fbpx

“ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” : ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่ให้ทำร้ายคนที่คุณรัก

ณัฐกานต์ อมาตยกุล เรื่อง

 

‘ตรวจสุขภาพคุณพ่อสุดหล่อ’[1]

ภาพโฆษณาแพ็กเกจในเว็บไซต์ปรากฏรูปหญิงสาววัยทำงานใช้สองมือโอบคอของชายชราด้วยความรักใคร่แบบคนครอบครัว ทำให้เราอดนึกถึงผู้สูงอายุที่บ้านตัวเองไม่ได้

เขาจะสบายดีไหม มีโรคภัยอะไรเติบโตอยู่ภายในร่างกาย มีความเจ็บปวดใดแอบซ่อนอยู่ใต้รอยยิ้มและท่าทางกระฉับกระเฉงหรือเปล่า

ความกลัวเริ่มคืบคลานทุกวันเกิดที่ผ่านไป โบรชัวร์ตามโรงพยาบาลแนะนำว่าคนอายุถึงเกณฑ์เท่าไหร่ควรไปตรวจสุขภาพ บางแพ็กเกจนำเสนอรายการตรวจละเอียดยิบเพื่อคนรักพ่อแม่ เราย่อมเป็นห่วงสุขภาพของคนที่รัก แต่ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งคือการคิดว่าความรักแสดงออกได้ด้วยการพาคนรักไปใกล้มือหมอ

แล้วเผลอทำร้ายผู้มีพระคุณโดยไม่รู้ตัว

 

ตะกร้าแพ็กเกจ

 

หากเราเข้าไปชมเว็บไซต์ของโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่าในปัจจุบันมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพหลากหลายรูปแบบ (ข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม 2560) จัดรายการตรวจออกมาให้ตอบสนองความต้องการที่ต่างกัน เช่น โปรแกรมตรวจสำหรับวัยทำงาน สำหรับคนออกกำลังกาย สำหรับตรวจเพื่อชะลอความชรา สำหรับคนจะแต่งงาน ฯลฯ

เมื่ออ่านรายละเอียดจะพบว่า มีรายการพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง แต่เพิ่มเติมบางรายการที่เหมาะกับความต้องการของผู้รับการตรวจ เช่น วัยทำงานซึ่งใช้ชีวิตในออฟฟิศ ก็อาจมีการตรวจฮอร์โมนความเครียด (Stress Hormone หรือ Cortisol) เพิ่มขึ้นมา ซึ่งดูจะเข้ากันดีกับไลฟ์สไตล์อันเคร่งเครียดของพวกเขา บางแห่งที่ให้บริการก็ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล’ ซึ่งใช้นักเทคนิคการแพทย์ตรวจและอ่านผล ค่าใช้จ่ายไม่รวมค่าบริการแพทย์ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แพ็กเกจเหล่านี้นอกจากจะดูสะดวก ไม่ต้องคิดเองแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกว่าคุ้มค่า ทั้งค่าบริการและค่าเดินทางในการไปตรวจ ทำนองเดียวกับโปรโมชั่นร้านอาหารต่างๆ ที่จัดรายการมาในราคาเหมา แล้วบอกว่าลดแล้ว

แต่หากเราอยากเลือกรายการเองแบบไม่ง้อแพ็กเกจ ก็อาจต้องปวดหัวนิดหน่อย เมื่อพบกับชื่อวิธีการตรวจไม่คุ้นหู หรือถึงจะมีคำอธิบายประกอบ เราก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าสิ่งนี้จำเป็นสำหรับเราหรือไม่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมีแบบสอบถามออนไลน์เพื่อจัด ‘โปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล’ ไว้คอยอำนวยความสะดวก

เพียงเรากรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ เพศ ความสนใจ ประวัติโรคในครอบครัว ฯลฯ โปรแกรมก็จะลิสต์รายการตรวจที่เหมาะสมมาให้

แต่ไปๆ มาๆ ราคารายการทั้งหมดที่ได้นั้น ก็ไม่แน่ว่าจะออกมาแพงกว่าแพ็กเกจมาตรฐาน แล้วนำเรากลับมากุมขมับกับคำถามเดิม

เราจำเป็นต้องตรวจหรือไม่

และถ้าต้องตรวจ ก็มีตัวเลือกในด้านต่างๆ ที่ต้องจับมาผสมกันให้พอดี ทั้ง ผู้ให้บริการ x แพ็กเกจ x รายการตรวจเสริม (คล้าย add-on) x ราคา

ในฐานะผู้บริโภค ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ทำให้เราสับสน ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญหรืออะไรตัดทิ้งได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะการให้ความรู้ทางการแพทย์เหล่านี้เป็นหน้าที่ของหมอแต่เพียงผู้เดียว

แต่สุดท้ายเราอาจได้ข้อสรุปในใจว่า ยิ่งตรวจเยอะยิ่งดี พร้อมควักกระเป๋าออกมานับเงินอย่างเสียไม่ได้

ความห่วงใยที่มีราคา

 

พอพูดว่า ‘การตรวจสุขภาพประจำปี’ วลี ‘ประจำปี’ เราอาจจะผ่อนคลายความเคร่งครัดในการใช้จ่ายลงไป ปลอบใจตัวเองว่าถึงจะเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่ก็จ่ายเพียงปีละครั้ง แลกกับการลดความเสี่ยงทางสุขภาพในระยะยาว

แต่เงินจำนวนนี้เมื่อรวมกันทั้งประเทศก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ

ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2552 แสดงให้เห็นว่าคนไทยใช้จ่ายเงินส่วนตัวในการตรวจคัดกรองสุขภาพรวมกันสูงถึง 2,200 ล้านบาท ซึ่งนี่ยังไม่รวมงบประมาณที่ใช้ในการตรวจคัดกรองสุขภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ระบบบัตรทอง) และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมทั้งประเทศไม่น่าจะออกมาต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี[2]

หากเราขยับมาสำรวจราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลในระยะใกล้ จะพบว่าอาจเริ่มจาก 999 บาทซึ่งมักเป็นการตรวจเลือด ไปจนถึง 37,000 บาท (สำรวจจากผู้ให้บริการตัวอย่าง 7 แห่ง) ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นและรายการที่ต้องตรวจ ซึ่งมักแปรผันตามอายุของผู้เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ยิ่งแก่ ยิ่งต้องตรวจหลายรายการมากขึ้น (แต่ก็ไม่เสมอไป) และผู้หญิงมักมีค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากบางรายการเป็นการตรวจเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น เช่น ตรวจหามะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก

จากงานวิจัยเรื่อง ‘การตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย’ พบว่า โปรแกรมตรวจคัดกรองที่ประชาชนควรตรวจ 12 รายการ ได้แก่ การตรวจเอชไอวี การตรวจโรคตับแข็ง มะเร็งตับ การตรวจโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปากมดลูก ปัญหาการดื่มสุรา และการตรวจสายตา จะมีค่าใช้จ่ายรวมกันเพียง 380-400 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น[3]

‘คัดกรอง’ คำที่ต้องทำความเข้าใจ

 

ย้อนกลับไปดูตารางแพ็กเกจตรวจสุขภาพและราคาที่ต้องจ่าย เราคงต้องทบทวนความเข้าใจของตัวเองอีกครั้งว่า คนเราตรวจสุขภาพไปเพื่ออะไร

ตรวจสุขภาพเป็นเรื่องดีที่ควรทำ แต่ไม่ใช่การตรวจร่างกายทุกอย่างจะมีปลายทางเป็นเรื่องราวดีๆ

เวลาเราพูดถึงการตรวจสุขภาพ แท้จริงแล้วเราจะหมายถึง ‘การตรวจคัดกรอง’ เพื่อค้นหา ‘ความเสี่ยง’ หรือ ‘โรค’ ของบุคคลซึ่งไม่ทราบมาก่อน ว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือเป็นโรค เพื่อ ‘ป้องกัน’ ความเสี่ยงหรือ ‘ลด’ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่อไป

เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรองจึงเป็นคนละเรื่องกับการตรวจวินิจฉัยของผู้ที่มีอาการของโรคออกมาแล้ว ซึ่งในบางครั้งการใช้อุปกรณ์การตรวจทั้งสองกรณีนี้จะแตกต่างกันตามจุดประสงค์การใช้งาน

แต่การคัดกรองไม่ได้หมายความว่า หากตรวจแล้วไม่พบอะไร จะออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น การตรวจสุขภาพน่าจะให้ผลร้ายมากกว่าผลดี ตรงกันข้าม การตรวจคัดกรองมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหากมีความเสี่ยงจะเกิดโรคบางโรค

อย่างไรก็ตาม แม้แพทย์จะใช้อุปกรณ์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แสนครบครัน ดูแล้วไม่งมงาย แต่เราไม่อาจไว้ใจผลลัพธ์ที่ออกมาได้เสมอไป โดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงแค่ ‘ผู้รับการตรวจ’ แต่ยังเป็น ‘ผู้บริโภค’ ซึ่งทุกขั้นตอนพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่าย

ศัพท์ 2 คำที่ควรรู้ในการตรวจคัดกรอง คือ ความไวของการตรวจ (sensitivity) และ ความจำเพาะของการตรวจ (specificity) แม้มันจะฟังดูน่าเกาหัวสักแค่ไหน

ความไวของการตรวจ หมายถึง ค่าร้อยละที่แสดงสัดส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงหรือป่วยที่ตรวจแล้วให้ผลบวก เช่น ความไวร้อยละ 90 หมายความว่าในจำนวนคนที่มีความเสี่ยงหรือป่วยทั้งหมด 100 คน จะมีการตรวจพบ 90 คนเท่านั้น (ส่วนอีก 10 คนที่ควรตรวจพบ ก็กลับหลุดรอดไป)

ความจำเพาะของการตรวจ หมายถึง ค่าร้อยละที่แสดงสัดส่วนของผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงหรือไม่เป็นโรคแล้วให้ผลออกมาเป็นลบ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ไม่มีความเสี่ยงทั้งหมด เช่น ความจำเพาะร้อยละ 95 หมายความว่าในจำนวน 100 คน จะมี 5 คนที่ถูกระบุว่าเสี่ยงหรือป่วย ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีความเสี่ยงหรือป่วยเลย

ถ้าความไวของการตรวจมาก โอกาสที่คนป่วยจริงๆ จะถูกพบ ก็จะสูงตาม

ถ้าความจำเพาะของการตรวจมาก โอกาสที่คนที่ไม่ป่วยจะถูกระบุว่าป่วย ก็จะน้อยลง ไม่ต้องไปรับการตรวจยืนยันที่อาจอันตรายกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น หรือไปรับการรักษาจนเกิดผลข้างเคียง ทั้งๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลยตั้งแต่แรก

แต่ข้อเสียก็คือ การตรวจที่มีค่าความจำเพาะสูงเช่นนี้ก็อาจทำให้มีค่าความไวต่ำ ส่งผลให้ตรวจไม่เจอคนที่ป่วยหรือมีความเสี่ยงจริงๆ

พูดง่ายๆ ก็คือได้อย่างก็เสียอย่าง ไม่มีวิธีการตรวจใดที่เราจะมั่นใจได้เต็มร้อย ไม่ว่าผลจะออกมาว่าเราป่วยหรือร่างกายปกติ

และบางครั้งการตรวจมากก็ไม่ได้ทำให้อัตราเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ลดน้อยลง

เพราะฉะนั้นทางที่ดี เราก็ตรวจกันเฉพาะเท่าที่จำเป็นก็พอ

อะไรบ้างที่ควรตรวจ และตรวจช่วงเวลาไหน

 

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program : HITAP) ได้รวบรวมข้อคิดเห็นทางวิชาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ท่าน แนะนำรายการที่คนทั่วไปควรตรวจคัดกรองจริงๆ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี

 

  • ตรวจเบาหวาน สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเลือดหลังการงดอาหาร 8 ชั่วโมง ตรวจทุกๆ 5 ปี
  • วัดดัชนีมวลกาย (BMI) และเส้นรอบเอว สำหรับทุกเพศทุกวัย การวัดดัชนีมวลกายเป็นการคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตรยกกำลังสอง) ดัชนีมวลกายปกติอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร ส่วนการวัดเส้นรอบเอวเพื่อพิจารณาภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งสามารถประเมินได้จากเส้นรอบเอว โดยผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว) และผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว)
  • โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองโดยตรง แต่เป็นการคัดกรองโดยค้นหาปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ตรวจสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี และควรตรวจทุก 5 ปี หากอายุมากกว่า 65 ปี ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation ด้วยการตรวจวัดชีพจรด้วย
  • ภาวะโลหิตจาง แนะนำให้พาบุตรหลานอายุ 9-12 เดือน ไปตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count : CBC) หรือตรวจปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit : Hct)
  • ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจหาการติดเชื้อเมื่ออายุตั้งแต่ 31-40 ปี ก่อนจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ ตับวาย หรือตับแข็ง
  • ตรวจหาเชื้อเอชไอวี ตรวจฟรีในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก สตรีอายุ 30-60 ปี ตรวจฟรี และแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี
  • ตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ตั้งแต่อายุ 40-70 ปี ตรวจทุก 3 ปี
  • มะเร็งลำไส้ ตรวจตั้งแต่ 60-70 ปี โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุก 1-2 ปี

 

หากต้องการตรวจสอบว่าตัวเองควรตรวจคัดกรองอะไรบ้าง สามารถเข้าไปใช้โปรแกรมออนไลน์ บอกรายการที่ควรตรวจออกมา ที่เว็บไซต์ HITAP

 

ตรวจฟรีแต่ไม่มีใครรู้

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ที่มักมีคนโทรมาหามูลนิธิฯ จำนวน 50.47 เปอร์เซ็นต์เป็นการสอบถามเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รองลงมาคือการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตามด้วยการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข

“เขามักโทรมาสอบถามเรื่องสิทธิ ยกตัวอย่างเช่น ไม่รู้ว่าผู้หญิงอายุ 35 ปีจะได้รับบริการตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีทุกคน”

เช่นเดียวกับหลายคนที่โทรเข้ามา เราหลายคนก็คงไม่เคยได้ยินสิทธิที่ว่านี้มาก่อน

ข้อมูลจากเอกสาร 10 เรื่องควรรู้ สิทธิหลักประกันสุขภาพ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)[4] ระบุว่า สปสช. ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดให้คนไทยทุกกลุ่มวัยได้เข้าถึงบริการเพื่อการเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง ป้องกันการเจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งในรายการดังกล่าวประกอบไปด้วย บริการสำหรับแม่และเด็ก บริการสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี เด็ก 6-12 ปีและวัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ไปจนถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง รายละเอียดตามตารางข้างล่าง

ที่มา : 10 เรื่องควรรู้ สิทธิหลักประกันสุขภาพ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (2560)

 

หากใช้สิทธิตามที่ระบุไว้ นอกจากจะเป็นการตรวจที่เหมาะสมกับช่วงวัยแล้ว ยังทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการตรวจตามแพ็กเกจของโรงพยาบาลทั่วไป

“แต่บางทีพอเราไปตรวจ เขาก็ไม่ตรวจให้หรอก หรือบางทีเราบอกว่าเราน้ำหนักเกิน อายุ 50 ปีแล้ว ควรจะได้ตรวจเบาหวาน ตรวจน้ำตาล แต่มันกลับไม่ง่ายอย่างนั้น” สารีกล่าว

“ทั้งๆ ที่เรามีสิทธิประโยชน์อยู่ สิทธิที่จะส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่ในทางปฏิบัติจริง การใช้สิทธิเหล่านี้ไม่ได้ง่าย ยกเว้นเวลาคุณป่วยถึงจะใช่ได้ เพราะบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพนั้น ยังเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญน้อย”

 

บางสิ่งที่ไม่ควรตรวจ

 

เรามักคิดในแง่ดีว่าการตรวจสุขภาพจะช่วยสกัดความเสี่ยงในการเผชิญโรคร้าย และต่ออายุเราและคนที่เรารักไปอีกนานๆ

แต่ด้านมืดของการตรวจสุขภาพก็มีอยู่ และมักไม่มีใครพูดถึง

ด้านที่ว่ามันอาจนำชีวิตเราไปสู่จุดจบก่อนวัยอันควร

การตรวจร่างกายละเอียดยิบย่อยและฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ไม่เพียงทำให้เราเสียเงินทองเปล่า แต่อาจเปลืองตัว เพราะความจริงก็คือ มิใช่ผู้ป่วยทุกรายที่ ‘มี’ ความผิดปกติทางพยาธิวิทยา (มีความผิดปกติของเซลล์หรือการทำงานของอวัยวะ) จะต้อง ‘เจ็บป่วย’ จากความผิดปกตินั้น เช่น มะเร็งในบางคนก็ไม่ลุกลามจนเกิดโรค หากปล่อยไว้เฉยๆ ก็ไม่ส่งผลเสียหายอะไรด้วยซ้ำ

แต่ถ้าดันตรวจพบ แล้วตัดสินใจไปรักษา ก็กลายเป็นว่าผู้ป่วยจะพบกับความเสี่ยงที่มากขึ้น บางคนอาจรุนแรงถึงชีวิต กลายเป็นโศกนาฏกรรมจากการตรวจสุขภาพ

ไม่เพียงแต่ความทุกข์จากการเปิดกล่องแพนดอราออกมา การตรวจบางอย่างไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง แถมในกระบวนการตรวจก็ส่งผลเสียต่อร่างกายด้วย ยกตัวอย่างเช่น

 

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย PSA มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่ไม่รุนแรง และคนไข้หลายรายไม่เสียชีวิต การรักษาจึงไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่กลับเกิดโทษหากมีการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษา เช่น การตรวจชิ้นเนื้ออาจนำไปสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ หรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้ PSA ไม่มีความจำเพาะต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะระดับ PSA อาจสูงขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้
  • เอ็กซ์เรย์ปอด การเอ็กซ์เรย์ปอดเพื่อหาวัณโรคในคนที่ไม่มีอาการนั้น โอกาสตรวจพบวัณโรคน้อยมาก ในทางตรงข้าม รังสีเอ็กซ์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง และยังให้ผลบวกลวง (คือผู้ตรวจไม่ได้เป็นอะไร แต่ผลกลับแสดงว่าเป็น) ทำให้ต้องวินิจฉัยเพิ่มขึ้น เช่น ต้องส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ผ่าตัดทรวงอก ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้บางครั้งทำให้เกิดการบาดเจ็บ

 

และยังมีการตรวจที่แม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็เป็นการเสียเงินไปเปล่า เช่น

  • ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะ ถือเป็นการตรวจแบบเหวี่ยงแห ตรวจการทำงานของตับ หรือตรวจการทำงานของไตในผู้ไม่มีอาการหรือประวัติความเสี่ยง จากการวัดระดับยูเรียไนโตรเจน (BUN) และครีอะตินีน (Creatinine) เนื่องจากสองอย่างนี้ไม่มีความจำเพาะ อาจเกิดจากการขาดน้ำ เสียเหงื่อ กินยาหรือเนื้อสัตว์บางชนิด อีกทั้งการตรวจแบบนี้จะให้ผลผิดปกติต่อเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายเกินแก้เสียแล้ว
  • อัลตราซาวด์ช่องท้องบางส่วน ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ แต่เมื่อตรวจแล้วกลับสร้างความกังวลใจทั้งที่อาจยังไม่ต้องรักษา แต่สำหรับเพศชายอายุมากกว่า 65 ปี แนะนำให้มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด เพื่อวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองก่อนที่จะแตก
  • ค้นหาโรคไตอักเสบ นิ่วในไต ควรตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

จากรายการที่ไม่ควรตรวจของ HITAP พบว่าแพ็กเกจของบางโรงพยาบาลและสถานบริการยังคงบรรจุรายการเหล่านี้อยู่ เนื่องจากความนิยม ทั้งๆ ที่บางอย่างหลายประเทศประกาศห้ามใช้แล้ว

 

บทสรุป

 

การตรวจสุขภาพหรือการตรวจคัดกรองเป็นหนึ่งในวิธีการสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราเท่าทันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มากกว่าที่จะให้ชะล่าใจที่สุขภาพดี หรือวิตกกังวลต่อสิ่งที่ตรวจพบ (แต่อาจไม่มีผลอะไรเลย)

นอกจากนี้ ในฐานะประชาชนพลเมืองไทย เรายังมีสิทธิในการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและคุณสมบัติต่างๆ ของผู้รับการตรวจด้วย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร.1330

ก่อนไปตรวจสุขภาพ ควรศึกษาว่าในช่วงวัยและพฤติกรรมของเราจำเป็นต้องตรวจสุขภาพในด้านใดบ้าง ตามข้อมูลของ HITAP และหลีกเลี่ยงการตรวจสุขภาพในรายการที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และยังเป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

 

อ้างอิง

บทความเรื่อง ตรวจขี้ตา ตรวจขี้หู แล้วดูโรค จาก เว็บไซต์ นิตยสารออนไลน์ฉลาดซื้อ

ข่าวเรื่อง ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงิน จาก TCIJ

 

เชิงอรรถ

[1] ดัดแปลงจากชื่อแพ็กเกจจริงของสถานบริการทางการแพทย์แห่งหนึ่ง

[2] เอกสาร เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

[3] บทความเรื่อง ชี้คนไทยแห่ตรวจสุขภาพเสี่ยงรับผลกระทบไม่รู้ตัว จาก HITAP

[4] เอกสาร 10 เรื่องควรรู้ สิทธิหลักประกันสุขภาพ 2556 และ 2560 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Health

11 Jan 2018

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน) และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ

11 Jan 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save