fbpx
ผลกระทบที่ไม่มีทางเท่ากัน เมื่อการปิดเมืองกัดกินแรงงานนอกระบบอินเดีย

ผลกระทบที่ไม่มีทางเท่ากัน เมื่อการปิดเมืองกัดกินแรงงานนอกระบบอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากการที่อินเดียออกมาตรการปิดตายประเทศ ซึ่งประกาศโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ส่งผลให้อินเดียทั้งประเทศอยู่ในสภาพหยุดเคลื่อนไหว ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 24 มีนาคม-14 เมษายน (และมีการขยายระยะเวลาในเวลาต่อมา) มาตรการดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมายจากใครหลายคนถึงความเด็ดขาดของรัฐบาลอินเดีย เพราะการปิดตายครั้งนี้ เป็นการปิดตายแบบแท้จริง รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายใดๆ ทั้งสิ้น ระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็น รถบัส เรือ รถไฟ หรือเครื่องบิน ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศโดนสั่งปิดทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้บังคับให้คนอินเดียทั้งประเทศต้องอยู่บ้าน การออกจากบ้านต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และต้องเป็นเหตุผลสำคัญต่อการดำรงชีพเท่านั้น ธุรกิจ ห้างร้าน ทั้งหลายถูกสั่งปิดทั้งหมด เหลือไว้เพียงร้านอาหาร และแหล่งขายเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น แน่นอนการปิดเมืองย่อมมีต้นทุนมหาศาลที่ต้องจ่าย ซึ่งต้นทุนเหล่านี้กลุ่มคนแต่ละประเภทนั้นจ่ายไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ ผมจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่างของอินเดีย ผู้ซึ่งแบกรับภาระมหาศาลจากการปิดเมืองครั้งนี้

ทุกคนได้รับผลกระทบ แต่มันไม่มีทางเท่ากัน

 

ในขณะที่คนชั้นกลางและคนมั่งมีนั้นมีบ้าน คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ ให้ได้อยู่อาศัย เงินเดือนยังคงได้รับปกติ หรือไม่ก็มีสัดส่วนที่ลดลงในช่วงวิกฤตครั้งนี้ แต่แรงงานนอกระบบที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น โดยเฉพาะจากพิหารและอุตตรประเทศ ต้องเช่าบ้านขนาดเท่าตัวซุกเข้าไปนอนได้ในราคา 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดที่มี (ส่วนใหญ่ได้ประมาณ 300 รูปี หรือประมาณ 150 บาทต่อวัน) แรงงานอินเดียไม่มีคำว่าเงินเดือน พวกเขามีแต่คำว่า ‘เงินรายวัน’ กับคำว่า ‘ไม่ได้เงินเลย’ เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ขึ้นกับว่าวันนั้นจะมีคนมาจ้างไปทำอะไร ในอินเดียตามตรอกหรือถนนใหญ่ๆ จะมีจุดรวมแรงงานเหล่านี้ คนว่าจ้างจะแวะเวียนไปเพื่อหาคนไปช่วยทำงาน แรงงานกลุ่มนี้มีมหาศาลในระบบเศรษฐกิจอินเดีย

แรงงานรายวันอีกประเภทคือคนที่มีงานทำตามร้านรวงต่างๆ หรือโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ ซึ่งจะจ่ายเงินเป็นรายวันตามระยะเวลาทำงาน ผลผลิตที่ทำได้แต่วัน หรือกำลังแรงที่ลงไป ซึ่งแรงงานพวกนี้ไม่มีสวัสดิการใดๆ เพราะไม่ใช่พนักงานหลักของโรงงาน และโรงงานบางส่วนก็ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการหรือจ้างถาวร (จริงๆ ก็ทำงานถาวร แต่ด้วยสถานการณ์ของตลาดแรงงานอินเดียที่คนเยอะกว่างาน พวกเขาเลยต้องยอมเพราะอย่างน้อยก็ได้เงิน)

เมื่ออินเดียประกาศปิดตายประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนพวกนี้ตกงานแบบทันทีทันใด แรงงานจำนวนมากยอมทนอยู่ในช่วงแรก เพราะหวังว่าวันที่ 31 มีนาคมทุกอย่างจะกลับมาปกติ จึงตัดใจใช้เงินเก็บที่หวังจะส่งกลับไปจุนเจือครอบครัวในต่างรัฐเพื่อเอาตัวรอดในช่วงเวลานั้น แต่มาตรการของรัฐบาลอินเดียที่สั่งปิดเมืองยาว 21 วัน ทำให้พวกเขาไม่เห็นประโยชน์ของการอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูง และดูดกลืนเงินในกระเป๋าพวกเขาประหนึ่งจะฆ่าฟันกันให้อดตายก่อนจะติดไวรัสมรณะ แรงงานเหล่านี้ในอินเดียจำนวนหลายล้านคนจึงตัดสินใจมุ่งหน้ากลับบ้าน แม้รัฐบาลไม่อนุญาตก็ตาม

รัฐบาลออกมาบอกว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือมากมายหลังจากสั่งปิดตายประเทศ แต่ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่คนในระบบโครงการต่างๆ ของรัฐ ต่างจากแรงงานเหล่านี้ที่อยู่นอกระบบอย่างสิ้นเชิง มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ออกมาจึงไม่จูงใจให้แรงงานเหล่านี้ทนอยู่ต่อไปในสถานการณ์ปิดเมือง ที่แรงงานหลายคนบอกว่า “พวกเขาอาจต้องอดตายก่อนที่ไวรัสมรณะนี้จะหยุดระบาด” ดังนั้นนับตั้งแต่อินเดียปิดเมือง หลายคนอาจได้เห็นภาพเมืองใหญ่ๆ ของอินเดียที่แสนจะเงียบสงบ คนชั้นกลางและชั้นสูงของประเทศ ถ่ายคลิปวิดีโอท้าทายกันอย่างสนุกสนานและรายงานสภาพความเป็นอยู่ของตัวหลังจากต้องโดนกักตัวอยู่บ้าน

แต่ในโลกใบเดียวกันนี้ เหมือนมีเส้นคั่นบางๆ ที่ทำให้หลายคนอาจมองไม่เห็นวิถีชีวิตของคนอินเดียอีกกลุ่มที่โดยปกติก็ไม่ได้รับความใส่ใจอยู่แล้ว แม้พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจหมุนไปได้ นั่นคือเหล่าแรงงานที่ตกงานแบบฉับพลันนั่นเอง พวกเขาไม่มีสมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ตสำหรับรายงานผลกระทบที่ตัวเองได้รับหลังจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรค พวกเขาไม่มีเวลามาท้าทายกันผ่านสังคมออนไลน์ และพวกเขาไม่มีเวลามาช่วยรัฐโปรโมทการอยู่บ้านเพื่อช่วยกันหยุดเชื้อโรค

เพราะเวลาแต่ละนาที แต่ละชั่วโมงที่เดินผ่านไปนั้น มันคือความเป็นความตาย และความอยู่รอดของพวกเขาและครอบครัว มาตรการปิดเมืองทำให้พวกเขาจำใจต้องเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อหวังลดภาระค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่ที่กัดกินแรงงานนอกระบบเหล่านี้แบบไม่ปราณี แม้จะถูกประณามอย่างหนักก็ตาม

 

แรงงานอินเดียทั้งเด็กและผู้ใหญ่เดินเท้ากลับบ้านในต่างรัฐ / ที่มา: The wire India
แรงงานอินเดียทั้งเด็กและผู้ใหญ่เดินเท้ากลับบ้านในต่างรัฐ / ที่มา: The wire India

 

ไม่มีเงิน ไม่มีงาน แต่ยังมีสองเท้าให้ได้เดินกลับบ้าน

 

ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะระหว่างรัฐทั้งหมดปิดตายลง สิ่งที่แรงงานเหล่านี้ทำได้คือใช้กำลังแรงกายของตัวเองในการกลับบ้าน ใช่แล้วครับ ‘พวกเขาเดินเท้าเปล่ากลับบ้าน’ สิ่งเหล่านี้เราอาจไม่ได้เห็นกันนักในสื่อกระแสหลักของอินเดียและทั่วโลก แต่นั่นไม่ใช่ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ในระหว่างที่ใครหลายคนกำลังทำงานจากที่บ้าน หรือนอนดู Netflix อย่างเพลิดเพลิน คนอีกกลุ่มกำลังเดินทางไกลเพื่อกลับไปยังจุดเริ่มต้นของตัวเอง แรงงานบางคนในกรุงนิวเดลีต้องเดินเท้าร่วม 300 – 700 กิโลเมตร เพราะไม่มีเงินเหลือในกระเป๋าที่จะนั่งรถบัสที่ทางรัฐบาลเริ่มเปิดบริการให้กับแรงงานเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ

แม้ว่ารัฐบาลจะยอมผ่อนผันให้มีรถบัสวิ่งข้ามเมืองเพื่อรองรับแรงงานนอกระบบให้กลับถึงบ้านได้ แต่สถานการณ์ไม่ได้ดีอย่างที่คิด เพราะรถบัสไม่เพียงพอต่อจำนวนคน โดยปกติรถบัสหนึ่งคันรับผู้โดยสายประมาณ 70-75 คน แต่สถานการณ์ ณ ตอนนี้ รถหนึ่งคันต้องอัดคนเข้าไป 125 – 150 คน ลักษณะเช่นนี้ทำให้สถานีขนส่งระหว่างรัฐที่  Anand Vihar ของกรุงนิวเดลีคราคร่ำไปด้วยแรงงานที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน ซึ่งทุกคนมีเหตุลไม่ต่างกันนักคือ “ถูกเลิกจ้างชั่วคราว ไม่มีรายได้เพียงพอจะจ่ายค่าเช่าบ้าน และอาหารในแต่ละวันสำหรับการปิดเมือง 21 วัน”

 

ภาพแรงงานชาวอินเดียระหว่างต่อแถวซื้อตั๋วรถบัสกลับบ้าน / ที่มา: the wire India
ภาพแรงงานชาวอินเดียระหว่างต่อแถวซื้อตั๋วรถบัสกลับบ้าน / ที่มา: the wire India

 

ความแออัดหนาแน่นของผู้คนที่เดินทางมารอขึ้นรถ ทำให้คิวซื้อบัตรโดยสารยาวกว่า 2 กิโลเมตร วนเป็นงูกินหางภายในสถานี จนล้นออกไปภายนอกตัวอาคาร และผู้คนที่มาก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในขณะที่มาตรการในการคัดกรองโรคก็ทำได้แบบจำกัดจำเขี่ยเท่านั้น ไม่สามารถรับรองใดๆ ได้ว่าในจำนวนผู้โดยสารและแรงงานเหล่านี้ มีใครบ้างที่ได้รับเชื้อโควิด-19อยู่ก่อน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลอินเดียเองก็ไม่ได้วางแผนรับมือไว้ แม้จะทราบดีว่ามีแรงงานนอกระบบต่างถิ่นจำนวนมากในอินเดีย และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองถาวร ทำให้นโยบายหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกมาในลักษณะวันต่อวันเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนที่อ่านมาถึงจุดนี้อย่าคิดว่าอินเดียจะเหมือนกับประเทศไทย ที่เรามีคำพูดติดปากกันว่า “กลับบ้านไปก็ยังมีข้าวกิน” วลีนี้ใช้กับอินเดียไม่ได้เลยครับ เพราะแม้แรงงานเหล่านี้จะกลับบ้านไปแล้ว ก็ไม่ได้รับรองว่าเขาจะมีอะไรกิน พวกเขาเพียงแค่ไม่ต้องรับค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่เท่านั้น

 

เมื่อมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาโควิด-19 จึงยิ่งทำให้มันชัดเจนขึ้น

 

ในสังคมชนบทของอินเดียหลายครอบครัวไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ที่ดินที่มีก็คือบ้านที่อยู่เท่านั้น คนในชนบทจำนวนมากเป็นแรงงานในภาคการเกษตร หรือแม้จะมีที่ดินเป็นของตัวเองก็ต้องเผชิญกับภาระหนี้สินจำนวนมากที่เกิดจากการลงทุนทำการเกษตร ทำให้กระทั่งผักและข้าวที่ปลูกเองก็หยิบหรือแบ่งไว้กินเองแทบไม่ได้ หลายครอบครัวจึงต้องส่งลูกหลานออกไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว และช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

คนอินเดียในชนบทจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน เพราะครอบครัวไม่มีศักยภาพในการส่งเสียให้ได้รับการศึกษาตามกฎหมายที่รัฐบาลวางไว้ เด็กอินเดียจำนวนมากกลายเป็นแรงงานในวัยที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันในเมืองใหญ่ที่มีฐานะดีกว่า มีโอกาสได้วิ่งเล่น หรือเข้าโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบวัดระดับและสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราจึงไม่ต้องแปลกใจว่าเวลาเดินเข้าร้านอาหารในกรุงนิวเดลี หรือมุมไบ จะพบเจอแรงงานเด็กทำงานเป็นบริกร หรือคนล้างจานอย่างดาษดื่น

ดังนั้นการเดินทางกลับภูมิลำเนาของแรงงานเหล่านั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการลดปัญหาหรือลดภาระที่เกิดขึ้นจากเรื่องโควิด-19 ในบริบทของอินเดีย เพราะมันอาจกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมให้เด่นชัดขึ้น การเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่ของคนเหล่านี้มาจากการผลักดันของคนในพื้นที่ชนบท (ผลักออกมากกว่าส่งเสริมให้ไป) เพื่อให้คนในชนบทได้ลดภาระในการเลี้ยงดูลูกหลานเหล่านี้ในเรื่องข้าว ปลา อาหาร ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของครอบครัว

ความเหลื่อมล้ำและปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจในชนบทของอินเดียเป็นวงจรไม่รู้จบ ที่คนจำนวนมากในสังคมไม่ได้ให้ความสนใจ และมองว่าเป็นเรื่องของบุญกรรมที่ทำมาแต่เก่าก่อนมากว่าเป็นปัญหาโครงสร้างและความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐ ทั้งที่มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรอินเดียไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเลย หายนะของโควิด-19 ครั้งนี้จึงกลายเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่ของชนชั้นล่างในอินเดีย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ และเขาจะเลี้ยงดูลูกหลานแรงงานเหล่านี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะระหว่างทางหลายครอบครัวอาจล้มหายตายจากไปก่อนด้วย

หลายฝ่ายในอินเดียถึงกังวลอย่างมากว่า หากรัฐบาลจัดสรรระบบเงินช่วยเหลือเพื่อให้แรงงานนอกระบบ และเกษตรกรไม่เพียงพอ อินเดียอาจต้องเผชิญปัญหาคนจนล้มละลายทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลถึงการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการปล้นและแย่งชิงอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายใดๆ  หากสถานการณ์ยังคงเลวร้ายแบบนี้ และที่อาจจะเลวร้ายกว่านั้นคือ คนบางส่วนอาจต้องอดตายไปก่อนที่การควบคุมโรคระบาดจะจบสิ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save