fbpx

ไม่ตรงปก: ว่าด้วยร่างทรงของเราบนอินสตาแกรม

1

ปีที่ผ่านมา (2021) ภาพถ่ายของโคลอี้ คาแดเชียน (Khloé Kardashian) ในชุดบิกินีที่ถูกโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ตเป็นที่พูดถึงอย่างมาก

ไม่ใช่เพราะความเซ็กซี่ของเธอ แต่เพราะรูปภาพนั้นโพสต์โดยที่เธอไม่ยินยอม เป็นรูปที่เธอบอกว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะรูปนั้นยังไม่ได้ ‘แต่งรูป’

กลายเป็นว่าประเด็น ‘ยังไม่ได้แต่งรูป’ เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าชุดบิกินีเสียอีก เธอบอกผ่านประชาสัมพันธ์ของเธอว่า รู้สึกละอายกับร่างกายที่เป็นธรรมชาติเกินไปและไม่ต้องการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์

ถ้าหากคุณเป็นแฟนที่ตามดูเรียลลิตีของครอบครัวนี้ใน เดอะคาร์แดเชียน (The Kardashian) คงพอทราบว่า โคลอี้เป็นคนที่ไม่ชอบถูกจ้องมองต่อหน้าฝูงชน ไม่ชอบเดินพรมแดง หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่อีกมุมหนึ่งหากคิดว่านี่คืออินสตาแกรมของคนดังอันดับ 10 ของโลก ที่มีผู้ติดตามมากที่สุด (ราว 257 ล้านแอคเคานต์) อยู่ต่อหน้ากล้องมาตั้งแต่ยังเด็ก และสร้างฐานะจากการเป็นบุคคลสาธารณะ ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าถกเถียงกันต่อว่า ความย้อนแย้งนี้ส่งผลกระทบกับตัวเธอและสังคมอย่างไรบ้าง หรือเป็นเพียงข้อพิพาทในฐานะที่ตัวเธอเองเป็นสินค้าหรือแบรนด์ๆ หนึ่งที่จำเป็นต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ดูเหมือนกระแสการแต่งรูป การใช้ฟิลเตอร์หรือแอพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีสมบูรณ์แบบเกินจริงนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็นของสามัญประจำเครื่องโทรศัพท์ที่ทุกคนต้องมี โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายเซลฟี คนรอบๆ ตัวผม 5 ใน 10 คนยังไงก็ต้องขอใส่ฟิลเตอร์ แต่งรูปสักนิดเพื่อให้ตัวเองดูน่าสนใจ และอาจรวมถึงเรื่องความรู้สึกว่าตัวเอง ‘ปลอดภัย’ ขึ้น เมื่อใช้ฟิลเตอร์เช่นเดียวกับโคลอี้

ในมุมผู้ให้บริการอย่างอินสตาแกรม แพลตฟอร์มแชร์รูปภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็กำลังใช้ประโยชน์จากความรู้สึกนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อินสตาแกรมมีการปล่อยฟิลเตอร์เปลี่ยนใบหน้าให้เรียวขึ้น ทำริมฝีปากให้อวบอิ่ม เพิ่มฟังก์ชั่นการแต่งหน้าหรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวเองให้ดูผอมลง โคลอี้เองก็ยอมรับว่าเธอใช้ฟิลเตอร์เหล่านี้ในอินสตาแกรมด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีฟิลเตอร์หลายรายการถูกห้ามเพราะผลกระทบที่ตามมานั้นไม่ใช่แค่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเป็นแค่การแต่งรูปเล่นเอาขำ ทว่าเริ่มส่อเค้าว่ามันกำลังกลายเป็นปัญหา

รายงานเจาะลึกของสำนักข่าว Wall Street Journal ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการนำเอาเอกสารภายในของบริษัท Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมออกมาเปิดเผยว่า มีการวิจัยถึงความกังวลถึงผลเสียที่ฟิลเตอร์หรือฟังก์ชั่นตกแต่งรูปภาพต่อผู้ใช้งานโดยเฉพาะในผู้หญิง เอกสารรายงานว่า ผู้หญิงวัยรุ่น 32% กล่าวว่าเมื่อพวกเขารู้สึกแย่เกี่ยวกับร่างกาย อินสตาแกรมทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลงไปอีก และในบรรดาวัยรุ่นที่รายงานสำรวจ พบว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย 13% สำหรับผู้ใช้ชาวอังกฤษและ 6% ในหมู่ผู้ใช้ชาวอเมริกัน บอกว่าส่วนหนึ่งมาจากภาพในอินสตาแกรม

แอพลิเคชันและโซเชียลมีเดียเหล่านี้เผยแพร่ค่านิยมเรื่องมาตรฐานความงามแบบเดียว (stereotype) ออกไปอย่างกว้างขวาง ทุกคนอยากมีหน้าตาเหมือนเคนดัล เจนเนอร์ (ผู้ติดตามในอินสตาแกรม 263 ล้านแอคเคานต์) หรือมีผมสีสวยเหมือนลิซ่า แบล็คพิงค์ (ผู้ติดตามในอินสตาแกรม 84 ล้านแอคเคานต์) เพื่อดึงดูดความสนใจให้มีผู้ติดตามมากขึ้น ความสำเร็จของครอบครัวคาร์แดเชียนหรือคนดังอีกหลายคนที่สามารถสร้างภาพลักษณ์และหาเงินได้จากโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการเลียนแบบไปถึงขั้นเสพติด และส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต

2

การมีรูปไม่ตรงปกไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในแวดวงของความสวยความงาม วงการบันเทิง วงการโฆษณา การแต่งแต้มสีสันให้เกินจริงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเลียนแบบหรือชวนเชื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ทว่าในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นช่างภาพ ช่างตัดต่อและช่างรีทัชมือฉมังด้วยตัวเองจากความสามารถของสมาร์ตโฟน ความอยากเหมือนคนดัง อยากได้รับความสนใจก็กำลังก่อปัญหา เพราะบางคนก็อยากเป็น อยากมีเหมือนภาพโฆษณาที่เห็น ชนิดที่ว่ามากจนควบคุมตัวเองไม่ได้

หากเล่าย้อนกลับไปว่าความนิยมในการใช้ฟิลเตอร์เริ่มมาจากอะไร ก็ต้องเล่าย้อนไปหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอีกอย่างที่เป็นต้นตอ นั่นคือการถ่ายรูปตัวเองหรือ ‘เซลฟี่’ (Selfie)

การถ่ายรูปตัวเองสมัยนี้ดูเป็นเรื่องง่าย ที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่หากย้อนกลับไปสมัยที่เรายังใช้กล้องฟิล์ม เราจะเข้าใจเลยว่าความพยายามในการถ่ายรูปตัวเองด้วยกล้องฟิล์มนั้นไม่ง่าย ช่างภาพโรเบิร์ต คอร์เนลลุส (Robert Cornelius) พยายามถ่ายภาพตัวเองในปี 1839 ซึ่งก็พบว่ามันเป็นกระบวนการที่ยากเอาเรื่อง ถึงขั้นว่าเป็นงานศิลปะเลยว่าได้ ตอนที่แอนดี้ วาร์ฮอล (Andy Warhol) ทดลองถ่ายภาพตัวเอง ในยุคนั้นถือว่าเป็นการการทำงานศิลปะเชิงทดลองที่ได้รับความสนใจไม่น้อย งานถ่านภาพตัวเองให้ออกมาให้ดูดี ต้องอาศัยทั้งกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดตำแหน่งของกล้อง จัดแสง หามุมกล้องที่เหมาะสม ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นงานที่มีราคาทั้งในแง่ของเวลาและเครื่องไม้เครื่องมือ กว่าจะได้รูปที่ดี ไม่รู้ว่าต้องล้างรูปกี่ใบ

แต่การเซลฟีตัวเองจากโทรศัพท์มือถือและจนมาถึงสมาร์ตโฟนนั้นได้เปลี่ยนค่านิยมเรื่องนี้ไปโดยสิ้นเชิง

แนวคิดของการถ่ายเซลฟีแบบดิจิทัลได้รับความนิยมหลังจากปี 1999 เมื่อบริษัทเคียวเซร่า (Kyocera) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นเปิดตัวโทรศัพท์เครื่องแรกที่มีกล้องด้านหน้าอย่าง Kyocera Visual Phone VP-210 นับจากนั้น ก็เริ่มมีการผลิตโทรศัพท์ที่มีกล้องมากขึ้น

นักออกแบบชาวญี่ปุ่นได้แรงบันดาลใจมาจากตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าสู่ตลาดในปี 1995 โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันของบริษัทเกมเซก้าและแอทลัส (Sega/Atlus) ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์นี้เรียกว่าปริ้นต์คลับ (プリント倶楽部, Purinto Kurabu) ต่อมาถูกเรียกให้สั้นลงจนรู้จักกันในนาม ‘พุริคุระ’ (Purikura) ตู้สติกเกอร์ได้รับความนิยมในหมู่คนของนักเล่นเกม กลุ่มเด็กผู้หญิงที่นิยมแต่งตัวสายน่ารัก ต่อมาก็แพร่หลายออกไปเป็นวงกว้าง ลักษณะเด่นของตู้สติ๊กเกอร์เหล่านี้ก็คือ มันสามารถตกแต่งกรอบ ปรับความสว่างของภาพและเพิ่มเติมของตกแต่งลงไปในสติกเกอร์ได้ด้วย นั่นอาจเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยมการใช้ฟิลเตอร์ของเด็กสาวญี่ปุ่นเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้น่ารักขึ้น

หลังจากที่มือถือเริ่มมีกล้อง อะไรๆ ก็เริ่มเปลี่ยนไป

สมัยนั้นการถ่ายรูปตัวเองจากกล้องหน้าของโทรศัพท์มือถือ ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักเพราะว่าคุณภาพของรูปที่ได้ยังไม่ดี แต่ก็มีคนนิยมถ่ายรูปตัวเองในกระจก ต้นทศวรรษ 2000 มายสเปซ (MySpace) สื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังดังในยุคนั้นได้สร้างกระแสการแชร์รูปภาพของตัวเองที่ถ่ายผ่านกระจก ไม่ก็เป็นการยกกล้องมุมสูงขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปตัวเอง จนมีคำศัพท์ใช้เรียกรูปเซลฟีแบบนี้ว่า MySpace angle หรือ MySpace selfie ท่านี้ได้รับความนยิมมากในช่วงปี 2006-2009 ต่อมาเมื่อเฟสบุ๊คเริ่มเป็นที่นิยมมากกว่ามายสเปซ แนวคิดของ ‘MySpace selfie’ นั้นถูกตีตราว่าเป็นเรื่องของ ‘มือสมัครเล่น’ มีการสร้างกระแสว่าคนที่เล่น เฟสบุ๊คเป็นคนอีกระดับหนึ่งที่เล่น เฟสบุ๊คพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็นตัวแทนของสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับการพบปะสังสรรค์จริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเจออกันในโลกเสมือน การโพสต์รูป แชร์ประสบการณ์เป็นการส่งเสริมการเข้าสังคม สร้างความรู้สึกถึงการเชื่อมความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

กระแสเซลฟี่ก็ดูจะเงียบไปพักหนึ่ง ด้วยเพราะเราสนุกกับการแชร์รูปกับเพื่อนๆ และเขียนเล่าเรื่องราว อ่านคอมเมนท์ มากกว่ามาถือสาหาความกับการถ่ายรูปตัวเอง

3

สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้กระแสเซลฟีกลับมาฮิตถล่มทลายอีกครั้งก็คือเทคโนโลยีของไอโฟน หลังจากที่ไอโฟนเปิดตัว iPhone4 และเพิ่มความสามารถของกล้องหน้าให้มีความละเอียดมากขึ้น มีเลนส์ด้านหน้าที่ถ่ายได้มุมที่กว้างขึ้น ภาพที่ได้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทำให้การเซลฟีกลับมาได้รับความนิยม

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งคือการเปิดตัวแอพลิเคชันสแนปแชท (Snapchat) ในปี 2011 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฟัง ชั่นฟิลเตอร์เพื่อใช้ในการแต่งรูป เป็นจุดขายที่ดึงดูดให้ผู้ใช้งานวัยรุ่น เข้ามาใช้งานมากขึ้น มีการโปรโมทให้ผู้ใช้งานถ่ายรูปตัวเองโดยใช้ฟิลเตอร์แล้วโพสต์หรือแชร์ให้เพื่อน ฟังก์ชั่นเหล่านี้ (สแนปแชทใช้คำว่า ‘เลนส์’) กลายเป็นของฮิต มีฟิลเตอร์รูปหูสุนัข ฟิลเตอร์มงกุฏดอกไม้และการสลับใบหน้า ต่อมาอินสตาแกรมก็เริ่มมีบริการนี้ในปี 2012 จากนั้นก็เรียกได้ว่าฟิลเตอร์กับเซลฟีกลายเป็นของคู่กัน กระแสนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้เลือกคำว่า ‘เซลฟี’ เป็นคำแห่งปีในปี 2013 อินสตาแกรมใช้กระความนิยมนี้โปรโมทให้ผู้ใช้ถ่ายภาพเซลฟี่ด้วยฟิลเตอร์

ช่วงแรกฟิลเตอร์ ทำอะไรได้ไม่มากนัก เป็นแค่การเปลี่ยนสีหรือปรับแสงทั่วๆ ไปฟิลเตอร์เหล่านี้เน้นไปที่ความสว่างความขาวใส เสริมความงามของรูปถ่ายเพื่อให้ใบหน้าดูดีขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ฟิลเตอร์ทำได้มากกว่านั้นมากจากปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี deep learning และการจดจำใบหน้าที่ก้าวหน้าขึ้น MIT Technology Review อ้างว่าในแอพลิเคชั่นสแนบแชทมีผู้ใช้ฟิลเตอร์มากกว่า 200 ล้านคนทุกวัน ที่ใช้เพื่อเสริมแต่งตัวเอง อินสตาแกรมมีภาพถ่ายมากกว่า 53 ล้านภาพในทุกวันที่มีแท็ก #selfie นั่นก็พอจะสะท้อนความนิยมของการถ่ายรูปเซลฟี และการถ่ายเซลฟีโดยใช้ฟิลเตอร์และอัปโหลดไปยังสื่อสังคมออนไลน์พิสูจน์แล้วว่าสามารถเรียกความสนใจบนโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้อัลกอริธึมของแพลตฟอร์มก็รู้เช่นกัน การถ่ายรูปตัวเองจึงได้รับยอดไลค์ หรือความสนใจมากกว่ารูปประเภทอื่น

อย่างหนึ่งของความสำเร็จ ก็คงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงครอบครัวคาร์แดชเชียน ในรายการ My Next Guest ของ เดวิด เลตเทอร์แมน คิม คาร์แดชเชียน บอกกับเดวิดว่าครอบครัวของเธอทำงานกับอินสตาแกรม แม้จะไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงว่ามีการว่าจ้างกันหรือไม่ ก็รู้กันว่าพวกเธอถูกขนานนามในโลกโซเชียลว่าเป็น ‘Face of Instagram’ เจีย โทเลนติโน่ (Jia Tolentino) แห่ง The New Yorker ถึงกับเขียนแหย่ว่าใบหน้าของคิม คาร์แดเชียนว่าถูกแกะและสลักเสลาด้วย ‘ฟิลเตอร์ของอินสตาแกรม’ ภาพลักษณ์ของชาวคาร์แดเชียนซึ่งมีลักษณะทางชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ ใบหน้ามีโหนกแก้มสูง ริมฝีปากอวบอิ่มและผิวที่ถูกรีทัช ไม่มีรูพรุนใบหน้า ถูกดึงดูดให้ผู้คนอยากดูและอยากเป็นเหมือนเธอ 

ภาพลักษณ์แบบคาร์แดเชียน ถูกโปรโมตให้เป็นรูปลักษณ์ที่คนต้องการมากที่สุดของผู้หญิงในยุคนี้ ฟิลเตอร์บางอันบนโซเชียลมีเดียพยายามจำลองใบหน้าของพวกคาร์แดเชียนมาใช้ เช่น ฟิลเตอร์สกินนี่ของติ๊กต่อก (TikTok) คอนทัวร์ใบหน้าให้ดูบางลง พร้อมริมฝีปากอวบอิ่ม หรือหากต้องการเลียนแบบรูปร่างที่โค้งมนของคิม คาร์แดเชียน พวกเขาสามารถดาวน์โหลดแอพฯ อย่าง SkinneePix หรือ Body Tune ที่ปรับรูปร่างเอวของผู้ใช้และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

การใช้ฟิลเตอร์เหล่านี้สร้างความเคยชินจนกลายเป็นการเสพติดและส่งผลกระทบต่อจิตใจในท้ายสุด ความน่ากังวลใจก็คือเรายังไม่รู้ว่า ในอนาคตค่านิยมนี้จะทำให้ผู้ใช้งานหลีกหนีจากโลกของความเป็นจริงมากขึ้นหรือไม่ หรือไปกระตุ้นการทำศัลยกรรมให้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็อาจสะท้อนให้เห็นจากความคิดของคิม คาร์แดเชียน (อีกครั้ง) เธอเคยให้สัมภาษณ์และออกมายอมรับว่าไม่ใช่แค่เธอที่ใช้ฟิลเตอร์เท่านั้น แต่เธอยังใช้มันปรับแต่งรูปลูกๆ ของเธอให้ดูดีอีกด้วย

ปัญหาของแอพลิเคชันและฟิลเตอร์เหล่านี้คือ มันเหมือนช็อคโกแลตที่เข้าถึงได้ง่ายและกว่าจะรู้ตัวว่าเราก็ติดใจจนถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save