fbpx

การเมืองเรื่องนมแม่ ชนชั้น เงินตรา และแรงกดดันของเหล่าแม่ในรัฐที่ไม่มีทางเลือก

แม้นมแม่จะถูกรับรองสรรพคุณในระดับที่ WHO ออกแคมเปญสนับสนุนต่อเนื่องมาหลายสิบปี และเรียกได้ว่าเป็นค่านิยมเมนสตรีมของแวดวงแม่และเด็กทั่วโลก กระนั้นมันก็ยังเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่ไม่เคยมีข้อสรุปมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นข้อถกเถียงที่สังคมไทยเพิ่งหยิบยกมาคุยกันอย่างเผ็ดร้อนเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อผู้ที่สังคมเก็งกันว่าจะกลายมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 อย่าง ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ประกาศกับสาธารณะว่าขณะนี้เธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 และนั่นอาจทำให้บทบาทระหว่างแม่และนักการเมืองระดับประเทศคาบเกี่ยวกันอย่างน่าสนใจ

หลายคนตั้งคำถามว่าแม่ลูกอ่อนจะทำหน้าที่นักการเมืองผู้กุมบังเหียนพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ เลยเถิดไปจนถึงว่าอุ๊งอิ๊งควรให้เวลากับการเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งอาจกินเวลานานหลายเดือนหรือนับปีนั้นก็เป็นหนึ่งในภาระงานของ ‘แม่ที่ดี’ ซึ่งควรสะสางให้เสร็จสิ้นก่อนจะเริ่มต้นบทบาทอื่นๆ ต่อไป

ทว่าถ้ามองไกลไปถึงแวดวงการเมืองต่างประเทศ พูดได้ว่าภาพลักษณ์นักการเมืองหญิงแบบ ‘มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง’ นั้นมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่างที่เราเห็น Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีหญิงจากนิวซีแลนด์อุ้มลูกกลางสภา หรือ Larissa Waters สมาชิกวุฒิสภาจากออสเตรเลียให้นมลูกขณะปราศรัยเมื่อปี 2017 [1] ก็ยิ่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้หญิงหัวก้าวหน้าและเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพวกเธอด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกเธอและสังคมของพวกเธอเองต่างหลีกเลี่ยงการเคลมสถานะ ‘แม่ที่ดี’ จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นั่นอาจเพราะในสังคมที่พัฒนาการด้านการศึกษาและสิทธิมนุษยชนก้าวหน้า ย่อมรู้ดีว่าเรื่องนมแม่เป็นดีเบตที่ไม่เคยมีคำตอบตายตัวว่าเป็นนมที่ดีสำหรับทารกทุกคนในทุกๆ บริบทจริงหรือ นอกเหนือกว่านั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นค่านิยมที่มีขึ้นมีลงตลอดหน้าประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นอาหารมื้อแรกๆ ของมนุษย์ที่มีนัยทางสังคมผสมอยู่อย่างเข้มข้นที่สุดชนิดหนึ่ง ฉะนั้นการมองให้เห็นภาพใหญ่ของเรื่องนี้ เราจึงอาจต้องย้อนเวลากลับไปนานนับพันปี

(1)

“พวกเราเลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์หรืออาหารเสริมกันทั้งนั้น”

แม่ชนชั้นสูงชาวอียิปต์คงตอบแบบนั้น หากเราย้อนเวลากลับไปถามพวกเธอได้ว่าเลี้ยงทารกแรกเกิดกันอย่างไร และหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ก็คือบรรดาขวดนมดินเผาอายุราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาลที่ถูกขุดค้นพบในอียิปต์ โดยมีบันทึกระบุว่าแม่ชนชั้นสูงเหล่านั้นมักหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรและหันไปใช้งานแม่นมหรือให้นมสัตว์กับทารกแทน นั่นเพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมจากเต้าเป็นสิ่งที่สตรีชนชั้นล่างทำกันทุกครัวเรือน การจะคงสถานะแม่ชนชั้นสูงจึงต้องมีวิถีปฏิบัติในการเลี้ยงลูกที่ต่างออกไป รวมถึงการหานมสัตว์คุณภาพเยี่ยมในดินแดนอันแร้งร้างกลางทะเลทรายมาให้ทารกดื่มนั้นย่อมต้องอาศัยต้นทุนในระดับที่ชนชั้นล่างน้อยคนจะเอื้อมถึง

เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์บางส่วนให้ข้อมูลเสริมอีกมุมว่า นอกจากแม่ชนชั้นสูงชาวอียิปต์ที่ใช้ขวดนมดินเผาโบราณพวกนั้น สตรีอีกกลุ่มที่ใช้ขวดนมเลี้ยงทารกเช่นกันคือแม่ชนชั้นแรงงานระดับล่างสุด ผู้ไม่มีเวลาแม้แต่จะพักเพื่อให้นมลูก ทว่าขวดนมที่ใช้ก็มีลักษณะต่างกันและน้ำนมสัตว์ที่ใช้เลี้ยงทารกนั้นก็คุณภาพด้อยกว่ามาก

เช่นกันกับอีกหลายสังคมชนชั้นสูงในยุคต่อๆ มา ไม่ว่าจะในอังกฤษและฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16-18 ที่แม่ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์มักหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรและหันไปใช้งานแม่นม ซึ่งส่วนมากเป็นสตรีชนชั้นล่างหรือเป็นทาสผิวสีแทน ด้วยมองว่างานให้นมลูกเป็นภาระของชนชั้นแรงงาน และครอบครัวผู้มั่งคั่งเท่านั้นที่จะมี ‘แม่นม’ ไว้ในครอบครอง เช่นเดียวกับสตรีในราชสำนักสยามที่นิยมใช้บริการแม่นมด้วยเหตุผลใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเหล่าเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่มักมีพระพี่เลี้ยงหรือแม่นมประจำตัวซึ่งคัดเลือกมาอย่างดีเพื่อการนี้โดยเฉพาะ อย่างที่ มณี บุรารักษ์ อดีตข้าหลวงผู้ใช้ชีวิตเป็นพระพี่เลี้ยงของเหล่า ‘ลูกเจ้านาย’ อยู่ในวังบางขุนพรหมให้สัมภาษณ์กับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในปี 2558 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “สมัยนั้นเจ้านายเขาไม่ให้เสวยนมวัวนมควาย เขาต้องเลือกให้เสวยนมคน คนที่จะเป็นแม่นมต้องเป็นคนมีเชื้อมีสาย ต้องหาคนดีๆ” [2] และเพิ่มเติมว่าต้องเป็นคราวสงครามที่อาหารการกินขาดแคลน นมสำหรับลูกเจ้านายจึงประกอบด้วยนมผงสำเร็จรูป นมวัว และนมควายในบางโอกาส

ทว่าในอีกหลายกลุ่มสังคม นมแม่ก็อาจเทียบเท่าอาหารศักดิ์สิทธิ์เมื่อมันผูกโยงกับระบบคุณค่าและความเชื่ออีกแบบ อย่างที่ค่านิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รุ่งเรืองไปทั่วคาบสมุทรอาหรับช่วงศตวรรษที่ 7 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ศาสนาอิสลามขยายอิทธิพลอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน และหลักการในการเลี้ยงดูบุตรข้อหนึ่งที่ระบุในคัมภีร์อัลกุรอานไว้ชัดเจนก็คือ พระเจ้าสนับสนุนให้แม่เลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนมจนกระทั่งอายุครบ 2 ปี และเป็นเหตุผลทำนองเดียวกันที่ทำให้ชาวคริสต์ในยุคแรกๆ นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยเชื่อว่านมแม่คือ ‘เลือดสีขาว’ ที่กลั่นออกมาจากอกและเป็นอาหารมงคลที่พระแม่มารีย์มอบให้แก่พระคริสต์ครั้งยังเป็นทารก หลักฐานคือบรรดาภาพวาด The Nursing Madonna [3] อิริยาบถพระแม่มารีย์ขณะให้นมบุตรหลากหลายเวอร์ชันตลอดเวลานับพันปีที่ตอกย้ำความเชื่อและค่านิยมการให้นมแม่ในสังคมชาวคริสต์เรื่อยมา กระทั่งวันนี้กลุ่มรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องนมแม่บางกลุ่ม ชัดหน่อยก็เช่น องค์กรลาลีเช (La Leche League International) ในอเมริกา ก็นับว่าได้รับอิทธิพลทางความเชื่อเรื่องนมแม่มาจากคริสตศาสนา ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีเหตุผลสนับสนุนเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น

(2) 

พูดได้ว่าเรื่องของ ‘น้ำนม’ สำหรับเลี้ยงดูทารกนั้นเป็นค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และถูกควบคุมด้วยกลไกอันหลากหลายมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ และถ้าหากขยับมามองในช่วงเวลาใกล้ตัวขึ้นหน่อย จะพบว่าระยะร้อยปีที่ผ่านมากลไกที่ทำให้กระแส ‘โปรนมแม่’ และ ‘โปรนมผง’ สลับกันขึ้นครองความนิยมในแวดวงแม่และเด็กนั้นมักเป็นเรื่องของอำนาจรัฐและระบบทุน โดยเฉพาะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ครั้งที่โลกตะวันตกกำลังเชิดชูความรู้ทางวิทยาศาสตร์กันแบบสุดๆ การให้นมลูกยุคนั้นจึงต้องมีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับด้วยเช่นกัน ‘นมดัดแปลงสูตรสำหรับทารก’ (infant formula) หรือที่เรียกกันว่านมผง ซึ่งสามารถตรวจสอบคุณค่าทางสารอาหารและกระบวนการผลิตได้อย่างชัดเจน จึงกลายเป็นอาหารสำหรับเด็กที่รัฐแนะนำว่าดีกว่าสำหรับทารก โรงพยาบาลรัฐทั้งในอเมริกาและยุโรปต่างมอบนมผงให้แม่มือใหม่นำกลับบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในอีกแง่ การเลี้ยงลูกด้วยนมผงในยุคนั้นอาจเท่ากับการสะท้อนภาพลักษณ์ของแม่หัวก้าวหน้าผู้ยืนอยู่บนข้อมูลที่จับต้องได้

ความนิยมนมผงขยายจากโลกตะวันตกสู่อีกหลายมุมโลก กระทั่งย่างเข้ายุคทศวรรษ 1970 จึงเริ่มมีงานวิจัยตีพิมพ์ตัวเลขการตายของทารกในประเทศด้อยพัฒนาแถบเอเชียและแอฟริกา และชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่ามันสอดคล้องกับจำนวนบริษัทนมผงข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นต่อเนื่องมานานหลายปีหรือไม่อย่างไร

น่าเสียดายที่เรื่องร้ายไม่หักมุม เมื่อผลวิจัยชี้ว่าอัตราการตายของทารกนับล้านเกี่ยวกับนมผงจริง แต่เกี่ยวกับ ‘การชงและการตลาด’ มากกว่าเกิดจากปัญหาด้วยตัวมันเอง เนื่องจากน้ำที่ใช้ล้างขวดนมหรือใช้สำหรับชงนมผงนั้นล้วนปะปนเชื้อแบคทีเรีย และแม้จะมีข้อความเตือนข้างกล่องให้ต้มน้ำอย่างน้อย 20 นาทีก่อนใช้ชงนม แต่นั่นก็เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงเกินกว่าแม่ผู้ยากไร้จะจ่ายได้ ผลลัพธ์สุดท้ายจึงกลายเป็นโศกนาฏกรรม

เรื่องลุกลามจนเกิดการย้อนตรวจสอบแคมเปญโฆษณาของบริษัทนมผงและพบว่าส่วนมากอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งยังมีลับลมคมในเรื่องผลประโยชน์กับโรงพยาบาลในการซื้อขายนมผงแจกแม่มือใหม่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่นานหลังจากนั้นองค์กรระหว่างประเทศผู้ดูแลเรื่องสุขภาวะโดยตรงอย่างยูนิเซฟและ WHO ต่างออกแถลงการณ์จับตามองบริษัทนมผงอย่างใกล้ชิด พร้อมออกแคมเปญโปรนมแม่กันอย่างขึงขังมาจนถึงปัจจุบัน

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็นแนวทางกระแสหลักในการเลี้ยงดูทารกมานับแต่นั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วล้วนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ก็ยังมีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นสวัสดิการพื้นฐานอย่างเปิดเผย กับการออกรัฐบัญญัติเพื่อการบริบาลที่จ่ายได้สมัยรัฐบาลบารัค โอบามาหรือ ‘โอบามาแคร์’ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องปั๊มนม พร้อมสนับสนุนให้เอกชนจัดสรรพื้นที่สำหรับให้นมบุตรอย่างจริงจัง จากนั้นมูลค่าทางการตลาดของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนมแม่ในอเมริกาก็ไม่เคยปรากฏกราฟขาลงอีกเลยจนทุกวันนี้

ปัจจัยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ขอเรียกว่า ‘ภาวะนมเฟ้อ’ โดยเฉพาะในกลุ่มแม่ชนชั้นกลางที่มีกำลังจ่ายเพื่อซื้อเครื่องปั๊มนมและตู้แช่พิเศษที่มีความเย็นอยู่ในระดับ -15 องศาเซลเซียสสำหรับสต๊อกน้ำนมเก็บไว้ได้นานนับเดือน และถ้าว่ากันตามจริง นั่นก็ไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารที่ถูกผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่ประเมินความต้องการของตลาดให้ดี และควบคุมการผลิตให้คุณภาพและปริมาณสอดคล้องกันอย่างสม่ำเสมอ ในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นขยะอาหารหรือ food waste ไปอย่างน่าเสียดาย

ยังไม่นับว่าเมื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็นคุณค่าทางสังคมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือ แรงกดดันบางอย่างย่อมกดลงบนบ่าของบรรดาคุณแม่หนักขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนและบริบทชีวิตของแม่แต่ละคนไม่เอื้อให้เลี้ยงลูกด้วยวิธีการเหมือนๆ กัน แรงกดดันที่เกิดขึ้นก็อาจทำร้ายถึงระดับทำลายสุขภาพจิต จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) หนึ่งในภัยเงียบที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ใจความสำคัญของข้อถกเถียงเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือนมชนิดอื่นดีกว่ากันจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อยุติ เพราะแก่นของคำถามนี้น่าจะอยู่ตรง ‘คุณภาพ’ ของทางเลือกเหล่านั้นมากกว่า และคุณภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไร้สวัสดิการจากรัฐที่เข้าใจภาพรวมในเรื่องนี้ และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องกลับมาตั้งคำถามกับสวัสดิการสำหรับแม่และเด็กของประเทศไทย รัฐที่มีความเหลื่อมล้ำสูงลำดับต้นๆ ของโลก ว่าการมอบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจำนวน 600 บาทต่อเดือนสำหรับแม่ผู้ยากไร้ ที่ต้องพิสูจน์ความจนกันเหงื่อตกกว่าจะได้มาและทำให้มีเด็กยากจนกว่า 1 ใน 3 เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ‘ขั้นต่ำ’ ที่พวกเขาควรได้ นั้นเพียงพอกับการสร้างทางเลือกในการเลี้ยงดูเด็กอันหลากหลายและมีคุณภาพแล้วจริงๆ หรือยัง

เรื่องน่าจับตามองหลังจากนี้ไปจนถึงหลังการเลือกตั้งปี 2566 จึงรวมถึงนโยบายสวัสดิการแม่และเด็กที่เข้าใจภาพรวม โดยเฉพาะการผลักดันสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ให้กลายเป็นความจริง หลังภาคประชาสังคมและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ปี 2559 และรัฐได้ขยายความคุ้มครองขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่าครอบคลุมและสมเหตุสมผลในการจัดสรรงบประมาณ เพราะแท้จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงข้อถกเถียงเรื่องว่า ‘เราควรเลี้ยงลูกด้วยนมอะไรกันดี’ หรือ ‘แม่ที่ดีมีหน้าที่อะไรบ้าง’ แต่คือการร่วมกันสร้างทรัพยากรบุคคลของชาติทุกๆ คนให้เติบโตขึ้นอย่างสุขภาพดีและมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน


อ้างอิง/เอกสารประกอบการเขียน

  • นม! ความโกลาหลของอาหารที่ยาวนานนับหมื่นปี = MILK! A 10,000-year food fracas.—กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2563.
  • WHO และ UNICEF สนับสนุน “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” แม้รัฐในอินเดียยังพบว่าเด็กอายุ 6-8 เดือน ร้อยละ 61 ยังขาดสารอาหารที่สำคัญตามช่วงวัยและน้ำนมแม่ ดู https://www.sdgmove.com/2022/08/11/who-unicef-breastfeeding-waba-baby/

References
1 Larissa Waters breastfeeds her baby Alia Joy during a session in the Senate Chamber at Parliament House in Canberra, Australia, Tuesday, May 9, 2017. Mick Tsikas—AP
2 https://www.silpa-mag.com/history/article_42368
3 The Nursing Madonna by Pittore Italiano (1270s)

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save