fbpx
ทักษะแห่งอนาคตคือการจัดการกับความวอกแวก

ทักษะแห่งอนาคตคือการจัดการกับความวอกแวก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เราพูดถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กันหลายอย่าง เช่น ต้องทำโน่นนี่เป็นพร้อมๆ กันแบบมี multi-skills แต่รู้ไหมครับ ว่านักเขียนชื่อดังชาวอิสราเอลอย่าง Nir Eyal (อ่านว่า เนียร์ อียาล) บอกว่าทักษะอะไรที่สำคัญที่สุด

เขาบอกว่า มันคือการจัดการให้ตัวเอง ‘ไม่วอกแวก’ หรือ Indistractable นั่นเอง

เขาเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ Hooked: How to Build Habit-Forming Products ซึ่งพูดถึงเรื่องของการสร้างอุปนิสัยให้ตัวเอง เช่น ไปยิมเป็นประจำ หรือกินอาหารให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาช่วยเรา

แต่การที่เราจะ Hooked หรือ ‘ติด’ อยู่กับการทำอะไรสักอย่าง ตั้งแต่ทำงานจนถึงวิ่งเป็นเวลานานๆ หรือเข้ายิมให้นานมากพอแก่ความต้องการของร่างกายนั้น ล้วนแต่ทำได้ยากมาก ถ้าหากว่าเรา ‘วอกแวก’

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเพิ่งมีหนังสือเล่มใหม่มา มีชื่อว่า Indistractable: How to Control Your Attention and Choose Your Life

ที่จริงแล้ว คำว่า ‘วอกแวก’ หรือ distraction นั้น มีความหมายตรงตัวว่า ‘กระบวนการในการรบกวนความสนใจ’ หรือมีสิ่งเร้าอะไรบางอย่างที่เข้ามาดึงความสนใจของเราไปจากความสนใจหลักที่ควรจะต้องทำอยู่ตรงหน้า

ถ้าความวอกแวกเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวก็คงไม่กระไรนักหนา แต่ถ้าหากว่ามันกลายเป็น ‘นิสัย’ หรือ habit ขึ้นมาล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

เรารู้กันอยู่ว่า ในปัจจุบัน เกิดสิ่งที่เรียกว่า digital distraction อยู่ตลอดเวลา ทำงานอยู่ดีๆ ประเดี๋ยวก็ต้องเช็คเฟซบุ๊ก เช็คอีเมล ซึ่งบางอย่างก็เป็นงาน แต่อีกหลายอย่างก็เป็นการคุยเล่นกับเพื่อนหรือแวบไปดูโน่นนี่เพื่อพักผ่อนคลายใจเล็กๆ น้อยๆ หรือ distraction ที่ไม่ใช่เรื่องดิจิทัล อาทิ คนที่ทำงานออฟฟิศอาจคุ้นเคยกับการที่เพื่อนโผล่มาคุยที่โต๊ะทำงาน หรือมีการประชุมกะทันหันเพราะบอสเรียก ส่วนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์แล้วไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอาจวอกแวกไปกับเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวได้ร้อยแปด

ยุคนี้จึงเป็น ‘ยุคแห่งความวอกแวก’ อย่างแท้จริง

ทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น?

Nir Eyal อ้างคำอธิบายมาจากการศึกษาของ ดร.โจนาธาน บริกเคอร์ (Jonathan Bricker) แห่งศูนย์วิจัยมะเร็งเฟร็ด ฮัตชินสัน ในซีแอตเทิล ซึ่งเขาบอกว่า คนเรามีแนวโน้มจะหลีกหนีจากความไม่สบาย (discomfort) ต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวของเราเองเสมอ แม้เวลาที่เรากำลังคิดว่าตัวเองแสวงหาความสุขความเพลิดเพลินอยู่ แท้จริงเรากำลัง ‘หนี’ หรือ ‘ปลดปล่อย’ ตัวเองจากความเจ็บปวดและความทุกข์ที่เกิดจากความต้องการอยู่ต่างหาก

คำอธิบายนี้เลยไกลไปถึงการ ‘ใช้งานล้นเกิน’ (overuse) ของสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นวิดีโอเกมนานๆ การหลงอยู่ในโซเชียลมีเดียแบบออกมาไม่ได้ การคุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ การ binge watch ซีรีส์ต่างๆ และอะไรอื่นๆ ที่ทำให้เราเบี่ยงเบนออกไปจากสิ่งที่เราควรทำ โดยคำอธิบายนี้บอกว่า เอาเข้าจริง เราไม่ได้ ‘เพลิดเพลิน’ กับการทำสิ่งเหล่านี้มากเท่ากับเรากำลังพยายาม ‘หลีกหนี’ จากปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นความเบื่อ ความเหงา ความไม่มั่นคงในใจ ความอ่อนล้า ความไม่แน่นอนในชีวิต ฯลฯ

เราต้องการจะ ‘ไปให้พ้น’ จากเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อมีสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้น เราจึงวอกแวกออกจากงาน แล้วหันหน้าไปสู่ทางหนีเหล่านี้ที่ก็เย้ายวนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ดร.โจนาธาน เรียกแรงกระตุ้นนี้ว่าเป็น internal triggers หรือตัวกระตุ้นที่เกิดจาก ‘ภายใน’ ของเราเอง

วิธีที่จะจัดการกับความรู้สึกนี้ทำได้หลายอย่าง เช่น ลองหาดูว่า ความรู้สึกหรือความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังแรงเร้าพวกนี้ ให้ค่อยๆ สังเกต แล้วลองจดมันลงไปเป็นข้อๆ ค่อยๆ บันทึกเท่าที่นึกออก แล้วลองสำรวจดูว่าเรารู้สึกอย่างไรกับมัน คือเมื่อ ‘รู้จัก’ กับมันได้แล้ว สุดท้ายเราจะสามารถจัดการกับมันได้ แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่า Internal Triggers คืออะไร เราจะจัดการอะไรไม่ได้เลย

คำว่า distraction นั้น เป็นคำที่อยู่ตรงข้ามกับคำว่า traction ถ้า distraction หมายถึงการกระทำที่ผลักเราออกจากสิ่งที่เรา ‘ต้องการ’ จริงๆ (เช่นการทำงาน การเรียนรู้ การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย ฯลฯ) คำว่า traction ก็คือการ ‘อยู่ในร่องในรอย’ หรือเป็นการกระทำที่ผลักเราให้มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่สิ่งที่เราต้องการจะทำ

เมื่อรู้แล้วว่าแรงเร้าภายในที่กระตุ้นเราคืออะไร ขั้นต่อไปก็คือการผลักตัวเองไปสู่ traction หรือหาเวลาสำหรับการมุ่งหน้าสู่ traction นั้นๆ ให้ได้

Nir Eyal บอกว่า วิธีที่จะช่วยได้มีหลายอย่าง เช่น อย่าไปคิดถึง ‘เป้าหมาย’ เช่น คิดว่าต้องวิ่งให้ได้สิบกิโลเมตรในวันนี้ แต่ให้หันไปคิดถึง ‘คุณค่า’ ของมันแทน เช่นว่าการวิ่งมีประโยชน์อย่างไรกับตัวเรา ตอนนี้เราอาจจะสุขภาพไม่ดี และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอจะช่วยเราได้ การเห็นถึง ‘คุณค่า’ เสียก่อน จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้โดยที่เราอาจไม่ต้องใช้ความพยายามด้วยซ้ำ แต่การไป ‘ตั้งเป้า’ เอาไว้แล้วพยายามเข็นตัวเองให้ไปให้ถึงโดยไม่ตระหนักถึงคุณค่าอย่างแท้จริง สุดท้ายจะทำให้เราวอกแวกหันเหออกจากสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก

เมื่อรู้แล้วว่า อะไรมี ‘คุณค่า’ กับตัวเรา ขั้นต่อไปก็คือการเปลี่ยนคุณค่านั้นให้กลายเป็นเวลา หลายคนบอกว่าตัวเอง ‘ไม่มีเวลา’ แต่นั่นอาจเป็นไปได้ว่าเพราะเราให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ ผิดไป การลงทุนเวลาเหมือนการลงทุนในหุ้น ถ้าซื้อหุ้นถูกตัว เราจะได้มูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าลงทุนผิด เช่น ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่วอกแวกออกไปจากเป้าหมาย ก็จะทำให้เราสูญเสียคุณค่าต่างๆ ไปในที่สุด

เรื่องนี้เป็นวงจรอุบาทว์ คือยิ่งเราไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่า คิดเพียงแต่ว่าต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ถึงเป้า เราก็จะทำไม่ได้ และสุดท้ายก็จะยิ่งเห็นคุณค่าของการกระทำนั้นๆ ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นคุณค่าน้อยลง เราก็จะยิ่งวอกแวกง่ายขึ้นไปอีก

ตัวกระตุ้นให้เราวอกแวกนั้น มีทั้งภายนอกและภายใน (คือมีทั้ง internal triggers และ external triggers) ดังนั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนจาก distraction มาสู่ traction เราก็ต้องจัดการกับสิ่งเร้าทั้งสองอย่างนี้ให้ดี

สิ่งเร้าภายในนั้นจัดการได้ยากกว่า เพราะเราต้องไปเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองว่าอะไรคือ ‘คุณค่า’ ที่แท้จริงกันแน่ แต่สิ่งเร้าภายนอกจัดการได้ค่อนข้างง่าย โดย Nir Eyal แนะนำให้จัดการสิ่งเร้าภายนอกที่เป็น digital distraction เอาไว้ว่าให้ทำ 4 วิธี ซึ่งก็คือ remove คือการลองเอาสิ่งรบกวนทั้งหลายทิ้งไป เช่น ลบแอปฯ ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นทิ้ง, replace คือการแทนที่สิ่งที่ดูเหมือนจะทำให้เราวอกแวกด้วยสิ่งอื่น อย่างเช่นไปติดตั้งแอปฯ โซเชียลมีเดียไว้ในอุปกรณ์ที่เราไม่ได้ใช้ทำงาน, rearrange คือการจัดแจงใหม่เพื่อซ่อนแอปฯ ต่างๆ ที่ทำให้เราวอกแวก และสุดท้ายคือ reclaim คือการปรับตั้งค่าการเตือนแอปฯ ต่างๆ เพื่อให้เหลือแต่แอปฯ ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเก่าๆ ซ้ำๆ พูดกันแล้วพูดกันเล่าไม่รู้จักกี่ครั้ง แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วเราจัดการกับความวอกแวกที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้หรือเปล่า

การจัดการกับความวอกแวกเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกรุมเร้าเราด้วยความวอกแวกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ดังนั้น สิ่งนี้จึงอาจเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งของโลกแห่งอนาคตก็ได้

ใครวอกแวกน้อยกว่า…ชนะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save