fbpx
ครู

ครู

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

ไม่ต้องมีครูก็ได้ หากท่านเป็นอัจฉริยะ เกิดมาแล้วทำเองได้หมด เพียงปรารถนาก็คล้ายฟ้าประทานพร ไม่ว่าอยากเหาะเหินเดินอากาศ ไม่ว่าใฝ่ฝันถึงสิ่งใด คิดแล้ว ต้องการแล้ว ครอบครองได้ทันที

ทว่าหากเราท่านก้มมองสองมือสองเท้าแล้วตระหนักว่าเป็นคนธรรมดา การแสวงหาครูก็นับว่าจำเป็น

ครูที่ตรงกับทิศทางที่จะเดินไป ครูที่ต้องจริตและกระตุ้นให้เดินไม่หยุด ครูที่ชี้จุดอ่อนจุดแข็งของเราได้ ครูที่เป็นเสมือนคนต้นแบบ

ครู ผู้รู้ หรือสำนักวิชาของคุณอยู่ที่ไหน

 

ของผม มีสองครู

หนึ่ง ครูที่เป็นคน สอง ครูในหนังสือ ในทีวี หรือจะเรียกครูพักลักจำก็คงพอไหว หมายถึงเราศึกษา สังเกต วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัยเอาเอง จากสื่อสารที่เสพทุกค่ำเช้า เขาและเธอไม่ได้ตั้งใจจะเป็นครูของใครหรอก แต่เรายกให้ เราเคารพนับถือ ด้วยเพราะเราเรียนมาจากวิธีคิด ทัศนะ และประสบการณ์เหล่านั้นจริงๆ

ครูที่เป็นคนของผมเริ่มต้นที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ในนามหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

พ.ศ.นั้น สนธิอยู่สูง อยู่ไกล ในฐานะเจ้าขององค์กร แต่สปิริตที่เขาเพาะสร้างเอาไว้ มันทำให้เรารู้สึกเท่าเทียม เสมอภาค พูดง่ายๆ ว่าแม้เป็นนักข่าวใหม่ เพิ่งทำงานวันแรก แต่เดินไปไหนก็อกผายไหล่ผึ่ง กล้าเถียงกล้าถาม ไม่ใช่กร่างหรืออหังการ แต่ทรนง มั่นใจในกระดาษปากกา

สิ่งที่ผมเห็นอีกประการหนึ่ง สนธิเป็นนักเล่าเรื่องชั้นเลิศ เขาเขียนหนังสือเก่ง มองกว้างมองไกล ไม่แปลกที่ ‘ผู้จัดการ’ (พ.ศ.นั้น) จะเป็นเหมือนมหาวิทยาลัย หรือตลาดวิชา คอลัมนิสต์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของยุคสมัยจำนวนมากแวะเวียนเขียนอ่านกันอยู่ที่นี่

ทุกเช้า คนหนุ่มวัยยี่สิบสามอย่างผมมือไม้สั่นคล้ายคนติดยา หยิบหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ขึ้นมาอ่านอย่างตะกละตะกลาม ยิ่งอยู่นาน ยิ่งอ่านมาก ลูกแกะน้อยก็ยิ่งอยากเขียนให้ได้แบบราชสีห์พวกนั้นบ้าง

แม้บางคืนทดลองคำราม จะมีแค่เสียงแบ๊ะๆ

 

ครูคนที่สองคือ ณิพรรณ กุลประสูตร ในนามนิตยสาร GM

ในศิลป์และศาสตร์การทำงานสัมภาษณ์ ณิพรรณคือครูคนสำคัญที่สุด แทบทุกสัปดาห์ อย่างน้อยก็ทุกเดือน ผมต้องเข้าห้องประชุม ฟังณิพรรณสอบถาม เล่าเรื่อง ชี้แนะ ตลอดสี่ปีในสังกัด GM ไม่มีเดือนไหนว่างเว้นตกหล่น อาจเป็นข้อดีขององค์กรขนาดกะทัดรัดด้วย เจ้านายกับลูกน้องอยู่ในระยะเอื้อมถึง สื่อสารกันได้รวดเร็ว ครบถ้วน

แบบผู้ใหญ่–ผมคิดว่าคำนี้คือคำตอบ ต่อคำถาม GM ทำงานสัมภาษณ์แบบไหน

ตรงไปตรงมา กล้าหาญ เข้มข้น ถึงลูกถึงคน หรืออาจมีคำขยายความอื่นใดอีกก็ตามที่พยายามจะเป็น พยายามจะทำ โดยปรัชญา หลักการและเหตุผล ผมเรียนรู้จากสำนักวิชา GM มาในเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ รู้รับผิด รับชอบ เอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกันก็เบิกบานกับการใช้ชีวิต

รากของคำถามถอดสมการออกมาจากการศึกษามนุษย์

สนใจในรายละเอียดที่แตกต่าง ยอมรับความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ

บวกกับการมีเจ้าขององค์กรอย่าง ปกรณ์ พงศ์วราภา คอยติดตามอ่านอยู่ทุกเดือน ปัจจัยเหล่านี้คือครูที่นักเรียนจะเลินเล่อและเกเรไม่ได้ เวทีหรือสนามที่มีมาตรฐานแข็งแรง ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นอ่อนแอมีชีวิตรอด

ไม่อยากตาย เราก็ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรน หาทางพัฒนาตัวเอง

วรรณกรรมเพื่อชีวิตยืนข้างคนจน รังเกียจนายทุนและบริโภคนิยม GM จงใจใส่สูท และสอนให้ใจกว้าง อย่ามองแค่ผิวเปลือก หรือเอนเอียงข้างใดข้างหนึ่งแบบสุดโต่ง โลกมีรถเมล์ติดอยู่สี่แยกจริง และโลกก็มีแก้วแชมเปญระยิบระยับริมสระว่ายน้ำบนเพนต์เฮาส์ สัจจะและความหมายของชีวิตไม่ใช่ทรัพย์สินผูกขาดของใคร

ใจ ผมได้มาจาก ‘ผู้จัดการ’ แต่ดวงตาได้มาจากครู GM ที่ช่วยเปิดประตู เปิดมุมมองหลายๆ แบบ โดยมีบรรณาธิการบริหารอีกคนคือ ทิพากร บุญอ่ำ ให้โอกาสพาลงสนาม กล่าวคือ นอกจากดูแลต้นฉบับทั้งเล่ม ทิพากรทำหน้าที่สัมภาษณ์หลัก รับผิดชอบคอลัมน์ GM INTERVIEW ซึ่งผมได้รับอนุญาตให้ติดสอยห้อยตามไปบ่อยครั้ง และนั่นเป็นห้องเรียนทรงคุณค่า

ทิพากรเป็นนักข่าวอาชีพ ข้อเด่นของเขาคือแม่นประเด็น ไม่อวดลีลาร่ายรำ เป็นมวย ยกแรกก็เดินเข้าซัดกันเลยโป้งๆ

 

เชิงรุก กระชับและตรงไปตรงมาแบบทิพากร ผมว่าเร้าใจดี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงมวยเชิงสูง หน่วยก้านดีซึ่งเป็นอดีตทีม GM อีกคน–วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ สำหรับผม บทสัมภาษณ์​ อำพล ลำพูน ของเขา ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ใช้ศึกษาเล่าเรียนได้ ทั้งคำถาม ข้อมูล และสายตา โดยเฉพาะความกล้าฉีกขนบจากถาม-ตอบ มาสู่การเขียนเล่าและเรียบเรียงแบบสารคดี มันทำให้เราสัมผัสชีวิตตัวละครในอีกรสหนึ่ง

พักหลัง เขาห่างหายวงการสัมภาษณ์ไปนาน แต่เราก็ได้ a day (เป็นอดีตของเขาไปแล้ว) และ The Standard ขึ้นมา ก็ดูกันต่อไปยาวๆ ว่าสำนักข่าวแบรนด์นี้จะขีดเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างไร

ครูในหนังสือ ในจอทีวี หรือครูพักลักจำของผมมีอีกหลายคน เช่น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี, อธึกกิต แสวงสุข ในยุคที่ทำแทบลอยด์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (‘จุดไฟในสายลม’ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อธึกกิต แสวงสุข หรือ ‘ใบตองแห้ง’ เป็นหนังสือโปรดของผมเล่มหนึ่ง) และอีกหลายคนที่สลับเวียนกันทำบทสัมภาษณ์ใน ‘เสาร์สวัสดี’ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ช่วงที่ อธิคม คุณาวุฒิ เป็นบรรณาธิการ บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Image, สีสัน, ดิฉัน, ขวัญเรือน, ไรเตอร์ (ทั้งสองยุคคือ ขจรฤทธิ์ รักษา และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ) เช่นเดียวกับคนทำทีวีอย่าง สุทธิชัย หยุ่น, สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ก็นับว่าได้เรื่อง ได้รส ได้วิชา ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำงานได้ดี

บางอย่างเป็นสินค้าหมดอายุไปแล้ว บริโภคอาจเป็นพิษ แต่อดีต ครูก็คือครู

 

โดยทั่วไป ครูหรือโค้ช มักมีอายุมากกว่าเรา

เราเคยเห็นนักกีฬา นักดนตรี อายุน้อยๆ แต่ไม่ค่อยปรากฏนักว่าครูหรือโค้ช อายุน้อยกว่านักเรียน

ผมเห็นว่างานเขียน งานสัมภาษณ์ จำเป็นต้องเรียนรู้จากรุ่นน้อง หรือคนอายุน้อยกว่า ผู้มาใหม่เป็นแบบเรียนภาคบังคับที่ละเลยไม่ได้

หลงระเริงว่าตัวเองเก่ง ไม่มอง ไม่ศึกษา ที่สุดจะหลุด หลง ตกยุคสมัย

โลกของนักสัมภาษณ์เป็นโลกเดียวกับกาลเวลา คือหมุน แปร เปลี่ยน เคลื่อนย้าย

โลกของนักสัมภาษณ์คืออดีต ปัจจุบัน อนาคต มันเป็นร่างกายเดียวกัน เป็นปีกทั้งสองข้างที่ตัดขาดแยกจากกันเมื่อไร ก็จบ

ลืม ‘ตำนาน’ ฟองสบู่ และลบคำว่า ‘หิ้ง’ ทิ้งไป แล้วลงมาอยู่ในโลก

นับเอางานพิมพ์รวมเล่มแล้วเป็นที่ตั้ง ทั้ง ใบพัด นบน้อม (ดื่มไดอะล็อก), ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ (มนุษย์กรุงเทพ) , จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ (ครู่สนทนา : Between hello and goodbye) ล้วนเป็นคนหนุ่มที่น่าศึกษา จับตามอง วันเวลาเป็นของพวกเขา

เช่นเดียวกับบางใครใน The101.world

 

สันดานคนชอบอ่านบทสัมภาษณ์ เจอหนังสือพิมพ์ข่าวกีฬา เจอนิตยสารซุบซิบดารา เราก็หยิบอ่าน หากว่างพอ บางวรรคบางประโยคมันบำรุงหล่อเลี้ยงวิญญาณของเราได้ มันทิ่มแทงเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลจริงๆ

ถ้ามันใช่ ถ้อยคำหรือวิธีคิดนั้นอาจอยู่กับเราไปจนวันตาย

ไม่มีวันสูญสลาย

ครูบางคนอยู่ข้างถนน บางคนอยู่ในโซเชียลออนไลน์ ครูคือดวงดาวแห่งทัศนะ ประสบการณ์ ความเชื่อ และรสนิยม

ครูจึงเป็นสถานะพิเศษที่อยู่ในทุกที่ ทุกกาล

เท่าที่มีคนมองเห็น

 

เราควรมีคนรักคนเดียว–ใช่ไหม

แต่ผมเห็นว่าเราควรมีครูหลายๆ คน ทดลองฝึกวิชาจากผู้รู้ในหลายๆ สำนัก ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งไทยและเทศ ทั้งเพศหญิงเพศชาย

มีครูเก่งๆ ที่หลากหลาย ไม่ได้หมายความว่าเราจะเก่งเท่าครู ข้อดีคือมีทางเลือก มีแบบฝึกหัด มีทัศนวิสัยหลายแบบ ให้เรียน ให้ลอง

มีคนบอกว่าเรียนแล้วจงลืมเสีย ลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

มีคนบอกว่าเรียนแล้วข้ามครูให้พ้น ฆ่าครูลงให้ได้

กับนักสัมภาษณ์, ผมอยากจะบอกว่าเรียน เรียน และเรียน

เพราะว่างานคุณมันเปลี่ยนทุกวัน.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save