fbpx
40 ข้อที่ข้ามไปเลยก็ได้ (ไม่สำคัญ)

40 ข้อที่ข้ามไปเลยก็ได้ (ไม่สำคัญ)

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพลายเส้น

 

สิ่งละอันพันละน้อย เก็บตกจากอาชีพสัมภาษณ์ผู้คน คุยกันเล่นๆ ฟังไว้เล่นๆ ในวันที่ประเทศเป็นคล้ายของเล่นของคนป่วยผู้มีอำนาจอันหาที่สุดมิได้

1 การสัมภาษณ์เป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่การบังคับ ข่มขู่ ขืนใจ ฉะนั้น นัดบ่ายสองแปลว่าบ่ายสอง

2 การไปช้ากว่าเวลานัดหมายแม้เพียงหนึ่งนาทีเรียกว่าบาปยังหยาบไป ผมคิดว่ามันคืออาชญากรรม

3 ความผิดพลาด พลั้งเผลอ เลินเล่อ ไม่ตั้งใจ ไปทำให้ใครสักคนเสียใจ อาจรักษา เยียวยา ฟื้นฟู หรือขอโทษขอโพยได้ แต่การไปทำให้ใครสักคนเสียเวลา คุณจะรักษายังไง

4 ชีวิตจะดีงามขึ้นมาทันที เมื่อไปถึงก่อนเวลานัดสักชั่วโมง หาที่นั่งเล่น กินกาแฟ ทบทวนประเด็น ดูฉาก มองอากาศ สำรวจสถานที่ เช็กกระดาษ ปากกา เครื่องบันทึกเสียง ความสบายเนื้อสบายตัวพวกนี้ทำง่าย ส่งผลบวกโดยตรงต่อการงาน และอยู่คนละขั้วกับคำว่า ‘กระหืดกระหอบ’

5 ทายนะ ทาย ไม่น่ามีใครชอบไปไหน หรือทำอะไรด้วยความเร่งรีบ ฉุกละหุก กระหืดกระหอบ

6 ยิ่งงานทางความคิด งานที่ต้องใช้สมาธิสูง งานที่ต้อง ‘ร่วม’ กับผู้อื่น

7 นักสัมภาษณ์ไม่ใช่เจ้านายของใคร การหยิ่งยะโส กร่าง หรือวางตนอยู่เหนือผู้อื่นย่อมไม่ใช่วัตรปฏิบัติที่งดงาม และเช่นกัน, นักสัมภาษณ์ไม่ใช่ทาสของใคร ฉะนั้น ในชั่วโมงแห่งการงาน ไม่น่าจะต้องพินอบพิเทา กุมเป้า หรือคลานเข่าเข้าไป

8 พฤติกรรมบางอย่างสงวนไว้กับสัตว์เถอะ อย่าลืมสิว่าเราอยู่กาลสมัย ‘คนเท่ากัน’

9 บอก เมื่อจะเริ่มบันทึกเสียง

10 บอก เมื่อจะบันทึกภาพ บอกไว้แต่เนิ่นๆ บอกให้เคลียร์ ไม่มีใครอยากเป็นพวกนักสร้างภาพหรอก แต่จะมีภาพในสื่อทั้งที มันก็ควรเล่าเรื่อง ดูดี มีคาแรกเตอร์เหมาะสม

11 ซื้อของ อาจต่อรองราคากันได้ แต่กับบางเรื่อง บางคน เมื่อไม่ได้รับอนุญาต เราต้องหยุด อย่าพิรี้พิไร โอ้โลม

12 ถามแล้วฟังคำตอบ ไม่ใช่ถามแล้วใจจดใจจ่อ มัวกังวลอยู่แต่กับคำถามต่อไป

13 เราต่างเป็นนักกังวลที่ล้นเกินด้วยกันทั้งนั้น และยาวิเศษที่ว่ากันว่ากินแล้วแก้ได้ หายกังวลทันที ก็ดูเหมือนยังเป็นความฝันเพ้อเจ้อ

14 ชั่วโมงบินนั่นแหละมั้งที่เป็นคำตอบ เป็นทางออก

15 แต่ต่อให้บินมาแล้วรอบโลก ความกังวลก็ไม่หายไปไหน มันอยู่ในเครื่องบินลำนี้ อย่าเสียเวลาไปขุดโค่นทำลายมัน เอาเวลาไปทำงาน

16 งานของเราคือถามแล้วฟังคำตอบ ฟังแล้วจะรู้เองว่าควรถามอะไรต่อ ฟังอย่างจริงจังตั้งใจแล้วจะจับประเด็นได้เองว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ อะไรควรข้าม ตัดทิ้งไปได้แล้ว อะไรต้องเจาะเพิ่ม เอาอีก จะเอาอีก การรีบเปลี่ยนคำถามใหม่โดยยังไม่รอฟังคำตอบให้จบครบถ้วนเป็นการล้างผลาญทรัพยากร เปล่าเปลือง ทำลายเรื่องเล่า ทำลายตัวเอง

17 คำถามต้องห้าม ไม่มี

18 คำถามต้องไม่ห้าม

19 คำถามโง่ๆ โคตรปัญญาอ่อน ก็ไม่มี มีแต่คำถามที่ควร และไม่ควร มีแต่ต้องตระหนักเรื่องกาลเทศะ

20 เออแล้วก็.. คำถามอวดฉลาดน่ะโง่ ถ้าวันๆ คิดแต่เรื่องพวกนี้ ชีวิตไม่มีทางก้าวไปจากอ่างที่ชื่อสำเร็จ ล้มเหลว /รวย จน /ป๊อป ไม่ป๊อป โลกไม่ได้มีอยู่เท่านี้ โลกยังมีเรื่องน่าสนใจอื่นๆ อีกสารพัด ลืมเรื่องอ่างและกะลาใบเก่าไปบ้างก็น่าจะดี

21 ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยที่ต้องถามซ้ำ ถ้าไม่เข้าใจ

22 ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย ถ้าไม่รู้จัก เตรียมกระดาษ ปากกา วางไว้ตรงหน้ายิ่งดี ยื่นให้เจ้าตัวเขียน สะกด เมื่อเขาหรือเธอพูดถึงชื่อเฉพาะ หรือศัพท์แสงเชิงเทคนิค

23 ตรงกันข้าม มันจะน่าอายมาก ถ้าฟังผิดๆ เข้าใจผิดๆ และเอาไปเขียนผิดๆ

24 เดดแอร์ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่มีใครชอบ แต่มันเกิดขึ้นได้จริง เราคิดคำถามต่อไปไม่ออกได้จริงๆ นึกไม่ออก ก็พอ ขอพัก ไปล้างหน้าล้างตา หาน้ำหาท่ากิน เท่าที่เคยพบเจอ ไม่มีแหล่งข่าวที่ไหนโกรธ ไล่ออกนอกบ้าน (นอกประเทศ) มีแต่พักผ่อนสดชื่นแล้วกลับจะช่วยคิดด้วยซ้ำ ว่าคุยอะไรกันต่อดี

25 เวลาถูกพาออกนอกเรื่องไปไกล เราต้องหาหนทางพากลับ

26 ยกเว้นถ้าว่างมาก ก็ฟังไป และแท้จริงคำว่า ‘นอกเรื่อง’ ก็เป็นสินทรัพย์หนึ่งที่เราพึงควรสั่งสมไว้ ข้อมูลไม่บูดไม่เน่า ต่อหน้าเรื่องเล่า เราต้องเป็นผู้รับที่แข็งแรง อดทน ใจเย็น เป็นผู้รับที่มียุ้งฉางกว้างใหญ่

27 ต่อหน้าคำว่า ‘โอกาส’ เราต้องใช้โอกาส เชื่อเถอะว่าโอกาสที่สองไม่ได้มีบ่อยๆ คนจำนวนมากในชีวิต เรามีโอกาสปะทะครั้งเดียว

28 เก็บเกี่ยวในฤดูเก็บเกี่ยว

29 คำตอบว่า ‘ไม่สะดวก’ เมื่อถูกขอดูต้นฉบับสัมภาษณ์ ไม่ใช่การหวงแหน ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ซื่อสัตย์ มันเป็นกระบวนการทำงานที่ในที่สุดจะรวนเร สะดุด เสียขบวน ถ้าต้องส่งทุกต้นฉบับให้ทุกแหล่งข่าวผู้ให้สัมภาษณ์

30 แน่ละ, กับบางคนที่สำคัญมาก เป็นที่ต้องการมาก บางวาระหลักการนี้ก็อาจจำต้องยืดหยุ่น

31 ยืดหยุ่น อนุโลม และรีบกลับมาเคร่งครัดเหมือนเดิม เราควรเข้าใจร่วมกันได้นานแล้วว่าการสัมภาษณ์ก็คล้ายการตัดสินใจกระทำเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีได้มีเสีย มีผิดมีถูก เมื่อเลือกก็ต้องพร้อมแลก เรากำหนดควบคุมโลกไม่ได้ ยิ่งในยามร่วมงานกับผู้อื่น ก็ต้องเชื่อมั่น และพร้อมจะรับความเสี่ยง

32 นักสัมภาษณ์เลือกแหล่งข่าวตัวละคร แน่นอนว่าตัวละครแหล่งข่าวก็เลือกสื่อมวลชน เลือกแบรนด์ เลือกค่าย เลือกนักสัมภาษณ์ ใช่– เมื่อเลือกก็ต้องพร้อมจะแลก

33 เชื่อไหมว่า ผมเคยนั่งหลับด้วย ตอนกำลังสัมภาษณ์อยู่นี่แหละ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 25 ปีมาแล้ว ว่ากันตรงๆ หนนั้นมันเป็นงานของเพื่อนนักข่าวคนหนึ่ง ผมสัญญาว่าจะไปกับเขา ไปช่วยกันทำงาน สัญญาแล้วก็ต้องทำตามสัญญา แต่คืนก่อนหน้านั้นดันนอนดึก (ด้วยการงานหรือกินเหล้าก็ลืมไปแล้ว ช่างมันเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็น) เช้ามา ต้องไปสัมภาษณ์ เป็นยามเช้าที่แทบไม่ผ่านการนอนมาทั้งคืน คิดดูเถอะว่าสภาพคงเหมือนศพ ที่แย่กว่านั้น ศพปีศาจยังวูบหลับ พยายามหยิกจิกกัดตัวเอง ฝืน พยายามประคองตัวตื่น แต่ตื่นแล้วก็ร่วงหลับ สลับไปมา

34 ผมจำสีหน้าแววตาแหล่งข่าวคนนั้นได้ไม่มีวันลืม เขาเอือมระอา ผมโคตรละอาย มันเป็นการทำร้ายกันต่อหน้า มันคือการไม่ให้เกียรติกันเลย มันแย่ มันเสื่อม มันไม่มีความเป็นมืออาชีพเอาเสียเลย

35 ถ้าไม่อยากเป็นศพที่น่าสมเพช ก่อนเริ่มงานคุณต้องนอน หรือพักผ่อนให้เพียงพอ

36 คำพูดพวกนี้น่าเบื่อ เหมือนเรื่องแต่งกายนั่นแหละ เหมือนการกล่าวเตือนเรื่องตรงต่อเวลา ผมรู้ว่าคุณเบื่อ แต่ได้โปรดจดจำศพชื่อ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในเช้าวันนั้น

37 ศพที่สองมันมากเกินไปนะที่รัก

38 เหมือนง่ายๆ สบายๆ แต่การสัมภาษณ์เป็นงานที่เรียกร้องพละกำลังสูง เป็นกรรมกรทางศิลปะ กระดูกต้องถูกออกแบบเคี่ยวกรำให้แกร่ง ไม่งั้นไม่รอด เวลาสองหรือสามชั่วโมงหน้างานขูดรีดเรี่ยวแรงเราไปหมดสิ้น เหนื่อยและไม่อยากรับฟังสุ้มเสียงใด เมื่อเทปหยุด

39 ตัวเบา ล่องไหล คล้ายๆ หลังมีเซ็กซ์น่ะ สนุก แต่ก็เหนื่อย เป็นความเหนื่อยที่แสนสนุก เลิกแล้วอยากอยู่เงียบๆ อยู่เฉยๆ มองน้ำ มองฟ้า

40 วันนี้เท่านั้นหรอก ชั่วโมงนี้เท่านั้นหรอก หายเหนื่อยก็อยากเอาอีก

จะมีอะไรน่าหลงใหลไปกว่าการได้สัมภาษณ์ผู้คน.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save