fbpx

จากในรัฐสู่ระหว่างประเทศ: บทบาทของรัฐบาลระดับรัฐในการกำหนดนโยบายต่างประเทศอินเดีย

เมื่อเราพิจารณาถึงการกำหนดนโยบายต่างประเทศ หลายคนอาจมองว่าเป็นประเด็นที่ไกลตัว และเป็นเรื่องของการบริหารระดับบน ไม่ว่าโครงสร้างรัฐจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม นโยบายต่างประเทศมักเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกผูกขาดอย่างเด็ดขาดโดยรัฐบาลกลางที่ทำหน้าที่ในการกำหนดบทบาทและท่าทีความสัมพันธ์ของประเทศต่อรัฐอื่นๆ ทั่วโลก เรื่องราวของนโยบายต่างประเทศจึงกลายเป็นดินแดนที่ใครหลายคนเข้าไม่ถึง ยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นพื้นที่ที่มักถูกผูกขาดโดยกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นในการกำหนดทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หน่วยงานความมั่นคง ไปจนถึงนักการทูต

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่มีลักษณะผูกขาดแบบนี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น เราได้เห็นตัวแปรใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่มีพรมแดนติดกับต่างประเทศ

ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีลักษณะเป็นรัฐรวมด้วยแล้ว รัฐบาลระดับรัฐเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการร่วมกำหนดนโยบายต่างประเทศ ในครั้งนี้ ขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านได้รับรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของรัฐต่างๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอินเดีย ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ความสัมพันธ์รัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ

หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญของอินเดีย อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลกลางยังคงมีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอินเดีย สำหรับอินเดีย ต้องบอกว่าแนวคิดนี้ได้รับสืบต่อนับมาตั้งแต่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หลังได้รับเอกราชนั้น อินเดียไม่ได้เป็นปึกแผ่นแต่เริ่มแรก ต้องมีการเจรจาเพื่อผนวกรวมดินแดนต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ชื่อประเทศอินเดีย ฉะนั้นหากเราไปตรวจรัฐธรรมนูญอินเดียจะไม่พบคำว่า ‘สหพันธรัฐ’ (Federal) แต่มีเพียงคำว่า ‘สหภาพ (Union)’ เท่านั้น ซึ่งสะท้อนนัยยะความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในตัวเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

ฉะนั้นโดยเนื้อเดิมนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศอินเดีย โครงสร้างทางอำนาจของประเทศเกิดจากการต่อรองทางอำนาจและความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐต่างๆ ส่งผลให้โครงสร้างรัฐของอินเดียเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นรัฐเดี่ยวและรัฐรวม ด้วยลักษณะประวัติความเป็นมาของการก่อร่างสร้างประเทศเช่นนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้รัฐบาลระดับรัฐไม่สามารถออกนโยบายต่างประเทศของตัวเองได้ แต่รัฐต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตนเองได้ในกรณีที่รัฐบาลกลางเห็นชอบ

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกของการได้รับเอกราช บทบาทของรัฐบาลระดับรัฐในการกำหนดนโยบายต่างประเทศยังมีอยู่อย่างจำกัด ในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีชวาหระลาล เนห์รู ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนในการวางรากฐานนโยบายต่างประเทศของอินเดียนั้น คนนอกมีบทบาทน้อยมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงบุคคลในคณะรัฐมนตรีด้วย ลักษณะเช่นนี้เป็นผลสำคัญมาจากการที่รัฐบาลอินเดียในเวลานั้นอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคคองเกรสนั่นเอง

ทั้งนี้ระบบดังกล่าวค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น พรรคคองเกรสพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดีย เกิดความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในระดับรัฐอันเป็นเหตุมาจากการขยายตัวของพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงสถานะพิเศษของรัฐใหม่ๆ อย่างจัมมูและแคชเมียร์ อัสสัม เมฆาลายา ตรีปุระ และมิโซรัม ซึ่งมีรัฐธรรมนูญมาตราพิเศษคุ้มครอง รัฐเหล่านี้มีความต้องการมากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย

ในขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องการเปิดรับการลงทุนจากภายนอกมากยิ่งขึ้นของอินเดียในช่วงทศวรรษ 1990 เองถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศเดิมของอินเดียเปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มขึ้นของตัวแปรอย่างรัฐบาลระดับรัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ตัวเองกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ติดกัน และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอิทธิพลของรัฐต่างๆ ในอินเดียต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2014 รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มกรมกิจการระดับรัฐ ภายในกระทรวงต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและพูดคุยเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายต่างประเทศกับรัฐต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

รัฐบาลระดับรัฐกับบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ

รูปแบบความสัมพันธ์ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอินเดีย ซึ่งในหลายนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลระดับรัฐมีส่วนร่วมค่อนข้างมากในการกำหนดท่าทีของรัฐบาลกลางในการออกแบบนโยบายเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บทบาทของรัฐบาลระดับรัฐเข้าไปมีบทบาทได้มากคือลักษณะความเป็นรัฐบาลผสมของอินเดียในหลายครั้ง ทำให้พรรคการเมืองระดับท้องถิ่นมีส่วนเข้าไปร่วมบริหารประเทศ และทำให้พรรคการเมืองเหล่านี้สามารถใช้อำนาจความเป็นพรรคร่วมของตัวเองในการแทรกแซงนโยบายต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม

นโยบายต่างประเทศของอินเดียต่อศรีลังกาถือเป็นกรณีศึกษาชิ้นสำคัญที่อธิบายให้เราเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลระดับรัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬภายในศรีลังกาดูเผินๆ อาจเป็นเรื่องราวปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ แต่แท้จริงแล้วมันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทมิฬในอินเดียด้วย ซึ่งจำนวนมากให้การสนับสนุนชาวทมิฬในศรีลังกาเพื่อต่อต้านการกดขี่ และถือเป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญของรัฐทมิฬนาดู ภายหลังความล้มเหลวในการส่งกองกำลังรักษาความสงบไปในศรีลังกาจนเป็นเหตุให้เกิดการสังหารนายกรัฐมนตรีราจีพ คานธี รัฐบาลกลางอินเดียต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากรัฐทมิฬนาดูจนเลือกไม่แทรกแซงกิจการภายในของศรีลังกาอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้แรงกดดันดังกล่าวยังส่งผลต่อการลงคะแนนในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติของอินเดียต่อศรีลังกาในปี 2013 อีกด้วย

อีกหนึ่งกรณีศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของรัฐบาลระดับรัฐต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของอินเดียคือประเด็นเรื่องสนธิสัญญาแม่น้ำทีสตาระหว่างอินเดียและบังกลาเทศ รัฐเบงกอลตะวันตกมีส่วนอย่างมากต่อการเจรจาสนธิสัญญานี้ ซึ่งความสำคัญของรัฐบาลเบงกอลตะวันตกในเวลานั้นถึงขนาดที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียระบุชัดเจนว่าประเด็นสนธิสัญญาแม่น้ำนี้เป็นการพูดคุยสามฝ่ายระหว่างอินเดีย บังกลาเทศ และเบงกอลตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้สนธิสัญญานี้ผ่านไปได้ด้วยดีรัฐบาลบังกลาเทศถึงขนาดส่งเอกอัคราชทูตของตัวเองไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับมุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตกถึงเมืองกัลกัตตา เพื่อให้การเจรจาสนธิสัญญาผ่านไปได้อย่างราบรื่น และแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆ ได้สำเร็จ

หนึ่งในประเด็นที่เราเห็นบทบาทของรัฐบาลระดับรัฐในการขัดขวางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียคือกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ในมุมไบปี 2008 ซึ่งรัฐบาลอินเดียต้องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในการสืบสวนเกี่ยวกับประเด็นการก่อการร้ายโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลระดับรัฐ ทำให้มุขมนตรีหลายรัฐมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะเปิดช่องให้รัฐบาลกลางแทรกแซงกิจการภายในของรัฐต่างๆ  ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้จึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากมุขมนตรีหลายรัฐที่ไม่ใช่พรรคคองเกรส ฉะนั้นจนถึงปัจจุบันเนื่องจากยังคงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2012

ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ารัฐต่างๆ ของอินเดียมีส่วนร่วมอย่างเห็นได้ชัดต่อการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดีย ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลากหลายประเด็นที่รัฐต่างๆ ในอินเดียเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนด กดดัน และออกแบบนโยบายต่างประเทศของอินเดียต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่รัฐเหล่านั้นมีพรมแดนร่วมกัน

รัฐบาลผสมและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ: สูตรในการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลระหว่างรัฐ

หากจะสรุปว่าอะไรเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้อิทธิพลของรัฐต่างๆ ในอินเดียเพิ่มบทบาทและเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดีย เราอาจอธิบายได้ว่ารูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลของอินเดียนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาที่มีลักษณะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมืองที่มาจากรัฐต่างๆ มีความสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้นวาระทางการเมืองและการต่างประเทศของพรรคการเมืองเหล่านี้จึงได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรัฐที่มีจำนวนส.ส.จำนวนมาก ความสำคัญยิ่งมากตามไปด้วย

ฉะนั้นหลายครั้งเมื่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศไม่เป็นประโยชน์ต่อสภาพการเมืองในรัฐนั้นๆ จึงมักได้เห็นพรรคการเมืองท้องถิ่นที่ร่วมรัฐบาลตัดสินใจถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลซึ่งในบางครั้งอาจทำให้รัฐบาลดังกล่าวล่มได้ ฉะนั้นยิ่งรัฐบาลผสมมีความอ่อนแอและมีพรรคการเมืองมาก บทบาทของพรรคขนาดกลางจากรัฐต่างๆ จะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายมาก ซึ่งรวมถึงนโยบายต่างประเทศด้วย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่พรรคท้องถิ่นจากทมิฬนาดู และเบงกอลตะวันตกจะมีอิทธิพลค่อนข้างมากในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของอินเดียที่เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 เช่นกันที่ส่งผลให้รัฐต่างๆ ในอินเดียต้องแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการลงทุน บางครั้งรัฐบาลกลางกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือดังกล่าว ความพยายามแทรกแซงกลไกนโยบายต่างประเทศของรัฐต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ตัวเองจึงเกิดขึ้น เช่น ความพยายามในการเปิดเส้นทางการค้าชายแดนระหว่างรัฐที่มีพรมแดนติดเพื่อนบ้านทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศ

ในขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียโดยเฉพาะในยุคของโมดีเองก็มีความพยายามอย่างมากในการสนับสนุนให้รัฐต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการจัดตั้งกรมกิจการระดับรัฐภายในกระทรวงต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการพามุขมนตรีรัฐต่างๆ ในอินเดียไปร่วมเจรจาทางการค้าและความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เสมอ ซึ่งโมดีทราบดีว่าการกระทำเช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้การเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศเกิดขึ้นรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เหมือนครั้งที่เขาเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต

กรณีศึกษาของอินเดียเกี่ยวกับบทบาทของรัฐต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในการมีส่วนร่วมด้านนโยบายต่างประเทศถือว่าเป็นบทเรียนที่น่าสนใจที่ประเทศไทยอาจต้องมาคิดและทบทวนดูว่าในทุกวันนี้เราเห็นบทบาทของจังหวัดตามแนวชายแดนมากน้อยเพียงใดในการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ทั้งที่จังหวัดเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่มาจากส่วนกลาง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save