fbpx
ไม่ใช่แค่โควิดส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ แต่ความเหลื่อมล้ำก็ส่งผลต่อการระบาดของโควิด

ไม่ใช่แค่โควิดส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ แต่ความเหลื่อมล้ำก็ส่งผลต่อการระบาดของโควิด

ยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งระบาดหนัก

‘The Inequality Virus’ หรือไวรัสแห่งความไม่เท่าเทียม คือคำที่ OXFAM International องค์กรการกุศลที่มุ่งทำงานแก้ปัญหาความยากจน นิยามถึงไวรัส ‘โควิด-19’ ผ่านรายงานผลสำรวจความเหลื่อมล้ำทั่วโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 1,000 คนแรกใช้เวลาเพียง 9 เดือนตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในการฟื้นตัวจากปัญหาการเงิน ขณะที่คนจนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี นานกว่าคนรวยถึง 14 เท่า

ถึงแม้จะไม่มีรายงานของ OXFAM ออกมา แต่ผู้คนก็คงสัมผัสได้ด้วยตัวเองว่าโควิด-19 กำลังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมที่แต่เดิมก็หนักอยู่แล้วให้หนักข้อขึ้นไปอีก แต่กลับกันก็มีผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า นอกจากโควิดจะส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมแล้ว ความไม่เท่าเทียมก็มีผลต่อการแพร่ระบาดเหมือนกัน

ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (Center on International Cooperation, New York University) เผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อ ‘Inequality, Lockdown, and COVID-19: Unequal Societies Struggle to Contain the Virus’ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสำรวจสถานการณ์ใน 70 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ในช่วง 21 สัปดาห์แรกของการระบาด ระหว่างกลางเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2020

งานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความไม่เท่าเทียมและความรุนแรงของการแพร่ระบาดด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ โดยใช้ตัวเลขสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ในแต่ละประเทศ โดยหาก Gini สูง แปลได้ว่าประเทศนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูง พร้อมกับดูความเคลื่อนไหวของตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศ

ผลพบว่าตัวเลข Gini มีผลต่อตัวเลขการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของ Gini 1 จุด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1.34 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage Points) และหากพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบยอดรวมตลอด 21 สัปดาห์ ก็พบว่า ถ้า Gini เพิ่ม 1 จุด จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมสูงขึ้นถึงร้อยละ 32.3

งานวิจัยได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกรณีของประเทศอุรุกวัยกับปานามา ที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อย่างตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) จำนวนประชากร และสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน แต่มีระดับความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมาก โดยอุรุกวัยมีค่า Gini อยู่ที่ 39.7 ขณะที่ปานามาอยู่ที่ 49.2 ซึ่งแปลว่าปานามามีความเหลื่อมล้ำหนักกว่า

เมื่อดูข้อมูลตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าในช่วงสัปดาห์แรกๆ ทั้งสองประเทศยังคงมีตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเริ่มแตกต่าง โดยปานามาที่มีความไม่เท่าเทียมสูงกว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงทิ้งห่างอุรุกวัย และเมื่อผ่านไป 21 สัปดาห์ พบว่าอุรุกวัยมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อ 367 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ปานามาสูงถึง 15,624 คนต่อประชากร 1 ล้านคน รุนแรงกว่าอุรุกวัยถึง 43 เท่า ถึงแม้ปานามาจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดกว่าอุรุกวัยมากก็ตาม นี่จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นตัวแปรที่มีผลมากต่อสถานการณ์การระบาด

ทำไมความเหลื่อมล้ำถึงส่งผลต่อการแพร่ระบาด

งานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อความรุนแรงในการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่ามี 5 ปัจจัยหลัก

ประการแรก สังคมที่มีความไม่เท่าเทียมสูงส่งผลให้คนในสังคมเชื่อฟังคำแนะนำจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ น้อย โดยงานวิจัยใช้วิธีสำรวจจากประชากร 140,000 คนจาก 140 ประเทศทั่วโลก ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติได้ผลว่าค่า Gini กับระดับการเชื่อฟังแพทย์มีความสัมพันธ์กันจริง และพบด้วยว่าสังคมที่คนเชื่อฟังบุคลากรทางการแพทย์น้อย ยังมีผลให้อัตราการระบาดของโควิด-19 สูง

ประการที่สอง กลุ่มคนรายได้น้อยในสังคมที่มีเงินเก็บออมต่ำ มักประทังชีวิตได้ยากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เมื่อเทียบกับกลุ่มคนมีเงินออมสูง ทำให้กลุ่มคนรายได้น้อยมักจะไม่สามารถกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านได้ แต่ต้องออกไปหารายได้นอกบ้าน ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดโรค

ประการที่สาม การมีความเหลื่อมล้ำในสังคมย่อมแปลว่ามีคนบางกลุ่มที่เข้าถึงบริการสาธารณะ อย่างบริการสาธารณสุขและการศึกษาได้ยากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ โดยงานวิจัยพบว่าค่า Gini ยิ่งสูง ส่งผลให้การเข้าถึงบริการสาธารณะยิ่งน้อย และยิ่งมีการเข้าถึงบริการสาธารณะน้อย สังคมนั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเจอการแพร่ระบาดสูง

ประการที่สี่ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ มักมีการอยู่อาศัยของกลุ่มคนรายได้น้อยอยู่รวมกันในชุมชนแออัด และความแออัดของพื้นที่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การระบาดของโควิด-19

ประการสุดท้าย ภายใต้ความเหลื่อมล้ำสูง สังคมมักมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกีดกันอย่างเป็นระบบ (Systemic Exclusion) ซึ่งมีผลให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงกว่าคนกลุ่มหลักของสังคม เพราะอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความช่วยเหลือจากทางการได้มากเท่าคนอื่น

อย่าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเป็นโรคเรื้อรัง

หากจะโทษความเหลื่อมล้ำอย่างเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานการณ์การระบาด งานวิจัยยังพูดถึงอีกปัจจัยสำคัญคือประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมืออย่างทันท่วงที โดยพบว่าหากดัชนีความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลเพิ่ม 1 จุด จะส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อสัปดาห์ลดลง 0.63 จุดเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ประสิทธิภาพของรัฐบาลยังเกี่ยวโยงถึงระดับความเข้มงวดในการล็อกดาวน์ ซึ่งก็เป็นอีกตัวชี้วัดถึงความสำเร็จในการคุมการระบาด โดยแน่นอนว่ายิ่งล็อกดาวน์เข้มงวด ก็ยิ่งควบคุมได้ดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ตรงที่ว่า ประสิทธิภาพในการรับมือของรัฐบาลอาจคุมการระบาดได้ผลในช่วงแรกๆ ของวิกฤตเท่านั้น ยิ่งนานวันเข้า ต่อให้รัฐบาลจะพยายามปิดประตูหนาแน่นป้องกันโควิดเท่าไหร่ สุดท้ายแล้ว หากประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำสูง ความเหลื่อมล้ำจะเป็นตัวใส่เกียร์เร่งให้โควิดเข้าไประบาดหนักขึ้นเอง เพราะต้องอย่าลืมว่าในสังคมเหลื่อมล้ำ ยังมีคนจำนวนมากที่อยู่ชายขอบ ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่อาจยกการ์ดสูงได้เหมือนคนอื่นๆ เมื่อไวรัสเหยียบย่างสู่คนกลุ่มนี้ จึงหนีไม่พ้นที่การระบาดใหญ่ระลอกใหม่จะตามมาในวันใดวันหนึ่ง อย่างหลายประเทศที่คุมโรคได้ดีในตอนแรก แต่ต้องเจอการระบาดหนักขึ้นกว่าเดิม เมื่อโรคเข้าสู่ชุมชนแออัดหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คงอยู่ จะมีผลต่อการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดความกังวลว่า ประเทศที่ยังมีคนบางกลุ่มที่เข้าถึงวัคซีนได้ยากและช้ากว่าคนอื่น จะเจอการระบาดที่ยืดเยื้อ และมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งทุกวันนี้ เราเห็นได้จากกรณีของอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ยากที่ไม่อาจแก้ได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน แต่ในระยะที่วิกฤตโควิดยังคงอยู่ อย่างน้อยที่สุด การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยการเอาใจใส่ดูแลกลุ่มคนชายขอบในสังคมมากขึ้นเป็นพิเศษ และเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว ก็แน่นอนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาว เพราะหากยังปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำเป็นโรคเรื้อรัง สังคมก็ยากที่จะต้านทานภัยคุกคามอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาอีกในอนาคต

นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตัดวงจรความเหลื่อมล้ำก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในประเทศอีกทางหนึ่งเหมือนกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023