fbpx
อย่าหลงประเด็น

อย่าหลงประเด็น

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

สุมาลี เอกชนนิยม ภาพลายเส้น

 

เคยได้ยินคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ทำนองนี้มั้ยครับ

จะมากจะน้อย ประยุทธ์เขาก็มีข้อดีนะ

เช่นเดียวกับคำพูดเหล่านี้

พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก

แล้วเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

เราทุกคนต้องตาย

ฯลฯ

ก็แหงสิครับ พูดมาแบบนี้แล้วจะเถียงยังไง สำหรับผม คำพูดที่เถียงไม่ได้มันไร้ประโยชน์ ไม่มีความหมาย สัจจะพื้นฐานประเภท ‘พูดอีกก็ถูกอีก’ ไม่ควรเสียเวลาไปถกเถียงเสวนา ต่อความยาวสืบความยืด ไม่ควรยกขึ้นมากล่าว (ยกเว้นถ้าว่างมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก อันนั้นก็สุดแล้วแต่) เพราะว่ามันไม่ใช่ประเด็น

เอ่ยชื่อประยุทธ์ หรือหากจะพูดถึงเขา กระทั่งหากจะพูดถึงประเทศไทยในรอบห้าปีที่ผ่านมา เราต้องมองไปที่ใจกลางของเนื้อหา แก่นแกน หรือบทบาทสำคัญสูงสุดของเขา นั่นก็คือเป็นหัวหน้า (ในที่แจ้ง) คณะรัฐประหาร (ส่วนในที่ลับ จะมีใครอีกบ้าง ใครเป็นหัวหน้าที่แท้ เราๆ ท่านๆ ก็ดู ก็คิด วิเคราะห์ ติดตามกันต่อไปด้วยสติปัญญาแห่งตน)

หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะนี่คือประเด็น เอ่ยชื่อประยุทธ์ หากไม่พูด จงใจเบี่ยงเบน มองข้าม หรือไม่มองการกระทำนี้ แปลว่าหลงประเด็น

ถ้าประกาศกับตัวเอง ประกาศต่อโลก ว่าเป็นนักข่าว เป็นสื่อมวลชน เป็นคนทำงานสัมภาษณ์ แล้วมองไม่เห็นว่าประยุทธ์ทำรัฐประหาร คุณน่าจะเหลือทางเลือกสองอย่าง คือหนึ่ง, ฆ่าตัวตาย เพราะต่อให้ไม่ฆ่า สังคมอารยะก็จะค่อยๆ ฆ่าคุณไปทีละน้อย ฆ่าอย่างเลือดเย็น ฆ่าโดยการไม่ให้คุณค่า และสอง, ปรับตัวใหม่ เร่งปรับตัวให้ไว ไวที่สุด รีบอาบน้ำล้างหน้า ตั้งสติ เปิดดวงตาให้สว่าง พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ว่าจริงมั้ย–การใช้ปืนมาล้มมายึดอำนาจไปจากปวงชนนั้นคืออาชญากรรมร้ายแรง ?

ในความเห็นของผม ร้ายแรงกว่าการฆ่าคนหนึ่งคน

รัฐประหารคือประหารทั้งรัฐ ใช่หรือไม่ว่าในทางสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐาน รัฐประหารย่อมหมายความถึงการฆ่าคนทั้งประเทศ

 

ประเด็นสำคัญอย่างไร

ถ้านึกไม่ออก ลองมองไวๆ ไปที่การประชุมสภา พินิจพิเคราะห์เวลา ส.ส. (ฝ่ายไหน พรรคไหนก็ได้) หรือรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ลองตั้งใจฟังว่าเขาและเธอพูดอะไร

เพียงฟัง เราจะเห็นว่ามีประเด็นมั้ย เข้าเป้า ได้น้ำได้เนื้อ มีน้ำหนัก คุ้มค่าเบี้ยประชุม เงินเดือน ที่สูบที่ดูดเอาไปจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนหรือเปล่า

กล่าวอย่างสั้นและง่ายที่สุด ประเด็นคือเรื่องที่ควรพูด ณ กาลนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ แบขึ้นมา เปิดออกมา ว่ากันให้รู้เรื่อง เอาให้เคลียร์ ตรงไปตรงมา จะได้ไม่ต้องค้างคาใจ

ประเด็นเป็นเสมือนกระดูกสันหลัง หรืออาจกล่าวว่าปัจจัยสี่ของสื่อมวลชน

ไม่มีประเด็น หรือหลงประเด็น เป็นสื่อมวลชนไม่ได้ เอ่อ.. ก็คงได้แหละ สื่อมวลชนประเภทถือไมค์ ถือเทป ยืนเป็นประติมากรรมรูปพรรณสัณฐานคล้ายมนุษย์ อยู่ในเวทีแถลงข่าว จ้องมองเฝ้ารอ ว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพจะถามอะไร จะเขียนอะไร รอและหยิบฉวยชิ้นงานเหล่านั้นมาตัดต่อ

ผู้คนในยุทธจักรมีหลากหลายรูปแบบ ท่านชอบวิถีหรือหนทางใด โปรดสมาทาน ตามความเชื่อและศรัทธาของท่าน

 

แรกทำสื่อใหม่ๆ ไปสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ผมจะลิสต์คำถามไปเป็นจำนวนมาก เรียงเป็นระบบระเบียบ หนึ่งถึงยี่สิบ สามสิบ..

การกระทำเช่นนี้ดีหรือไม่ คำตอบคือดี มือใหม่ ไหวพริบช้า คิดคำถามไม่ทันแล้วมันตกใจ ยิ่งเกิด ‘อากาศตาย’ ยิ่งมีอาการปานจะเป็นจะตาย

การเตรียมตัวที่ดี ยังไงก็มันก็ดี มีคำถามมาก ยังไงก็ดีกว่ามีคำถามน้อย

ต่อเมื่อขึ้นเวทีจริง สัมภาษณ์มานาน หรือพอมีเพดานบินสูงขึ้น ผมพบว่าไม่ใช่คำถามหรอกที่สำคัญ ประเด็นต่างหาก มีประเด็น แม่นประเด็น แล้วคำถามจะไหลตามออกมาเอง

คำถามคือมีด คือหมัด มันเป็นตัวทำคะแนนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ประเด็นคือหัวใจ คือโครงสร้าง ว่ามวยตัวนี้เป็นยังไง บ้านหลังนี้เอาแบบไหน สังคมนี้อยู่ในระบอบใด

ประเด็นคือทางที่เราจะเดินไป

หากหลงประเด็นเสียแล้ว คำถามที่ดีไยจึงมีความหมาย ?

หากหลงประเด็นเสียแล้ว อาจบางทีคำถามที่ดีก็เป็นเพียงรักที่สูญเปล่า

 

ประเด็นที่แหลมคมมาจากไหน

ผมคิดว่ามาจากประเด็นตื้นๆ นั่นแหละ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร รัก โลภ โกรธ หลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือกิน ขี้ ปี้ นอน ปราชญ์โบราณท่านสรุปเอาไว้ครอบคลุมแล้ว ผ่านไปกี่ปีๆ มันก็หนีจากเรื่องราวสามัญเหล่านี้ยาก ประเด็นคือ–ผมใช้คำว่าประเด็น ในความสามัญ สายตาใครจะละเอียด มองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ท้าทายยุคสมัย หูของใครจะขยันหาเรื่อง จมูกใครจะไวปานมด และหัวใจของใครจะไม่ด้านชา

ยิ่งตื้น ยิ่งพื้นฐานเท่าไร ถ้าหาแง่มุมเจอ เรื่องราวนั้นๆ ก็ยิ่งมีพลัง น่าเสพศึกษา

เราเกิดมาพอๆ กัน –ผมเชื่อแบบนั้น

ศักยภาพเมื่อแรกเกิด ทุกคนมีหู ตา หัวใจที่ดีพอใช้ ไม่ต่างกัน ข้อต่างคือเมื่อวันเวลาผ่านไป บางเราค่อยๆ ทำลายศักยภาพของตัวเองไปทีละน้อย บ้างทำลายด้วยการปิดหูปิดตา บ้างทำลายด้วยมายาคติ และบ้างก็ทำลายด้วยการตะกุยตะกายไปข้างหน้าอย่างเดียว เห็นคนอื่นไปก็ไป เห็นคนอื่นทำก็ทำ เห็นคนอื่นเชื่อก็เชื่อ โดยไม่เคยหยุดถาม หยุดฟัง หยุดตรวจสอบ

ชีวิตมีแต่การวิ่งตาม วิ่งแข่ง หูที่เคยได้ยินชัดจึงเลือนราง ตาที่เคยมองเห็นก็ฝ้าฟาง กระทั่งหัวใจที่เคยๆ รู้สึก ก็เริ่มเฉยชา

โลกนี้มีผู้พิการอยู่จริง และเป็นข้อเท็จจริง ว่าเมื่อพลั้งเผลอ เราต่างค่อยๆ ทำลายจุดเด่น หรือศักยภาพของตัวเอง

ที่สุด ก็แยกแยะไม่ได้ อ่านไม่ออก ใช่ –ที่สุดจึงหลงประเด็น ที่สุดก็จะกลายเป็นคนเดินตามเกมที่ใครบางคนขีดเขียน

สุดท้าย นักสัมภาษณ์ก็จะกลายเป็นนักพีอาร์

ด้วยความเคารพ ผมไม่เคยคิดว่านักพีอาร์เป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ สิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่น่าเอือมละอายคือการแปะป้ายว่าเป็นสื่อมวลชน ปากบอกผู้คนว่าเป็นนักสัมภาษณ์ แต่ทุกๆ วัน มุ่งเขียนวาดแต่ชิ้นงานพีอาร์

คุณไม่มึนงง คุณไม่สงสัยกับผู้คนชนิดนี้หรอกหรือ

ตกลงจะเอายังไงกับชีวิต ทำไมเรื่องแค่นี้ต้องหลอกลวงกัน ชอบพีอาร์ สมาทานการเป็นพีอาร์ ไยจึงสวมหน้ากากซ่อนเร้นอำพราง

 

อันนี้นอกประเด็น

หากใครสักคนเอาแต่พร่ำพูดว่า ให้ทำตามกฎหมายๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ พูดทุกวัน ทุกเวที พูดตลอดเวลา แต่ตัวเองเป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญมากับมือ

ถามจริงๆ ว่าคุณไม่มึนงง คุณไม่สงสัยกับผู้คนชนิดนี้หรอกหรือ

และเรื่องนี้ก็นอกประเด็น

ระบอบประชาธิปไตย แปลว่าประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจ แต่เท่าที่เห็นและเป็นไป สังคมไทยก็มีบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นใหญ่ เป็นผู้ใช้อำนาจเสมอมา

ถามจริงๆ ว่าคุณไม่โกรธ ไม่สงสัย กับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้ามาช้านานนี้หรอกหรือ ทนๆ กันไป เงียบๆ กันไป ทำตัวเป็นตุ๊กตาหรือประติมากรรมรูปพรรณสัณฐานคล้ายมนุษย์กันต่อไป

เอาแบบนั้นหรือ

แต่ก็นั่นแหละนะ นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องราวการสัมภาษณ์ ไม่ใช่กงการอะไรของสื่อมวลชน ผมเองก็แจ้งคุณไปแล้วว่านอกประเด็น

อืมม์ หรือว่านี่แหละคือประเด็น.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save