธ์แบบอื่นอยู่ เช่น ความกลัว เป็นต้น ในรัฐบางรัฐ ผู้มีอำนาจเลือกที่จะควบคุมกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม เช่น กองทัพ หรือข้าราชการระดับสูง แต่ให้อิสระโดยสัมพัทธ์กับคนส่วนใหญ่ พูดอีกแบบคือ ความกลัวไม่ได้ต้องการฉันทามติ แต่สามารถออกแบบ (customize) สำหรับควบคุมคนเฉพาะกลุ่มได้

 

 

[box]

มอเตอร์ไซค์รับจ้างในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น

 

ข้อเสนอที่สำคัญมากในงานวิจัยเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างของคุณคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างคือกลุ่มคนที่รู้เรื่องเมืองเป็นอย่างดี พวกเขาเชื่อมเมืองผ่านบริการของพวกเขา และเชื่อมสังคมเข้าผ่านปฏิสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับคนอื่นๆ ในเมือง แต่ในยุคนั้นบริการอย่าง Line Man และ Grab ยังไม่มีเหมือนทุกวันนี้ คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมจากการเข้ามาของเทคโนโลยี

เปลี่ยนไปมากเลยครับ (หัวเราะ) ความเปลี่ยนแปลงหลักมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง คุณมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขากลับรู้เรื่องเมืองน้อยลง ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ขี่รถตามที่แผนที่ในโทรศัพท์บอก ไม่ได้รู้จักตรอก ซอกซอย ไม่รู้จักเมืองอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบเดิม ในแง่นี้ความรู้เกี่ยวกับเมืองจะค่อยๆ สูญหายไป พวกเขาไม่ได้นั่งอยู่ตามมุมต่างๆ ของเมือง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเดินทางไปตามถนนหรือซอยที่ไม่รู้จัก คนกลุ่มแรกๆ ที่คุณนึกถึงและอยากถามทางคือ วินมอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่แค่เพราะว่ามันสะดวก แต่เพราะลึกๆ แล้วคุณคิดว่าเขาชำนาญพื้นที่ แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป

พูดอีกแบบคือ เทคโนโลยีทำให้มีการแยกขาด (detachment) มอเตอร์ไซต์รับจ้างออกจากเมือง ซึ่งนี่คือคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีอำนาจต่อรองทางการเมือง เพราะพวกเขามีความเป็นเจ้าของพื้นที่

สอง เมื่อคุณทำงานให้กับซอฟต์แวร์ การรวมกลุ่มก้อนเป็นองค์กรก็จะยากขึ้นไปด้วย นั่นทำให้คุณไม่สามารถตั้งสหภาพหรือสมาคมได้ นี่คือตัวอย่างของทุนนิยมร่วมสมัย (contemporary capitalism) ที่น่าสนใจมาก เทคโนโลยีกำลังทำให้แรงงานเป็นปัจเจก (individualize) ในโลกดิจิทัล แรงงานอยู่ตามลำพังกับงานของเขา ถ้าผมเป็นคนให้บริการเหล่านี้ ผมเพียงแค่ตื่นนอน เช็คโทรศัพท์ ไปรับลูกค้า ไม่มีกลุ่มที่ทำงานด้วย ไม่นั่งตามพื้นที่ไหนๆ  วินมอเตอร์ไซต์แบบดั้งเดิมกำลังหายไป เพราะคุณจะมีวินมอเตอร์ไซต์ไปทำไม ถ้าคุณสามารถโทรเรียกให้คนมารับคุณที่บ้านได้

การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ได้แค่เปลี่ยนลักษณะองค์กรของมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แต่ยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯด้วย  ถ้าเราสามารถสั่งอาหารจากที่บ้านผ่านโทรศัพท์ได้ แล้วเราจะมีอาหารริมถนนไปทำไมล่ะ ในแง่นี้ เมืองที่มีการปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าบนท้องถนนจะเปลี่ยนไป ซึ่งจริงๆ ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วแหละ

 

ได้ยินมาว่า หนังสือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok (งานวิจัยว่าด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง) จะมีการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยด้วย

ใช่ครับ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันนำมาแปล เข้าใจว่าต้นฉบับกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำอยู่ ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาเมื่อไหร่

 

ปีหน้าคุณจะออกหนังสือกราฟิกโนเวลชื่อ ‘Awakened’ ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไทยและสังคมไทย อยากเล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

‘Awakened’ คาดว่าจะใช้ชื่อในภาษาไทยว่า ‘ตาสว่าง’ เป็นกราฟิกโนเวลเกี่ยวกับชีวิตคนๆ เดียว แต่เป็นส่วนผสมของใครหลายๆ คนที่ผมได้พบเจอและได้สัมภาษณ์พูดคุยในชีวิต เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือ การติดตามชีวิตของผู้ชายคนนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เมื่อเขาย้ายจากอีสานมาอยู่กรุงเทพฯ ก่อนที่ในช่วงปี 90s จะไปทำงานในรีสอร์ททางภาคใต้ เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองในช่วงปี 2000 เดินตามทักษิณ ต่อสู้เพื่อกลุ่มคนเสื้อแดง โดยสิ้นสุดลงที่ภาพลวงตา กับความมืดบอดเมื่อลาจากกรุงเทพฯ และกลับสู่ต่างจังหวัด

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศ ผ่านประวัติศาสตร์ของคนๆ เดียวที่ไม่สลักสำคัญอะไร เป็นเรื่องราวของการตื่นรู้ทางการเมืองของคนที่ถูกกดขี่ในประเทศไทย ที่กลั่นมาจากเรื่องราวอันหลากหลายของคนที่ผมเคยสัมภาษณ์รวมกัน

ในแง่หนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีโครงสร้างเดียวกับกราฟิกโนเวลเรื่อง Persepolis ของอิรัก ที่เล่าถึงชีวิตของคนๆ เดียวเพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวของประเทศ

 

ภาพจากเว็บไซต์ awakened-bkk.com

 

หนังสือน่าจะวางแผงช่วงไหน

น่าจะวางแผงช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกุมภาพันธ์ 2563

 

[/box]

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save