fbpx

ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และขีปนาวุธ: การปรับเปลี่ยนนโยบายอวกาศของอินเดีย

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2022 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมด้านอวกาศ เมื่อจรวด Vikram-S จรวดลำแรกของอินเดียที่พัฒนาภายใต้ภาคเอกชนสามารถทะยานขึ้นสู่บรรยากาศได้สำเร็จ โดยเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท Skyroot บริษัท start-up ด้านอวกาศของอินเดีย นี่ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญเพราะมันคือหมุดหมายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ หลังรัฐบาลอินเดียมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านอวกาศ มุ่งเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นภายหลังถูกผูกขาดโดยภาครัฐมาอย่างยาวนาน

ความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอวกาศของรัฐบาลอินเดียในปี 2022 เป็นไปเพื่อให้เกิดการขยายตัวของวงจรทางธุรกิจ สร้างการแข่งขัน และในขณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมให้อินเดียมีศักยภาพมากขึ้นในสมรภูมิทางด้านอวกาศระดับนานาชาติ แม้ว่า Vikram-S จะไม่ใช่จรวดที่ทะยานไปได้ไกลมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียในอนาคต

ทั้งนี้ การกระโดดลงมาแข่งขันในอุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียไม่ใช่การผลักดันอย่างไร้จุดหมาย แต่มาพร้อมยุทธศาสตร์และความคาดหวังมากมายต่อผลลัพธ์ ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการป้องปรามภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงใหม่ที่วันนี้เริ่มยกระดับไปสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ทางด้านอวกาศของอินเดียก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

จุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมอวกาศของอินเดีย

การที่เราได้เห็นจรวดและยานอวกาศลำแล้วลำเล่าของอินเดียทะยานขึ้นสู่บรรยากาศตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลสำคัญมาจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้นำอินเดียในอดีตที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แน่นอนว่ารวมถึงด้านอวกาศด้วย ใครจะคิดว่าประเทศเกิดใหม่อย่างอินเดียที่ยังเผชิญกับปัญหาความอดอยากและวิกฤตเศรษฐกิจหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ตลอดจนภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงที่มีรอบด้านภายใต้ยุคสงครามเย็น มีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960

ในสมัยนั้น นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียอย่าง ชวาหะร์ลาล เนห์รู ตัดสินใจจัดตั้ง ‘คณะกรรมการแห่งชาติอินเดียเพื่อการวิจัยอวกาศ’ (The Indian National Committee for Space Research: INCOSPAR) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมพลังงานปรมาณู หลังจากนั้นประมาณ 10 ปี รัฐบาลอินเดียก็ตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านอวกาศและกรมกิจการอวกาศขึ้น พร้อมยกระดับคณะกรรมการแห่งชาติอินเดียเพื่อการวิจัยอวกาศเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ชื่อ ‘องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย’ (The Indian Space Research Organisation: ISRO)

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา หน่วยงานอิสระทางด้านอวกาศของอินเดียเกือบทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กรมกิจการอวกาศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของหน่วยงาน ลักษณะเชิงโครงสร้างการบริหารเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านอวกาศที่รัฐบาลอินเดียให้ความใส่ใจอย่างยิ่งเสมอมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น หากย้อนศึกษาประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียจะพบว่า หลังก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ไม่นาน แม้อินเดียมีการลงทุนทางการเงินอย่างจำกัด แต่ด้วยความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ เพียงแค่ภายในปี 1975 อินเดียสามารถสร้างดาวเทียมดวงแรกของตนเองได้สำเร็จ (Aryabhata) ซึ่งในเวลานั้นจำเป็นต้องอาศัยจรวดของสหภาพโซเวียตในการส่งดาวเทียมให้ ก่อนที่ 5 ปีให้หลังอินเดียจะสามารถส่งดาวเทียมได้ด้วยตนเอง จนอินเดียกลายเป็นชาติที่ 7 ของโลกที่มีศักยภาพดังกล่าว

จากจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1960 ผ่านมา 60 ปีเต็มแล้วที่อุตสาหกรรมทางด้านอวกาศของอินเดียขยายศักยภาพของตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะการเริ่มสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ทั้งยังมีเป้าหมายที่สูงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร หรือแม้กระทั่งการส่งนักบินอวกาศออกไปนอกโลก เข้าใจกันได้ว่าผลประโยชน์ทางตรงของการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของอินเดียคือการขยายขอบเขตองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมอวกาศยังส่งผลต่อด้านความมั่นคงของประเทศอินเดียด้วย

โครงการด้านอวกาศกับศักยภาพทางความมั่นคงของอินเดีย

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของโครงการทางด้านอวกาศของอินเดียจะเป็นไปเพื่อองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายุทธศาสตร์และนโยบายด้านอวกาศของอินเดียมีการขยายขอบเขตเชิงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ทั้งความทะเยอทะยานในการสำรวจอวกาศ และการขยายศักยภาพดังกล่าวเพื่อมั่นคงแห่งชาติ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ด้านอวกาศเข้ามาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็นผลสำคัญมาจากความวิตกกังวลต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วในการพัฒนาด้านอวกาศของจีน ซึ่งถูกอินเดียจับตามองอย่างใกล้ชิดในฐานะภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงใหม่ ความกังวลนี้ส่งผลให้อินเดียจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของตนเอง ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือด้านอวกาศใหม่ๆ กับนานาชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน

โครงการและนโยบายด้านอวกาศของอินเดียในวันนี้จึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อเรื่องทางด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์หรือการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันยังหมายรวมถึงการเพิ่มศักยภาพทางด้านความมั่นคงของประเทศ การขยายขอบเขตและเครือข่ายทางด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวังและป้องปรามภัยคุกคามจากภายนอกในระดับชั้นบรรยากาศ ตลอดจนการใช้ดาวเทียมสำรวจเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารด้วย

ฉะนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปฏิบัติการทางการทหารของอินเดียมากมายที่อาศัยองค์ความรู้ทางด้านอวกาศเข้ามาผสมผสานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งดาวเทียมทางการทหารอย่าง โครงการ RISAT ซึ่งมีส่วนช่วยให้การสื่อสารของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นอับสัญญาณสามารถดำเนินการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หรือการที่หน่วยงานกลาโหมของอินเดียมีการจัดตั้งหน่วยงานด้านอวกาศขึ้นเฉพาะในปี 2018 เพื่อศึกษาภัยคุกคามใหม่ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถในสมรภูมิอวกาศที่จะร้อนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

วันนี้อาจกล่าวได้ว่าแนวยุทธศาสตร์และนโยบายด้านอวกาศของอินเดียมาไกลเกินกว่าวัตถุประสงค์ตั้งต้นที่มุ้งเน้นสันติ การพัฒนา และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะวันนี้อินเดียได้เปิดหน้าอย่างชัดเจนว่าการพัฒนาด้านอวกาศของตนเองนั้น ในด้านหนึ่งคือการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านความมั่นคงเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในระดับภาคพื้นดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติที่อยู่บนอวกาศด้วย

การสร้างความร่วมมือและการปฏิรูปนโยบายด้านอวกาศของอินเดีย

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ตลอดจนภัยคุกคามใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในระดับอวกาศส่งผลกระทบให้อินเดียต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายของตัวเองอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางด้านองค์ความรู้และอุดช่องโหว่ด้านเทคโนโลยี เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงในการถูกโจมตีในสมรภูมิอวกาศที่วันนี้เริ่มมีการแข่งขันกันเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการทดสอบระบบต่อต้านดาวเทียม (Anti-satellite: ASAT) ของจีนในปี 2007

ปัจจัยนี้ฉุดให้อินเดียต้องตื่นขึ้นมาลงทุนกับโครงการด้านความมั่นคงอวกาศมากขึ้น รวมถึงการขยายความร่วมมือกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือในด้านอวกาศกับกลุ่ม QUAD ซึ่งช่วยให้อินเดียสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงอวกาศจากประเทศสมาชิกได้ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในขณะเดียวกัน ความเป็นหุ่นส่วนดังกล่าวยังขยายขอบเขตครอบคลุมการปรึกษาหารือเกี่ยวกับบรรทัดฐานพฤติกรรมและกฎระเบียบด้านอวกาศในระดับโลกด้วย นอกจากนี้อินเดียยังมีความร่วมมือด้านอวกาศในระดับทวิภาคีกับฝรั่งเศสเพิ่มเติมด้วย

ยิ่งไปกว่าการแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อเสริมศักยภาพทางด้านอวกาศทั้งในเชิงพลเรือนและความมั่นคงที่อินเดียดำเนินการอยู่ในเวลานี้แล้ว ในระดับภายในประเทศเอง อินเดียก็ตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดในการขยายตัวของอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศ ที่ตลอดการพัฒนาที่ผ่านมาถูกผูกขาดโดยหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้นในปี 2022 นี้ อินเดียจึงผลักนโยบายอวกาศชุดใหม่ออกมาที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อสร้างการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมทางด้านอวกาศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุน รวมไปถึงการขยายการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

แม้ว่านโยบายอวกาศของอินเดียในวันนี้จะยังไม่ให้ภาคเอกชนแสดงบทบาทหลักได้อย่างสมบูรณ์อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา (บริษัทด้านอวกาศยังจำเป็นต้องทำความร่วมมือกับภาครัฐในการปล่อยจรวดหรือดาวเทียม) แต่นี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับอินเดียในการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมด้านอวกาศ ฉะนั้นในอนาคตเราจึงอาจได้เห็นบริษัทด้านอวกาศมากมายของอินเดียที่จะขึ้นมาเฉิดฉายในเวทีโลกไม่ต่างจาก SpaceX หรือ Orbital Sciences

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save