fbpx
ภาษาเราไม่เท่ากัน

ภาษาเราไม่เท่ากัน

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ผมมีความรู้สึกระคนกันระหว่างขอบคุณ ขุ่นเคือง และเสียดาย เมื่อได้สดับตรับฟังข่าวเรื่องการสนับสนุนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถอภิปรายในสภาเป็นภาษาท้องถิ่น เปิดประเด็นโดย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (ฟังบันทึกการอภิปรายได้ที่นี่) รวมทั้งปฏิกิริยาของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณกุลธิดา ที่ปรากฏทั้งในสื่อมวลชนและทางสื่อสังคม

ผมรู้สึกขอบคุณ ส.ส.กุลธิดา ที่เป็นผู้นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางภาษาในสังคมไทยและที่อื่น และยังชี้ให้เห็นความสำคัญของการรับรองสิทธิในการใช้ภาษาในพื้นที่ทางการ นอกเหนือจากพื้นที่ไม่เป็นทางการในครอบครัวและชุมชน เพราะมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติตามสัญชาตญาณมนุษย์ ที่คนในสังคมหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาด้วยการใช้ภาษาหนึ่งพูดกับคนในครอบครัวและชุมชน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะใช้อีกภาษาหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งในโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงาน และสถาบันทางสังคมอื่นๆ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจัยทางสังคมและการเมือง ซึ่งสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หากเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้น

กรณีตัวอย่างในแคนาดา เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ และอินเดีย ที่ ส.ส.กุลธิดาหยิบยกขึ้นมาแสดงนั้น ถึงแม้จะมีใครเห็นว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยหรือไม่อย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่าการรับรองสิทธิทางภาษาแก่ชุมชนผู้ใช้ภาษาต่างๆ ในประเทศหนึ่งประเทศใดนั้น ไม่ได้เป็นการคุกคามเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศนั้นแต่อย่างใดเลย

ส่วนสาเหตุที่ผมรู้สึกขุ่นเคือง เพราะข้อถกเถียงที่สืบเนื่องกับข้อเสนอข้างต้นนั้น ไปจบลงที่การสรุปว่า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ท่านนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องปลีกย่อยที่ไม่มีสาระสำคัญ เหมือนเอาเรื่องเสื้อผ้าและสำเนียงภาษามาเน้นเกินจำเป็น จนทำให้การแก้ปัญหาปากท้องและสิทธิเสรีภาพของประชาชนพร่ามัวลงไป หรือบางท่านก็ไปไกลถึงขั้นที่ว่า การเมืองอัตลักษณ์ยังไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ขับเคลื่อนทางการเมืองในประเทศไทย เหมือนดั่งประเทศในทวีปยุโรปหรืออเมริกา

ความขุ่นเคืองของผมไม่ได้มุ่งหมายที่ ส.ส.กุลธิดาโดยเฉพาะเจาะจง แต่ผมรู้สึกขุ่นเคืองต่อสถานการณ์ที่คลี่คลายไปในลักษณะที่คาดการณ์ได้จนเกินไป ผมหงุดหงิดที่คนรีบยอมรับกันเร็วเกินไปว่า การเมืองเป็นเรื่องของปากท้องและการแบ่งสรรปันส่วนอำนาจเป็นเป้าหมายหลัก ในขณะที่เรื่องการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายของการใช้ภาษาในสังคมนั้น เป็นได้เพียงสิ่งที่แปรไปตามเป้าหมายหลักของการเมือง

พูดอย่างง่ายๆ คือ ผมรู้สึกรำคาญที่เรายังไม่ทันพินิจพิจารณา แล้วก็พากันด่วนคิดว่าเรื่องภาษานั้นไม่ต่างจากเรื่องของสไตล์เสื้อผ้าหน้าผมที่เป็นเครื่องแสดงออกถึงปัจเจกภาพของบุคคล หรือไม่ก็เห็นภาษาเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีคุณค่ามากน้อยตามประโยชน์ใช้สอย

ผมรู้สึกเสียดายว่าประเด็นที่มีความสำคัญอย่างภาษาและการเมือง ถูกลดทอนลงจนเหลือเพียงข้อเสนอ “ให้รัฐสภาเป็นที่ที่แสดงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของสมาชิก” และถูกนำเสนออย่างย่นย่อในลักษณะของตัวอย่างของข้อปฏิบัติอันเป็น “สากล” จากประเทศต่างๆ โดยปราศจากการกล่าวถึงบริบททางประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ทางภาษาศาสตร์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละประเทศ

ความน่าเสียดายนี้เกิดขึ้นเพราะเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษามาตรฐาน-ภาษาทางการของประเทศ ในพื้นที่ที่เป็นทางการอย่างรัฐสภา ถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นแนวทางการปฏิบัติสากลที่ประเทศเจริญแล้วที่ไหนเขาก็ทำกัน การกล่าวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ส.ส.กุลธิดามองข้ามประเด็นสำคัญในเรื่องที่ตัวเองเป็นผู้นำเสนอไปถึงสามประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก  ในแง่อัตลักษณ์ การเลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในบริบทการใช้ภาษาใดๆ ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้อัตลักษณ์ของผู้พูดในฐานะปัจเจกบุคคลว่าเป็นใครมาจากไหนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนผู้ใช้ภาษาที่ผู้พูดเป็นตัวแทน รวมถึงกลุ่มผู้ฟังที่ใช้ภาษานั้นๆ ด้วย

ดังนั้นเมื่อผู้พูดใช้ภาษาที่ผู้ฟังใช้ระบุอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ก็เปรียบเหมือนว่ามีการขีดเส้นรอบวงเพื่อนับรวมผู้พูดผู้ฟังไว้เป็นพวกเดียวกัน (Inclusiveness) และในขณะเดียวกัน ก็กั้นคนจำนวนหนึ่งที่อยู่นอกเส้นรอบวงนั้นออกไปด้วย (Exclusiveness)

ยกตัวอย่างเช่น การปราศรัยประเดิมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก (Maiden Speech) ของรัฐสภานิวซีแลนด์ จะมีผู้ใช้ภาษา ‘เมารี’ ร่วมกับภาษาอังกฤษในคำปราศรัย แม้ว่าตัว ส.ส.จะไม่ได้พูดภาษาเมารีเป็นภาษาแม่ก็ตาม เนื่องจากภาษาเมารีเป็นภาษาของชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนที่จะมีการก่อตั้งอาณานิคมของชาวยุโรป ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นประเทศนิวซีแลนด์ การใช้ภาษาเมารีของ ส.ส.จึงเป็นการแสดงความเคารพอัตลักษณ์เมารีมากกว่าตัวผู้พูด แต่ทั้งนี้ ภาษาอังกฤษก็ยังเป็นภาษาหลักสำหรับการอภิปรายในรัฐสภานิวซีแลนด์อยู่ดี (ดูตัวอย่าง การปราศรัยที่ใช้ภาษาเมารี/อังกฤษ และ ภาษาเมารี/ฟิลิปิโน/อังกฤษ โดย ส.ส.ที่ไม่ใช่คนเมารี)

ประเด็นที่สอง  ในแง่สิทธิในการใช้ภาษา แม้หลักการทางสิทธิมนุษยชนจะคุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อปัจเจกบุคคลด้วยเหตุผลทางภาษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีมาตรฐานที่เป็นสากลสำหรับให้ทุกประเทศปฏิบัติตามได้เหมือนๆ กัน ในการจะตัดสินใจว่าควรอนุญาตให้ใช้ภาษาใดได้ในพื้นที่ทางสังคมแบบไหน

การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะให้สิทธิในการใช้ภาษาใดๆ ในพื้นทางสังคมที่เป็นทางการ หรืออนุญาตให้มีการใช้ภาษานั้นในเชิงสถาบัน ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงของประเทศนั้นด้วย การจะอนุญาตให้ใช้ภาษาในเชิงสถาบันได้กี่ภาษา-ภาษาอะไรบ้าง จึงไม่ได้มีหลักการที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้พูดภาษาแต่ละภาษาว่ามีมากน้อยแค่ไหน สถานะทางสังคมและการเมืองของภาษานั้น เช่น เป็นภาษาประจำรัฐ/แคว้น เป็นภาษาของคนพื้นเมืองหรือของอดีตเจ้าอาณานิคม เป็นภาษาของกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงหรือต่ำ เป็นต้น

ประเด็นที่สาม  ในแง่หน้าที่ทางสังคมของภาษา กิจกรรมต่างๆ ในสังคมต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์ที่มีภาษาเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยที่กิจกรรมทางสังคมและผู้เข้าร่วมมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ภาษาที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในแต่ละกิจกรรมจึงมีความแตกต่างหลากหลายตามไปด้วย กิจกรรมแบบเดียวกันแต่ภาษาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแตกต่างกัน ก็ใช้ภาษาต่างกัน หรือผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มเดียวกันแต่กิจกรรมต่างประเภทกัน ก็อาจใช้ภาษาต่างกัน เช่น ภาษาสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมในกรุงเทพมหานคร กับในพื้นที่ชายแดนที่นักเรียนไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จำเป็นต้องใช้คนละภาษากัน หรือพนักงานบริษัทตัวแทนโฆษณาอาจใช้ภาษาอังกฤษเขียนบันทึกช่วยจำ เพื่อสื่อสารกันระหว่างแผนก ในขณะที่ใช้ภาษาไทยแบบไม่เป็นทางการแชทหากันเพื่อนัดหมายไปกินข้าวกลางวัน เป็นต้น

เหตุผลที่ ส.ส.กุลธิดายกมาประกอบการอภิปรายเพื่อสนับสนุนการอนุญาตให้สามารถอภิปรายในสภาเป็นภาษาถิ่นได้นั้น ถ้านำมาพิจารณาให้ดี อาจกลายเป็นเหตุผลโต้แย้งกับข้อเสนอของเธอเองได้ด้วย

“สมาชิกสภาที่ปกติแล้วเติบโตมาใช้ภาษาถิ่นมาตลอด ทั้งในโรงเรียน ในการติดต่อราชการในพื้นที่ของเขา แม้กระทั่งการหาเสียงก็ใช้ภาษาถิ่นมาตลอด แล้วทำไมในพื้นที่สภาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารไม่ได้”

เราจะเห็นว่า สมาชิกสภาที่ ส.ส.กุลธิดากล่าวถึงอย่างไม่เฉพาะเจาะจง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาในบริบทต่างๆ กัน และเราย่อมอนุมานได้ว่าสมาชิกสภาเหล่านั้น ย่อมมีความสามารถในการใช้ภาษาได้มากกว่าภาษาเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้คนที่เขา/เธอติดต่อสื่อสารด้วย หรือขึ้นอยู่กับสถานที่และสถานการณ์ที่เรียกร้องให้ต้องสลับการใช้ภาษาตามความจำเป็น

กล่าวอีกแง่หนึ่ง การยืนยันที่จะให้ ส.ส.ใช้ภาษาถิ่นทั้งหมดในการอภิปราย โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในการฟังของสมาชิกสภาคนอื่น จึงเป็นข้อเสนอที่ขัดกับเป้าหมายขั้นปฐมของการสื่อสารด้วยภาษา ได้แก่การสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง การพยายามยืนยันอัตลักษณ์ของผู้พูด โดยให้ผู้ฟังเป็นฝ่ายแบกต้นทุนความพยายามที่สูงเกินไปในการทำความเข้าใจสารของผู้พูด ย่อมทำให้การสื่อสารล้มเหลว

นอกจากนี้ การเสนอให้ใช้ภาษาถิ่นเพื่อทำหน้าที่เชิงสถาบันอย่างการอภิปรายในรัฐสภา โดยอ้างอิงกรอบความคิดว่าภาษาในประเทศไทยมีภาษาสองแบบ คือภาษากลางและภาษาถิ่น ย่อมเป็นการลดทอนความหลากหลายของภาษาในประเทศไทย ทั้งในเชิงสถานะและหน้าที่ทางสังคมของมัน เพราะภาษาในประเทศไทยไม่ได้มีแต่ภาษาไทยมาตรฐาน กับภาษาถิ่นสี่ภาคเท่านั้น แต่ยังมีภาษาระดับภูมิภาคอีกหลายภาษาที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลเดียวกันกับภาษาไทย

ยกตัวอย่างเช่น ในภาคใต้ตอนล่างสุด มีผู้พูดภาษามลายูปาตานีเป็นหลักล้าน ใกล้เคียงกันกับจำนวนผู้พูดภาษาขแมร์เลอในภาคอีสานใต้ ส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันตก มีผู้พูดภาษากะเหรี่ยงหลายแสนคน ผู้พูดภาษาเหล่านี้อาจสะดวกใจที่จะใช้ภาษาไทยมาตรฐานมากกว่าภาษาไทยถิ่นเสียด้วยซ้ำ การเสนอให้เพิ่มการใช้ภาษาไทยถิ่นในสภา แต่ไม่ครอบคลุมภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้มีภาษาไทยเป็นภาษาแม่ แทนที่จะเป็นการยกสถานะของชุมชนภาษาเหล่านี้ อาจกลับกลายเป็นการกดสถานะของภาษาดังกล่าวให้ต่ำลงโดยเปรียบเทียบ

 

 

ผมขอแนะนำท่านผู้อ่านที่สนใจในประเด็นเรื่องสถานะของภาษาในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ให้เข้าไปสืบค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ https://www.ethnologue.com/country/TH ซึ่งนอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้พูดภาษาต่างๆ แล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตการใช้ภาษาและสถานะของภาษาเหล่านั้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าการระบุสถานะของภาษาหนึ่งภาษาใด อาจมีการโต้แย้งกันได้ แต่กรอบการพิจารณาในภาพรวม ก็พอจะทำให้เราเริ่มเห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างภาษาได้ดียิ่งขึ้น (จริงๆ แล้วอาจกล่าวได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชุมชนเจ้าของภาษาต่างๆ มากกว่า)

ตามการจำแนกสถานะของภาษาในประเทศไทยโดยเว็บไซต์ดังกล่าว ในทางปฏิบัติแล้วประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติเพียงภาษาเดียว โดยเป็นภาษาแม่ (Mother Tongue) หรือภาษาแรก (L1) ของคนประมาณ 20 ล้านคน แต่เป็นภาษาที่สอง (L2) ของคนประมาณ 40 ล้านคน แปลว่าคนในประเทศนี้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร (Lingua Franca) ระหว่างคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เช่น คนที่มีภาษาม้งและภาษามลายูเป็นภาษาแม่และมีภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง สามารถที่จะใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาแม่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ในแง่นี้การใช้ภาษาไทย จึงเป็นการปลดปล่อยทั้งสองฝ่ายจากข้อจำกัดในการสื่อสารมากกว่าจะเป็นการกดทับอัตลักษณ์

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีหลายภาษาที่มีจำนวนผู้พูดเกินล้านคน หรือเกินสิบล้านคน โดยที่ภาษาเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นภาษาเชิงสถาบัน (Institutional Languages) เช่น ภาษาสำหรับสื่อการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาษาสำหรับการสื่อสารมวลชนโดยภาคราชการ ภาษาสำหรับการให้บริการภาครัฐในพื้นที่เฉพาะ ภาษาสำหรับป้ายประกาศข้อมูลสาธารณะ เป็นต้น การไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้ภาษาที่หลากหลายในบริบทที่มีความจำเป็นเหล่านี้ต่างหาก ที่แสดงถึงความบกพร่องในการให้สิทธิทางภาษาแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าวว่า ส.ส.กุลธิดากล่าวถึงสิทธิในการใช้ภาษาถิ่นในสภา ผมแวบความคิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติว่า ถ้าเป็นไปได้ เราน่าจะพูดเรื่องการใช้ภาษาถิ่น/ภาษาชาติพันธุ์ในโรงเรียนก่อนไหม มีโรงเรียนจำนวนมากที่ทั้งครูและนักเรียนถนัดพูด-ฟังภาษาเดียวกันที่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่ก็ต้องพากันใช้ภาษาไทยที่พวกเขาเข้าใจน้อยกว่า ถ้าเรียนเรื่องใหม่ๆ ยากๆ ในภาษาที่ตัวเองถนัดกว่าจะไม่ดีหรอกหรือ

เช่นเดียวกับการที่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน สามารถที่จะสื่อสารการให้บริการได้มากกว่าหนึ่งภาษา เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการขอรับบริการภาครัฐได้อย่างเป็นทางการ ผ่านภาษาที่ตัวเองมีความมั่นใจในการสื่อสาร

อาจเป็นการคาดหวังมากไป ที่จะคิดว่าการอภิปรายเรื่องสิทธิทางภาษาแบบสั้นๆ โดย ส.ส.คนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ จะแปลว่าพรรคการเมืองนี้มีจุดยืนการขับเคลื่อนประเด็นนี้ในระยะยาว แต่ผมก็เอาใจช่วยว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันจะกลายเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศอย่างสูง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save