fbpx
คำถามข้อที่หนึ่ง ถามว่า...

คำถามข้อที่หนึ่ง ถามว่า…

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพลายเส้น

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จะถามอะไร–นี่เป็นคำถามแรกที่นักสัมภาษณ์ต้องเจอ

ผมพยายามทบทวนไตร่ตรองอยู่พักใหญ่ ก่อนพบว่าพระเจ้าก็ให้คำตอบไม่ได้ เพราะมันมีเหตุผลและปัจจัยร้อยพัน ว่ากันสั้นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาทำมาหากิน มันขึ้นอยู่กับว่าตัวละครตรงหน้าเป็นใคร สื่อสนทนากันในวาระไหน เป้าหมายคืออะไร มีพื้นที่และเวลามากน้อยเท่าไร

จะถามอะไร–คำตอบต่อคำถามนี้แท้จริงจึงไม่ใช่คำตอบ แต่คือการย้อนกลับไปถามหาที่มาที่ไป ไม่มีอะไรลอยลงมาจากฟ้าแน่ๆ ก่อนจะพบเผชิญคำว่า จะถามอะไรดี มันมีสิ่งที่ต้องเคลียร์ให้กระจ่างก่อนในสามสี่เรื่องดังกล่าว

หากได้คำตอบแล้ว คำถามว่าจะถามอะไรอาจไม่ใช่คำถาม

หรือใช่ มันก็เป็นเรื่องน่าสนุก

 

‘ความกังวลที่ล้นเกิน’ เป็นปัญหาคลาสสิกของคนหนุ่มสาว

ลบล้างยากพอๆ กับลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

ใครหลายคนเป็นนักศึกษา ยังไม่ได้ตัดสินใจมาทำงานสัมภาษณ์เลย พวกเขาและเธอกังวลล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่า จะถามอะไร

กังวลไว้บ้าง ช่วยเพาะสร้างการเตรียมตัวที่ดี แต่ความกังวลที่ล้นเกินคือตัวการกัดกร่อนและมัดมือมัดเท้าจนเราไม่กล้าเดินออกไปไหน

เป็นเจ้าสาวที่กลัวฝน กังวลทั้งที่จริงอาจจะหลงรัก

บ่อยครั้งผมก็กังวล ด้วยข้อมูลยังมีน้อย ทิศทางที่จะเดินหรือประเด็นยังมองเห็นไม่ชัด กระทั่งเวลาบีบกระชั้น มากบ้างน้อยบ้าง สิ่งเหล่านี้นับว่ารบกวนจิตใจ ทางออกที่นึกออกคือ take it easy

ตัวละครคือใคร สนทนากันในวาระไหน เป้าหมายคืออะไร พื้นที่และเวลามีมากน้อยเท่าไร

เอาตรงนี้ก่อน ตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ให้จบ แล้วค่อยๆ ออกแบบการทำงาน

 

ผมถาม ประมวล เพ็งจันทร์ ว่า คุณขายาวกว่าคนอื่นหรือเปล่า ? (GM interview, พฤษภาคม 2550 และรวมเล่มไว้อีกครั้งในหนังสือ ‘เสียงแห่งทศวรรษ’)

ประมวลเดินจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย ประเด็นจึงเป็นเรื่องการเดิน และคำถามแรก ผมเลือกเรียกแขก กึ่งๆ เอาฮาก่อน เพื่อปูความรู้สึกที่ดี แน่นอนว่าถ้าต้องสัมภาษณ์เขาใน พ.ศ.นี้ จากเรื่องขาก็อาจขยับมาเป็นเรื่องจุดยืนในทางการเมือง–ว่ากันไป ตามความเปลี่ยนแปลง

ผมถาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า อีกสองวันจะมีงานเปิดตัวพรรค อารมณ์ความรู้สึกของคุณตอนนี้อยู่ในภาวะไหน ? (อีกสองวันที่ว่าคือ 27 พฤษภาคม 2561 / สัมภาษณ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ ‘Portrait ธนาธร’ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2561)

เช่นกันว่า ถ้าเป็นตอนนี้ซึ่งธนาธรเปิดตัวพรรคไปนานแล้ว เป็น ส.ส. แล้ว และถูกแขวน ไม่ให้เข้าสภา (ชั่วคราวหรือถาวรแค่ไหนยังไม่ทราบ) หากต้องคุยกันยามนี้ คำถามย่อมเคลื่อนไปตามสถานการณ์ วันต่อวัน นาทีต่อนาที กระทั่งพระเจ้าก็อาจเดาทางไม่ทันเหมือนกัน ยิ่งกับการเมืองไทยซึ่งเป็นไปในลักษณะเอาแต่ใจและไร้ขื่อแป เรากำหนดอะไรล่วงหน้ามากไม่ได้อยู่แล้ว

จำเป็นอย่างยิ่งที่นักสัมภาษณ์ต้องหูตาไว

 

ลองดูตัวอย่างอื่นๆ

ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าว The Nation (พ.ศ.นั้น) ถูก คสช. จับขังสองครั้ง ในค่ายทหาร

สำหรับผม นี่คือเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เฉพาะเพียงลิดรอนสิทธิ เซ็นเซอร์ข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ก็เป็นปัญหารุนแรงระดับชาติ แต่ประวิตรถูกคุกคามหนักถึงขั้นมีการจับกุมคุมขังในค่ายทหารสองครั้งสองครา

ถามอะไร–จะไม่ใช่คำถามที่ต้องคิด ข้อแรกคือคุณรู้จักประวิตรหรือเปล่า

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเขา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับตัวตนและผลงานที่เขานำเสนออยู่ ประวิตรเป็นตัวละครน่าสนใจ ในฐานะคนทำสื่อ คนทำสัมภาษณ์ ถ้าบอกว่าไม่รู้จัก ผมว่าเริ่มต้นคุณก็พลาดแล้ว และพอพลาดจุดนี้ ประเด็นคุณก็ตามไม่ทัน นั่นคงไม่ต้องพูดคุยกันต่อว่า–จะถามอะไร

โลกกว้างใหญ่ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะรู้จักทุกคน แต่นึกออกใช่ไหม กับบางคนมันบาปน่ะ ถ้าเราเย็นชา หรือปิดหูปิดตามองผ่าน

รอบแรกที่ถูกเรียกเข้าค่าย เกิดอะไรขึ้น คุณอยู่ที่ไหน รู้ข่าวยังไง–คำถามแรก ผมถามซื่อๆ ไปแบบนี้ หลังจากตั้งชื่อเรื่องไปอย่างง่ายๆ ตรงๆ อีกเช่นกันว่า ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวคนเดียวที่ถูกขังสองครั้ง ในค่ายทหาร’ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WRITER ฉบับที่ 39 ธันวาคม 2558 /ต่อมาถูกจัดพิมพ์รวมเล่มไว้อีกครั้งในหนังสือ ‘เดี๋ยวนะ นักฝัน’)

“เขาประกาศออกทีวี แต่ผมไม่ได้ดูนะ ผมรู้จากทวิตเตอร์ คำสั่งฉบับที่ 6/2557 ลองคิดดูว่า คสช. ยึดอำนาจ อยากสั่งอะไรบ้าง ฉบับที่ 6 เขาเรียกผมไปคนเดียวเลย  ประกาศคืนวันที่ 24 พฤษภาคม สองวันหลังรัฐประการ ชื่อโผล่มาคนเดียว.. ในทวิตเตอร์ ผมมีทั้งกองเชียร์และคนที่เกลียดผมมาก เพราะเขาสนับสนุนมาตรา 112 สนับสนุนรัฐประหาร ฝั่งที่เกลียด พอผมโดนเขาก็เฮ เฉลิมฉลอง ดีใจ”

คุณกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน–ผมถามซ้ำ เพราะประวิตรยังตอบไม่ครบ สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่อยู่อาศัยมีความหมาย บอกเล่าทัศนะและประสบการณ์ตัวละครได้ดี

“ผมอยู่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง”

วิเคราะห์แล้วว่าอาจจะเข้าข่าย ? –ผมถามต่อ

“ต้องระวังตัว เพราะวันรุ่งขึ้น หลังรัฐประหาร ทีวีระดับโลกหลายสำนักมาสัมภาษณ์ผม นั่นเป็นเหตุผลหรือเปล่า ไม่รู้ เพราะเขาเรียกผมไปเร็วและเรียกเดี่ยว…”

 

ลองดูด้วยกันอีกสักตัวอย่าง

มุกหอม วงษ์เทศ

อีกเช่นกัน–ถ้าเอ่ยชื่อมาแล้ว คุณนึกไม่ออกเลยว่า มุกหอม วงษ์เทศ คือใคร มันย่อมจินตนาการลำบาก ว่าจะสัมภาษณ์อะไร

โลกนี้มีทั้งบุคคลในข่าว และบุคคลในหนังสือ มีทั้งผู้คนในแสงสปอตไลท์ และผู้คนที่นิยมความเงียบง่ายพรางกายราวใบไม้บนภูเขา

อ่านน้อย รู้น้อย ก็จะสะดุดและตื่นเต้นตกใจอยู่แต่เพียงกับดาราละครหลังข่าว

เห็นแต่ภาพใหญ่ๆ ได้ยินเฉพาะเสียงที่ดังๆ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะโลกมีตั้งหลายเหลี่ยมหลายมุม หลากหลายกลุ่มคนต่างรสนิยม และแน่นอน, กับบางตัวละคร เราต้องออกแรงแสวงหา ขวนขวายเติมความรู้ ฉีกข่าวสารกระแสหลักออกไปฟังสุ้มเสียงนอกขนบ เสียงซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ๆ

มุกหอม วงษ์เทศ เขียนหนังสือมา 5 เล่มคือ เงาจันทร์ในอัญประกาศ, เล่นแร่แปรธาตุ, พรมแดนทดลอง, ในเขาวงกต และอ่านผิด ทุกเล่มยืนอยู่บนถนนที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์

โดยส่วนตัวก็ต้องแจ้งกันตรงๆ ว่าถูกจริต เพราะผมเองก็ยืนยันหลักคิดว่า ยิ่งสูง ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งจำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์

ผมตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ไปล่วงหน้า ด้วยเพราะวางประเด็นชัดเจนก่อนพูดคุยแล้วว่าจะสื่อสารเสวนาเรื่อง ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ บังเอิญก่อนหน้าที่จะพบกันไม่นาน มุกหอม วงษ์เทศ เพิ่งหยุดเขียนให้หนังสือพิมพ์มติชน เอ่อ.. ไม่ได้นึกจะหยุดก็หยุดเอง

คำถามแรก กึ่งทำนองชวนคุยเบิกโรง จึงว่ากันที่เรื่องนี้–ทาง ‘มติชน’ แจ้งเหตุผลไหมว่าทำไมให้คุณหยุดเขียน ?

“(หัวเราะ) ก็ง่ายๆ คือถูกเซ็นเซอร์ ห้ามแตะต้องเรื่องเจ้า เลยขอยุติ ถ้าไม่พอใจก็ไม่เป็นไร เราก็หยุด จริงๆ เรื่อง self-censorship ทุกคนทำอยู่แล้ว ใครที่สนใจประเด็นนี้ เป็นปกติธรรมดาธรรมชาติว่าต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง รู้ แต่เมื่อเขารู้สึกว่าเกินไป ก็พอ”

เคยมีการเตือนมาก่อนไหม–ผมอยากฟังรายละเอียด

“มีค่ะ บางชิ้นเขาขอว่าไม่ลง ก็เว้นไป สัปดาห์ใหม่ก็เขียนเรื่องอื่น เรื่องพวกนี้มันแล้วแต่จะประเมิน เป็นความเห็นแตกต่าง เทียบบรรยากาศแล้วคิดว่าตอนนี้เริ่มเปิดให้พูดมากขึ้น ตอนนั้นแตะนิดเดียวก็ไม่ได้ แล้วแต่เพดานแต่ละที่ด้วย ในฐานะคนเขียนเราก็คิดว่าธรรมดา ไม่น่าโดน แต่เพดานตั้งไม่เหมือนกัน ก็โดน”

เจอเรื่องแบบนี้แล้วมีผลต่อจิตใจแค่ไหน เคยคิดจะหยุดเขียนไปเลยไหม–ผมถามต่อ

“ก็ธรรมดาว่าต้องเซ็ง เหนื่อยใจ หมดแรง เลยหยุดเขียนไปพักหนึ่ง หายไปเลย ไม่ได้ฟูมฟายตีโพยตีพายอะไร ตอนว่างๆ ใครให้ช่วยทำอะไร พอทำได้ ก็ทำ ขับรถไปซื้อของ เป็นแมสเซ็นเจอร์ คิดค้นสูตรกาแฟเย็น งานใช้แรงจิปาถะ งานเขียนที่ทำก็ไม่ได้สร้างรายได้ที่พอให้อยู่ได้อยู่แล้ว มันก็มีอะไรให้ทำเยอะแยะที่ไม่ใช่งานเขียน เราก็ลองทำดู ถ้าจำต้องทำ แต่ถ้าเลือกได้ ไม่อยากทำ ก็ไม่ทำ จินตนาการไม่ค่อยออกแล้วว่าทำอะไรแล้วจะมีความสุข ที่เขียนอยู่ทุกวันนี้ก็สุขและทุกข์คละเคล้ากัน มีคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่าจะเขียนไปทำไม อยู่ไปทำไม เกิดมาทำไม แต่ก็ไม่มีคำตอบสักอย่าง (หัวเราะ)”

อยู่ไปทำไม ยังคิดอยู่อีกหรือ–คำถามกวนประสาทแบบนี้ ผมถนัด

“คิดค่ะ แวบมา พอคิดไปแล้วตันก็เลิก แล้ววนกลับมาใหม่ ในที่สุดก็วนกลับมาคิดเรื่องที่เขียนไม่ได้ เพราะหมกมุ่นที่สุด ถามว่าให้เขียนเรื่องที่เที่ยวที่กินได้ไหม ก็คงได้ แต่ความคิดพวกนี้จะวนกลับมา มันเป็นประเด็นใจกลางของการดำรงอยู่ในประเทศนี้ คนอื่นคงไม่ได้คิดแบบนี้ แต่สำหรับเรานี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีการครอบงำ กดขี่ หลอกลวงตลอดเวลา ปะทะกับมันทั้งวัน เปิดทีวีก็เห็น ออกไปนอกบ้านก็เจอป้ายต่างๆ มากมาย

บางทีเราไม่อยากสนใจ หงุดหงิด เบื่อ อยากไปสนใจอย่างอื่น แต่ไม่นานมันก็เข้ามา เป็นสิ่งที่ต้องถามตลอดเวลาว่าทนได้ยังไง ทำไมคนจำนวนมากทนได้ ไม่รู้สึกอะไร หรือรู้ แต่เฉยๆ ไม่โกรธ เกลียด ชิงชัง เราทนไม่ได้ ต่อให้ไม่ไปพูดเรื่องอุดมการณ์ความเชื่ออะไรเลย ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันคือความ bad taste แบบสุดๆ กับภาวะการดำรงอยู่ในสังคมแบบนี้”

 

‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในทัศนะ มุกหอม วงษ์เทศ’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WRITER (บรรณาธิการ บินหลา สันกาลาคีรี ขยับแว่นอ่านซ้ำๆ ด้วยสุขุมรัดกุม ก่อนปล่อยเสียงและสารนี้สู่สาธารณะในเดือนสิงหาคม 2554) รวมเล่มไว้อีกครั้งในหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ชุด The Writer’s Secret (ตุลาคม 2557) หนังตัวอย่างข้างต้นจงใจฉายให้เห็นภาพยาวๆ ด้วยภูมิใจนำเสนอเรื่องเล่านอกกระแสที่น่ารับฟัง

คำถามข้อที่หนึ่ง ถามว่า.. เราหาคำถามข้อที่หนึ่งไม่เจอหรอก หาให้ตายก็ไม่เจอ ถ้าไม่มีพื้นข้อมูลมุมมองเหล่านี้ ไม่มีนิสัยในการเสพความหลากหลาย ซึ่งนานวัน เราจะกลายเป็นคนบ้าใบ้ไร้คำถาม ยิ่งถ้าปล่อยให้ฝุ่นควันแห่ง propaganda เกาะกินความรู้สึกทีละน้อยๆ จนในที่สุดร่างกายมนุษย์ก็อาจไม่มีอะไรต่างไปจากก้อนหิน

วิกฤติที่แท้จริง หรือสิ่งที่สังคมไทยขาดแคลนมากที่สุดตอนนี้คือคำถามและความรู้สึก

ที่เห็นและเป็นอยู่ ทุกอย่างเงียบงันเกินไป แห้งแล้งเกินไป

ไม่ควรมีใครต้องแบกรับภาระบ้านเมืองไว้บนบ่าโดยลำพัง มันไม่ยุติธรรม ประเทศชาติเป็นเรื่องของทุกคน แต่หากจะมีคณะบุคคลใดสักกลุ่มที่ควรเคลื่อนขยับออกมายืนแถวหน้า ผมคิดว่าสื่อมวลชน โดยเฉพาะนักเขียนนักสัมภาษณ์ต้องแอ่นอกรับหน้าที่นั้น

คนละเรื่องกับการเสียสละใดๆ แต่ด้วยเพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับการตั้งคำถาม

ไม่มีคำถามเมื่อไร ความรู้สึกก็สูญสิ้น.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save