fbpx
ประชาธิปไตยที่โอบรับอุดมการณ์ทางการเมืองอันหลากหลาย : สูตรไม่ลับฉบับอินเดีย

ประชาธิปไตยที่โอบรับอุดมการณ์ทางการเมืองอันหลากหลาย : สูตรไม่ลับฉบับอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ภาพประกอบ

 

ช่วงธันวาคมที่ผ่าน นอกจากการระบาดโควิด-19 ระลอกสองแล้ว ข่าวสารบ้านเมืองที่เป็นประเด็นร้อนในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นการถกเถียงกันเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการและการเสนออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่สร้างความฮือฮาอย่างกว้างขวางให้แก่ทั้งกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนการประท้วงด้วย แน่นอนประเด็นสำคัญที่ผมสนใจและอยากหยิบเอาเรื่องนี้มาเขียนก็คือ มีบางคนที่อธิบายถึงความไม่สอดคล้องหรือไปด้วยกันไม่ได้ระหว่างแนวคิดคอมมิวนิสต์กับการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือแม้แต่การอธิบายว่าแนวทางแบบคอมมิวนิสต์จะนำไปสู่การเป็นเผด็จการแบบฝ่ายซ้ายในที่สุด

ครั้งนี้เลยขอเขียนเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและรูปแบบการปกครองว่า ท้ายที่สุดแล้วมันสามารถปรับเปลี่ยนหรือจูนเข้าหากันได้หรือไม่ และอินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศมีบทเรียนที่น่าศึกษาที่สุด เพราะประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันสุดขั้วชนิดที่ว่า มีทั้งกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวโดยชูระบอบคอมมิวนิสต์เป็นจุดหมายสูงสุดของประเทศ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มคนที่อยากสร้างรัฐชาตินิยมฮินดู

คำถามก็คือ อินเดียจัดการอย่างไรกับความสุดขั้วของอุดมการณ์และความฝักใฝ่ทางการเมืองที่หลากหลายแบบนี้ ซึ่งบทความชิ้นนี้จะมาไขสูตรลับเหล่านั้นให้ท่านผู้อ่านทุกคน

 

ความสุดขั้วของอุดมการณ์และความหลากหลายของพรรคการเมือง

 

อินเดียเป็นประเทศที่เกิดขึ้นจากการผนวกรวมกันของรัฐจำนวนมากภายใต้การปกครองของอังกฤษและมหาราชาต่าง ๆ รัฐทั้งหลายเหล่านี้มีความต่างทั้งทางด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม และหล่อหลอมให้คนอินเดียเองมีความคิดและความเชื่อที่หลากหลายตามมาด้วย สภาพเช่นนี้ส่งผลให้เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งประเทศอินเดียเลือกที่จะใช้แนวทางการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาเป็นพื้นที่สะท้อนเสียงของประชาชนจากทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นระบบการปกครองใหม่สำหรับคนอินเดียเช่นเดียวกัน

ด้วยอินเดียมีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง แนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของอินเดียจึงมีความหลากหลายตามมาด้วย เราต้องเข้าใจก่อนว่า อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน จากนั้นโลกของเราก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็น ช่วงเวลาดังกล่าว ขึ้นชื่อว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างโลกเสรีนิยม-ทุนนิยม กับโลกสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ พยายามเผยแพร่อุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองของตัวเองไปยังประเทศอื่นๆ แน่นอนว่าอินเดียก็ได้รับผลกระทบจากสงครามอุดมการณ์เช่นเดียวกัน

แต่ความต่างคือ อินเดียไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่งชัดเจน แต่เลือกที่จะนำพาประเทศที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวใหม่หลังยุคอาณานิคมทั้งหลายจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาในนาม ‘กลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement)’ การพูดคุยกันครั้งแรกเริ่มในปี 1955 ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย การไม่เลือกฝ่ายใดหรือเข้าร่วมกับมหาอำนาจขั้วใดในช่วงสงครามเย็นคือเป้าหมายสำคัญของกลุ่มนี้ เพื่อรักษาความเป็นกลางทางด้านการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ แม้ว่าในความเป็นจริง หลายประเทศในกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก็เลือกข้างในช่วงสงครามเย็นเช่นเดียวกัน

ในเมื่ออินเดียเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการนำพาชาติอื่นๆ เข้าร่วมกลุ่มนี้ อินเดียจึงต้องแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นที่นิยมในเวลานั้นจากทั้งสองค่าย ฉะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียจึงสามารถก่อตั้งและขับเคลื่อนทางการเมืองได้อย่างอิสระและมีบทบาทนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก ถือเป็นพรรคที่มีที่นั่งเป็นอันดับ 2 ในรัฐสภารองจากพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนั้นยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองสุดขั้วลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาตินิยมฮินดู หรือพรรคชาตินิยมประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องสะท้อนสำคัญว่า อินเดียโอบรับความหลากหลายทางความคิดทางการเมืองที่อยู่อย่างกระจัดกระจายในประเทศ แม้พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียจะเป็นที่นิยมอย่างมากในเวลานั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำทางการเมืองปิดกั้นพรรคอื่นๆ ในการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ในทางกลับกันรัฐบาลในเวลานั้นพยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งถือเป็นแบบฉบับและเอกลักษณ์สำคัญของระบบพรรคการเมืองหลากหลายของอินเดียจากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้

 

พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายขวาฮินดูนิยมในเกมการเมืองอินเดีย

 

ครั้งหนึ่งเคยเขียนถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอินเดียซึ่งได้ด้รับการบ่มเพาะอย่างเป็นระบบจากพรรคการเมืองระดับชาติ รวมทั้งมีบทบาทในฐานะปีกเยาวชนของพรรค ส่วนในการเมืองระดับชาติ ระบบพรรคการเมืองของอินเดียก็ค่อนข้างชัดเจน พรรคการเมืองจำนวนมากมีอายุยาวนานนับตั้งแต่ก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชด้วยซ้ำ แม้ว่าปัจจุบันบางพรรคการเมืองจะมีบทบาททางการเมืองระดับชาติลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความนิยมของพรรคเหล่านี้ในการเลือกตั้งระดับรัฐจะลดลงตามไปด้วย

สำหรับตอนนี้พรรคการเมืองที่ปกครองอินเดียอยู่คือพรรคฝ่ายขวาฮินดูนิยมอย่างพรรคภารตียชนตา (BJP) ซึ่งการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาสามารถสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองด้วยการกวาดที่นั่งในรัฐสภาอินเดียได้จำนวนเกินครึ่ง ทำให้พรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในระบบการเมืองอินเดียที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคเช่นนี้ หากถามว่าขวาฮินดูนิยมคืออะไร นโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ ห้ามฆ่าวัว หรือรับประทานเนื้อวัวในช่วงที่พรรค BJP บริหารจัดการบางรัฐของอินเดีย การกระทำสิ่งข้างต้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากวัวเป็นสัตว์พาหนะของพระเจ้าในศาสนาฮินดูนั่นเอง และที่ไปไกลสุดคือ มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศคนปัจจุบันคือนักบวชในศาสนาฮินดูที่สังกัดพรรค

นี่เป็นเพียงเบื้องต้นที่จะฉายภาพขั้วแรกให้เห็นถึงระบบการเมืองของอินเดีย ลองมามองอีกฝั่งที่เราอาจเรียกว่า ‘ฝ่ายซ้าย’ นั่นก็คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย ในช่วงหลายปีมานี้ พรรคไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเมืองระดับชาติเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังนับว่าเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในหลายรัฐของอินเดีย โดยเฉพาะรัฐทางใต้อย่างรัฐเกรละซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคนี้ ทุกวันนี้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะในรัฐเกรละ นโยบายหลายอย่างที่ใช้ในรัฐจึงเป็นไปตามแบบแผนและอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลหรือการศึกษา เป็นต้น

นอกจากอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย-ขวาที่อยู่ร่วมกันในระบบการเมืองของอินเดียแล้ว อุดมการณ์แบบท้องถิ่นนิยมเองก็สามารถอยู่ได้อย่างกลมกลืนไม่แตกต่างกันข อยกตัวอย่างการเลือกตั้งในรัฐทมิฬนาดูที่เรียกได้ว่าตั้งแต่ก่อตั้งประเทศอินเดียมารัฐนี้ส่งผู้แทนราษฎรจากพรรคชาตินิยมทมิฬมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากพรรค Dravida Munnetra Kazhagam (DMK) หรือ จะเป็นพรรค All India Anna Dravida Munnetra Kazhagam (AIADMK) ที่แตกออกมาในภายหลัง โดยเฉพาะนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1996 เป็นต้นมา พรรคระดับชาติแทบไม่ได้รับเลือกจากคนในรัฐนี้เลย

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับความหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมืองและพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ร่วมกันในประเทศอินเดีย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ แต่ละรัฐก็มีพรรคตามความต้องการของคนท้องถิ่นแตกย่อยออกไปอีกมากมาย ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียรายงานว่า อินเดียมีพรรคการเมืองจดทะเบียนมากถึง 2598 พรรค โดยมีพรรคระดับชาติ 8 พรรค ระดับรัฐ 52 พรรค และพรรคทั่วไปอีก 2538 พรรค แต่ไม่ว่าอุดมการณ์จะต่างกัน จะสุดขั้วขนาดไหน พรรคเหล่านี้ หรือคนอินเดียเองก็อยู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญคือหัวใจหลัก

 

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ หลายคนคงมีคำถามในใจว่าแล้วอะไรคือเหตุผลให้ความหลากหลายของอุดมการณ์และพรรคการเมืองอินเดียอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหามาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ สูตรไม่ลับฉบับการเมืองที่โอบรับอุดมการณ์ทางการเมืองอันหลากหลายของอินเดียไว้ อยู่ที่ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของอินเดียนั่นเอง สองสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าจะผ่านมากี่ปี สองสิ่งนี้ก็ยังคงยืนตระหง่านอยู่กับคนอินเดียเสมอมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1947

ประชาธิปไตยนั้นสำคัญมาก เพราะสำหรับอินเดีย หรือแม้กระทั่งประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบนี้ในการปกครองถือว่าเป็นแนวทางการปกครองไม่กี่แบบที่ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างของผู้คนในทุกมิติได้อย่างกลมกลืน ที่สำคัญระบอบนี้ยังเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ ได้รู้จักลองผิดลองถูกได้ โดยมีช่วงเวลาแห่งการอดทนสำหรับการเลือกที่ผิดพลาด (สำหรับอินเดียคือ 5 ปี) หลังจากนั้น ระบอบก็เปิดโอกาสให้เลือกกันใหม่ผ่านการเลือกตั้ง ฉะนั้นคนอินเดียจึงได้ทดลองอยู่ภายใต้การปกครองทั้งจากสังคมนิยมสายกลางแบบพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิวต์ หรือขวาฮินดูนิยมแบบพรรค BJP แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นโอกาสที่ได้เลือกและได้เรียนรู้ทั้งสิ้น

ประชาธิปไตยจึงเปิดทางและช่วยโอบรับสังคมที่หลากหลายแบบอินเดียให้อยู่ด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหามากนัก เพราะทุกฝ่ายได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาทดลองใช้อุดมการณ์ที่ตัวเองเชื่อและสนับสนุนในการบริหารประเทศ รัฐ หรือแม้แต่ในระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยอินเดียเข้มแข็งได้ก็ด้วยมีกติกาที่ไม่เคยถูกล้ม นั่นคือรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดฉบับนี้ยังไม่เคยถูกฉีกทิ้งแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้ช่วยให้กติกายังคงเป็นกติกาที่ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะขึ้นมาบริหารประเทศก็ต้องทำตาม

รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องการันตีสำคัญว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดจะขึ้นมาบริหารประเทศ คุณค่าสำคัญอย่างเรื่องความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ความเป็นประชาธิปไตย และความเคารพซึ่งกันและกันในความต่างต้องได้รับการปกป้องและรับรอง นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมแม้พรรคการเมืองอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จะชนะในหลายรัฐ แต่รัฐเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ นี่คือความศักดิ์สิทธิของตัวกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือเส้นที่ห้ามข้าม โดยเฉพาะการทำลายค่านิยมประชาธิปไตยซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากในประเทศอินเดีย

บทเรียนจากอินเดียนสะท้อนให้เราเห็นว่าแม้แต่แนวคิดคอมมิวนิสต์ หรือขวาชาตินิยมฮินดูที่ท้าทายระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด หรืออุดมการณ์แบบท้องถิ่นนิยมที่ท้าทายอุดมการณ์ความเป็น ‘รัฐ-ชาติ’ ก็ยังอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กรอบประชาธิปไตยที่เคารพความแตกต่างระหว่างกัน และต้องเปิดทางให้กันในวันที่อุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่าการปกครองภายใต้อุดมการณ์ดังกล่าวจะต้องเผชิญอะไรบ้าง การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งช่วยให้การตัดสินใจในการเลือกตั้งของอินเดียแต่ละครั้งมีความหมายมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด

 

“ไม่ว่าการเมืองจะย่ำแย่หรือสร้างความไม่พอใจให้คนอินเดียมากแค่ไหน คนอินเดียก็ไม่เคยร้องขออำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่พวกเขาทุกคนเลือกอาศัยกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญในการแก้ไขเท่านั้น ถ้าทำอะไรไม่ได้จริง ๆ ก็รอเวลา 5 ปีเพื่อเลือกตั้งใหม่เท่านั้นเอง”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save