fbpx

‘เดินเกมสองหน้า’ หนทางการแสวงหาและยกระดับสถานะในเวทีระหว่างประเทศของอินเดีย

ณ เวลานี้คงปฏิเสธได้ยากว่าอินเดียกำลังอยู่ในจุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เนื่องด้วยในปี 2023 อินเดียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวโยงกับหลากหลายมหาอำนาจ เฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีวุ่นวายอยู่กับการจัดการประชุมระดับนานาชาติมากมาย นับตั้งแต่การรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีการคลังและการต่างประเทศของกลุ่ม G20 เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม QUAD หรือแม้กระทั่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดวงพูดคุยในกลุ่ม Global South ซึ่งรวบรวมหลากหลายประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาเป็นเครือข่าย ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกำลังค่อยๆ เปลี่ยนสถานะของอินเดียในเวทีระหว่างประเทศที่แต่เดิมถูกมองว่าอยู่นอกกรอบการเมืองโลก มีอำนาจต่อรองไม่มากนัก ทั้งยังเป็นตัวแสดงที่มักสร้างความปวดหัวและน่ารำคาญให้กับประเทศมหาอำนาจโลก

บทบาทใหม่ของอินเดียที่ได้รับอย่างมากล้นในปีนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นประธานจัดประชุม G20 และกลุ่ม QUAD ซึ่งถือเป็นแกนสำคัญของโลกตะวันตกแล้ว ปีนี้อินเดียยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญของจีนอีกด้วย

แม้ช่วงเวลา 1 ปีนั้นจะสั้นสำหรับการปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก แต่สำหรับอินเดีย นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่รอคอยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในปี 1947 ความแข็งแกร่งภายในประเทศที่ถูกวางรากฐานมาอย่างยาวนาน ผนวกรวมกับปัจจัยภายนอกจากการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อินเดียมีโอกาสมากขึ้นในการแสวงหาสถานะที่สูงขึ้นในระบอบระหว่างประเทศ

ช่วงชิงผลประโยชน์สูงสุดบนความโกลาหลของระเบียบโลก

บทเรียนในชั้นเรียนนโยบายการต่างประเทศของอินเดียมักเน้นย้ำเสมอถึงหลักการสำคัญของแนวนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่มุ่งเน้นหลักการแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นจึงเป็นเหตุสำคัญให้อินเดียพยายามสานสัมพันธ์กับทุกประเทศ และพยายามถ่วงดุลอำนาจกับบรรดามหาอำนาจต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแสวงลู่ทางในการส่งเสริมสถานะความเป็นผู้เล่นหลักของตัวเองในกิจการระหว่างประเทศ รวมถึงการขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินเดียในเวทีโลกด้วย หลายปีมานี้อินเดียยังพยายามอย่างมากในการขยายศักยภาพทางการทหารของตนเอง โดยเฉพาะการลดการพึ่งพิงยุทโธปกรณ์จากภายนอกและหันมาพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารด้วยตนเอง แต่จุดสำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศอินเดียคงหนีไม่พ้นความเป็นอิสระทางการกำหนดยุทธศาสตร์และปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ

อย่างไรก็ตามด้วยภูมิทัศน์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความพยายามท้าทายระเบียบโลกของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนกรอบนโยบายต่างประเทศของอินเดีย อาจกล่าวได้ว่านโยบายต่างประเทศของอินเดียเป็นการยืนอยู่บนรอยเลื่อนทางการเมืองโลก ดังที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันของอินเดียอย่าง S. Jaishankar มักกล่าวในหลายวาระว่า “นโยบายต่างประเทศของอินเดียคือการแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติที่มากขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งระดับโลก” หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่าคือ ‘การเดินเกมสองหน้า’

วันนี้เราเห็นกรอบนโยบายต่างประเทศของอินเดียได้อย่างชัดเจนมากยิ่ง เพราะในขณะที่เวลานี้อินเดียเป็นประธานของ G20 อันเป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มนี้นำโดยสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ในเวลาเดียวกันปีนี้อินเดียก็เป็นประธานของ SCO ซึ่งแน่นอนว่าจีนมีอิทธิพลอย่างมากในกรอบความร่วมมือนี้ นอกจากนี้ เพื่อยกสถานะในเวทีโลกที่สูงขึ้นของอินเดีย อินเดียยังพยายามอย่างมากที่จะเป็นแกนนำของกลุ่ม Global South อีกด้วย เช่นเดียวกันกับผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจน แม้ว่าจะไม่มีแถลงการณ์ร่วมใดๆ ออกมา แต่การประชุมครั้งนี้ที่นิวเดลี ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียได้พบกันเป็นครั้งแรกนับแต่เกิดสงครามยูเครนขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า อินเดียกำลังแสวงผลประโยชน์อย่างหนักจากความโกลาหลในเวทีโลกเพื่อยกระดับสถานะของตัวเอง เพราะอินเดียไม่ได้ต้องการเป็นเพียงมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้ หรือเอเชียเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วอินเดียเองก็อยากยืนเทียบเคียงกับมหาอำนาจอื่นในเวทีโลก เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน 

เป้าหมายที่อินเดียอยากไปให้ถึงในเวทีโลก

อินเดียคงไม่ต่างจากหลากหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มองเห็นถึงปัญหาหลายอย่างในโครงสร้างระเบียบและธรรมาภิบาลโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกถาวรเพียง 5 ชาติมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินความเป็นไปของความขัดแย้งในการเมืองระหว่างประเทศ อินเดียถือเป็นหัวหอกสำคัญที่ต้องการปฏิรูปองค์กรดังกล่าวของสหประชาชาติ เช่นเดียวกับหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกา ฉะนั้นถ้าจะตอบคำถามอย่างง่ายว่าอะไรคือเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศอินเดียทั้งในปัจจุบันและรวมถึงอนาคต คำตอบนั้นก็คงหนีไม่พ้นการยกระดับสถานะนำของอินเดียให้สูงขึ้นในเวทีโลกที่ไปไกลเกินกว่าเพียงแค่เอเชีย และหนึ่งในนั้นก็คงหมายรวมถึงการได้ที่นั่งถาวรใน UNSC ซึ่งแน่นอนว่าอินเดียรู้ดีว่าเป้าหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เหตุที่อินเดียมุ่งมั่นอยากมากต่อเป้าหมายดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนะต่อตำแหน่งดังกล่าวที่อินเดียมองว่าการได้มาซึ่งที่นั่งถาวรใน UNSC มาพร้อมกับฐานะมหาอำนาจระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารที่เพิ่มขึ้น อินเดียยังเห็นว่าที่นั่งถาวรใน UNSC ถือเป็นการยอมรับสถานะของตนในฐานะผู้เล่นหลักในกิจการระดับโลกและเป็นการยืนยันตำแหน่งของตนในระเบียบโลกอีกด้วย เพื่อเป้าหมายดังกล่าวอินเดียได้มีความพยายามอย่างมากในทางการทูตและแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปดังกล่าว

ดังนั้นในหลายวาระและหลายโอกาสจึงมักได้เห็นผู้นำอินเดีย ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งถึงระดับรัฐมนตรีที่พยายามส่งสัญญาณและบอกใบ้ให้เห็นถึงปัญหาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในขณะเดียวกันอินเดียก็พยายามใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมหลากหลายสมาชิกสำคัญมาเป็นฐานในการยกระดับสถานะนำของอินเดียให้สูงขึ้นในเวทีโลกด้วย เวที G20 ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากรัฐบาลนิวเดลีจะสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ตัวเองไม่ได้เดินตามหลังสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกด้วยการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเข้าร่วมการประชุมด้วยแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียยังมีโอกาสพูดคุยหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เพื่อแสวงหาแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอินเดียตระหนักดีว่า ณ เวลานี้ตนเองกำลังยืนอยู่บนรอยเลื่อนของภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ทุกย่างก้าวล้วนมีอันตราย มีทั้งผลเชิงบวกและลบ การพยายามรักษาสมดุลบนพื้นฐานของการมีอิสระทางด้านการต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแห่งชาติจึงถือเป็นเส้นทางเดียวที่อินเดียจะสามารถชกฉวยโอกาสแห่งความโกลาหลของระเบียบโลกเพื่อยกระดับสถานะของตัวเองในเวทีโลกได้

ความต้องการที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย

แม้ว่าปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของอินเดียในการยกระดับสถานะของตนเองในเวทีโลกภายใต้ความโกลาหลของระเบียบโลก แต่ช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์สำหรับอินเดียนั้นก็หาใช่ว่าจะไม่มีความท้าทายใดๆ เลย เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานะความเป็นประธาน G20 และ SCO ของอินเดียนั้น มีขอบเขตอยู่เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ฉะนั้นข้อจำกัดทางด้านเวลาถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับอินเดียในการเคลื่อนไหวทางด้านการต่างประเทศเพื่อแสวงหาและต่อรองผลประโยชน์ และสำหรับการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ภายใน 1 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก

คำถามก็คือว่าในช่วง 1 ปีนี้อินเดียจะมีศักยภาพมากน้อยเพียงใดในการแสวงหาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทั้งในเชิงการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเสริมสร้างโครงสร้างที่ส่งเสริมความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย นี่ถือเป็นความท้าทายแรกของรัฐบาลนิวเดลีต่อการแสวงหาสถานะใหม่ของตัวเองในปีนี้

ประการที่สองคือ ทุกการตัดสินใจของอินเดียอาจถูกตีความได้หลากหลาย และในบางครั้งอาจส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องไปยังชาติพันธมิตรได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นความพยายามของรัฐบาลนิวเดลีในการตอบโต้ข้อวิจารณ์ของชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาต่อท่าทีเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นความท้าทายของอินเดียต่อระเบียบที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกเป็นแกนกลางได้ ฉะนั้นทุกการกระทำที่อินเดียพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองในทางการทูต ในทางกลับกันมันอาจกำลังทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของชาติพันธมิตรในทางการต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน

ประการสุดท้ายคือ ทุกชาติต่างก็มีผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง และมีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจต่อชาติพันธมิตรที่แตกต่างกัน การกระทำของอินเดียที่พยายามรักษาสมดุลด้วยการปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีลักษณะการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลให้อินเดียเผชิญกับความล้มเหลวในการสร้างกรอบความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับความท้าทายทางด้านความมั่นคงของรัฐบาลนิวเดลีเอง เพราะชาติพันธมิตรอาจไม่มีความเชื่อมั่นต่อความแน่วแน่ของอินเดียต่อกรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งทำให้ระดับความช่วยเหลือลดลงตามไปด้วย และนั่นจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่ออินเดียในอนาคต

กล่าวโดยรวมคือ ปี 2023 นี้ เราจะได้เห็นความแปลกใหม่บางประการของแนวนโยบายต่างประเทศของอินเดียเพื่อแสวงหาสถานะนำของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการผนวกกันของปัจจัยภายใน ทั้งความแข็งแกร่งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการเป็นประธาน G-20 SCO และ Global South ซึ่งแน่นอนว่าอินเดียยังคงมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องแก้ทั้งปัจจัยด้านเวลา การส่งสัญญาณที่เป็นเหรียญสองด้าน ตลอดจนความเชื่อมั่นของชาติพันธมิตรที่อินเดียต้องหาคำตอบด้วยตนเอง

ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิด แต่ความเป็นจริงก็คืออินเดียต้องการเป็นผู้เลือกคำตอบนั้นเอง มากกว่าที่จะให้ใครมาบอกว่าต้องเลือกคำตอบอะไร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save