fbpx
ตาย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ความตาย

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

 

“คนเรามันตายได้จริงๆ นะโว้ย”

พักหลัง หมาป่าพูดคำทำนองนี้บ่อย ไม่รู้จะพูดทำไม เรื่องแบบนี้มีใครบ้างไม่รู้ สัจจะสามัญเช่นนี้พูดไปก็เปลืองเปล่า เสียเวลา น่าเบื่อ ไร้ประโยชน์

แต่เขาก็พูด พร่ำพูด เพื่อเตือนตัวเอง และกระตุกกระตุ้นสติน้องนุ่งในวัยหนุ่ม

ผมรู้ ว่าเอาเข้าจริงการเอ่ยคำความตายมันไม่เปลืองเปล่าหรอก เพราะไอ้ที่ว่าเป็นธรรมชาติและความจริงพื้นฐาน เราๆ ท่านๆ ก็มักพลั้งเผลอ ไม่ค่อยได้คิดถึง ตั้งใจสิ่งใดไว้ แม้สลักสำคัญ แม้ประกาศต่อโลกว่าเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น แต่ผัดผ่อนได้ก็ผัดผ่อน ยืดย้วย อนุโลม เลื่อน คำว่าเดี๋ยวๆ ไม่เคยแปลว่าเดี๋ยวนี้ มีแต่เดี๋ยวก่อน เอาไว้ก่อน

อาจด้วยหมาป่าป่วยเป็นปกติ เขาจึงบำเพ็ญมรณานุสติด้วยชาอุ่นๆ และบางคืน เบียร์เย็นๆ รื่นรมย์ เบิกบาน ทว่าก็เทิดการงานไว้สูง อยากทำให้เสร็จ อยากทำให้ดี เพราะรู้ว่ามีเวลาไม่มาก

ใครๆ ก็รู้

 

– 1 –

 

เคาน์เตอร์บาร์, ถนนข้าวสาร 2003

ผมนั่งอยู่กับ ไทฟ้า อุ่นสุขเจริญ เจ้าของบัดดี้กรุ๊ป นักธุรกิจใหญ่ ระดับก็อดฟาเธอร์

เป็นผู้กว้างขวาง ทว่าโลว์โปรไฟล์ ถ้าไม่ได้มีอาชีพสัมภาษณ์ก็ไม่ง่ายที่จะได้เสวนากับเขา

“ใครจะสู้เฮียแกล่ะ บนถนนข้าวสารแทบจะเป็นเจ้าของทุกอย่างอยู่แล้ว” แท็กซี่รายหนึ่งให้ข้อมูล

Brick Bar, Sidewalk Café, Susie Pub, Austin, Molly, The Club, กินลมชมสะพาน, ต้มยำกุ้ง ฯ ภายหลังเริ่มขยับไปจับธุรกิจโรงแรม ทั้งในพระนคร หัวหิน และเกาะสมุย ฉายาว่าเจ้าพ่อย่อมไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

“ผมแค่คนเล็กๆ เจ้าพ่อตัวจริงมีหลายคน มีคนใหญ่ๆ เยอะ ผมเป็นคนทำงานธรรมดา คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ยังมีภาระ มีลูกน้อง และยังใช้หนี้ไม่หมดเลย” วาจาไทฟ้ามากมารยาท

เขาเติบโตมาในครอบครัวทำร้านแล็บสี รับถ่ายรูป ล้างอัดภาพสี สไลด์ รวมทั้งขาวดำ ทำรายได้ไม่เลว เพราะมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง ‘ยูนิเซฟ’ แต่นานวันเริ่มเบื่อ จึงยกให้เพื่อนบริหาร ตัวเขามองหาธุรกิจใหม่

“ตอนแรกผมนึกถึงร้านอาหาร อยากทำร้านใหม่ๆ ในแบบของเรา มีกาแฟอร่อยๆ ตกเย็นนั่งกินข้าว กินเหล้าได้ ก็พยายามออกแบบ เพราะโดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบนั่งบาร์ด้วย”

ในที่สุด Buddy Beer ก็เกิดขึ้นบนถนนข้าวสาร

“ตอนนั้นมีของผมร้านเดียว สีสันดีกว่าเพื่อน เพราะขณะที่เราพัฒนาร้าน เราต้องคิดถึงการพัฒนาลูกค้าไปด้วย อัพเกรดเรื่อยๆ ร้านตกแต่งดี ลูกค้าจะเข้ามาเขาก็ต้องแต่งตัวดี

“ผมไม่ชอบธุรกิจทัวร์เลย พวกซื้อมาขายไป ถึงได้กำไรดีก็ไม่ชอบ มันรูทีน เป็นกิจวัตรประจำวันเกินไป ผมชอบงานพัฒนา”

พ.ศ. นั้น ผมเพิ่งได้ยินครั้งแรก ว่าทำบาร์ก็เป็นงานพัฒนา

“ผมไม่ได้ต้องการเงินในชั่วข้ามคืน เราเอาแค่ให้ทุกคนอยู่ได้ เด็กอยู่รอด เราอยู่รอด มีเงินก็แบ่งกันใช้ เอาแค่คัฟเวอร์พอจ่ายดอกเบี้ยได้ มีเงินออมบ้าง ขยายงานได้ โอเค ถ้าตั้งเป้าสูงเกินไปมันทำให้ต้องบีบสตาฟฟ์ กระตุ้นเอาเงินจากลูกค้า ไฟต์ทุกอย่างเพื่อเงิน ผมคิดว่าแบบนี้ไม่สนุกหรอก ยิ่งทำธุรกิจบริการด้วย คุณคิดแบบนี้ไม่ได้

“สตาฟฟ์เรามีเป็นร้อยๆ นะ แต่อยู่กันอย่างพี่น้อง เราไม่ให้ทุกคนทำงานโหลด หลักการที่ชัดเจนคือ 8 ชั่วโมง จบ งานบริการทำมากๆ แล้วเบลอ คนละ 8 ชั่วโมง พอแล้ว เลิกงานแล้วรีบๆ ไปนอนเลย หรือจะเล่นกีฬา ว่าไป ลากไป 10 ชั่วโมง ไม่เวิร์กหรอก ได้ไม่คุ้มเสีย คุณทำงานบริการยังไงโดยไม่ยิ้ม ลูกค้าที่ไหนจะแฮปปี้

“อย่าลืมว่าเด็กทุกคนไม่ใช่อยากเสิร์ฟไปตลอดชีวิต เขาต้องโต กัปตัน ผู้จัดการ เราต้องให้เขาโต กั๊กไม่ได้..

“บาร์หรือร้านอาหารที่ทำตอนหลังมุ่งกลุ่มคนไทยมากขึ้น เราอยากให้คนไทยมาสัมผัสคนต่างชาติบ้าง อย่าง Susie Pub แต่เดิมเป็นลูกค้าฝรั่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้คนไทยเยอะ บางทีฝรั่งเข้าไม่ได้ มันแน่น ไม่มีที่จะยืน”

ได้ยินว่า Susie Pub เปิดถึงตีสามจริงไหม ?

“ตีสองทุกที่ครับ แต่กว่าจะออก กว่าจะเคลียร์ ก็มีช้าบ้าง เรื่องเวลานี่ผมอยากให้เห็นใจกันหน่อย บางทีฝรั่งลงจากเครื่องมาตอนเที่ยงคืน แฮงค์โอเวอร์ลงมา ไม่มีที่นอน หรือนอนไม่หลับ อยากหาที่กินเบียร์ให้หลับ”

แปลว่าก็มีเกินเลยบ้าง ?

“เขาเป็นนักท่องเที่ยวนะครับ ผมว่ายืดหยุ่นได้บ้างก็ต้องยืดหยุ่น เรามาช่วยกันคิดหาทางเก็บเงินต่างชาติให้ได้มากที่สุดดีกว่า ผมพูดเสมอว่าเหลือที่ให้นักท่องเที่ยวบ้าง เพราะยังไง เงินมันก็ไม่ไปไหน ใช่มั้ย”

ทัศนะเขาน่าฟัง เหมือนคอนเสิร์ตที่เปิดไว้บนจอ

“ผมชอบมองคนเดิน นั่งคิดอะไรเพลินๆ บางวันอยากเย็นๆ ก็ไปนั่ง Susie บางวันอยากเห็นอะไรกว้างๆ อยากมองแม่น้ำให้ใจเย็นๆ ก็ไปนั่ง ‘กินลมชมสะพาน’ แล้วแต่ว่าอยู่ในอารมณ์ไหน ที่แน่ๆ ผมชอบนั่งบาร์”

ดื่มเบียร์ ?

“โดยอัตโนมัติครับ เจอเพื่อนก็ต้องว่ากันไป เหล้า เบียร์ ไวน์ หลายขนาน บางทีวันหนึ่ง 4 อย่าง ..ไม่เป็นไร ชินแล้ว แต่ช่วงนี้พยายามประคอง กินให้น้อยลง เพราะมากไปร่างกายก็แย่เหมือนกัน งานแบบนี้ทรมานนะ บางทีเพื่อนมา จะไม่ดื่มก็ไม่ได้ คนไทยน่ะ เจอกันก็ต้องเอาสักขวด แต่ตรงนั้นขวด ตรงนี้ขวด คืนๆ หนึ่งก็เป็นสิบขวดเหมือนกัน”

นอนดึกทุกคืน ?

“เกือบเช้า ตีสามตีสี่เป็นปกติ แต่เจ็ดโมงก็ต้องตื่น มันเป็นธรรมชาติ ถึงกลับเร็วก็นอนไม่หลับ รำคาญตัวเองเปล่าๆ ..ผมเดินอยู่แถวนี้ทุกวัน มันเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว”

เอนเตอร์เทนเมนต์ของคนทำบาร์คืออะไร ?

“ไม่มี แต่การมาที่นี่ก็คือพัก เพราะผมทำงานโดยไม่จับเนื้องาน”

อยู่กับนักเดินทางทุกวัน คุณไม่อยากเดินทางบ้างหรือ ?

“ทุกคนอยากเดินทางทั้งนั้น เพียงแต่ก็มีภาระ มีเงื่อนไขต่างกัน หน้าที่มันกำหนด ผมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่หลงรักวิถีนักเดินทาง ไม่มีใครอยากจ่อมจมอยู่กับสถานที่เก่าๆ อยู่ทุกวัน”

ฯลฯ

ผมสัมภาษณ์ ไทฟ้า อุ่นสุขเจริญ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน open house ฉบับกันยาหรรษา 2003 (นำมารวมเล่มอีกครั้งในหนังสือ ‘โลกของเราขาวไม่เท่ากัน’ ปี 2007) ตั้งใจรีรัน ลอกมาให้อ่านค่อนข้างยาว เพราะไม่มีใครสามารถสัมภาษณ์เขาได้อีกแล้ว

ใช่– 27 เมษายน 2012 ไทฟ้าประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เสียชีวิตคาที่

 

– 2 –

 

“ผมกังวลเรื่องลมหายใจว่าจะตายเสียก่อนไหม” หมาป่าบอกผม

สิ่งที่รับรู้กันระหว่างเรา เขากำลังทำพจนานุกรมฉบับจีน–ไทย อยู่ ทำโดยลำพัง และเริ่มห่วงว่าจะทำไม่สำเร็จ

“ส่วนหนึ่งมัวทำมาหากิน หลงเขียนคอลัมน์ อะไรต่อมิอะไร และมัวแต่ลืม ลืมไปว่า เฮ้ย คนเรามันตายเป็นว่ะ อันนี้เรื่องจริง เรื่องซีเรียส ผมฝันไปข้างหน้าเรื่อยๆ แบบคนไม่มีวันหยุดหายใจ”

คำก็ตาย สองคำก็จะตาย ผมฟังหมาป่าบ่อยจริงๆ

ยิ่งตั้งแต่แตะหกสิบเป็นต้นมา หมาป่าพูดเรื่องความตายเหมือนหายใจ กินข้าว อาบน้ำ

น่าเบื่อ–ไม่ใช่แต่ผมหรอก เพื่อนพี่น้องหลายคนก็เซ็ง อะไรกันนักหนา หมาป่าคนเดิมไม่ใช่แบบนี้ หมาป่าต้องหนุ่มกว่านี้

 

– 3 –

 

สวนทูนอิน, เชียงใหม่ 2007-2008

ผม และเพื่อนช่างภาพ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ได้รับเกียรติจาก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้เดินทางขึ้นไปสัมภาษณ์ถึงที่บ้าน

กิน นอน ที่นั่น และบางวันติดรถตามเขาออกไปโรงพยาบาล ใกล้ๆ สี่แยกรินคำ วันที่มีนัดกับแพทย์ เพื่อฟอกไต

บ่าย เย็น เมื่อกลับถึงบ้าน เขามักเหนื่อยเกินไปที่จะให้สัมภาษณ์ ต้องพักฟื้นคืนหนึ่ง และเช้าวันต่อมานั่นแหละ เราถึงจะได้ทำงานกันต่อ

งานยาวๆ ที่คุยทุกเรื่อง ตั้งแต่ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ ช่างภาพ ความรัก ลูกเมีย วันเวลาในสหรัฐอเมริกา การเขียนการอ่าน การบ้านการเมือง เซ็กซ์ ไล่เลยไปถึงเหล้า ยา กระทั่งเรื่องบ้าน

“เรามีบ้านตั้งแต่อายุยี่สิบเจ็ด ตั้งใจไว้เลยว่าต้องมีบ้านให้ได้ ปลูกหลังแรกที่บางซ่อน ใช้เงินหมื่นกว่าบาท ทำง่ายๆ แบบเพิงหมาแหงน ห้องนอนห้องเดียว ครัวแยกไปต่างหาก ตีฝาถูกๆ ด้วยกระเบื้องยิปซัม ตีตะปู ทาสี เรียกว่าถ้าเมาๆ เซไปชนนี่อาจทะลุเลย

“เราทำให้พออยู่ได้ ทำเพื่อไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะการเสียค่าเช่าบ้าน เราว่าทารุณ

“พอปลูกบ้านได้ ชีวิตมีความสุข ไปทำงานด้วยรถรางบ้าง สามล้อ แท็กซี่บ้าง เราปลูกบ้านก่อนซื้อรถ เพื่อนหลายคนของเราเงินเดือนไม่ใช่น้อย แต่ไม่มีบ้านอยู่ จนเดี๋ยวนี้บางคนยังไม่มี ต้องเช่าบ้านหลังเป็นหมื่นอยู่

“เห็นชีวิตนักเขียนรุ่นเก่าๆ แล้วคิดว่าเราต้องมีบ้านอยู่ให้ได้ เห็นแล้วเศร้า หลายคนจนแก่ยังไม่มีบ้าน แล้วตายไปอย่างเงียบๆ ในห้องร้างๆ เราเห็นแล้วปวารณากับตัวเองไว้เลย คือหนึ่ง, ไม่กินเหล้าเมายาจนเละ สอง, ต้องมีบ้าน มีรถ”

เคยเช่าบ้านหรือเปล่า ?

“ไม่เคย อยู่บ้านคนอื่น ไม่ก็นอนโรงแรม ชอบนอนโรงแรม ไปบ้านเพื่อน ถ้าเลือกได้จะไม่นอนบ้านเดียวกับเจ้าของ เพราะตื่นไม่ตรงกับเขา เวลากินอยู่ไม่ตรงกัน เมื่อมีฐานะพอที่จะปลูกบ้านให้เพื่อนนอนได้ เราถึงแยกบ้าน เพื่อนมาก็ปล่อยให้นอนไปตามสบาย อยากกินเมื่อไร ลงมากินที่นี่ กาแฟ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว เรายินดีต้อนรับ นึกถึงตัวเอง เวลาไปบ้านเพื่อนแล้วเกรงใจเขา ฉะนั้น ใครมาบ้านเรา ไม่ต้องเกรงใจ

“เราชอบแบบนี้ เพื่อนมาก็อยากให้สบาย เราจัดให้เหมือนโรงแรม มันไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรนี่หว่า ผลไม้เยอะแยะ ซื้อให้นายถาดหนึ่ง กี่ตังค์กันเชียว”

การสัมภาษณ์แต่ละครั้งใช้เวลาสามชั่วโมงโดยประมาณ ภายในห้องทำงานกระจกใส มองเห็นต้นไม้เขียวครึ้มโดยรอบ ส่วนในห้อง หนังสือหนังหากองท่วมตัว ยังไม่นับต้นฉบับที่จัดใส่แฟ้มอย่างเป็นระเบียบ

“เราเป็นคนอยากรู้ ชอบรู้ ไปไหนไม่เคยเหงา คุยกับเขาไปเรื่อย บนเครื่องบินยังคุย ทำให้ได้ทัศนะต่างๆ

“การผ่านงานนักข่าวทำให้ไม่เขินที่จะคุยกับคน มีมนุษยสัมพันธ์ ใครเดินผ่านมา คุยได้ ขึ้นรถไฟก็คุยตลอดทาง ชอบคุยกับคนแปลกหน้า

“ใครที่กลัวเหงา ก็คุยกับคนสิวะ”

ไม่เฉพาะแต่ผมหรอก ใครไปคุยกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็สนุก เพราะเขาเป็นคนตอบคำถามเก่ง เต็มไปด้วยชั้นเชิง รอบรู้ มากเรื่องเล่า และเมตตา

“เป็นคนรักงานเขียน เลิกงาน ไปเที่ยว กินเหล้า เมาก็กลับมาโรงพิมพ์ บรรทัดสุดท้ายไม่ดี ขอแก้หน่อย แก้ได้แล้วก็กลับไปเสเพลต่อ เสเพล แต่รักงาน เราเขียนทุกอย่าง ทั้งบทความ สารคดี เรื่องสั้น นวนิยาย ฝึกมาหมด ชอบทุกแนว ทั้งสัมภาษณ์และถ่ายรูป

“จำไว้ว่างานสัมภาษณ์เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ งานถ่ายภาพ portrait ก็เป็นงานยิ่งใหญ่”

ฯลฯ

’รงค์ วงษ์สวรรค์ นัดหมายกับ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ไว้ว่าจะแสดงนิทรรศการภาพถ่ายร่วมกันที่ people space วันที่ 1 พฤษภาคม–6 มิถุนายน 2009

งานที่ตั้งใจไว้สำเร็จลุล่วงด้วยดี แต่ศิลปินคู่ มีเพียงธวัชชัยยืนอยู่โดดเดี่ยว

พญาอินทรีโบยบินคืนสู่ฟ้าอักษรไปก่อนแล้วตั้งแต่ 15 มีนาคม

 

– 4 –

 

เช่นญาติน้ำหมึกจำนวนมาก หมาป่าเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาส่ง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่วัดพระสิงห์

เขาเช่าเกสต์เฮาส์นอนละแวกนั้นหลายคืน

เรื่องเกสต์เฮาส์ เขาเป็นเซียน สะสมข้อมูลไว้มาก เช่นเดียวกับภาษาจีน บทกวี จิตรกรรม เขาเป็นนักเลงหนังสือ เป็นกวี เป็นอาร์ติสต์

“ผมจะหยุดหายใจเมื่อไรไม่รู้ หน้าที่ผมคือเดินไปวันต่อวัน

“ผมไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ในอายุเท่านี้ สุขภาพแบบนี้ ชีวิตคนเรามันมีเรื่องน่าจะทำ กับเรื่องที่ต้องทำ น่าจะทำ ควรทำ ต้องทำ

“ผมมีแฟ้มเยอะมาก ผมเปิดแฟ้ม ผมเขียนข้อมูล ผมคาดเดาว่า นี่ นวนิยายเรื่องนี้ๆๆ ผมมีลิสต์ในหัวเต็มไปหมด แต่วันหนึ่งที่ผมป่วย ผมซาโตริว่ากูตายได้โว้ย”

เอาอีกแล้ว เป็นอะไรมากเปล่า

หลังๆ หมาป่าเอาแต่พูดเรื่องความตาย

คนอย่างเขาต้องรู้สิ เขาต้องรู้ ว่าความตายมันไม่สนุก ความตายเป็นสัจจะที่ไม่น่ารับฟัง

 

– 5 –

 

บ่ายวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2012 เสนีย์ เสาวพงศ์ ในวัย 94 ปี ให้เวลาทีมงานไรท์เตอร์เข้าพบปะสนทนา

แน่นอนว่าผู้สร้างอมตะนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ไม่สู้จะแข็งแรงนัก หลายครั้งหลายหนต้องถามซ้ำ ทวนคำพูด และเพียงจะลุกขึ้นยืนต้องคอยประคับประคอง แต่ตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมง เสนีย์ เสาวพงศ์ พูดคุยด้วยความเบิกบาน และมีอารมณ์ขันเต็มเปี่ยม

ขณะที่เป็นฝ่ายตอบ เขาจะถามกลับเสมอ ถามในความหมายของญาติผู้ใหญ่ที่ใส่ใจห่วงใยลูกหลาน

ถามและเล่าเรื่องด้วยรอยยิ้ม

ไม่มีการอวดโอ่ หรือพยายามแสดงโวหาร คำคม ไม่มีอารมณ์กราดเกรี้ยวคุกรุ่น มีเพียงท่าทีครุ่นคิดและคลี่คลาย ผ่อนคลาย

“ผมเคยชกมวยสากล หัดมานิดๆ หน่อยๆ เคยชั่งน้ำหนักและจะขึ้นชก แต่พี่ชายไม่ยอม เขาบอกว่าอย่าชกเลย”

ข้อมูลนี้ผมไม่เคยรับรู้เลย ว่าเขาก็เป็นนักเขียน นักมวย

“เคยซ้อมกับครู เป็นมวยนักเรียนน่ะ รุ่นเล็กสุด และผมคิดอะไรได้บางอย่างช่วงนั้น”

คิดอะไรได้ ?

“เมื่อก่อนเราตัวเล็ก แต่ชกแล้วรู้สึกว่าถ้าชกกันจริงๆ แฟร์ๆ น้ำหนักตัวเท่ากัน คู่ต่อสู้เก่งยังไงก็ต้องโดนชก เก่งยังไงก็เจ็บตัวเหมือนกัน มึงไม่ได้ฟรีๆ หรอก ความคิดแฟร์เพลย์เกิดขึ้นมา พวกนักเลงรึ เก่งยังไงวะที่ลอบตีลอบยิงเขา เก่งจริง ถ้าดวลตัวต่อตัวสิ ถึงไม่ใช่นักมวย แต่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา คู่ต่อสู้โดนเหมือนกัน ผมว่ามันแฟร์ดี ชอบความแฟร์”

เลิกเรียนแล้วไม่สนใจกีฬา ?

“เรียนจบผมมาเป็นนักประพันธ์ ก็ดีนะ ไม่เจ็บ (หัวเราะ) ตอนเด็กรู้สึกว่ามันต้องทำอะไรสักอย่างสองอย่าง นอกจากการเรียน คนหนุ่มปรารถนามันมีมาก”

เป็นอีกข้อที่ผมโค้งคารวะ

“พวกคุณอยู่ไรท์เตอร์ คุณคิดว่านักประพันธ์ควรมีคติในการทำงานแบบไหน”

เห็นเราสงบปากคำ และอ้ำๆ อึ้งๆ ยังไม่ทันได้ตอบ ผู้สร้างปีศาจบอกว่า “หน้าที่เราก็มีเหมือนกัน หน้าที่นั้นคือทำประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ หน้าที่ของนักประพันธ์ต้องทำแบบนี้ ต้องมีจิตใจแบบนี้”

นาทีนั้น ผมถามตัวเองว่าเราทำหน้าที่ดีพอหรือยัง..

เหตุที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เพราะเขาเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก

“มันมีภัยจากการรัฐประหาร อย่าเรียกปฏิวัติ เพราะไม่ใช่ ให้เกียรติมากไป ไม่มีอะไรรับประกันว่ามันจะไม่มีอีก..”

ลุงเสพูดเหมือนมองเห็นอนาคต

ดังที่กล่าวแล้ว เรานั่งคุยกันวันที่ 22 มิถุนายน 2012 พอถึง 22 พฤษภาคม 2014 รัฐประหารเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกจริงๆ รัฐประหารครั้งที่สิบเท่าไรก็เกินจะจดจำ

ทุกอย่างมันบอบช้ำและผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว

“เราต้องป้องกัน ช่วยกันทำประชาธิปไตยให้แข็งแรง ให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม ให้มีเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะของวรรณกรรมที่เกี่ยวกับสังคม

“ทุกวันนี้การต่อสู้ทางความคิดยังมีอยู่ พูดง่ายๆ คือระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ ผมรู้สึกตัวว่ายุคสมัยของผมหมดแล้ว หรือกำลังจะหมด ผมกำลังจะกลายเป็นสิ่งเหลือใช้ เป็นของเหลือใช้จากยุคก่อนที่ตกทอดมาถึงยุคนี้ สิ้นประโยชน์ใช้สอยแล้ว”

รู้สึกอย่างนั้น ?

“ใช่ และผมไม่อยากให้สิ่งตกค้างเก่าๆ มามีผลต่อคนอื่น ถึงเวลาต้องเปลี่ยน ธรรมชาติให้เรามาแบบนี้ อาจจะโหดร้ายหน่อย แต่มันเสมอหน้า และเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือกอื่นคือความตาย เจนเนอเรชั่นหนึ่งผ่านไป สองผ่านไป คุณต้องผ่านไปให้ได้ ไม่มีใครเหลือติด คนที่มาใหม่ เขามาใหม่แท้ๆ เขาไม่ได้ติดอะไรเก่าๆ เลย เขามาหาเอาในยุคของเขา อาจจะเก็บตกจากของเก่า แต่เขาศึกษาเอง”

ลุงเสพูดด้วยเสียงหัวเราะเหมือนเดิมว่า–ถ้าคนไม่ตายนี่ ของเก่ารกแยะเลยนะ

“เราตกยุคตกสมัยหรือเปล่า ผมรู้ตัวได้ชัดเจนจากเรื่องคอมพิวเตอร์ รู้จากอินเทอร์เน็ต รู้เลยว่าผมไม่ทันสมัยแล้ว เป็นคนล้าสมัย แล้วอยู่ไม่ได้นะ ถ้าคุณไม่รู้เรื่องนี้ นั่นเท่ากับว่าผมเตรียมตัวไปแล้ว”

ไม่มีความโศกเศร้าใดๆ เขาพูดราวกับว่ากำลังจะไปเดินเล่นในสวนดอกไม้

ไม่มีความหวาดกลัว ไม่ตื่นตระหนก ไม่อาลัยอาวรณ์

เสนีย์ เสาวพงศ์ ลาสังขารไปในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2014 ด้วยวัย 96 ปี

 

– 6 –

 

เพียงหวังให้ทุกคนมากมีเงินทอง
หวังเพียงให้ผู้คนร่วมคู่เคียงกัน
ในราตรีงดงามนี้ ข้าอยู่เดียวดาย
ผู้ใดจะร่วมเมามายกับข้า

นี่คือผลึกชีวิตโก้วเล้ง และนี่ก็คือชั้นเชิงการถอดคำแปลของหมาป่า–เรืองรอง รุ่งรัศมี

แบรนด์อันแข็งแกร่งของเขาคือ ‘เดียวดายใต้เงาจันทร์’ เป็นกระบี่ที่ตวัดฉับเดียวแล้วคนจดจำทั้งยุทธจักร จนบางเรามิวายกังวล นี่ภาษาโก้วเล้ง หรือถ้อยคำเรืองรอง

“วันหนึ่งที่ผมป่วย ผมซาโตริว่ากูตายได้โว้ย กูหายใจไม่ได้โว้ย วันหนึ่งเกิดตายขึ้นมา ก็จบ ความคิดนี้มันชัดมาก”

รู้แล้ว คุยเรื่องอื่นดีกว่าพี่

พอนะ

“ที่ผมเคยบอกพวกคุณ คุณมีเวลาที่แข่งกับการหยุดหายใจ”

 

– 7 –

 

บ้านนักเขียน ‘เพชรพระอุมา’ กรุงเทพ, 2011

บินหลา สันกาลาคีรี อีกแล้ว

กับ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขาก็เป็นคนพาผมไปสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์มติชน และกับยักษ์ใหญ่นาม ‘พนมเทียน’ หนนี้ บินหลายังคงทำหน้าที่ฉายไฟนำทาง คุมเกม วางแผนการเล่น โดยมี นิภา เผ่าศรีเจริญ บรรณาธิการนิตยสาร IMAGE (ณ ขณะนั้น) เป็นจอมทัพ

น่าจะเป็นผมคนเดียวในทีม ที่ไม่เคยอ่าน ‘เพชรพระอุมา’

เป็นข้อด้อยของนักสัมภาษณ์อย่างไม่ต้องสงสัย ที่ไปสัมภาษณ์นักเขียน แต่ไม่เคยอ่านผลงาน ผมพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากการสรุป บอกเล่าของเพื่อน และตั้งใจฟังเรื่องราวตรงหน้า นาทีต่อนาที (ซึ่งก็คงไม่รอดหรอก–คุณจำตัวอย่างที่ไม่ดีเอาไว้)

“เพชรพระอุมา ทีแรกตั้งใจเขียนเล่นๆ ปีเดียวจบ แต่เขียนไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมามันเพิ่งออกไปนิดเดียว ก็เลยขยาย ว่าด้วยปืนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไปตั้งปกแข็งเล่มหนึ่งแล้ว

“ระหว่างเขียนก็มีบ้าง เพื่อนนักเขียน เจ้าของโรงพิมพ์ หรือคนอ่านบางคนกระเซ้าเย้าแหย่ หรือเหน็บแนมว่าเขียนยังไงวะ 500 ตอน ไม่จบ เราเขียนด้วยความคิดว่าเราอาชีพเขียนหนังสือ ไม่ว่ามันจะ 500 ตอน หรือ 1,000 ตอน หากว่ายังไม่จบ ก็เขียนไป”

เคยได้ยินข่าวใช่ไหม

พนมเทียนเขียน ‘เพชรพระอุมา’ ไปแล้วครึ่งเรื่อง มีโจรเข้าบ้านคนที่เชียงใหม่ บ้านนั้นมีทรัพย์สินหลายอย่าง โจรไม่เอาอะไรทั้งสิ้น พ่อเจ้าประคุณขนเอาหนังสือ ‘เพชรพระอุมา’ ไป 12 เล่ม กวาดไปทั้งหมดเท่าที่มี

‘พนมเทียน’ เป็นนามปากกาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตั้งขึ้นจากความประทับใจในถ้อยคำและความหมาย ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมฯ 2-3 เกิดที่ปัตตานี ใช้ชีวิตวัยรุ่นด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ เรียนหนังสือ, เที่ยวเตร่เกเรไม่มีใครเกิน, และอ่านหนังสืออย่างหลงใหลใฝ่รู้ เท่าที่ฟัง ห้องหนังสือของครอบครัวเขามีหนังสือมากกว่าห้องสมุดประชาชนหลายแห่ง

นวนิยายเรื่องแรกคือ ‘เห่าดง’ เขียนตอนเรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เรื่องที่สองคือ ‘จุฬาตรีคูณ’ เขียนสมัยเรียนมัธยมฯ อีกเช่นกัน

“เวลาเขียนต้องการสมาธิสูงมาก ถึงทำกลางคืนไง คนอื่นหลับหมดแล้ว ไม่ใช่เขียนๆ ไปแล้วมาเรียก หรือคนโทร.มา

“แต่ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับคนเหมือนกันนะ สุวรรณี สุคนธา ว่างจากการเขียน นั่งเล่นไพ่ได้ เล่นต่อหน้าผมนี่แหละ เล่นเสร็จนั่งเขียนต่อ ไม่รู้แยกสมาธิได้ยังไง เห็นกับตามาแล้ว เล่นซึ่งๆ หน้า เขียนหนังสือไปด้วย เล่นไพ่ไปด้วย”

เวลาเขียนไม่ออก ทำยังไง ?

“หยุดคิด เดินเล่น ต้องพัก มีเหมือนกันบางทีติดประโยคเดียว รู้ว่าไปยังไง แต่เขียนยังไงให้กะทัดรัด คิดไม่ออก ก็หยุด เรื่องร่างไม่มี เอากระดาษใส่พิมพ์ดีด ตัวจริงกับสำเนา นั่งแล้วเขียนเลย”

หลังเขียนสร็จ ?

“ออกนอกบ้าน ไปเที่ยว ไปอยู่ตามซ่อง กัญชา ฝิ่น เอาทั้งนั้น ซ่องเลวสุดจนไฮโซ เดี๋ยวนี้ไม่ไหว เวลาพักขอแค่อย่าให้ใครรบกวน มีเวลาอยู่นิ่งๆ ใช้ได้แล้ว

“ชีวิตจริง ผมเป็นคนละเอียด ทุกสิ่งทุกอย่างที่จดจำไว้ ทุกบททุกตอน ดูภายนอกคล้ายคนหยาบๆ ลวกๆ ไม่สนใจ ความจริงเป็นคนที่สนใจพฤติกรรมรอบตัวมาก ไม่งั้นเป็นนักเขียนไม่ได้

“คนไม่เข้าใจชอบคิดว่า ใครเล่นปืนน่ากลัว เป็นคนโผงผาง ไม่ใช่เลย คนเล่นปืนต้องละเอียดกับการใช้ชีวิต ถ้าไม่ละเอียดมีสิทธิ์ที่จะมีปัญหากับปืนของตัวเอง

“ผมมีหลักแค่สองข้อเท่านั้น คือหนึ่ง ถ้ายังไม่คิดจะยิง อย่าสอดนิ้วเข้าไปในโกร่งไก ข้อสอง เมื่อถือปืน ให้ระวังปากกระบอกปืน อย่าหันเข้าหาเรา หรือหันไปให้เพื่อน แม้ว่าไม่มีลูก แม้ว่าไม่ได้เอานิ้วใส่ ปากกระบอกปืนมันไม่เป็นมงคลเพราะเป็นทางกระสุนออกไป

“ธรรมชาติคนเราร้อยละ 99.99 ถ้าส่งปืนให้ โดยธรรมชาติจะเอานิ้วเข้าไปในโกร่งไก ไกปืนมันเย้ายวนใจจริงๆ ยิ่งกว่านมผู้หญิง เห็นแล้วอยากจับ สังเกตไหมว่าคนที่ทำปืนลั่น มักนึกว่าไม่มีลูก โธ่.. มีหรือไม่มี จับปืนแล้วเราต้องฝึกนิสัยให้ชิน

“ในชีวิตการเดินป่า ผมล่าสัตว์แทบทุกชนิด ยกเว้นช้าง”

อมตะนวนิยายเพชรพระอุมา ใช้เวลาเขียนทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน 2 วัน

“ตอนเขียนได้สามในสี่ของเรื่องผมเริ่มป่วยหนัก คิดในใจว่าเจ้าพระคุณ ขออย่าให้ตายก่อนเพชรพระอุมาจบเลย ถ้าจบแล้วไม่ว่า ไม่เสียดายชีวิต

“ยังจำได้ วันที่เขียนจบจริงๆ เลิกเขียนตอนตีสอง เรียกลูกมาบอกว่าถ้าพ่อตาย อ่านให้จบนะ”

ฯลฯ

‘พนมเทียน’ เสียชีวิตวันที่ 21 เมษายน 2020 สิริรวมอายุ 88 ปี

 

– 8 –

 

หมาป่าเกิดปี 1953 เป็นคนรุ่น 6 ตุลาฯ เริ่มเรียนภาษาจีนอย่างจริงจังตอนอายุ 28 สมัยใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ไต้หวันเคยได้รับเงินกินเปล่าจากใครก็ไม่รู้เป็นปีๆ สิ่งนี้ตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า มันมีอยู่จริงๆ มนุษย์ที่ต้องการหยิบยื่นให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่อวดอ้าง ป่าวประกาศ

อาจเป็นเหตุผลว่า เขาเป็นผู้ให้เสมอ ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้เวลา ให้มิตรภาพ

ร่างกายหมาป่าเล็กกว่ามาตรฐานชายไทย ทว่าใจเขาไม่เล็กเลย

คนใจปลาซิวปลาสร้อยกล้าหาญ ค้นคิด ทุ่มเททำพจนานุกรมได้ล่ะหรือ

“ผมเห็นคนหนุ่มสาวที่มีความฝันเยอะ และใช้ชีวิตเพ้อเจ้อเยอะ ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ แต่ผมไม่ได้มองโลกดาร์กเหมือนตอนอายุน้อย ตอนนี้ผมนั่งมองด้วยรอยยิ้ม และอยากตบบ่าบอกว่า –เฮ้ย โตได้แล้ว

“กูเชื่อว่าที่มึงฝัน ถ้ามึงโต มึงไม่ขี้โม้แบบนี้ มึงลงมือทำ แล้วมึงจะโตกว่าที่มึงฝันอีก

“ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวที่ผมเห็นมันทำตัวไม่ค่อยสมอายุ ซึ่งผมเองก็เคยผ่านตัวตนเหี้ยๆ แบบนั้น”

หมาป่าเสียชีวิตวันที่ 31 พฤษภาคม 2020 สิริรวมอายุ 67 ปี

อืมม์ ในที่สุดเขาก็ตายจริงๆ ซึ่งผมไม่เชื่อเท่าไรหรอก แม้ยืนอยู่หน้าเมรุวัดหัวลำโพง ยังพูดกับเพื่อนบางคนเลยว่าเขาแสดง performance art ต่างหาก

ไม่จริงและไม่จริง เป็นไปไม่ได้ หมาป่าไม่มีวันตาย

 

– 9 –

 

“คนเรามันตายได้จริงๆ นะโว้ย”

ทุกครั้งที่ได้ยิน ผมมักแย้งในใจ –น่าเบื่อว่ะพี่

เพียงแต่ว่าหนนี้เถียงไม่ออก ผมเงียบ ขณะเสียงเพลง heart of gold เวอร์ชัน ธีร์ อันมัย ก้องดังอยู่ทั่วบริเวณวัด

หมาป่าจากไปแล้ว เช่นเดียวกับใครอีกหลายๆ คนที่ผมเคยพบปะสัมภาษณ์

วาณิช จรุงกิจอนันต์, จรัล มโนเพ็ชร, อภิชาติ ชูสกุล, ไม้หนึ่ง ก.กุนที ฯ

บางคน ผ่านมานานปี ถ้าไม่มีเทป ผมจำไม่ได้หรอกว่าเคยพูดคุยซักถามอะไร และเขาเหล่านั้นมีเรื่องเล่าอย่างไร

ใครจะไปจำได้

เทปเท่านั้นที่จำได้ เทปซื่อสัตย์ เทป–เมื่อคุณกดอัด บันทึก เสียงนั้นจะคงอยู่ และใครคนนั้นจะยังอยู่เสมอ

 

– 10 –

 

หลายคนจากเราไปแล้ว และเช่นกัน–วันหนึ่งเราต่างเป็นผู้จากไป

“คนเรามันตายได้จริงๆ นะโว้ย” กับมิตรสหาย หมาป่าไม่เคยเบื่อที่จะพูด

“ในเวลาที่ร่างกายคุณสด คุณต้องเป็นนกใหญ่ คุณต้องบิน” หมาป่าบอกผม

ผมเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบพูดซ้ำๆ บอกเล่าครั้งเดียวคุณคงจำได้

“ในเวลาที่ร่างกายคุณสด คุณต้องเป็นนกใหญ่ คุณ..”

 

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ‘พนมเทียน’ และ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ติดตามหาอ่านได้ในนิตยสาร WRITER, บทสัมภาษณ์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่วนบทสัมภาษณ์ ‘หมาป่า’ เรืองรอง รุ่งรัศมี พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MAD ABOUT ต่อมาพิมพ์รวมเล่มอีกครั้งใน เดี๋ยวนะ นักฝัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save