fbpx
โปรดอย่ากักขังตัวเองไว้ด้วยความรัก

โปรดอย่ากักขังตัวเองไว้ด้วยความรัก

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ไม่น่าจะมีใครร่ำรวยขึ้น

เข้าใจว่าอย่างนั้น มั่นใจว่าอย่างนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้น มีจริง จับต้องได้โดยมือเป็นร้อยๆ มือ คือเทศกาลบทกวี ประจำปี ที่น่าน ซึ่งผ่านครั้งแรกและครั้งที่สอง ด้วยผู้ร่วมงานและกวีทั่วทุกภูมิภาคจำนวนมากขึ้น ที่ตั้งใจเดินทางมาฟัง มาอ่าน มาแจม มาแชร์เรื่องเล่า ทัศนะ ประสบการณ์ ผ่านสุนทรียศาสตร์เบาบาง ห่างไกลจากกระแสนิยม

หลายคนนั่งรถนับสิบชั่วโมง เพื่อมาอ่านลายมือโย้เย้ขีดฆ่าบนแผ่นกระดาษเพียงสองนาที

หลายคนยอมจ่ายหลายร้อยหลายพันบาท เพื่อมาระเบิดความในใจเพียงหนึ่งนาที

อีกบางคน แม้กับเวลาหน้าเวทีเพียงเท่านั้น เขาและเธอมีพ่อแม่พี่น้องหลายชีวิตติดตามมาจากแดนไกล เพื่อร่วมบรรยากาศ ร่วมเป็นสักขีพยานกวี

ในโลกแห่งทุน นี่เป็นการลงทุนที่โง่เขลาอย่างแท้จริง

มองโดยผิวเผิน นี่ไยจึงมิใช่การรวมตัวกันของ ‘ปัญญา(อ่อน)ชน’ ที่มีชีวิตราวอาทิตย์อัสดง ผู้ที่ยังลุ่มหลงหลับใหลและไม่รู้สึกตัวในความมืดบอดของตัวเอง

ความเชื่อของท่านเป็นของท่าน

ไม่มีดวงดาวบนฟ้า ไม่เคยมี–ในฐานะคนอาบน้ำร้อนมาก่อน (และไม่เคยอาบน้ำเย็น) ท่านอาจเสนอทัศนะอะไรก็ได้ ตามเนื้อผ้า ตามสายตา

ก็ถ้าสายตาของท่านมองแล้วมันไม่มี

มีสิ–บางเราพยายามส่งเสียงถกเถียงคัดง้าง

‘มี และดาวบางดวงก็สุกสกาว เต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง’

 

เงินและความร่ำรวยตัดออกไป นี่ไม่ใช่เส้นชัยในเกมนี้

การลงทุนในโลกมีหลายชนิด

กับตัวเอง ผมคิดถึงพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อคนทำงานสร้างสรรค์ จุดเริ่มต้นของ ‘น่านโปเอซี’ มีพื้นฐานที่มาจากจุดนี้ เมืองที่ไม่มีสเปซ ไม่มีพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นเมืองไม่ได้ ประเทศที่ไม่เปิดให้พลเมืองคิด อ่าน พูด มันเป็นประเทศไม่ได้

เราไม่ต้องการป่าช้า

เราต้องการบ้านเมืองที่มีความเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นประเทศจริงๆ ประเทศปกติที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพ

เมื่อมองไม่เห็น เมื่อความคาดหวังในสิ่งปกติธรรมดาถูกทำให้สิ้นหวัง ผมปลุกเร้าตัวเองให้ออกแรง ไม่เคยก็ทดลอง ทำไม่เป็นก็ฝึกหัด หนักหนาเกินตัว และแบกรับไม่ไหวก็หาคนช่วย

เพื่อนที่น่าน คือ ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ช่วยได้มาก โดยเฉพาะเรื่องเอกสารและการวิ่งหาทุนรอน นอกเหนือจากสถานที่ซึ่งเหมือนเซ็ตเหมือนสร้าง และออกแบบไว้เพื่องาน ‘เปิด-ปล่อย-พบ-ปะ’ ในท่วงทำนองแบบนี้

เรืองรอง รุ่งรัศมี ให้ทัศนะ ส่งคลิปนานาชาติมาให้ศึกษา ว่าอารยประเทศเขาทำกันอย่างไร

วาด รวี รับปากทันทีเมื่อเอ่ยปากเชื้อเชิญ สปีชงานเปิดบนเวที ‘น่านโปเอซี’ ครั้งแรก (18.11.2018) ชื่อ ‘บทกวีคือการทรยศ’ คือความงดงาม กล้าหาญ แหลมคม สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและการเพอร์ฟอร์ม พอครั้งที่สอง เขาช่วยมาบอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อ ‘ทำขวัญกวี’ ในค่ายเขียนอ่านบทกวีร่วมสมัย ที่โรงเรียนปัว

เราเห็นพ้องกันว่า ไม่รู้อดีต ย่อมไม่เข้าใจปัจจุบัน ไม่ถ่องแท้ปัจจุบัน ไหนเลยจะเห็นหนทางเดินสู่อนาคต

เราเห็นพ้องกันอีกว่า ในโลกของการอ่านเขียน ถ้าไร้หางเสือในหลักคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพเสียแล้ว กวีอาจมีกระดูกสันหลังคดโค้งผุกร่อน ง่ายต่อการถูกล่ามโซ่ และที่สุด เมื่อได้รับเศษชิ้นเนื้อจากระบบอุปถัมภ์ เจตจำนงเสรีจากครรภ์มารดาจะค่อยเคลื่อนคล้อยถอยหลังสู่สภาวะสัตว์เชื่อง ที่ชินกับการสยบยอมหมอบกราบ

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนไทยที่ลี้ภัยอยู่ประเทศฝรั่งเศส (หลักฐานโจ่งแจ้งแสดงถึงความเสื่อมทรามป่าเถื่อนในแผ่นดินแม่) เจ้าของหนังสือ ‘กวีปราบกบฎ’ ส่งผลงานบทกวีมาร่วมแจมทั้งสองครั้ง

สมพงค์ ศิวิโรจน์ มือเขียนเพลงชั้นเซียน เจ้าของผลงานโดดเด่นตราตรึงอย่าง คนเช็ดเงา, ถนนแปลกแยก, เรือรักกระดาษ, หัวใจละเหี่ย, หัวใจพรือโฉ้, วิถีคนจร, ไปไกล, สำนึก, ช้าง, ดาวจางๆ น้ำค้าง น้ำตา, หมาล่าเนื้อ, เด็กน้อย, ชะตากรรม, หมาหยอกไก่ ฯลฯ เขียนเพลง ‘นี่คือกวี’ ให้ใช้ประจำงาน เขียนให้ฟรีๆ ทั้งที่ทั้งชีวิตไม่เคยทำงานตามโจทย์ หรือเขียนตามคำร้องขอของใคร

สุมาลี เอกชนนิยม เดินทางมาดูแลนด์สเคปที่น่านหลายครั้งหลายครา ในต่างฤดูกาล ก่อนเขียนสีน้ำชุด ‘เพราะเธอคือบทกวีของชีวิต’ ร่วมแสดงในงานครั้งแรก และกับครั้งที่สอง เธอเขียนอะครีลิก ชุด ’empty and full’ แสดงร่วมกับ ภัทรุตม์ สายะเสวี อาร์ติสต์เมืองกรุงที่ย้ายมาอยู่น่านนานปี

ศิลปินทั้งสองไม่ใช่คนดัง กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นชายขอบแห่งวงการศิลปะ ทว่าเส้นสีลีลาน่าสนใจ น่าเฝ้ามอง น่ายกย่องเชิดชู ด้วยเนื้องานที่กรำงานหนักมาทั้งชีวิต

คุยกับเขาและเธอเมื่อไรก็สนุก อยู่ใกล้เมื่อไรก็คล้ายถูกปลุกเร้าให้กระตือรือร้น ทำงาน ทำงาน และร่ายรำไปกับชีวิต

 

ธิติ อิสรสารถี รู้มือกันดี กวีของเขาเอาอยู่ทั้งเรื่องและรส ทั้งสบถและปลุกปลอบ ปีก่อนลูกป่วย มาร่วมงานไม่ได้ ปีนี้หอบทั้งลูกทั้งเมียมาน่าน ความเรียงในร่างเงาบทกวีชิ้นที่เขาเลือกมาอ่าน ฟังว่าบางเราถึงกับหลั่งน้ำตา ยิ่งเมื่อถูกตบหลังโอบไหล่หลังวรรคสุดท้ายจบด้วยฮาร์โมนิก้าและเสียงร้องของ ธีร์ อันมัย

วนะ วรรลยางกูร ปีก่อนมาในฐานะลูกชายนักเขียนลี้ภัย ปีนี้ยืนเด่นสง่าด้วยลำแข้ง ฉากหลังวนะคือศิลปะในรั้วเขียวมะกอกศิลปากร คล้ายๆ สุวรรณี สุคนธา, วานิช จรุงกิจอนันต์, อรุณ วัชระสวัสดิ์ กระทั่ง อุทิศ เหมะมูล แต่เบื้องหน้าวันนี้ เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบทกวี และยิ่งเป็น ยิ่งแกร่ง เป็นเสียงใหม่ ต้นใหม่ พ้นกิ่งก้านสาขาบารมีพ่อ (คล้ายๆ น้องสาว วจนา วรรลยางกูร ที่หยั่งรากระบัดใบ โตวันโตคืนในเส้นทางงานเขียนงานข่าว)

เมฆ’ ครึ่งฟ้า ดุดัน เข้มข้น และหนักแน่นไปหมด ทั้งรูป รส ลีลา การอยู่หน้าเวที

ผมไม่รู้จักเขามาก่อน รู้แค่งาน คัดเลือกจากงาน การค้นพบ เมฆ’ ครึ่งฟ้า คือการค้นพบบลูไดมอนด์ที่หายสาปสูญไปนาน เพชรเม็ดนั้นอยู่ที่นี่ เพชรเม็ดนี้ใครก็คว้าขโมยไปไม่ได้ ตรงกันข้าม ระวังค้อนในบทกวีเขาไว้ให้ดี ทุกๆ วัน มันกำลังเดินทางไปทุบหัวคุณ

อนุชา วรรณาสุนทรไชย คือนิยามของความหนุ่ม

เขาโผล่ออกมาจากความมืด หรืออาจบางทีดวงตาของผมเพิ่งค้นพบแสงสว่าง เสียงเมามายของเขาโหยแผ่ว บางคืนกู่ตะโกน ทุกถ้อยคำปลดปล่อย หลั่งไหลออกมาจากความจริงใจของผู้ชาย และความหนุ่ม

ผมไม่เคยรู้จักเขามาก่อน และเมื่อรู้ สุ้มเสียงและแววตาอ่อนโยนดิบโศกของเขาก็ไม่เคยหายไปไหน

ซะการีย์ยา อมตยา เจอกันช่วงหนึ่ง ตอนคณะนักเขียนแสงสำนึกร่วมรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ถัดจากนั้นไม่นาน เขาลงนราธิวาสภูมิลำเนา ผมลบตัวเองออกจากซอกหลืบเมืองหลวง สู่ขุนเขาทางภาคเหนือ มาเจอกันอีกทีเพราะบทกวีอย่างแท้จริง และเจ้าของสาธารณรัฐกวีนิพนธ์ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาอยู่ เขาเป็น เขาใช้ชีวิตด้วยกวี เป็นศิลปินที่มีใบหน้าเฉพาะ เป็นคนที่ทำให้กวีไร้ฉันทลักษณ์มีที่อยู่ที่ยืนแข็งแรงขึ้นในเมืองไทย

ผการัมย์ งามธันวา และ อรุณรุ่ง สัตย์สวี สองคนสองคมในแบรนด์สุดสะแนน เชียงใหม่ เป็นดูโอที่จับกวีนิพนธ์มัดไว้ในบทเพลงได้แน่นเหนียวมีเสน่ห์ งานอย่าง ‘ใบไม้’ นั้น เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากนิ่งเงียบ บีบคลึงแก้วเบียร์ และก้มหัวให้

ปีนี้ ผการัมย์มาเดี่ยว เพราะอรุณรุ่งติดภารกิจ เพลงกีตาร์และบทกวีของเขาทำให้เราคิดถึงการเดินทางยุคจรม้า แรมคืนกลางท้องทุ่ง ลำธาร

sunny กวีเมียนมาร์พเนจรยิ่งตอกย้ำภาพเช่นนั้น ด้วยบทกวีโดยแท้จริงที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ ไม่มีสิ่งใดสำคัญกว่านั้น ไม่มีเรื่องใดมีความหมายกว่านี้ ในช่วงชีวิตซมซาน sunny เกือบจะฆ่าตัวตายสองครั้ง เขาบอกว่าเขารอด เพราะบทกวี

ผมยินดีที่เขามาร่วมงานกับเราสองครั้งสองครา (ครั้งนี้ไปค่ายที่ อ.ปัวด้วย)

ยินดี ที่น่านอาจจะกลายเป็นบ้านใหม่..

 

หลายคนเพิ่งมาครั้งแรก ยังแปลกใหม่ต่อกัน ไม่ว่า เพตรา วิเศษรังสี, ปริยา จันทร์เคียว, ธรรมรุจา ธรรมสโรช, ฟ้า เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, กฤษณา หรนจันทร์, อมต โชติพันธุ์, มูบารัด สาและ, รัฐพล เพชรบดี, สันติภาพ วัฒนะ, ปภาตพงศ์ วันภักดี ฯลฯ กระทั่ง เพ็ญ ภัคตะ ที่ได้ยินชื่อมานาน แต่ตัวเป็นๆ ก็เห็นไม่บ่อย ยิ่งเวลาอ่านบทกวี

บางคนไม่เคยเห็นชื่อเลย แต่เมื่อเจอตัว สัมผัสการทำงานแล้วจำได้ เป็นคนที่น่าติดตาม น่าคบหา นึกไม่ออกจริงๆ ว่าถ้าไม่มีงานนี้ เราจะไปตามหาตัวเขาและเธอเจอได้ที่ไหน

รชา พรมภวังค์ คลาดเคลื่อนกันมาตลอด เขาสนิทกับ วาด รวี หมัดหนักพอกัน เราเกือบๆ จะได้ร่วมเวทีในวาระหนึ่ง แต่ไม่เคย ควรจะได้คุยกันลึกๆ เน้นๆ มาเนิ่นนาน แต่ไม่ได้ ผมเพิ่งรู้จักเขาที่งานนี้ ช่วงเวลาสั้นๆ บนเวที และอีกช่วงเวลาสั้นๆ ในวงเบียร์ สำหรับผม รชาเป็นสุภาพบุรุษ มีบุคลิกของคนเป็นเพื่อนที่พร้อมจะพิงหลังชน หนังสือรวมกวีนิพนธ์ ‘ย่ำรุ่งอันยาวนาน’ ที่เพิ่งได้อ่าน (เชื่องช้าอีกตามเคย) เป็นงานที่ผมหลงรัก ภาคภูมิใจที่ได้รัก ผมเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนไร้หัวใจไปแล้วด้วยซ้ำ (‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ ของ ปราบดา หยุ่น คือสิ่งกระตุ้นเตือนก่อนหน้านี้ ว่า–ยังมีๆๆ)

ส่วน โตมร ศุขปรีชา เป็นเพื่อนกันมาราวยี่สิบปี ยินดีที่ขอบทกวีภาษาอังกฤษไป โตมรก็จัดมาให้ ด้วยงานของยักษ์ใหญ่ และการอ่านที่เพลิดเพลินลงตัว

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล จากค่าย 101 รับหน้าที่พิธีกรประจำงาน เป็นนักเตะสารพัดประโยชน์ สั่งวันนี้ เอาวันนี้ เอาแบบดีๆ ด้วย

อินทรชัย พาณิชกุล มาช่วยตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาปีนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นขวัญใจนักเรียนและแม่ยกเมืองน่านไปเรียบร้อย

วารีรัตน์ ยินดี ถ่ายภาพ ตัดต่อ ขับรถ เป็นพี่เลี้ยงค่าย ร่วมอ่านบทกวี เห็นกันมาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมฯ เป็นผลผลิตของชมรมคนรักตัวอักษรศรีน่าน บัดนี้เป็นครูภาษาไทยแรงเหลือ วงวารกว้างไกล โยงใยหลากกลุ่ม

ก่อนจะเกิดเป็นงานสักงาน เราต้องการคนมากมาย หลากหลายความคิดความถนัด นี่แค่งานเล็กๆ ห่างไกลจากบางกอกกว่า 700 กิโลเมตร

ก่อนจะเกิดเป็นงานสักงาน เราต้องผ่านบทสนทนา ปะทะทัศนะ โอน ถ่าย แลกเปลี่ยนวิถี มุมมอง ใช้เวลาสั้นบ้าง ยาวบ้าง จัดการง่ายบ้าง ยากบ้าง กระทั่งเห็นพ้อง และเห็นแตกต่าง ไม่ลงรอย..

นี่แค่งานเล็กๆ งานหนึ่ง

เราต้องพร้อมจะศึกษา ทำความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ ตระหนักในความหลากหลายของโลก

การบริโภคความหลากหลายคือความจำเป็นของชีวิต

 

เมื่อวานผมจัดงานน่านโปเอซี

เหนื่อยแสนเหนื่อย เพื่อนพ้องทีมงานทุกคนก็เหน็ดเหนื่อยไม่แพ้กัน แต่สนุก ดีใจที่งานสำเร็จลุล่วง ดีใจที่สุดคือได้เห็นคนหนุ่มสาวทั่วสารทิศมาพบเจอแลกเปลี่ยนเรื่องเล่ากัน มันเป็นโมเมนต์ที่ดี อย่าถามเลยว่าเมามั้ย เอาว่าชอบมั้ยดีกว่า เป็นค่ำคืนที่เราจะหลงลืมได้มั้ยดีกว่า

“ปีหน้า ถ้าจัดอีก ขออาสามาเป็นคนเก็บขยะนะ พูดจริงๆ ไม่ต้องอ่านบทกวีก็ได้ อยากมาๆ” ใครบางคนเปิดใจ ขณะงานเลิกรานานแล้ว แต่ยังไม่มีการแยกย้าย

ดูความน่ารักของมนุษย์

 

อีกแล้วละสิ นี่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเป็นนักสัมภาษณ์เลยใช่ไหม

ใช่, ไม่เกี่ยวหรอก ถ้ามองเร็วๆ ฉาบฉวย ผิวเผิน

ผมคิดว่าแท้จริงนี่คือรากเลยด้วยซ้ำ รากแก้วของนักสัมภาษณ์คือการหยั่งลึกลงไปในความหลากหลายของมนุษย์ มุมานะเสพงานเขียนทุกชนิด ไม่ว่าข่าวสาร เรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย บทกวี ความสนใจ ฝักใฝ่ในศาสตร์ศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นเรื่องดีแน่ๆ แต่–ได้โปรดอย่ากักขังตัวเองไว้ด้วยความรัก

พังพรมแดนเดิมๆ ออกไป

เปิดหูฟังเสียงใหม่ๆ เปิดใจพบผู้คนใหม่ๆ

เก้าอี้ที่วางอยู่หน้าเวที หรือไมค์ตัวที่กวีทุกคนหยิบถือ เบื้องหลังข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มีหยาดเหงื่อ มีการลงแรง ออกแบบ จัดวาง เช็ดถู เสื่อที่ปูบนสนามหญ้า เสาธงไม้ไผ่ ป้ายกระดาษสา ข้าวหน้าเป็ด จาน ชาม แก้วเบียร์ ก้นบุหรี่ รอยรองเท้าบนพื้นห้องน้ำ ฯลฯ

พาตัวเองออกมาเดินบนโลกที่หลากหลาย จับทุกรายละเอียด แล้วตั้งคำถาม

นี่อาจไม่ใช่กวี นี่คือนักสัมภาษณ์.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save