fbpx

เมื่อรัฐไม่ให้ความยุติธรรม ประชาชนจึงลุกขึ้นมาชำระสะสางเอง: ศาลประชาชนระหว่างประเทศกรณีการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลายเหตุการณ์ตลอดช่วงระยะประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ การสังหารหมู่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia) หรือ PKI ในช่วงปลายค.ศ. 1965-1966 นับว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย และยังคงเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของการสังหารหมู่คือมีกลุ่มนายทหารระดับกลางซึ่งมีความสัมพันธ์กับ PKI พยายามจะทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1965 เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าเหตุการณ์เกสตาปู (Gerakan September Tigapuluh – Gestapu) แต่การทำรัฐประหารนั้นล้มเหลว ผู้ที่สามารถเข้ามาควบคุมสถานการณ์และปราบปรามคณะบุคคลที่ต้องการยึดอำนาจรัฐอย่างราบคาบประกาศว่า PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามทำรัฐประหารดังกล่าว[1] ข้อกล่าวหาอันร้ายแรงนี้นำไปสู่การเข่นฆ่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ PKI ทั้งสมาชิก ผู้สนับสนุน PKI ถูกยุบพรรค และอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมอินโดนีเซีย พร้อมกับการสังหารหมู่เพื่อนร่วมชาติ อินโดนีเซียได้สถาปนาระบอบใหม่ที่เรียกว่ายุคระเบียบใหม่ (New Order) พร้อมกับมีประธานาธิบดีคนใหม่คือซูฮาร์โต

ผลของการกวาดล้างในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปลายปี 1965 จนถึงปี 1966 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 500,000-2,000,000 คน (ตัวเลขการประเมินจากฝ่ายต่างๆ) ทั้งจากผีมือเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มมวลชนฝ่ายขวา และอื่นๆ มีผู้ถูกคุมขังโดยไม่มีการขึ้นศาลพิจารณคดีจำนวนมาก และมีผู้ถูกทำร้ายร่างกายทรมานจนพิการ ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหลังปี 1966 ความรุนแรงก็ยังไม่ได้หายไปไหน ครอบครัวเหยื่อหรือผู้รอดชีวิตยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวและถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นผีร้ายของชาติ

การทวงถามถึงความยุติธรรมหลังยุคระเบียบใหม่

หลังการสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตซึ่งครองอำนาจ 32 ปี นักกิจกรรม ผู้สนับสนุนความยุติธรรมและประชาชนที่เคยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีต่างๆ รวมถึงอดีตเหยื่อของการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์มีความหวังว่าภายใต้บรรยากาศของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะทำให้กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ถูกรื้อฟื้นและคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ต่างๆ

ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด จะขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยแรกในปี 2014 เขาได้ให้คำมั่นสัญญาในช่วงของการณรงค์หาเสียงว่าจะดำเนินการจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในปี 1965-1966 ภาครัฐพยายามริเริ่มสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ในช่วงที่อินโดนีเซียปกครองด้วยรัฐเผด็จการอำนาจนิยม เช่น การสังหารหมู่ การปราบปราม การจำคุกประชาชนโดยไม่ชอบ การบังคับเกณฑ์แรงงาน การบังคับกักขังหน่วงเหนี่ยว การลักพาตัว การใช้ความรุนแรงตามท้องถนน การทรมานและการประหารชีวิต ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซียได้ทำงานอย่างหนักเพื่อรวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตและได้ส่งรายงานให้แก่รัฐบาลตั้งแต่ปี 2012

แต่ความพยายามของรัฐในการคืนความยุติให้กับประชาชนล้มเหลว เมื่ออัยการสูงสุดของอินโดนีเซียได้แถลงว่า “การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างถาวรคือการปรองดอง” ซึ่งนำไปสู่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐไม่สนใจขั้นตอนการหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย หากแต่ข้ามขั้นไปที่การปรองดองเลย นั่นเท่ากับไม่มีความหมายใดๆ ในการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อและผู้รอดชีวิตเลย ความล้มเหลวของภาครัฐทำให้เกิดการทำงานของภาคประชาสังคมขึ้นมาแทนที่ เป็นการเปลี่ยนวิถีการจัดการเกี่ยวกับความขัดแย้ง ความรุนแรงและการคืนความยุติธรรมจากแบบบนลงล่างมาสู่แบบล่างขึ้นบน จากช่องทางที่เป็นทางการสู่ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ และจากการแก้ไขเยียวยาสู่การสร้างความตระหนักรับรู้ของสังคม

ศาลประชาชนระหว่างประเทศกรณีการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (International People’s Tribunal on 1965)

เมื่อการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกสังหารในช่วงปี 1965-1966 โดยรัฐไร้วี่แวว นักเคลื่อนไหวในภาคประชาชนอินโดนีเซียจึงได้รวมตัวกันตั้งศาลประชาชนระหว่างประเทศ (International People’s Tribunal) เกี่ยวกับการสังหารหมู่สมาชิกและผู้สนับสนุน PKI ช่วงปี 1965-1966 ขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2014 ก่อนหน้านั้นหนึ่งปีคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ ได้ร่างแนวคิด หลักการ และวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งศาลประชาชนระหว่างประเทศดังกล่าว ศาลนี้ไม่ใช่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่อยู่ในสารบบยุติธรรมของประเทศหรือองค์การสหประชาชาติ เป็นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ แต่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเหยื่อ ประชาชนทั่วไปทั้งในอินโดนีเซียและนานาชาติ ไม่มีอำนาจในการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด บทบาทของศาลคือถมช่องว่างที่ถูกละเลยโดยรัฐ

แม้จะเป็นการจัดตั้งศาลที่ไม่ใช่รูปแบบทางการ ศาลประชาชนระหว่างประเทศได้ตั้งทีมนักวิจัยมืออาชีพและคณะผู้พิพากษาระหว่างประเทศขึ้นมา ทีมนักวิจัยมีหน้าที่รวบรวม วิจัย ศึกษาข้อมูลและคำให้การ และจัดทำออกมาในรูปแบบตามระบบศาลเพื่อส่งไปยังทีมอัยการ หลังจากนั้นอัยการฟ้องรัฐจากหลักฐานที่รวบรวมได้จากเอกสาร เทปบันทึกเสียง วิดีโอ และอื่นๆ จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวคณะผู้พิพากษาจะพิจารณาข้อฟ้องร้องและตัดสินพิพากษาผู้กระทำความผิด พร้อมด้วยการเยียวยาชดเชยให้กับบรรดาเหยื่อและผู้รอดชีวิต เสนอต่อรัฐที่ต้องจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ตามครรลองระบบกฎหมาย ศาลประชาชนระหว่างประเทศเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่น Tokyo’s People Tribunal: The Women’s International War Crimes Tribunal for the Trial of Japan’s Military Sexual Slavery, Japan ในปีค.ศ. 2000 และ Russell Tribunal on Palestine ในปี 2009

นักเคลื่อนไหวอินโดนีเซียใช้เวทีศาลประชาชนระหว่างประเทศเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ คำบอกเล่าของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 1965-1966 ให้ประชาคมระหว่างประเทศรับรู้ เนื่องจากเป็นเวลา 50 ปีตั้งแต่เกิดการสังหารหมู่ กรณีดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของโลกในวงจำกัดทั้งที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำวนมาก ผู้จัดศาลประชาชนระหว่างประเทศได้เชิญผู้รอดชีวิต ประจักษ์พยาน ผู้เชี่ยวชาญและนักประวัติศาสตร์มาให้การเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมในช่วงปี 1965-1966 และเชิญนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมายและทนายความมาเป็นผู้พิพากษา การเบิกความดำเนินระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยวันแรกจะเบิกความข้อกล่าวหาการสังหารหมู่และการทำให้เป็นทาส วันที่สองเรื่องการทำร้ายร่างกาย การคุมขัง การบังคับสูญหาย และการโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชัง วันที่สามเรื่องข้อกล่าวหาว่าประเทศอื่นมีส่วนร่วมในเหตุการณ์การกวาดล้างปี 1965-1966 และคำแถลงของผู้พิพากษา ในช่วงที่มีการเบิกความเป็นเวลาสามวันมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ของศาลประชาชนระหว่างประเทศแต่การเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวถูกปิดกั้นโดยทางการอินโดนีเซีย

หลังจากเบิกความเป็นเวลาสามวันเพื่อรับฟังประจักษ์พยาน ศาลได้พิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งคือประชาชนชนะถึงสิบคดี โดยเป็นความผิดต่อมนุษยชาติที่กระทำโดยรัฐต่อประชาชนอินโดนีเซียอย่างเป็นระบบ เงียบเชียบ แต่เป็นวงกว้าง และประธานคณะผู้พิพากษาได้ขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียขอโทษต่อบรรดาเหยื่อ ผู้รอดชีวิต และครอบครัวของคนเหล่านั้นทั้งหมดจากการที่รัฐมีส่วนร่วมในการกระทำผิดดังกล่าวที่เกี่ยวข้องการกรณีปี 1965 และหลังจากนั้น นอกจากนั้นศาลประชาชนระหว่างประเทศยังได้ขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียทำการไต่สวนและดำเนินคดีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมด จ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อและผู้รอดชีวิต ดำเนินการฟื้นฟูทั้งสภาพทางกายภาพและจิตใจของเหยื่อและผู้รอดชีวิต และหยุดการไล่ล่าที่ทางการยังคงดำเนินการอยู่ รวมถึงการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่ส่งผลให้บรรดาเหยื่อและผู้รอดชีวิตไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนทั่วๆ ไปได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ยอมรับกระบวนการและรายงานของศาลประชาชนระหว่างประเทศ ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลกล่าวว่าจะไม่มีการขอโทษใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่าอินโดนีเซียมีระบบกฎหมายของตัวเอง

แม้ผลของการรวบรวมประจักษ์พยาน ไต่สวนหาข้อเท็จจริงที่ได้จากศาลประชาชนระหว่างประเทศจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการรื้อฟื้นดำเนินคดีกับผู้ลงมือก่อการสังหารผู้คนในการกวาดล้าง PKI แต่ในปีถัดมาคือค.ศ. 2016 รัฐบาลอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติเมื่อวันที่ 18-19 เมษายน ในชื่อ “การประชุมแห่งชาติ: วิเคราะห์โศกนาฏกรรม 1965, มุมมองทางประวัติศาสตร์” (Simposium Nasional: Membedah Tragedi 1965, Pendekatan Kesejarahan) การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นที่ประหลาดใจของหลายฝ่ายเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายถกเถียงเรื่องการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นทางการและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล หลังการประชุมไม่มีผลใดๆ ตามมาอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง และผู้แทนรัฐบาลยังคงยืนกรานว่าจะไม่มีการขอโทษ แต่เวทีนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและกระตุ้นให้ฝ่ายต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืน มีทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ยอมรับว่ารัฐมีบทบาทในการสังหารหมู่ มีทั้งกลุ่มอิสลามอนุรักษ์นิยมที่ออกมาตอบโต้งานประชุมดังกล่าวอย่างรุนแรงและยังคงประณาม PKI ว่าเป็นผู้ผิดสมควรตายด้วยเช่นกัน

ยังมีประวัติศาสตร์บาดแผลอันเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหลายกรณีที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ผู้กระทำผิดยังลอยนวล ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง รวมถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในประเทศไทยด้วย รูปแบบการจัดศาลประชาชนระหว่างประเทศอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ภาคประชาชนสามารถทำได้ในช่วงเวลาที่รัฐไทยยังคงพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับและพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวที่รัฐและสถาบันสำคัญของชาติมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา


เอกสารประกอบการเขียน

Hidayat, Rafki. “Putusan IPT kasus 1965: ‘Negara bersalah atas 10 kejahatan HAM berat’.” (คำตัดสินของศาลประชาชนระหว่างประเทศกรณี 1965: รัฐมีความผิดในสิบข้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง), BBC News Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/berita_indonesia/2016/07/160720_indonesia_putusan_ipt1965

Husain (ed.). “Pemerintah Tidak Menanggapi Proses Pengadilan Rakyat Terkait Peristiwa 1965.” (รัฐบาลไม่ยอมรับกระบวนการศาลประชานเกี่ยวกับเหตุการณ์ 1965), JawaPos, https://www.jawapos.com/nasional/hukum-kriminal/11/11/2015/pemerintah-tidak-menanggapi-proses-pengadilan-rakyat-terkait-peristiwa-1965/

International People’s Tribunal 1965, www.tribunal1965.org

Kimura, Ehito. “The Trajectories of Transitional Justice and Its Discontents in Indonesia.” Kyoto Review of Southeast Asia, issue 24. https://kyotoreview.org/issue-24/transitional-justice-indonesia/

“Simposium 1965 dibuka tanpa ‘permintaan maaf’.” (การประชุม 1965 ถูกเปิดโดยไม่มี ‘การขอโทษ’), BBC News Indonesia, https://www.bbc.com/indonesia/berita_indonesia/2016/04/160418_indonesia_simposium65_dibuka

Triyana, Bonnie. “Sepuluh Hal yang Perlu Anda Ketahui Tentang Pengadilan Rakyat International Kasus 1965.” (สิบเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับศาลประชาชนระหว่างประเทศกรณีปี 1965), Historia, https://historia.id/politik/articles/sepuluh-hal-yang-perlu-anda-ketahui-tentang-pengadilan-rakyat-internasional-kasus-1965-6aeNn/page/1

Wieringa, Saskia E. Melvin, Jess and Pohlman Annie (eds.). The International People’s Tribunal for 1965 and the Indonesian Genocide. London and New York: Routledge, 2019.


[1] สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู อ่านเพิ่มเติมใน “55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (1)” https://www.the101.world/indonesian-mass-killings-1/ และ “55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (2)” https://www.the101.world/indonesian-mass-killings-2/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save