ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
1
หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึงครึ่งปี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็เซ็นอนุมัติแผนแม่บทระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Intercity Motorway) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 วางแผนไว้กว่า 13 เส้นทาง เป็นระยะทาง 4,150 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 472,360 ล้านบาท (มูลค่า ปี 2540) ระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – 2559 เพื่อเชื่อมหัวเมืองใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน
มาถึงวันนี้ปี 2562 จากที่หมายมั่นไว้ 13 เส้นทาง สร้างสำเร็จไปเพียง 2 เส้นทางเท่านั้น คือ สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี ระยะทาง 82 กิโลเมตร และ สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก (ช่วงบางปะอิน – บางพลี) ระยะทาง 64 กิโลเมตร แต่ก็ยังมีอีกหลายเส้นทางที่กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการ
ระยะเวลาผ่านมากว่า 20 ปี เพราะอะไรกรมทางหลวงจึงไม่อาจจัดการสร้างถนนให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ สำนักแผนงาน กรมทางหลวง เขียนอธิบายเหตุผลไว้ว่า “แต่ละเส้นทางจำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนดังกล่าวไปในปีเดียวกัน”
งบประมาณลงทุนสูงและภาวะเศรษฐกิจใช่แน่ๆ แต่เรื่องที่ทางการไม่เคยเล่าก็คือ ถนนหลายเส้นขีดผ่าน ‘คน’ ไป จนลืมมองเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่บนพื้นที่มานานแสนนาน และก็เพราะแบบนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่การวางแผนแม่บทขนาดใหญ่ไม่สามารถทาบได้พอดีกับชีวิตคน จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งเรื่องสร้างถนนและเวนคืนที่ดินมายาวนานหลายสิบปี
เมื่อ 13 เส้นทางยังทำไม่ได้ทั้งหมด กรมทางหลวงเลยขยับมากำหนดแผนการก่อสร้าง ‘ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในระยะเร่งด่วนที่มีลำดับความสำคัญสูง’ จำนวน 5 เส้นทาง ที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ภายในรัศมี 250 กิโลเมตร ในช่วงปี 2556-2563
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ เป็นหนึ่งในแผนการนั้น มีระยะทาง 119 กิโลเมตร งบลงทุนกว่า 80,600 ล้านบาท ในแผนการสร้าง ถนนเส้นนี้จะเชื่อมจากนครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ตัดผ่านเข้าจังหวัดเพชรบุรี ผ่านอำเภอเขาย้อย อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด สิ้นสุดที่อำเภอท่ายาง โดยตัวโครงการที่สมบูรณ์ตั้งใจจะเชื่อมถนนตั้งแต่นครปฐมไปจนถึงสงขลา จนมีอีกชื่อเรียกว่า ‘มอเตอร์เวย์สายใต้’

แม้จะดูเป็นเส้นเลือดใหญ่เชื่อมภูมิภาคที่น่าตื่นตา แต่ขณะเดียวกันถนนสายนครปฐม-ชะอำ ในช่วงหลักกิโลเมตรที่ 73 – 119 ของถนน ก็ตัดผ่านเส้นเลือดใหญ่ของคนเมืองเพชร คือสวนตาลและบ้านเรือนของพวกเขา เป็นระยะทางรวม 46 กิโลเมตร
สวนตาลที่มีมาตั้งแต่รุ่นอำแดง วิถีชีวิตที่สืบเนื่องมากว่าร้อยปี กำลังจะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง และมอเตอร์ไซค์ที่เคยดังแต๊กๆๆ จากหมู่บ้านสู่สวนตาลในระยะทางไม่ถึงกิโลฯ ก็จำเป็นต้องขับอ้อมไกลขึ้น หากมีมอเตอร์เวย์มากั้นไว้
2
ณ ตอนนี้ถนนสายนครปฐม-ชะอำ ยังเป็นรูปเป็นร่างแค่ในกระดาษ แต่ความร้อนใจของชาวบ้านนั้นเกิดขึ้นจริงแล้ว
ภาพทุ่งนาป่าตาลไกลสุดลูกหูลูกตาและเสียงกระดิ่งวัว คือภาพชีวิตของชาวเพชรบุรี และแดดเช้าวันนั้นยังปราณี แม้เราจะอยู่กลางแจ้งก็ยังพอเดินไปคุยไปได้
“ผมจะพาไปดูหมุดที่เขามาปักไว้” ลุงสุรพล ชาวบ้านตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด พูดกับเราด้วยสำเนียงเพชรบุรี ในวันที่สื่อมวลชนลงพื้นที่ถามไถ่ความเดือดร้อน เขาสวมหมวกแก๊ปสีแดงและเสื้อ รด. สีเขียวซีดแขนยาว อย่างคนพร้อมทำงานกลางแจ้ง เราเดินไปบนคันนาเล็กแคบ หลีกทางให้มอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่าน 2-3 รอบ ก่อนที่ลุงสุรพลจะหยุด แล้วชี้ลงไปยังหมุดปูนที่ซ่อนตัวอย่างแปลกปลอมบนนาข้าว


“ตรงนี้แหละศูนย์กลางที่เขาจะทำถนน ถ้าตัดมาจริงๆ พื้นที่กว่า 80 ไร่จะเสียหายทั้งหมด แล้วเป็นที่ของชาวบ้านทั้งนั้น หมดเลยที่ทำกิน” ระหว่างนั้นก็มีชาวบ้านหลายคนเดินมาพูดคุยด้วย ว่าด้วยความเดือดเนื้อร้อนใจจากการโดนเวนคืนที่ดิน
ใจความสำคัญคืออาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำตาล ปลูกข้าว และเลี้ยงวัว พื้นที่ทุ่งนาป่าตาลที่เรายืนคุยกันอยู่นี้ จึงเป็นทั้งชีวิตและวิญญาณของคนที่นี่ ไม่ใช่แค่ถนนจะกวาดเอาข้าวและตาลออกไปเท่านั้น แต่ยังตัดแยกระหว่างหมู่บ้านกับทุ่งนา ทำให้การคมนาคมที่เคยสะดวกสบายหายไปด้วย
“คิดไม่ออกเลยว่าจะเอาวัวเดินมาเลี้ยงที่ทุ่งยังไง ถ้าเขาตัดถนน”
“เขาก็สร้างอุโมงค์ไง”
“เขาจะสร้างให้รึเปล่าล่ะ”
นี่คือเสียงถกเถียงกันระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง ณ ตอนนี้ยังมีคอกวัว และกระท่อมเคี่ยวน้ำตาลอยู่กลางบริเวณทุ่ง แม้เจ้าของจะลดปริมาณการเคี่ยวลงหลังจากสามีเสียชีวิต แต่ทุกวันนี้ก็ยังขึ้นตาล เลี้ยงชีพด้วยการขายน้ำตาล และทำไร่ทำนา แน่นอนว่าหากมีถนนตัดผ่านมาย่อมส่งผลต่อรายได้และชีวิต

ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องคมนาคมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องน้ำท่วมที่นาด้วย เพราะเมื่อถนนตัดในพื้นที่สูงกว่าที่นาก็จะกลายเป็นเขื่อนขนาดย่อมที่กั้นทางเดินน้ำไว้ กลายเป็นน้ำขังไม่มีทางระบายตามธรรมชาติ ยิ่งเมื่อวิถีชีวิตผูกพันกับน้ำ ฟ้า อากาศ เรื่องเหล่านี้ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ชนิดคอขาดบาดตาย
ลุงเงิน ศรีแจ้ อายุ 83 ปีที่ทำนาและขึ้นตาลมาทั้งชีวิต บอกว่าถ้าหมดที่ทำกินเขาก็ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อได้แล้ว
“ลุงแกบอกว่าจะทำตาลไปจนถึงอายุ 115 ปี” คุณลุงอีกคนพูดแทรกด้วยรอยยิ้ม
“แต่ก่อนผมขึ้นตาลเองนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหว ต้องจ้าง ขึ้นทีนึงก็ 50 บาท” ลุงเงินเล่าต่อด้วยความภูมิอกภูมิใจ
“ขึ้นอย่างเดียวเหรอคะ” ฉันถาม
“ไม่สิ ขึ้นแล้วต้องลงด้วย”
เสียงหัวเราะของเราดังกลบเสียงกระดิ่งวัวไปครู่ใหญ่

3

ขยับไปไม่ไกลจากบ้านไร่สะท้อน ก็มีชาวบ้านไร่หัวโลดที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการถนนเส้นนี้เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในบริเวณที่จะสร้างเป็นจุดพักรถ คาดการณ์ว่าจะใช้พื้นที่กว่า 60 ไร่ สิ่งที่น่ากังวลคือบริเวณนั้นเป็นที่ชุ่มน้ำ ฝนตกเมื่อไหร่ น้ำท่วมเมื่อนั้น และยิ่งหากมีการสร้างจุดพักรถทับไป น้ำที่เคยท่วมและระบายออกตามวัฏจักร ก็จะท่วมที่นาและบ้านคนนานกว่าเดิม มงคล อินงาม หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านไร่หัวโลดตั้งคำถามว่า ถนนเส้นนี้เอื้อผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ เพราะสุดถนนนั้นเลี้ยวเข้าชะอำซึ่งเป็นที่อยู่ของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
“คุณบอกว่าจะทำเพื่อเชื่อมไปภาคใต้ แล้วจะเลี้ยวเข้าชะอำทำไม ทำไมคุณไม่ไปใช้ทางเพชรเกษมที่มีอยู่เดิม หรือถนนสาย 3510 ที่ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน”
ถนนสาย 3510 คือเส้นที่ตัดผ่านอำเภอปากท่อ หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน และยางชุม ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นถนนเส้นขนานกันกับโครงการสายนครปฐม-ชะอำ เป็นข้อเสนอที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องมาอย่างยาวนาน
“เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่ก็ต้องมาดูกันว่ามันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องสร้างถนนเส้นใหม่ทั้งที่เส้นเดิมก็มีอยู่แล้ว” มงคลกล่าวต่อ
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยยื่นหนังสือไปที่ อบต. ไร่สะท้อนเพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมทางหลวง จนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 มีจดหมายตอบกลับจากสำนักงานจังหวัดเพชรบุรีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ หลังจากที่ EIA ฉบับเดิมเมื่อปี 2555 หมดอายุไปแล้ว และยังอธิบายถึงเรื่องใช้ถนนเส้นอื่นที่เป็นข้อเสนอของชาวบ้านไว้ว่า
สำหรับข้อเสนอที่ให้พิจารณาทางเลือกตามแนวเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 3510 กรมทางหลวงได้เคยพิจารณาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2552 ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาถ้ำณรงค์ ป่าหนองช้างตาย และป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม การกำหนดแนวทางเลือกถึงได้พิจารณาหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหวดังกล่าว รวมถึงข้อเสนอที่ให้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) นั้น เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 มีรัศมีโค้งต่ำกว่ามาตรฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การปรับรัศมีโค้งให้ได้ตามมาตรฐานต้องทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนตามแนวเส้นทางหลวงหมายเลข 4 เพิ่มเติม
“นั่นเป็นเรื่องที่รัฐต้องคิดและแก้ไข ไม่ใช่โยนความเดือดร้อนมาที่พวกเรา” มงคลกล่าวตอบโต้คำอธิบายของทางการด้วยเสียงมั่นคงหนักแน่น

4
จุดตัดระหว่างถนนเพชรเกษมกับมอเตอร์เวย์สายใต้ อยู่บริเวณบ้านหัวดอน ตำบลหัวสะพาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งถ้ามีการสร้างถนนมา หมู่บ้านบริเวณนี้จะโดนกวาดไปทั้งหมด
“ความจริงเขาจะมาปักหมุดตรงกลางหมู่บ้าน แต่พวกเราไล่ให้ไปปักที่อื่น หมุดเลยปักอยู่ข้างถนน” ประจิน อุ่นโรจน์ ตัวแทนชาวบ้านหัวดอนเล่าให้ฟัง ก่อนหน้านี้มีคนพยายามจะเข้ามาวัดพื้นที่ในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านก็รวมกันคัดค้านไม่ให้เข้ามา พวกเขามองว่าทางการไม่มีความจริงใจที่จะเจรจาเรื่องเวนคืนที่ดิน และไม่เคยแจ้งว่าจะส่งคนเข้ามาในบริเวณหมู่บ้าน
เราคุยกันบนลานดิน ในวันที่ถนนยังไม่ตัดผ่าน ต้นไม้ยังทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าโครงการอนุมติสร้างเมื่อไหร่ บ้านหลายสิบหลังพร้อมต้นไม้นี้จะหายวับไปกับตา
“จะให้ไปอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่นี่กันมาหลายสิบปี จนมาถึงรุ่นหลานแล้ว” เสียงของคุณยายเชื่อม สายนาก เจ้าของบ้านไม้ใต้ถุนสูงที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เล่าให้เราฟัง — และเมื่อจะพูดมากกว่านั้น น้ำตาก็จุกที่คอ จนต้องหยุดพูดเพื่อปาดน้ำตา
เสียงไก่ร้องกะต๊ากดังกลบเสียงร้องไห้ไปครู่ใหญ่

5
บ่ายวันนั้น กรมทางหลวงส่งตัวแทนมาพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร ท่ามกลางเสียงเรียกร้องและร่ำไห้ของชาวบ้าน ทางการยังยืนยันว่าพร้อมรับฟังทุกปัญหา และเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์และที่ทำกินของชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่มีแผนจะระงับโครงการแต่อย่างใด บอกเพียงว่าระหว่างนี้กรมทางหลวงว่าจ้างให้ที่ปรึกษาโครงการจัดทำ EIA ฉบับใหม่ และโครงการนี้ยังไม่ผ่านมติ ครม.
น่าคิดว่า หากจะต้องเลือกกระทบอะไรสักอย่าง ระหว่างพื้นที่ป่า อาคารพาณิชย์ข้างถนนเพชรเกษม และทุ่งนาป่าตาล เดาได้ไม่ยากว่าทางการจะเลือกอะไร ถึงแม้เสียงตะโกนจะดังไปถึงพวกเขาแล้วก็ตาม
คำถามก็คือ เราควรมีทางเลือกที่ฉลาดพอจะกระทบใครให้น้อยที่สุดหรือเปล่า