fbpx
'ปีศาจ' ความเหลื่อมล้ำ และกาลเวลา

‘ปีศาจ’ ความเหลื่อมล้ำ และกาลเวลา

ธร ปีติดล เรื่อง

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

‘สาย สีมา’ ตอบโต้ ‘ท่านเจ้าคุณ’ บิดาของสาวคนรักต่างฐานันดร ด้วยวรรคอมตะข้างต้น หลังจากถูก ‘ท่านเจ้าคุณ’ และเหล่าเพื่อนชนชั้นสูงดูถูกเหยียดหยาม และสั่งสอนในความ “ไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา”

‘สาย สีมา’ เป็นตัวละครหลักในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ งานประพันธ์ชิ้นเอกของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือชื่อจริง ศักดิชัย บำรุงพงศ์ อาชีพนักการทูต[3] เสนีย์ใช้นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมไทยในเวลานั้น ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่เงื่อนปมแห่งกาลเวลา เมื่อคุณค่าเก่า เช่น การให้คุณค่ากับสายเลือด ฐานันดร และประเพณี ปะทะกับการเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่ เช่น การที่ชนต่ำชั้นมีโอกาสยกระดับฐานะทางสังคมผ่านการศึกษา รวมถึงการให้คุณค่ากับความเท่าเทียมและศักยภาพของมนุษย์

ปีศาจ | ภาพจากสำนักพิมพ์มติชน

ปีศาจ[1] [2] | ภาพจากสำนักพิมพ์มติชน

นวนิยาย ปีศาจ ถ่ายทอดการปะทะกันระหว่างคุณค่าเก่าและใหม่นี้ ผ่านการเล่าถึงชีวิตและความรักของคนหนุ่มสาวที่เป็นตัวแทนของคุณค่าใหม่ ตัวเอกของเรื่อง สาย สีมา เป็นทนายที่มีพื้นเพมาจากชาวนาในชนบท แม้เขาจะขยับฐานะตนเองจนได้เป็นทนายให้กับธนาคารใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ที่จะเข้าใจและคอยช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยาก

รัชนี นางเอกของเรื่อง มาจากครอบครัวที่สูงศักดิ์ พ่อของรัชนีเป็นอดีตข้าราชบริพารที่ยังยึดติดกับจารีตประเพณี แต่รัชนีเองกลับมีมุมมองต่อสังคมที่ก้าวหน้า เธอมุ่งแสวงหาความหมายของชีวิตโดยไม่ต้องการถูกกักกันไว้ด้วยกรอบของจารีตประเพณี

เมื่อความรักของสาย สีมา และรัชนี ก่อตัวขึ้น ทั้งสองก็ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับ ‘ท่านเจ้าคุณ’ พ่อของรัชนี ผู้มีความคิดรังเกียจการเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่ มองโอกาสทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นความผิดพลาด เพราะทำให้เด็กวงศ์สกุลชั้นสูงต้องปะปนกับเด็กที่มาจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า

สำหรับ ‘ท่านเจ้าคุณ’ สาย สีมาเป็นเพียงชายไร้ชาติตระกูล และการที่คนอย่างสายเข้ามาข้องแวะกับรัชนีถือเป็นความเลวทรามอย่างที่สุด

เสนีย์ เสาวพงศ์ ใช้ ปีศาจ เป็นสัญลักษณ์แทนแนวคิดก้าวหน้าที่เข้ามาหลอกหลอนผู้ยึดติดอยู่กับคุณค่าเก่าและปฏิเสธการยอมรับโลกที่เปลี่ยนแปลง ดังที่ท่านเจ้าคุณรำพึงกับภรรยาหลังจากถูกสาย สีมา ท้าทายกลับว่า

“ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ ฉันไม่อยากเห็นหน้ามันเลยแม้แต่นิดเดียว”

นวนิยายเรื่องนี้เหมือนจะเฉลยปลายทางของผู้คนจากโลกเก่าที่โดนปีศาจหลอกหลอนเช่นนี้ไว้ ด้วยการเน้นย้ำว่าปีศาจที่หลอกหลอนพวกเขานั้น ไม่ได้เกิดมาจากผู้คนที่ผิดแปลก แต่แท้จริงแล้วเกิดจากกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ดังคำกล่าวของ สาย สีมา ต่อหน้าสมาคมคนชั้นสูงที่กำลังเย้ยหยันตัวเขา

“ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ … ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

ท้ายที่สุดแล้ว ปีศาจที่แท้จริงก็คือ ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’

นวนิยายเรื่องนี้จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าอยู่เสมอ โดยเฉพาะสำหรับผู้คนทุกยุคสมัยที่มุ่งหวังให้สังคมก้าวออกจากโซ่ตรวนของคุณค่าเก่าไปสู่เสรีภาพของคุณค่าใหม่

ความเหลื่อมล้ำในปีศาจ

คุณค่าของ ปีศาจ ไม่ได้อยู่ที่การนำเสนอภาพการปะทะกันระหว่างคุณค่าเก่าและใหม่ในสังคมไทยเพียงเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดไว้ได้อย่างดีเยี่ยมคือภาพรายละเอียดของสังคมไทยในอดีต

ปีศาจ เล่าถึงสังคมไทยที่เปี่ยมไปด้วยปัญหาของการเปลี่ยนไม่ผ่าน ไปสู่การมองมนุษย์อย่างทัดเทียมกัน นวนิยายเล่าถึงคำรำพึงของตัวละครที่มีความคิดก้าวหน้า เช่น นิคม ข้าราชการผู้อุทิศตนให้กับการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบทไว้ว่า

“เราได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยยี่สิบปีแล้ว แต่ในการปฏิบัติของเรายังมีความคิดหลายอย่างล้ากว่าสมัย เรายังมีความคิดเก่าๆ สุมเข้าไว้เต็มสมอง บางคนยังถือว่าเขาเป็นคนสูงกว่าราษฎร เป็นนายราษฎร”

เรื่องราวใน ปีศาจ ยังสะท้อนสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในอดีตไว้เป็นอย่างดี สภาพปัญหาที่สาย สีมา ต้องพบเจออยู่เสมอในฐานะทนายความ คือการต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับคดีความด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน หลายครั้งคราที่เขาถูกจ้างวานจากนายหน้าเงินกู้และธนาคารให้เข้าไปขับไล่ลูกหนี้ที่ต้องถูกยึดบ้านและที่ดินของตน ตัวสายเองก็หาทางปฏิเสธบทบาทดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เข้าไปช่วยว่าความให้กับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งที่ดินถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนจากเศรษฐีภายนอก นวนิยายเล่าถึงปัญหาของชาวบ้านกลุ่มนี้ไว้ว่า

“บางคนมีแต่ใบตราจองและใบเหยียบย่ำ เมื่อขอให้ออกโฉนดกลับปรากฏว่าที่นาที่ตนทำมาหากินอยู่โดยถางป่าแสมและชะครามมาด้วยมือของตนเอง กลับกลายเป็นที่ดินของคนอื่น ส่วนบางคนที่มีหน้าโฉนดแต่ก็ปรากฏว่าเกิดมีหน้าโฉนดซ้อนทับกันขึ้น”

ช่วงเวลาที่ ปีศาจ ถูกประพันธ์ขึ้นคือปี พ.ศ. 2496 อันเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไม่นาน และเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังแปรผันอย่างมาก แผ่นดินเพิ่งผลัดเปลี่ยนด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อำนาจทางการเมืองของอดีตผู้นำคณะราษฎรหมดลงอย่างสิ้นเชิง และการเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารที่ถูกค้ำยันไว้ด้วยบทบาทของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น ปีศาจ ช่วยเล่าถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจช่วงนี้ไว้อย่างน่าสนใจในหลายแง่มุม

ประการแรก สภาพความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏใน ปีศาจ เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีการบันทึกทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างเป็นระบบ การอธิบายเส้นทางของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยมักมองข้ามช่วงเวลานี้ โดยเริ่มต้นอธิบายเส้นทางความเหลื่อมล้ำนับตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2500[4] คำอธิบายส่วนใหญ่จึงมักยึดโยงเส้นทางความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุล

ประการที่สอง การฉายภาพความเหลื่อมล้ำในช่วงก่อนยุคสมัยการพัฒนาของสฤษดิ์ จึงมีประโยชน์ยิ่งในการแสดงถึงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ในสังคมไทยก่อนการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างเหล่านั้นฝังอยู่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

สังคมไทยใน ปีศาจ ประกอบด้วยคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างสุดโต่งสองกลุ่ม กลุ่มคนฐานะดี ได้แก่ ชนชั้นผู้ดีเก่าที่หารายได้จากทรัพย์สินที่ตนได้รับตกทอดมา เช่น ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และคนรวยที่มุ่งขยายการครอบครองทรัพย์สินของตน เช่น เศรษฐีใหม่ผู้ร่ำรวยจากการปล่อยเงินกู้และมุ่งยึดที่ดินจากลูกหนี้ที่ขาดชำระ

ในทางกลับกัน กลุ่มคนฐานะต่ำก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยจากอาชีพของตน เช่น ชาวนาที่หารายได้จากผลิตผลได้เพียงน้อยนิด และแรงงานที่ “หาวันกินได้เพียงครึ่งวันเท่านั้น” นอกจากรายได้ที่ต่ำต้อยและหนี้สินที่พอกพูน คนกลุ่มนี้ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองและกฏหมาย กลายเป็นเป้าของการเอารัดเอาเปรียบ เช่นชาวบ้านที่ถูกอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนโดยคนอื่น

โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำในอดีตที่ถูกถ่ายทอดไว้ใน ปีศาจ นั้นเป็นเช่นไร และมีนัยยะสำคัญอย่างไร?

หากมองผ่านกรอบทางทฤษฏีเรื่องโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำใน Capital in the 21st Century[5] โดย Thomas Piketty แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้คนในสังคมใดสังคมหนึ่งย่อมถูกขับเคลื่อนมาจากแรงผลักสองแบบ

แบบแรก คือ ความเหลื่อมล้ำที่ถูกผลักดันด้วย ‘ความแตกต่างในการครอบครองทุน’ โดยทุนในที่นี้โยงกับการครอบครองทรัพย์สิน คนกลุ่มที่ครอบครองความมั่งคั่งในทรัพย์สินไว้มาก ก็ย่อมหารายได้จากทุนหรือทรัพย์สินของตนได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น

แบบที่สอง คือ ‘ความแตกต่างในรายได้จากแรงงาน’ ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพความแตกต่างในค่าจ้างที่ปรากฏในสังคมนั้นๆ

Piketty ยกตัวอย่างสังคมที่ความเหลื่อมล้ำถูกผลักดันจากความแตกต่างในการครอบครองทุน ว่าคือสังคมยุโรปในอดีตกว่าร้อยปีที่แล้ว คนชั้นสูงในสังคมมีฐานะเป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนาง สามารถเก็บค่าเช่าจากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของตนเองจนมีชีวิตสุขสบายได้โดยที่แทบจะไม่ต้องทำงานใดๆ ในขณะที่สังคมที่ความเหลื่อมล้ำถูกผลักดันด้วยความแตกต่างในรายได้จากแรงงาน คือสังคมอเมริกันทุกวันนี้ กลุ่มผู้มีรายได้สูงมักจะเป็นกลุ่มผู้บริหารในบริษัทยักษ์ใหญ่ และมีโอกาสได้รับรายได้ที่สูงลิบเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ

เมื่อมองด้วยกรอบทฤษฎีนี้ เราอาจจัดประเภทความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่ใน ปีศาจ ได้ว่ามีลักษณะที่ยึดโยงกับความเหลื่อมล้ำในการครองครองทุน จากการที่ชนชั้นสูงกลุ่มใหญ่ใน ปีศาจ ยังเป็นเหล่าผู้ดีเก่าที่สามารถหารายได้หลักจากทรัพย์สินที่มาพร้อมกับฐานันดร โดยเฉพาะจากที่ดินที่ตนเองอาศัยอำนาจทางการเมืองเข้าถึงสิทธิครอบครองได้ก่อนคนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามแสวงหาความมั่งคั่งในทรัพย์สินให้กับตนเองอย่างไม่เลือกวิธีการ ทั้งผ่านการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและกฎหมายกับคนชั้นล่าง รวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุในธุรกิจการเงินการธนาคาร

เช่นนี้แล้ว รากของความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาแต่ช้านาน คือความเหลื่อมล้ำจากความแตกต่างในการครอบครองทุน ผู้ดีเก่าหรือเศรษฐีใหม่ล้วนแต่ใช้การสะสมทุนทรัพย์เป็นหลักยึดให้กับความมั่งคั่งของตน ในขณะที่กลุ่มคนฐานะยากจนกลับขาดโอกาสในการสะสมทุนทรัพย์ แม้แต่บ้านและที่ดินเพียงเล็กน้อยก็ยังถูกยึดเอาไปอย่างง่ายดาย

ปีศาจ ความเหลื่อมล้ำ และกาลเวลา

ภาพความเหลี่อมล้ำในสังคมไทยที่ ปีศาจ ฉายเอาไว้ เป็นภาพจากกาลเวลาเมื่อหกสิบกว่าปีที่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจากเวลานั้น มีความสำคัญกับการเข้าใจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ประการแรก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจากความแตกต่างในการครอบครองทุนได้เปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ อย่างไร หากถามคำถามเดียวกันกับสังคมยุโรปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จะพบว่าความเหลื่อมล้ำที่โยงอยู่กับฐานันดรถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะภาวะสงครามได้ทำลายความมั่งคั่งของชนชั้นสูงเดิมในยุโรป

อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว กาลเวลาที่แปรเปลี่ยนกลับไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในระดับเดียวกัน สังคมไทยไม่ได้อยู่ในจุดศูนย์กลางของสงครามโลกทั้งสองครั้ง แม้สังคมไทยจะผ่านวิกฤตความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาบ้าง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้มีเหตุการณ์ใดๆ ที่มีพลังพอจะทำลายฐานของความเหลื่อมล้ำที่ถูกถ่ายทอดมาจากอดีตนี้ได้

แม้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภายหลัง จะเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำไปในทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กล่าวคือสร้างกลุ่มคนที่มีรายได้จากแรงงานมากขึ้น และผลักดันให้ความเหลื่อมล้ำเกิดมาจากความต่างในค่าจ้างมากขึ้น แต่เราก็ยังมองได้ว่ารากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ความได้เปรียบจากชาติกำเนิดที่แตกต่าง การอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแสวงหาช่องทางสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ยังถูกถ่ายทอดและเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเสมอมา เมื่อคนกลุ่มใดสร้างฐานะให้ตนเองขึ้นมาได้ แม้จะผ่านเส้นทางใหม่ๆ เช่น ค่าจ้างสูง สุดท้ายก็มักจะผันตนเองเข้ามาใช้ประโยชน์จากกลไกเดิมนี้อยู่ดี

ประการที่สอง หากมองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจย่อมยึดโยงอยู่กับคุณค่าในสังคม ดังคำอธิบายของ Piketty ที่ว่า สิ่งที่ธำรงให้ความเหลื่อมล้ำคงอยู่ได้ในสังคมหนึ่งๆ ก็คือคุณค่าที่ถูกผลิตมาเพื่อให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำ

สังคมที่ความเหลื่อมล้ำยึดโยงกับ ‘ชาติกำเนิดที่แตกต่าง’ จะพยายามสร้างความเชื่อว่าชาติกำเนิดที่สูงส่งเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการยอมรับนับถือในตัวเอง ขณะที่สังคมที่ความเหลื่อมล้ำถูกขับด้วย ‘ความแตกต่างในค่าจ้างอย่างมหาศาล’ ก็มักจะสร้างความเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำในค่าจ้างนั้นเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการให้รางวัลกับความสามารถที่สูงกว่า คำถามที่ตามมาสำหรับสังคมไทยก็คือ คุณค่าที่เชื่อมโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาบ้างหรือไม่

ใน ปีศาจ คุณค่าที่ให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำถูกสะท้อนผ่านความคิดของท่านเจ้าคุณ ผู้มองความดีงามของสังคมเชื่อมโยงกับการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และมองว่าการทำลายเส้นแบ่งของลำดับชั้นนี้เป็นความเลวทราม ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใครๆ จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องอยู่กับร่องกับรอย โดยไม่ต้องด้วยขนบประเพณี คนที่ผุดเกิดมาจากป่าดงไหนก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้ ฉันเห็นว่าเจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้คนเลวลงมากกว่าที่จะดีขึ้น”

ความคิดแบบ ‘ท่านเจ้าคุณ’ ก็ยังคงถูกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน แม้ความคิดจะขยับไปจากเดิมบ้างเมื่อมีคนกลุ่มใหม่ๆ ก้าวเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนในเมือง ซึ่งนำพาเอาความเชื่อเรื่องการขยับฐานะผ่านการศึกษาและความพยายามทำมาหากินเข้ามาสร้างเป็นคุณค่าใหม่ แต่ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า คุณค่าใหม่ที่รองรับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้น ไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าเก่าเสียทีเดียว ทว่ายังผสมผสานกันไปได้

การที่คุณค่าเก่าที่ให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำ สามารถกลายพันธุ์และผสานไปกับคุณค่าใหม่ได้ อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นคนชั้นกลางระดับบนในเมือง ร่วมประสานเสียงไปกับกลุ่มคนที่อ้างฐานันดรอันสูงส่ง เพื่อปฏิเสธการก้าวข้ามเส้นแบ่งทางสังคมของคนฐานะด้อยกว่าจำนวนมากในชนบท มองว่าการมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองของคนชนบทเป็นพิษภัยของสังคมมากกว่าความก้าวหน้า และมองคนชนบทที่พยายามยกระดับชีวิตให้เทียบเท่าคนชั้นกลางว่าเป็นเรื่องที่ผิดแปลกทางศีลธรรม

อาจเพราะรากฐานแห่งความเหลื่อมล้ำและคุณค่าเก่าที่ค้ำยันมันไว้ ยังคงถูกถ่ายทอดมาสู่ปัจจุบัน ปีศาจ จึงยังเป็นนวนิยายที่ไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลาที่แปรเปลี่ยน

แม้กาลเวลาจะสร้างปีศาจขึ้นมาหลอกหลอนผู้คนที่ยังอยู่ในโลกเก่าความคิดเก่าอยู่เสมอ แต่สำหรับสังคมไทย ปีศาจแห่งกาลเวลาดูจะยังไม่สามารถพัดพาโลกเก่าและความคิดเก่าให้หายลับเลือนไปอย่างหมดสิ้นได้เช่นกัน

เชิงอรรถ

[1] เสนีย์ เสาวพงศ์ (2559). ปีศาจ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

[2] ผู้เขียนขอขอบคุณคุณดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และเจ้าของร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books and cafe) ผู้ที่เอื้อเฟื้อนวนิยายปีศาจฉบับที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ ให้กับผู้เขียน ผู้เขียนยังรู้สึกระลึกในน้ำใจถึงทุกวันนี้

[3] คล้ายกันกับสาย สีมา ตัวเอกในเรื่องปีศาจ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ มีภูมิหลังจากครอบครัวชาวนา ต่อมาได้เข้าเรียนทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ศักดิ์ชัยเป็นลูกเขยของ เฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขาธิการในรัชกาลที่ 8 และผู้ต้องหาจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ศักดิชัยแต่งงานกับเครือพันธ์ ลูกสาวของเฉลียวในปี 2496 ปีเดียวกับที่เขาเขียนนวนิยายเรื่องปีศาจ สองปีให้หลัง เฉลียวถูกประหารชีวิต

[4] ข้อมูล Gini ที่หาได้ย้อนหลังของประเทศไทยมักจะเริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1960 ตัวอย่างเช่นจากงานของผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เรื่อง Unequal Thailand: Aspects of Income, Wealth and Power (2015, Singapore: NUS Press)

[5] Piketty, Thomas (2013). Capital in the Twenty-First CenturyCambridge: Belknap Press of Harvard University Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save