fbpx
55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (2)

55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (2)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อ่าน 55 ปีเหตุการณ์เกสตาปู: การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (1)

 

ความไม่ลงรอยกันของการเล่าเรื่องเหตุการณ์เกสตาปู

 

ในการเล่าเรื่องหรือบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกสตาปูมีเรื่องที่ไม่ลงรอยกันอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ใครเป็นผู้กระทำ? ใครเป็นผู้ก่อการในเหตุการณ์เกสตาปู? ใครอยู่เบื้องหลังกันแน่? จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่เป็นเท่าไหร่กันแน่? ใครบ้างที่มีส่วนร่วมในการ ‘กวาดล้าง’ สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย?   

จนถึงปัจจุบันมีงานศึกษาที่ระบุถึงผู้ก่อการในเหตุการณ์เกสตาปูไว้ 6 ทฤษฎี ได้แก่

 

  1. ผู้ก่อการคือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

ทฤษฎีนี้เป็นเวอร์ชั่นกระแสหลักที่ครอบงำการเล่าเรื่องเหตุการณ์เกสตาปูในสังคมอินโดนีเซีย ถูกผลิตภายใต้รัฐบาลยุคระเบียบใหม่ งานชิ้นแรกๆ ที่สร้างวาทกรรมว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู คืองานของนูโกรโฮ โนโตซูซันโต (Nogroho Notosusanto) และ อิสมาเอล ซาเละห์ (Ismael Saleh) เรื่อง Tragedi Nasional Percobaan Kup G30S/PKI di Indonesia (โศกนาฏกรรมแห่งชาติความพยายามทำรัฐประหารวันที่ 30 กันยายน/พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียที่อินโดนีเซีย) ซึ่งได้วาดภาพว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียพยายามจะทำรัฐประหารและใช้ความรุนแรงสังหารนายทหาร เป็นความชั่วช้าเลวทรามที่ไม่สามารถยอมรับได้ งานชิ้นนี้ได้กลายเป็นงานอ้างอิงและส่งอิทธิพลต่อการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูกระแสหลัก รวมถึงข้อมูลในหนังสือยังถูกนำไปใช้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Penumpasan Pengkhianatan G30S PKI (บดขยี้ผู้ทรยศ G30S PKI)

 

  1. เหตุการณ์เกสตาปูเกิดจากความขัดแย้งภายในกองทัพบก

ทฤษฎีนี้นำเสนอโดยนักวิชาการต่างชาติที่ศึกษาเรื่องอินโดนีเซีย เช่น Benedict Anderson และ Ruth McVey ในงาน A Preliminary Analysis of the October 1 1965, Coup in Indonesia (1971) และงานของ Harold Crouch เรื่อง Army and Politics in Indonesia (1978) ที่เสนอว่า เหตุการณ์เกสตาปูเป็นผลจากความขัดแย้งภายในกองทัพบกที่เกิดความแตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มต่างต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ที่แตกต่างกันคือท่าทีต่อประธานาธิบดีซูการ์โน กลุ่มแรกคือกลุ่มที่จงรักภักดีต่อซูการ์โน ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ไม่ยึดโยงกับซูการ์โน ซึ่งนายพลนาซูติยนและพันตรีซูฮาร์โตอยู่ในกลุ่มที่สองนี้ งานในกลุ่มนี้เสนอว่า เหตุการณ์เกสตาปูเกิดขึ้นโดยนายทหารกลุ่มแรกเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารโดยกองทัพ และปกป้องซูการ์โนซึ่งในขณะนั้นมีข่าวลือหนาหูว่ากองทัพจะยึดอำนาจ

 

  1. ผู้อยู่เบื้องหลังคือซูการ์โน

งานของ Victor M. Fic เรื่อง Anatomy of the Jakarta Coup, October 1, 1965 (2004), Antonie C.A. Dake เรื่อง The Sukarno File, 1965-67: Chronology of a Defeat (2006) ซึ่งเคยตีพิมพ์มาก่อนในชื่อ The Devious Dalang: Sukarno and So Called Untung Putsch: Eyewitness Report by Bambang S. Widjanarko (1974) และ Lambert Giebels เรื่อง Pembantaian yang Ditutup-tutupi, Peristiwa Fatal di Sekitar Kejatuhan Bung Karno (การสังหารหมู่ที่ถูกปกปิด, เหตุการณ์ร้ายแรงช่วงการสิ้นสุดอำนาจของซูการ์โน) เสนอว่าซูการ์โนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู

 

  1. ผู้อยู่เบื้องหลังคือซูฮาร์โต

ทฤษฎีที่ว่าซูฮาร์โตเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปูถูกเปิดเผยโดยพันเอกอับดุล ลาตีฟ (Abdul Latief) ในหนังสือเรื่อง Pledoi Kolonel A. Latief: Soeharto Terlibat G30S (1999) (คำให้การป้องกันตัวเองของพันเอกอับดุล ลาตีฟ: ซูฮาร์โตเกี่ยวข้องในเหตุการณ์เกสตาปู) โดยพันเอกลาตีฟได้กล่าวว่าเขาได้รายงานต่อซูฮาร์โตเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2508 ว่าจะมีการทำรัฐประหาร แต่ซูฮาร์โตไม่ได้มีท่าทีอะไรที่จะป้องกันหรือห้ามปรามขบวนการดังกล่าว และไม่ได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาในระดับสูงกว่าเขา และยังมีนักวิชาการที่วิเคราะห์ว่า เกสตาปูเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ซูฮาร์โตได้ขึ้นมามีอำนาจและแย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากซูการ์โน ซึ่งเป็นสิ่งที่ซูฮาร์โตวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

  1. ผู้อยู่เบื้องหลังคือ CIA

บริบทการเมืองโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็นในทศวรรษ 1960 เป็นการต่อสู้ระหว่างสองขั้วอำนาจ ฝั่งประเทศค่ายโลกเสรีประชาธิปไตยกังวลว่า อินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จึงทำให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว ในงานของ David T. Johnson เรื่อง Indonesia 1965: The Role of the US Embassy (1976) กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาทราบดีถึงความขัดแย้งทางการเมืองในอินโดนีเซียและข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหาร และสหรัฐอเมริกามีทางเลือกอยู่สี่ทางได้แก่ ปล่อยให้มันเกิดขึ้น, โน้มน้าวให้ซูการ์โนเปลี่ยนนโยบาย, กำจัดซูการ์โน, สนับสนุนกองทัพให้ยึดอำนาจ และทำลายความเข้มแข็งของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียพร้อมๆ กับโค่นอำนาจซูการ์โน ซึ่งสหรัฐอเมริกาเลือกทางเลือกสุดท้าย

ในงานของ Peter Dale Scott เรื่อง US and the Overthrow of Sukarno 1965-1967 (2004) ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเข้าไปพัวพันในเหตุการณ์เกสตาปูผ่านปฏิบัติการของ CIA (หน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา) โดย CIA ได้สร้างความสัมพันธ์กับบรรดานายทหารกองทัพบกของอินโดนีเซีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือซูฮาร์โตและสนับสนุนให้เกิดเกสตาปูเพื่อจะโค่นอำนาจของทั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและซูการ์โน ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าชื่นชอบและสนับสนุนโลกค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มากกว่าค่ายเสรีประชาธิปไตย

 

  1. เกสตาปูเกิดจากกลุ่มบุคคลในพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

ทฤษฎีนี้เสนอโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ John Roosa ในหนังสือเรื่อง Pretext for Mass Murder: the September 30th Movement and Suharto’s Coup D’état in Indonesia Roosa กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์เกสตาปู หากแต่เป็นเพียงกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในพรรคเท่านั้นที่รู้เห็นและมีส่วนร่วมด้วย โดยเขาได้ใช้หลักฐานคำให้การของบรรดาคนที่มีส่วนร่วมโดยตรงกับเหตุการณ์ดังกล่าวในการศึกษางานชิ้นนี้

 

ทฤษฎีทั้ง 6 ข้อนี้ บางทฤษฎีไม่ได้ขัดแย้งกับทฤษฎีอื่นอย่างสิ้นเชิง หากแต่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำ แม้จะมีการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือเรื่องเล่าในมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย แต่เรื่องเล่าที่ไม่ตรงกับเรื่องเล่าหลักและเป็นทางการของยุคระเบียบใหม่ก็จะถูกกดฝังทับจนไม่มีพื้นที่ในสังคมอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สร้างเรื่องเล่าหลักยังได้สนับสนุนและชื่นชมการสังหารหมู่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียราวกับว่าเป็นการกระทำที่ปกติ

ในการสังหารหมู่มีมวลชนคนธรรมดาเข้าร่วมด้วย โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ช่วงเวลาหลังจากนั้น คนกลุ่มนี้ก็ยังคงยืนยันเรื่องเล่าหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นคนผิด สาเหตุหนึ่งมาจากผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับหลังเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น คนกลุ่มดังกล่าวได้ยึดครองที่ดินทำกินที่เคยครอบครองโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และได้เข้าไปแทนที่ตำแหน่งต่างๆ ที่เคยเป็นของสมาชิกพรรค เช่น เลขาหมู่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เป็นต้น ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่ที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์เกสตาปูยังคงไม่ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากไม่เคยมีการบันทึกอย่างเป็นระบบ แต่จากการประเมินของผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ระหว่าง 500,000 – 1,000,000 คน บางแหล่งข้อมูลระบุ 2,000,000 คนก็มี

 

การรื้อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูหลังยุคระเบียบใหม่

 

ในยุคระเบียบใหม่ หากใครลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ท้าทาย หรือต่อต้านเรื่องเล่ากระแสหลักก็จะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกคอมมิวนิสต์ หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจเข้าข้างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางไปสู่การถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศชาติ หรือถูกทำร้ายแบบเดียวกับที่สมาชิกพรรคอมมิวนิสต์โดนกระทำ การสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตและกระแสเสรีประชาธิปไตยหลังจากนั้นดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการรื้อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู

หลังสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ มีการตีพิมพ์หนังสือที่เคยเป็นหนังสือต้องห้าม หนังสือฝ่ายซ้าย หนังสือเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และหนังสือเชิดชูซูการ์โนออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เกสตาปู นอกเหนือจากงานในแวดวงหนังสือแล้ว มีการจัดงานสัมมนาเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูอย่างเปิดเผย อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่ส่งอิทธิพลต่อคนอินโดนีเซียก็ยังคงเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ถูกสร้างในสมัยยุคระเบียบใหม่ แม้ว่าจะมีงานศึกษาค้นคว้าออกมาจำนวนมากเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู แต่คนจำนวนมากยังคงยึดติดและเชื่อเรื่องเล่าหลักที่ครอบงำสังคมอินโดนีเซียมากว่า 5 ทศวรรษ

การพยายามรื้อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่น่าสนใจคือในพื้นที่ของสื่อภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 40 Years of Silence: An Indonesian Tragedy กำกับโดยนักมานุษยวิทยา Robert Lemelson เผยแพร่ในปี 2552 ได้บอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์เกสตาปู ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การสังหารหมู่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เกสตาปู การกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถือเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกในยุคศตวรรษที่ 20 ทว่ากลับมีการพูดถึงเหตุการณ์นี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น มีการประเมินกันว่าจำนวนผู้ที่ถูกสังหารจากเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่าง 500,000 – 1,000,000 คน

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 40 Years of Silence: An Indonesian Tragedy ถูกถ่ายทำในเกาะชวาและบาหลีช่วงปี 2545-2549 โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวของสี่ครอบครัวในชวากลาง ยอกยาการ์ตา และบาหลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนอย่างเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งสี่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และต้องดำรงชีวิตผ่านโศกนาฏกรรมนี้ ความน่าสนใจของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้คือ การที่ให้เหยื่อผู้ได้รับกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์รำลึกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาได้ประสบ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ช่วยให้เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของคน ซึ่งไม่เฉพาะแต่ในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น แต่รวมถึงคนทั่วโลกด้วย

ต่อมามีภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Act of Killing (2555) โดยผู้กำกับ Joshua Oppenheimer  นำเสนอเกี่ยวกับการสังหารหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียในช่วงปี 2508-9 จากมุมมองของผู้ลงมือสังหาร อันวาร์ คองโก (Anwar Congo) และเพื่อนๆ ในภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวการสังหารหมู่และวิธีการที่ฆาตกรใช้สังหารในเมืองเมดาน สุมาตราทางตอนเหนือ แต่เหตุการณ์การสังหารหมู่ในช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นทั่วประเทศ ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2556 ในการชมรอบนั้นมีบรรดาผู้ที่ลี้ภัยไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์หลังจากเกิดเหตุการณ์เกสตาปูเข้าชมด้วย ในตอนฉายภาพยนตร์บรรยากาศเต็มไปด้วยความอึดอัด เงียบกริบ ในช่วงการพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับภาพยนตร์มีผู้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นพูด เขาร้องไห้ไปด้วยในขณะที่พูดว่า เขาเป็นลูกของพ่อแม่ที่อพยพมาจากอินโดนีเซีย และตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมพ่อแม่ต้องมาอยู่ที่นี่ เพราะพวกท่านไม่เคยบอกเล่าเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูให้เขารับรู้เลย จนเมื่อเขาได้เห็นและรับรู้เรื่องราวผ่านภาพยนตร์ทำให้เขารู้สึกช็อคมาก และนี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาเข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ต้องหนีมา

หลังจากนั้นในปีเดียวกัน ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งที่จังหวัดอาเจะห์ เขตปกครองของประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ที่ว่ากันว่ามีความเคร่งครัดทางศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ภาพยนตร์ถูกจัดฉายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เมืองบันดาอาเจะห์ บรรยากาศของการชมภาพยนตร์กลับเป็นคนละเรื่องชนิดต่างกันราวฟ้ากับเหวจากที่เนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉายนั้น ปรากฏว่ามีเสียงหัวเราะเป็นระยะๆ จากผู้เข้าชมซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษา สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนช็อคคือ ผู้ชมบางส่วนกล่าวว่ารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับวิธีการสังหารคอมมิวนิสต์ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก บางคนเหมือนเห็นใจผู้ที่ถูกสังหาร แต่ก็ยังมิวายกล่าวว่า เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ทำเรื่องไม่ดีก่อนจึงต้องถูกลงโทษเช่นนี้

ต่อมาในปี 2557 ผู้กำกับคนเดียวกันได้เผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Look of Silence โดยผู้กำกับได้พาน้องชายของเหยื่อที่เคยถูกสังหารในช่วงการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไปเผชิญหน้ากับฆาตกรเพื่อหาคำตอบว่า ผู้ที่เคยลงมือสังหารคิดอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาเคยกระทำลงไป

จากคำบอกเล่าของผู้ลงมือสังหารที่ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Act of Killing และ The Look of Silence เป็นประจักษ์พยานว่า มีคนธรรมดาจำนวนมากเข้าร่วมมหกรรมการสังหารหมู่นี้ แม้ว่ารัฐบาลที่ขึ้นมามีอำนาจจากการรัฐประหารซ้อนหลังเหตุการณ์เกสตาปูจะควบคุมสื่อไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่มีการนำเสนอข่าวด้านอื่นจากสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม มวลชนที่ออกไปใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไม่ใช่เพียงแค่อ่านหนังสือหรือฟังวิทยุแล้วจะลงมือก่อการได้ หากแต่มีสาเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ผลักดันให้กลุ่มคนดังกล่าวออกไปใช้ความรุนแรงที่เลวร้ายขนาดนั้นได้ นั่นคือความขัดแย้งทางอุดมการณ์การทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อที่กระทำอย่างเป็นระบบว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นสิ่งชั่วร้าย เลวทราม และสมควรถูกกำจัดทิ้ง

นอกจากคนนอกแล้ว การรื้อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูผ่านภาพยนตร์ก็มีจากคนในเช่นกัน ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Pulau Buru Tanah Air Beta (เกาะบูรู บ้านเกิดเมืองนอนของเรา) ปี 2559 โดย ราฮุง นาซูติยน (Rahung Nasution) และ วิษณุ โยนาร์ (Whisnu Yonar) ได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของนักโทษการเมืองที่ถูกนำไปขังคุกที่เกาะบูรู เกาะหนึ่งในหมู่เกาะมาลุกุของอินโดนีเซีย หลังจากเกิดเหตุการณ์เกสตาปู อย่างไรก็ตาม มีปฏิกิริยาต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างรุนแรงจากชาวอินโดนีเซียบางกลุ่มเมื่อจะมีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ตามที่ต่างๆ

เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง การถกเถียงถึงเหตุการณ์เกสตาปูเป็นไปอย่างเปิดเผยและกว้างขวางมากขึ้น แม้ว่าประวัติศาสตร์และความทรงจำกระแสหลักเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ผู้รอดชีวิตและผู้ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์เกสตาปูเริ่มกล้าที่จะพูดถึงความทรงจำของตัวเอง และเริ่มกล้าที่จะส่งเสียงที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบมากว่าสี่ทศวรรษ นอกจากนี้ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 40 Years of Silence: An Indonesian Tragedy, The Act of Killing, The Look of Silence และ Pulau Buru Tanah Air Beta ยังได้พยายามที่จะทำลายความเงียบนั้น

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 40 Years of Silence: An Indonesian Tragedy
โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 40 Years of Silence: An Indonesian Tragedy
(ที่มา: https://www.voaindonesia.com/)

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Act of Killing
โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Act of Killing (ที่มา: https://www.travelettes.net/)

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Look of Silence
โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Look of Silence
(ที่มา: https://www.musetv.net/)

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Pulau Buru Tanah Air Beta
โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Pulau Buru Tanah Air Beta
(ที่มา: https://buttonijo.com)

 

55 ปีผ่านไป ผีคอมมิวนิสต์ยังคงหลอกหลอนสังคมอินโดนีเซีย

 

หลังสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ มีความพยายามรื้อสร้างวาทกรรมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู มีสองเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่ต่อสู้กันอยู่ ระหว่างเรื่องเล่าการกระทำความรุนแรงโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย กับเรื่องเล่าการใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย แต่เรื่องเล่าหลักที่บอกว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผีเป็นปีศาจร้ายยังคงถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า และดูเหมือนจะมีชัยเหนือเรื่องเล่าที่สอง

หลังยุคระเบียบใหม่ มีการแก้ไขหลักสูตรการศึกษาปี 2547 ทำให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ในส่วนที่ว่าด้วยเหตุการณ์เกสตาปู จากที่เคยระบุเหตุการณ์เกสตาปูว่า G30S/PKI ซึ่งมีความหมายว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังเหตุกาณ์เกสตาปู เป็น G30S โดยไม่มี /PKI ตามมา ปรากฏว่าก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วย นำไปสู่การประท้วงและเผาแบบเรียน จนในที่สุด รัฐบาลตัดสินใจให้ยกเลิกการใช้แบบเรียนใหม่ และกลับไปใช้แบบเรียนเดิมที่ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นผู้กระทำผิดในเหตุการณ์เกสตาปู

ข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ถูกใช้นำมาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมต่อต้านประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ตั้งแต่ในช่วงที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2557 ผู้ปลุกระดมใช้รูปที่มีคนหน้าคล้ายโจโกวีไปฟังคำปราศรัยของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย เพื่อกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงไม่สมควรสนับสนุนคนเช่นนี้เป็นประธานาธิบดี แต่ทว่าโจโกวีเกิดปี 2504 เท่ากับว่าในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เกสตาปู เขาเพิ่งมีอายุ 4 ปีเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปยืนฟังคำปราศรัย

 

ภาพชายคล้ายประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ยืนในการปราศรัยของไอดิต ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียปี 2498
ภาพชายคล้ายประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ยืนในการปราศรัยของไอดิต ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียปี 2498
(ที่มา: https://sains.kompas.com/)

 

ไม่เพียงแต่ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ที่ถูกหยิบยกผีคอมมิวนิสต์มาใช้เป็นเครื่องมือโจมตี แต่อาฮก หรือ บาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) อดีตผู้ว่าการจาการ์ตาที่เคยถูกตัดสินจำคุกสองปีจากข้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลามก็เคยถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเช่นกัน

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกตัดสินยุบพรรคตั้งแต่ปี 2509 และกฎหมายห้ามกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ยังดำรงอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน  เรียกได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์นั้นยิ่งกว่าตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังถูกวาดภาพให้เป็นภยันตรายร้ายแรงที่จะทำลายชาติอินโดนีเซีย ถึงแม้จะมีคนเอาไฟส่องจนสว่างจ้าเพื่อให้เห็นว่าผีไม่มีจริง แต่ผู้คนที่หวาดกลัวไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงยังคงหลับหูหลับตา ไม่กล้าลืมตาขึ้นมา เพื่อที่จะยังคงเชื่อว่าผีมีจริงต่อไป และผีคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียยังถูกปลุกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้เสมอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save