fbpx
จาก Industry 4.0 ถึงสงครามการค้าสหรัฐ

จาก Industry 4.0 ถึงสงครามการค้าสหรัฐ

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ปี 2011 ทั่วโลกได้ยินคำว่า ‘อุตสาหกรรม 4.0’ หรือ ‘Industry 4.0’ เป็นครั้งแรก ในงาน Hannover Messe ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

งานนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนเมษายน ณ เมือง Hannover ประเทศเยอรมัน โดยในวาระการเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 คำว่า Industry 4.0 ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อบอกพวกเราว่าโลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการแล้ว ในปี 2011

แน่นอนว่า 4.0 ย่อมเกิดขึ้นหลัง 1.0 2.0 และ 3.0 คำถามที่สำคัญคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้ง เกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครคือผู้นำ และใครคือผู้พ่ายแพ้ที่ไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

Silk Road & Indian Ocean Traders

โลกยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ.1 – 1760) โลกในวันนั้นคือโลกที่ทุกอย่างผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือ ด้วยวิธีการแบบหัตถกรรม ช่างฝีมือหนึ่งคนจะบรรจงผลิตสินค้าทั้งหมดจากวัตถุดิบที่ผลิตด้วยตนเองทั้งหมด ทุกกระบวนการ ผลผลิตทุกอย่างขึ้นกับฝีมือ หรือ Craftmanship ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตแต่ละราย สั่งสมและสืบทอดกันในครอบครัว

แน่นอนว่าผู้นำของโลกในยุคนี้คือ จีนและอินเดีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 จนถึงช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 สองประเทศนี้ครองส่วนแบ่งมูลค่าผลผลิตในโลกสูงถึงกว่า 70% ถนนทุกสายมุ่งสู่อินเดียและจีนเพื่อทำการค้า สินค้าราคาแพงจากอินเดียและจีน ถูกนำออกไปขายผ่านเส้นทางสายไหมบนแผ่นดิน (Silk Road) และเส้นทางสร้อยไข่มุกในมหาสมุทร (String of Pearls) เพื่อนำไปขายในทวีปยุโรป แต่แล้วความมั่งคั่งของทั้ง 2 ประเทศนี้ก็สิ้นสุดลง เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1

A history of industrial revolutions: Industry evolution with key developments

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (ค.ศ.1760 – 1840) Adam Smith ตีพิมพ์หนังสือ ‘An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations’ ในปี 1776 คือการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ระบบแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) เข้ามาใช้ในการผลิต กระบวนการผลิตไม่ได้เกิดจากช่างฝีมือเพียงคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอีกต่อไป หากถูกแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้คนงานแต่ละคน รับผิดชอบเฉพาะขั้นตอนการผลิตของตน ทุกคนผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสามารถผลิตสินค้านั้นได้อย่างรวดเร็วในจำนวนที่มากยิ่งขึ้นหลายเท่าทวีคูณ เนื่องจากเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน (Gains from Specialization)

ตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดของ Smith ก็คือโรงงานเข็ม ที่ต้องมีกระบวนการผลิตด้วยกันทั้งสิ้น 18 ขั้นตอน ตั้งแต่การถลุงเหล็กจนกลายเป็นเข็มเย็บผ้า ซึ่งแน่นอนว่าถ้าให้ช่างฝีมือ 1 คน ทำงานทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบในเวลา 1 วัน เขาอาจผลิตเข็มไม่เสร็จแม้แต่เล่มเดียว แต่ถ้าคนงาน 10 คน ทำงานที่เน้นการทำงานเฉพาะด้าน แต่ละคนรับผิดชอบงานเพียง 1-2 หน้าที่ คนงาน 10 คน ใน 1 วัน จะสามารถผลิตเข็มได้ 48,000 เล่ม หรือโดยเฉลี่ยคนงาน 1 คน สามารถผลิตเข็มได้มากกว่า 4,800 เล่ม/วัน

ในขณะที่แหล่งพลังงานซึ่งเดิมเคยขึ้นกับแรงงานคน แรงงานสัตว์ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรไอน้ำ ที่ถูกพัฒนาโดย James Watt จนสามารถใช้งานได้จริงในโรงงานในปี 1781 การผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ทั้งวันทั้งคืนได้เกิดขึ้นแล้ว และผู้นำในโลกยุคนี้คือ ประเทศในทวีปยุโรป

เมื่อยุโรปผลิตโรงงานอุตสาหกรรม นั่นหมายความยุโรปต้องการวัตถุดิบจำนวนมหาศาล ทรัพยากรและวัตถุดิบถูกแย่งกันซื้อป้อนโรงงานจนมีราคาสูง เพราะความขาดแคลนตามอุปสงค์ส่วนเกิน และแน่นอน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ก็หมายถึงต้องขายสินค้าในราคาที่สูง และไม่สามารถแข่งขันได้

คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับต้นทางของการผลิตก็คือ ทำอย่างไรถึงจะหาทางออกให้กับปัญหานี้ได้ ในขณะเดียวกันที่ปลายทางของกระบวนการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก สินค้าเหล่านั้นจะนำไปขายที่ไหน ที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดจากอุปทานส่วนเกิน เพราะสินค้าล้นตลาด หมายถึงต้องแข่งกันขายในราคาที่ต่ำลง เมื่อขายได้ราคาต่ำแต่ต้องซื้อวัตถุดิบแพง นั่นหมายถึงการขาดทุน และหมายความว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการผลิตในโรงงานก็ไม่ได้ผลตอบแทนแต่อย่างไร

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีทำให้เดินเรือได้ไกลขึ้น การผลิตตามความชำนาญทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ อาทิ ทหารอาชีพ นักเดินเรือ ฯลฯ เมื่อคำถามเกิดขึ้นและปัจจัยพร้อม ลัทธิพาณิชนิยมและการล่าอาณานิคมก็กลายเป็นคำตอบ เพราะวัตถุดิบที่ถูกที่สุดคือการบังคับเอามาจากอาณานิคม เช่นเดียวกับตลาดขนาดใหญ่ คือการบังคับขายให้กับอาณานิคม และในที่สุดในยุค Industry 1.0 จีนและอินเดียที่เคยยิ่งใหญ่ก็กลายเป็นผู้แพ้ กลายเป็นเมืองขึ้น ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปที่ปรับตัวได้ทันคือผู้ชนะ

2,000 years of economic history in one chart

แต่ยุโรปก็ชนะอยู่ได้ไม่นาน จักรวรรดินิยมและการไล่ล่าอาณานิคม ก็นำยุโรปเข้าสู่สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง (1914-1918 และ 1939-1945) และแน่นอนว่าในขณะที่ยุโรปกำลังอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (1870-1914) ขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง นั่นคือในสหรัฐอเมริกา

โรงเชือดสัตว์ใน Cincinnati มลรัฐ Ohio คือโรงงานประเภทแรกๆ ที่เริ่มนำเอาโซ่มาขึงเข้ากับระบบรอก และสร้าง ‘สายพานการผลิตอุตสาหกรรม’ (Industrial Assembly Line) ขึ้นในปี 1870 ก่อนที่จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ความเร็วในการผลิตไม่ได้ขึ้นกับคนทำงานอีกต่อไป หากแต่ขึ้นกับความเร็วของสายพานที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ที่ใช้แหล่งพลังงานใหม่ คือน้ำมันดีเซล ซึ่งสะดวกง่ายดายมากกว่าการใช้เครื่องจักรไอน้ำอย่างมาก

ทั้งหมดนี้ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถผลิตสินค้าราคาถูกจำนวนมากแบบ Mass Production ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกับราคาที่ลดต่ำลงอย่างยิ่ง คือ รถยนต์

ในปี 1909 รถยนต์ที่ผลิตด้วยรูปแบบเดิม ที่ทำในโรงงานที่คนงานผลิตตามความชำนาญเฉพาะด้าน จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าเงิน ณ ปี 1909) ซึ่งเมื่อเทียบเป็นมูลค่าในปีปัจจุบัน ต้นทุนรถยนต์ 1 คัน จะเท่ากับ 32,685 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.1 ล้านบาท

แต่เมื่อ Ford Model T ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่ใช้สายพานการผลิต โดยฟอร์ดสามารถปรับแต่งสายพานการผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้นทุนของการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ ลดลงเหลือเพียง 260 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (มูลค่าเงิน ณ ปี 1909) ซึ่งเมื่อเทียบเป็น มูลค่าในปีปัจจุบัน ต้นทุนรถยนต์ 1 คัน จะเท่ากับ 3,628 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 120,000 บาท หรือสามารถลดต้นทุนลงได้เกือบ 10 เท่า เพราะการผลิตโดยใช้ระบบสายพาน และฟอร์ดก็สามารถผลิตรถยนต์รุ่นนี้ได้มากถึงกว่า 14.6 ล้านคัน

Ford Model T

แต่ทว่า หนึ่งในสินค้าที่สหรัฐผลิตจำนวนมาก จนสามารถสะสมความมั่งคั่งและกลายเป็นผู้ชนะในโลกของ Industry 2.0 คืออุตสาหกรรมอาวุธ ที่ต่อมาก็ทำให้ยุโรปซึ่งเป็นลูกค้าต้องย่อยยับ เพราะสงครามโลกที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้ง 2 ครั้ง หลังสงครามยุโรปสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ทั้งชีวิตคน ภาคการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ในขณะที่สหรัฐในฐานะผู้นำ ผงาดขึ้นเป็นเศรษฐกิจหมายเลข 1 ของโลก และวางโครงสร้าง ระบบระเบียบ กติกา ในเวทีโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่นิยมเรียกกันในนาม American World Order

โลกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดระบบ Programmable Logic Controllers (PLCs) ก็ถูกทำขึ้นในปี 1969 และพร้อมที่จะถูกนำมาใช้ในทศวรรษใหม่

ทศวรรษที่ 1970 เป็นทศวรรษที่คนงานเริ่มค่อยๆ หายไปจากสายพานการผลิต และถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร แขนกล และหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผลิตสินค้า ที่สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมให้พวกมันสามารถทำงานไปได้โดยอัตโนมัติ และนี่คือโลกในยุคของการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คำถามคือ ใครล่ะที่มีความพร้อมที่จะประยุกต์ระบบนี้เข้ามาใช้ในภาคการผลิต ได้อย่างรวดเร็วและพร้อมสมบูรณ์มากที่สุด

ญี่ปุ่น คือประเทศที่บอบช้ำยับเยินที่สุดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยความที่คนญี่ปุ่นมีจิตใจเข้มแข็งอดทน มุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก ประกอบกับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำหนดให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองทัพ นั่นทำให้ญี่ปุ่นสามารถผลักภาระทางการคลังจากการป้องกันประเทศไปให้สหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ และตนเองสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ผ่านการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาคนได้อย่างเต็มที่

ทั้งหมดนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีความพร้อมทางการพัฒนาประเทศมากพอ จนทำให้ในปี 1964 โตเกียวก็พร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬา Olympic ครั้งที่ 18 นับเป็นครั้งแรกที่จัดในเอเซีย โดยรถไฟความเร็วสูง ชินคันเซ็น ก็ถูกนำมาใช้วิ่งครั้งแรกในปีนี้ พร้อมกับที่ญี่ปุ่นได้รับสถานะประเทศพัฒนาแล้ว โดยการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD ในปี 1964 ญี่ปุ่นพร้อมแล้วที่จะผงาดขึ้นอีกครั้ง

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นทศวรรษ 1960 ถูกเรียกว่า The Golden Sixties และพอถึงทศวรรษ 1970 บริษัทญี่ปุ่นก็กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปควบรวมกิจการ ซื้อกิจการในสหรัฐ รวมทั้งบัญชีดุลการค้า บัญชีเดินสะพัดของสหรัฐเองก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้คือกลุ่มบริษัทที่เก่งที่สุดในการนำหุ่นยนต์ แขนกล และเครื่องจักรพร้อมสายพานการผลิตที่มีระบบ PLCs เข้ามาใช้จริงในภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เหล็ก ต่อเรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

คำถามคือ เพราะเหตุใดญี่ปุ่นถึงพร้อมอย่างยิ่งสำหรับการทำงานกับหุ่นยนต์ แขนกล และคอมพิวเตอร์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3

Rossum's Universal Robots
สำหรับโลกตะวันตก หุ่นยนต์ถูกมองเป็นภัยคุกคาม แม้แต่ในนวนิยายเรื่อง R.U.R. (Rossumovi Univerzální Roboti หรือ Rossum’s Universal Robots) ซึ่งเป็นเรื่องราวแรกที่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า Robot ขึ้นมา โดยนักเขียนชาว Czech นาม Karel Capek ในปี 1920 หุ่นยนต์คือสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อท้าทายพระผู้เป็นเจ้า ท้าทายมนุษย์ที่ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของพระเจ้า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนพระเจ้า แต่หุ่นยนต์คือสิ่งแปลกปลอม โดยเนื้อหาในนวนิยายเล่มนี้ ในที่สุดหุ่นยนต์ก็เอาชนะมนุษย์ ตั้งรัฐบาลหุ่นยนต์ และยึดครองโลก

ในบทส่งท้ายของนิยายเรื่องนี้ มนุษย์ก็ทำได้เพียงแค่ยอมที่จะสมสู่กับหุ่นยนต์เพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่ต่อไป พล็อตเรื่องเหล่านี้ถูกทำซ้ำต่อมาอีกตลอดจนถึงปัจจุบัน เราจึงได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Metrix และ The Terminator แต่นั่นไม่ใช่สำหรับญี่ปุ่น ดินแดนที่ผู้คนเชื่อว่ามีพระเจ้าอยู่ในทุกสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต

วิถีญี่ปุ่นคือการสอนให้เคารพและอยู่ร่วมกันกับทุกสรรพสิ่ง โดยในเรื่องหุ่นยนต์ เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะรู้จักหุ่นยนต์ตัวแรกคือ โดราเอมอน การ์ตูนมังงะโดยนักเขียนอัจฉริยะ Fujiko F. Fujio โนบิตะคืออวตารของญี่ปุ่นที่เป็นเด็กขี้แพ้ และย่ำแย่ในทุกเรื่อง เล่นกีฬาไม่เก่ง เรียนหนังสือไม่เอาไหน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้ทุกสิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วิธีการเดียวที่ญี่ปุ่นและโนบิตะจะชนะ ก็คือ การทำงานร่วมกับหุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับที่ ญี่ปุ่นต้องทำงานคู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดราเอมอนเล่มแรกถูกตีพิมพ์ในปี 1969 ตามมาด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo ภายใต้ธีม ‘Progress and Harmony for Mankind’ ที่เนรมิตเมืองซุยตะ (Suita) ใกล้ๆ กับมหานครโอซาก้า ให้กลายเป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะเห็นญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความพร้อมมากที่สุด ที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ แขนกล และคอมพิวเตอร์ เข้ามาใช้เป็นประเทศแรกๆ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เริ่มต้นในช่วงเวลาเดียวกัน

Golden 60's

เหมือนกับที่สหรัฐผงาดขึ้นในช่วงสงครามในยุโรป ญี่ปุ่นก็ผงาดขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังขับเคี่ยวกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น เมื่อสหรัฐจะถูกท้าชิงแชมป์ ความพยายามที่เกิดขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ‘1985 Plaza Accord’ ข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ James A. Baker III ของสหรัฐอเมริกา, Nigel Lawson of Britain แห่งสหราชอาณาจักร, Pierre Bérégovoy แห่งฝรั่งเศส, Gerhard Stoltenberg แห่งเยอรมันตะวันตก และ Noboru Takeshita แห่งญี่ปุ่น ณ โรงแรม Plaza Hotel ในมหานครนิวยอร์ค เพื่อจำกัดการส่งออกของประเทศญี่ปุ่นภายใต้มาตรการ Voluntary Export Restrains (VERs, ถ้าญี่ปุ่นไม่ยอมลดการส่งออก ก็จะถูกมหาอำนาจเหล่านี้โจมตีในรูปแบบของสงครามการค้า) และการกำหนดค่าเงินเยนของญี่ปุ่นในแข่งค่าขึ้นอย่างมาก จนทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออก

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นที่เรียกว่า The Lost Decades ตั้งแต่ปี 1991 ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และนั่นทำให้ในปี 1986 เมื่อมีการเจรจาการค้าของ General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ที่อุรุกวัย จึงมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดได้กฎกติกาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้วิธีปิดห้องคุยเจรจาแบบ Plaza Accord เกิดขึ้นอีก รวมทั้งในที่สุดก็เกิดองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลกติกาเหล่านี้ เรียกว่า องค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organisation (WTO) ขึ้นในปี 1995

1985 Plaza Accord” ข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ James A. Baker III ของสหรัฐอเมริกา, Nigel Lawson of Britain แห่งสหราชอาณาจักร, Pierre Bérégovoy แห่งฝรั่งเศส, Gerhard Stoltenberg แห่งเยอรมันตะวันตก และ Noboru Takeshita แห่งญี่ปุ่น ณ โรงแรม Plaza Hotel ในมหานครนิวยอร์ค

(1985 Plaza Accord” ข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ James A. Baker III ของสหรัฐอเมริกา, Nigel Lawson of Britain แห่งสหราชอาณาจักร, Pierre Bérégovoy แห่งฝรั่งเศส, Gerhard Stoltenberg แห่งเยอรมันตะวันตก และ Noboru Takeshita แห่งญี่ปุ่น ณ โรงแรม Plaza Hotel ในมหานครนิวยอร์ค)

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะไม่สามารถท้าชิงสหรัฐขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ แต่ญี่ปุ่นก็ยังได้ที่ 2 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบมูลค่า GDP

แล้วเวลาก็ดำเนินมาถึงศตวรรษที่ 21 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 ที่มี Cyber-Physical System เป็นแกนกลาง โดยมีหัวใจคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่จะเชื่อมโยงโลกอินเทอร์เนต้ที่จับต้องไม่ได้ เข้ากับโลกความเป็นจริงทางกายภาพ

คำถามที่สำคัญคือ ใครคือคนที่มีศักยภาพที่สุดในโลกแห่ง 4.0 เพื่อตอบคำถามนี้เราก็ต้องมาดูว่า ปัจจัยใดที่จะทำให้เราสามารถพัฒนา AI ได้

AI จะสามารถพัฒนาได้เมื่อมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)  2) มีชิปคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูง เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่นั้น และ 3) ต้องมีชุดคำสั่ง (Algorithm) ที่ดีเยี่ยม เพื่อใช้สอนชิปคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงนั้น ให้สามารถวิเคราะห์และจับรูปแบบของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จนคอมพิวเตอร์สามารถทำซ้ำและสร้างชุดความคิดของตนเองขึ้นมาได้ เหมือนกับที่สมองของคนเราคือคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง มองเห็นข้อมูลมหาศาลจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ควบคู่ไปกับที่พ่อแม่ครูอาจารย์สอนวิธีการเรียนรู้ จนเราสามารถสร้างองค์ความรู้และวิธีคิดของเราขึ้นมาได้

ใครที่มีทั้ง 3 ปัจจัยครบถ้วนมากที่สุดในโลก ก็จะกลายเป็นผู้นำแห่งโลกเศรษฐกิจในยุค 4.0 แน่นอนว่า จีน ถือเป็นหนึ่งในผู้มีศักยภาพด้านนี้ ด้วยความที่จีนเคยเป็นสังคมนิยมที่ใช้การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง (Central Planning) นั่นทำให้จีนต้องมีชุดข้อมูลของประชากร 1.4 พันล้านคนที่ครบถ้วนและละเอียดมากที่สุด และจีนในยุคใหม่ก็มีผู้ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากกว่า 900 ล้านคน และเป็นประชาคมที่ใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกธุรกรรมออนไลน์ถูกจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่พร้อมให้ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลนำไปใช้วิเคราะห์ได้ (แต่ประเด็นด้านความรักษาความเป็นส่วนตัวบนโลก cyber ของจีน กลับกลายเป็นประเด็นที่ไม่มีความเข้มงวดอย่างยิ่ง)

ในส่วนของความเร็วในการประมวลผลนั้น แม้ว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลได้เร็วที่สุดในโลก จะตั้งอยู่ที่สหรัฐ ในนาม Summit ซึ่งเป็น Super computer ของ US Department of Energy ตั้งอยู่ที่ Oak Ridge National Laboratory ในมลรัฐ Tennessee ความเร็วของการประมวลของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้อยู่ที่ 200 petaflops หรือสามารถคิดประมวลได้พร้อมกัน 2 แสนล้านล้านครั้งใน 1 วินาที (2 x 1017) ซึ่งสามารถเฉือนเอาชนะ super computer ของจีน ที่ชื่อ Sunway TaihuLight ไปได้ด้วยความเร็วที่เร็วมากกว่าประมาณ 60%

แต่ถ้าพูดถึงจำนวนแล้ว จีนมีจำนวน Super computer ที่เร็วที่สุดในระดับ 500 เครื่องแรกของโลกมากกว่าสหรัฐ และเมื่อพูดถึง Quantum Computer ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต Alibaba เองก็พึ่งเปิดตัว Aliyun (Ali Cloud) ที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลระดับ 11-qubit quantum computing service ถือเป็นบริษัทที่ 2 ของโลกต่อจาก IBM ที่สามารถให้บริการคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผลในระดับนี้ได้

ส่วนด้านชุดคำสั่งหรือ Algorithm แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล และวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เก่งที่สุดในโลก ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนจีนที่อยู่ในประเทศจีน และคนจีนโพ้นทะเล นั่นทำให้จีนคือผู้มีศักยภาพสูงในการที่จะขึ้นเป็นผู้นำในโลกยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ล่าสุดรัฐบาลจีนออกนโยบาย A.I.2030 เพื่อให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นวาระแห่งชาติ บูรณาการการพัฒนา AI ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม และมีการสร้างพื้นที่พิเศษขึ้นแล้วเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ นั่นคือ การสร้างเมืองใหม่ ชื่อ สงอัน (Xiong An) มาจากการรวม 3 เมืองเข้าด้วยกัน ได้แก่เมือง Xiong, Rongcheng และเมือง Anxin โดยชื่อเมืองใหม่ ‘สงอัน’ หมายถึง สง (ใหญ่โต) และ อัน (สงบสุข) ที่สำคัญคือเมืองนี้ยังตั้งอยู่ในใจกลางของ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ JingJinJi นั่นคือใจกลางระหว่าง Beijing Tianjin และ Hebei

The rise of robotics and AI

Robotics and AI

เมื่อโลกยุคปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคที่สหรัฐสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลก ดังเช่นที่ Professor Amitav Acharya นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชื่อดังแห่ง American University at Washington DC เขียนในหนังสือของเขาเรื่อง ‘The End of American World Order’ ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าเราจะพบการสำรวจจากฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐว่า ในอนาคตภัยความมั่นคงต่อสหรัฐ จะเป็นภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากประเทศจีน

และไม่แปลกที่จะเห็นที่ผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐ คือนักเศรษฐศาสตร์นามว่า Peter Navarro แต่งหนังสือชื่อ ‘Death by China’ ออกมา โดยนอกจากตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีแล้ว ยังดำรงตำแหน่ง Director of Trade and Industrial Policy, Director of the White House National Trade Council และ the Office of Trade and Manufacturing Policy อีกด้วย

สงครามการค้าที่เริ่มยิงก่อนโดยสหรัฐจึงเกิดขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันคือ รัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการทางการค้าในสินค้าหมวดต่างๆ โดยหมวดสินค้าที่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียน ได้แก่

• เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ซึ่งจะมีการกำหนดโควตาการนำเข้า และหากนำเข้าเกินโควตาจะโดนจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตรา 40-50% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศยกเว้น แคนาดา และบางประเทศที่มีเงื่อนไข

• แผงโซลาเซลล์ ซึ่งจะมีการกำหนดโควตาการนำเข้า และหากนำเข้าเกินโควตาจะโดนจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตรา 15-30% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศยกเว้นบางประเทศที่มีเงื่อนไข

• เหล็ก เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 25% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศยกเว้น ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และเกาหลีใต้

• อลูมิเนียม เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 10% โดยจัดเก็บกับทุกประเทศยกเว้น บราซิล และอาร์เจนตินา

• สินค้า IT เพิ่มภาษีศุลกากรการนำเข้าอีก 25% โดยจัดเก็บแบบพุ่งเป้าไปที่สินค้าจากจีน

ล่าสุด (17 กันยายน 2018) สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสินค้าจำนวน 6,031 รายการ โดยเน้นสินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร สินค้าประมง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่อยู่ในมาตรการส่งเสริมของจีน ในนโยบาย Made in China 2025 โดยขึ้นภาษีศุลกากรการนำเข้าสินค้าจากจีนเบื้องต้นที่ร้อยละ 10 และยังประกาศว่าจะมีการปรับอัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปเป็นร้อยละ 25 ในอนาคต รวมถึงการประกาศโดยรองประธานาธิบดี Mike Pence ในระหว่างการประชุม East Asian Summit และ การประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ผ่านมาเมื่อพฤศจิกายน 2018 ว่า สหรัฐพร้อมที่จะขึ้นกำแพงภาษีได้อีกในอนาคต หากยังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องจากจีน

จะเห็นได้ว่า สหรัฐเจาะจงอย่างยิ่งที่จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อป้องกันไม่ให้จีนกลายเป็นผู้นำในโลกยุค 4.0 เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในโลกยุค 3.0 จากกรณีที่เคยทำกับญี่ปุ่น

แต่สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเมื่อสงครามการค้า (Trade War) อุบัติ เราต้องอย่ามัวแต่หาความสำราญจากการถกเถียงว่าใครผิดใครถูก ใครโจมตีใครก่อน ใครตอบโต้ใครอย่างไร แต่จงมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต เพื่อเดินหน้าส่งเสริมการค้าของไทยในตลาดโลก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save