fbpx
ศิลปะระยะห่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ศิลปะระยะห่าง

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มันยังไม่นานเท่าไร เลยอาจจะยังพูดยาก ว่าไหวมั้ย ชีวิตจะเป็นอย่างไร

แล้วถ้าต้องอยู่กันไปแบบนี้ อยู่แบบพยายามกลั้นอกกลั้นใจกักขังตัวเองไว้ที่บ้าน ลด ละ เลี่ยง การเดินทางและพบปะผู้คน เป็นเดือนๆ หรือหลายเดือน กระทั่งถ้าสถานการณ์ยังเลวร้ายยาวนานต่อเนื่องเป็นปีล่ะ ระยะห่างจะทำให้เรายังหายใจออกหรือเปล่า หรือว่าเหี่ยวเฉาตาย

เรื่องโควิด-19 นั้นผมไม่รู้ แต่เรื่องทำงานคนเดียว เรื่องไปสัมภาษณ์โดยไม่มีช่างภาพ อันนี้พอตอบได้

ว่าคล้ายปีกอีกข้างมันหายไป

 

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อ วัวเป็นสัตว์กินหญ้า ส่วนมนุษย์–ดูเหมือนจะยังเถียงกันไม่จบ ที่แน่ๆ คือทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็กินทั้งสัตว์ทั้งพืช

เป็นสัตว์ฝูง เสพติดการรวมกลุ่ม ชอบชุมชน หรือเป็นสัตว์โทน รักอิสระ เลือกเส้นทางท่องโลกเพียงลำพัง

หรือขึ้นอยู่กับเวลา บางอารมณ์ ผสมผสาน บางวันสู้และเจ็บคนเดียวแบบนักมวย บางวันรุกรับชิงชัยด้วยองคาพยพเช่นในทีมฟุตบอล

งานสัมภาษณ์ที่ผมโตมา ไม่ว่าในสำนักงานหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร แบ่งหน้าที่กันชัด ระหว่างคนทำเรื่องเนื้อหากับช่างภาพ ไม่ผิดที่ใครบางคนจะควบ ทำมันทั้งสองอย่าง และทำได้ดี แต่โดยทั่วไปโครงสร้างวางกันมาอย่างนี้ แยกบทบาทหน้าที่ จ่ายเงินค่าวิชาชีพ ความถนัด แบ่งความรับผิดชอบกันไปคนละสายงาน

นักเขียนกับช่างภาพจับคู่ ทำงานร่วมกันเป็นทีม เรียกว่าถ้าทีมดี หรือเป็นมวยถูกคู่นี่ อะไรก็หยุดไม่อยู่ ทั้งเจ้าของสนามและคนดูก็ชื่นชอบใจ พลอยได้อานิสงส์

ไม่ง่ายหรอกที่จะมีบัดดี้ดีๆ ถูกคอถูกใจทั้งในและนอกสนาม มีเหตุผลร้อยพันที่ทำให้คนคลาดเคลื่อนไม่ได้เป็นเพื่อนกัน บางเหตุผลและบางคนเท่านั้นที่เดินมาพอดี

ชีวิตคู่ของผมเริ่มต้นกับนิว–ศุภชัย เกศการุณกุล

เราเจอกันที่ GM BUSINESS ต่อติดกันเร็วด้วยไฟปรารถนาที่กำลังลุกโชน วัยกำลังดี เขายี่สิบสี่ ผมยี่สิบเจ็ด บวกรสนิยมการอ่านที่พาดเกี่ยวตรงจริต เราคุยกันคล้ายไม่รู้จักอิ่มจักพอโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงผลงานหนังสือหลายๆ เล่มของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, พจนา จันทรสันติ, คุยถึง ‘ศิลปะแขนงที่เจ็ด’ ของ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา และ ‘ศาสดาขบถ’ (กัญชา อิตถีเพศ และเทศนาด้วยบทเพลง) หนังสืออันว่าด้วยเพลงชีวิตราชันเร็กเก้จาไมกัน บ็อบ มาร์เลย์ นั้นนับเป็นหนึ่งในไบเบิ้ลของเรา

วงเบียร์เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งช่วงคิด คัดสรร เตรียมประเด็น สเก็ตช์สตอรี่บอร์ด และหลังงาน ทบทวน ตรวจทาน วิพากษ์ เฉลิมฉลอง

เขามีคำถามเสมอ ถามได้ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งข่าวสารความเป็นไปในสังคมและสันดานดิบเบื้องลึกภายในใจ เขามีความคิดเห็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจเสมอ มีมากมายและขยันเล่าเรื่อง เล่าอย่างคนที่มีเวลา มีสมาธิ

กับนิว ผมรู้แล้วว่าแก่นแท้ของความสุขในงานคืออะไร เห็นเนื้อเห็นหนัง เห็นอนาคตว่าจะเดินไปทางไหนยิ่งเมื่อหนังสือเล่มแรก ‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’ ออกมา ก็ยิ่งไม่มีคำว่าลังเลสงสัย

เราทำสารคดีชีวิตนางแบบด้วยกัน (ภาพจากชุดนี้ถูกเลือกเป็นปก) ทำเรื่องนักเดินทางที่ถนนข้าวสาร (ใช้เวลาเป็นเดือน เดินเข้าออกบาร์แล้วบาร์เล่า กว่าจะเจอคนอย่างทาคูมิ และมายูมิ คนหลังนี้เราคุยกันตั้งแต่หัวค่ำจนถึงดึกดื่น ก่อนแยกย้ายราวตีสี่ ด้วยการไปส่งเธอที่แอร์พอร์ต–ใช่, นิวขับรถไปส่ง) ทำเรื่องวัยรุ่นเซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ (ตัวละครส่วนใหญ่ นิวเป็นคนเลือกและเข้าไปทาบทาม ขอสัมภาษณ์ โดยมีผมยืนเก้ๆ กังๆ คล้ายรอคำสั่งในฐานะผู้ช่วยช่างภาพ) ทำเรื่องบางกอกเกย์เฟสติวัลครั้งแรก ที่ถนนสีลม ผมชอบภาพขาวดำชุดนี้เป็นพิเศษ มันสะท้อนศักยภาพของช่างภาพได้ชัดว่าเขาเอามันอยู่ ครบเครื่อง ไม่ว่าการเซ็ตถ่ายแบบนิ่งๆ หรือบันทึกเหตุการณ์ซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัว ฉับไว และแม่นยำในเรื่ององค์ประกอบศิลป์

ในช่วงเวลาทับซ้อน ก่อนนิวบินไปปารีส ผมร่วมงานกับปิงปอง–นิติพัฒน์ สุขสวย และโจ้–ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ในสนาม GM

นี่เป็นการตอกย้ำคำว่าทีมโดยแท้

กับตัวเอง ผมรู้ตัวแน่ๆ ว่าชอบการเขียนอ่านและงานสื่อสารมวลชน และเพื่อนช่างภาพคือคนเคียงข้าง คอยออกแรงส่งแรงผลัก และวิ่งไปด้วยกัน อาจนับเป็นโชคก็ได้ ที่ผมเจอเพื่อนร่วมงานเก่งๆ มุ่งมั่น เอาจริงเอาจังในวิชาชีพ มันมีส่วนอย่างสูงให้เรายิ่งรัก ยิ่งหลงใหล และวิ่งเท่าไรก็ไม่เหนื่อย

ต่อให้เหนื่อยหรือล้มก็ต้องรีบลุก เพราะเพื่อนวิ่งไม่หยุด

ปิงปองโดดเด่นเรื่องอาร์ตไดเรกชั่นและไอเดีย เขาเคยถ่าย ‘เงา’ เอามาใช้แทนพอร์เทรต (ด้วยเหตุว่าศิลปินคนนั้นเขียนรูปตัวเองทั้งเซ็ตทำ exhibition ฉะนั้น คงไม่จำเป็นต้องถ่ายใบหน้ามาอีก) หนึ่งในหลายภาพที่ผมจำแม่นคือชุดที่เขาถ่ายอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เรือนอินทร์ ถ่ายสมรักษ์ คำสิงห์ ที่ค่ายมวยเฉพาะกิจในไร่โบนันซ่า เขาใหญ่ (ระหว่างมื้อค่ำ เรามองหน้ากันในความหมายว่า ‘พอ’ พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้า เวลาเบียร์เก็บไว้หลังงานเลิก) ถ่ายเป็นเอก รัตนเรือง ที่ final cut (ผมสัมภาษณ์ตอนเขาทำ ‘เรื่องตลก 69’) และภาพชุดที่ว่าด้วยเรื่องราวราตรีบนถนนรัชดาภิเษก งานนั้นเราใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ เข้าออกสถานบันเทิง อาบ อบ นวด คุยกับ sex worker ตีพิมพ์ใน M MAGAZINE ฉบับปฐมฤกษ์

นอกจากภาพ นึกถึงปิงปอง ผมจะนึกถึงความกล้าหาญ ใจถึง ใจใหญ่ แบบที่ผู้ชายพึงจะเป็น

ขณะที่ โจ้ ยุทธนา เป็นผู้ชายในอีกสายพันธุ์หนึ่ง คู่นี้เขาจบเทคนิคกรุงเทพมาด้วยกัน (คนหนึ่งภาคปกติ อีกคนภาคค่ำ) เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าปิงปองเป็นตัวแทนของผู้ชายสายเมือง โจ้เป็นสายป่า ปิงปองสร้างอาณาจักร อยู่ศูนย์กลางโลกทุนธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ โจ้สร้างอาณาจักรใจ เน้นศึกษาโลกเชิงลึกฝึนตน เคี่ยวกรำอยู่กับสติและลมหายใจของตัวเอง

ด้วยหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายภาพ GM โจ้ถ่ายมาหมด ทั้งรถ ทั้งนาฬิกา แฟชั่น สัมภาษณ์บุคคล ภายหลังย้ายไปสังกัด National Geographic ก็เดินทางทั่วสารทิศ เรียกว่าถ่ายมาแล้วทุกเรื่อง ไม่นับผลงาน photo book สี่เล่มสำคัญอย่าง four-tography, LOST TO LIVE, DEMOCRACY และ Inside Jungle (ไม่ง่ายนะครับ ทำหนังสือภาพให้ดีด้วย ขายได้ด้วย)

อธิบายสั้นๆ ว่าในวัยหนุ่ม เขาเดินทางไปดูข้างนอกมาแล้ว ก่อนจะวกกลับสู่โลกภายใน

ระหว่างเรา ผมมักนึกถึงวันเวลาภายในรถของเขา โตโยต้า LN106 สีขาว ที่วิ่งโขยกไปบนซูเปอร์ไฮเวย์ ป่าเขา ถนนชนบท แล้วฉากต่างๆ ก็ไหลมาเป็นสายน้ำ ก่อนไปสู่เป้าหมายคือตัวละครใครสักคน ไม่ว่า พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (ไปล่วงหน้าคืนหนึ่ง กางเต็นท์นอนบนเขาใหญ่ ดวงดาวเต็มฟ้า กีตาร์โปร่ง และเหล้าเลวๆ อีกแบนหนึ่ง มันเป็นคืนที่เราไม่รู้จะลืมยังไงลง) มาโนช พุฒตาล (ลำเขางู ทุ่งใหญ่นเรศวร) ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ (ห้วยขาแข้ง/ เทือกเขาบูโด/ บ้านปากช่อง) แดนอรัญ แสงทอง (สัมภาษณ์ที่บ้านมาแซล บารัง ใกล้วัดดาวดึงส์ จากบ่ายโมงถึงหกโมงเย็น มันเป็นวันหนึ่งที่โจ้ขัดแย้งรุนแรงกับตัวเอง อยากฟังก็อยากฟัง แต่ฟังมากก็ปวดหัว เหนื่อย เครียด หนีออกไปดูดบุหรี่ อัดๆๆ แล้วรีบกลับเข้ามาฟังใหม่ วนเวียนอยู่แบบนี้ /เลิกงานแล้วเราไปหาเบียร์กินที่ร้านเฮมล็อก ในความเงียบ โคตรเงียบ บทสนทนาเป็นสิ่งเกินเลยอย่างแท้จริงในนาทีนี้ นานๆ ครั้งโจ้จะยิ้ม ต่อมากลั้นหัวเราะ พร้อมเอ่ยคำซ้ำๆ ว่า–อาจารย์ใหญ่)

หลังสุดที่เจอกัน โจ้แบกกล้องวิดีโอชุดใหญ่มาทำงานอะไรสักอย่างที่ จ.น่าน เสร็จงานแล้วมานอนบ้านผม สองวันสองคืนที่อยู่ด้วยกัน เหล้ายาไม่แตะ กีตาร์ไม่จับ ก่อนนอนและรุ่งเช้า เขานั่งสมาธิ

 

ด้วยการงานในฐานะพนักงานบริษัท ผมมีประสบการณ์สั้นๆ อีกช่วงหนึ่งกับมิตร–สมิทธิ ธนานิธิโชติ

มิตรเป็นเพื่อนนิว จบรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วมาเอาดีทางการเขียนหนังสือและถ่ายรูป เราพบกันที่ open บางวันขับรถไปทำเรื่องของคุณเดชา ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ไปสัมภาษณ์ แก๊ป ทีโบน ที่บ้านริมทะเลศรีราชา และเดินเตร็ดเตร่ย่านวงเวียน 22 ถ่ายสัมภาษณ์ โจอี้ บอย

งานมิตรมีรายละเอียด เรียบ ลึก บางทีลี้ลับเหมือนบุคลิกของเขา

เห็นจะเป็นเต้–ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ คนเดียว ที่ไม่ได้ร่วมงานกันเพราะต้องทำ หรือเพราะอยู่ออฟฟิศเดียวกัน

เราอยู่สำนักงานเดียวกันจริง แต่คนละฝ่าย และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กระทั่งผมมีโปรเจ็กต์จะลงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขารู้ข่าว และสมัครใจไปด้วย

ที่มาของงานจึงไม่ใช่ความบังเอิญ หากเป็นการเลือก

ตลอดทั้งปี 2006 เรากินนอนอยู่ด้วยกัน มันเป็นการทำงานที่ผมรัก จำฝังใจ ด้วยเพราะเราได้ใช้เวลามากที่สุด ต่อเนื่องยาวนานที่สุด กลับขึ้นมากรุงเทพฯ หลังทำหนังสือ ‘ที่เกิดเหตุ’ แล้วเสร็จ เราเดินอยู่ในม็อบพันธมิตรฯ ด้วยกันอีกหลายเดือน ก่อนจะย้ายไปเสื้อแดง และขึ้นเชียงใหม่ ไปสัมภาษณ์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่บ้านสวนทูนอิน

บ่อยครั้ง–แม้ในเมืองที่ความเป็นความตายวางอยู่ในตะกร้าเดียวกัน ผมคิดเอาเองว่าเต้ก็น่าจะชอบวันคืนที่ปัตตานี บ้านเรือน มัสยิด เสียงสวด สวนยาง แสงแดดและสายฝนที่นั่นมีเสน่ห์ ผู้คนเป็นมิตร

สตูดิโอล้างอัดภาพของเขาจงใจใช้ชื่อว่า ‘ปาตานี’ มันบอกเล่าประวัติศาสตร์ขวบปีนั้นได้ดี เช่นเดียวกับคราวที่ไปทำเรื่องพญาอินทรีบนฟากฟ้าอักษร ในฐานะช่างภาพเก่า นักเขียนใหญ่มีเรื่องเล่าและแง่มุมมากมายถ่ายทอด เต้ตื่นเต้นอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับมอบฟิล์มเก่าแก่ล็อตใหญ่ให้มาปรินต์เพื่อแสดงนิทรรศการภาพถ่ายด้วยกัน

เสียดาย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จากไปเสียก่อน

ไม่ว่าจะอย่างไร งานภาพขาวดำชุดนั้นก็ได้จัดแสดงตามเจตนาที่ people space และต่อมาเดินสายไปโชว์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

คล้ายๆ เป็นกฎเหล็กประจำใจ ผมจะไม่แตะกล้องเลย เวลาร่วมงานกับเพื่อนช่างภาพ

ไม่ใช่อาชีพนั้นข้อหนึ่ง และสอง, บนพื้นที่และเวลาของเพื่อน เราไม่ควรล่วงละเมิด

ผมยืนอยู่อย่างแข็งขันในขอบเขตการงานของตัวเองเท่านั้น เงียบ ถ้าไม่ถาม นิ่งราวก้อนหิน บางคราวไร้รูปเงาราวสายลม

แม้ข้อเท็จจริง ร่วมๆ สิบห้าปี ผมมีคอลัมน์ being there อยู่ในนิตยสาร IMAGE ซึ่งต้องส่งเรื่องและภาพทุกเดือน ไม่ว่าจะอย่างไร โดยข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน ผมไม่เคยนับว่าตัวเองเป็นช่างภาพ ที่ทำอยู่บ้างก็เพียงเพื่อ memorized หรือบันทึกช่วยจำเท่านั้น

ด้วยบังเอิญ–ดังที่กล่าวแล้ว ตลอดชีวิตนักสื่อสารมวลชนของผมล้วนแวดล้อมเคียงข้างด้วยช่างภาพอาชีพ ช่างภาพที่เป็นอาร์ติสต์ ตลอดเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าในชั่วโมงงานหรือวงเบียร์ มากที่สุด เป็นหลักที่สุด ก็คือการคุยเรื่องชีวิต อันมีงานเขียน งานภาพ งานสร้างสรรค์ ศิลปะ เป็นกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ผมก็พลอยถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาจากเพื่อนไปโดยปริยาย

เท่าๆ การเขียนอ่านหนังสือ เท่าๆ กับที่ทำสัมภาษณ์ ผมดูรูป ผมศึกษาภาพถ่าย

จังหวะ อารมณ์ น้ำหนัก สี แสงเงา เรื่องเล่า คอมโพสิชั่น ที่เป็นชีวิตและความสนใจของเพื่อน มันถูกถ่ายเทมาเป็นชีวิตของผมอย่างแนบแน่นเนิ่นนานมาแล้ว

มองอะไร ผมก็เห็นเป็นเฟรม ไม่ถือกล้อง แต่ก็แอบกด จดจำเอาไว้ในใจ

ผมชอบศิลปะภาพถ่าย ชอบ และมั่นใจในรสนิยมตัวเองว่าแยกแยะเป็น ภาพไหนต้องใส่กรอบ ภาพไหนสมควรโยนทิ้งขยะ

 

เมื่อก่อนโน้น นัดงานได้แล้วผมจะแจ้งรายละเอียดต่างๆ นานากับช่างภาพ เพราะต้องทำงานร่วมกัน แต่ด้วยวัย เวลา ระยะทาง ความสนใจ ครอบครัว ความรับผิดชอบ การเปลี่ยนแปลงและเติบโต ก้าวหน้า ฯลฯ สารพัดปัจจัยบังคับให้เราต้องบริหารเงื่อนไข และบางทีต้องตัดสินใจเดินคนดียว เช่น ตอนทำหนังสือ ‘portrait ธนาธร’ กระทั่งบทสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ชิ้นล่าสุด ที่ผมทำส่งให้ waymagazine

ไม่ว่าจะยุ่งยากหรือหนักหนาแค่ไหน ‘เรื่อง’ ไม่มีปัญหาหรอก นั่นเป็นสายงานโดยตรงของผม แต่ ‘ภาพ’ ซึ่งปกติจะเป็นงานของเพื่อน เที่ยวนี้ผมต้องควบสองบทบาท ถามเอง ถ่ายเอง

เหมือนนกที่บินด้วยปีกข้างเดียว

ชีวิตเป็นเรื่องยากเสมอ เมื่อเราเดินเข้าไปในที่ไม่คุ้นชิน แต่จำเป็นต้องไป จำเป็นต้องผ่านมันให้ได้

จะเอา social distancing หรือจะเอาโลงศพ บางสถานการณ์ตัวเลือกเราก็มีเท่านี้

ออกจากฝูงมาแล้วต้องฝึกฝนวิถีสัตว์โทนไม่มีใครจูงมือกันเดินได้ตลอดเวลา

โควิด-19 สอนเราเรื่องระยะห่าง เช่นเดียวกับหลายๆ ภาพของเพื่อนที่เตือนผมว่า ระยะเป็นเรื่องใหญ่ ความใกล้ไกลมีความหมายและสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความงามความจริง

กับภาพ และเพื่อให้ได้ภาพ ผมว่าผมพอเข้าใจ แม้เป็นมือใหม่ ไม่ถนัด และยังไงก็ไม่คิดจะเอาดี

กับระยะต่างหาก ที่พอห่างแล้วมันหาจุดโฟกัสยาก ทั้งกับตัวเอง เพื่อน และเกมที่ต้องเล่น

ระยะนี่แหละที่เป็นสุดยอดของศิลปศาสตร์ และชี้วัดว่าเราเป็นคนแบบไหนแข็งแรงหรืออ่อนแอแน่วแน่ หรือแท้จริงเปราะบาง ห่างนิดเดียวก็จะเป็นจะตายซึ่งผมว่าตายเปล่า ถ้าไม่หัดโอบกอดตัวเอง

ทางเดียว–เท่าที่นึกออก มีทางเดียวเท่านั้นที่น่าจะรอดคือการเก็บเกี่ยว และเร่งค้นคว้า ศึกษา เรียนรู้

ในทุกเวลานาทีระหว่างที่ยังอยู่ด้วยกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save