fbpx
เป็นทหารทำไมรวยจัง?: ทหารอินโดนีเซียกับธุรกิจตั้งแต่ประกาศเอกราชจนถึงปัจจุบัน

เป็นทหารทำไมรวยจัง?: ทหารอินโดนีเซียกับธุรกิจตั้งแต่ประกาศเอกราชจนถึงปัจจุบัน

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นำไปสู่การตั้งคำถามถึงสัญญาณความถดถอยของประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วังวนของการยึดอำนาจทำรัฐประหารในอาเซียน บทบาทของทหารกับการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลอดจนความเกี่ยวพันของผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจของทหาร อินโดนีเซียเป็นหนึ่งประเทศที่ทหารเคยมีบทบาทสำคัญในประเทศที่ไม่ใช่แค่ด้านการเป็นทหารอาชีพอย่างเดียว แต่เข้าไปพัวพันกับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความร่ำรวยของบรรดานายพลนั้นยังเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน

ในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลโจโก วีโดโดสมัยที่สอง (เริ่มตั้งแต่ปี 2019) มีอดีตนายทหารที่เกษียณแล้วได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งอย่างน้อย 5 นาย ได้แก่ ปราโบโว ซูเบียนโต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, Luhut Binsar Pandjaitan รัฐมนตรีประสานงานด้านทางทะเลและการลงทุน, Fachrul Razi รัฐมนตรีกระทรวงศาสนา, Terawan Agus Putranto รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และ Moeldoko เสนาธิการประธานาธิบดี ซึ่งคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นแสดงรายงานทรัพย์สินต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซีย (Komisi Pemberantasan Korupsi) หรือ KPK

ปราโบโว ซูเบียนโต (อายุ 69 ปี) อดีตนายทหารผู้มีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ อดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโจโก วีโดโดทั้งสองสมัย เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในบรรดาคณะรัฐมนตรีของโจโก วีโดโด เขามีทรัพย์สินเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณสองล้านล้านรูเปียห์ ในขณะที่ Luhut Binsar Pandjaitan ผู้มีความร่ำรวยเป็นลำดับที่สองรองจากปราโบโว ยื่นแสดงทรัพย์สินทั้งสิ้นราวหกแสนล้านรูเปียห์ และ Moeldoko อดีตนายพลทหารมีทรัพย์สินรวมราวห้าหมื่นล้านรูเปียห์

ทำไมอดีตนายพลทหารของอินโดนีเซียจึงมีทรัพย์สินมากมายมหาศาลขนาดนี้ทั้งๆ ที่เงินเดือนข้าราชการไม่ได้มากมายอะไรเลย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะทหารอินโดนีเซียเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกธุรกิจด้วย เรียกได้ว่าทหารสามารถทำธุรกิจได้จนกลายเป็นจารีตปกติของประเทศนับตั้งแต่อินโดนีเซียประกาศเอกราชเลยทีเดียว

 

ธุรกิจกองทัพหลังประกาศเอกราช: หาทุนต่อสู้เพื่อชาติ

 

อินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 แต่ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างเนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับการประกาศดังกล่าวและได้พยายามกลับเข้ามายึดครองอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่สงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียเป็นเวลา 4 ปี (ช่วงปี 1945-1949) ในช่วงเวลานั้น ทุกกรมกองต้องหาทุนเพื่อเลี้ยงและสนับสนุนปฏิบัติการของหน่วยงานตนเองเพื่อการทำสงครามต่อต้านเนเธอร์แลนด์ ซึ่งธุรกิจที่ทำรายได้มากที่สุดให้กับกองทัพในขณะนั้นได้แก่ การค้ายางพารา เนื้อมะพร้าวแห้ง และฝิ่น

หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ด้วยการยอมรับและรับรองโดยเนเธอร์แลนด์ในปี 1949 ทหารอินโดนีเซียไม่ได้ลดบทบาทในการทำธุรกิจลง แต่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้น ตั้งแต่ปี 1952 งบประมาณสำหรับกองทัพไม่เพียงพอทำให้ทหารต้องทำธุรกิจเพื่อหางบประมาณเพิ่มเติมเอง ในปี 1958 นายพลนาซูตียน (Nasution) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นได้กล่าวว่า ทหารอินโดนีเซียจะเล่นบทบาทที่เรียกว่า ‘ทางสายกลาง’ กล่าวคือ ทหารจะไม่เข้าไปเป็นผู้ปกครองประเทศโดยตรงเหมือนอย่างในบางประเทศขณะนั้น แต่ขณะเดียวกัน ทหารก็จะไม่ใช่แค่ผู้ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติตามนิยามของทหารอาชีพ แต่ทหารอินโดนีเซียจะเลือกเดินทางสายกลางระหว่างสองแนวทางดังกล่าว

ต่อมา เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้ายึดบรรษัทต่างๆ ของเนเธอร์แลนด์มาเป็นของอินโดนีเซียแล้ว ก็ได้แต่งตั้งนายพลต่างๆ เข้าดูแลกิจการที่รัฐยึดมา นอกจากนี้กรมกองต่างๆ ยังต้องหาเงินเลี้ยงหน่วยงานของตัวเองดังเช่นที่เคยกระทำในช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราช (1945-49) เนื่องจากงบประมาณจากส่วนกลางไม่เพียงพอ ธุรกิจที่ทหารทำนั้นมีทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย เช่น การลักลอบค้าอาวุธ ยาเสพติด และค้าน้ำมัน

ในช่วงแรกหลังการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ดูเหมือนว่าธุรกิจของทหารมีความจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของกองทัพและพอจะอ้างความชอบธรรมในการทำธุรกิจ แต่หลังจากนั้น การเข้าไปพัวพันกับธุรกิจของกองทัพยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคระเบียบใหม่

      

ธุรกิจทหารในยุคระเบียบใหม่ (1966-1998)

 

ในรัฐชาติที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่อย่างเช่นอินโดนีเซีย และมีปัญหาภายในมากมายในยุคแห่งการสร้างชาติ ถ้ามองในด้านเศรษฐกิจ รัฐไม่ได้เป็นเพียงผู้ควบคุมกำหนดนโยบายการพัฒนาเท่านั้น ทว่ายังเป็นผู้ลงทุนหลักในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาวะที่นักลงทุนจากต่างชาติยังมีไม่มากนัก ยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตชูประเด็นเรื่อง ‘การพัฒนา’ เป็นวาระหลักของชาติ ซึ่งการจะเอื้อให้เกิดบรรยากาศที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนต้องการความมั่นคงด้านการเมือง เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่าอินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางการเมืองมั่นคงพอที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนต่างๆ ดังนั้น การควบคุมทางสังคมและการควบคุมประชาชนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาประเทศจึงมักถูกอ้างโดยผู้นำเสมอๆ ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือในการทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยก็คือกองทัพนั่นเอง

ในยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โตที่มีการประกาศว่ากองทัพหรือทหารอินโดนีเซียนั้นมี ‘บทบาทหน้าที่สองอย่าง’ (dwifungsi) ซึ่งหมายความว่า นอกจากกองทัพจะมีหน้าที่ปกป้องประเทศจากภัยจากภายนอกแล้ว กองทัพยังมีหน้าที่ในด้านสังคมอีกด้วย ทำให้ในยุคระเบียบใหม่ กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างมากทั้งธุรกิจของเอกชนและรัฐบาล ไม่มีภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของชาติที่สำคัญๆ ที่ทหารไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในส่วนบุคคลหรือองค์กร เช่น บริษัทน้ำมัน Pertamina ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งทำกำไรปีละมหาศาล

การทำธุรกิจของกองทัพกระทำผ่าน ‘สหกรณ์’ และ ‘มูลนิธิ’ ของหน่วยงาน กรม กอง ต่างๆ ของกองทัพที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านการทำธุรกิจโดยตรง เช่น สหกรณ์หมวกเบเร่ต์แดง เป็นของหน่วยบัญชาการพิเศษ (Komando Pasukan Khusus) หรือ Kopassus กองทัพมีมูลนิธิเช่น Yayasan Kartika Eka Paksi, Yayasan Markas Besar ABRI และ Yayasan Dharma Putra Kostrad ซูฮาร์โตเองก็มีมูลนิธิของตัวเอง เช่น Yayasan Dharmais, Yayasan Dakab และ Yayasan Supersemar เป็นต้น โดยการทำธุรกิจเช่นนี้ กองทัพอ้างว่าทำเพื่อสวัสดิการของนายทหารในแต่ละกรมกอง ตัวอย่างเช่น Yayasan Markas Besar ABRI ซึ่งเป็นมูลนิธิสำนักงานใหญ่ของกองทัพ เป็นองค์กรที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับกองทัพ มีบริษัทภายใต้ Yayasan Markas Besar ABRI จำนวนมากที่เข้าไปทำธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งสินค้า การทำเหมืองแร่ การก่อสร้าง การสร้างทางด่วน กสิกรรม การสื่อสาร และการให้เช่าอาคารสถานที่ เป็นต้น

นอกจากการทำธุรกิจผ่านองค์กรแบบทางการนี้แล้ว ทหารยังทำธุรกิจแบบไม่เป็นทางการและแบบผิดกฎหมายด้วย แบบไม่เป็นทางการคือธุรกิจที่นายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วเป็นผู้ทำ ไม่ได้ผ่านสหกรณ์หรือมูลนิธิของทหาร อย่างไรก็ตาม พบว่านายทหารส่วนใหญ่เริ่มธุรกิจตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งในกองทัพ ซึ่งหมายความว่ามีการใช้ตำแหน่งทหารในการทำธุรกิจ ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้เช่น กลุ่ม Usaha Nugra Santana, กลุ่ม Usaha Krama Yudha เป็นต้น

ส่วนธุรกิจผิดกฎหมายคือธุรกิจสีเทาๆ เช่น การเรียกค่าคุ้มครอง หรือการเรียกค่า ‘เอาหูไปตาเอาตาไปไร่’ ต่อการทำธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การค้ายาเสพติด การพนัน ลักลอบตัดไม้เถื่อน การค้าอาวุธเถื่อน การฝึกกองกำลังอันธพาลเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เป็นต้น ยิ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง การเข้าไปพัวพันกับธุรกิจเช่นนี้ของกองทัพก็จะยิ่งมีมาก อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว การแยกธุรกิจของทหารไม่ว่าจะเป็นแบบทางการ แบบไม่ทางการ หรือแบบผิดกฎหมายออกจากกันกระทำได้ยากยิ่ง

การเป็นทั้งผู้เล่น หมายถึงเป็นนักธุรกิจผู้ลงทุนรายใหญ่ และเป็นผู้คุมเกม หมายถึงการเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง เป็นผู้มีอำนาจในคณะผู้ปกครอง คณะรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของชาติในด้านต่างๆ รวมถึงทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องกันเอง ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันทั้งทางนโยบายและภายในองค์กรธุรกิจของกองทัพ และส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ซึ่งส่งผลลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเมือง นำไปสู่การประท้วงโดยนักศึกษาและประชาชนครั้งใหญ่ หนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในขณะนั้นคือ ต้องยกเลิกบทบาทของกองทัพในด้านที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลงด้วยการลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 อินโดนีเซียได้ทำการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งเรื่องแรกๆ ที่ทำคือการปฏิรูปกองทัพ นำทหารกลับเข้ากรมกอง ไม่ให้ทหารเข้าไปยุ่งกับด้านการเมืองอีกต่อไป แต่ไม่ใช่แค่ด้านการเมืองเท่านั้นที่ทหารเข้าไปมีบทบาท การดึงทหารออกจากโลกธุรกิจก็เป็นประเด็นที่สังคมจับตามองด้วย แต่การปฏิรูปธุรกิจของกองทัพกลับทำได้ช้ากว่าและยากกว่าการดึงทหารออกจากการเมืองทางตรง

ปฏิรูปธุรกิจของทหารสำเร็จหรือไม่?

 

เมื่อเกิดการปฏิรูปประเทศอินโดนีเซียครั้งใหญ่หลังการล่มสลายของระบอบเผด็จการทหารของซูฮาร์โต การปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมืองกลับเข้ากรมกองก็เริ่มต้นขึ้น และไม่ใช่การเอาทหารออกจากเมืองเท่านั้น แต่อินโดนีเซียพยายามเอาทหารออกจากธุรกิจด้วย การปฏิรูปธุรกิจของกองทัพจึงเริ่มต้นขึ้น ทว่าการปฏิรูปธุรกิจทหารกระทำและสำเร็จลุล่วงช้ากว่าการเอาทหารออกจากการเมืองและด้านอื่นๆ มีการออกกฎหมายปฏิรูปธุรกิจกองทัพในปี 2004 เนื้อหาใจความหลักคือ ห้ามทหารที่ยังรับราชการทำธุรกิจอีกต่อไป และกองทัพต้องส่งมอบธุรกิจของกองทัพที่เคยดำเนินมาให้กับรัฐบาล และเพื่อการส่งมอบธุรกิจนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาในปี 2008 หลังจากมีการออกกฎหมายถึง 4 ปี แต่คณะทำงานชุดนี้ก็ทำงานได้ค่อนข้างล่าช้า เพราะต้องรวบรวมข้อมูลธุรกิจของกองทัพทั่วประเทศเพื่อการส่งมอบธุรกิจให้รัฐบาล ฝั่งรัฐบาลก็เพิ่มงบประมาณให้แก่กระทรวงกลาโหมเพื่อเป็นการชดเชยการให้ทหารส่งมอบธุรกิจ (ดูตัวเลขงบประมาณเปรียบเทียบในตาราง)

 

ปี งบประมาณกระทรวงกลาโหม (ล้านล้านรูเปียห์)
2000 10.5
2004 21
2005 23
2006 32
2007 36
2008 33
2009 42
2010 47

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ของยุคปฏิรูปและธุรกิจทหารยังไม่ได้ถูกปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเหมือนกับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพในด้านอื่นๆ งบประมาณกองทัพน้อยกว่าในช่วงปี 2004 ที่มีการออกกฎหมายปฏิรูปธุรกิจกองทัพ

แม้ว่าในทางปฏิบัติ รัฐบาลได้โอนธุรกิจของทหารมาเป็นของรัฐบาล แต่นั่นก็เป็นเพียงธุรกิจทางการที่กระทำผ่านสหกรณ์และมูลนิธิของกองทัพ แต่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ของทหารที่ไม่เป็นทางการและผิดกฎหมายที่ยังรัฐยังจัดการไม่ได้อีกมากมาย และธุรกิจของทหารที่ส่งมอบแล้ว เมื่อมีการนำไปขายทอดตลาดก็ไปตกอยู่ในมือของผู้ที่มีความใกล้ชิดกับอดีตนายพลทหารทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นายพลอินโดนีเซียก็ยังคงมีอิทธิพลและบทบาทในโลกธุรกิจ แม้จะไม่ใช่ในรูปแบบเดิม

เมื่อทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของประเทศ มักจะมีข้ออ้างว่าทำเพื่อพิทักษ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือกล่าวหารัฐบาลพลเรือนต่างๆ นานา เป็นต้นว่าความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ ความไม่โปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง หรือการคอร์รัปชัน แต่ไม่เคยมีทหารกลุ่มไหนบอกตรงๆ ว่า สาเหตุหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำการยึดอำนาจก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตัวเอง และเมื่ออยู่ในอำนาจแล้ว พวกเขาก็คอร์รัปชันไม่แพ้รัฐบาลพลเรือนที่ตัวเองกล่าวหาเช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save