fbpx
ประเทศกูดี วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ประเทศกูดี

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ผมนึกว่าอ่านผิด

มันจะเป็นไปได้ยังไง เอาใหม่ ลองจ้องดีๆ พยายามเพ่งมอง อ่านอีกที บนเสื้อยืดตัวนั้นเขียนแบบนี้จริงๆ เขียนตัวเบ้อเร่อ

ประเทศกูดี

 

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบได้เห็นคำนี้ เห็นจากมิวสิควิดีโอซึ่งกล้องจงใจแช่ภาพ ให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือ ช่วยประกาศความเชื่อของผู้สวมใส่

เราไม่ก้าวก่ายกันหรอก เรื่องใครจะสวมจะใส่ จะพูดอะไรกับโลก

ศรัทธาของท่านเป็นของท่าน

เพียงแต่สำหรับเรา อาชีพของเรา เห็นแล้วมันก็ต้องศึกษา ตั้งคำถาม จะไม่ถามได้ยังไง ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนคนเดียวกันกับหัวหน้ารัฐประหาร (ในที่แจ้ง–ทำรัฐประหารแล้วก็แล้วกัน ไม่มีความผิดหรือมลทินอันใด), ประเทศที่เลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้ ส.ว. 250 คน โหวตให้ (ท่านเลือกเรามากับมือ เราก็ต้องเลือกท่านตอบแทน–นี่มันเกมอะไรของพวกคุณ ประเทศนะครับ รัฐสภานะครับ ไม่ใช่เล้าไก่), ประเทศที่มีคดีอุ้มฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า, ประเทศที่นักคิดนักเขียนต้องลี้ภัยการเมือง, ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ประมุขก็ดูเหมือนจะโปรดปรานการอยู่ประเทศอื่นมากกว่า ฯลฯ

ขณะที่ผมกำลังมึนกับทัศนะ ‘ประเทศกูดี’ 7 สิงหาคม 2020 ทนายอานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า–ผมโดนจับแล้ว

ไม่ได้ไปปล้นฆ่าข่มขืนใครที่ไหน อานนท์โดนจับเพราะอะไร คุณก็รู้

ประเทศกูดีจริงๆ

ไม่ทำผิดแล้วกลัวอะไร, ไม่รักพ่อก็ออกไปจากบ้านนี้..

 

มันเป็นอื่นไปไม่ได้หรอก เล่นกันโต้งๆ ตรงๆ ขนาดนี้ จะมีอะไรลึกลับซับซ้อน

รากฐานที่มาของคำว่า ‘ประเทศกูดี’ คือการตอบโต้เพลง ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่ม Rap Againt Dictatorship ‘ประเทศกูดี’ ไม่ใช่คำลอยๆ ที่จู่ๆ ก็คิดขึ้นมาสกรีนเสื้อเล่น แต่มันคือการคัดค้าน ถกเถียง เห็นแตกต่าง ที่จริง ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติ เพียงแต่ว่าต่อกรณีนี้ ในทางการข่าวถือว่ามีประเด็น

นี่คือเพลงสังคมการเมืองที่มีพลัง มีอิทธิพลมากที่สุดในรอบทศวรรษ จะชอบจะชังก็ช่าง เราปฏิเสธสัจจะและปรากฏการณ์นี้ลำบาก ลองนึกหาเพลงอื่นมาเทียบเคียงก็ได้ เพลงไหน นึกออกไหม เพลงที่มีอำนาจทิ่มกระแทกเข้าถึงอารมณ์ผู้คนทั้งสังคมได้ระดับนี้

ใครจะชอบจะชังก็ว่ากันไป ของอย่างนี้ลางเนื้อชอบลางยา สำหรับผม จัดตัวเองอยู่ในฝ่ายนับถือ ชื่นชมผู้สร้างศิลปะ ‘ประเทศกูมี’ พวกเขาทุกคนเพอร์ฟอร์มดี ได้เรื่อง ได้รส เนื้อหาหลายท่อน ผู้ประพันธ์บอกเล่าความจริงได้ชัดเจน

เราลองพิจารณาช้าๆ บางวรรคบางตอนด้วยกันอีกที

.

ประเทศที่ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยาน
ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร

.

ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ
ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ

.

ประเทศที่ปลายกระบอกคอยจ่อที่ปลายกระเดือก
ประเทศที่บอกเสรี แต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก
ประเทศที่ด่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่ติดที่ปลายเหงือก
ประเทศที่สิ่งที่มึงทำ ผู้นำจะส่องตามเสือก

.

ประเทศที่อธิปไตยถูกเก็บไว้โดยคนสถุล
ประเทศที่มึงจะต้องเลือก จะอมความจริงหรืออมกระสุน

.

ประเทศที่มีรัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่
ประเทศที่มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่
ประเทศที่คนมีความคิดต้องพากันแสร้งว่าหลับอยู่
หรือถ้ามึงไม่อยากอยู่ ถ้าเกิดเขาบังคับ มึงก็ต้องอยู่

.

ประเทศที่คนไม่อ่านหนังสือ โดยเฉพาะผู้นำ
ประเทศที่บอกให้อยู่เฉยๆ ถ้าไม่อยากนอนเรือนจำ

.

ประเทศที่สี่ปีแล้วไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้ง
ประเทศที่เสรี ไอ้สัส แม่งบอกว่ากูเลือกได้
ประเทศที่เลือกนายกฯ ต้องให้ทหารมาเลือกให้

.

กลับมาอ่าน มาฟังอีกกี่ครั้งๆ ก็มีความเห็นเช่นเดิมคือเป็นเพลงที่ดี สมควรแล้วที่เป็นเพลงดัง และเป็นแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นจำนวนมาก สมควรแล้วที่ได้รับรางวัลจาก Human Rights Foundation ซึ่งมอบให้ผู้กล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความไม่ยุติธรรม ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อสองปีก่อน (ตลกร้ายไม่น้อย อยู่ตั้งไกลยังมองเห็นพลังอำนาจ ขณะที่สื่อมวลชน นักวิจารณ์ดนตรีในมาตุภูมิไม่เพียงปฏิเสธ หากยังสละเวลาแบ่งแซะข้างๆ คูๆ)

8 สิงหาคม 2020 ขณะกำลังชื่นชมยินดี อยากปรบมือดังๆ ให้ แต่เปิดเฟซบุ๊กขึ้นมาผมก็ได้เจอข่าวนี้..

“พวกเรากลุ่ม R.A.D. หรือที่ทุกคนรู้จักพวกเราจากเพลง “ประเทศกูมี” ขอออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการคุกคามประชาชนทั้งนี้ จากเอกสารที่เปิดเผยโดยบัญชี Twitter iLaw fx ถึงรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 31 คน พบว่ามีชื่อของสมาชิกแร็พเปอร์ในกลุ่มเราอยู่ด้วย 3 คน และน้องแร็พเปอร์จากคลองเตยอีก 1 คน รวมทั้งยังมีศิลปินเพลง วงสามัญชน อีก 2 คน รวมอยู่ในรายชื่อผู้ต้องหานั้นด้วย พวกเราขอร้องให้พี่น้องที่อยู่ในแวดวงศิลปินเพลง, ศิลปะ ในสาขาอื่นๆ ช่วยกันประกาศจุดยืน เพื่อปกป้องขอบเขตในการแสดงออกตามหลักสิทธิเสรีภาพตามกฏหมายของพวกเรา ไม่ให้รัฐเข้ามาลดเพดานลง หากวันนี้เราไม่ส่งเสียง วันพรุ่งนี้จะมีเพียงความเงียบที่ดังที่สุดเหลืออยู่เท่านั้น”

 

ถูกต้อง – นักสัมภาษณ์ทำงานกับคน

แต่ผลผลิตอย่างหนึ่งของคนก็คือคำ เรดาร์ของเราต้องว่องไวต่อถ้อยคำ โดยเฉพาะคำสำคัญๆ พวกคำคีย์เวิร์ดทั้งหลาย คำและข้อความที่บอกเล่ายุคสมัย เช่น ปรีดีฆ่าในหลวง, สุไม่เอา ให้เต้, เราจะสู้เพื่อในหลวง, ระบอบทักษิณ, ดีแต่พูด, พอเพียง, จงรักภักดี, ชาติ ศาสน์ กษัตริย์, ไพร่–อำมาตย์, เหี้ยสั่งฆ่า ห่าสั่งยิง, พี่รู้ พี่มันเลว, สลิ่ม, เผาบ้านเผาเมือง, เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน, ผนงรจตกม, ฟ้ารักพ่อ, ตาสว่าง, เข้าใจตรงกันนะ, เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว กระทั่งล่าสุดกับ แฮมทาโร่, ของอร่อยที่สุดก็คือ.. และ ให้มันจบที่รุ่นเรา ฯลฯ

ว่องไว จับให้ได้ และแปลความให้ออกว่าอะไรคือความจริง ความลวง อะไรคือที่สุดของความหลอกลวง propaganda หรือใส่ร้ายป้ายสี

ว่องไว จับให้ได้ แปลความให้ออกว่าใครเป็นคนพูด และสะท้อนอะไรในระหว่างบรรทัด

คำเดียวสั้นๆ ถ้าอ่านขาด อาจมองเห็นโครงสร้างประเทศทั้งประเทศ เห็นทะลุปรุโปร่ง

สำหรับผม คำว่า ‘ประเทศกูดี’ น่าสนใจอย่างน้อย 2 ประการคือ 1. ฝ่ายจารีตมองไม่เห็น ไม่เชื่อ ไม่สนใจ ในสิ่งที่ R.A.D. ซึ่งเราถือว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า พูดใน ‘ประเทศกูมี’ ซ้ำยังออกแรงแข็งขัน โต้แย้งว่า ‘ประเทศกูดี’ สองฝั่งฝ่าย สองความคิดนี้ (หรือกล่าวอีกแบบคือฝ่ายคณะเจ้า กับคณะราษฎร) ยังคงปะทะสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครยอมใคร, 2. โดยตัวของมันเอง ‘ประเทศกูดี’ เป็นทัศนะปิด

กับงานสื่อสารมวลชน ถ้าเราเริ่มต้นชีวิตด้วยความรู้สึกว่าดีแล้ว พอใจแล้ว สมบูรณ์แล้ว มันก็จบน่ะ

มองอะไรก็สวยงาม โลกน่าอยู่ ผู้คนเป็นมิตร สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน ศาลสถิตยุติธรรม

มองเช่นนี้ แล้วยังจะมีอะไรต้องซักต้องถาม เห็นเช่นนี้ แล้วยังมีอะไรต้องค้นคว้าแสวงหาความจริง ความถูกต้องชอบธรรม

นอนนับดาวอยู่บนคอนโดฯ ดีกว่ามั้ง

นึกออกใช่ไหม ผมไม่ได้บอกว่านักสัมภาษณ์ต้องมองโลกแง่ร้าย เปล่าเลย–แต่เราต้องไม่มองโลกแง่ดีเกินไป ไม่ว่าจะดีด้วยไร้เดียงสา หรือดีแบบตะแบง เอาสีข้างเข้าถู เอาสั้นๆ ว่าความยุติธรรมคืออะไร สิทธิเสรีภาพคืออะไร เราน่าจะต้องรู้หลักการของโลกอารยะ มีข้อมูล ให้คุณค่า และแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ได้

‘ประเทศกูดี’ ไม่ใช่คำพูดที่ผิด คือประเทศออกใหญ่โต เรื่องราวหลากหลาย ผู้คนมากมาย มันจะชั่วช้าเลวระยำไปทุกซอกหลืบได้ยังไง คำพูดว่า ‘ประเทศกูดี’ มันถูกแน่ๆ ในมุมใดมุมหนึ่ง ความหมายใดความหมายหนึ่ง

คุณยังจำกรณี ฌอน บูรณะหิรัญ พูดถึง ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้หรือเปล่าล่ะ จำได้ใช่ไหมว่า ทำไมทัวร์ลงเป็นเดือน

ความเห็นของฌอนไม่ผิดหรอก เพียงแต่ว่ามันผิดกาลเทศะ ผิดประเด็น เลือกมองเรื่องเล็ก จงใจละเว้นเรื่องใหญ่

เหมือนถ้าใครสักคนจะพูดถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แล้วบอกว่า เสื้อเขารีดเรียบดีนะ หรือเขาเป็นคนมีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม นึกออกใช่ไหมว่ามันเป็นความจริง ไม่ผิดหรอกที่บอกแบบนี้ เพียงแต่ว่าคุณมองเรื่องเล็กไปหน่อย มันสะท้อนสายตา โลกทัศน์ กระทั่งชี้วัดความตื้นเขินโง่เขลา

หากจะพูดถึง คำนูณ สิทธิสมาน แล้วบอกว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์คุณภาพ เป็นคอลัมนิสต์ที่มีฝีมือ มันไม่พอ ไม่ตรง ไม่อัปเดต ภาพใหญ่หรือตัวตนสำคัญของบุรุษผู้นี้คือ การเป็น ส.ว. แต่งตั้ง และโหวตให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

หากจะพูดถึง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แล้วพูดเพียงว่าเป็นกวี เป็นศิลปินแห่งชาติ แค่นั้นมันไม่พอ เพราะภาพใหญ่หรือตัวตนสำคัญของบุรุษผู้นี้คือ การเป็น ส.ว. แต่งตั้ง และเป็นอีกคนหนึ่งที่โหวตให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

พูดไม่ครบ ไม่ตรง ไม่เข้าเป้า ก็เหมือนกองหน้าที่ยิงออกนอกกรอบตลอด

พูดไม่ครบ ไม่ตรง ไม่เข้าเป้า ก็เหมือนเดินเข้าไปในห้องแล้วบอกว่า อืมม์ บ้านนี้แปลกดี ตีพื้นด้วยตะปูสาม นึกออกใช่ไหม มันอาจเป็นความจริงแน่ๆ และสายตาเขาก็ไม่ได้แย่ แต่พี่ครับ ในห้องนั้นมีช้างนอนอืดอ้วนอยู่ทั้งตัว พี่ไม่คิดจะพูดซะหน่อยเหรอ

การละไว้ (ในฐานที่เข้าใจ) กับความจงใจ ‘ละเว้น’ เป็นคนละเรื่อง กระทั่งคนละโลก

ละเว้น หรือมองไม่เห็นเรื่องสำคัญ เขาเรียกว่าแยกแยะเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ไม่เป็น ที่สุดก็จะกลายเป็นพวกมิจฉาทิฐิ มีนิสัยกักตัวเองอยู่ในโลกเก่าๆ คุยกับคนเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ซึ่งนักสื่อสารมวลชนควรหลีกเลี่ยงวิถีเช่นนั้น นักสื่อสารมวลชนต้องพยายามเปิดหูเปิดตา เปิดกะโหลกของตัวเองตลอดเวลา

มีหนังสืออะไรใหม่ๆ ต้องติดตาม

มีม็อบนักเรียนนักศึกษา ‘เยาวชนปลดแอก’ ต้องออกไปฟัง ไปดู ว่าพวกเขาคิดอะไร อย่าทำตัวเป็นคนแก่ตกยุค และเย่อหยิ่งจองหองว่าข้าคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เชี่ยวชาญ

แก่แล้วยิ่งต้องรู้จักฟังเด็กๆ

 

แม้ไม่ได้ตามข่าวทุกเรื่อง ทุกเวลา แต่สมมุติได้ยินคำว่า “ผมโดนจับแล้ว” ก็ควรต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก คนแรก และเนื้อหาสาเหตุมาจากอะไร

เผื่อคิดทำสกรีนเสื้อใส่ จะได้ไม่สับสนระหว่าง ‘ประเทศกูดี’ หรือ ‘ประเทศกูมี’.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save