fbpx
4 ปี คสช. : การจัดดุลอำนาจใหม่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ

4 ปี คสช. : การจัดดุลอำนาจใหม่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ

สมคิด พุทธศรี และ ปกป้อง จันวิทย์ เรื่องและภาพ

 

22 พฤษภาคม 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอยู่ในอำนาจครบ 4 ปีเต็ม หากเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 4 ปีก็เป็นเวลาที่ ‘พอดี’ สำหรับให้ประชาชนจะตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศกันใหม่ แต่สำหรับคณะรัฐประหาร ซึ่งเข้าครองอำนาจรัฐด้วยวิธีการไม่ปกติ 4 ปีดูจะเป็นเวลาที่ยาวนานเกิน ‘พอดี’

ที่ว่ายาวนานเกิน ‘พอดี’ มิใช่เพราะรัฐประหารโดยกองทัพได้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ไปแล้วเท่านั้น แต่กระทั่งในมาตรฐานของการเมืองไทย คสช. ก็ขึ้นแท่นกลายเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปแล้ว

การอยู่ยาวของ คสช. ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพิจารณาว่า คณะรัฐประหารชุดนี้กุมอำนาจในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งเส้นอำนาจใหม่ยังขีดไม่ชัด การจัดสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำยังไม่สู้จะลงตัว ในขณะที่ไม่มีความชัดเจนว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการอำนาจ

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เราจะประเมินระบอบ คสช. อย่างไร มองเห็นอะไร และไม่เห็นอะไร ภายใต้ภาวะฝุ่นตลบทางการเมืองที่ยาวนานผิดปกติเช่นนี้

ในวาระ “4 ปี คสช. – เดินหน้าประเทศใคร” 101 สนทนากับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองแกนนำ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” กลุ่มนักวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม และปกป้องผลประโยชน์สาธารณะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งคู่มองเห็นอะไรในปมเงื่อนการเมืองไทย แผนที่ดุลอำนาจใหม่ และเส้นทางยาวไกลของการเมืองภาคพลเมือง นับจากบรรทัดนี้คือคำตอบ

 

คสช. อยู่มาครบ 4 ปี ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ครบ 1 เทอมพอดี ประเมิน ‘ระบอบ คสช.’ อย่างไร

สมชาย :  ระบอบ คสช. เป็นระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งในเชิงอำนาจนำและอำนาจบังคับ

ในส่วนของอำนาจนำ คสช. ไม่สามารถสร้างอำนาจนำ หรือความชอบธรรมทางการเมืองได้อย่างสูงสุด ที่ผ่านมา การรัฐประหารในเมืองไทยจะยึดเกาะอำนาจความชอบธรรมกับสถาบันหลักของชาติ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน คสช. ไม่สามารถทำได้เหมือนสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างซวย ตัวเขาอาจจะสร้างความชอบธรรมได้บ้าง แต่ดันมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และน้องชาย (พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา) อยู่ด้วย เลยทำให้ดูอิเหละเขะขะไปหมด โดยรวมๆ คสช. จึงมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม

ในส่วนของอำนาจบังคับ ซึ่งดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น วันที่พลเอกประวิตรพูดว่า “เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นี่ถูกด่าและถูกโต้แย้งจนกระเจิงเลย และถ้าสังเกตให้ดี พลเอกประยุทธ์จะใช้คำว่า “ให้เป็นไปตามกฎหมาย” ค่อนข้างบ่อย ซึ่งหมายความว่า คสช. ไม่ได้ใช้อำนาจด้วยตัวเอง แต่ใช้ไปตามกลไกและระบบที่มีอยู่ พูดอีกแบบคือ คสช. ไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ แต่ต้องพึ่งสถาบันการเมืองแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น อัยการ ศาล หรือบางเรื่องก็ต้องทำผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็มีอิสระในตัวเองระดับหนึ่ง ต่อให้ คสช. เป็นคนตั้งบางองค์กรเองก็ตาม

หากไม่นับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าลองไปไล่ดูคดีที่เกี่ยวข้องกับ คสช. เช่น ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัว ฯลฯ แทบไม่เคยมีคดีไหนที่คนโดนจับติดคุกเลย ยกเว้นคดีอุทยานราชภักดิ์ ที่ติดคุกหนึ่งคน ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขพิเศษ เพราะเคยมีคดีมาก่อน การที่แทบไม่มีคนติดคุกเลยน่าสนใจมาก เพราะด้วยอำนาจที่มี คสช. จะให้ใครติดคุกก็ได้ แต่การที่คดีไปติดอยู่ที่ศาล อาจหมายความว่า การใช้อำนาจต้องมีความระมัดระวังพอสมควร หรืออีกกรณีที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีคือ ‘คดีบ้านป่าแหว่ง’ ที่ในตอนแรกศาลโยนให้นายกฯ เป็นคนตัดสินใจ แต่ก็ยังไม่กล้า

การไม่มีอำนาจนำและอำนาจบังคับเป็นเหตุผลที่ทำให้ คสช. ต้องชะลอการเลือกตั้ง เพราะถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ความอ่อนแอนี้จะยิ่งปรากฏออกมาชัด

 

ระบอบ คสช. อ่อนแอทั้งในเชิงอำนาจนำและอำนาจบังคับ แต่ทำไมถึงยังอยู่ได้ถึง 4 ปี

สมชาย : คสช. อยู่ได้นาน เพราะตั้งอยู่บนสังคมที่แตกเป็นฝักเป็นฝ่าย หลายเรื่องที่ฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ คสช. ละเมิด ฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่ในสังคมแทบไม่ขยับอะไรเลย

อรรถจักร์ : สังคมไทยในขณะนี้แตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ผมใช้คำว่า ‘สังคมแยกย่อย’ (fragmented society) ซึ่งเกิดขึ้นชัดเจนมากในการเมืองภาคประชาชน โดยแยกออกเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มผู้นำหรือเครือข่ายของการเมืองภาคประชาชนเดิมที่ยังไม่ปฏิเสธ คสช. แต่ก็ค่อยๆ ถอยห่างออกมาบ้างแล้ว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายค่อนข้างแน่นหนากับเอ็นจีโอไทย

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เคยอยู่ข้าง คสช. แต่ทนไม่ไหวและถอยห่างออกมาแล้ว กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นเอ็นจีโอระดับกลางที่เคลื่อนไหวในประเด็นปากท้องและทรัพยากร

กลุ่มที่สาม คือชนชั้นกลางเข้ามาสนใจการเมือง โดยอิงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องเขื่อน หรือบ้านป่าแหว่ง เป็นต้น คนกลุ่มที่สามนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เป็นชนชั้นกลางเมืองที่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นพลังประชาธิปไตยได้

ถ้าถามว่า คสช. จะเริ่มอ่อนแอเมื่อไหร่ คำตอบก็คือ เมื่อคนกลุ่มใหญ่เหล่านี้เริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นและผิดหวัง กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนจากการเมืองแห่งความหวัง (politics of hope) ไปสู่การเมืองของการผิดหวัง (politics of losing hope) คนจำนวนมากหวังว่า คสช. จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่ในช่วงสองปีหลัง เริ่มปรากฏชัดว่า คสช. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้ามองโลกในแง่ดีคือ ภาคประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนและขยับตัวกันอีกครั้ง

 

คสช. อยู่กับสังคมไทยมา 4 ปี มีอะไรที่ทำให้อาจารย์เซอร์ไพรส์ หรือเปิดมุมมองใหม่บ้างไหม ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

อรรถจักร์ : ไม่มีเซอร์ไพรส์ในแง่บวกแน่ๆ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ผมประหลาดใจมากคือ การที่ความคิดโบราณผุดขึ้นมาในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ วันก่อนมีข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดโวยนายก อบต. ที่ใส่เสื้อยีนส์ไปรับรางวัล อ่านข่าวแล้วก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า ผู้ว่าฯ คนนี้หลุดมาจากไหน ลักษณะคล้ายกับกระแสชาตินิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรป ในแง่นี้เหมือนว่า ‘ลุงตู่’ ไปเปิดกล่องแพนโดราให้ความคิดบางอย่างที่ดูจะหมดสมัยไปแล้วกลับมาอีกครั้ง ซึ่งน่าสนใจมากว่าจะคลี่คลายไปอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งที่เซอร์ไพรส์คือ มันอยู่มาได้ยังไงตั้ง 4 ปี (หัวเราะ)

สมชาย : ข้อดีของ คสช. คือทำให้สังคมสนใจสถาบันที่ไม่เคยอยู่ในสายตามากขึ้น เช่น สถาบันตุลาการ ซึ่งแต่เดิมคนเคยคิดว่าเป็นสถาบันที่ผูกติดกับความยุติธรรมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จริงๆ กระแสความสนใจนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 แล้ว แต่รัฐประหาร 2557 ทำให้ความเข้าใจเรื่องการเมืองขยายไปในพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสถาบันตุลาการ

ถ้าดูบทเรียนจากโลก หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการใช้อำนาจองค์กรอิสระเพื่อตอบโต้ระบบและสถาบันเสียงข้างมาก เพราะสถาบันเสียงข้างมากไปกระทบอำนาจของชนชั้นนำเก่า เช่น ในแอฟริกาใต้ยุคแบ่งแยกสีผิว ศาลไม่ต้องทำอะไรเลย ตัดสินคดีอย่างเดียว แต่พลันที่ระบบเปิดขึ้น คนผิวดำมีสิทธิเท่ากับคนผิวขาว คนผิวดำมีจำนวนมากกว่าย่อมมีเสียงที่ดังขึ้น ชนชั้นนำผิวขาวจึงหันมาใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเอง ในทางวิชาการ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘hegemonic preservation’ หรือการที่ศาลมีบทบาทเป็นผู้ธำรงอำนาจดั้งเดิม

 

ศาลไทยเป็นผู้ธำรงอำนาจดั้งเดิมในลักษณะไหน

สมชาย : การสร้างสถาบันเสียงข้างน้อยของประเทศไทยก็เกิดขึ้นในเงื่อนไขเฉพาะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เกิดขึ้นในจังหวะที่สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตกต่ำถึงขีดสุด ในขณะที่ความชอบธรรมของสถาบันจารีตอยู่ในจุดสูงสุด ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ การออกแบบกลไกและสถาบันที่ตอบโต้ระบบเสียงข้างมากจึงไปพัวพันกับศาล เพราะศาลมีความใกล้ชิดกับสถาบันจารีตมาก จึงทำให้มีทุนทางวัฒนธรรมสูงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตลอดวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ทุนที่ว่านี้ก็ถูกดึงไปใช้มากและถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดคือวาทกรรม ‘ความดี’ กับ ‘คนดี’ ซึ่งศาลหรือกระทั่งพลเอกประยุทธ์เองก็ใช้มาตลอด ซึ่งคนก็เริ่มเห็นแล้วว่า ไม่เวิร์กเท่าไหร่

 

คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามกับวาทกรรมคนดีของผู้มีอำนาจจริงๆ หรือเพียงแค่คิดว่าผู้มีอำนาจ ‘ดีไม่จริง’ หรือ ‘ดีไม่พอ’    

สมชาย : เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะคิดว่าคนนี้ยังดีไม่พอ แต่อย่างน้อยก็มีการตั้งคำถาม มีการเปิดช่องให้กับข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำว่า ‘คนดี’ หรือ ‘ความดี’ คงเริ่มคลอนแคลนบ้าง

อรรถจักร์ : อย่างน้อยในมุมกลับ เวลาที่เราด่าว่านักการเมืองชั่ว คนก็เห็นด้วยเหมือนกันว่า ข้าราชการหรือทหารก็เลวเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เวลาที่คนพูดคุยกัน ทั้งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเอ็นจีโอ

 

 

เป็นไปได้ไหมว่าการที่ คสช. อยู่มาได้ 4 ปี เป็นเพราะ คสช. รู้จักสังคมไทยดีกว่าที่นักวิชาการส่วนใหญ่ประเมินไว้ ในขณะที่นักวิชาการอาจจะเข้าใจสังคมน้อยกว่าที่ตัวเองคิด จึงต้องมาคอยประหลาดใจกับการที่ คสช. อยู่ยาว

อรรถจักร์ : มีความเป็นไปได้ว่าวิธีการที่ คสช. ใช้ เช่น มาตรา 44 จะถูกจริตกับสังคมไทยที่เชื่อเรื่องอำนาจเด็ดขาดของคนดีอยู่แล้ว แต่ผมไม่คิดว่า คสช. จะรู้จักสังคมไทย หรือฉลาดล้ำจนควบคุมสังคมได้ เขาเพียงแต่คิดในกรอบเท่าที่เขาคิดได้ แล้วเผอิญมันพอไปได้กับสังคมไทย

สมชาย : อย่างที่บอกว่า คสช. เข้ามาในจังหวะที่สังคมไทยแตกแยกเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย ถ้า คสช. เข้ามาในภาวะปกติ เชื่อว่าหลายคนคงรุมด่าและดูถูกแกนนำว่าเป็นนายพลที่ไม่ฉลาด ผมไม่คิดว่า คสช. เข้าใจสังคมมากนัก แต่ก็มีความสามารถในการจับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมและเล่นกับมันได้

ส่วนนักวิชาการนี่ก็อาจจะไม่เข้าใจสังคมเท่าไหร่เหมือนกัน (หัวเราะ)

 

มองไปข้างหน้า อะไรคือปมเงื่อนที่สำคัญที่สุดของการเมืองไทย ที่จะเป็นตัวชี้ว่าการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบ คสช. ไปสู่ระบอบปกติได้หรือไม่

สมชาย : รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ ปัจจัยกำหนดฉากการเมืองไทยในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือความพยายามที่จะสถาปนาระบอบการเมืองที่อยู่ภายใต้กำกับของอภิชน ถ้าดูองค์ประกอบของรัฐสภาหรือองค์กรอิสระจะพบว่า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ การลดทอนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และสอดแทรกอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าไปแทน

อย่างไรก็ตาม การสถาปนาระบอบการเมืองภายใต้กำกับของอภิชนก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก ถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วกลุ่มสนับสนุน คสช. สามารถตั้งรัฐบาลได้ พวกเขาจะต้องเผชิญกับปัญหาในสภาแน่ๆ เพราะพลันที่รัฐบาลต้องการเสียงสนับสนุนของนักการเมือง พลเอกประยุทธหรือใครก็ตามที่ถูกเลือกให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องต่อรองกับนักการเมือง ดังนั้น สภาพการบริหารงานแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ากลุ่มต่อต้าน คสช. ขึ้นมาเป็นรัฐบาล พวกเขาก็ต้องเจอกับวุฒิสภาและองค์กรอิสระ

กลุ่มคนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อาจนึกถึง ‘ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ สมัยพลเอกเปรม แต่ในปัจจุบันมีสองปัจจัยใหญ่ที่แตกต่างจากสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง ปัจจัยแรกคือ การทำงานอย่างต่อเนื่องของพรรคการเมือง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 แม้จะมีรัฐประหารบ้าง แต่ก็เป็นการเว้นวรรคชั่วคราว จนพอจะพูดได้ว่า พรรคการเมืองทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การทำงานอย่างต่อเนื่องของพรรคการเมืองทำให้มีการสร้างนักการเมืองและเครือข่ายของนักการเมืองอย่างกว้างขวาง ยิ่งหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 การเลือกตั้งท้องถิ่นยิ่งทำให้เครือข่ายของพรรคการเมืองเข้มแข็ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งรอบนี้ จะยอมให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เหมือนที่เคยสนับสนุนพลเอกเปรมไหม ผมคิดว่าไม่

ส่วนปัจจัยที่สอง คือการเมืองมวลชน ซึ่งจัดการไม่ได้ จะเห็นว่ามีมวลชนเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ล่าสุดก็เป็นการเคลื่อนไหวของพีมูฟ (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) ในขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ก็ออกมาเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ

อรรถจักร์ : วิกฤตการเปลี่ยนผ่านที่เรากำลังเผชิญคือ การชักเย่อระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจกับโครงสร้างทางการเมือง ในด้านหนึ่ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไพศาลในทุกระดับ ผู้คนจำนวนมากหลุดออกจากเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ แต่อภิสิทธิ์ชนกลับพยายามรั้งความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการเมืองไว้ ดังจะเห็นว่าการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้รองรับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ความซับซ้อนเชิงโครงสร้างกลับถูกลดรูปลงเหลือเพียงแค่เรื่อง ดี-เลว ซึ่งต้องยอมรับว่าวาทกรรมแบบนี้สอดรับกับความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ไม่ได้ในระยะยาว อย่างไรเสียสังคมไทยก็ต้องเดินไปสู่โครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ ความสัมพันธ์แบบใหม่ และเครือข่ายเชิงอำนาจแบบใหม่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ ข้อน่ากังวลคือ ภายในช่วง 5 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ความขัดแย้งจะสูงมาก ถ้ามองโลกในแง่ดีหน่อย ความขัดแย้งอาจจบลงการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง จนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญในที่สุด แต่ในแง่ร้าย ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารซ้ำหรือการนองเลือด

 

อะไรคือปมความขัดแย้งของการเมืองในอนาคต

อรรถจักร์ : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมชายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามกลับสู่ยุคสมัยพลเอกเปรม ยังไม่ถึงขั้นสร้างรัฐธรรมนูญเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จัดสรรอำนาจให้กับกลุ่มคนที่หลากหลายในระดับหนึ่ง ทั้งกลุ่มทุน ข้าราชการ และพรรคการเมือง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนคอยรักษาสมดุลทั้งสามนี้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ‘ดุล’ แบบนี้ไม่เวิร์กอีกต่อไป ในสมัยพลเอกเปรม รัฐราชการและกลุ่มทุนสามารถอ้างได้ว่าตัวเองทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ทำให้ประเทศเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ ข้ออ้างแบบนั้นฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว เพราะทั้งข้าราชการและกลุ่มทุนไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของคนชั้นล่างเลย ในขณะที่พรรคการเมืองก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น ความขัดแย้งภายใต้โครงสร้างทางการเมืองเช่นนี้จึงสูง

ปมปะทุที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นมาอีก อาจจะเป็นทหารกับทหาร อาจจะเป็นชาวบ้านลุกฮือขึ้นมา หรืออาจจะเป็นพรรคการเมืองเคลื่อนไหวกดดัน ซึ่งถ้านำไปสู่การปะทะจนนองเลือด ระบอบนี้ก็พังเร็วขึ้น

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามีการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งจนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ระบอบก็จะค่อยๆ ปรับตัว

สมชาย : ความขัดแย้งน่าจะออกมาใน 2-3 รูปแบบ แบบแรกคือ ความขัดแย้งที่เกิดจากเครือข่ายคนจน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมา คนจนลดลงมาโดยตลอด นั่นหมายความ ระบบกระจายทรัพยากรและกระจายอำนาจภายใต้ระบอบนี้มีปัญหาอย่างมาก อย่าลืมว่า เครือข่ายคนจนเป็นเครือข่ายที่ฆ่าไม่ตาย ยกตัวอย่างเช่น ‘อ้ายนงค์’ สุแก้ว ฟุงฟู ที่สู้เรื่องที่ดินมาตั้งแต่ปี 2540 เคยต่อสู้แล้วติดคุก ออกมาแล้วเขาก็ยังสู้ต่อ รัฐบาลไหนก็สู้ ไม่เกี่ยงว่าเป็น คสช. หรือไม่ เครือข่ายคนจนแบบนี้เต็มไปหมด เขาไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าสถานการณ์เรื่องปากท้องไม่ดีขึ้น ยังไงก็ต้องเคลื่อนแน่

แบบที่สองคือ ความขัดแย้งที่เกิดจากชนชั้นกลางระดับล่างที่ต้องพึ่งรัฐในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการพื้นฐาน เป็นต้น คนกลุ่มนี้เรียกร้องกับรัฐสูง แต่รัฐบาลทหารกลับไปตัดลดสวัสดิการเหล่านี้ค่อนข้างมาก เช่น การไปเบียดบังทรัพยากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้มีการบริการหลายอย่างหยุดชะงักไป คนกลุ่มนี้จะเป็นฐานสำคัญของพรรคการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งจะเป็นพลังกดดันรัฐบาลทหาร

นี่ยังไม่ได้พูดถึงกลุ่มที่ไม่เอา คสช. อยู่แล้วด้วย

 

 

สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่และอยู่ในภาวะฝุ่นตลบเชิงอำนาจ หลายคนบอกว่า กระทั่งในหมู่ชนชั้นนำเองก็ยังจัดสรรอำนาจได้ไม่ลงตัวนัก เรามองเห็นอะไรหรือไม่เห็นอะไรบ้าง ในภาวะฝุ่นตลบแบบนี้

อรรถจักร์ : กลุ่มชนชั้นนำต้องเลือกคนที่ไว้ใจได้มาเป็นนายกฯ ซึ่งตัวพลเอกประยุทธ์เองไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเกิดปัญหาหรือมีความขัดแย้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำจะเลิกใช้พลเอกประยุทธ์

สมชาย : เรายังไม่เห็นฉันทมติใหม่ที่ลงตัวในกลุ่มชนชั้นนำ คือในระบอบที่มีฉันทมติทางอำนาจ เส้นสีเทาของอำนาจจะเบาบางมาก สถาบันและองค์กรทางการเมืองต่างๆ จะรู้ว่าขอบเขตอำนาจของตัวเองอยู่ตรงไหนและไม่ล้ำเส้นนั้น แต่ในปัจจุบัน ชนชั้นนำกำลังขีดเส้นอำนาจใหม่ของตัวเองกัน เราจึงมีพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่มากในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนถ้าจะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก ก็รอให้พลเอกเปรมพยักหน้า แต่ในตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่ายังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยก่อนมีเส้นที่ชัดอยู่ระดับหนึ่งว่า ตำแหน่งนี้เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ใครชนะการเลือกตั้งก็จบ ได้เป็นนายกฯ แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีใครรู้ว่าชนชั้นนำจะเข้ามามีส่วนในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีมากแค่ไหน

แต่อย่างน้อยสิ่งที่พอจะพูดได้คือ มีความพยายามในการขีดเส้นอำนาจใหม่ของชนชั้นนำด้วยขยายอำนาจของชนชั้นนำลงมาข้างล่างมากขึ้น

อรรถจักร์ : หลังการการเลือกตั้งภาพของแผนที่อำนาจในยุคใหม่จะชัดเจนมากขึ้น สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นเบื้องต้นว่า ชนชั้นนำจัดสรรอำนาจกันอย่างไร ถ้าสถาบันหรือองค์กรไหนมีอำนาจมากย่อมส่งคนของตัวเองเข้ามามาก รวมถึงตอนตั้งรัฐบาลด้วย

ผมคิดว่าภาพจะชัดขึ้นว่า ชนชั้นนำแต่ละกลุ่มพยายามขีดเส้นอำนาจใหม่ลงมาข้างล่างมากน้อยแค่ไหน ในสภาพแบบนี้ คนที่เป็นนายกฯ จะลำบากมาก เพราะต้องดีลกับชนชั้นนำแต่ละกลุ่ม ดีลกับกลุ่มทุน ดีลกับข้าราชการ ดีลกับพรรคการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็คือสิ่งเหล่านี้นี่เอง

พูดอีกแบบคือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปไม่ได้มีความหมายแค่เป็นการฟังเสียงของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของการจัดสรรอำนาจของชนชั้นนำด้วย ว่าแผนที่อำนาจที่ลงตัวระดับหนึ่งเป็นอย่างไร ถ้าการจัดสรรอำนาจยังห่างไกลจากความลงตัว การเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้

 

ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการอำนาจใหม่

สมชาย : ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว กลุ่มคนที่ไม่เอา คสช. ชนะอย่างราบคาบ จะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคอื่นที่มีจุดยืนในเรื่องนี้ชัด จะเป็นการส่งสัญญาณถึงชนชั้นนำว่า สถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ในรอบ 3-4 ปีนี้มีปัญหา ถ้าสัญญาณที่ส่งไปชัด ยังไงชนชั้นนำก็ต้องคิดเรื่องนี้ และต้องปรับตัว

อรรถจักร์ : นี่คือความหมายอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ อนาคตจะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่พอทำได้คือ ทำให้เกิดการเลือกตั้ง ส่งเสียงในการเลือกตั้งให้ชัดเพื่อเพิ่มดุลอำนาจในการต่อรองให้กับการเมืองภาคพลเมือง

สมชาย : ถ้าเป็นไปได้ เราต้องบีบให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคประกาศให้ชัดเลยว่า เอาหรือไม่เอา คสช.

 

 

ภายใต้ความจริงทางการเมืองแบบที่เผชิญอยู่ สังคมไทยจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร

สมชาย : ต้องชวนคนให้คิดถึงอนาคตข้างหน้าที่จะต้องเดินต่อไป ซึ่งหลายพรรคการเมืองก็เริ่มขยับมาทางนี้แล้ว พรรคอนาคตใหม่ก็เน้นพูดเรื่องอนาคตเป็นหลัก พรรคเพื่อไทยก็มีสัญญาณที่จะขยับปรับเปลี่ยน มีการพูดถึงชื่อคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ในฐานะผู้นำพรรค ซึ่งเป็นคนที่สังคมมองว่าต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่า ผมเข้าใจว่าทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็คิดเรื่องนี้เหมือนกัน

อรรถจักร์ : เราต้องเล่นกับการเมืองแห่งความหวัง แต่ต้องเป็นความหวังที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ผมนึกถึง “การเมืองภาคพลเมือง” เมื่อก่อนเวลาพูดถึง “การเมืองภาคประชาชน” จะมีความหมายครอบคลุมแค่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชนชั้นกลางในเมืองไม่ค่อยอินเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงต้องสร้าง “การเมืองภาคพลเมือง” ให้น่าสนใจ และทำให้คนในเมืองมาเข้าร่วมได้มากขึ้น

 

“การเมืองภาคประชาชน” กับ “การเมืองภาคพลเมือง” ต่างกันอย่างไร

อรรถจักร์ : “การเมืองภาคประชาชน” เป็นการต่อสู้เรียกร้องและกดดันต่อรัฐในเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิต ปากท้อง และทรัพยากร โดยอ้างอิงถึงหลักมนุษยธรรม ส่วน “การเมืองภาคพลเมือง” คือ การขยับและปรับความสัมพันธ์กับรัฐใหม่ กล่าวคือ เรียกร้องสิทธิในฐานะพลเมืองว่า รัฐต้องทำอะไรให้กับเราบ้าง ซึ่งจะมีความเข้มข้นของความเคลื่อนไหวในอนาคตแตกต่างกันออกไป ซึ่งอันที่จริงก็ยังไม่ปรากฏชัด แต่เริ่มเห็นมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิต่างๆ เช่น ต้นไม้ ทางเท้า จักรยาน ซึ่งค่อยๆ โผล่ขึ้นมา

ถ้าอยากให้สังคมแยกย่อยเกิดการรวมตัวใหม่จำเป็นต้องสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งที่ครอบคลุมการเคลื่อนไหวได้มากกว่าการเมืองภาคประชาชนแบบเดิม เช่น ในกรณีบ้านป่าแหว่ง ถ้าใช้การเมืองภาคประชาชนแบบเดิม ก็ไม่ลงตัวเสียทีเดียว และกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ไม่ใช้คำนี้ด้วย ถ้าดูกันให้ดี การเคลื่อนไหวเรื่องบ้านป่าแหว่งไม่ได้สะท้อนเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่มีต่อความเหลื่อมล้ำด้วย คนจำนวนมากรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนไม่ลงตัว และตั้งคำถามว่าทำไมผู้พิพากษาถึงทำได้ขนาดนั้น ตรงนี้แหละที่เป็นฐานของการขยับไปสู่การเมืองภาคพลเมือง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save