fbpx

ถอด 3 บทเรียนนานาชาติ สู่เส้นทางการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

หนึ่งในปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานานคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ เพราะขณะที่เด็กหลายๆ คนสามารถเข้าถึงและใช้การศึกษาเป็นบันไดผลักดันสู่ความสำเร็จ เด็กอีกหลายคนกลับไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพได้เท่าที่ควร ยิ่งเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดและส่งผลกระทบในทุกมิติ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ยิ่งถูกฉายให้ชัดขึ้น เด็กจำนวนมากต้องร่วงหล่นออกจากระบบของโรงเรียน ขณะที่เด็กซึ่งไม่มีทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอก็ประสบปัญหาในการเรียนรู้จนอาจกลายเป็นผลกระทบระยะยาวในอนาคต – แน่นอน ไม่ต้องพูดถึงเด็กในกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มเปราะบาง ที่อาจร่วงหลุดจากตาข่ายทางสังคมไปตั้งแต่ต้นแล้ว

คำถามสำคัญจึงอยู่ตรงนี้ เราจะทำอย่างไรจึงจะสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียมและเสมอภาคได้ หรืออย่างน้อยคือขยับเข้าไปใกล้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างระบบการเรียนรู้ที่ตอบรับกับความต้องการของเด็กแต่ละคน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็โอบอุ้มทุกคนเอาไว้ไม่ให้ใครต้องร่วงหล่นไป

101 ชวนอ่านทัศนะบางส่วนจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาใน 3 ทวีป ถอดบทเรียนจากนานาชาติเพื่อสร้างเส้นทางไปสู่ระบบการศึกษาที่เสมอภาคขึ้น เท่าเทียมขึ้นของประเทศไทย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

บทเรียนที่ 1: สหรัฐอเมริกา – ดร. พาเมล่า แคนเทอร์

“ปัจจุบัน เด็กๆ มากมายจากทั่วโลกกำลังจะเริ่มกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน ทว่าหลายคนอาจตามบทเรียนไม่ทันเพราะพวกเขาขาดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปแล้ว”

นี่คือคำกล่าวนำจาก ดร.พาเมล่า แคนเทอร์ (Dr Pamela Cantor) ผู้ก่อตั้ง Turn Around for Children ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ และจิตแพทย์วัยรุ่นและเด็ก ซึ่งมาร่วมถ่ายทอดมุมมองจากสหรัฐฯ โดย ดร. พาเมล่าชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้เด็กทำในสิ่งที่เราคาดหวังไว้จะต้องมี ‘เชื้อเพลิง’ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยจุดไฟให้เด็กอยากมีส่วนร่วมและเป็นแรงกระตุ้นในการเรียนรู้

“เราต้องมองเด็กและเยาวชนแต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งมีเรื่องราวและประสบการณ์ของตนเองที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด ในสหรัฐฯ เรามีคำว่า ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้จากโควิด-19’ กล่าวคือพวกเขาต้องสูญเสียเวลาในการเรียนรู้ไป”

นอกจากนี้ ดร. พาเมล่ายังชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาคือการที่นักเรียนหลายคน โดยเฉพาะคนที่เปราะบางที่สุด อาจต้องรับมือกับสถานการณ์ความเสียหายหรือความสูญเสียมาและถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวส่วนบุคคล สถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วเรากำลังมองปัญหาที่แตกต่างกันหรือมองปัญหาเดียวกันในด้านที่แตกต่างออกไป หรือจะเป็นอย่างไร หากสถานที่ที่ทำให้เด็กๆ ได้เติบโตและเรียนรู้เป็นสถานที่ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองเด็กแต่ละคนแบบองค์รวม ช่วยเหลือให้ทุกคนพัฒนาได้เต็มศักยภาพ และเราจะออกแบบสถานที่นั้นอย่างไรภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

“ในแง่การพัฒนามนุษย์ พัฒนาการของสมองและวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ เราพบว่ามียีนกว่า 20,000 ยีนในจีโนมของมนุษย์ แต่ยีนเหล่านั้นจะถูกแสดงออกมาในช่วงชีวิตของเราน้อยกว่า 10% ซึ่งจะถูกกระตุ้นผ่านทางสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ วิธีที่เราเรียนรู้ แม้กระทั่งการแสดงออก โอกาสและความเสี่ยงต่างๆ เป็นเหมือนบริบทที่กำหนดว่าเราจะเป็นคนอย่างไร ทั้งหมดนี้นำมาสู่จุดสำคัญยิ่งจุดหนึ่งว่า ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างธรรมชาติ (nature) กับการเลี้ยงดู (nurture) หรือชีววิทยากับสิ่งแวดล้อม หรือสมองกับพฤติกรรม มีเพียงความร่วมมือกันเท่านั้น”

ดร. พาเมล่าชี้ว่า สมอง ร่างกาย และความสามารถของเด็กเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นได้ เพราะสมองของมนุษย์เป็นโครงสร้างแบบไดนามิกที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ของเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์มากที่สุด ถ้าพูดอย่างรวบรัด สมองสามารถยืดหยุ่นได้เมื่อเวลาผ่านไปและเจริญเติบโตผ่านทางการคิดของเรา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร. พาเมล่าจึงชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถปรับการออกแบบบริบทการเรียนรู้ให้เหมาะสมที่สุด ก็อาจจะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถตามทันและฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดได้ และผู้ใหญ่เองก็ควรจะลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ให้เยาวชนด้วย

“ในทางจิตวิทยา มีฮอร์โมนตัวหนึ่งเรียกว่าออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ ผูกพัน และปลอดภัย และกระทบต่อโครงสร้างในสมองเช่นเดียวกับคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลักของเรา ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในเชิงบวกจะทำให้ฮอร์โมนออกซิโทซินหลั่งออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้สามารถปกป้องเด็กจากผลเสียหายของความเครียดและคอร์ติซอลได้ถึงในระดับเซลล์ และยังสร้างการพร้อมรับปรับตัวให้ความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้”

ทั้งนี้ ดร. พาเมล่าได้ขยายความว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ได้หมายถึงแค่การทำตัวดีต่อเด็ก แต่หมายถึงความผูกพันที่ก่อตัวขึ้นผ่านการดูแล ปกป้อง อยู่ร่วมกัน และความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องที่ทำให้เด็กเชื่อบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาอาจไม่เคยเชื่อมาก่อน

“แหล่งพลังงานหลักสำหรับสายใยของสมองคือความผูกพันของมนุษย์ สารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ เช่น ออกซิโทซินที่หลั่งออกมาพัฒนาจากระบบแรงจูงใจของสมอง เป็นระบบที่จะช่วยส่งเสริมการสำรวจ ความสงสัยใคร่รู้ แนวปฏิบัติ และเชื้อเพลงของเซลล์ประสาท นี่จะทำให้เกิดประจุไฟและเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่นๆ และเมื่อสมองเชื่อมโยงกันมากขึ้น เซลล์ประสาทที่มีประจุร่วมจะเชื่อมเข้ากันทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งการอ่าน การขี่จักรยาน และนี่คือ ‘เชื้อเพลิง’ ที่พูดถึงในตอนต้น”

นี่นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับฮอร์โมนออกซิโทซินเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดเกี่ยวกับบริบทเชิงบวก อีกทั้งความสัมพันธ์ยังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการเรียนรู้ทั้งหมด สอดรับกับความคิดที่ว่าเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และระบบที่ทำให้เด็กเข้าใจได้แบบองค์รวม โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติที่เด็กมีและสนับสนุนให้แต่ละคนมีความโดดเด่นในรูปแบบของตนเอง

“เราต้องออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวิธีที่สมองเติบโตและวิธีที่เด็กเรียนรู้ เป็นการออกแบบที่ผสมผสานความสัมพันธ์ทางพัฒนาการเชิงบวก สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความปลอดภัย ความเป็นเจ้าของ มีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายเพื่อให้นักเรียนค้นพบความสามารถของพวกเขา”

อีกประเด็นสำคัญที่ ดร. พาเมล่าชี้ให้เห็นคือ การเรียนรู้คือการบูรณาการเข้าด้วยกัน ส่วนที่ใช้คิดเลขไม่ได้แยกจากส่วนที่ใช้คิดสร้างสรรค์ เพราะสมองส่วนต่างๆ เชื่อมกันทางกายวิภาคและทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทำให้ทักษะต่างๆ ทั้งการควบคุมตนเอง การคิดเชิงบริหาร และการเข้าสังคม สามารถยืดหยุ่นได้ สร้างขึ้นได้ และพัฒนาได้ในสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบมา

ในตอนท้าย ดร. พาเมล่าชี้ว่า บริบทที่ดีในการเรียนรู้จะต้องประกอบด้วยความใส่ใจเยาวชน ทั้งในด้านความปลอดภัย สุขภาพจิต อารมณ์ สังคม และพัฒนาการด้านสติปัญญา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมและปัจจัยปกป้องต่างๆ มากมาย และถ้ามีบริบทการเรียนรู้ที่ดีแล้วจะทำให้เกิดสมดุลในสภาพแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัย มีแรงจูงใจ และอยากมีส่วนร่วม

“ถ้าเราปรับการออกแบบบริบทการเรียนรู้ให้เหมาะสมได้ก็จะช่วยเด็กและเยาวชนของเราในการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดได้ แต่เราต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่จำเป็น สร้างอนาคตของเราและของเด็กๆ นี่โอกาสของเรา คือจุดเปลี่ยนที่เรากำลังเผชิญ เป็นช่วงเวลาการลงทุนทางการเงินครั้งใหญ่เพื่อการเรียนรู้และอนาคตลูกหลานของเรา” ดร. พาเมล่าทิ้งท้าย

บทเรียนที่ 2: ฟินแลนด์ – ดร. มาริต้า เนโทล่า

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดคือฟินแลนด์ โดย ดร. มาริต้า เนโทล่า อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทอร์คู ประเทศฟินแลนด์ ฉายภาพระบบการศึกษาของฟินแลนด์ซึ่งครบรอบ 100 ปีในปีนี้ว่า ฟินแลนด์กำหนดการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 ปี ต้องเรียนรู้ทักษะพื้นฐานอย่างการอ่าน การเขียน และพื้นฐานต่างๆ

“ก่อนจะมีระบบการศึกษาภาคบังคับ เรายังไม่มีข้อกำหนดด้านการศึกษาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่แถบชนบท และในสมัยก่อนก็ยังไม่มีโรงเรียนที่จะฝึกคนไปสอนเด็กโดยเฉพาะ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 ระบบการศึกษาได้พัฒนาและขยายตัวควบคู่ไปกับโรงเรียน มีโรงเรียนประถมศึกษาตอนปลาย ขยายตัวไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา และยังมีโรงเรียนที่สอนด้านอาชีวศึกษาเกิดขึ้น จนกระทั่งปี 1970 ระบบของเราเปลี่ยนไปสู่การเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กในทุกระดับมากขึ้น และปี 1998 จึงมีการจัดตั้งระบบการศึกษาพิเศษสำหรับคนทุพพลภาพ ปัจจุบัน ทุกคนในฟินแลนด์มีสิทธิเข้าถึงระบบการศึกษาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อจะนำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา”

ดร. มาริต้าชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีความเสมอภาคทางการศึกษาแล้ว ระบบการศึกษาในฟินแลนด์จึงไม่มีทางตันและสามารถศึกษาในระดับที่สูงต่อไปได้เสมอ หรือบางคนอาจจะเข้าถึงระบบการศึกษาแบบใหม่ได้ตลอดเวลาเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อมองในระดับนโยบาย ฟินแลนด์ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโดยตั้งเป้าเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เสมอภาค ลดช่องว่างความแตกต่างในโรงเรียน และเพื่อจะลดความไม่เท่าเทียมลง ได้มีการกำหนดให้เจาะจงรวมเอาโรงเรียนที่มีข้อเสียเปรียบด้านสังคมและเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในการดูแลของภาครัฐด้วย เช่น โรงเรียนในพื้นที่ชุมชนผู้อพยพ หรือพื้นที่ที่มีการว่างงานสูง นอกจากนี้ ยังมีระบบส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้และการศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับทั่วไป สูง และพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอและต่อยอดไปตามความจำเป็น

ดร. มาริต้าแสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาปฐมวัยของฟินแลนด์อาจนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมระดับสูง เพราะสามารถมอบโอกาสเรียนรู้และพัฒนาให้เด็กทุกคน เช่น เว็บไซต์สาธารณะ Lukimat ที่ให้ข้อมูลแก่นักศึกษา พ่อแม่ บุคลากร มีข้อมูลการสอนด้านต่างๆ หรือ GarphoLearn ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ตัวอักษรและการอ่านออกเสียงได้ รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น การสนับสนุนให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน รวมถึงพัฒนาการเรียนออนไลน์เพื่อสนับสนุนการศึกษาผู้ใหญ่แบบเสรี และยังรวมไปถึงแพ็กเกจการดูแลมารดา คลินิกแม่และเด็ก ดูแลและสนับสนุนด้านสุขภาพเพื่อจะนำไปสู่การส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ดร. มาริต้าชี้ให้เห็นว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะการสนับสนุนอย่างเดียว แต่ต้องมีการส่งเสริมด้านทรัพยากรด้วย ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิดก็ทำให้เราเห็นปัญหาหลายประการ ทั้งการที่เด็กจำนวนมากไม่ยอมเข้าชั้นเรียน ปัญหาการกลั่นแกล้ง ขณะที่ผู้ใหญ่ตอนต้นก็มีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์เพิ่มขึ้น จนบางคนถึงขั้นยอมลาออกจากงานเพื่อเงินชดเชย”

ในตอนท้าย ดร. มาริต้าคลี่ให้เห็นประเด็นที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน ทั้งเรื่องกลุ่มคนอพยพ ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของบุคลากรทางการศึกษา นำมาสู่การเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีวิธีศึกษาระยะยาว ระบบพี่เลี้ยง การมีอุปกรณ์ บุคลากร และทักษะที่ครบครัน “เราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาของครูอาจารย์ การพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับความเสมอภาค สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาททางเพศที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความสามารถในการสอนและให้ความรู้ด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการสอน เช่น การทำวิจัย หรือการสร้างความร่วมมือในระดับต่างๆ ด้วย”

บทเรียนที่ 3: ญี่ปุ่น – โทมิโอะ อิโคมะ

วิทยากรท่านสุดท้าย โทมิโอะ อิโคมะ ประธานกรรมการบริหาร With Us Cooperation และผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ไดอิชิ กาคุอิน ประเทศญี่ปุ่น อธิบายระบบการศึกษาของญี่ปุ่น โดยพาย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นได้ออกพระราชบัญญัติพื้นฐานการศึกษา ปี 2517 อันเป็นการวางรากฐานใหม่สำหรับการศึกษาของญี่ปุ่น มีการออกกฎหมายการศึกษาในโรงเรียน ตามมาด้วยการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การศึกษาของชาวญี่ปุ่นดีขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อย่างไรก็ดี โทมิโอะชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาที่เคยมีได้เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงไม่ได้สะท้อนและตอบรับกับบริบทความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์และมีประเด็นท้าทายมากมายเกิดขึ้นในสังคม นำมาสู่ข้อเสนอของโทมิโอะว่า “ยุคของการใช้คอมพิวเตอร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีการวางเกณฑ์การศึกษาในอุดมคติแห่งอนาคตของญี่ปุ่น”

โทมิโอะอธิบายต่อว่า ปัจจุบัน เด็กญี่ปุ่นต้องเผชิญความท้าทายหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือเรื่องความมั่นใจในตนเองต่ำ ทักษะด้านการสื่อสารที่ไม่ค่อยดี และการออกจากโรงเรียนก่อนจบหลักสูตร ซึ่งหมายถึงการขาดเรียนด้วยสาเหตุต่างๆ นอกเหนือจากโรคหรือปัญหาทางการเงินเป็นจำนวน 30 วันหรือมากกว่านั้น โดยโทมิโอะหยิบยกสถิติมาชี้ให้เห็นว่า เด็กชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นขาดเรียนรวมกันแล้วประมาณ 196,000 คน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข

นอกจากความท้าทายที่ปัจเจกบุคคลต้องเผชิญแล้ว โทมิโอะชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาเองก็เผชิญกับปัญหาบางประการเช่นเดียวกัน ได้แก่:

ประการแรก ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากระบบการศึกษาแบบเดียวสำหรับทุกคน (one-size-fits-all education) นักเรียนญี่ปุ่นทุกคนจะเรียนในชั้นเรียนร่วมกับครู ผลการเรียนเป็นแบบเดียวกัน ทั้งยังเน้นตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งโทมิโอะกล่าวว่าระบบการศึกษาของญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นแบบตั้งรับและมีความสม่ำเสมอ ซึ่งลักษณะเหล่านี้เองที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา

ประการที่สอง การศึกษาที่มีการกวดวิชาเป็นพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับการท่องจำมากกว่าวิธีเพิ่มพูนความรู้ เพิ่มคะแนนสอบได้แต่ใช้จริงระยะยาวไม่ได้

ประการที่สาม การเน้นการจัดอันดับทางสถิติ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการกำหนดตำแหน่งความสัมพันธ์ของความสามารถทางวิชาการของนักเรียนในกลุ่ม แต่การจัดอันดับนักเรียนในโรงเรียนก็ทำให้เกิดปมด้อยบางอย่างตามมา

ประการที่สี่ ความไม่เท่าเทียมในการศึกษาที่บ้านและแรงจูงใจของผู้ปกครอง ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ปัจจัยต่างๆ ของนักเรียน เช่น สถานะทางสังคม มีส่วนก่อให้เกิดความแตกต่างในความสามารถทางวิชาการและการศึกษา ซึ่งตอนนี้ญี่ปุ่นพยายามหาทางแก้ด้วยการออกแผนโครงการอนาคตของสังคมและเด็ก ปี 2573 สร้างวัฒนธรรมในโรงเรียนแบบใหม่ที่มีความตระหนักรู้และความริเริ่มทางสังคม มีหลักสูตรการศึกษาที่เปิดกว้างสู่สังคม เป็นตัวอย่างให้โลก สนับสนุนให้เด็กญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างให้เด็กทั่วโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ โทมิโอะจึงทิ้งท้ายด้วยการนำเสนอปรัชญาการศึกษาแบบ 1/1 คือการมองภาพรวมของเด็กในทางเดียวกับที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อบุตรของตนเอง มุ่งเน้นให้สถาบันการศึกษาระดับแถวหน้าสามารถพัฒนาบุคลากรที่โดดเด่นซึ่งจะมีบทบาทแข็งขันในสังคม ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่หลายๆ สถาบันการศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอนาคต


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากการเสวนา Beyond ASEAN: Innovative Approaches to Promote Equality Through Teacher Education ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา จัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2564

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save